แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1942


    ครั้งที่ ๑๙๔๒


    สาระสำคัญ

    หน้าที่ของสงฆ์มีเฉพาะ ๒ อย่าง

    อาบัติสังฆาทิเสส

    ปาจิตตีย์มี ๒ ประเภท นิสสัคคีย์ปาจิตตีย์ สุทธิกปาจิตตีย์

    การทำสังฆกรรมนั้น เพื่อประโยชน์อะไร

    สงฆ์มี ๒ ประเภท สมมติสงฆ์ และพระอริยสงฆ์


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๓๓


    สุ. ไม่ทราบที่ดิฉันเข้าใจจะถูกไหมที่ว่า ไม่ว่าจะมีผู้ถวายปัจจัยเป็นเงินสำหรับพระภิกษุที่จะให้ใช้สอยเมื่อถึงคราวจำเป็น ต้องมีไวยาวัจกรดูแล แม้กระนั้น ก็ตามพระภิกษุที่ได้ทราบว่ามีผู้ถวายปัจจัยให้ ต้องไม่ยินดีในเงินซึ่งมีผู้ถวายสำหรับตน ยังจะต้องคิดอยู่ตลอดเวลาว่า เงินนั้นเป็นเงินของคฤหัสถ์ เป็นของอุบาสกอุบาสิกา ผู้อุปัฏฐาก หาใช่เงินของท่านไม่ เพราะถ้าถือว่าเป็นเงินของท่านเมื่อไหร่ ก็แสดงว่า มีความยินดีติดข้องในเงินนั้น ซึ่งท่านเป็นผู้ที่ละรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะแล้ว จึงสละอาคารบ้านเรือนเป็นเพศบรรพชิต อันเป็นเครื่องหมายว่า เป็นผู้สละรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น เงินทองควรแก่ผู้ใด ผู้นั้นก็เป็นผู้ที่ยังยินดีอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    สมพร ข้อนี้ถูกแล้ว เพราะว่าภิกษุไม่ยินดีติดใจและไม่ถือว่าเป็นของท่าน เป็นผู้ปฏิบัติถูกแล้ว แต่เมื่อถึงคราวจำเป็นที่จะต้องใช้จ่าย ท่านก็บอกได้ว่า ท่านมีกิจจำเป็นที่จะต้องเดินทาง ช่วยอนุเคราะห์หน่อย แต่ท่านอย่ายึดถือ เมื่อเขา เอาไปไม่ให้ท่านเลย ท่านก็ไม่เสียใจ ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย อย่างนี้เรียกว่า ไม่ใช่ของท่าน

    สุ. ท่านต้องเป็นผู้ที่ปลอดโปร่งใจมาก คือ เป็นผู้ที่ไม่ถือเงินและทอง ถ้าใครยังถือเงินและทอง คิดว่าเป็นผู้เหนื่อยที่จะต้องนับว่าเงินมีเท่าไร หายไปบ้าง หรือเปล่า ใช้อะไรบ้าง ยังเหลือเท่าไร แต่ท่านเป็นผู้มีบุญจริงๆ คือ สะดวกสบายมาก ไม่ต้องกังวลสักนิดเดียวเรื่องเงินทอง เพราะว่ามีผู้ถวาย หรือมีผู้อุปัฏฐาก ไม่ว่าจะมีการเจ็บไข้ได้ป่วย หรือจะมีความจำเป็นประการใด ก็มีผู้ที่ถวายเงินนั้นแล้ว โดยที่ว่าไม่ใช่ของท่าน แต่เป็นของผู้อุปัฏฐาก เพราะฉะนั้น ท่านเป็นผู้ที่ปลอดโปร่งมากกว่าคฤหัสถ์ คือ ไม่ว่าจะต้องการสิ่งใดก็เหมือนได้ดังใจ โดยไม่ต้องกังวลเป็นห่วงในการดูแลรักษาเงินทองนั้นด้วย

    ถ. เรื่องใส่บาตรอาหารแห้งสรุปว่า ไม่สมควร แต่ในสำนักสงฆ์หลายแห่ง มีพระภิกษุสามเณรไปร่วมศึกษาปฏิบัติกันมาก ต้องจัดเป็นแผนกรับบริจาคข้าวสารอาหารแห้ง รับบริจาคเงินเพื่อจัดการประกอบอาหาร ในลักษณะนี้จัดเป็นแบบนั้น หรือเปล่า

