แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1902


    ครั้งที่ ๑๙๐๒


    สาระสำคัญ

    ขุ. ปฏิ. วิปลาสกถา - สัญญาวิปลาสมีกำลังอ่อนกว่าวิปลาสทั้งหมด

    สัทธัมมปกาสินี ขุ. ปฏิ. วิปลาสกถา - สัญญาจะวิปลาส ในขณะที่เป็นอกุศล


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๓๒


    สุ. อย่างที่ได้เรียนให้ทราบแล้วว่า นามธรรมเกิดดับรวดเร็วเหลือเกิน เหมือนอยู่ในความมืด ซึ่งไม่มีใครสามารถไปหยิบ ไปจับ ไปนำลักษณะของสภาพนามธรรมที่เกิดดับอย่างรวดเร็วนั้นมาให้ประจักษ์แจ้งได้ ถ้าไม่ค่อยๆ อบรม เจริญสติปัฏฐานให้เกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังฟังเรื่องของสภาพธรรม ในขณะที่เข้าใจ เป็นการเริ่มต้นละวิปลาสหรือเปล่า

    วิปลาสมีในขณะที่อกุศลจิตเกิด เห็นสัตว์เลี้ยง สัญญาวิปลาสก็จำเรื่องราว และวิปลาสไปด้วยจิตที่ประกอบด้วยโลภะ ขณะนั้นเป็นวิปลาส แต่เมื่อเปรียบเทียบกับขณะนี้ที่กำลังฟังและเริ่มที่จะเข้าใจ เป็นทางที่จะละวิปลาสหรือเปล่า

    ถ้ายังคงมีวิปลาสอยู่มากๆ ไม่มีทางเลย วิปลาสก็ตามไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น จึงต้องแสดงให้เห็นว่า ขณะใดมีวิปลาส และขณะใดไม่มีวิปลาส

    ขณะที่เป็นกุศล ขณะที่โสภณธรรมเกิดขึ้น ไม่มีอวิชชาขึ้นมาปิดบัง ก็ไม่มี สัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาส เพราะในขณะนั้นเป็นเรื่องราวของกุศล ที่แน่นอนคือกุศลที่เป็นไปในเรื่องของปัญญา ความเห็นถูก ซึ่งขณะนั้นก็จะค่อยๆ คลาย ความวิปลาส แต่ถ้ากล่าวถึงกุศลอื่น จะยังให้มีวิปลาสเกิดร่วมด้วยไหม ถ้ายังให้มีวิปลาสเกิดร่วมด้วย ก็คงจะหมดทางตั้งต้น เพราะกว่าปัญญาจะเจริญ ก็เป็น จิรกาลภาวนา ซึ่งจะต้องเจริญกุศลนานาประการทีเดียว ก็ขอฝากท่านผู้ฟังให้พิจารณา รวมทั้งท่านผู้รู้บาลีและอรรถกถาด้วย เพราะว่าการเกิดดับสืบต่อของนามธรรมรวดเร็วเหมือนอยู่ในความมืด วิปลาสเป็นเรื่องต้องละ แม้พระโสดาบันบุคคลซึ่งดับมิจฉาทิฏฐิแล้วก็ยังมีวิปลาส แต่ก็ควรที่จะได้ถามว่า ในขณะไหนสำหรับพระโสดาบันที่ยังมีวิปลาส ในขณะที่เป็นอกุศลหรือในขณะที่เป็นกุศล เพราะพระโสดาบันยังมีสัญญาวิปลาส และจิตตวิปลาส ในขณะที่เกิดความยินดีเพลิดเพลินขึ้นด้วยกำลังของอวิชชา ซึ่งยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท

    สำหรับพระโสดาบันละสัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาสในสภาพ ที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน พระอนาคามี ละสัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาสในสภาพที่ไม่งามว่างาม และพระอรหันต์ ละสัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาสในสภาพที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข

    โลกนี้ทุกข์ทั้งนั้น ไม่มีอะไรที่ยั่งยืนเลย เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ มีการเปลี่ยนแปลง ถ้าเข้าใจอย่างนี้ ถูกหรือผิด ขณะที่แม้แต่คิดอย่างนี้ หรือเข้าใจตามโลกธรรมอย่างนี้ เป็นความเห็นที่ถูกหรือเป็นความเห็นที่ผิด เป็นกุศลจิตหรือเปล่า ถ้าเป็น ขณะนั้น วิปลาสหรือเปล่า

    . ความเห็นอย่างที่อาจารย์ว่า ขณะนั้นเป็นกุศลแน่ แต่ก็เป็นกุศลที่คิดนึกเอาตามเรื่องราว ไม่ใช่เป็นกุศลที่ประจักษ์สภาวธรรมจริงๆ กุศลอย่างนี้จะเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้กุศลอื่นๆ เจริญขึ้นต่อไปหรือเปล่า

    สุ. เป็นความคิดถูกหรือเปล่า

    . เป็นความคิดถูก

    สุ. เป็นความคิดถูก และความคิดถูกนั้นจะเจริญขึ้นหรือเปล่า

    . แต่ก็นานๆ เกิดครั้งหนึ่ง

    สุ. จะนานหรือจะช้า ไม่เป็นไร แต่ความเห็นถูกนั้นจะเจริญขึ้นหรือเปล่า

    . จะเจริญขึ้น

    สุ. ถ้าเจริญขึ้น ก็ละความเห็นที่ว่า สภาพธรรมเที่ยง สภาพธรรมเป็นตัวตน เมื่อความเห็นถูกเจริญขึ้น

    . แต่ก็ยังเป็นการเดา เป็นการคาดคะเนอยู่

    สุ. ทำไมท่านผู้ฟังมาฟังธรรม

    . ก็เพื่อให้เข้าใจ

    สุ. เข้าใจอย่างไร

    . เข้าใจในสภาพธรรมที่ถูกต้อง

    สุ. สภาพธรรมที่ถูกต้องคืออย่างไร

    . ในขณะที่สภาวธรรมปรากฏ ก็ให้รู้ ให้เข้าใจ และให้ประจักษ์ขณะนั้น

    สุ. ทุกคน สิ่งหนึ่งที่รู้แน่นอน คือ ไม่เที่ยง เกิดมาก็เปลี่ยนแปลงตั้งแต่เด็กจนโต และมีทุกข์ มีสุข นี่คือความไม่เที่ยงซึ่งปรากฏเป็นไปตามความเป็นจริง แต่ใครรู้ ขณะที่เป็นอกุศลทั้งหมดไม่มีสัญญาที่จำตามความเป็นจริงเหล่านี้ ทั้งๆ ที่สิ่งเหล่านี้ปรากฏอยู่ตลอดเวลา แม้แต่เพียงรับประทานอาหารที่อร่อย ชั่วครู่เดียวก็เผ็ดจัด เกิดความทุกข์ขึ้นมาแล้วอย่างรวดเร็ว เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้

    แม้ว่าสภาพธรรมจริงๆ เป็นอย่างนั้น แต่เมื่อสัญญาจำไม่ถูก สัญญาก็จำเคลื่อนไปเป็นบัญญัติเรื่องราวต่างๆ ไป เพราะฉะนั้น ขณะใดที่สัญญาเกิดจำได้ ในเรื่องของสภาพธรรมที่ไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยง ในสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนว่าไม่ใช่ตัวตน แม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ ขณะนั้นก็เป็นกุศล แล้วแต่ว่าจะเจริญขึ้นหรือ ไม่เจริญขึ้น

    . เป็นปัจจัยได้ ใช่ไหม

    สุ. เป็นปัจจัยได้ แต่จะช้าหรือจะเร็ว เพราะไม่ใช่มีแต่ความคิดอย่างนี้เท่านั้นที่เป็นปัจจัย โลภะในวันหนึ่งๆ ก็เป็นปัจจัย โทสะก็เป็นปัจจัย สภาพธรรม ทั้งที่เป็นฝ่ายโสภณและอโสภณก็เป็นปัจจัยทั้งนั้น

    เพราะฉะนั้น ถ้าวันหนึ่งๆ คิดอย่างนี้บ่อยๆ ที่ถามว่าจะเจริญขึ้นไหม เร็วไหม ก็ต้องแล้วแต่ว่า จะมีสัญญาที่ไม่วิปลาสบ่อยๆ หรือเปล่า

