แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1923


    ครั้งที่ ๑๙๒๓


    สาระสำคัญ

    เรื่องการค่อยๆ อบรมเจริญจนกว่าจะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามที่ได้ศึกษา

    กัสสปมันทิยชาดกที่ ๒ พระองค์ทรงปรารภภิกษุแก่รูปหนึ่ง

    อนนุโสจิยชาดก


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๓๓


    สุ. เวลาที่ศึกษามาก และรู้ว่าสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ กำลังปรากฏและเข้าใจตรงตามที่ศึกษา นั่นคือประโยชน์สูงสุด เพราะบางคนอาจจะติดปริยัติ ศึกษาเพื่อสอบ หรือศึกษาเพื่อจะได้ลับสมอง ทำให้เป็นผู้มีปฏิภาณ ความหลักแหลม แต่นั่นไม่ใช่จุดประสงค์ ไม่ว่าจะฟังเรื่องของจิต ให้ทราบว่า ขณะนี้จิตอยู่ที่ไหน นี่คือประโยชน์ และตามธรรมดาก็มีจิตที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก เท่านั้นเอง ๖ ทาง

    เพราะฉะนั้น ถ้าสติระลึก และเข้าใจลักษณะของจิตที่กำลังปรากฏ จะเห็นว่า ความเข้าใจค่อยๆ เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย เพราะฉะนั้น ในชาติหนึ่งๆ ไม่พอ เพียงแต่ได้ยินได้ฟังว่า เห็นเป็นนามธรรม สิ่งที่ปรากฏเป็นรูปธรรม ถ้าฟังเพียงอย่างนี้ ตลอดชีวิตวันละ ๗ – ๘ ชั่วโมง ก็ไม่พอ หรือเมื่อศึกษาเรื่องของจิตหลายประเภท เรื่องของเจตสิก เรื่องของรูป เรื่องของปัจจัย เรื่องของวิถีจิตวาระต่างๆ แล้ว ก็ยังไม่พอ เพราะว่าเป็นเรื่องที่จะต้องค่อยๆ อบรมจนกว่าจะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามที่ได้ศึกษา เช่น ท่านพระอานนท์ ที่ว่าท่านถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย ในชาติก่อน ข้อความในอรรถกถามีว่า

    จากนี้ไปแสนกัป

    อดทนพอไหม คิดดู และท่านผู้ฟัง ฟังเรื่องนามธรรมและรูปธรรมแล้ว ก็อยากจะหมดกิเลส แต่สำหรับผู้ที่มีปัญญาจริงๆ ท่านเข้าใจว่ากิเลสหมดไม่ได้ง่ายๆ ต้องอาศัยการอบรมการเจริญนานมากทีเดียว และสำหรับท่านพระอานนท์ จากนี้ไปแสนกัป

    ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ พระองค์มีท่านสุมนเถระเป็นอุปัฏฐาก สมัยนั้นท่านพระอานนท์เกิดเป็นสุมนราชกุมาร เป็นน้องของ พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า ปทุมุตตระนั่นเอง

    เมื่อสุมนราชกุมารเสด็จไปปราบโจรชายแดนจนสงบ ได้ปรึกษากับอำมาตย์ว่า จะขออะไรจากพระราชบิดา อำมาตย์บางท่านเสนอให้ขอสมบัติต่างๆ แต่มีอำมาตย์พวกหนึ่งกล่าวว่า สมบัติทั้งหลายนำไปไม่ได้นอกจากบุญกุศล เพราะฉะนั้น ควรที่จะขอบำรุงพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ตลอดเวลา ๓ เดือน

    พระสุมนราชกุมารได้ตรัสกับโอรสและพระชายาว่า ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นผู้หนักในธรรม ไม่เพ่งอามิส เพราะฉะนั้น เราจะนุ่งห่มผ้าสาฎก ๒ ผืน สมาทานศีล และอยู่ที่พระวิหารที่พระองค์สร้างให้เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า พระปทุมุตตระ ตลอด ๓ เดือน แล้วรับสั่งให้ท่านเหล่านั้นถวายทานแก่พระภิกษุสงฆ์หนึ่งแสนรูป ตลอด ๓ เดือน

