แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1908


    ครั้งที่ ๑๙๐๘


    สาระสำคัญ

    ม.อุ.ธาตุวิภังคสูตร พระเจ้าปุกกุสาติ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๓๒


    . ที่พูดนี้ไม่ได้ประสงค์จะเพ่งโทษพระพุทธเจ้า มิได้เลย ด้วยศรัทธาเลื่อมใสอย่างแท้จริง แต่ยังสงสัยว่า ที่พระพุทธเจ้าท่านกล่าวตำหนิพระเทวทัตนั้น คงต้องมีประโยชน์ เพราะท่านไม่เคยพูดหรือทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ แต่ยังมองไม่เห็นว่า ที่ตำหนิอย่างแรงนั้นเกิดประโยชน์อะไร กับใคร ยังมองไม่เห็น

    สุ. ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาก็จะคิดว่าแรง และจะคิดว่าไม่ใช่กาล และคิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควร แต่ไม่มีใครมีปัญญาเสมอพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงทราบว่า คำใดเหมาะควรกับท่านพระเทวทัต แม้ในขณะนั้นท่านพระเทวทัตฟังแล้วก็โกรธ ไม่พอใจอย่างยิ่ง แต่ในภายหลังก็ยังระลึกได้

    แสดงให้เห็นว่า คำใดที่จะทำให้บุคคลนั้นสามารถรู้สึกตัวได้ว่า ตนเองเป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะบางคนไม่พอใจที่จะให้คนอื่นชี้ว่าตนเองเป็นอย่างไร แต่ถ้า เป็นผู้ที่มีปัญญาจะรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น และถ้าผู้กล่าวเป็นบัณฑิต ความคิดเห็นนั้นก็ถูกต้อง แต่ถ้าเป็นคนพาลกล่าววิพากษ์วิจารณ์ก็ไม่ต้องเสียเวลาฟัง หรือถ้าฟังแล้วก็ไม่ต้องเดือดร้อน

    . ผมเพิ่งเข้าใจเดี๋ยวนี้เองว่า ประโยชน์ที่พระพุทธเจ้ากล่าวตำหนิท่าน พระเทวทัตนั้นได้เกิดขึ้นในระยะเวลาข้างหน้าอีกนาน ซึ่งถ้าไม่ตำหนิติโทษให้ลึกๆ หรือแรงๆ ก็อาจจะนึกไม่ถึง ทำให้ท่านพระเทวทัตได้นึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าตอนสุดท้ายของชีวิต ผมเพิ่งทราบ ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์

    สุ. ขอกล่าวถึงความอดทนของบุคคลในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพานว่า ท่านเหล่านั้นต้องมีความอดทนในการประพฤติปฏิบัติธรรมเพียงไร

    มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ธาตุวิภังคสูตร มีข้อความว่า

    ข้อ ๖๗๓

    ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเมื่อเสด็จจาริกไปในมคธชนบท ทรงแวะยังพระนครราชคฤห์ เสด็จเข้าไปหานายช่างหม้อชื่อภัคควะยังที่อยู่ แล้วตรัสดังนี้ว่า

    ดูกร นายภัคควะ ถ้าไม่เป็นความหนักใจแก่ท่าน เราจะขอพักอยู่ในโรงสักคืนหนึ่งเถิด

    คือ โรงของช่างหม้อ

    นายภัคควะทูลว่า

    ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าไม่มีความหนักใจเลย แต่ในโรงนี้มีบรรพชิตเข้าไปอยู่ก่อนแล้ว ถ้าบรรพชิตนั้นอนุญาต ก็นิมนต์ท่านพักตามสบายเถิด

    เห็นถึงความอดทนที่พระผู้มีพระภาคทรงจาริกไปเพื่อประโยชน์ คือ การที่จะแสดงธรรมอนุเคราะห์เกื้อกูลบุคคลซึ่งสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ เสด็จจาริกไปในมคธชนบท ทรงแวะยังพระนครราชคฤห์ เสด็จเข้าไปหานายช่างหม้อ ไม่ได้ไปยังที่อยู่ ที่สะดวกสบายที่สำราญเลย แต่เข้าไปหานายช่างหม้อ และขอพักอยู่ในโรงหม้อนั้น สักคืนหนึ่ง

