แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1898


    ครั้งที่ ๑๘๙๘


    สาระสำคัญ

    ผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน

    วิริยะหรือวีระ คือ ความเพียร, ขุ.ชา. อรรถกถาสังวรมหาราชชาดก - ภิกษุผู้ทอดทิ้งความเพียร

    อรรถกถา ตินิบาตชาดก เสยยชาดกที่ ๒ - เหตุที่ถูกต้องที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม

    อรรถกถาสังขารยมก - ปฐมจิต ทุติยจิต และปัจฉิมจิต


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๓๒


    ถ้าพิจารณาทั้งข้อความในพระสูตรและข้อความในอรรถกถา ก็แสดงให้เห็นถึงปัญญาของบุคคลที่ต่างกัน เช่น สำหรับผู้ที่มีกิเลสหนามาก เป็นผู้ที่ว่ายาก และ ไม่เคยเห็นกิเลสของตนเองเลย เห็นแต่กิเลสของคนอื่นหมด แต่กิเลสของตนเอง มีอะไรบ้างไม่เคยนึกถึง ไม่เคยบอกคนอื่น หรือกล่าวกับคนอื่น ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็ต้องตั้งต้นตั้งแต่การฟังพระธรรม พิจารณาให้เห็นโทษของอกุศล และมีความเพียรเกิดขึ้นที่จะระลึกทบทวนอกุศลของตนเองก่อนนอน นี่สำหรับผู้ที่ปกติเป็นผู้ว่ายากและมีกิเลสมาก

    แต่สำหรับท่านที่เป็นผู้ที่เข้าใจหนทางข้อประพฤติปฏิบัติแล้ว จะสังเกตได้ว่า ไม่ต้องรออย่างนั้น ขณะใดที่สภาพธรรมกำลังปรากฏ ไม่ว่าอกุศลประเภทใดจะเกิด สติก็สามารถระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นได้ทันที นั่นก็เป็นปัญญา อีกระดับหนึ่งซึ่งเข้าใจหนทางที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม และศึกษาลักษณะของสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้น แต่ละท่านก็พิจารณาตนเอง หลังจากได้ฟังพระสูตรนั้นแล้ว ใช่ไหม ท่านพิจารณาบ้างหรือเปล่า วันละ ๓ ครั้ง หรือเพียงวันละ ๒ ครั้ง หรือ หลายวันครั้งหนึ่ง แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่ต้องห่วง เพราะท่านเข้าใจแล้วว่า ทันทีที่อกุศลจิตเกิด ไม่ต้องรอจนกระทั่งถึงเวลาที่จะพิจารณา แต่เมื่ออกุศลจิตเกิด สติสัมปชัญญะสามารถระลึกได้ทันทีในขณะนั้น นั่นก็เป็นการเริ่มต้น เป็นการอบรมสติปัฏฐาน แม้ว่าขณะนั้นจะไม่รู้ว่าเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม ที่ไม่ใช่ตัวตน เพียงรู้ลักษณะสภาพอกุศลด้วยสติสัมปชัญญะในขณะนั้นตามความ เป็นจริง ก็เป็นสติสัมปชัญญะขั้นหนึ่ง ตามข้อความในพระสูตรที่ว่า

    หากพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า เราเป็นผู้มีอกุศลนั้นๆ จริง ก็ควรพยายามเพื่อที่จะละอกุศลธรรมอันชั่วช้านั้นเสีย หากพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า เราไม่เป็นผู้มีอกุศลนั้นๆ ภิกษุนั้นพึงอยู่ด้วยปีติและปราโมทย์นั้นทีเดียว หมั่นศึกษาทั้งกลางวันกลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลาย

    คือ ศึกษาลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลายที่กำลังปรากฏตามปกตินั่นเอง ซึ่งก็แล้วแต่ว่าในวันหนึ่งๆ สติสัมปชัญญะขั้นใดจะเกิด ขั้นที่เพียรระลึกว่า วันนั้น มีอกุศลอย่างนั้นๆ ที่ได้กระทำไปแล้วระลึกได้ หรือในขณะนั้นไม่ว่าจะเป็น สภาพธรรมใด สติก็ระลึกได้ทันที

    ความละเอียดของการพิจารณาสภาพธรรม สำหรับผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน จะต้องมีความละเอียดที่จะพิจารณารู้ว่า ต้องการผลของการอบรมเจริญสติปัฏฐานหรือเปล่า เพราะมีบางท่านซึ่งพยายามอย่างมาก เพียรอย่างมาก เพราะคิดว่า จะเป็นเหตุให้ผลเกิดขึ้นเร็ว แต่ผลปรากฏว่า พยายามจนเหนื่อยก็ต้องเลิก เพราะ ไม่สามารถเร่งรัดผลของการเจริญสติปัฏฐานได้ เนื่องจากเป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติจริงๆ

    การที่จะรู้ว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาก็คือ รู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติในชีวิตประจำวัน ถ้าเกิดมีความหวัง มีความเพียร หรือมีการต้องการผล โดยรวดเร็ว จะทำให้ไปกระทำอย่างอื่นด้วยความหวังผลนั้น

    สำหรับวิริยะ คือ ความเพียร หรือวีระ ก่อนที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม จะเห็นได้ว่า เป็นปกติในชีวิตประจำวันนั่นเอง ที่ใช้คำว่า วีระ ก็หมายความว่า เป็นผู้กล้าหาญ เป็นผู้ไม่ท้อถอย เป็นผู้ที่มีความเพียร

    ท่านผู้ฟังสูงอายุท่านหนึ่ง อายุคงจะ ๘๐ ท่านได้ฟังรายการธรรมหลายแห่ง และพิจารณาไตร่ตรองเรื่องการอบรมเจริญสติปัฏฐาน แม้ว่าท่านเป็นผู้ที่สูงอายุแล้ว ท่านก็ไม่หมดความเพียรที่จะฟัง ที่จะไตร่ตรองธรรม เมื่อท่านได้ฟังรายการแนวทางเจริญวิปัสสนา ท่านก็จดตำบลที่อยู่ของมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ซึ่งท่านมีความเพียรที่จะไปที่มูลนิธิเพื่อบริจาคเงินร่วมการกุศลของมูลนิธิ ท่านออกจากบ้านตั้งแต่ ๙ โมงเช้า ไปถึงมูลนิธิบ่ายสองโมง ตลอดเวลานั้นจะเห็นวิริยะของ ผู้สูงอายุท่านนี้ที่ท่านออกจากบ้านตั้งแต่เก้าโมงเช้า กว่าจะไปถึงมูลนิธิก็บ่ายสองโมง เพราะว่าการจราจรที่กรุงเทพมหานครทำให้ต้องใช้เวลานานมาก คิดถึงวิริยะเรื่องของอาหารกลางวันและอะไรอื่นๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่า การที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม หรือ การที่วิริยะจะเจริญขึ้น ก็เป็นชีวิตประจำวันทั้งนั้นนั่นเอง ไม่ใช่ว่าต้องไปทำวิริยะอื่นต่างหากจากชีวิตประจำวัน

