แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1888


    ครั้งที่ ๑๘๘๘


    สาระสำคัญ

    สารัตถปกาสินี อรรถกถา - ปฏิปทา ๒ อย่าง (มิจฉาปฏิปทา หรือ สัมมาปฏิปทา)


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๓ กรกฏาคม ๒๕๓๒


    สารัตถปกาสินี อรรถกถา มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้

    บทว่า มิจฉาปฏิปทัง ความว่า นี้เป็นปฏิปทาไม่นำสัตว์ออกจากทุกข์

    ถามว่า ก็เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีปุญญาภิสังขารบ้าง อเนญชาภิสังขารบ้าง มิใช่หรือ อภิสังขารทั้งสองนั้นเป็นมิจฉาปฏิปทาได้อย่างไร

    เป็นชีวิตประจำวัน แสดงให้เห็นถึงปฏิปทา ข้อประพฤติปฏิบัติ ๒ อย่าง คือ มิจฉาปฏิปทาอย่างหนึ่ง และสัมมาปฏิปทาอย่างหนึ่ง

    ปุญญาภิสังขาร ได้แก่ มหากุศลและรูปาวจรกุศล อเนญชาภิสังขาร ได้แก่ อรูปฌานกุศล เพราะฉะนั้น ถามว่า อภิสังขารทั้งสอง คือ ปุญญาภิสังขาร และ อเนญชาภิสังขาร เป็นมิจาฉาปฏิปทาได้อย่างไร

    คนที่ต้องการบุญกุศล จะทราบได้ว่าขณะนั้นเป็นมิจฉาปฏิปทาหรือเปล่า

    แก้ว่า (คือ อธิบายว่า) เพราะถือวัฏฏะเป็นสำคัญ สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่บุคคลปรารถนาวัฏฏะกล่าวคือภพ ๓ ปฏิบัติ โดยที่สุดอภิญญา ๕ หรือสมาบัติ ๘ สิ่งทั้งหมดเป็นไปในฝ่ายวัฏฏะ จัดเป็นมิจฉาปฏิปทา เพราะถือวัฏฏะเป็นสำคัญ

    สิ่งใดสิ่งหนึ่งอันบุคคลปรารถนาวิวัฏฏะคือพระนิพพาน ปฏิบัติ โดยที่สุดถวายทานเพียงข้าวยาคูกระบวยหนึ่งก็ดี เพียงถวายใบไม้กำมือหนึ่งก็ดี สิ่งทั้งหมดนั้น จัดเป็นสัมมาปฏิบัติโดยแท้ เพราะเป็นฝ่ายวิวัฏฏะ

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ตราบใดที่ยังไม่รู้หนทางเจริญกุศลเพื่อออกจากวัฏฏะ การประพฤติปฏิบัติก็ยังเป็นไปในวัฏฏะอยู่ จึงเป็นมิจฉาปฏิปทา แต่กุศลใดๆ ก็ตาม หรือแม้แต่รูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศล เป็นสัมมาปฏิบัติได้ เมื่อเป็นบาทของสติปัฏฐาน เพราะว่าขณะนั้นเป็นการปฏิบัติฝ่ายวิวัฏฏะ ซึ่งแต่ละท่านก็พิจารณาได้ว่า เมื่อเข้าใจเรื่องของสภาพธรรมแล้ว จุดประสงค์สูงสุด คือ การอบรมเจริญปัญญาเพื่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพื่อออกจากวัฏฏะ โดยที่สุดถวายทานเพียงข้าวยาคู กระบวยหนึ่งก็ดี เพียงถวายใบไม้กำมือหนึ่งก็ดี สิ่งทั้งหมดนั้นจัดเป็นสัมมาปฏิบัติ โดยแท้ เพราะเป็นฝ่ายวิวัฏฏะ

    . เจริญกัมมัฏฐานจนได้สมาบัติ ๘ จนได้อภิญญา แต่ไม่เป็นไปที่จะออกจากสังสารวัฏฏ์ ก็ยังเป็นมิจฉาปฏิปทาอยู่