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    สำหรับนายภัคควะได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ธรรมดาบรรพชิตทั้งหลายย่อมมีอัธยาศัยต่างกัน คนหนึ่งชอบหมู่คณะ คนหนึ่งชอบอยู่คนเดียว ถ้าคนที่อยู่ก่อนแล้วเป็นคนที่ชอบอยู่คนเดียวก็จะกล่าวว่า ดูกร ท่านผู้มีอายุ ท่านอย่าเข้ามา ข้าพเจ้าได้ศาลาแล้ว ให้บุคคลที่มาทีหลังออกไป ถ้าเป็นอย่างนั้นก็จะทำให้ทั้งสองท่าน ทะเลาะกัน ธรรมดาสิ่งที่ให้แล้วก็ควรเป็นอันให้แล้วเทียว สิ่งที่ทำแล้วก็ควรเป็นอัน ทำแล้วแล เพราะฉะนั้น จึงกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าไม่มีความหนักใจเลย แต่ในโรงนี้มีบรรพชิตเข้าไปอยู่ก่อนแล้ว ถ้าบรรพชิตนั้นอนุญาต ก็นิมนต์ท่านพัก ตามสบายเถิด

    ข้อ ๖๗๔

    ก็สมัยนั้นแล กุลบุตรชื่อปุกกุสาติ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต อุทิศพระผู้มีพระภาคด้วยศรัทธา ปุกกุสาติกุลบุตรนั้นเข้าไปพักอยู่ในโรงของนาย ช่างหม้อนั้นก่อนแล้ว ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปหาท่านปุกกุสาติยังที่พัก แล้วตรัสกะท่านปุกกุสาติดังนี้ว่า

    ดูกร ภิกษุ ถ้าไม่เป็นความหนักใจแก่ท่าน เราจะขอพักอยู่ในโรงสักคืนหนึ่งเถิด

    ท่านปุกกุสาติตอบว่า

    ดูกร ท่านผู้มีอายุ โรงช่างหม้อกว้างขวาง นิมนต์ท่านผู้มีอายุพักตามสบายเถิด

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    พระเจ้าปุกกุสาติเสวยราชสมบัติในพระนครตักกสิลา พระเจ้าพิมพิสารเสวยราชสมบัติในพระนครราชคฤห์ ทรงมีวัยเท่ากัน และทรงเป็นมิตรกันอย่างแน่นแฟ้น ในคุณธรรม แม้ไม่เคยเห็นกันเลย แต่ก็เจริญพระราชไมตรีต่อกันโดยพวกพ่อค้า ของทั้ง ๒ พระนครเดินทางไปค้าขาย

    พระเจ้าพิมพิสารทรงได้รับผ้ากัมพลอันหาค่ามิได้ ๘ ผืนจากพระเจ้าปุกกุสาติ ทรงถวาย ๔ ผืนแด่พระผู้มีพระภาค ทรงไว้ใช้ ๔ ผืนในพระราชวังของพระองค์ แต่นั้นทรงพระราชดำริว่า การที่เราเมื่อจะส่งภายหลัง ก็ควรส่งบรรณาการดีกว่าบรรณาการของพระเจ้าปุกกุสาติที่ส่งแล้วก่อน ก็พระสหายได้ส่งบรรณาการอัน หาค่ามิได้แก่เรา เราจะส่งอะไรดีหนอ

    ก็ในกรุงราชคฤห์ไม่มีวัตถุที่ดียิ่งกว่านั้นหรือ ไม่มีหามิได้ พระราชาทรงมี บุญมาก ก็อีกประการหนึ่ง จำเดิมแต่กาลที่พระองค์ทรงเป็นพระโสดาบันแล้ว เว้นจากพระรัตนตรัยแล้ว ไม่มีสิ่งใดอื่นที่ชื่อว่าสามารถเพื่อยังพระโสมนัสให้เกิดขึ้นได้ พระองค์จึงทรงปรารภเพื่อทรงเลือกรัตนะ ที่จะถวายเป็นพระราชบรรณาการแก่ พระเจ้าปุกกุสาติ

    ธรรมดารัตนะมี ๒ อย่าง คือ มีวิญญาณ ไม่มีวิญญาณ ในรัตนะ ๒ อย่างนั้น รัตนะที่ไม่มีวิญญาณ ได้แก่ ทองและเงินเป็นต้น ที่มีวิญญาณ ได้แก่ สิ่งที่เนื่องกับอินทรีย์ รัตนะที่ไม่มีวิญญาณเป็นเครื่องใช้ด้วยสามารถแห่งเครื่องประดับ เป็นต้นของรัตนะที่มีวิญญาณนั่นเทียว ในรัตนะ ๒ อย่างนี้ รัตนะที่มีวิญญาณประเสริฐที่สุด

