แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1909


    ครั้งที่ ๑๙๐๙


    สาระสำคัญ

    ม.อุ.ธาตุวิภังคสูตร พระเจ้าปุกกุสาติ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๓


    สำหรับในการที่จะรับเครื่องราชบรรณาการจากพระเจ้าพิมพิสาร

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ฝ่ายพระเจ้าปุกกุสาติ ทรงตบแต่งทางโดยทำนองนั้น ตั้งแต่รัฐสีมาของพระองค์ ทรงให้ประดับประดาพระนคร ได้ทรงกระทำการต้อนรับพระราชบรรณาการ พระราชบรรณาการเมื่อถึงพระนครตักสิลา ได้ถึงในวันอุโบสถ

    ฝ่ายอำมาตย์ผู้รับพระราชบรรณาการไปทูลบอกพระราชสาส์นที่กล่าวแก่พระราชา พระราชาทรงสดับพระราชสาส์นนั้นแล้ว ทรงพิจารณากิจควรทำ แก่อำมาตย์ทั้งหลายผู้มาพร้อมกับพระราชบรรณาการ ทรงถือพระราชบรรณาการเสด็จขึ้นสู่พระปราสาทและตรัสว่า ใครๆ อย่าเข้ามาในที่นี้ ทรงให้ทำการรักษาที่ พระทวาร ทรงเปิดพระสีหบัญชร ทรงวางพระราชบรรณาการบนที่พระบรรทมสูง ส่วนพระองค์ประทับนั่งบนอาสนะต่ำ ทรงทำลายรอยประทับ เมื่อทรงเปิดโดยลำดับจำเดิมแต่หีบเสื่อลำแพน ทรงพระราชดำริว่า ชื่อว่ามหาบริวารนี้จะไม่มีแก่รัตนะอื่น รัตนะที่ควรฟังได้เกิดขึ้นแล้วในมัชฌิมประเทศแน่แท้

    ลำดับนั้น ทรงเปิดหีบนั้นแล้ว ทรงทำลายรอยประทับพระราชลัญจนะ ทรงเปิดผ้ากัมพลอันละเอียดทั้ง ๒ ข้าง ทรงเห็นแผ่นทองคำ พระองค์ทรงคลี่ แผ่นทองคำนั้นออก ทรงพระราชดำริว่า พระอักษรทั้งหลายน่าพอใจจริงหนอ มีหัวเท่ากัน มีระเบียบเรียบร้อย มีมุมสี่ ทรงปรารภเพื่อจะทรงอ่านจำเดิมแต่ต้น

    พระโสมนัสอันมีกำลังได้เกิดขึ้นแก่พระองค์ที่ทรงอ่านแล้วอ่านอีกซึ่ง พระพุทธคุณทั้งหลายว่า พระตถาคตทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลกนี้ ขุมพระโลมาเก้าหมื่นเก้าพันขุม ก็มีปลายพระโลมาชูชันขึ้น พระองค์ไม่ทรงทราบถึงความที่พระองค์ประทับยืนหรือประทับนั่ง (ด้วยความปีติโสมนัสอย่างยิ่งในขณะนั้น)

    ลำดับนั้นพระปีติอันมีกำลังอย่างยิ่งได้เกิดขึ้นแก่พระองค์ว่า เราได้ฟัง พระศาสนาที่หาได้โดยยากนี้ แม้โดยแสนโกฏิกัป เพราะอาศัยพระสหาย พระองค์เมื่อไม่อาจเพื่อทรงอ่านต่อไป ก็ประทับนั่งจนกว่ากำลังปีติสงบระงับ แล้วทรงปรารภ พระธรรมคุณทั้งหลายต่อไปว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว ดังนี้ พระองค์ก็ทรงมีพระปีติอย่างนั้นแม้ในพระธรรมคุณนั้นเทียว พระองค์ประทับนั่งอีก จนกว่ากำลังปีติสงบระงับ ทรงปรารภพระสังฆคุณทั้งหลายต่อไปว่า พระสงฆ์สาวกเป็นผู้ปฏิบัติดี ในพระสังฆคุณแม้นั้น พระองค์ก็ทรงมีพระปีติอย่างนั้นเหมือนกัน

