แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1904


    ครั้งที่ ๑๙๐๔


    สาระสำคัญ

    น้อมพิจารณา หรือว่า น้อมรู้ หรือว่า น้อมไปสู่พระนิพพาน

    การอบรมเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่เราไปทำ

    มหาบุรุษต้องเป็นผู้มีปัญญา


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๓๒


    . ท่านอาจารย์บอกว่า เริ่มจากฟังและเข้าใจเป็นปัญญาขั้นหนึ่งที่จะทำให้สติระลึกได้ ในขณะที่สติระลึกเพราะเริ่มมาจากความเข้าใจที่ถูกต้อง สติระลึกแล้ว ในขณะนั้นไม่มีปัญญาประกอบด้วยก็ได้ ใช่ไหม

    สุ. เราฟังเรื่องของการเห็นในขณะนี้ และฟังเรื่องของรูปที่กำลังปรากฏ สติก็ไม่ได้ระลึก ทั้งๆ ที่เห็น และฟังแล้ว และเข้าใจด้วย เข้าใจตามตำรา ตามความคิดนึก และในขณะที่กำลังเห็น ไม่ได้เข้าใจก็มี แต่เวลาที่สติปัฏฐานเกิด ผู้นั้นเป็นผู้รู้เองว่า กำลังค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน มีปัญญาของตนเองที่จะรู้ว่า เริ่มละคลายความไม่รู้ และเป็นไปอย่างรวดเร็วไม่ได้ แต่ต้องค่อยๆ เป็นทีละเล็กทีละน้อย

    ที่ใช้คำว่า น้อมพิจารณา หรือว่าน้อมรู้ หรือว่าน้อมไปสู่พระนิพพาน ไม่ได้หมายความว่าให้เป็นตัวตนที่จะน้อม ขณะนี้ที่กำลังเห็น ให้น้อมไป ไม่ใช่อย่างนั้น แต่หมายความว่า ขณะใดที่สติเกิด ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เริ่ม หรือค่อยๆ เข้าใจขึ้น เวลาที่สติปัฏฐานเกิดและเข้าใจขึ้นครั้งหนึ่ง ก็คือการน้อมไป ครั้งหนึ่ง เพราะการที่จะไปถึงนิพพานทันที หรือการที่จะดับความสงสัยทันที เป็นไปไม่ได้

    ขณะใดที่สติปัฏฐานเกิด และปัญญาเริ่มจะเข้าใจ นั่นคือการน้อมไป สติและปัญญาน้อมไปสู่นิพพาน น้อมไปสู่การดับความสงสัย น้อมไปสู่การดับกิเลส แต่ไม่ใช่ตัวตนที่จะพยายามน้อมไปที่จะเข้าใจ

    . อีกคำถามหนึ่ง สืบเนื่องมาจากคำถามของพระคุณเจ้าอีกเหมือนกัน ที่ท่านกล่าวถึงความต่างของอารมณ์ เช่น อารมณ์ทางตา สีต่างๆ ก็เป็นสีแดง สีเหลือง สีเขียว อะไรอย่างนี้ อาจารย์ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า ขณะสติเกิดเป็น สติปัฏฐาน ขณะนั้นไม่ใส่ใจ หมายถึงว่าไม่ใส่ใจในนิมิตอนุพยัญชนะ ใช่ไหม