    รัตนะแม้มีวิญญาณมี ๒ อย่าง คือ ดิรัจฉานรัตนะ มนุษยรัตนะ ในรัตนะ ๒ อย่างนั้น ดิรัจฉานรัตนะ ได้แก่ ช้างแก้วและม้าแก้ว ดิรัจฉานรัตนะแม้นั้นเกิดขึ้นเพื่อเป็นเครื่องใช้ของมนุษย์ทั้งหลายนั่นเทียว ในรัตนะ ๒ อย่างนั้น มนุษยรัตนะประเสริฐที่สุดด้วยประการฉะนี้

    แม้มนุษยรัตนะก็มี ๒ อย่าง คือ อิตถีรัตนะ ปุริสรัตนะ ในรัตนะ ๒ อย่างนั้น แม้อิตถีรัตนะซึ่งเกิดแก่พระเจ้าจักรพรรดิ ย่อมเป็นอุปโภคของบุรุษแล ในรัตนะ ๒ อย่างนี้ ปุริสรัตนะนั่นเทียวประเสริฐที่สุดด้วยประการฉะนี้

    แม้ปุริสรัตนะก็มี ๒ อย่าง คือ อาคาริกรัตนะ ๑ อนาคาริกรัตนะ ๑ แม้ใน อาคาริกรัตนะนั้น พระเจ้าจักรพรรดิย่อมทรงนมัสการสามเณรที่บวชในวันนี้ด้วย พระเบญจางคประดิษฐ์ ในรัตนะทั้ง ๒ อย่างแม้นี้ อนาคาริกรัตนะเท่านั้นประเสริฐที่สุด

    แม้อนาคาริกรัตนะก็มี ๒ อย่าง คือ เสกขรัตนะ ๑ อเสกขรัตนะ ๑ ใน อนาคาริกรัตนะ ๒ อย่างนั้น พระเสกขะตั้งแสนย่อมไม่ถึงส่วนแห่งพระอเสกขะ ในรัตนะ ๒ อย่างแม้นี้ อเสกขรัตนะเท่านั้นประเสริฐที่สุด

    พระอเสกขะ คือ ผู้ที่ไม่ต้องศึกษาเพื่อประพฤติปฏิบัติขัดเกลากิเลสอีก เพราะดับกิเลสหมดแล้ว เพราะฉะนั้น พระอเสกขะ ได้แก่ พระอรหันต์

    อเสกขรัตนะแม้นั้นก็มี ๒ อย่าง คือ พุทธรัตนะ สาวกรัตนะ ในอเสกขรัตนะนั้น สาวกรัตนะแม้ตั้งแสนก็ไม่ถึงส่วนของพุทธรัตนะ ในรัตนะ ๒ อย่างแม้นี้ พุทธรัตนะเท่านั้นประเสริฐที่สุดด้วยประการฉะนี้

    แม้พุทธรัตนะก็มี ๒ อย่าง คือ ปัจเจกพุทธรัตนะ สัพพัญญูพุทธรัตนะ ในพุทธรัตนะนั้น ปัจเจกพุทธรัตนะแม้ตั้งแสนก็ไม่ถึงส่วนของสัพพัญญูพุทธเจ้า ในรัตนะ ๒ อย่างแม้นี้ สัพพัญญูพุทธรัตนะเท่านั้นประเสริฐที่สุดด้วยประการฉะนี้

    ก็ขึ้นชื่อว่ารัตนะที่เสมอด้วยพุทธรัตนะ ย่อมไม่มีในโลกพร้อมทั้งเทวโลก เพราะฉะนั้น พระเจ้าพิมพิสารผู้ทรงเป็นพระโสดาบันบุคคลแล้วทรงพระราชดำริว่า ไม่มีสิ่งอื่นใดที่จะมีค่ายิ่งกว่าพระรัตนตรัย จึงได้ตรัสถามพวกพ่อค้าชาวพระนคร ตักสิลาว่า รัตนะ ๓ อย่างนี้ คือ พุทธะ ธรรมะ สังฆะ ย่อมปรากฏในชนบทของพวกท่านหรือ