    ลำดับนั้น ทรงอ่านอานาปานสติกัมมัฏฐาน ในลำดับสุดท้าย ทรงยังฌานหมวดสี่และหมวดห้าให้เกิดขึ้น พระองค์ทรงยังเวลาให้ล่วงไปด้วยความสุข ในฌานนั้นแหละ ใครอื่นย่อมไม่ได้เพื่อเห็น (คือ ไม่ได้ออกไปให้คนอื่นเห็นเลย) มหาดเล็กประจำพระองค์คนเดียวเท่านั้นย่อมเข้าไปได้ ทรงยังเวลาประมาณกึ่งเดือนให้ผ่านไปด้วยประการฉะนี้

    ชาวพระนครทั้งหลายประชุมกันในพระลานหลวง ได้ทำการโห่ร้องตะโกนว่า ตั้งแต่วันที่พระราชาทรงรับพระราชบรรณาการแล้ว ไม่มีการทอดพระเนตรพระนคร หรือการทอดพระเนตรดูนางฟ้อนรำ ไม่มีการพระราชทานวินิจฉัย พระราชาจงทรง พระราชทานพระราชบรรณาการที่พระสหายส่งมาให้แก่ผู้รับไปเถิด

    หมายความว่า ขอให้ส่งราชบรรณาการนั้นคืนไป เพราะทำให้พระราชาไม่ได้ทอดพระเนตรพระนคร ไม่ได้ทอดพระเนตรดูนางฟ้อนรำ และไม่มีการพระราชทานวินิจฉัย และมีความคิดต่อไปว่า

    ธรรมดาพระราชาทั้งหลาย ย่อมทรงพยายามเพื่อหลอกลวงแม้ด้วยเครื่องบรรณาการ ยึดพระราชสมบัติของพระราชาบางพระองค์ให้แก่ตน พระราชาของพวกเราทรงทำอะไรหนอ ดังนี้

    ใน ๑๕ วันนั้น สงสัยมากว่า พระราชาทรงทำอะไร

    พระราชาทรงสดับเสียงโห่ร้องแล้วทรงพระราชดำริว่า เราจักธำรงไว้ ซึ่งราชสมบัติ หรือพระศาสนา

    ลำดับนั้นพระองค์ทรงมีพระราชดำริว่า เราจักธำรงไว้ซึ่งพระศาสนาของ พระศาสดา ดังนี้ ทรงจับพระแสงดาบที่ทรงวางไว้บนพระที่บรรทม ตัดพระเกศาแล้ว ทรงส่งมหาดเล็กประจำพระองค์ให้นำผ้ากาสาวพัสตร์สองผืน และบาตรดินจาก ในตลาด ทรงอุทิศต่อพระศาสดาว่า พระอรหันต์เหล่าใดในโลก เราบวชอุทิศ พระอรหันต์เหล่านั้น ดังนี้ แล้วทรงนุ่งผ้ากาสาวะผืนหนึ่ง ทรงห่มผ้ากาสาวะผืนหนึ่ง ทรงสะพายบาตร เสด็จลงจากพระปราสาท

    ก็ประชาชนทั้งหลายเห็นนางฟ้อนผู้ยืนที่ประตูทั้งสามเป็นต้น แต่จำพระราชานั้นซึ่งเสด็จลงมาไม่ได้ พวกเขาคิดว่าเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งมาเพื่อแสดงธรรมกถาแก่พระราชา

    ท่านผู้ฟังจะเห็นขันติ ความอดทนอย่างยิ่งของพระเจ้าปุกกุสาติซึ่งออกจากปราสาทราชวังสู่เพศบรรพชิต ไม่มีสมบัติอะไรเลย ความอดทนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพความเป็นอยู่จะต้องมีมากสักแค่ไหน จนกว่าจะสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ถ้าเป็นผู้ที่ไม่เคยสะสมขันติ ความอดทนมาอย่างมาก ย่อมไม่สามารถกระทำได้อย่างพระเจ้าปุกกุสาติ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ได้ยินว่า กุลบุตรนั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า