    ระหว่างนั้นสุมนราชกุมารเห็นข้อวัตรปฏิบัติของท่านพระสุมนเถระที่กระทำอุปัฏฐากแก่พระพุทธเจ้าพระปทุมุตตระ จึงปรารถนาตำแหน่งอุปัฏฐากนั้น

    ไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้ ต้องเป็นผู้ที่ได้กระทำบุญไว้ หรือตั้งความปรารถนาไว้ก่อน

    เมื่อใกล้ถึงวันปวารณา สุมนราชกุมารเสด็จเข้าไปสู่บ้าน ทรงบริจาคทานใหญ่ตลอด ๗ วัน ในวันที่ ๗ ทรงตั้งไตรจีวรไว้ ณ ที่ใกล้เท้าของภิกษุหนึ่งแสนรูป ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคพระปทุมุตตระแล้วกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุญอันใดที่ข้าพระองค์กระทำแล้ว จำเดิมแต่การสร้างพระวิหารอันมีในที่ระหว่างโยชน์หนึ่งๆ ในหนทางบุญอันนั้น ข้าพระองค์มิได้ปรารถนาสวรรค์สมบัติ มารสมบัติ และพรหมสมบัติ แต่ปรารถนาความเป็นอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้าจึงได้กระทำ

    พระพุทธเจ้าปทุมุตตระทรงตรวจและทรงทราบว่า ในอนาคตในกัปที่แสน จากนี้ไป พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าโคตมะจักทรงอุบัติ และพระสุมนราชกุมารนี้ จักได้เป็นพระพุทธอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น

    เป็นอย่างไร หนึ่งแสนกัปจากนั้น

    และในชาติสุดท้าย ท่านได้เกิดเป็นโอรสของเจ้าอมิโตทนะศากยะ และท่าน ได้เป็นเอตทัคคะเลิศกว่าบรรดาภิกษุสาวกทั้งหลายถึง ๕ สถาน คือ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพหูสูต เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีสติ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีคติ ผู้มีธิติ ผู้อุปัฏฐาก

    เพราะฉะนั้น ในระหว่างนั้นไม่ใช่ท่านไม่ได้ยินได้ฟังเรื่องนามธรรมและรูปธรรมจากพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ แต่แม้กระนั้นท่านก็ทราบว่า กว่าจะได้ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมจนกระทั่งดับกิเลสได้ ต้องอาศัยกาลเวลาที่ นานมาก

    จะเห็นได้ว่า การเป็นผู้ที่อดทนอบรมเจริญบารมีทั้งหลาย ย่อมถึงการสิ้นสุด ไม่เป็นโมฆะ ต้องมีผลบริบูรณ์สุกงอมของการที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมในชาติหนึ่ง เช่น บารมีทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งบรรลุถึง ความสมบูรณ์สุกงอมที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ โคนต้น พระศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยา ซึ่งพุทธบริษัทผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลายก็ใคร่ที่จะได้นมัสการสังเวชนียสถานซึ่งเป็นสถานที่ที่สำคัญที่สุดในสังสารวัฏฏ์

    และเมื่อได้ไปนมัสการสังเวชนียสถาน และพุทธสถานต่างๆ นั้น ก็ควรที่จะมี โยนิโสมนสิการพิจารณาธรรมทั้งหลายด้วย แต่ก่อนที่จะถึงการมนสิการเมื่อได้ไปนมัสการสังเวชนียสถานและพุทธสถานต่างๆ ขอกล่าวถึงความอดทนในชาติต่างๆ ของพระสาวก เพื่อท่านผู้ฟังจะได้พิจารณาเห็นว่า แม้แต่ในเรื่องธรรมดาๆ ในชีวิตประจำวัน ก็ต้องเป็นผู้ที่มีความอดทน