    สมพร ลักษณะนี้เป็นหน้าที่ของไวยาวัจกร ผู้ทำกิจของสงฆ์ ไม่ใช่หน้าที่ของสงฆ์ หน้าที่ของสงฆ์มี ๒ อย่างเท่านั้น คือ การศึกษาเล่าเรียนและการปฏิบัติ เรียกว่า สมถะและวิปัสสนา ๒ อย่างนี้เท่านั้นเป็นธุระเป็นกิจของภิกษุใน พระธรรมวินัยนี้ นอกจากนั้นเป็นหน้าที่ของไวยาวัจกร

    ถ. เรื่องพระภิกษุไม่รับเงิน แต่วันศุกร์ที่ผ่านมานี้มีพระภิกษุรูปหนึ่งให้ ลูกศิษย์เอาพระสังกัจจายน์มาขายที่ร้าน ๑๐,๐๐๐ บาท องค์เล็กๆ หน้าตักประมาณ ๕ – ๖ นิ้ว ดิฉันไม่ได้ซื้อ เพราะไม่ชอบอย่างนี้ แบบนี้อาจารย์จะว่าอย่างไร

    สมพร ภิกษุที่ทำแบบนี้เรียกว่า มีอาชีวะที่ไม่บริสุทธิ์ เปรียบเสมือนหนึ่ง เป็นมหาโจรในพระพุทธศาสนา คือ มหาโจรปล้นพระพุทธศาสนา ทำลายพระศาสนาให้เสื่อมสูญ หน้าที่ของภิกษุไม่มีอย่างนี้ ภิกษุมีหน้าที่ ๒ อย่างเท่านั้น หน้าที่อย่างนี้เป็นมิจฉาอาชีวะ แม้ฆราวาสบางพวกก็ยังเห็นว่าไม่สมควร แต่นี่เป็นถึงภิกษุ เป็นผู้ที่ มีผู้เคารพสักการะ ทำเช่นนี้ใครๆ ย่อมเห็นว่าเป็นมหาโจรแน่นอน ถ้าเป็นภิกษุจริงๆ ต้องสละ ไม่อย่างนั้นก็เป็นฆราวาส ลาสึกมาเสีย ต้องการเงินจริงๆ ต้องเป็นฆราวาส ต้องลาเพศ จะมาบวชเป็นภิกษุแล้วอ้างว่าต้องการอย่างนั้น ต้องการอย่างนี้ ไม่ใช่หน้าที่ของภิกษุ เป็นการเจริญโลภะมากกว่า อย่างนี้ใช้ไม่ได้

    ถ. พระภิกษุต้องอาบัติหนัก เช่น อาบัติปาราชิก ๑ ใน ๔ ข้อ ท่านล่วงอาบัตินี้แล้ว ท่านขาดจากการเป็นพระเลย หรือต้องมีพระวินัยธรชี้ขาดอีกครั้ง

    สมพร สำหรับอาบัติปาราชิก เมื่อท่านล่วงไปแล้ว ใครจะชี้ขาดหรือ ไม่ชี้ขาด ไม่สำคัญ อย่างฆ่ามนุษย์ หรือลักทรัพย์เกินกว่า ๕ มาสก ท่านก็ขาดจากความเป็นภิกษุแล้ว แต่ท่านขาดอย่างนั้น ฆราวาสบางพวกไม่เข้าใจ จึงมีกรรมการ อีกพวกหนึ่งเพื่อจะชี้แจงว่า ท่านเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์แล้ว แท้จริงท่านขาดจากความ เป็นภิกษุตั้งแต่ท่านล่วงอาบัติข้อนั้นแล้ว เช่น ฆ่ามนุษย์ หรือเสพเมถุน ก็หมดจากความเป็นภิกษุแล้ว ขณะนั้นหมดแล้ว ไม่มีความเป็นภิกษุเหลืออยู่เลย

    ถ. อาบัติปาราชิก ๔ ในพระวินัยบัญญัติบอกไว้ว่า ภิกษุใดก้าวล่วง ก็หาสังวาสไม่ได้ หมายถึงไม่สามารถอยู่ร่วมกับภิกษุอื่นได้ มีปัญหาเรื่องทำสังฆกรรม ถ้าพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งต้องอาบัติหนัก และท่านไม่ได้แสดงอาบัตินั้น แต่ท่านก็ขาดจากการเป็นพระภิกษุแล้ว ถ้าท่านร่วมทำสังฆกรรม เช่น อุปสมบท หรือสังฆกรรม อื่นๆ สังฆกรรมนั้นจะเสียด้วยไหม