    ข้อความในอรรถกถาเมื่อเปลี่ยนจากพระราชาสู่เพศสมณะ จึงใช้คำว่า กุลบุตร

    พระศาสดาของเราเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ทรงบรรพชาพระองค์เดียว เสด็จไปพระองค์เดียว เราละอายต่อพระศาสดา ได้ยินว่า พระศาสดาของเรา ทรงบรรพชาแล้ว ไม่เสด็จขึ้นยาน และไม่ทรงสวมฉลองพระบาทโดยที่สุดแม้ชั้นเดียว ไม่ทรงกั้นร่มกระดาษ

    ทุกท่านมีรองเท้าหลายคู่ และไปไหนโดยยาน แต่พระเจ้าปุกกุสาติมีความคิดที่ละอายต่อพระศาสดา ใคร่ที่จะดำเนินตามรอยพระยุคลบาท คือ เมื่อทรงบรรพชาแล้วไม่เสด็จขึ้นยาน ไม่ทรงสวมฉลองพระบาทโดยที่สุดแม้ชั้นเดียว ไม่ทรงกั้นร่ม

    กุลบุตรนั้นคิดว่า เราเดินทางไกล ไม่อาจเพื่อจะไปเองคนเดียว จึงเสด็จติดตามพ่อค้าพวกหนึ่ง เมื่อกุลบุตรผู้สุขุมาลชาติไปในแผ่นดินที่ร้อนระอุ พื้นพระบาททั้งสองข้างก็กลัดหนองแตกเป็นแผล ทุกขเวทนาก็เกิดขึ้น

    ยากที่ใครจะทำได้จริงๆ แต่ถ้าได้สะสมขันติคือความอดทนอย่างมากมาแล้วเป็นอุปนิสสยปัจจัยจึงจะทำได้ และได้ทำแล้วตามเหตุตามปัจจัยที่ได้สะสม โดย สภาพความเป็นอนัตตา ใครจะทำได้หรือทำไม่ได้อย่างไร ก็รู้อุปนิสสยปัจจัยที่ แต่ละบุคคลได้สะสมมาตามความเป็นจริง

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ครั้นเมื่อพวกพ่อค้าตั้งค่ายพักนั่งแล้ว กุลบุตรก็ลงจากทาง นั่ง ณ โคนต้นไม้ ต้นหนึ่ง ชื่อว่าผู้ทำบริกรรมเท้า หรือนวดหลังในที่นั่ง ไม่มี กุลบุตรนั้นเข้า อานาปานจตุตถฌาน ข่มความลำบากในทางความเหน็ดเหนื่อยและความเร่าร้อน ยังเวลาให้ผ่านไปด้วยความยินดีในฌาน

    ในวันรุ่งขึ้น เมื่ออรุณขึ้นแล้ว ทำการปฏิบัติสรีระ เดินติดตามพวกพ่อค้าอีก ในเวลาอาหารเช้า พวกพ่อค้ารับบาตรของกุลบุตรแล้วใส่ขาทนียะและโภชนียะลงในบาตรถวาย ขาทนียะและโภชนียะนั้นเป็นข้าวสารดิบบ้าง เศร้าหมองบ้าง แข็งเสมอกับก้อนกรวดบ้าง จืด และเค็มจัดบ้าง

    กุลบุตรพิจารณาสถานที่พัก บริโภคขาทนียะและโภชนียะนั้นดุจอมฤต โดยทำนองนั้น

    คือ เปี่ยมด้วยความศรัทธาจริงๆ ที่จะดำเนินตามรอยพระยุคลบาท ด้วยการบริโภคอาหารในบาตร

    ท่านเดินทางไกลสิ้นทาง ๑๙๒ โยชน์ แม้จะเดินไปใกล้ซุ้มประตูพระเชตวัน ก็ตาม แต่ก็ไม่ถามว่า พระศาสดาประทับอยู่ ณ ที่ไหน