    ขอกล่าวถึงข้อความใน อรรถกถา กัสสปมันทิยชาดกที่ ๒

    ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเชตวัน พระองค์ทรงปรารภ ภิกษุแก่รูปหนึ่ง จึงได้ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า อปิ กสฺสป มนฺทิย ดังนี้

    ได้ยินว่า ในพระนครสาวัตถี มีกุลบุตรผู้หนึ่งเห็นโทษในกามทั้งหลาย จึงบวชในสำนักพระผู้มีพระภาค ซึ่งไม่นานท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

    ต่อมาเมื่อมารดาของท่านสิ้นชีวิตลง ภิกษุนั้นจึงให้บิดาและน้องชายบวช และให้อยู่ในพระวิหารเชตวัน ในวันใกล้พรรษา ภิกษุทั้ง ๓ รูปได้ไปจำพรรษาอยู่ที่อาวาสที่หมู่บ้านหนึ่งที่มีปัจจัยหาง่ายสะดวก เมื่อออกพรรษาแล้วจะกลับไปยัง พระวิหารเชตวันตามเดิม ภิกษุหนุ่มได้สั่งสามเณรผู้น้อง ให้ภิกษุผู้เป็นพระแก่พักก่อนแล้วค่อยพามา ส่วนตัวท่านจะล่วงหน้าไปจัดเตรียมที่พักที่พระวิหารเชตวันก่อน

    พระเถระแก่ค่อยๆ เดินมา สามเณรก็ทำราวกับว่า เอาศีรษะรุนพระเถระแก่ อยู่บ่อยๆ ให้เดินไปๆ พระเถระก็หวนกลับไปตั้งต้นเดินใหม่ เป็นอย่างนี้จน พระอาทิตย์ตก กว่าจะไปถึงพระเชตวันก็มืดแล้ว

    ภิกษุหนุ่มผู้พี่คอยอยู่จนค่ำ ได้ถือคบเพลิงไปคอยรับ เมื่อถามถึงเหตุที่มาช้า ภิกษุแก่ผู้เป็นบิดาก็ได้เล่าให้ฟัง วันนั้นภิกษุหนุ่มรูปนั้นไม่ได้อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาค

    วันรุ่งขึ้นเมื่อภิกษุนั้นได้ไปยังที่อุปัฏฐาก เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า ภิกษุนั้นมาถึงเมื่อวันก่อน แต่ไม่ได้มากระทำพุทธอุปัฏฐากเพราะเหตุนั้น พระองค์จึงทรงติเตียนภิกษุแก่ และตรัสเล่าว่า แม้ในชาติก่อนๆ ภิกษุแก่นั้นก็ได้ทำอย่างนั้น

    ท่านผู้ฟังมีความเห็นว่าอย่างไร ใครถูกติ ไม่ใช่สามเณรที่เป็นลูกคนเล็ก แต่ภิกษุแก่ผู้เป็นบิดาถูกติ คิดดู ความอดทนควรจะเป็นของใคร

    โดยสมัยนั้น (คือ สมัยก่อน ในชาติก่อนๆ โน้น) พระผู้มีพระภาคทรงเป็น พระโพธิสัตว์ บวชเป็นฤๅษีในหิมวันตประเทศ ภิกษุแก่รูปนั้นในชาตินั้นได้เป็นบิดา ของพระโพธิสัตว์ และมีพฤติกรรมคล้ายกับชาตินี้ คือ ในฤดูฝนก็ออกจาก หิมวันตประเทศไปสู่ชายแดนเมือง และกลับไปสู่หิมวันตประเทศเมื่อมีผลไม้บริบูรณ์ ในหิมวันตประเทศนั้น

    ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์ให้ดาบสทั้ง ๒ เก็บบริขารแล้ว ให้บิดาอาบน้ำ ทำการ ล้างเท้า ทาเท้า และนวดหลัง ตั้งกระเบื้องถ่านไฟ แล้วเข้าไปนั่งใกล้บิดาผู้ระงับความอิดโรยแล้ว จึงกล่าวว่า

    ข้าแต่ท่านบิดา ธรรมดาเด็กหนุ่มทั้งหลายเช่นกับภาชนะดิน ย่อมแตกได้โดยครู่เดียวเท่านั้น