    สุ. ถูกต้อง

    . แต่จะต้องใส่ใจในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ใช่ไหม

    สุ. เวลานี้สภาพธรรมกำลังปรากฏทางตา ประโยชน์ที่สุดของพระธรรม ซึ่งเป็นสัจจธรรม คือ ทุกท่านสามารถพิสูจน์ได้ทันที ทางตามีสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใส่ใจว่าเป็นสีต่างๆ ทั้งๆ ที่เป็นสีต่างๆ เหมือนเสียง เสียงก็มีเสียงต่างๆ เสียงสูง ก็มี เสียงต่ำก็มี เสียงเล็ก เสียงใหญ่ เสียงทุ้ม เสียงพร่า เสียงแหบ มีหลายๆ เสียง เราจะเปลี่ยนลักษณะสภาพของเสียงนั้นไม่ได้เลย ถ้าเป็นเสียงสูง ลักษณะของเสียงสูงก็เกิดเพราะเหตุปัจจัยที่ทำให้เสียงนั้นสูง ถ้าเป็นเสียงต่ำ เสียงต่ำนั้นก็เกิดเพราะ เหตุปัจจัยที่ทำให้เสียงนั้นต่ำ เราเปลี่ยนปัจจัยและเปลี่ยนเสียงนั้นไม่ได้ แต่ลักษณะของเสียง คือ เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏเมื่อกระทบกับโสตปสาทรูปชั่วขณะที่แสนสั้น ซึ่งทั้ง ๒ อย่าง คือ ทั้งโสตปสาทรูปและเสียงเป็นปัจจัยให้โสตวิญญาณคือจิตได้ยิน ที่กำลังได้ยินในขณะนี้เกิดขึ้น ขณะนั้นไม่ใส่ใจในเสียงว่าสูงหรือต่ำเพราะกำลังเข้าใจ ในลักษณะของเสียง เช่น ในขณะนี้จะเป็นเสียงสูงเสียงต่ำอะไรไม่สนใจ แต่สนใจรู้ว่า เป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง หมดแล้ว สภาพธรรมนั้นเกิดและดับ ไม่มีแล้วมี แล้วหามีไม่ นั่นคือการใส่ใจในลักษณะของสภาพธรรม โดยที่ว่าเปลี่ยนเสียงไม่ได้ ฉันใด ทางตาก็เปลี่ยนสีที่กำลังปรากฏไม่ได้ แต่ไม่ใส่ใจ เพราะกำลังเริ่มเข้าใจว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    . ลักษณะที่ไม่มีแล้วมี แล้วหามีไม่ ใส่ใจตรงนี้หรือเปล่า

    สุ. พิจารณาลักษณะของสภาพที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมทีละขณะ และรู้ชัดว่า นามธรรมไม่ใช่รูปธรรม เพราะตั้งแต่เกิดจนตายทุกคนก็ทราบว่า มีสภาพธรรมเพียง ๒ อย่าง ไม่มีเราเลย แต่เพราะนามธรรมเกิดขึ้น รูปธรรมเกิดขึ้น แต่เมื่อไม่รู้สภาพที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง จึงยึดถือนามธรรมและรูปธรรมนั้นว่าเป็นเรา

    เพราะฉะนั้น การที่จะละความไม่รู้ ก็คือเริ่มเข้าใจให้ถูกต้องว่า ที่เรียกว่านามธรรม ที่ได้ยินว่านามธรรม ที่ฟังแล้วเข้าใจว่านามธรรมไม่ใช่รูปธรรม เป็นสภาพรู้ ต้องในขณะที่กำลังเห็น เป็นอาการรู้ เป็นธาตุรู้ ในขณะที่ได้ยินก็เป็นอาการรู้ เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ในขณะที่ได้กลิ่น ในขณะที่ลิ้มรส ในขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ในขณะที่คิดนึก เป็นนามธรรมไม่ใช่รูปธรรม

    ในขณะที่นามธรรมปรากฏ หรือรูปธรรมปรากฏ ก็เพราะสติระลึกที่ลักษณะ ของนามธรรมนั้น หรือระลึกที่ลักษณะของรูปธรรมนั้น เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ

    ผู้ฟัง ที่อาจารย์พูดว่า ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจ ผมขอขยายความคำว่า ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจ

    ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจ อย่างที่เราได้ฟังอาจารย์ เราก็ฟังกันมาหลายปี คำว่า ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจ ในขณะที่อาจารย์บอกว่า สภาพธรรมมีปรากฏอยู่ ในขณะนี้ก็มีทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มีอยู่แล้ว ทำอย่างไรจึงจะค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจ ตรงนี้แหละผมก็อยากจะช้าๆ ค่อยๆ เข้าไป

    ผมฟังแล้วผมก็ค่อยๆ เข้าไปว่า ที่อาจารย์บอกว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา เราก็ลืมตาเลย คือ เราลืมตาอยู่แล้ว แต่ในขณะนั้นสังเกต ผมใช้คำว่า สังเกต ดีกว่า ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอย่างไร ตรงกับที่อาจารย์พูดไหม ตรงกับธรรมของ พระพุทธองค์ที่แสดงไว้ไหม นี่คือการค่อยๆ เข้าไปช้าๆ

    หลังจากได้มีการสังเกตสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้ว ต่อมาก็มีการสังเกตว่า เห็น เป็นอย่างไร สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นรูปธรรมแล้ว อาการที่เห็น สภาพเห็นเป็นอย่างไร ก็สังเกตว่าเป็นอย่างไร และเอาเรื่องจริงๆ ในชีวิตประจำวันมานั่งดูเลย แต่ไม่ใช่จ้อง ดูแล้วคล้ายกับจ้องเหมือนกัน แต่ไม่ได้จ้องเอาๆ เราสังเกตเอา ซึ่งภาษาธรรมใช้คำว่า โยนิโสมนสิการ

    ผมใช้วิธีนี้ สังเกตเอาจากชีวิตประจำวันกับสิ่งที่อาจารย์พูดมา เราก็ค่อยๆ เข้าไป ค่อยๆ เข้าไป ค่อยๆ รู้ คือ สังเกตรูปธรรมนามธรรมนั่นเอง และวันหนึ่ง เมื่อได้เหตุได้ปัจจัยพอแล้วก็จะมีการระลึกได้ ก็อยากจะเล่าสู่กันฟัง ไม่ทราบอาจารย์จะเพิ่มเติมตรงนี้อย่างไรบ้าง

    สุ. ให้เข้าใจว่า การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่การทำ แต่เป็นการเริ่มเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าได้ยินคำว่า ปฏิบัติ และแปลมาตรงๆ ว่า ทำ ก็จะทำให้มีความเข้าใจผิดว่า ต้องไปทำสติปัฏฐาน หรือต้องทำสติปัฏฐาน แต่ความจริง สติ คือ สภาพที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพื่อการเจริญขึ้นของปัญญา คือ ความรู้ ความเข้าใจถูกต้อง ในลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั่นเอง

    เพราะฉะนั้น ขณะใดที่กำลังพิจารณาหรือกำลังค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ เริ่มรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้นมรรคมีองค์ ๘ หรือเมื่อยังไม่ถึงโลกุตตรจิต ก็มีมรรคมีองค์ ๕ แน่นอน ขาดวิรตีเจตสิก ๓ ซึ่งได้แก่ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ ซึ่งเจตสิกทั้ง ๓ นี้จะเกิดไม่พร้อมกัน

