แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1903


    ครั้งที่ ๑๙๐๓


    สาระสำคัญ

    บุคคลใดเป็นมหาบุรุษ

    ท่านอาจารย์ มหา. อรรถกถาทีปสูตรที่ ๘ - แสดงอานิสงส์ของอานาปานสติสมาธิ

    จุดประสงค์ของการเจริญสติปัฏฐาน


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๓๒


    . เรื่องวิปลาส ท่านอาจารย์เคยถามว่า ในวันหนึ่งๆ จิตตวิปลาสกับสัญญาวิปลาสเกิดมากไหม ก็ตอบได้ว่า เกิดมาก และอีกคำถามท่านอาจารย์ถามว่า ในวันหนึ่งๆ ทิฏฐิวิปลาสเกิดบ้างไหม ตอนนั้นดิฉันได้ฟังคำถามแล้วรู้สึกไม่แน่ใจ ยังตอบไม่ได้ เพราะคิดว่าแม้ไม่มีทิฏฐิ ๖๒ ประการก็ตาม แต่สักกายทิฏฐิก็ยังคงมีอยู่ และวันหนึ่งๆ จะเกิดบ้างหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ เมื่อได้ฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์ออกอากาศเมื่อวานพูดถึงสักกายทิฏฐิ ก็ทำให้เข้าใจว่า สักกายทิฏฐิเป็นอนุสัยที่ ยังมีอยู่ เพราะฉะนั้น คำถามนี้ ถ้าดิฉันตอบว่า ทิฏฐิวิปลาสในวันหนึ่งๆ ไม่เกิดก็ได้ แต่ยังมีเป็นอนุสัยอยู่ จะถูกไหม

    สุ. ถูกต้อง

    . ขอเรียนถามปัญหาที่สืบเนื่องมาจากคำถามของพระคุณเจ้า ในงานทอดกฐินสัปดาห์ที่แล้ว ที่ท่านถามเรื่องอานาปานสติเป็นอารมณ์ของมหาบุรุษ มหาบุรุษในที่นี้จะหมายถึงเฉพาะพระอรหันต์ หรือหมายรวมถึงพระอริยบุคคลระดับ อื่นๆ ด้วย หรือหมายถึงบุคคลใด

    สุ. เป็นสิ่งที่น่าคิด เพราะคำว่า มหาบุรุษ ต้องเป็นคำที่มีความหมายสำคัญทีเดียว เช่น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นมหาบุรุษแน่ เพราะฉะนั้น นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว บุคคลใดอีกจะเป็นมหาบุรุษ

    อรรถกถา สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค อรรถกถาทีปสูตรที่ ๘ ข้อ ๑๓๒๗ – ข้อ ๑๓๔๗ แสดงอานิสงส์ของอานาปานสติสมาธิ ซึ่งถ้าท่านผู้ฟัง ดูในพระสูตรอื่นจะเห็นถึงอานิสงส์ของกายคตาสติบ้าง อานิสงส์ของสติปัฏฐานบ้าง เพราะฉะนั้น แต่ละสูตรก็แสดงอานิสงส์ของการเจริญสติปัฏฐานนัยต่างๆ แต่สำหรับอานิสงส์ของอานาปานสติสมาธิ ข้อ ๑๓๒๗ พระผู้มีพระภาคตรัสกับพระภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติสมาธิอันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

    มากจริงๆ แต่ต้องทราบว่า มากแค่ไหน

    ข้อ ๑๓๒๙

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า เมื่อก่อนแต่ตรัสรู้ ครั้งเราเป็นพระโพธิสัตว์ ยังมิได้ตรัสรู้ ก็ย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้โดยมาก เมื่อเราอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้โดยมาก กายไม่ลำบาก จักษุไม่ลำบาก และจิตของเราย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น

    และข้อความต่อไปจนถึง ข้อ ๑๓๔๕ แสดงอานิสงส์ของอานาปานสติสมาธิว่าย่อมทำให้สามารถบรรลุถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ คือ นิโรธสมาบัติ ซึ่งดับจิตเจตสิกได้ ไม่เกิน ๗ วัน