    บางท่านก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เมื่อท่านตั้งใจที่จะไปที่หนึ่งที่ใด แม้ไม่รู้จักสถานที่นั้น แต่ก็เชื่อว่า ที่นั้นอยู่ตรงนั้น ไม่ต้องถามใคร เพราะฉะนั้น ท่านปุกกุสาติ ก็ไม่ได้ถามว่าพระศาสดาประทับอยู่ ณ ที่ไหน

    ข้อความต่อไปมีว่า

    เพราะเหตุไร ท่านจึงไม่ถาม

    เพราะเคารพในพระศาสดา และเพราะอำนาจแห่งพระราชสาส์นที่พระราชาส่งไป ก็พระราชาทรงพระราชสาส์นไป ทรงทำดุจพระศาสดาทรงอุบัติในกรุงราชคฤห์ว่า พระตถาคตทรงอุบัติในโลกนี้

    คือ ทำให้เข้าใจว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระนครราชคฤห์ เพราะฉะนั้น แม้เดินไปใกล้ซุ้มประตูพระเชตวันก็ผ่านไป อุตส่าห์เดินต่อไปจนกระทั่งถึงกรุงราชคฤห์

    เพราะฉะนั้น จึงไม่ถาม เดินทางไปสิ้น ๔๕ โยชน์ ในเวลาพระอาทิตย์ตก กุลบุตรนั้นไปถึงกรุงราชคฤห์ จึงได้ถามว่า พระศาสดาประทับ ณ ที่ไหน

    เมื่อชาวบ้านทราบว่าท่านมาจากอุตตรประเทศ ก็ได้เรียนท่านว่า ท่านผ่าน พระนครสาวัตถีมา ๔๕ โยชน์ จนถึงพระนครราชคฤห์แล้ว และพระศาสดาประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถีนั้น

    ปุกกุสาติกุลบุตรคิดว่า บัดนี้ไม่ใช่กาล เราไม่อาจกลับไปพระนครสาวัตถี วันนี้เราพักอยู่ในที่นี้ก่อน พรุ่งนี้จึงจะไปสู่สำนักพระศาสดา

    ซึ่งต้องเดินทางอีก ๔๕ โยชน์

    และท่านได้ถามชาวบ้านว่า พวกบรรพชิตที่มาถึงในยามวิกาลนั้นพากันพัก ณ ที่ไหน ชาวบ้านก็ตอบว่า พัก ณ ศาลานายช่างหม้อนี้

    ลำดับนั้น กุลบุตรนั้นขอพักกับนายช่างหม้อนั้นแล้ว เข้าไปนั่งเพื่อประโยชน์แก่การพักอาศัยในศาลาของนายช่างหม้อนั้น

    ลักษณะการพบกันของท่านปุกกุสาติกับพระผู้มีพระภาค คล้ายกับการพบกันของกามนิตและพระผู้มีพระภาคในนิยายอิงธรรม แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง

    ในเวลาใกล้รุ่งของวันนั้น พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูโลก ทรงเห็นกุลบุตร ปุกกุสาติ ทรงพระดำริว่า กุลบุตรนี้อ่านเพียงสาส์นที่พระสหายส่งไป ละราชสมบัติใหญ่ บวชอุทิศเจาะจงเรา เดินทางสิ้น ๑๙๒ โยชน์ถึงกรุงราชคฤห์ ก็เมื่อเราไม่ไป จักไม่แทงตลอดสามัญญผล ๓ (คือ จะไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมบรรลุถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล) จะทำกาลกิริยาไร้ที่พึ่ง โดยการพักเพียงคืนเดียว แต่ครั้นเมื่อเราไปแล้วจักแทงตลอดสามัญญผล ๓ ก็เราบำเพ็ญพระบารมีทั้งสิ้น สี่อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัป เพื่อประโยชน์แก่การสงเคราะห์ชนเท่านั้น เราจักทำการสงเคราะห์แก่กุลบุตรปุกกุสาติ ดังนี้