    ถ้าเราจะไม่พูดเรื่องจำนวนว่า ๕ หรือ ๘ แต่หมายความว่ามรรคมีองค์ ๘ แม้ว่ายังเกิดไม่ครบ แต่ก็ต้องมีสัมมาทิฏฐิ มีสัมมาสังกัปปะ มีสัมมาวายามะ มีสัมมาสติ และมีสัมมาสมาธิเกิดแน่นอน ซึ่งในขณะนั้นสติเจตสิกที่เป็นมรรค กำลังทำงานของสติเจตสิก เหมือนกับในขณะนี้ ไม่ใช่เราจะทำเห็น แต่สภาพธรรม มีปัจจัยเกิดขึ้นทำกิจเห็น ไม่ใช่เราทำเห็น ขณะที่กำลังได้ยินก็เป็นสภาพธรรมที่มีปัจจัยเกิดขึ้นทำกิจได้ยิน มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไร เป็นจิตประเภทไหน เกิดดับสืบต่อกันในวาระหนึ่งอย่างไร นั่นก็คือสภาพธรรมทั้งหมด ไม่ใช่เรา ฉันใด การอบรมเจริญ สติปัฏฐานก็ไม่ใช่การที่เราจะไปทำ และต้องรู้ว่าเป็นขณะที่โสภณเจตสิกที่เป็นมรรค มีองค์ ๘ เกิดขึ้นทำกิจการงาน โดยเริ่มเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งถ้าเป็น อย่างนั้น ในขณะนั้นสติต้องเกิดและเป็นสติปัฏฐาน และปัญญาก็ค่อยๆ เจริญขึ้นด้วย

    ต้องเข้าใจให้ถูกว่า ไม่ใช่เรื่องทำ แต่เป็นเรื่องภาวนา คือ การอบรมเจริญปัญญา รู้ลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง สำหรับอานาปานสติสมาธิ หรืออานาปานสติ หรืออานาปานบรรพ ในสติปัฏฐาน รู้สึกว่าในประเทศไทยนิยมกันเหลือเกิน ที่ไหนๆ ก็ทำอานาปานสติกัน

    ผมจำได้ครั้งหนึ่งเมื่อผมเริ่มศึกษาพระพุทธศาสนา ได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่ง เรื่องอานาปานสติสมาธิ ผมอ่านไปได้ครึ่งเล่ม ตอนนั้นเราไม่มีความรู้อะไรเท่าไร แต่มีความว้าวุ่นเกิดขึ้น อ่านแล้วไม่ถูกกับตัวเองเลย วางหนังสือเล่มนั้นจนเดี๋ยวนี้ ก็ไม่ได้จับอีกเลย ผมอยากจะฝากบอกทุกๆ คนว่า อย่าไปหลงติดอานาปานสติเลย เพราะอานาปานสติตามที่อาจารย์พูดไว้ หรือในอรรถกถาก็มีพูดไว้ว่า สำหรับ มหาบุรุษเท่านั้น พระพุทธองค์ส่วนใหญ่ก็จะตรัสกับอสีติมหาสาวก

    สุ. การที่จะรู้ว่า ธรรมใดเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสไว้แล้วว่า ขณะใดที่เป็นไปเพื่อละ ไม่ว่าเรื่องของสมาธิ หรือเรื่องใดก็ตาม ขณะนั้นพิสูจน์ได้ว่า เป็นไปเพื่อต้องการ หรือเป็นไปเพื่อละ สิ่งใดก็ตามที่เป็นไปเพื่อละ เพื่อการไม่ติดข้อง นั่นคือพระธรรม แต่สิ่งใดถ้าเป็นไป เพื่อความต้องการ ไม่ใช่เรื่องของการอบรมเจริญปัญญาจึงมีความต้องการ ขณะนั้น ก็ไม่ใช่พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง

    . พูดถึงมหาบุรุษ น่าสนใจมาก ท่านอาจารย์ก็ได้อธิบายหลายอย่าง คิดว่าพอจะเข้าใจแล้ว แต่อดไม่ได้ว่า อาจจะมีบางคนหรือตัวผมเองก็ได้ ที่มานั่งพิจารณาว่า อย่าไปทำเลยอานาปานสติ เราไม่ใช่มหาบุรุษ แต่วันดีคืนดีผม ก็นึกว่า คนที่เป็นมหาบุรุษ เขาก็ไม่รู้ตัวจนกระทั่งเขาเป็นแล้ว เผลอๆ เราอาจจะเป็นมหาบุรุษก็ได้กระมัง ตอนนี้ยังไม่รู้นี่ เพราะฉะนั้น คงจะต้องเจริญอานาปานสติก่อนดีกว่า เผื่อเราเป็นมหาบุรุษ จะได้หลุดพ้นไปเลย ตรงนี้เป็นปัญหาถามเหมือนกับเล่น แต่เป็นจริงตรงที่ว่า ระหว่างความรู้ว่าเป็นมหาบุรุษกับไม่รู้ เกี่ยวข้องกับอานาปานสติ อย่างไรหรือไม่ แต่ถ้าบอกว่า อย่าไปนึกถึงเรื่องมหาบุรุษเลย ก็จบ

