แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1920


    ครั้งที่ ๑๙๒๐


    สาระสำคัญ

    ที. ม.มหาปทานสูตร โอวาทปาติโมกข์


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๓๓


    สำหรับความสำคัญของขันติบารมี พระผู้มีพระภาคทรงโอวาทไว้ใน โอวาทปาติโมกข์ ซึ่งท่านผู้ฟังคงจะได้ยินคำว่า โอวาทปาติโมกข์ บ่อยๆ

    โอวาทปาติโมกข์ คือ โอวาท หรือคำสั่งสอนซึ่งเป็นหลักสำคัญ

    ปาติโมกขะ แปลว่า เป็นประธาน หรือเป็นหลักสำคัญ ซึ่งในสมัยแรก หลังจากพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ใน ๒๐ พรรษาแรกนั้น พระผู้มีพระภาคยังมิได้ทรงบัญญัติพระวินัยหรือสิกขาบท เป็นข้อๆ ให้ภิกษุปฏิบัติตาม พระองค์ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์เพื่อเตือนสติ ภิกษุทั้งหลายเป็นครั้งแรกในวันเพ็ญมาฆะ เดือน ๓ คือ ๙ เดือนหลังจากที่ทรงตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์กับพระภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป ซึ่งไปประชุมกันโดยไม่ได้นัดหมาย และทุกรูปไม่ใช่เป็นสุกขวิปัสสกะ แต่เป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วยคุณวิเศษ เช่น ปฏิสัมภิทา นอกจากนั้นทุกรูปยังเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา หลังจากนั้นได้ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์จนกระทั่งทรงบัญญัติสิกขาบทเป็นพระวินัย เป็นอาณาปาติโมกข์ เพราะฉะนั้น ปาติโมกข์ มี ๒ อย่าง คือ โอวาทปาติโมกข์ และอาณาปาติโมกข์

    โอวาทปาติโมกข์เป็นหลักคำสอนที่สำคัญ หรือคำสั่งสอนอันเป็นหลักสำคัญ ส่วนอาณาปาติโมกข์เป็นพระวินัยบัญญัติที่เป็นหลักสำคัญให้ภิกษุประพฤติปฏิบัติตาม หลังจากที่ไม่ได้สวดโอวาทปาติโมกข์แล้ว ก็ทรงให้ภิกษุสวดอาณาปาติโมกข์ ทุกกึ่งเดือน เป็นการเตือนสติให้พระภิกษุทั้งหลายประพฤติปฏิบัติตามสิกขาบทบัญญัติ

    สำหรับโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งเป็นพระโอวาท คำสั่งสอนอันเป็นหลักสำคัญ มี ๓ คาถา กับอีกกึ่งคาถา ตามข้อความใน ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปทานสูตร

    คาถาที่ ๑ ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา ขันติ คือ ความอดทนเป็นตบะอย่างยอดยิ่ง นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า พระนิพพาน เป็นธรรมอย่างยอดยิ่ง น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี ผู้ที่ทำร้ายผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต ผู้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ

    คาถาที่ ๒ สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำบาปทั้งสิ้น กุสลสฺสูปสมฺปทา การยังกุศลให้ถึงพร้อม คือ ทำความดีทุกอย่าง สจิตฺตปริโยทปนํ การยังจิตของตนให้ผ่องแผ้ว เอตํ พุทฺธาน สาสนํ นี้คือคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

    คาถาที่ ๓ กึ่ง อนูปวาโท อนูปฆาโต การไม่กล่าวร้าย การไม่ทำร้าย

    ปาติโมกเข จ สํวโร ความสำรวมระมัดระวังในพระปาติโมกข์

    มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ การบริโภคพอประมาณ

    ปนฺตญฺจ สยนาสนํ อยู่ในสถานที่สงัด

    อธิจิตฺเต จ อาโยโค อบรมจิตให้สงบ คือ ประกอบความเพียรในอธิจิต

    อตํ พุทธาน สาสนํ นี้คือคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

    นี่คือโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งท่านผู้ฟังคงจะได้ยินบ่อยๆ

    สุมังคลวิลาสินี อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค อรรถกถา มหาปทานสูตร มีคำอธิบายว่า

    คาถาที่ ๑

    บทว่า ขนฺตี ปรมํ ตโป ความว่า ขันติคือความอดกลั้นเป็นตบะอย่างยิ่ง

    คงไม่มีใครไม่เห็นคุณหรือประโยชน์ของขันติ หลังจากที่ได้ฟังเรื่องของขันติ มามากว่า ทุกอย่างที่เป็นกุศลจะเจริญได้เพราะขันติ และโทษทั้งหลายที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ใจจนถึงกายวาจาเพราะไม่อดทน คือ อขันติ

