แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1906


    ครั้งที่ ๑๙๐๖


    สาระสำคัญ

    บารมี ๑๐ - ขันติบารมี

    อกุศลธรรมทั้งหมดไม่อดทน

    ขุ.จริยา. - ขันตินี้เป็นอาวุธไม่เบียดเบียนคนดี


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๓๒


    สำหรับบารมี ๑๐ ที่ได้ทบทวนไปแล้ว คือ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี และวิริยบารมี บารมีต่อไปที่จะขอทบทวน คือ ขันติบารมี ซึ่งความจริงตลอดเวลาแม้แต่กำลังฟังธรรมอยู่ก็ตามจะเห็นได้ว่า ขาดขันติบารมีไม่ได้เลย บางทีอาจจะมีเหตุการณ์บางอย่าง เช่น เสียงดัง บางท่านก็รู้สึกหงุดหงิด ขณะนั้น จะเห็นได้ว่า ขันติบารมีจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวันอยู่ตลอดเวลา ถ้าเข้าใจ เรื่องของการเจริญขันติบารมี

    ขันติ คือ ความอดทน ความอดกลั้น ต่อการที่อกุศลจิตจะเกิด เพราะฉะนั้น ถ้าสติสัมปชัญญะเกิด ขันติบารมีจะละเอียดขึ้น เพราะรู้ตัวว่า ในวันหนึ่งๆ มีอกุศลอะไรบ้าง เช่น ความอดทนที่มีอยู่ในชีวิตประจำวันซึ่งเป็นอธิวาสนขันติ

    อธิวาสนขันติ คือ ความอดทน ความอดกลั้น การยอมรับต่อภาวะแวดล้อม ในที่อยู่อาศัยของสภาพธรรมทุกๆ ขณะ

    ถ้าพิจารณาว่า ต้องอดทนต่ออากาศ ซึ่งทุกคนก็ต้องมีสิ่งแวดล้อม คือ อากาศ ร้อนบ้าง หนาวบ้าง อากาศที่เปลี่ยนแปลง บางคนก็บ่น ขณะนั้นสติสัมปชัญญะ ไม่เกิด ไม่รู้ว่า เพียงแต่บอกว่าร้อนจัง ขณะนั้นก็เป็นอกุศลจิตแล้ว

    เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่สติสัมปชัญญะละเอียด ก็จะรู้กายวาจาที่กระทำใน วันหนึ่งๆ ว่า ในขณะนั้นขาดความอดทนหรือมีความอดทนเพิ่มขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากอากาศก็เป็นเรื่องของอาหาร เนื่องจากอาหารก็มีหลายรส เค็มไป เปรี้ยวไป เผ็ดไป เย็นไป ร้อนไป หรือว่าขม เฝื่อน หวาน ขณะนั้นมีความอดทนเวลาที่ได้ รับกระทบกับรสต่างๆ หรือว่าบ่น หงุดหงิด และเดือดร้อน ในขณะนั้น ถ้าสติสัมปชัญญะเกิดจริงๆ จะรู้ได้ว่า ผู้ที่อบรมขันติบารมีจะทำอย่างไรในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ที่เคยบ่น ขณะที่กำลังจะบ่น บางท่านก็อ้าปากค้าง เพราะว่าสติสัมปชัญญะเกิด ทำให้ไม่บ่น ถ้าท่านผู้ใดยังไม่ได้สังเกตตัวเองว่า เป็นคนที่บ่นมากหรือเปล่า ต่อไปนี้ก็จะ ได้สังเกตอกุศลที่ละเอียดว่ามีมากไหม เพราะว่าตัวท่านเองเท่านั้นที่จะทราบ นอกจากนั้น ยังต้องอดทนต่อการเจ็บไข้ปวดหัวตัวร้อน หรือว่าเมื่อย หิว หรือแม้แต่อิ่มเกินไป ในขณะนั้นก็มีทางที่จะทำให้รู้ได้ว่า มีขันติ ความอดทน มากน้อยเพียงใด