    สุ. ถูกต้อง

    . ที่ว่าให้ทานแม้ข้าวทัพพีหนึ่ง ใบไม้กำมือหนึ่ง ก็เป็นสัมมาปฏิปทาได้ เป็นอย่างไร

    สุ. เมื่อเป็นไปในฝ่ายวิวัฏฏะ คือ ไม่ได้ต้องการผล ไม่ได้หวังภพภูมิใดๆ ทั้งสิ้น

    . ขณะนั้นสติจะต้องระลึกได้ ใช่ไหม ต้องเป็นสติปัฏฐาน ใช่ไหม

    สุ. บางครั้งสติปัฏฐานก็เกิด บางครั้งสติปัฏฐานก็ไม่เกิด บารมีที่ พระผู้มีพระภาคทรงบำเพ็ญในพระชาติต่างๆ มีทั้งทานบารมี ศีลบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี อุเบกขาบารมี เหล่านี้ ซึ่งหมายความว่าขณะใดที่กุศลนั้นๆ เป็นไปด้วยความปรารถนาที่จะออกจากวัฏฏะ ขณะนั้นก็เป็นสัมมาปฏิบัติ

    อย่างท่านที่ให้ทาน ท่านหวังอะไร ถ้ายังหวังที่จะเกิดในสวรรค์ หรือหวังผลของทานที่จะทำให้เป็นผู้ที่มีลาภ ยศ มีโภคสมบัติ ทรัพย์สมบัติ ขณะนั้นก็เป็นวัฏฏะ เป็นกุศลที่เป็นไปในวัฏฏะ แต่ท่านที่ทำกุศล เจริญกุศลโดยไม่ได้มุ่งหวังสิ่งต่างๆ เหล่านั้น ก็เป็นไปเพื่อการละคลายอกุศล

    . ถ้าทำไปโดยไม่ได้หวังผลตอบแทน แต่ยังไม่เข้าใจหนทางที่จะตัดสังสารวัฏฏ์ ยังจะจัดเป็นสัมมาปฏิปทาอยู่ไหม

    สุ. ในบารมี ๑๐ บารมี ๙ เป็นบริวารของปัญญาบารมี เพราะฉะนั้น ขาดปัญญาบารมีไม่ได้เลย เมื่อมีความรู้ มีความเข้าใจถูกในเรื่องของสภาพธรรม และมีการเจริญกุศลด้วยความที่ไม่ได้ปรารถนาผลของกุศลที่จะให้เป็นไปในสังสารวัฏฏ์ โดยการที่ว่าไม่ได้หวังผล เพราะว่าบางคนทำกุศลแล้วก็อดไม่ได้ที่จะหวังในผลนั้น แต่ผู้ที่ทำกุศลและรู้ว่ากุศลเป็นเหตุที่จะทำให้เกิดผลที่ดี และไม่ได้มีความติดข้อง หวังในผลของกุศลที่เป็นสิ่งที่ดีนั้น ในขณะนั้นก็เท่ากับว่า จิตของผู้นั้นเองมีอธิษฐาน คือ ความตั้งใจมั่นในการที่จะออกจากวัฏฏะ เพราะว่าไม่ได้เป็นผู้ที่ติดในวัฏฏะ

    . แต่ก็ไม่ถึงขั้นที่เป็นสติปัฏฐาน ใช่ไหม

    สุ. ถ้าเป็นขั้นสติปัฏฐาน เป็นการเจริญอินทรีย์เพื่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    . อย่างในชาดก เรื่องพระเวสสันดร ที่ท่านให้ทานทุกอย่างตลอดจนถึงพระราชโอรส พระราชธิดา พระมเหสี ท่านให้ทานไปหมด แต่ขณะนั้นท่านก็ไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ท่านให้มุ่งหวังจะตัดวัฏฏะ หวังให้ได้พระโพธิญาณเพื่อตัดวัฏฏะ ที่ท่องเที่ยวมายาวนานเหลือเกินให้หมดไป แต่ขณะนั้นท่านก็ไม่มีสติปัฏฐาน

    สุ. เป็นความมั่นคงของจิตของพระองค์ในการทำกุศล ไม่ได้ปรารถนาเพื่อวัฏฏะ แม้แต่การเสียสละทานวัตถุนั้น ก็เพื่อมุ่งหวังพระโพธิญาณ