    ทรงทำการปฏิบัติพระสรีระแต่เช้าตรู่ มีพระภิกษุสงฆ์แวดล้อม เสด็จบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี ภายหลังภัต เสด็จกลับจากบิณฑบาต เสด็จเข้าพระคันธกุฎี ทรงระงับความลำบากในการเดินทางครู่หนึ่ง ไม่ตรัสอะไรในพระเถระทั้งหลาย มีท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะเป็นต้น พระองค์เองทรงถือบาตร และจีวรเสด็จออกไปเพียงพระองค์เดียว และเมื่อเสด็จไปก็ไม่ได้ทรงเหาะไป ไม่ทรง ย่นแผ่นดิน ทรงพระดำริอีกว่า กุลบุตรละอายต่อเราไม่นั่งแม้ในยานหนึ่ง ในบรรดาช้าง ม้า รถ และวอทองเป็นต้น โดยที่สุดไม่สวมรองเท้าชั้นเดียว ไม่กางร่มออกไป แม้เราก็ควรไปด้วยเท้าเท่านั้น ดังนี้ จึงเสด็จไปด้วยพระบาท พระองค์ทรงปกปิด พระพุทธสิรินี้ คือ อนุพยัญชนะ ๘๐ รัศมี ๑ วา และมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ เสด็จไปด้วยเพศของภิกษุรูปหนึ่ง ดุจพระจันทร์วันเพ็ญที่หมอกเมฆปกปิดไว้ฉะนั้น โดยปัจจาภัตเดียวเท่านั้นก็เสด็จไปได้ ๔๕ โยชน์ ในเวลาพระอาทิตย์ตกก็เสด็จถึงศาลาของนายช่างหม้อนั้น

    ก็พระผู้มีพระภาคครั้นเสด็จไปอย่างนี้แล้ว ก็ไม่ทรงข่มขู่ว่า เราเป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จไปยังศาลาของนายช่างหม้อ ประทับยืนที่ประตูนั้นแล เมื่อจะให้กุลบุตรทำโอกาส จึงตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุ ถ้าไม่เป็นความหนักใจแก่ท่าน เราจะขอพักอยู่ในโรงนี้สักคืนหนึ่งเถิด

    ท่านปุกกุสาติตอบว่า

    ดูกร ท่านผู้มีอายุ โรงช่างหม้อกว้างขวาง นิมนต์ท่านผู้มีอายุพักตามสบายเถิด

    ข้อความต่อไปในอรรถกถามีว่า

    พระโลกนาถผู้ทรงสุขุมาลชาติอย่างยิ่ง ทรงละพระคันธกุฎีเป็นเช่นกับเทพวิมาน ทรงปูลาดสันถัตคือหญ้าในศาลาช่างหม้อ ซึ่งมีขี้เถ้าเรี่ยราดไปทั่ว สกปรกด้วย ภาชนะแตก หญ้าแห้ง เป็นต้น เป็นเช่นกับที่ทิ้งขยะ ทรงปูปังสุกุลจีวรประทับนั่ง ดุจเสด็จเข้าพระมหาคันธกุฎี อันมีกลิ่นทิพย์เช่นกับเทพวิมานแล้วประทับนั่งฉะนั้น

    ถ้าท่านผู้ฟังที่ต้องการเจริญขันติบารมี ไม่ควรลืมที่จะสะสมขันติ ความอดทนทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะในที่นั่ง ที่นอน หรือสิ่งแวดล้อมอย่างไรก็ตาม