    อธิวาสนขันติ คือ ความอดกลั้นต่อสถานการณ์ความเป็นอยู่ทุกอย่างในชีวิต เป็นตบะอย่างสูงสุด

    บทว่า นิพฺพานํ ปรมํ ความว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า นิพพานเป็นธรรมอย่างยิ่งโดยอาการทั้งปวง

    ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่านิพพาน เพราะว่าธรรมอื่นเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยเพียงชั่วขณะเล็กน้อย สั้นมาก และก็ดับ เพราะฉะนั้น ไม่มีอะไรเลยที่จะยั่งยืน ไม่ว่า โลกจะดำรงมาแล้วนานเท่าไร จะดำรงอยู่ต่อไปนานเท่าไร สภาพธรรมจริงๆ คือ ชั่วขณะจิตที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้นและดับไป จะมีสาระอะไร กับสภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรมทั้งหลาย ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า นิพพานเป็นธรรมอย่างยิ่ง คือ สูงสุด เพราะเป็นธรรมที่ดับกิเลส ไม่เกิดอีกเลย

    บทว่า น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี ความว่า ผู้ใดเข้าไปทำร้าย รบกวน และเบียดเบียนผู้อื่น เพราะเว้นจากอธิวาสนขันติ ผู้นั้นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต

    ยาก การที่จะเป็นบรรพชิต จะต้องเป็นผู้ที่สงบใจ กาย วาจา เพราะถ้ายังคงทำร้ายหรือเบียดเบียนผู้อื่น หรือเพราะเว้นจากอธิวาสนขันติ ผู้นั้นไม่ชื่อว่าบรรพชิต

    บทว่า ปรูปฆาตี คือ ทำลายศีล เพราะศีลท่านกล่าวว่า ปรํ โดยอรรถว่า สูงสุด อธิบายว่า ก็ผู้ใดเป็นสมณะเบียดเบียนสัตว์อื่นอย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อว่า เข้าไปทำร้ายผู้อื่น คือ ทำร้ายศีลของตนให้พินาศ ผู้นั้นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต

    ที่จะเป็นบรรพชิตก็เพราะศีล ขณะใดที่ล่วงศีล ทำศีลของตนให้พินาศ ขณะนั้นผู้นั้นไม่ชื่อว่าบรรพชิต

    สำหรับคฤหัสถ์ ประพฤติปฏิบัติตามเพื่อขัดเกลากิเลสได้ ถ้าท่านเป็นผู้ มีความละเอียดที่จะพิจารณากายวาจาของท่านว่า กายวาจาของท่านกระทบกระเทือน เบียดเบียนทำร้ายผู้อื่นหรือเปล่า ผรุสวาจา คำหยาบคาย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ศึกษาธรรมก็เว้น ไม่ค่อยจะได้ยินใครกล่าวผรุสวาจา แต่คำอื่นที่แม้ไม่ใช่ผรุสวาจา แต่ทำร้ายจิตใจของคนอื่นมีไหม ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ แม้แต่คำที่เย่อหยิ่ง มีไหม คำพูดที่ยกตนโดยที่อาจจะไม่รู้ตัวเลย หรือคำที่ใช้เรียกผู้อื่นก็ตามแต่ ถ้าคำนั้นเป็นคำที่ทำให้ผู้ฟังรู้สึก ไม่สบายใจ และผู้พูดพูดคำนั้นด้วยความเย่อหยิ่ง แม้ไม่ใช่คำหยาบ แต่ขณะนั้นรู้ได้ว่า คำนั้นทำร้ายคนอื่น เป็นเรื่องที่ละเอียดมากที่จะต้องพิจารณาขัดเกลากิเลสของตนเอง

    ข้อความต่อไปมีว่า

    อีกอย่างหนึ่ง ผู้ใดเข้าไปทำร้ายผู้อื่นเพราะไม่มีอธิวาสนขันติ

    คำนี้เคยได้ยินบ่อยๆ ต่อไปนี้คงชินกับความหมายของอธิวาสนขันติแล้ว ขันติความอดทนในความเป็นอยู่ เพราะฉะนั้น ก็ทุกสถานการณ์ ทุกเหตุการณ์

    อีกอย่างหนึ่ง ผู้ใดเข้าไปทำร้ายผู้อื่นเพราะไม่มีอธิวาสนขันติ ฆ่าสัตว์อื่น โดยที่สุดแม้เหลือบและยุง ผู้นั้นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต เพราะเหตุไร เพราะยังเว้นมลทินไม่ได้ ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า เพราะเว้นมลทินของตนได้ เพราะฉะนั้น จึงกล่าวว่า บรรพชิต ดังนี้