    เพราะฉะนั้น ขันติบารมี คือ ขณะใดที่สติสัมปชัญญะเกิดและรู้ลักษณะ สภาพของจิต และถ้ารู้ว่าเป็นอกุศลก็จะเปลี่ยนเป็นกุศลได้ มีความอดทนเพิ่มขึ้น ที่เคยบ่นก็จะไม่บ่น หรือที่เคยหงุดหงิดก็จะรู้ว่า หงุดหงิดไม่มีประโยชน์เลย ที่มี ความไม่พอใจก็จะรู้ว่า ความไม่พอใจในขณะนั้นเป็นอกุศลที่ไม่เกิดประโยชน์อะไรทั้งสิ้น ก็จะทำให้ผู้ที่สติสัมปชัญญะเกิดสามารถมีขันติบารมีเพิ่มขึ้น

    ถ้ามีท่านผู้ใดบอกว่า สิ่งนั้นไม่สวยเลย อาจจะเป็นคำพูดประจำวัน ขณะนั้น ถ้าพิจารณาจิตทราบไหมว่าเป็นอกุศลจิตแล้ว แม้เพียงขณะที่ไม่พอใจ ขณะที่บอกว่า ไม่สวย ไม่ดี ไม่อร่อย คำพูดธรรมดาๆ ในชีวิตประจำวัน แต่ขณะนั้นจิตเป็นอกุศล เพราะว่าขณะนั้นเป็นความไม่แช่มชื่น

    นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่า ขันติบารมีต้องมีมากจริงๆ ในชีวิตประจำวัน เพราะว่านอกจากจะอดทนกับสภาพสิ่งแวดล้อมที่อาศัย ยังต้องอดทนต่อบุคคล ซึ่งมีอุปนิสัยต่างๆ บางคนเป็นคนที่ทำทุกสิ่งทุกอย่างเร็ว ก็ต้องอดทนต่อคนอื่นที่ล่าช้า หรือคนที่มีอุปนิสัยไม่เหมาะไม่ควร เพราะฉะนั้น ก็จะต้องอดทนต่อความไม่ดี ความไม่เหมาะไม่ควร โดยที่ขณะนั้นจะไม่บ่นว่า แต่สติสัมปชัญญะจะระลึกได้ ที่จะไม่วิจารณ์ ไม่ตำหนิ และขณะนั้นคิดด้วยเมตตาที่จะสอนหรือเกื้อกูลแนะนำ ในโอกาสหรือในกาลที่สมควร

    เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ ขาดขันติบารมีไม่ได้เลย ยังต้องมีขันติบารมี ในเหตุการณ์ต่างๆ อีก เช่น อดทนต่อคำติหรือคำชมจากบุคคลอื่นในการกระทำของเราเอง เพราะว่าแต่ละคนจะทำดีเสมอไปนั้นเป็นไปไม่ได้ บางครั้งก็ทำสิ่งซึ่งไม่ถูก ไม่ควร ไม่ดี เวลาที่มีบุคคลอื่นกล่าววิจารณ์ หรือติชม ผู้นั้นต้องมีขันติที่จะอดทนต่อคำติหรือคำชมของคนอื่นซึ่งมีต่อตน และยังต้องอดทนต่อกรรมหรือการกระทำความชั่วของคนอื่นด้วย

    ท่านผู้ฟังคงจะได้ทราบเรื่องของภัยพิบัติต่างๆ ในประเทศไทย และเกิด ความเมตตาสงสารบุคคลซึ่งได้รับภัยพิบัตินั้นๆ แต่ขอให้คิดให้ละเอียดกว่านั้น ทำไมจะสงสารเพียงเฉพาะตอนที่บุคคลนั้นๆ ได้รับผลของกรรมที่เป็นอกุศลกรรม ที่ได้กระทำแล้ว ทำไมไม่สงสารก่อนหน้านั้น คือ ในขณะที่บุคคลนั้นๆ ทำอกุศลกรรม ทำไมต้องรอจนกระทั่งบุคคลนั้นได้รับผลของอกุศลกรรมแล้วจึงจะสงสาร

    เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียด ก็สงสารตั้งแต่บุคคลหนึ่งบุคคลใดทำอกุศลกรรม ไม่ต้องไปรอจนกระทั่งเขาได้รับภัยพิบัติต่างๆ แล้วจึงเกิดความเมตตาสงสาร แต่สงสารตั้งแต่เริ่มที่บุคคลนั้นทำเหตุ คือ อกุศลกรรม เพราะว่าคนที่ ทำอกุศลกรรมเป็นหนี้ความทุกข์ยากลำบากจากกรรมของตน ซึ่งวันหนึ่งวันใดต้องได้รับผลของกรรมนั้น

    นอกจากนั้น ถ้าจะพิจารณาขันติ ความอดทน ก็เป็นมารยาทสากล ซึ่งทุกคนต้องชื่นชมคนที่มีความอดทน เช่น ในการเดินทางร่วมกัน ก็ต้องมีอุปสรรคตั้งแต่ เรื่องของที่นั่ง ที่พัก เรื่องของยานพาหนะ เรื่องเวลานัดหมายต่างๆ เพราะฉะนั้น คนที่ไม่บ่นและไม่กล่าวคำตำหนิใดๆ เลย แต่มีความเห็นใจ มีความเข้าใจ ช่วยเหลือคนอื่น ขณะนั้นก็ต้องเป็นที่นิยม เป็นที่สรรเสริญของบุคคลอื่น เพราะทุกท่านก็คงจะทราบว่า อกุศลธรรมทั้งหมดไม่อดทน อกุศลธรรมทั้งหลาย ทั้งโลภะ ทั้งโทสะ อดทนไม่ได้ เพราะฉะนั้น เฉพาะโสภณเจตสิก สภาพของเจตสิกที่ดีงามเท่านั้นที่อดทน

    เวลาเห็นใครที่ดีพร้อม ไม่ว่ากาย วาจา ใจ ก็ทราบได้ว่า เป็นผู้ที่อดทนต่อเหตุการณ์ต่างๆ ได้ เพราะโสภณเจตสิกของบุคคลนั้นเจริญแล้วนั่นเอง ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพของโสภณเจตสิกที่เจริญขึ้นเมื่อกุศลจิตเกิด และเวลาที่ขาดความอดทน ก็เป็นอกุศลนั่นเองซึ่งอดทนไม่ได้

    นอกจากนั้น ถ้าจะพิจารณาให้ละเอียดอีก เป็นชีวิตประจำวันของท่านเอง คือควรจะมีความอดทนแม้แต่การไม่พูดในเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ มีเรื่องหลายเรื่อง ซึ่งก็น่าจะบอกเล่าให้คนอื่นทราบ แต่ควรพิจารณาก่อนว่า เรื่องนั้นเป็นประโยชน์ไหม ถ้าไม่เป็นประโยชน์ มีความอดทนอดกลั้นที่จะไม่เล่าในขณะนั้นไหม เพราะเห็นแล้วว่าไม่เป็นประโยชน์แก่ใครทั้งสิ้น

    ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของสติสัมปชัญญะซึ่งทุกท่านก็จะพิจารณาสังเกตได้ว่า มีเพิ่มขึ้นมากไหม

    ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวัน อย่างการฟังธรรม มีสิ่งที่ทำให้ขาดขันติบ่อย หลังๆ ผมจึงใช้วิธีใหม่ คือ ผมโยนิโสมนสิการถูกต้องว่า นี่คือวิบากของเรา แทนที่เราจะได้ฟังธรรมต่อไป ก็มีอะไรมาให้สะดุดๆ เราคงเคยทำกรรมอะไรไว้กับใคร แม้ฟังธรรมก็ยังต้องมีสะดุดกันอยู่ นี่ยกตัวอย่างให้ฟัง ต้องใช้ขันติในชีวิตประจำวัน สุ. ต่อไปก็คงจะขอบคุณที่ช่วยทำให้ขันติของท่านผู้ฟังเจริญขึ้น จากการ ไม่มีขันติ จนกระทั่งค่อยๆ พิจารณา และก็เพิ่มขันติขึ้น