    พวกพ่อค้าชาวพระนครตักสิลากราบทูลว่า

    ข้าแต่มหาราช แม้เสียงก็ไม่มีในชนบทนั้น ก็การเห็นจักมีแต่ที่ไหนเล่า

    แสดงให้เห็นว่า บางแห่ง บางประเทศ บางสถานที่ ไม่มีแม้แต่เสียงที่กล่าวว่า พุทธะ ธรรมะ สังฆะ เพราะฉะนั้น ผู้ใดมีโอกาสเกิดในประเทศซึ่งกุศลกรรมในอดีตเป็นปัจจัยทำให้โสตวิญญาณได้ยินเสียงที่ทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ ก็แสดงว่า ต้องเป็นผลของกุศลกรรมที่เป็นญาณสัมปยุตต์ เป็นปัจจัยทำให้มีโอกาสได้ยินเสียงอย่างนี้ เพราะว่าเสียงก็มีหลายเสียง แต่เสียงอื่น ไม่เป็นปัจจัยทำให้กุศลจิตเกิดขึ้นพิจารณาเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น เรื่องของกรรมหรือผลของกรรมในชีวิตประจำวัน เวลา ที่กุศลญาณสัมปยุตต์เกิด ไม่ใช่ในขณะอื่น แต่ในขณะที่พิจารณาสภาพที่กำลังปรากฏ และรู้ว่าขณะใดเป็นกรรม ขณะใดเป็นผลของกรรม ซึ่งถ้าไม่ได้สะสมการพิจารณา การใส่ใจ การศึกษาเข้าใจธรรมมาก่อนในอดีต แม้มีโอกาสได้ยินเสียง ซึ่งเป็นโอกาส ที่จะทำให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่เพราะไม่ได้สะสมความเข้าใจธรรมมาพอ ก็ทำให้ผ่านเสียงนั้นไปโดยที่ไม่สนใจ แต่สำหรับผู้ที่สะสมอุปนิสัยมาแล้ว เมื่อได้ฟังก็มีความสนใจ มีการพิจารณาศึกษาจนกระทั่งสามารถเข้าใจในเหตุในผล ในลักษณะของสภาพธรรมได้

    ด้วยเหตุนี้

    พระเจ้าพิมพิสารจึงรับสั่งให้ทำแผ่นทองคำยาว ๔ ศอก กว้างประมาณ ๑ คืบ หนาพอควร ไม่บางนัก ไม่หนานัก ทรงสนานพระเศียรแต่เช้าตรู่ ทรงอธิษฐาน องค์อุโบสถ ทรงเสวยพระกระยาหารเช้า แล้วทรงลิขิตพระอักษรลงในแผ่นทองคำ ทรงลิขิตพระพุทธคุณ และการทรงบำเพ็ญพระบารมี ๑๐ ทรงลิขิตพระธรรมคุณ ทรงลิขิตโพธิปักขิยธรรม ๓๗ สติปัฏฐาน ๔ มรรคมีองค์ ๘ ทรงลิขิตพระสังฆคุณ และอานาปานสติ

    สำหรับพระสังฆรัตนะในยุคนั้นสมัยนั้น เป็นพระอริยบุคคลที่ยินดีสันโดษ ด้วยปัจจัย ๔ สามารถละนิวรณ์ บรรลุฌาน และถึงอภิญญา เป็นมหาบุรุษ เพราะฉะนั้น พระเจ้าพิมพิสารจึงทรงพระราชดำริที่จะส่งเครื่องราชบรรณาการที่มีค่าเหนือสิ่งอื่นใด คือ พระคุณของพระรัตนตรัย ซึ่งได้จารึกลงในแผ่นทองคำ

    ทรงลิขิตว่า ศาสนาของพระผู้มีพระภาค ตรัสดีแล้ว เป็นศาสนานำสัตว์ออกจากทุกข์ ถ้าพระสหายของเราจักอาจไซร้ ขอได้เสด็จออกทรงผนวชเถิด ดังนี้

    ไม่สามารถออกทรงผนวชด้วยพระองค์เอง แต่หวังว่า ผู้ที่มีอุปนิสัยปัจจัยมา ถ้าอาจสามารถก็ขอได้เสด็จออกทรงผนวชเถิด

    ทรงม้วนแผ่นทองคำ พันด้วยผ้ากัมพลเนื้อละเอียด ทรงใส่ในหีบอันแข็งแรง ทรงวางหีบนั้นในหีบทองคำ ทรงวางหีบทองคำลงในหีบเงิน ทรงวางหีบเงินลงใน หีบแก้วมณี ทรงวางหีบแก้วมณีลงในหีบแก้วประพาฬ ทรงวางหีบแก้วประพาฬลงในหีบทับทิม ทรงวางหีบทับทิมลงในหีบแก้วมรกต ทรงวางหีบแก้วมรกตลงใน หีบแก้วผลึก ทรงวางหีบแก้วผลึกลงในหีบงา ทรงวางหีบงาลงในหีบรัตนะทุกอย่าง ทรงวางหีบรัตนะทุกอย่างลงในหีบเสื่อลำแพน ทรงวางหีบเสื่อลำแพนลงใน ผอบแข็งแรง