    ขณะที่กำลังเจริญเหตุ ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ในเรื่องของการเจริญกุศลแล้วขาดวิริยะไม่ได้เลย เพราะจะต้องฝืนกระแสของอกุศล ฝืนความพอใจ ความสะดวกสบายทุกประการเพื่อที่จะให้กุศลนั้นๆ สำเร็จ แต่ผู้ที่อบรมเจริญ สติปัฏฐานในชีวิตประจำวัน และปัญญารู้ลักษณะสภาพธรรมเพิ่มขึ้น ผลคือ การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นเรื่องไม่ยาก แต่เรื่องของเหตุที่จะต้องค่อยๆ พิจารณา ค่อยๆ ศึกษารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งท่านผู้ฟังจะสังเกตได้ว่า ค่อยๆ เกิดขึ้น ไม่มากเลยในแต่ละครั้ง แต่เพราะความเพียรที่ระลึกแล้วระลึกอีก ระลึกเรื่อยๆ ระลึกบ่อยๆ เพราะรู้ว่า เป็นหนทางเดียวเท่านั้นที่ปัญญาสามารถประจักษ์ลักษณะที่เกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมได้ ในขณะนี้เองสภาพธรรมก็กำลังเกิดดับอยู่ ถ้าสติไม่ระลึก ไม่ศึกษา ไม่เริ่มเข้าใจลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ย่อมไม่ถึงวันเวลาที่จะประจักษ์แจ้งการเกิดดับของสภาพธรรมได้ เพราะฉะนั้น เหตุเป็นไปโดยยาก เพราะจะต้องกระทำตลอดไปทุกชาติ แต่เวลาที่ผลเกิด ไม่ยากเลย

    ขุททกนิกาย ชาดก อรรถกถาสังวรมหาราชชาดก มีข้อความว่า

    ครั้นนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุ ผู้ทอดทิ้งความเพียรเสียแล้วรูปหนึ่ง ตรัสเรื่องนี้

    ภิกษุรูปหนึ่งเป็นกุลบุตรชาวพระนครสาวัตถี ได้ฟังพระธรรมเทศนาของ พระผู้มีพระภาคก็มีศรัทธาบรรพชาและอุปสมบท และได้บำเพ็ญอาจาริยวัตร และอุปัชฌายวัตร ท่องพระปาติโมกข์ทั้งสองจนคล่อง มีพรรษาครบ ๕ เรียนกรรมฐาน ลาอาจารย์และอุปัชฌาย์ไปอยู่ป่า เมื่อไปถึงชายแดนตำบลหนึ่ง พวกผู้คนต่างก็เลื่อมใสในอิริยาบถ พากันสร้างบรรณศาลาให้พักและบำรุงอยู่ในตำบลบ้านนั้น

    ครั้นเข้าพรรษาท่านก็เจริญกรรมฐานตลอดไตรมาสด้วยความเพียร แต่ก็ ไม่บรรลุธรรม ท่านดำริว่า ในบรรดาบุคคล ๔ เหล่าที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว ท่านคงเป็นประเภทปทปรมะเสียแน่แล้ว จึงออกจากป่าไปสู่พระวิหารเชตวันเพื่อคอยดูพระรูปโฉมของพระผู้มีพระภาคเมื่อทรงแสดงพระธรรมเทศนาอันไพเราะ

    เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบเรื่องนั้นจึงตรัสแก่ภิกษุนั้นว่า ผลอันเลิศ ในพระพุทธศาสนานี้คืออรหัตตผล ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้เกียจคร้าน ก็แลในปางก่อน เธอเป็นคนมีความเพียร ทนต่อโอวาท แม้เป็นน้องคนสุดท้องแห่งโอรส ๑๐๐ ของ พระเจ้าพาราณสี ตั้งอยู่ในโอวาทของบัณฑิตทั้งหลายก็ถึงเศวตฉัตรเป็นพระราชาได้ และพระผู้มีพระภาคได้ตรัสเรื่องในอดีตซึ่งในสมัยนั้นภิกษุรูปนี้เป็นพระเจ้า สังวรมหาราช

    พระเจ้าสังวรมหาราชได้ตรัสคุณธรรมของพระองค์ ซึ่งทำให้หมู่พระญาติและชาวเมืองต่างยอมรับนับถือพระองค์เป็นพระราชา แม้ว่าพระองค์จะเป็นน้องคนสุดท้องในบรรดาโอรส ๑๐๐ ของพระเจ้าพาราณสี