    ส่วนใน อรรถกถาทีปสูตรที่ ๘ ก็ได้ชี้อานิสงส์ของอานาปานสติสมาธิว่า

    ภิกษุผู้ต้องการฤทธิ์ที่เป็นอริยะก็ดี รูปาวจรฌาน ๔ ก็ดี อรูปาวจรสมาบัติ ๔ ก็ดี นิโรธสมาบัติ ๔ ก็ดี ต้องทำความสนใจสมาธิที่เกี่ยวกับความระลึก อานาปานนี้ให้ดี เหมือนเมื่อได้กรุงแล้ว ของสิ่งใดที่ต้องใช้ความขยันจึงจะได้มา ในทิศทั้ง ๔ ของสิ่งนั้นก็ย่อมเข้าสู่กรุงโดยประตูทั้ง ๔ นั่นแหละ เพราะฉะนั้น ก็เป็นอันว่าได้ทั้งชนบทด้วย นี้แลเป็นอานิสงส์ของกรุงนั่นเทียว ฉันใด ชนิดมีอริยฤทธิ์เป็นต้นนี้ก็ฉันนั้น เป็นอานิสงส์ของอานาปานสติสมาธิภาวนา เมื่อได้เจริญ อานาปานสติสมาธิโดยอาการทั้งหมดแล้ว สิ่งทั้งหมดนี้ก็ย่อมสำเร็จแก่พระโยคี (คือ ผู้ที่เจริญอานาปานสติสมาธินั้น)

    ถ้าพิจารณาจะเห็นได้ว่า ปัญญาของผู้เจริญอานาปานสติ ได้ทั้งหมด ไม่ใช่เล็กน้อยเลย เพราะสามารถบรรลุฤทธิ์ต่างๆ ได้ ทั้งโลกียะและโลกุตตระ แสดงให้เห็นถึงการเป็นผู้ที่มีปัญญาจริงๆ คือ เป็นผู้ที่มีปัญญาสามารถเจริญ อานาปานสติสมาธิด้วย ไม่ใช่ว่าเพียงแต่ระลึกที่ลมหายใจชั่วขณะและจะประจักษ์ การเกิดขึ้นและดับไป แต่ต้องเป็นที่ผู้ประกอบด้วยสมาธิทั้งหมดทั้งรูปฌานด้วย และผู้ที่สามารถเจริญอานาปานสติสมาธิ ย่อมสามารถได้อิทธิฤทธิต่างๆ ทั้งที่เป็น โลกียะและโลกุตตระ แสดงให้เห็นถึงปัญญาอย่างมากของผู้ที่สามารถอบรม เจริญอานาปานสติได้ ซึ่งเท่ากับว่าทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในเงื้อมมือของผู้ที่มีความสามารถ เจริญอานาปานสติสมาธิ

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีความสามารถอย่างนี้ คือ มหาบุรุษ ไม่ใช่คนที่เพียงแต่ รู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่ต้องเป็นผู้ที่มากกว่านั้น อย่างเช่นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นมหาบุรุษ พระอริยบุคคล พระอรหันต์ในสมัยโน้น ท่านมีอิทธิปาฏิหาริย์ และท่านเป็นผู้ที่ได้อภิญญา ก็เป็นมหาบุรุษ