    สุ. คิดเรื่องปัญญาดีไหม เพราะว่ามหาบุรุษต้องเกี่ยวกับปัญญา ถ้าปราศจากปัญญาเป็นมหาบุรุษไม่ได้แน่ และปัญญาก็มีหลายขั้น ปัญญาที่เป็น โลกียะก็มี ปัญญาที่เป็นโลกุตตระก็มี สำหรับผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็น พระอรหันต์ก็ยังต่างกัน ไม่ใช่เหมือนกัน พระอรหันต์สุกขวิปัสสกะก็ไม่ใช่เป็น พระอนาคามี เป็นพระอรหันต์ แต่ไม่ใช่พระอรหันต์ที่เป็นฌานลาภีบุคคล คือ ไม่ได้เป็นผู้อบรมเจริญสมถภาวนาและไม่สามารถมีฌานสมาบัติทั้งรูปฌาน อรูปฌาน ไม่สามารถทำอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ และไม่มีปฏิสัมภิทาด้วย

    ปัญญามีมาก หลายขั้น และแต่ละบุคคลก็ควรจะรู้ว่า เราซึ่งยังไม่ใช่ พระอรหันต์ กิจของเราคือทำอย่างไร จะเป็นมหาบุรุษหรือจะค่อยๆ อบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรม และเมื่อปัญญาเกิดบุคคลผู้นั้นจะรู้เองว่า เป็นมหาบุรุษหรือไม่เป็น หรือเป็นเพียงสุกขวิปัสสกะเท่านั้น แต่ไม่ใช่ด้วยความหวังว่า เราอาจจะเป็นและจะทำอานาปานสติรอไว้ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่เริ่มจากการที่รู้ว่า ขณะนี้ไม่รู้อะไร

    เพราะฉะนั้น เมื่อยังไม่รู้อยู่ ก็ควรที่จะรู้ ไม่ใช่หวังรอว่า อาจจะเป็นมหาบุรุษ เพราะว่าสิ่งที่ปรากฏก็รู้ไม่ง่ายเลย ทั้งๆ ที่กำลังปรากฏทางตาและได้ยินได้ฟังมาด้วยว่า ไม่ใช่ตัวตน ต้องเป็นสภาพรู้แน่ๆ สำหรับคนที่ยังไม่ตายจึงเห็น เพราะฉะนั้น แม้แต่เพียงลักษณะอาการของสภาพรู้ซึ่งกำลังเห็น ก็ยังไม่รู้ว่าต่างกับสิ่งที่ปรากฏ ทางตาอย่างไร ก็ต้องอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้ และในขณะที่อบรมเจริญปัญญา โดยไม่หวังว่าเราจะเป็นมหาบุรุษ หรือเราจะรู้รูปที่ละเอียด หรือรู้รูปนั้นรูปนี้ เป็นสมาธิขั้นนั้นขั้นนี้ สิ่งที่แต่ละบุคคลสะสมมาแล้ว ไม่มีใครสามารถยับยั้งการสะสมของเหตุปัจจัยที่สติจะระลึก และเมื่อปัญญาประจักษ์แจ้งคนนั้นไม่สามารถรู้ล่วงหน้า ได้ว่า ปัญญาของเขาจะประจักษ์แจ้งลักษณะสภาพธรรมอะไรและจะประกอบด้วยความสงบของจิตซึ่งเป็นสมาธิขั้นไหน แต่ให้ทราบว่า ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอริยบุคคลที่ไม่ใช่ฌานลาภีบุคคล มีมากกว่าผู้ที่เป็นฌานลาภีบุคคล