    คือ ไม่มีความอดทนเลย พวกคนหนุ่มๆ ทั้งหลายจะเห็นได้ว่า เป็นวัยซึ่งขาดความอดทน

    ตั้งแต่เวลาที่แตกครั้งเดียว ย่อมไม่อาจต่อกันได้อีก เด็กหนุ่มเหล่านั้นด่าอยู่ก็ดี บริภาษอยู่ก็ดี ผู้ใหญ่ควรจะอดทน เมื่อจะโอวาทบิดา จึงกล่าวคาถาเหล่านี้ว่า

    ข้าแต่ท่านกัสสปะ เด็กหนุ่มจะด่า แช่ง หรือจะตีก็ตาม ด้วยความเป็น เด็กหนุ่ม บัณฑิตผู้มีปัญญาย่อมอดทนความผิดที่พวกเด็กทำแล้วทั้งหมดนั้นได้

    อยากจะเป็นผู้ใหญ่ หรืออยากจะเป็นเด็ก ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็ต้องเป็นผู้ที่อดทนต่อการกระทำของเด็กหนุ่มทั้งหลาย

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ถ้าแม้สัตบุรุษทั้งหลายวิวาทกัน ก็กลับเชื่อมกันได้สนิทโดยเร็ว ส่วนคนพาลทั้งหลายย่อมแตกกันเหมือนภาชนะดิน เขาย่อมไม่ถึงความสงบเวรกันได้เลย

    ถ้าจะดับกิเลส อยากจะรู้แจ้งอริยสัจจ์ อยากจะประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม แต่ไม่พิจารณาธรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นการขัดเกลากิเลสให้เป็น ผู้ที่มีความอดทน จะถึงไหม แม้เพียงข้อความที่พระโพธิสัตว์กล่าวว่า ถ้าแม้สัตบุรุษทั้งหลายวิวาทกัน ก็กลับเชื่อมกันได้สนิทโดยเร็ว

    ที่จะไม่ให้มีใครโกรธกันเลย ไม่ขัดใจกันเลย เป็นไปได้ไหม แม้ในระหว่างสัตบุรุษก็คงจะมีเหตุการณ์ที่ทำให้ขุ่นข้องหมองใจกันบ้าง แต่ก็กลับเชื่อมกันได้สนิทโดยเร็ว นี่คือผู้ที่เป็นบัณฑิต ผู้ที่เห็นว่า แล้วก็ตาย คือ ทุกคนที่เกิดมาจะรักจะชังกันมากสักเท่าไร แล้วก็ตาย ลืมหมดทุกอย่างในชาตินี้ แต่ระหว่างที่ยังไม่ตาย ยังไม่ลืม ก็จำไว้ แต่จะจำโดยฐานะของบัณฑิต หรือจะจำโดยฐานะของคนพาล

    ถ้าโดยฐานะของบัณฑิต แม้ไม่ลืมเรื่องนั้น แต่สามารถอภัยให้ได้ และแม้ วิวาทกัน ก็กลับเชื่อมกันได้สนิทโดยเร็ว

    สังเกตดูในระหว่างบัณฑิต มีการอภัยให้กัน มีการเป็นมิตรสหายกันอีกได้ มีการเกื้อกูลกันต่อไปได้ นั่นคือผู้ที่เข้าใจธรรม

    ส่วนคนพาลทั้งหลายย่อมแตกกันเหมือนภาชนะดิน เขาย่อมไม่ถึงความสงบเวรกันได้เลย

    แม้แต่เพียงธรรมสั้นๆ ก็เป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่จะขัดเกลากิเลส

    ข้อความต่อไป พระโพธิสัตว์กล่าวว่า

    ผู้ใดรู้โทษที่ตนล่วงเกินแล้ว และรู้การแสดงโทษ คนทั้งสองนั้นย่อม พร้อมเพรียงกันยิ่งขึ้น ความสนิทสนมของเขาย่อมไม่เสื่อมคลาย