    สมพร เรื่องสังฆกรรม มีความหมายอย่างนี้ ถ้าภิกษุนั้นขาดจากความเป็นพระภิกษุแล้ว เช่น การอุปสมบทในสมัยก่อน อย่างในปัจจันตประเทศต้องมีพระภิกษุอย่างน้อย ๕ รูป ซึ่งหมายถึงภิกษุเป็นผู้บริสุทธิ์หมด แต่สมัยนี้กลัวว่าพระภิกษุบางรูปเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ จึงเพิ่มภิกษุให้เกินกว่า ๕ รูปขึ้นไป เช่น ๑๐ รูป ๒๐ รูป แต่ต้อง ไม่รู้ว่าภิกษุรูปนี้เป็นผู้ขาด ถ้ารู้ว่าพระภิกษุรูปนี้ขาดจากความเป็นภิกษุแล้ว กรรมนั้นไม่สำเร็จกิจของสงฆ์ ถ้าไม่รู้ และภิกษุเกินจำนวน เช่น ต้องการภิกษุ ๕ รูป แต่มี ๖ รูป ๗ รูป กรรมนั้นสำเร็จเป็นกรรม กิจของสงฆ์นั้นก็สำเร็จ

    ถ. กรณีที่ลงอุโบสถสวดปาติโมกข์ สมมติว่ามีภิกษุที่ต้องอาบัติหนัก การสวดปาติโมกข์จะสำเร็จไหม

    สมพร สวดปาติโมกข์ต้องชำระศีลให้บริสุทธิ์ อาบัติเล็กๆ น้อยๆ แสดงได้ในขณะนั้น อาบัติบางอย่างแสดงไม่ได้ เช่น อาบัติปาราชิก ๔ ที่ขาดจากความเป็นภิกษุแล้ว ให้เข้าร่วมหมู่คณะไม่ได้ แต่ถ้าเป็นอาบัติสังฆาทิเสสก็ต้องไป อยู่กรรมเสียก่อนจนครบกำหนดอย่างน้อย ๑๕ วัน เมื่อครบกำหนดแล้วมาร่วม สังฆกรรมได้

    ภิกษุผู้ร่วมอุโบสถกรรมต้องเป็นผู้บริสุทธิ์ แม้ในสมัยพุทธกาลก็มีพระภิกษุ รูปหนึ่งเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ นั่งกันตั้งแต่หัวค่ำจนสว่าง พระองค์ก็ไม่ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ เพราะมีภิกษุไม่บริสุทธิ์

    สุ. ถ้ามีพระที่ท่านต้องปาราชิก และทุกคนก็รู้ แต่ท่านก็ไม่สึก ไม่ลาสิกขา

    สมพร แบบนี้ก็ทำความหนักใจ คนบางคนดื้อเหลือเกิน แม้เป็นฆราวาส ก็ดื้อมาก เป็นภิกษุก็ดื้อ บางอย่างก็ลำบากใจ เพราะว่าทำให้หมู่คณะเสียไป ใครๆ ก็รู้ว่าท่านไม่บริสุทธิ์ จึงเปรียบว่าเป็นมหาโจรปล้นพระพุทธศาสนา

    สุ. และจะทำอย่างไร พระภิกษุทั้งหลาย

    สมพร แล้วแต่ทางบ้านเมือง ภิกษุไม่มีโอกาสทำ นอกจากพระวินัยสงฆ์

    สุ. ถ้าท่านจะเข้าโบสถ์ สวดมนต์ ท่านจะทำสังฆกรรม

    สมพร ต้องไม่ร่วมสังฆกรรมด้วย ถ้าร่วมกรรมนั้นก็ไม่สำเร็จ ถ้ารู้แล้วว่า เป็นผู้ต้องอาบัติปาราชิกแล้ว เข้าร่วมสังฆกรรมไม่ได้