    ทรงวางผอบแข็งแรงลงในผอบทองอีก ทรงนำไปโดยนัยก่อนนั่นเทียว ทรงวางผอบที่ทำด้วยรัตนะทุกอย่างลงในผอบที่ทำด้วยเสื่อลำแพน แต่นั้นทรงวางผอบที่ทำด้วยเสื่อลำแพนลงในหีบที่ทำด้วยไม้แก่น ทรงนำไปโดยนัยกล่าวแล้วอีกนั่นเทียว

    ทรงวางหีบที่ทำด้วยรัตนะทุกชนิดลงในหีบที่ทำด้วยเสื่อลำแพน ข้างนอกทรงพันด้วยผ้าประทับตราพระราชลัญจกร ตรัสสั่งอำมาตย์ทั้งหลายว่า ให้ประดับ ช้างมงคล และจัดบัลลังก์บนช้างนั้น ให้ยกเศวตฉัตร ทำถนนพระนครให้สวยงาม ประดับประดาอย่างดีด้วยธงปฏากอันงดงาม และให้บูชาด้วยของหอม ธูป และดอกไม้ เป็นต้น ตามทางที่จะนำเครื่องบรรณาการนั้นไป ส่วนพระองค์เองทรงประดับด้วยเครื่องอลังการทุกอย่าง ทรงแวดล้อมด้วยกองกำลังพร้อมดนตรีทุกชนิด ทรงพระราชดำริจะเสด็จไปส่งราชบรรณาการจนสุดพระอาณาเขตของพระองค์ และได้พระราชทานพระราชสาส์นสำคัญให้แก่อำมาตย์ไปถวายพระเจ้าปุกกุสาติว่า เมื่อจะทรงรับบรรณาการนี้ อย่ารับในท่ามกลางตำหนักนางสนมกำนัล จงเสด็จขึ้นพระราชปราสาทแล้วทรงรับเถิด

    ครั้นพระราชทานพระราชสาส์นนี้แล้ว ทรงพระราชดำริว่า พระศาสดาเสด็จไปสู่ปัจจันตประเทศ ทรงนมัสการด้วยพระเบญจางคประดิษฐ์ แล้วเสด็จกลับ

    อะไรมีค่า พวกหีบเครื่องเพชรนิลจินดา หรือว่าพระรัตนตรัย แต่การที่จะ นำพระรัตนตรัยเป็นเครื่องราชบรรณาการ ก็ต้องกระทำด้วยศรัทธาอย่างมาก เพื่อให้เห็นคุณค่าของพระรัตนตรัย

    ท่านผู้ฟังคงจะมีของขวัญที่จะให้บุคคลอื่นในโอกาสต่างๆ ไม่ทราบท่านผู้ฟัง คิดว่าจะให้อะไรซึ่งเป็นประโยชน์ที่สุด ก็คงจะมีหลายอย่าง แต่ไม่มีอะไรที่จะมีคุณค่ายิ่งกว่าพระรัตนตรัย ซึ่งจะทำให้บุคคลนั้นสามารถมีโอกาสศึกษา พิจารณา และ เกิดปัญญาของตนเองสะสมเป็นอุปนิสัยที่จะทำให้เห็นประโยชน์ของกุศลเพื่อที่จะ ละคลายอกุศล จนกว่าสามารถดับอกุศลได้เป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น ของขวัญที่ประเสริฐที่สุด คือ พระรัตนตรัย

    การที่ทุกท่านเกิดมาพบกันแต่ละชาติในสังสารวัฏฏ์โดยสถานต่างๆ นั้น บางชาติอาจเป็นเพื่อนฝูงมิตรสหาย บางชาติอาจเป็นศัตรู หรือบางชาติอาจเป็นมารดาบิดา เป็นญาติพี่น้อง แต่การพบกันในชาติที่ได้เกื้อกูลเป็นมิตรกันในพระธรรม หรือมีส่วนร่วมกันเผยแพร่พระธรรม ชาตินั้นต้องเป็นชาติที่ประเสริฐที่สุดในสังสารวัฏฏ์ยิ่งกว่าชาติอื่นๆ ที่เกิดมาโดยสถานอื่น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙๑ ตอนที่ ๑๙๐๑ – ๑๙๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 133
    11 ก.พ. 2566