    ต้องรู้จักโทษที่ตนเองล่วงเกินคนอื่น และรู้การแสดงโทษ คือ ไม่ใช่เพียงแต่รู้ แต่ไม่แสดงโทษ ถ้ารู้แล้วไม่แสดงโทษจะสังเกตได้ว่า ใจยังขุ่นข้อง บางครั้งอาจจะ นึกถึงและยังมีความขุ่นข้องอยู่แม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ แต่ถ้าผู้ใดที่ล่วงเกินแล้ว และแสดงโทษแล้ว คนทั้งสองนั้นย่อมพร้อมเพรียงกันยิ่งขึ้น หมดเรื่อง เข้าใจกันชัดเจน ไม่มีปัญหาอะไรอีก ความสนิทสนมของเขาย่อมไม่เสื่อมคลาย

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ผู้ใดเมื่อคนเหล่าอื่นล่วงเกินแล้ว ตนเองสามารถเชื่อมให้สนิทสนมได้ ผู้นั้นแลชื่อว่าเป็นผู้ประเสริฐยิ่ง เป็นผู้นำภาระไป เป็นผู้ทรงธุระไว้

    หมายความว่า ถ้าบุคคลอื่นล่วงเกิน และตนสามารถเชื่อมให้สนิทสนมได้ ผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้ประเสริฐยิ่ง

    ไม่ว่าใครก็ตามที่มีเรื่องที่ขุ่นเคืองใจต่อกัน ห่างเหินกัน หรือไม่สนิทสนมกัน แต่บุคคลนั้นสามารถเชื่อมให้สนิทได้ ผู้นั้นแลชื่อว่าเป็นผู้ประเสริฐยิ่ง เป็นผู้นำภาระไป เป็นผู้ทรงธุระไว้

    ท่านผู้ฟังเห็นไหมว่า ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาจริงๆ จึงจะสามารถพิจารณาเห็นประโยชน์ที่แท้จริงว่าควรจะเป็นอย่างไร แต่ถ้าเป็นผู้ที่ทรามปัญญา แม้พระโพธิสัตว์ จะกล่าวว่าอย่างนี้ หรือพระผู้มีพระภาคจะตรัสว่าอย่างไร บุคคลนั้นก็เห็นตรงกันข้าม หรือยังไม่อาจที่จะคล้อยตามว่า ควรที่จะกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    ผู้ใดเมื่อคนอื่นล่วงเกิน คือ ถูกโทษครอบงำ กระทำความผิด เมื่อคนเหล่านั้นแม้ไม่ขอขมาโทษ ตนเองสามารถทำความสนิทสนม คือ เชื่อมมิตรภาพอย่างนี้ว่า ท่านมาเถิด จงเรียนอุเทศ จงฟังอรรถกถา จงหมั่นประกอบภาวนา เพราะเหตุไร ท่านถึงเหินห่าง ผู้นี้คือผู้เห็นปานนี้ เป็นผู้มีปกติอยู่ด้วยเมตตา เป็นผู้ประเสริฐยิ่ง ย่อมถึงการนับว่า ผู้นำภาระ และว่า ผู้ทรงธุระไว้ เพราะนำภาระและธุระของมิตรไป

    ใครจะเป็นเพื่อนที่แท้จริง พิจารณาดู ทุกคนอยากมีเพื่อนแท้ แต่ขณะเดียวกันท่านก็เป็นเพื่อนแท้ของคนอื่น ซึ่งท่านจะมีธุระของเพื่อนแท้ คือ สิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่กระทำเพื่อความไม่ขุ่นเคือง ไม่ขุ่นข้อง และท่านทำ ไม่ใช่ทอดธุระ ไม่ใช่ว่า ไม่ใช่ธุระอะไรของท่าน นั่นคือผู้ที่ประเสริฐ