    พระเจ้าสังวรมหาราชได้ตรัสกับพระอุโบสถกุมาร ซึ่งเป็นเจ้าพี่องค์ใหญ่ของพระองค์ ซึ่งในชาติสุดท้ายเป็นท่านพระสารีบุตรว่า

    ข้าแต่พระราชบุตร หม่อมฉันมิได้ริษยาสมณะทั้งหลายผู้แสวงหาคุณอัน ใหญ่หลวง หม่อมฉันนอบน้อมท่านเหล่านั้นโดยเคารพ ไหว้เท้าของท่านผู้คงที่

    มีวิริยะหรือเปล่า ทุกอย่างจะพ้นวิริยะไม่ได้เลย แม้แต่การที่จะไม่ริษยาสมณะซึ่งมีความรู้ บางคนก็แปลก ไม่ริษยาคนอื่น แต่ริษยาคนมีความรู้ นี่เป็นเรื่อง นานาจิตตัง แล้วแต่ว่าจะสะสมความริษยาในรูปใด ซึ่งถ้าผู้ใดมีความรู้แล้ว ควรที่ คนอื่นจะนับถือในความรู้นั้น แต่บุคคลนั้นก็กลับริษยา เพราะฉะนั้น ที่จะไม่ริษยาได้ ก็ต้องมีวิริยะ มีความเพียร เห็นโทษของความริษยา จึงจะละความริษยานั้นได้ แม้แต่การนอบน้อมโดยเคารพ ไหว้เท้าของท่านผู้คงที่ ก็ต้องเป็นผู้ที่มีวิริยะที่จะขัดเกลากิเลส มานะ ความสำคัญตนที่เป็นโอรสของพระเจ้าพาราณสี

    พระองค์ตรัสต่อไปว่า

    สมณะเหล่านั้นยินดีแล้วในธรรมของผู้แสวงหาคุณ ย่อมพร่ำสอนหม่อมฉัน ผู้ประกอบในคุณธรรม ผู้พอใจฟัง ไม่มีความริษยา หม่อมฉันได้ฟังคำของสมณะ ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่หลวงเหล่านั้นแล้ว มิได้ดูหมิ่นสักน้อยหนึ่งเลย ใจของหม่อมฉันยินดีแล้วในธรรม

    กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลเดินเท้า หม่อมฉันไม่ตัด เบี้ยเลี้ยงและบำเหน็จบำนาญของจตุรงคเสนาเหล่านั้นให้ลดน้อยลง อำมาตย์ผู้ใหญ่และข้าราชการผู้มีปรีชาของหม่อมฉันมีอยู่ ช่วยกันบำรุงพระนครพาราณสีให้มีข้าวปลาอาหารมาก มีน้ำดี

    อนึ่ง พวกพ่อค้าผู้มั่งคั่งมาแล้วจากรัฐต่างๆ หม่อมฉันช่วยจัดอารักขาให้ พ่อค้าเหล่านั้น ขอได้โปรดทราบอย่างนี้เถิดเจ้าพี่อุโบสถ

    นี่เป็นเหตุทำให้ผู้คนทั้งปวงเห็นว่า พระองค์ประกอบด้วยคุณธรรมอย่างนี้ สมควรที่จะเป็นพระราชาของพระนครพาราณสี

    พระผู้มีพระภาคทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสย้ำว่า

    ดูกร ภิกษุ เธอทนต่อโอวาทเช่นนี้ บัดนี้เหตุไรไม่กระทำความเพียร

    ทรงประกาศสัจจะ ในเวลาจบสัจจะ ภิกษุนั้นดำรงอยู่ในโสตาปัตติผล ทรงประชุมชาดกว่า สังวรกุมารผู้เป็นพระราชาในครั้งนั้นได้มาเป็นภิกษุนี้ อุโบสถกุมารในครั้งนั้นได้มาเป็นสารีบุตร พระราชกุมารผู้เป็นพี่ทั้งหลายได้มาเป็น พระเถรานุเถระ และบริษัทได้มาเป็นพุทธบริษัท ส่วนอำมาตย์ผู้ถวายโอวาทได้มาเป็นเราตถาคตแล