    ถ้าไม่ใช่มหาบุรุษ ยากที่จะเจริญอานาปานสติได้ เพราะว่าเป็นอารมณ์ที่ละเอียดกว่าแม้กสิณ หรืออสุภกัมมัฏฐาน หรือกัมมัฏฐานอื่นๆ เพราะว่าขณะนี้ทุกคนก็มีลมหายใจ แต่ที่ลมหายใจจะปรากฏต้องประกอบด้วยปัญญาที่รู้ว่า ในขณะที่ ลมหายใจปรากฏนั้น จิตสงบหรือไม่สงบ เพราะแม้จิตไม่สงบ ลมหายใจก็ปรากฏได้ พวกโยคะ โยคีต่างๆ ก็ใช้การทำสมาธิโดยมีลมหายใจที่เรียกว่า โยคะ แบบต่างๆ ในขณะนั้นบุคคลเหล่านั้นไม่รู้ความต่างกันด้วยสติสัมปชัญญะว่า ขณะนั้นจิตสงบหรือไม่สงบ เป็นกุศลหรือไม่ใช่กุศล เช่น ขณะนี้ถ้าไม่พูดถึงลมหายใจ กระทบสัมผัสสิ่งที่แข็งจะรู้ไหมว่า ขณะนั้นจิตสงบหรือไม่สงบ กำลังมีลักษณะที่แข็งปรากฏ ลักษณะที่แข็งเปลี่ยนไม่ได้ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นลักษณะที่แข็ง และ มีจิตที่กำลังรู้แข็งด้วย ขณะนั้นเปลี่ยนจิตที่รู้แข็งให้เป็นจิตอื่นไม่ได้ แต่นอกจากจิต ที่รู้แข็งแล้ว เป็นจิตที่สงบหรือไม่สงบที่เกิดต่อจากจิตที่รู้แข็ง

    จิตที่รู้แข็ง โดยวิถีจิตเป็นกายวิญญาณกำลังรู้แข็ง แต่หลังจากที่กายวิญญาณดับแล้ว สัมปฏิจฉันนจิตที่เกิดต่อก็รู้แข็ง เป็นวิบาก สันตีรณจิตที่เกิดต่อจาก สัมปฏิจฉันนจิตก็รู้แข็งและเป็นวิบาก แต่หลังจากที่โวฏฐัพพนจิตซึ่งเป็นกิริยาจิต ที่เกิดต่อจากสันตีรณจิตดับไปแล้ว ชวนจิตที่เกิดต่อ ทั้งๆ ที่กำลังมีแข็งเป็นอารมณ์เหมือนกัน แต่เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

    ต้องเป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะประกอบด้วยปัญญา จึงสามารถรู้สภาพของจิต ซึ่งโดยตำราสามารถบอกได้ว่า กุศลจิตมีเท่าไร อกุศลจิตมีเท่าไร แต่เวลาที่กระทบสัมผัสแข็งจริงๆ ถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญาคือสติสัมปชัญญะไม่สามารถรู้ได้เลยว่า ขณะนั้นจิตสงบหรือไม่สงบ เป็นกุศลหรือไม่เป็นกุศล

    นี่คือการกระทบโผฏฐัพพะ คือ ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลมทางกาย เวลาที่เป็นลมหายใจก็คือโผฏฐัพพะ ลมหายใจไม่ใช่สภาพธรรมที่ต่างจากโผฏฐัพพะคือแข็ง ที่กำลังปรากฏ แต่ลมหายใจละเอียดมาก เป็นโผฏฐัพพะที่ละเอียด ในขณะนี้ทุกคนกำลังหายใจ และตามความเป็นจริงลมหายใจก็กระทบส่วนหนึ่งส่วนใด เช่น ในช่องจมูก หรือเบื้องบนริมฝีปาก เพราะฉะนั้น ในขณะที่ลมหายใจกำลังกระทบ ถ้าปราศจากสติสัมปชัญญะก็ไม่สามารถรู้ได้ว่า ขณะนั้นจิตสงบหรือไม่สงบ เพราะฉะนั้น การเจริญอานาปานสติจึงเป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นเรื่องที่ประกอบด้วยสัมปชัญญะ แม้ขณะที่กำลังกระทบแข็งอย่างหยาบๆ เช่น กระทบเก้าอี้ หรือโต๊ะ ยังบอกไม่ได้ว่า จิตนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล และเมื่อลมหายใจละเอียดกว่านั้น สติสัมปชัญญะก็ต้องละเอียดตามที่จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นกุศลหรือไม่ใช่กุศล