    พระโพธิสัตว์ได้ให้โอวาทแก่ดาบสบิดาอย่างนี้

    จำเดิมแต่นั้น ดาบสผู้บิดาก็ได้เป็นผู้ฝึกตน ทรมานตนได้ดีแล้ว

    แต่เฉพาะชาตินั้น ใช่ไหม เพราะในชาตินี้ท่านก็กลับทำอย่างเดิม คือ เมื่อบุตรของท่านเอาศีรษะรุนหลัง ท่านก็โกรธ ไม่อดทน และท่านก็กลับไปตั้งต้นใหม่ เดินใหม่ กว่าจะถึงพระเชตวันก็มืดค่ำ

    แสดงให้เห็นว่า ไม่มีใครสามารถบังคับธรรมได้เลย ไม่ว่าอกุศลธรรมหรือ กุศลธรรม บางกาลกุศลธรรมก็มีปัจจัยที่จะเกิดมาก บางกาลอกุศลที่ยังไม่ได้ดับ ก็มีปัจจัยที่จะเกิด เพราะฉะนั้น แม้ว่าในชาติหนึ่งจะเป็นผู้ที่ได้พยายามอบรมตน ฝึกตน ขัดเกลากิเลส แต่เมื่อกิเลสยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท ยังมีเชื้อที่จะทำให้เกิดขึ้น ก็ทำให้มีการกระทำซึ่งเป็นไปตามกำลังของกิเลสนั้นๆ

    ถ. บิดาของพระโพธิสัตว์ในชาตินั้น ได้ฟังคำสอนจากพระโพธิสัตว์ ก็แทบจะไม่เกิดประโยชน์อะไร

    สุ. ท่านก็ฝึกตน ทรมานตนได้ดีในชาตินั้น

    ถ. เกิดในชาตินี้ อุปนิสสยปัจจัยก็เกิดขึ้นอีก แต่ก็ต้องได้ประโยชน์ ทีละชาติๆ ทีละเล็กทีละน้อย

    สุ. ในขณะที่กุศลค่อยๆ สะสมเพิ่มพูนขึ้นทีละน้อย อกุศลที่ยังไม่ได้ดับ ก็ยังมีปัจจัยที่จะเกิด เพราะฉะนั้น ผู้ที่กำลังขัดเกลากิเลสจึงเห็นกิเลส และขัดเกลากิเลส และก็เห็นกิเลส และก็ขัดเกลากิเลส จะต้องเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ

    อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งคงเป็นประโยชน์ที่จะได้เห็นความรู้สึกของผู้ที่ได้สะสมปัญญามามาก

    อรรถกถาชาดก จตุกกนิบาตชาดก อนนุโสจิยชาดก มีข้อความว่า

    นางสัมมิลลหาสินีผู้เจริญ ได้ไปอยู่ในระหว่างพวกสัตว์ที่ตายไปแล้วเป็น จำนวนมาก เมื่อนางไปอยู่กับสัตว์เหล่านั้น จักชื่อได้ว่าเป็นอะไรกับเรา เพราะฉะนั้น เราจึงมิได้เศร้าโศกถึงนางสัมมิลลหาสินีที่รักนี้

    ถ้าบุคคลจะพึงเศร้าโศกถึงความตาย อันจะไม่เกิดมีแก่สัตว์ผู้เศร้าโศกนั้น ก็ควรจะเศร้าโศกถึงตน ซึ่งจะต้องตกไปอยู่ในอำนาจของมัจจุราชทุกเมื่อ

    อายุสังขารหาได้เป็นไปตามเฉพาะสัตว์ที่ยืน นั่ง นอน หรือเดินอยู่เท่านั้น ก็หาไม่ วัยย่อมเสื่อมไปทุกขณะที่ยังหลับตาและลืมตาอยู่ เมื่อวัยเสื่อมไปอย่างนั้นหนอ ในตนซึ่งเป็นทางอันตรายนั้นหนอ ต้องมีความพลัดพรากจากกันโดย ไม่ต้องสงสัย หมู่สัตว์ที่ยังเหลืออยู่ควรมีเมตตาเอ็นดูกัน ส่วนที่ตายไปแล้วไม่ควรต้องเศร้าโศกถึงกัน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙๓ ตอนที่ ๑๙๒๑ – ๑๙๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 133
    28 ธ.ค. 2564