    สุ. หมายความว่า ถ้าท่านเข้าไปในโบสถ์ พระภิกษุรูปอื่นก็ต้องออกไปหมด หรืออย่างไร

    สมพร แม้ไม่ออกไป ร่วมสังฆกรรม กรรมนั้นก็ไม่สำเร็จ

    สุ. และจะทำอย่างไร

    สมพร เรื่องทำอย่างไร ยาก ไม่รู้จะทำอย่างไร แม้ในสมัยก่อนท่าน พระมหาโมคคัลลานะยังต้องเอาภิกษุผู้หัวดื้อออกไป พระองค์จึงทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ถ้าไม่ออกไปก็ต้องนั่งกันอยู่อย่างนั้น พระองค์ก็ประทับนั่งจนสว่าง ท่านพระอานนท์ก็นั่งจนสว่าง ภิกษุสงฆ์ก็นั่งจนสว่าง ลำบากเหมือนกัน

    สุ. หมายความว่า ช่วยกันจับลากไปก็ได้ ต้องทำอย่างนั้น เป็นวิธีเดียว ถ้าท่านยังดื้อดึง ไม่มีทางอื่นเลย

    สมพร มีอีกทาง คือ บ้านเมืองอนุเคราะห์ช่วยเหลือ ไวยาวัจกรก็ช่วยทางบ้านเมือง

    ถ. เรื่องสังฆเภท อ่านแล้วสงสัยมาก คือ ท่านแสดงว่า ถ้าภิกษุแสดงวัตถุ ๑๘ ประการ เช่น แสดงสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมว่าเป็นธรรม และมีความตั้งใจจะให้สงฆ์แยก ทำสังฆกรรม แตกกัน ก็เป็นสังฆเภท แต่ถ้าแสดงสิ่งที่เป็นธรรมว่าเป็นธรรม และต้องการแยกสังฆกรรม จะเป็นสังฆเภทได้ไหม

    สมพร ภิกษุแสดงสิ่งที่เป็นธรรมโดยความเป็นธรรมแล้ว สงฆ์จะไม่ แยกจากกันแน่นอน นอกจากภิกษุแสดงสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมว่าเป็นธรรม ทำให้สงฆ์แยกกันเป็น ๒ พวก เมื่อสงฆ์แยกกันเป็น ๒ พวก ต่างคนต่างทำสังฆกรรมจึงเป็นสังฆเภท ถ้ายังไม่แยกว่าต่างคนต่างทำสังฆกรรม ยังไม่เป็นสังฆเภท

    ถ. เรื่องอาบัติปาราชิกที่บอกว่า ภิกษุต้องอาบัติปาราชิกแล้วต้องขาดจากการเป็นภิกษุ ร่วมสังฆกรรมแล้วทำให้สังฆกรรมนั้นเสีย ผมเข้าใจว่า สังฆกรรมใด ที่ระบุพระจำนวน ๔ รูป ๕ รูป ๑๐ รูป ๒๐ รูป ถ้ามีภิกษุที่เป็นปาราชิกแล้ว ครบจำนวนพอดี เป็นองค์ที่ ๑๐ หรือองค์ที่ ๕ อย่างนี้ทำให้สังฆกรรมนั้นวิบัติ สมมติว่าเป็นการบวชพระกำหนดภิกษุ ๑๐ รูป มีพระที่เป็นปาราชิก ๑ รูปอยู่ใน ๑๐ รูป และเขาแก้ด้วยการนิมนต์พระให้มากขึ้น เช่น ๒๐ กว่ารูปขึ้นไป อย่างนี้จะพ้นไหม

    สมพร ถ้าในการทำสังฆกรรมนั้น สงฆ์รู้ว่าภิกษุรูปนี้ต้องอาบัติปาราชิก กรรมนั้นไม่สำเร็จเป็นสังฆกรรม ถ้าไม่รู้ว่ารูปนี้ต้องอาบัติปาราชิก มีภิกษุสงฆ์ เกินจำนวน กรรมนั้นสำเร็จ

    สุ. อาจารย์หมายความว่า เพื่อความปลอดภัย ทุกครั้งที่มีการทำสังฆกรรม และจำกัดจำนวนพระภิกษุ ก็เพิ่มจำนวนพระภิกษุ เผื่อว่าจะมีรูปใดปาราชิก

    สมพร และไม่มีผู้รู้ด้วย

    สุ. ถ้ารู้ไม่ได้ เพียงแต่เผื่อไว้ ก็เพื่อให้สังฆกรรมนั้นสำเร็จ

    ถ. ผมเคยอ่านในพระสูตร ภิกษุที่ต้องอาบัติปาราชิกที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ในพระสูตร ท่านลาสิกขาบท และมีโอกาสบรรลุเป็นพระอนาคามีบุคคล ไม่ทราบว่าความจำผมจะถูกต้องหรือไม่