    พุทธบริษัทในครั้งโน้น ก็ได้มาเป็นพุทธบริษัทในสมัยพระผู้มีพระภาค ซึ่งจะเห็นได้ว่า ผลไม่ยาก แต่เหตุยาก เวลาที่จะบรรลุ ผลเกิดตามที่สมควรแก่เหตุ เมื่อเหตุสมควรแก่ผลเมื่อไร ผลก็เกิด เพราะฉะนั้น ถ้าในขณะนี้เหตุยังไม่สมควร จะเร่งรัดสักเท่าไรผลก็ยังเกิดไม่ได้ ก็ต้องเพียรต่อไป โดยการเป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้จริงๆ หรือยัง

    ไม่ใช่รู้โดยฟัง แต่สติปัฏฐาน สัมปชัญญะเกิดพร้อมสติ สามารถเข้าใจ รู้ความจริง รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนี้เอง และปัญญาจะอบรมเจริญไปเรื่อยๆ จนถึงกาลสมัยที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ซึ่งไม่ยาก ผลไม่ยาก แต่เหตุยาก ที่จะต้องอดทนและเพียรต่อไป เรื่องผล ทุกคนต้องการ แต่ต้องคิดถึงเหตุด้วย

    ผู้ฟัง เรื่องผล ทุกคนต้องการ แต่เรื่องเหตุไม่มีใครคิด คำพูดของอาจารย์ เท่าที่อาจารย์พูดมา ผมจำได้ ผมฟังอยู่ที่นี่ตั้งแต่ปี ๒๕๒๐ อาจารย์ก็พูดอยู่อย่างนี้ ผมก็สงสัยว่าจะได้ผลเมื่อไร แต่วันนี้ขณะที่อาจารย์พูดอยู่ประมาณ ๑ ชั่วโมงเศษ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผมมีสติระลึกรู้ในนามธรรมในรูปธรรมตั้งหลายๆ อย่าง ทั้งๆ ที่ตั้งแต่เช้าไม่มีเลย แต่ฟังอาจารย์ทีไร เสียงของอาจารย์เตือนให้ระลึกรู้ในนามธรรม ในรูปธรรม ยกตัวอย่างขณะที่ฟังอาจารย์อยู่นี้ กลิ่นปรากฏมาทางหน้าต่างหลายครั้ง ไม่ทราบว่าอาจารย์จะระลึกบ้างหรือเปล่า เพราะกลิ่นมาทางอาจารย์มากกว่าผม

    สุ. บังเอิญเป็นหวัด

    ผู้ฟัง และเสียงที่มาจากข้างบน ที่เขาเคาะๆ อะไรกัน ซึ่งความจริงเป็นอกุศล แต่การได้ยินเสียงธรรมจากอาจารย์เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ระลึกรู้ในรูปธรรม ในนามธรรมนั้นๆ จริงๆ เพราะฉะนั้น เหตุที่เราได้สะสมมา ก็ได้ผลบ้างแล้ว

    สุ. ท่านผู้ฟังคงจะสงสัย พูดแต่เรื่องของเจตสิก คือ วิริยเจตสิกนั่นเอง ซึ่งได้เรียนให้ทราบแล้วว่า ไม่มีอะไรนอกจากจิต เจตสิก รูป ในวันหนึ่งๆ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเรียนจบพระไตรปิฎก หรือปริจเฉทต่างๆ ของอภิธัมมัตถสังคหะ ก็ไม่มีประโยชน์เท่ากับการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามที่ได้เข้าใจแล้ว ซึ่งเป็นเหตุที่ถูกต้องที่จะทำให้สติปัฏฐานสามารถเกิดระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรม จะเห็นได้ว่า ไม่มีหนทางอื่นเลยจริงๆ การที่ปัญญาจะค่อยๆ เกิดเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม เป็นปัจจัตตัง เป็นอนัตตา ไม่มีใครสามารถกะเกณฑ์ได้ว่า เมื่อไร วันไหน ขณะไหน แม้แต่ผู้ที่ถูกจองจำในเรือนจำ ก็ยังสามารถรู้แจ้ง อริยสัจจธรรมได้