    . ทั้งๆ ที่คิด อย่างไปงานศพก็คิดอยู่แล้วว่า คนเราทุกคนต้องตาย ก็ตายให้เห็นอยู่ต่อหน้า ขณะที่นึกอย่างนี้ ก็มีความคิดอีกอย่างหนึ่งว่า คนอื่นตายแล้ว แต่เรายังไม่ตาย ยังคิดค้านกันอยู่ในตัวอย่างนี้ แสดงว่าขณะที่เราคิดว่าเรายังไม่ตาย ก็ยังประมาทอยู่ ยังเป็นความคิดที่ผิดอยู่ ทั้งๆ ที่รู้ว่าคนนั้นตายแล้ว และเราก็มา งานศพเขา มาเผาเขา เขาตายแน่ๆ เราเองก็ต้องตาย แต่ก็ยังนึกว่า วันนี้เรายัง ไม่ตาย ยังคิดอย่างนี้อยู่ คือ ยังดื้ออยู่ เชื่อน่ะเชื่อ แต่เชื่อแบบห่างๆ หรือเชื่อแบบเดาๆ คาดคะเนเอา ยังไม่กระชับให้แน่นอนลงไปว่าต้องเป็นอย่างนั้นจริงๆ เป็นความเชื่อที่ยังเป็นเรื่องราวอยู่

    สุ. กุศลจิตเกิดแทรกสลับกับอกุศลจิตได้ เพราะว่าวันหนึ่งๆ อกุศลมาก และนานๆ จะมีคนตายที่จะทำให้เกิดคิดอย่างนี้ขึ้น และในชั่วขณะที่กำลังคิด ถ้าคิดถูกตามความเป็นจริงด้วยกุศลจิต คือ ในขณะนั้นไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีความผูกโกรธ ไม่มีอกุศลธรรมใดๆ ขณะนั้นสงบ และการคิดอย่างนั้นในขณะนั้น เป็นสัญญาวิปลาสหรือเปล่า

    . ไม่เป็น

    สุ. ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเปล่า

    . เป็น แต่ปกติกุศลไม่เกิด เกิดน้อยเหลือเกิน

    สุ. ต้องฟังพระธรรมมากๆ ต้องฟังพระธรรมอยู่เรื่อยๆ

    . ขนาดเปิดเทปฟังอยู่ตลอด อกุศลก็ยังเกิด

    สุ. นี่เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์มาก คือ สภาพธรรมก็มีแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรม คือ จิต เจตสิก รูป และเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับอย่างรวดเร็วตลอดเวลา แต่ก็มืดสนิท ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด

    ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค อรรถกถาวิปัลลาสกถา มีข้อความว่า

    สัญญาวิปลาสมีกำลังอ่อนกว่าวิปลาสทั้งหมด

    แสดงให้เห็นถึงกิจของสัญญาว่า ไม่ได้มีกำลังอะไรมาก เพราะว่าสัญญาจำ แต่เมื่อจำไม่ถูก คือ ไม่จำลักษณะที่ไม่เที่ยงซึ่งกำลังไม่เที่ยงอยู่ เห็นแล้วก็ได้ยิน นี่แสดงถึงความไม่เที่ยง แต่เมื่อสัญญาไม่ได้จำความไม่เที่ยงอย่างนี้ สัญญาจึง เพียงจำวิปลาส มีกำลังอ่อนกว่าวิปลาสทั้งหมด เพราะถ้าเป็นวิปลาสอื่น ก็มี อกุศลธรรมอื่นเกิดขึ้น เช่น เวลาที่มีโลภะในสัตว์เลี้ยงเกิดขึ้น ขณะนั้นอะไรเห็นเด่นชัด อะไรปรากฏพอที่จะรู้ได้ ก็คือ ความพอใจ

    เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ถ้าจะสังเกตดูความพอใจของท่าน ไม่ว่าจะเป็นทางตาในเรื่องราวสีสันวัณณะต่างๆ ทางหูฟังเพลงเพราะๆ หรือเรื่องราวต่างๆ ที่ได้ยิน ทางจมูกที่ได้กลิ่น ทางลิ้นที่ลิ้มรส เรื่องราวของรสนี่มีมาก ขณะที่กำลังคิดไปๆ เรื่องรสว่า จะรับประทานอะไรที่ไหน จะไปเที่ยวไกลๆ รับประทานอะไรบ้าง ถ้าสติเกิดก็รู้ว่า เป็นเพียงการจำเรื่อง ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล สัญญาวิปลาส จึงอ่อน แต่โลภะขณะนั้นปรากฏ เป็นความต้องการที่จะไปที่หนึ่งที่ใด

    แสดงให้เห็นว่า ในบรรดาวิปลาสทั้ง ๓ สัญญาวิปลาสมีกำลังอ่อนกว่า ไม่ว่าจะเกิดเมื่อไรอย่างไรก็ตาม ลักษณะของสภาพธรรมอื่นจะปรากฏมากกว่าลักษณะของสัญญาวิปลาส

    เวลาที่อกุศลจิตเกิด มีความพอใจในสัตว์เลี้ยง โลภะเกิดแล้ว ซึ่งมากกว่าลักษณะของสัญญาวิปลาส

    สัญญาวิปลาสอุปมา ดุจการเห็นกหาปณะของทารกที่ยังไม่รู้เดียงสา

    เวลาที่ทารกเห็นกหาปณะคือเงินก็จะเห็นแต่เพียงลักษณะว่า เป็นเหลี่ยม หรือกลม หรือรี เท่านั้นเอง เด็กเห็น เห็นเท่านั้น นี่คือลักษณะของสัญญา

    ส่วนจิตตวิปลาสมีกำลังมากกว่าสัญญาวิปลาสเพราะว่า

    ชื่อว่าความคิด เพราะถึงแม้การรู้แจ้งลักษณะ ดุจการเห็นกหาปณะของ คนชาวบ้าน

    เมื่อรู้แจ้งลักษณะของกหาปณะก็รู้ว่า นี่เป็นเงินสำหรับใช้ นี่คือสภาพของจิต ที่วิปลาส

    เพราะฉะนั้น เวลาที่สัญญาจำ จิตคิดเรื่องที่สัญญาวิปลาสจำ เป็นความวิปลาสมากกว่าสัญญา เพราะว่าสัญญาเพียงจำคลาดเคลื่อน ไม่ได้จำให้ตรงลักษณะที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แต่เมื่อสัญญาวิปลาสแล้ว สภาพของจิตที่วิปลาส มีกำลังกว่าสัญญาวิปลาส เพราะว่าปรุงแต่งคิดนึกเป็นเรื่องราวตามสัญญาที่วิปลาสทั้งหมด

    ในวันหนึ่งๆ อกุศลจิตเกิดมากเหลือเกิน ไม่ว่าในขณะไหนก็ตามที่ไม่ใช่ ในขณะที่เป็นกุศล ที่กำลังฟังพระธรรม ที่กำลังเข้าใจพระธรรม ที่กำลังคิดเรื่อง พระธรรม ในขณะที่เป็นอกุศลทั้งหมด ขณะนั้นถ้าสติเกิดจะรู้ได้เลยว่า ความวิปลาสของจิตเพราะจำวิปลาสเท่านั้น ไม่มีอย่างอื่นเลย สัญญาวิปลาสจึงเป็นเหตุของจิตที่วิปลาสด้วย

    สำหรับทิฏฐิวิปลาสนั้น เป็นความเห็นผิด เพราะลูบคลำสิ่งที่ยึดถือ แสดงให้เห็นว่า เมื่อสัญญาวิปลาส คือ จำคลาดเคลื่อน ก็เป็นปัจจัยทำให้ทิฏฐิเกิดขึ้น โดยลูบคลำไม่ปล่อยในความคิดที่สัญญาจำคลาดเคลื่อน เป็นความเห็นผิด ที่คลาดเคลื่อนซึ่งมั่นคง ดุจการจับเหล็กด้วยคีมใหญ่ของช่างเหล็ก นั่นคือลักษณะของทิฏฐิวิปลาส