    สมพร บางอย่างเป็นภิกษุต้องอาบัติปาราชิก เมื่อเป็นฆราวาสแล้วทำให้มรรคผลเกิดขึ้นได้ แต่บางอย่างก็ไม่ได้ แล้วแต่กรรมนั้นๆ

    ถ. ถ้าสวดปาติโมกข์ ไม่มีใครรู้ว่ามีภิกษุปาราชิกร่วมด้วย จะบริสุทธิ์ไหม

    สมพร ถ้ากรรมนั้นมีสงฆ์เกินจำนวน ในการสวดปาติโมกข์ต้องมีอย่างน้อย ๔ รูป ถ้ามี ๕ รูป ๖ รูป เกินจำนวนแล้ว และไม่รู้ใครต้องอาบัติปาราชิก กรรมนั้นก็เป็นสังฆกรรม

    สุ. สงสัยได้ไหม

    สมพร ความจริงต้องแน่ชัด ถ้าสงสัยเข้าข่ายไม่ค่อยดี ต้องรู้แน่ชัด สงสัยนี่ยังตัดสินใจไม่ได้ ถ้าเคลือบแคลงสงสัยก็เข้าขั้นที่ว่าเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์

    สุ. อาบัติทั้งหมดที่หนักที่สุด คือ ปาราชิก เพราะว่าแก้ไขไม่ได้

    สมพร เรียกว่า อเตกิจฉา อาบัติที่แก้ไขไม่ได้

    สุ. อุปมาเหมือนกับศีรษะขาด จะกลับมาเป็นพระภิกษุอีกไม่ได้ และอาบัติที่รองลงมา คือ สังฆาทิเสส เป็นครุกาบัติ อาบัติหนัก แต่ยังสามารถแก้ไขได้

    สมพร แก้ไขได้ เขาเรียกว่า อยู่กรรม ทรมานร่างกายอย่างน้อย ๑๕ วัน โดยสงฆ์ให้ภิกษุนี้อยู่กรรม กักบริเวณให้อยู่ และให้ประพฤติวัตรเพื่อออกจากอาบัตินั้น

    สุ. อยู่ปริวาส เพราะฉะนั้น ถ้าได้ยินว่า พระภิกษุอยู่ปริวาสหมายความว่าท่านต้องอาบัติสังฆาทิเสส และการกลับเป็นพระภิกษุเข้าอยู่ในอาวาส หรือร่วมการกระทำกับพระภิกษุสงฆ์ได้ ก็ต้องให้สงฆ์อนุมัติ

    สมพร ต้องสงฆ์อนุมัติ อาบัติสังฆาทิเสสเป็นอาบัติอย่างหนักที่แก้ไขได้

    สุ. รองจากสังฆาทิเสส อาบัติถุลลัจจัย

    สมพร ถุลลัจจัย แปลว่า อ้วน

    สุ. อาบัตินี้ไม่ผอม อ้วน หนัก แต่ไม่ถึงกับสงฆ์จะต้องทำการสวดให้ท่านกลับเข้ามาร่วมหมู่คณะ

    สมพร ข้อนี้ไม่ต้องปลงอาบัติ แสดงอาบัติก็ได้

    สุ. ไม่ใช่ปาราชิก ไม่ใช่สังฆาทิเสส ต้องตั้งแต่ถุลลัจจัยลงมาถึงทุพภาสิต ต่อไปก็ผ่านถุลลัจจัยไปได้ถึงปาจิตตีย์

    สมพร ปาจิตตีย์มี ๒ ประเภท คือ นิสสัคคียปาจิตตีย์ และสุทธิกปาจิตตีย์ นิสสัคคียปาจิตตีย์เกี่ยวกับวัตถุสิ่งของ ต้องสละสิ่งของวัตถุนั้นจึงแสดงอาบัติตก ส่วนสุทธิกปาจิตตีย์ เป็นอาบัติล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับวัตถุสิ่งของ แสดงอาบัติได้เลย