    อีกเรื่องหนึ่ง

    อรรถกถา ติกนิบาตชาดก เสยยชาดกที่ ๒ มีข้อความว่า

    ณ พระวิหารเชตวัน พระผู้มีพระภาคทรงปรารภอำมาตย์ของ พระเจ้าปเสนทิโกศลคนหนึ่ง ซึ่งมีอุปการะมากแก่พระเจ้าปเสนทิโกศล ท่านเป็น ผู้ที่จัดการงานทั้งปวงให้สำเร็จ และพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ประทานยศใหญ่แก่ อำมาตย์นั้น อำมาตย์อื่นๆ ทนไม่ได้ จึงคอยส่อเสียดยุยงให้พระเจ้าปเสนทิโกศลทำลายอำมาตย์ผู้นั้น

    พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเชื่อคำของอำมาตย์เหล่านั้น มิได้ทรงพิจารณาโทษ รับสั่งให้จองจำอำมาตย์ผู้มีศีลนั้น ผู้หาโทษมิได้ ด้วยเครื่องจองจำคือโซ่ตรวน แล้วให้ขังไว้ในเรือนจำ

    อำมาตย์นั้นตัวคนเดียวแท้อยู่ในเรือนจำนั้น อาศัยศีลสมบัติได้เอกัคคตาจิต แน่วแน่ในอารมณ์เดียว พิจารณาสังขารทั้งหลายก็ได้บรรลุโสตาปัตติผล

    ครั้นในกาลต่อมา พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบว่า อำมาตย์นั้นไม่มีโทษ จึงรับสั่งให้ถอดพันธนาการคือโซ่ตรวน และได้พระราชทานยศใหญ่กว่ายศครั้งแรก

    อำมาตย์นั้นคิดว่า จักถวายบังคมพระผู้มีพระภาค จึงถือเอาของหอมและระเบียบดอกไม้เป็นต้นเป็นอันมากไปยังพระวิหาร บูชาพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

    พระผู้มีพระภาคเมื่อจะทรงกระทำปฏิสันถารกะอำมาตย์นั้น จึงตรัสว่า

    เราตถาคตได้ยินว่า ราชทัณฑ์อันหาประโยชน์มิได้ เกิดขึ้นแก่ท่านหรือ

    ท่านอำมาตย์กราบทูลว่า

    พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราชทัณฑ์อันหาประโยชน์มิได้ เกิดขึ้นแล้ว แต่ข้าพระองค์ได้กระทำประโยชน์จากสิ่งที่หาประโยชน์มิได้นั้น ข้าพระองค์นั้นนั่งอยู่ ในเรือนจำ แล้วทำโสตาปัตติผลให้เกิดขึ้นแล้ว

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อุบาสก มิใช่ท่านเท่านั้นที่นำเอาประโยชน์มาจากสิ่งที่มิใช่ประโยชน์ แม้โบราณบัณฑิตทั้งหลายก็นำเอาประโยชน์มาจากสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ตนเหมือนกัน

    เมื่ออำมาตย์นั้นทูลอาราธนา ก็ได้ตรัสเรื่องในอดีตซึ่งเป็นเรื่องของท่าน พระอานนท์และพระองค์เอง

    ถ้าท่านผู้ฟังสนใจก็อ่านต่อได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙๐ ตอนที่ ๑๘๙๑ – ๑๙๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 133
    28 ธ.ค. 2564