    นี่คือลักษณะของบรรพชิต เป็นบรรพชิตยาก แต่ถ้าผู้ใดใคร่จะประพฤติปฏิบัติตามบรรพชิต ก็ค่อยๆ ประพฤติปฏิบัติตามได้

    พึงทราบในคาถาที่ ๒

    บทว่า สพฺพปาปสฺส ได้แก่ อกุศลทุกชนิด

    อกุศลเล็กอกุศลน้อยอย่างไร ถ้ารู้ว่าเป็นอกุศล เว้นได้ก็ควรที่จะเว้น

    บทว่า อกรณํ คือ ไม่ให้เกิดขึ้น

    บทว่า กุสลสฺส ได้แก่ กุศลอันมีในภูมิ ๔

    บทว่า อุปสมฺปทา คือ ได้เฉพาะ

    บทว่า สจิตฺตปริโยทปนํ คือ ยังจิตของตนให้ผ่องแผ้ว ก็บทนั้นย่อมมีได้โดยความเป็นพระอรหันต์ ด้วยประการดังนี้ บรรพชิตควรละบาปทั้งปวงด้วยศีลสังวร ยังกุศลให้ถึงพร้อมด้วยสมถะและวิปัสสนาทั้งหลาย ยังจิตให้ผ่องแผ้วด้วยอรหัตตผล นี้เป็นคำสอน คือ เป็นโอวาท คือ เป็นคำตักเตือนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

    ทั้งหมดเริ่มจาก ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง

    ต่อไปเป็นคาถาที่ ๓

    บทว่า อนูปวาโท คือ ไม่เข้าไปกล่าวร้ายแก่ใครๆ ด้วยวาจา

    ยากหรือง่าย พิจารณาดูชีวิตประจำวัน ไม่เข้าไปกล่าวร้ายแก่ใครๆ ด้วยวาจา พูดเรื่องร้ายของคนอื่นรวมอยู่ด้วยไหม พิจารณาจริงๆ จะรู้จิตในขณะนั้นว่า เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล แต่ถ้าเป็นธรรมพูดได้ ถ้ามีกุศลจิต เพราะฉะนั้น แม้ว่าเป็น เรื่องเดียวกัน คำพูดอย่างเดียวกัน ต้องพิจารณาจิตที่กล่าวว่า กล่าวด้วยกุศลหรือกล่าวด้วยอกุศล ถ้าเพื่อประโยชน์แก่การเข้าใจสภาพธรรมก็กล่าวได้ เพราะในขณะนั้นไม่มีจิตที่มุ่งจะเข้าไปกล่าวร้ายด้วยวาจาแก่บุคคลนั้น

    บทว่า อนูปฆาโต คือ ไม่ทำร้ายด้วยกาย

    บทว่า ปาติโมกฺเข แยกศัพท์เป็น ป อติ โมกฺขํ แปลว่า การพ้นทั่วยิ่ง คือ ศีลสูงสุด ย่อมรักษาด้วยความวิเศษคือสุคติ และย่อมให้พ้นจากภัยคือทุคติ หรือ ย่อมรักษาสุคติ ย่อมให้พ้นทุคติ เพราะฉะนั้น ศีลนั้นท่านเรียกว่า ปาติโมกข์

    ถ้าใครรักษาปาติโมกข์ศีล จะทำให้คนนั้นพ้นจากทุคติและไปสู่สุคติได้

    บทว่า มตฺตญฺญุตา คือ รู้ประมาณด้วยสามารถการรับและการบริโภค

    ชีวิตประจำวัน เวลารับประทานอาหาร พิจารณาได้ อดทนไหม รู้ประมาณด้วยสามารถการรับและการบริโภค บางท่านเวลาบริโภค ลืมว่าอิ่มแล้ว เพราะว่าอาหารอร่อย เพราะฉะนั้น สำคัญที่สุด คือ ที่จะรู้ประมาณด้วยสามารถการรับและการบริโภคในขณะนั้น จะเป็นไปได้ก็เพราะขันติ ความอดทนต่อรสที่อร่อยที่จะ ไม่บริโภคต่อไป เพราะว่าอิ่มแล้ว

    บทว่า ปนฺตญฺจ สยนาสนํ ความว่า เว้นการเบียดเสียดที่นอนและที่นั่ง ในบทนั้นพึงทราบว่า เป็นผู้ที่สันโดษในปัจจัย ๔ ด้วยปัจจัย ๒ เท่านั้น