    สุ. เพราะฉะนั้น ถ้าพระภิกษุรับเงินและทองจากคฤหัสถ์ ที่จะปลงได้ต้องเป็นนิสสัคคียปาจิตตีย์ หมายความว่าต้องสละเงินนั้นจึงจะปลงได้ ถ้ายังไม่สละเงินนั้น ยังปลงอาบัติปาจิตตีย์ไม่ได้ ใช่ไหม และวิธีสละต้องเป็นการกระทำที่แสดงว่า สละจริงๆ

    สมพร สละจริงๆ แม้จนกระทั่งไม่มีใครรับ ก็ไปวางไว้ที่ท่าน้ำ วางไว้ที่ใด ที่หนึ่งโดยมีจิตว่า ใครจะเอาก็ช่างเขา ไม่หวงแหน ถ้าไม่มีผู้รับ ต้องไปวางไว้ ต้องทิ้งจริงๆ สละจริงๆ จึงจะปลงอาบัติตก

    สุ. บางท่านก็หลับตาโยนไป แล้วแต่ว่าจะไปตกที่ไหน เพราะว่าไม่เห็น

    ถ. มีพระมาบิณฑบาต เราเตรียมอาหารไว้ใส่บาตร แต่ท่านขอเปลี่ยนเป็นเงิน ในฐานะที่เป็นอุบาสกอุบาสิกาจะทำอย่างไรดี ขณะนั้นถ้าเราไม่ให้ก็เป็น คนตระหนี่ และการทำสังฆกรรมนั้นเพื่อประโยชน์อะไร

    สมพร ปัญหาแรกเรื่องถวายเงินทอง ก็รู้แล้วว่าภิกษุต้องสละกามารมณ์ คือ สละรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่น่ายินดี ถ้าท่านมีความจำเป็นจริงๆ ท่าน ละกามารมณ์ไม่ได้ ก็ต้องสึก จะไปยินดีทั้งที่เป็นพระภิกษุก็ผิดพระวินัย

    สุ. จะยินดีทั้งที่เป็นภิกษุ ไม่สมควร ใช่ไหม

    สมพร ไม่สมควร หากท่านยังต้องการเงิน ท่านก็เหมือนฆราวาส สึกดีกว่า คนอื่นจะได้ไม่ติเตียน

    สำหรับสังฆกรรมนั้น เป็นหน้าที่ของสงฆ์ คือ การรวมหมู่ สงฆ์มี ๒ ประเภท สมมติสงฆ์ หมายความว่าไม่ใช่พระอริยสงฆ์ สงฆ์ที่ทำสังฆกรรมนี้เรียกว่า สงฆ์ที่รวมกันเป็นหมู่ สังฆกรรมอย่างต่ำต้องมีภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ต่ำว่า ๔ รูปไม่จัดเป็นสังฆกรรม บางอย่างตั้งแต่ ๕ รูปขึ้นไป เช่น บวชนาค ต่ำกว่านั้นผู้บวชก็ไม่เป็นภิกษุ ไม่สำเร็จเป็นกรรม ไม่สำเร็จเป็นภิกษุ เพื่อความสำเร็จของสงฆ์ การกระทำกรรมนั้นๆ จึงร่วมกัน ไม่ใช่รูปเดียวทำได้ เพราะว่าบวชต้องประกาศถึง ๓ ครั้งว่า มีผู้ใดคัดค้าน ที่จะให้ผู้นี้เป็นภิกษุไหม ถ้ามีผู้คัดค้าน ผู้นั้นบวชไม่ได้ ต้องประกาศให้ภิกษุที่ นั่งอยู่ด้วยกันทราบ

    สมมติจะบวชพระ เมื่อถึงญัตติจตุตถกรรม ต้องประกาศว่า จะยกผู้นี้เป็นภิกษุ มีใครคัดค้านบ้าง ประกาศให้รู้ทั่วกัน ถ้ามีผู้คัดค้าน กรรมนั้นก็ไม่สำเร็จ บวชไม่ได้ ถ้าไม่มีใครคัดค้าน กรรมนั้นก็สำเร็จเป็นภิกษุ

    เพื่อความสำเร็จกิจอันนั้น เรียกว่า สังฆกรรม

    สังฆกรรม เพื่อให้สำเร็จกิจของสงฆ์ครั้งหนึ่งๆ หรือแต่ละอย่าง



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙๕ ตอนที่ ๑๙๔๑ – ๑๙๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 133
    28 ธ.ค. 2564