    แต่คนที่ไม่เคยอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่สามารถบอกได้แน่นอน เช่น พวกโยคะ มีการระลึกรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ยาว สั้น เป็นการฝึกหัดบริหารเพื่อสุขภาพอนามัย พวกโยคะจะใช้สมาธิเพื่อประโยชน์อย่างนั้น แต่ขณะนั้นเขา บอกไม่ได้เลย เพราะไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานที่สามารถรู้ลักษณะของจิต ในขณะที่กำลังมีลมหายใจเป็นอารมณ์

    เป็นเรื่องละเอียดที่จะรู้ว่า ขณะที่กำลังหายใจอยู่ในขณะนี้ หรือขณะที่ ลมปรากฏ จิตสงบหรือไม่สงบ เป็นกุศลหรือไม่เป็นกุศล แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ประกอบด้วยการศึกษาและการพิจารณาอย่างละเอียดจะเข้าใจเอาเองว่า ขณะนั้นสงบ เพราะเขาคิดว่า คำว่า สงบ หมายความถึงขณะที่จิตไม่ไปรู้อารมณ์อื่น ขณะใดก็ตามที่จิต ตั้งมั่นอยู่ที่อารมณ์เดียวผู้ที่ไม่ได้ศึกษาโดยละเอียดก็เข้าใจว่า ขณะนั้นสงบ แต่ตามความเป็นจริง ขณะที่กำลังจดจ่อรู้เฉพาะอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ไม่ใช่กุศลเสมอไป เพราะว่ามีทั้งมิจฉาสมาธิและสัมมาสมาธิ ถ้าเป็นสัมมาสมาธิก็ต้องประกอบด้วยปัญญา ถ้าไม่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะคือปัญญาจริงๆ ไม่สามารถ รู้ลักษณะของจิตที่สงบว่า ต่างกับอกุศลจิตอย่างไร

    . ผู้ที่ไม่ใช่มหาบุรุษก็ไม่สามารถเจริญอานาปานสติได้ ใช่ไหม

    สุ. ก่อนอื่นต้องเข้าใจจุดประสงค์ของการเจริญสติปัฏฐานว่า เจริญทำไม นี่เป็นจุดที่สำคัญที่สุด เพราะว่าทุกคนที่จะบรรลุถึงจุดหมาย ต้องเข้าใจจุดประสงค์ ถ้าเพียงแต่เดินไปโดยไม่รู้จุดหมายและไม่รู้หนทาง ไม่มีวันที่จะถึง

    เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะเจริญอะไรก็ตาม บางคนอาจจะบอกว่า เจริญ กายานุปัสสนา หรือเจริญกายคตาสติ พิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง แต่เข้าใจจุดประสงค์ของการเจริญหรือเปล่าว่าเพื่ออะไร

    ผู้ที่จะเจริญปัญญา ต้องอาศัยการฟัง และรู้ว่าตนเองมีกิเลสมาก และกิเลสนั้นอยู่ในขณะไหน

    ขณะที่เห็นและไม่รู้ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏโดยสภาพที่แท้จริงเป็นอะไร ที่จะกล่าวว่าเป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ขณะที่กำลังได้ยินและ ไม่รู้ว่าสภาพที่กำลังได้ยินเป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะ สภาพที่กำลังได้ยินเป็นธาตุชนิดหนึ่ง เป็นอาการรู้ เป็นลักษณะรู้เสียงที่กำลังปรากฏ

    คือ ไม่รู้ตัวเองว่ามีความไม่รู้ซึ่งจะต้องละความไม่รู้ เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญา สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมเพื่อเข้าใจลักษณะของ สภาพธรรมนั้นให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ตามที่เคยได้ยินได้ฟัง และพิจารณา ในขณะที่สติระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมนั้น เพราะฉะนั้น ไม่มีการคิดว่าจะเจริญอานาปานสติแน่นอน

    สำหรับผู้ที่เจริญปัญญาเพื่อละความไม่รู้ย่อมรู้ว่า สติเป็นอนัตตา สติเกิดเพราะอาศัยปัจจัย สำคัญที่สุด คือ เข้าใจเรื่องสภาพธรรมที่กำลังปรากฏมากพอที่สติจะเกิดระลึกรู้ในลักษณะนั้นๆ ได้ถูกต้อง เช่น เข้าใจเรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตาละเอียดขึ้น ซึมซาบ เข้าใจจนกระทั่งสติเกิดระลึกได้ว่า ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง

    ความเข้าใจต้องมีก่อน เมื่อความเข้าใจมีแล้ว สติจะระลึกลักษณะของ สภาพธรรมอะไรก็ได้ สติเกิดและดับ ไม่มีใครไปบังคับให้สติระลึกที่นั่นที่นี่ได้ แต่ ความเข้าใจผิดหรือมิจฉาทิฏฐิทำให้ตัวเองคิดว่า สามารถตั้งสติ หรือสามารถให้สติกำหนดที่นั่นที่นี่ได้ นั่นคือความเห็นผิด คือ ขณะนั้นไม่เข้าใจลักษณะของสติว่า เป็นอนัตตา

    เมื่อเข้าใจเรื่องของสติปัฏฐาน และรู้ว่าสติปัฏฐานจะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมอะไรก็ได้ ก็ไม่สนใจเรื่องของลมหายใจ ใช่ไหม หรือยังสนใจว่า จะเจริญอานาปานสติ

    ถ้ามีความคิดว่าจะเจริญอานาปานสติ เข้าใจถูกหรือเข้าใจผิดในเรื่องการ ละกิเลส เพราะทางตาก็ไม่รู้ว่า กำลังเห็นเป็นสภาพรู้ ไม่ใช่เรา และสิ่งที่ปรากฏโดยลักษณะจริงๆ แล้วก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดดับด้วย ทำไมไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ แต่จะไปเจริญอานาปานสติ

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะละความไม่รู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จะรู้ว่า ขณะใดสติเกิด ขณะใดหลงลืมสติ และขณะที่สติเกิดลักษณะสภาพที่เป็นปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ของสติ ไม่เหมือนกับเวลาที่สติปัฏฐานไม่เกิด เวลาที่ สติปัฏฐานไม่เกิดก็เห็น ไม่ใช่ไม่เห็น ทุกคนก็เห็น แต่ไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้เป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ถ้ารู้ว่าเป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ก็คือรู้ว่าเป็นปรมัตถธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จนกว่าปัญญาจะเพิ่มขึ้น ละความไม่รู้ และไม่สนใจเรื่องของอานาปานสติ หรือกายคตาสติ หรืออะไรก็ตามแต่ แต่รู้ว่าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเป็นปรมัตถธรรมที่สติจะระลึก จึงรู้ ถ้าสติไม่ระลึก วันหนึ่งก็เห็น และก็ผ่านไป ทั้งๆ ที่เป็นปรมัตถธรรมก็ไม่รู้ว่า เป็นปรมัตถธรรม

    . คำถามสืบเนื่องมาจากที่พระคุณเจ้าท่านถามเหมือนกัน ที่อาจารย์ ได้เรียนตอบท่านว่า สภาพรู้แข็งมี แต่ปัญญาไม่รู้ในสภาพรู้แข็ง ที่ว่าปัญญาไม่รู้ ในสภาพรู้แข็งนั้น อาจารย์หมายรวมถึงสติไม่ได้ระลึกในสภาพที่รู้แข็งนั้นด้วย ใช่ไหม

    สุ. เพราะปัญญาจะเกิดโดยสติไม่เกิดไม่ได้ สติเป็นโสภณสาธารณเจตสิก ส่วนปัญญาไม่ใช่โสภณสาธารณะ แม้ว่าสติเกิด ปัญญาไม่เกิดก็ได้ แต่เมื่อปัญญาเกิด สติต้องเกิดกับปัญญา จะมีแต่ปัญญาเกิดโดยสติไม่เกิดไม่ได้เลย

    . ถ้าสติเกิดโดยปัญญาไม่เกิดร่วมด้วย เป็นญาณวิปปยุตต์

    สุ. ถูกต้อง

    . ถือว่าเป็นสติในขั้นสติปัฏฐานหรือเปล่า ที่ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย

    สุ. โดยมากท่านผู้ฟังอยากให้ตอบว่า ถือ หรือไม่ถือ แต่จริงๆ แล้ว ลักษณะของสภาพธรรมเป็นอย่างนั้น แต่ปัญญาเราสามารถรู้ได้ไหมที่ว่าเป็นอย่างนั้น กุศลจิตมี ๒ ประเภท ประเภทหนึ่งเป็นญาณวิปปยุตต์ ไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย อีกประเภทหนึ่งก็เป็นญาณสัมปยุตต์ มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ที่เราจะเห็นได้ชัดๆ คือ ขณะใดที่ปัญญาเกิดขึ้นกระทำกิจรู้หรือเข้าใจ นั่นเป็นลักษณะและ กิจของปัญญา ขณะนั้นรู้ได้ว่าเป็นปัญญาลักษณะนั้น แต่เวลาที่ความเข้าใจก็ดี หรือความรู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏไม่มี ขณะนั้นปัญญากำลังค่อยๆ เจริญขึ้น แต่ลักษณะ และกิจของปัญญายังไม่ปรากฏที่จะสามารถกล่าวได้ว่า เป็นสภาพที่กำลังรู้หรือกำลังเข้าใจ แต่ก่อนที่จะรู้หรือจะเข้าใจ ต้องมีการเริ่ม ไม่ใช่ว่าทุกคนจะรู้ได้ทันทีในขณะนี้ ที่กำลังเห็นว่า เป็นนามธรรม เป็นอาการรู้ และเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ

    นี่คือสิ่งที่ได้ฟัง และกำลังเข้าใจ แต่การเข้าใจเป็นระดับขั้นหนึ่ง ยังไม่ใช่ การประจักษ์แจ้ง และยังไม่ใช่การหมดความสงสัย เพระฉะนั้น ผู้เจริญสติปัฏฐาน เป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเองที่จะรู้ว่า ความรู้ขั้นฟังนั้นขั้นหนึ่ง แต่ขณะที่ฟังและรู้ และเข้าใจเป็นปัญญาหรือเปล่า เป็น

    เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ ทำให้เกิดระลึกได้ในขณะที่กำลังเห็น และเริ่มที่จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะว่าระลึกบ่อยๆ และฟังมาก เข้าใจมาก และระลึกอีก ฟังอีกเรื่องของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ความเข้าใจก็เพิ่มอย่างน้อยมาก จะต้องฟังอีกเพื่อเป็นพื้นฐานที่จะให้ เมื่อระลึกแล้วสามารถเข้าใจได้อีก ในขณะนั้นจะกล่าวว่า เป็นปัญญาหรือ มีปัญญาหรือเปล่า มี แต่ว่าน้อย เป็นการเริ่มต้น จนกระทั่งไม่สามารถสังเกตได้ ใช่ไหม

    ถ้าจะให้ตอบว่า เป็น หรือไม่เป็น ต้องเป็นผู้ที่พิจารณาตนเองว่า ในขณะที่ฟังมีความเข้าใจเรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏกับสภาพรู้จริงๆ และขณะที่กำลังเห็นอย่างนี้ สติระลึก และค่อยๆ รู้ ค่อยๆ รู้ นี่ต่างกับไม่รู้เสียเลย ใช่ไหม เห็นก็เห็น แต่ไม่รู้ความจริงเลย ย่อมต่างกับเห็น และเคยได้ยิน เคยเข้าใจ เพราะฉะนั้น ขณะนี้ที่กำลังเห็น ก็ค่อยๆ หรือเริ่มที่จะเข้าใจขึ้น นี่คือการเจริญปัญญา จนกว่าจะถึงวาระที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น คงจะไม่ถามอีกเรื่องถือหรือไม่ถือ เป็นญาณสัมปยุตต์ หรือ เป็นญาณวิปปยุตต์



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙๑ ตอนที่ ๑๙๐๑ – ๑๙๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 133
    28 ธ.ค. 2564