    เพราะฉะนั้น ทิฏฐิวิปลาส สัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส ก็เข้าใจแล้ว เหลือแต่ข้อข้องใจในเรื่องที่กุศลจิตเกิดจะเป็นสัญญาวิปลาสหรือจิตตวิปลาสหรือเปล่า ก็ขอให้ทราบว่า ขณะใดที่มีความเห็นถูก ไม่วิปลาส คือ ในขณะที่เห็นในสภาพที่ ไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยง ในสภาพที่เป็นทุกข์ว่าเป็นทุกข์ ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนว่าไม่ใช่ตัวตน ในสภาพที่ไม่งามว่าไม่งาม แม้เพียงเล็กน้อย

    วันนี้ฟังเรื่องจิต เจตสิก รูปเกิดดับ ในขณะที่ฟังก็พยายามเข้าใจ กลับไปบ้านจะนึกบ้างไหมว่า จิตนี่ไม่เที่ยงเลย เจตสิกก็ไม่เที่ยง เกิดขึ้นและดับไป นึกกันบ้างไหม อาจจะไม่ได้คิดเลย แต่ถ้ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงจากลาภ เป็นเสื่อมลาภ จากยศเป็นเสื่อมยศ จากสุขเป็นทุกข์ และระลึกได้ว่า ไม่เที่ยง ซึ่งในขณะที่เป็นกุศลนั้นก็จะพอสังเกตได้ว่า กุศลอย่างนี้ไม่วิปลาส

    เพราะฉะนั้น ขณะใดที่มีความเห็นถูกอย่างนี้ ขณะนั้นไม่วิปลาส และ ยังเหลืออยู่ว่า กุศลอื่นที่ไม่ได้มีความเห็นถูกอย่างนี้จะมีสัญญาวิปลาสและ จิตตวิปลาสไหม เป็นปัญหาน่าคิด ใช่ไหม สำหรับวิปลาสกถา พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเพื่อให้เห็นความลึกและความเหนียวแน่นของอกุศล ซึ่งแม้ว่าทิฏฐิวิปลาส ดับหมดแล้ว ก็ยังคงมีอกุศล คือ มีจิตตวิปลาสและสัญญาวิปลาส และถ้าจะให้ดับจริงๆ ก็ต้องถึงกับดับทั้งกุศลและอกุศล ไม่ใช่ดับแต่เฉพาะอกุศลเท่านั้น ต้องดับ กุศลด้วย สำหรับพระอนาคามีบุคคล ดับสัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาสที่เห็นว่างามในสิ่งที่ไม่งาม แต่ก็ยังมีอวิชชาเหลืออยู่ เพราะฉะนั้น ยังมีอกุศลจิตเกิดยินดีพอใจ เป็นสุข ยังคิดว่าเป็นสุข ยังสำคัญว่าเป็นสุขเพียงชั่วขณะที่เกิดขึ้นเพราะขณะนั้น ยังละการสะสมของโมหะไม่ได้

    ขอให้คิดถึงสภาพจิตของพระอนาคามีบุคคล ประจักษ์แจ้งการเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม ไม่ใช่เพียงครั้งเดียว ดับกิเลสเป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี และถึงความเป็นพระอนาคามีแล้ว ก็ยังมีวิปลาสในขณะที่ อกุศลจิตเกิด แต่ในขณะที่เป็นกุศล สำหรับพระอนาคามี ขณะนั้นมีวิปลาสไหม ทั้งจิตตวิปลาส และสัญญาวิปลาส

    เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก และคิดพิจารณาไปได้เรื่อยๆ เทียบบุคคลไป สำหรับพวกปุถุชนก็มีทั้งหมดจนกระทั่งไม่สามารถจะแยกออกได้ และก็ยัง ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า กุศลแต่ละขั้นที่เกิดขึ้นนั้นจะต่างหรือจะเหมือนกันกับผู้ที่ เป็นพระอริยบุคคล เพราะว่าความต่างของผู้ที่ไม่ใช่พระอริยบุคคลกับพระอริยบุคคล คือ พระอริยบุคคลดับอกุศลเป็นสมุจเฉท ไม่มีเชื้อของอกุศลที่ดับแล้ว อย่างมิจฉาทิฏฐิไม่เกิดขึ้นอีกเลยกับพระโสดาบัน แต่แม้กระนั้นทำไมยังมีอกุศล ก็เพราะอวิชชาจึงเกิดวิปลาสขึ้น แม้ไม่มีความเห็นผิดแล้ว