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ด้วยประการฉะนี้ พระผู้มีพระภาคทรงอุบัติในพระมหาสัมมตวงศ์อันไม่เจือปน แม้กุลบุตรก็เจริญแล้วในขัตติยครรภ์ แม้พระผู้มีพระภาคก็ทรงถึงพร้อมด้วย พระอภินิหาร แม้กุลบุตรก็ถึงพร้อมด้วยอภินิหาร พระผู้มีพระภาคก็ดี กุลบุตรก็ดี ต่างก็ทรงสละราชสมบัติ ทรงผนวช แม้พระผู้มีพระภาคทรงมีพระวัณณะดุจทอง แม้กุลบุตรก็มีวัณณะดุจทอง พระผู้มีพระภาคก็ดี กุลบุตรก็ดี ทรงมีลาภคือสมาบัติ ทั้งสองก็ทรงเป็นกษัตริย์ ทั้งสองก็ทรงถึงพร้อมด้วยพระอภินิหาร ทั้งสองก็ทรงผนวชจากราชตระกูล ทั้งสองทรงมีพระวัณณะดุจทอง ทั้งสองทรงมีลาภคือสมาบัติ เสด็จเข้าสู่ศาลาของนายช่างหม้อแล้วประทับนั่ง ด้วยปราการฉะนี้ ด้วยเหตุนั้น ศาลาช่างหม้อจึงงดงามอย่างยิ่ง

    ไม่ใช่งดงามด้วยอย่างอื่น แต่งดงามด้วยพระผู้มีพระภาคและกุลบุตรปุกกุสาติ ซึ่งจะได้บรรลุถึงความเป็นพระอนาคามี หลังจากที่ได้บำเพ็ญบารมีมามากพร้อมที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    ก็ในบุคคลทั้งสองนั้น พระผู้มีพระภาคไม่ทรงยังแม้พระหฤทัยให้เกิดขึ้นว่า เราเป็นผู้สุขุมาล เดินทางมาสิ้น ๔๕ โยชน์ โดยเวลาหลังภัตเดียว ควรสำเร็จสีหไสยาสักครู่ก่อนให้หายเหนื่อยจากการเดินทาง ดังนี้ พระองค์ประทับนั่งเข้าพลสมาบัติเทียว

    ฝ่ายกุลบุตรก็ไม่ยังจิตให้เกิดขึ้นว่า เราเดินทางมาสิ้น ๑๙๒ โยชน์ ควรนอนพักบรรเทาความเหนื่อยในการเดินทางสักครู่ก่อน ก็นั่งเข้าอานาปานจตุตถฌานนั้นแล

    ถามว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จมาด้วยพระดำริว่า จักแสดงธรรมแก่กุลบุตร มิใช่หรือ เพราะเหตุไรจึงไม่ทรงแสดงเล่า

    ตอบว่า ไม่ทรงแสดงเพราะเหตุว่า กุลบุตรมีความเหน็ดเหนื่อยในการเดินทาง ยังไม่สงบระงับ จักมิอาจเพื่อรับพระธรรมเทศนาได้ ขอให้ความเหน็ดเหนื่อยใน การเดินทางนั้นของกุลบุตรสงบระงับก่อน

    อาจารย์พวกอื่นกล่าวว่า ธรรมดานครราชคฤห์เกลื่อนกล่นด้วยมนุษย์ ไม่สงัดจากเสียง ๑๐ อย่าง เสียงนั้นจะสงบประมาณสองยามครึ่ง พระองค์ทรงรอ การสงบเสียงนั้นจึงไม่ทรงแสดง แต่นั่นไม่ใช่การณ์ (คือ ไม่ใช่เหตุ) เพราะ พระผู้มีพระภาคทรงสามารถเพื่อยังเสียงแม้ประมาณพรหมโลกให้สงบระงับได้ ด้วย พระอานุภาพของพระองค์ พระองค์ทรงรอความสงบระงับจากความเหน็ดเหนื่อย ในการเดินทางก่อน จึงไม่ทรงแสดง

    บางท่านก็รีบๆ ร้อนๆ อยากจะฟังพระธรรม ลืมคิดว่า ร่างกายและจิตใจ ในขณะนั้นสงบพอที่จะฟังและพิจารณาเหตุผลของพระธรรมไหม คือ ควรจะพัก สักชั่วครู่พอให้สงบก่อน จะได้พิจารณาพระธรรมด้วยจิตใจที่ปลอดโปร่ง แต่บางท่าน ก็อาจจะรีบร้อน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙๑ ตอนที่ ๑๙๐๑ – ๑๙๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 133
    28 ธ.ค. 2564