    ขุททกนิกาย จริยาปิฎก ปกิณณกกถา มีข้อความว่า

    อนึ่ง ชื่อว่าขันตินี้ เป็นอาวุธไม่เบียดเบียนคนดี ในเพราะสมบูรณ์ด้วยคุณสมบัติ เพราะกำจัดความโกรธอันเป็นปฏิปักษ์ต่อคุณธรรมไม่มีส่วนเหลือ เป็นเครื่องประดับของผู้สามารถครอบงำผู้อื่นได้ เป็นพลสัมปทาของสมณพราหมณ์ เป็นสายน้ำกำจัดไฟคือความโกรธ เป็นเครื่องชี้ถึงความเกิดแห่งกิตติศัพท์อันดีงาม เป็นมนต์และยาวิเศษระงับพิษคำพูดของคนชั่ว เป็นปกติของผู้มีปัญญายอดเยี่ยมของ ผู้ตั้งอยู่ในสังวร เป็นสาครเพราะอาศัยความลึกซึ้ง เป็นฝั่งของมหาสาครคือโทสะ เป็นบานประตูปิดประตูอบาย เป็นบันไดขึ้นสู่เทวโลกและพรหมโลก เป็นภูมิที่อยู่ของคุณทั้งปวง เป็นความบริสุทธิ์กาย วาจา และใจ อย่างสูงสุด พึงมนสิการด้วยประการฉะนี้

    ฟังแล้วก็เห็นจริง คือ อนึ่ง ชื่อว่าขันตินี้ เป็นอาวุธไม่เบียดเบียนคนดี คือทำลายอกุศล คนดีเมื่อมีขันติแล้วจะไม่มีความเดือดร้อนใจ เพราะฉะนั้น ขันติ เป็นอาวุธที่ไม่เบียดเบียนคนดี เพราะว่า สมบูรณ์ด้วยคุณสมบัติ เพราะกำจัดความโกรธอันเป็นปฏิปักษ์ต่อคุณธรรมไม่มีส่วนเหลือ

    ถ้าสามารถอดทนได้ในขณะนั้น โทสะก็ไม่เกิด วาจาที่ไม่ดีก็ไม่มี แม้เพียง เล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่มี ไม่ต้องกล่าวถึงวาจาที่รุนแรง เพราะแม้แต่เพียงคำเล็กน้อยที่ เกิดจากใจที่โกรธก็ไม่มี

    เป็นเครื่องประดับของผู้สามารถครอบงำผู้อื่นได้

    หลายท่านสนใจเครื่องประดับ แต่ลืมว่า ถึงแม้จะประดับเครื่องประดับสวยงามสักเท่าไร ถ้ากายวาจาไม่ดี ไม่สวยเลย แม้ว่าเครื่องประดับจะสวย ตรงกันข้าม ความไม่โกรธหรือขันติ เป็นเครื่องประดับของผู้สามารถครอบงำผู้อื่นได้ ไม่ต้องมีเครื่องประดับ ก็ยังงามกว่าผู้ที่มีเครื่องประดับแต่ไม่มีขันติ เพราะกาย วาจา ไม่งาม

    เป็นพลสัมปทาของสมณพราหมณ์

    เป็นการถึงพร้อมด้วยกำลังของผู้สงบ คนที่สงบไม่ต้องมีเรื่องวุ่นวายกับใครทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ความสงบจากอกุศล เป็นพลสัมปทาของสมณพราหมณ์

    เป็นสายน้ำกำจัดไฟคือความโกรธ

    ถ้าจะโกรธ แต่มีขันติบารมีรู้ว่าไม่โกรธจะดีกว่า ขณะนั้นจะทำให้เพิ่มความ อดกลั้นต่ออกุศลต่างๆ ได้สะดวกขึ้น เพิ่มขึ้น ง่ายขึ้น จนกระทั่งเป็นอุปนิสัย

    เป็นเครื่องชี้ถึงความเกิดแห่งกิตติศัพท์อันดีงาม เป็นมนต์และยาวิเศษระงับ พิษคำพูดของคนชั่ว

    เวลาที่เกิดโกรธและพูดคำที่ไม่ดี ลืมแล้วใช่ไหมว่า ใครไม่ดีในขณะที่พูดไม่ดี ก็คือตัวเอง ตนเองเท่านั้นที่เป็นคนชั่ว ใครที่พูดชั่ว คนนั้นคือคนชั่ว เพราะฉะนั้น ขันติ เป็นมนต์และยาวิเศษระงับพิษคำพูดของคนชั่ว