    สำหรับปัจจัย ๔ ก็มีที่อยู่ เสื้อผ้า อาหาร ยารักษาโรค

    บทว่า เอตํพุทธาน สาสนํ ความว่า การไม่เข้าไปว่าร้าย ไม่เข้าไปทำร้ายผู้อื่น การสำรวมในปาติโมกข์ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการรับและการบริโภค การเสพเสนาสนะอันสงัด เพราะความเป็นผู้ชำนาญในสมาบัติ ๘ นี้เป็นคำสอน เป็นโอวาท เป็นคำเตือนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

    ข้อความในอรรถกถา เป็นการทบทวนอีกครั้งหนึ่ง

    . ผมก็ขาดความอดทนที่จะให้เรื่องขันติผ่านไป จึงไม่ยอมให้เรื่องขันติผ่านไป เพราะในชีวิตประจำวัน ขันติกับผมสู้กันมานาน หลายๆ เรื่อง แต่ที่ อาจารย์ยกมาทั้งหมดที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ ผมว่าเป็นขันติอย่างเยี่ยมๆ ทั้งนั้น ขันติพื้นๆ ผมยังไปไม่รอดเลย ที่เป็นอย่างเยี่ยมๆ ผมจะไปถึงหรือ

    สุ. ก่อนจะถึงเยี่ยม ก็ต้องผ่านขั้นต้นมาก่อน

    . ขั้นต้นยังไปไม่รอด

    สุ. ค่อยๆ อบรม ค่อยๆ เจริญ ทุกอย่างที่คิดว่าทำไม่ได้ เวลาที่อบรมแล้วย่อมได้ ภายหลังย่อมทำได้ แต่ก่อนจะทำได้ หรือกว่าจะทำได้ ต้องใช้เวลานาน

    . เมื่อมีเราเข้าไปเกี่ยวข้องแล้ว อะไรๆ ก็ไม่ยอมหมด

    สุ. จากความเป็นปุถุชนไปสู่ความเป็นพระโสดาบัน ได้ไหม ถ้าไม่ได้ ก็ต้องไม่มีพระสงฆ์สาวกเลย ใช่ไหม แต่เพราะว่าได้ ซึ่งต้องอาศัยความอดทน อย่างมากทีเดียว

    . เชื่อว่าได้ แต่เจอเรื่องขันติ ก็เลือนรางเหลือเกินเมื่อมีเราเข้าไป อย่างที่ยกตัวอย่างมา เรื่องจริงทั้งนั้น กับคนนี้ขันติได้ กับคนนั้นไม่ได้ มีเราเข้าไปปนอยู่ ขาดการพิจารณาสภาพธรรม สภาพธรรมไม่เกิด เป็นตัวตน เป็นอะไรไปหมด

    สุ. วันนี้พูดอย่างนี้ อีก ๑๐ ปีอาจจะเปลี่ยนคำพูดนี้ไปบ้างเล็กน้อย หรือชาติหน้าอาจจะเป็นอีกบุคคลหนึ่งซึ่งมีความอดทนเพิ่มขึ้น หรืออีก ๑๐๐ ชาติ ๑,๐๐๐ ชาติ ความอดทนนั้นก็มีมากขึ้นได้ ถ้าเริ่มตั้งแต่เดี๋ยวนี้

    . คงจะต้องเชื่อ เพราะว่าจะต้องเจริญสติปัฏฐาน ถ้าขณะไหนมีสติระลึกได้ว่า นี่เป็นสภาพธรรม เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่อาจารย์พร่ำสอนอยู่นี่ ก็คิดว่า สักวันหนึ่งคงจะมีขันติเพิ่มขึ้น สามารถที่จะ ให้สัญญาได้ว่า คงจะไม่ถึง ๑๐ ปี

    สุ. แดดร้อน บ่นไหม ทีหลังจะได้พิจารณาว่า เคยบ่นเรื่องอะไรบ้าง และหลังจากนั้นก็บ่นน้อยลง จนกระทั่งในที่สุดไม่บ่น เพราะการบ่นไม่มีประโยชน์เลย

    . สงสัยเรื่องความอดทน รู้สึกว่าการอดทนจะมีอยู่ ๒ ขั้น อย่างความชอบกับไม่ชอบที่เกิดขึ้นในจิตใจ คงจะเป็นปริยุฏฐานกิเลสแล้ว เราฝึกฝืน อดทน ไม่เป็นไปตามสิ่งที่ชอบหรือไม่ชอบ คือ ไม่ให้ล่วงเป็นวีติกกมกิเลสทางกาย ทางวาจาอย่างนี้จะชื่อว่าเป็นความอดทนไหม

    สุ. ขั้นหนึ่ง



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙๒ ตอนที่ ๑๙๑๑ – ๑๙๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 133
    11 ก.พ. 2566