    นั่นในสมัยกาลสมบัติ และในสมัยนี้ ๒,๕๐๐ กว่าปี บุคคลในครั้งนี้ที่มี ความสนใจในพระธรรม มีกรรมเป็นปัจจัยที่จะทำให้โสตวิญญาณได้ยินเสียงที่เกิดดับอย่างรวดเร็ว และเป็นเสียงที่สามารถทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมได้ ในเมื่อสะสมปัญญามาพอที่จะฟังและพิจารณา และเข้าใจได้

    แต่บุคคลเหล่านี้ทำไมไม่บรรลุเป็นพระอริยบุคคลในสมัยที่พระผู้มีพระภาค ยังไม่ปรินิพพาน ก็แสดงให้เห็นว่า ปัญญายังไม่พอ ยังต้องอบรมต่อไปด้วยการฟัง ด้วยการพิจารณา ด้วยการเป็นผู้ละเอียด ด้วยการเป็นผู้ตรงต่อลักษณะของ สภาพธรรมและเหตุผลของการอบรมเจริญปัญญาจริงๆ

    เพราะฉะนั้น ในยุคนี้ สมัยนี้ ไม่หวัง ดีไหม ไม่ต้องไปรอทำอานาปานสติไว้ ที่ใช้คำว่า มหาบุรุษ ก็เป็นคำที่พิเศษกว่าบุรุษธรรมดาอยู่แล้วในกาลสมบัติ และ สมัยนี้ ๒,๕๐๐ กว่าปี หมดสมัยของพระอรหันต์ซึ่งเป็นผู้ได้อภิญญา ปฏิสัมภิทา หลังปรินิพพาน ๑,๐๐๐ ปี ยังคงมีพระอรหันต์ที่เป็นผู้ที่มีคุณวิเศษ เช่น ปฏิสัมภิทา อภิญญา พันปีที่ ๒ ก็ยังมีพระอรหันต์ แต่ไม่ใช่ผู้ที่เป็นมหาบุรุษ เพราะฉะนั้น นี่ ๒,๕๐๐ กว่าปี อยู่ในเขตของพันปีที่ ๓ ก็เป็นสมัยของพระอนาคามีบุคคล

    . ขอบพระคุณ

    สุ. เป็นเรื่องของการที่จะอดทน พิจารณาศึกษาธรรมโดยละเอียด ซึ่งเป็นขันติบารมี

    . อาจารย์บอกว่า ขณะนี้เป็นพันปีที่ ๓ ก็มีพระอริยบุคคลขั้นอนาคามี หมายถึงในมนุษย์ภูมินี้ ใช่ไหม

    สุ. ใช่

    . ไม่ได้หมายถึงเทวภูมิ

    สุ. ไม่หมายถึงเลย

    . ในอรรถกถาไม่ได้แสดงไว้ละเอียดว่า หมายถึงเฉพาะมนุษย์ภูมิ

    สุ. ผู้ที่เกิดในภูมิที่มีอายุยืนยาว เมื่อครั้งที่ได้เป็นพระอริยบุคคลในครั้งนั้น ก็ยังมีชีวิตอยู่ และจะเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่อๆ ไป แต่ผู้ที่มีอายุยืนยาวในโลกมนุษย์ก็อายุเพียงแค่ ๑๒๐ ปี อย่างท่านพระอานนท์ ท่านก็ปรินิพพานไปแล้ว จึงไม่มีใคร ที่จะเป็นพระอรหันต์สืบต่อมาจนกระทั่งถึงสมัยนี้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙๑ ตอนที่ ๑๙๐๑ – ๑๙๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 133
    28 ธ.ค. 2564