    . คนที่อยู่ร่วมด้วยไม่ค่อยถูกกัน เราก็พยายามอดทนทำดีกับเขา แต่เรา ก็พยายามหาทางย้ายบ้านด้วย อย่างนี้ถือว่าอดทนไหม

    สุ. ค่อยๆ อดทนไปทีละเล็กทีละน้อย ทีหลังก็จะเป็นผู้ที่มีความอดทนเพิ่มขึ้น อดทนนี่ดีไหม . … (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. แต่ถ้าอดทนได้ ดีไหม ต้องคิดถึงประโยชน์ก่อน ก่อนที่จะทำสิ่งหนึ่ง สิ่งใด เราต้องพิจารณาประโยชน์ของสิ่งนั้น เมื่อเห็นว่าเป็นประโยชน์ จึงจะทำให้เราค่อยๆ เพิ่มความอดทนขึ้น

    . เวลาไปเล่าให้คนอื่นฟัง เขาก็บอกว่า ถ้าเป็นเขามีเรื่องแล้ว แต่ถ้า เราหาทางย้ายไปอยู่ที่อื่น จะหมายถึงว่าอดทนน้อยลงหรือเปล่า

    สุ. เป็นเรื่องชีวิตของแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็เป็นการพิจารณาแล้วว่าเป็นสิ่งที่ควรก็ทำได้

    ข้อความต่อไป

    เป็นปกติของผู้มีปัญญายอดเยี่ยมของผู้ตั้งอยู่ในสังวร

    ทุกท่านอยากจะมีปัญญา แต่ไม่อยากจะอดทน เพราะฉะนั้น ก็ยากที่จะ มีปัญญาได้ เพราะกว่าจะมีปัญญาได้ต้องอดทนมากจริงๆ เช่น อดทนต่อการที่จะ ฟังพระธรรม และพิจารณาความลึกซึ้ง ความละเอียด และประโยชน์ของพระธรรมๆ จริงๆ จนกว่าจะเห็นว่า ควรจะประพฤติปฏิบัติตาม ไม่ใช่เพียงฟัง แต่ เป็นปกติของผู้ มีปัญญายอดเยี่ยม เมื่อต้องการมีปัญญา ก็ต้องเริ่มเป็นผู้ที่อดทน มีขันติบารมี

    เป็นสาครเพราะอาศัยความลึกซึ้ง

    ขันติเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งจริงๆ เพราะว่าอกุศลเกิดบ่อยกว่ากุศล เพราะฉะนั้น ยิ่งสติสัมปชัญญะเกิดเห็นว่าขณะใดเป็นอกุศล และมีความอดทนต่อการที่จะไม่เป็นอกุศลนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นโลภะ โทสะ ความริษยา ความตระหนี่ ความสำคัญตน ขณะนั้นจะเห็นความลึกซึ้งจริงๆ ว่า ถ้าไม่รู้ ไม่สามารถบำเพ็ญขันติบารมีได้

    เพราะฉะนั้น ขันติบารมีและสติสัมปชัญญะจึงเป็นสิ่งทีละเอียดมาก เพราะ จะทำให้อดทนต่ออกุศลต่างๆ ได้

    เป็นฝั่งของมหาสาครคือโทสะ เป็นบานประตูปิดประตูอบาย

    หลายคนกลัวอบายภูมิ ที่ทำกุศลต่างๆ ก็เพราะไม่อยากเกิดในอบายภูมิ แต่ต้องทราบว่า ถ้าจะไม่เกิดในอบายภูมิได้ต้องเป็นผู้ที่อดทน เพราะความอดทน เป็นบานประตูปิดประตูอบาย

    เป็นบันไดขึ้นสู่เทวโลกและพรหมโลก เป็นภูมิที่อยู่ของคุณทั้งปวง เป็นความบริสุทธิ์กาย วาจา และใจ อย่างสูงสุด พึงมนสิการด้วยประการฉะนี้