    เพราะฉะนั้น เวลากุศลจิตของพระโสดาบันเกิดขึ้น ขณะนั้นมีวิปลาสไหม ท่านยังคงมีแต่เพียงวิปลาสในขณะที่เห็นว่าสุขหรือเห็นว่างามเท่านั้น ซึ่งเป็นเพียงความสำคัญและความคิดที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    พอจะพิจารณาได้ไหม สิ่งใดที่ไม่สามารถรู้ได้ เพราะความเกิดดับอย่างรวดเร็วของจิต ก็จะต้องพิสูจน์ด้วยตัวเอง

    ผู้ฟัง เรื่องวิปลาสคราวก่อนกับคราวนี้ คราวนี้ก็ได้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นมาอีก ผมเชื่ออย่างที่อาจารย์พูด ผมเห็นด้วยว่า การศึกษาในสิ่งที่มืด จะยังสว่างไม่ได้ และที่อาจารย์พูดว่า เราปุถุชนกุศลเกิดขนาดไหนแล้ว ค่อยๆ อบรมกันขึ้นมา ขนาดไหนแล้ว ในเมื่อพระอริยบุคคลเองก็ยังแบ่งกันถึงขนาดนั้น ช่างละเอียดจริงๆ ผมพอเข้าใจ มองเห็นนิดหน่อย แต่ยังไม่มีทางที่จะแตกฉานออกมาได้

    สุ. ข้อคิดประการหนึ่ง คือ ท่านที่คิดว่าท่านมีอวิชชาอยู่ตลอดเวลา ก็คงจะเปรียบเทียบได้กับเรื่องของวิปลาส เพราะว่ามีอวิชชาจริง ยังไม่ได้ดับอวิชชาเป็นสมุจเฉท แต่อวิชชาจะเกิดหรือไม่เกิดก็เช่นเดียวกับวิปลาส เพราะวิปลาสย่อมเกิดเพราะอวิชชา เมื่อดับอวิชชาหมด วิปลาสก็หมด และแม้อวิชชาและทิฏฐิยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท แต่ก็ไม่เกิดในขณะที่กุศลจิตเกิด เพราะฉะนั้น ขณะที่อวิชชาและทิฏฐิ ไม่เกิด จึงไม่เป็นสัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส และทิฏฐิวิปลาส

    สัทธัมมปกาสินี อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค อรรถกถา วิปัลลาสกถา มีข้อความว่า

    สัญญาวิปลาสย่อมปรากฏในกาลแห่งกิจของตนมีกำลังด้วยอกุศลสัญญา ปราศจากทิฏฐิ ในฐานะแห่งกิจของจิตมีกำลังอ่อน

    แสดงไว้ชัดทีเดียวว่า ที่สัญญาจะวิปลาส ก็คือในขณะที่เป็นอกุศล

    จิตตวิปลาสย่อมเป็นไปในกาลแห่งกิจของตนเป็นอกุศลจิตปราศจากทิฏฐิ มีกำลัง

    ทิฏฐิวิปลาสย่อมเป็นไปในจิตอันสัมปยุตต์ด้วยทิฏฐิ

    ถ้าเป็นอย่างนี้ก็คงหมดปัญหา คือ วิปลาสในขณะที่อกุศลจิตเกิด ขณะใด ที่เป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ขณะนั้นสัญญาก็วิปลาส จิตก็วิปลาส ทิฏฐิก็วิปลาส แต่ขณะใดเป็นอกุศลจิตที่ไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นก็เป็นสัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาส เพราะถึงแม้จะดับทิฏฐิเจตสิกเป็นสมุจเฉท แต่ก็ยังมีสัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาสเมื่ออกุศลจิตเกิดเพราะอวิชชา



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙๑ ตอนที่ ๑๙๐๑ – ๑๙๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 133
    28 ธ.ค. 2564