    คงต้องคิดแล้วคิดอีกว่า จะมีความอดทนเพิ่มขึ้นดีไหม และทุกสถานการณ์ด้วย ถ้าฝึกหัดบ่อยๆ อบรมบ่อยๆ โสภณเจตสิกก็เจริญขึ้นจนกระทั่งเป็นปกติ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า บางท่านเป็นผู้มีอุปนิสัยอดทนมากกว่าคนอื่น และที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะการอบรมนั่นเอง

    ข้อความต่อไปมีว่า

    อีกอย่างหนึ่ง สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้เดือดร้อนในโลกนี้ เพราะไม่มีขันติสมบัติ และเพราะประกอบธรรมอันทำให้เดือดร้อนในโลกหน้า หากว่าทุกข์มีความเสียหายของผู้อื่นเป็นนิมิตเกิดขึ้น อัตภาพอันเป็นเขตของทุกข์นั้น และกรรมอันเป็นพืชของ ทุกข์นั้นปรุงแต่งแล้ว นั่นเป็นเหตุแห่งความเป็นหนี้แห่งทุกข์นั้น เมื่อไม่มีผู้ทำให้เสียหาย ขันติสัมปทาของเราจะเกิดได้อย่างไร

    น่าคิด ใช่ไหม ตามข้อความที่ว่า เมื่อไม่มีผู้ทำให้เสียหาย ขันติสัมปทาของเราจะเกิดได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ถ้าใครทำให้เสียหาย ทำให้เดือดร้อน แทนที่จะโกรธ ก็รู้ว่า เป็นการเพิ่มพูนขันติบารมีให้สมบูรณ์ขึ้น

    แม้หากว่าบัดนี้ผู้นี้ไม่ทำให้เสียหาย ผู้นั้นก็ได้ทำอุปการะแก่เรามาก่อน อีกอย่างหนึ่ง ผู้ไม่ทำให้เสียหายนั่นแหละมีอุปการะ เพราะมีขันติเป็นนิมิต

    ข้อความต่อไปควรพิจารณาที่ว่า

    สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ทั้งหมดเป็นเช่นบุตรของเรา ใครจะโกรธในความผิดที่ บุตรทำได้

    พอที่จะนึกอย่างนั้นได้ไหมว่า คนที่ทำให้โกรธนั้นเหมือนบุตร และจะโกรธบุตรลงไหม ในเมื่อเป็นบุตรของเรา ค่อยๆ พิจารณาก็คงจะเห็นตามความเป็นจริงได้

    ข้อความต่อไป

    ทำความเสียหายด้วยธรรมใด และทำในที่ใด ธรรมเหล่านั้นแม้ทั้งหมดก็ดับไปในขณะนั้นเอง

    เป็นทางที่จะพิจารณาเพื่อให้เกิดขันติ ความอดทน และเป็นกุศลเพิ่มขึ้น คือ ไม่ว่าใครก็ตามที่ทำความเสียหาย ความเดือดร้อนให้ การกระทำของเขานั้นๆ ก็ดับไปในที่นั้นๆ ทำไมเราจึงยังโกรธต่อ ในเมื่อการกระทำนั้นหมดแล้ว จบแล้ว ดับแล้ว ขณะนี้เขาไม่ได้ทำอย่างนั้นแล้ว แต่ยังอุตส่าห์ไปคิดถึงเรื่องเก่าที่เขาทำ เพื่อที่ตนเองจะโกรธต่อไปอีก

    แสดงให้เห็นว่า ถ้ามีการพิจารณาอย่างถูกต้อง อย่างแยบคาย จะพิจารณาได้ว่า ใครก็ตามที่ ทำความเสียหายด้วยธรรมใด และทำในที่ใด ธรรมเหล่านั้น แม้ทั้งหมดก็ดับไปในขณะนั้นเอง

    บัดนี้ใครพึงทำความโกรธแก่ใคร ใครทำผิดแก่ใคร เพราะธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา พิจารณาดังนี้ ควรเพิ่มพูนขันติสัมปทาด้วยประการฉะนี้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙๑ ตอนที่ ๑๙๐๑ – ๑๙๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 133
    28 ธ.ค. 2564