    . แม้ไม่ได้เจริญสติปัฏฐานในขณะนั้น ปฏิปทาที่ทำอย่างนั้นก็ถือว่า เป็นสัมมาปฏิปทา

    สุ. สติปัฏฐานจะเกิดหรือไม่เกิดก็แล้วแต่ แต่ในขณะที่เป็นกุศลประการ ต่างๆ นั้น มีความมั่นคงที่จะไม่ติดข้องในวัฏฏะ เพราะฉะนั้น แต่ละท่านก็จะพิสูจน์หรือว่ารู้จักใจของท่านเองตามความเป็นจริงได้ว่า ยังติดข้องในภพหนึ่งภพใดหรือเปล่า หรือกุศลที่ได้ทำไปแล้วก็ต้องให้ผลที่ดี อกุศลที่ทำไปแล้วก็ต้องให้ผลตามกำลังของอกุศลนั้นๆ และเมื่อยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคลก็ต้องเกิดในอบายภูมิเพราะอกุศล ที่ได้ทำแล้ว หรือจะเกิดในสุคติภูมิเพราะกุศลที่ได้ทำแล้ว ก็เป็นเรื่องของเหตุของปัจจัย แต่ไม่ใช่ท่านเป็นผู้ที่ทำแล้วหวัง

    ยากมาก ใช่ไหม เพราะว่าเกิดดับอย่างรวดเร็ว ซึ่งถ้าไม่ได้พิจารณาโดยละเอียดจะไม่ทราบเลยว่า เป็นผู้ที่มีความมั่นคงในการเจริญบารมีต่างๆ หรือยังคงมีความมุ่งหวังที่เป็นภพหนึ่งภพใดในวัฏฏะ

    . มีปัญหาอยู่ ๓ – ๔ ปัญหาที่จะมาเรียนถามอาจารย์ จะถามอาจารย์ ตรงนี้ดี หรือตอนเลิกแล้วผมจะรบกวนสัก ๑๐ นาที อย่างไหนจะดี

    สุ. ท่านผู้ฟังชอบฟังปัญหาต่างๆ ซึ่งถ้าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์และ ตอบเป็นการส่วนตัว ก็จะทำให้ท่านผู้ฟังท่านอื่นไม่ได้รับประโยชน์นั้นด้วย

    . คือ เกี่ยวกับการรักษาอุโบสถศีล ผมมีชีวิตเกี่ยวข้องกับการรักษาอุโบสถ ขณะที่เราสวดมนต์ก็ดี ผมสงสัยว่า เราควรจะมนสิการอย่างไรในขณะที่ ปากว่าสวดมนต์อยู่หน้าพระพุทธรูป ซึ่งเป็นกิจวัตรของผู้รักษาอุโบสถ จะให้กุศลเกิดขึ้นในสมถ หรือวิปัสสนา ผมยังสงสัยอยู่

    สุ. ต้องทราบว่า ขณะที่สวดมนต์ เป็นการแสดงความนอบน้อมต่อ พระรัตนตรัย โดยการระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ของพระธรรม และของพระอริยสงฆ์

    . ผมไม่ทราบว่า ขณะนั้นเราจะส่งกระแสจิตอย่างไร ขณะที่ปากเราว่าไป เราจะมนสิการอย่างไรในขณะนั้น

    สุ. เป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะ รู้สภาพของจิตในขณะนั้นว่า อ่อนน้อมหรือไม่ในขณะนั้น ในขณะที่สวดมนต์ต้องมีการกราบพระก่อน ในขณะที่กราบมีจิตที่ นอบน้อมหรือว่าเพียงแต่กราบ นี่ก็พอที่จะระลึกได้

    บางวันอาจจะรีบๆ บางวันอาจจะระลึกได้และก็มีความนอบน้อมแม้ด้วยกายคือ ในขณะที่กราบ และขณะที่สวดมนต์ ก็ควรระลึกถึงความหมาย หรือเข้าใจ ในความหมายที่สวดด้วย เพราะในขณะที่กำลังสวด เป็นการกล่าวนอบน้อมต่อ พระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระสงฆ์ด้วยวาจา จิตในขณะนั้นต้องอ่อนน้อมด้วย และระลึกถึงพระคุณด้วย

    . เข้าใจว่าจิตใจในขณะนั้นเป็นอย่างนั้น ผมก็พยายามหาบทสวดที่แปลทุกๆ บท ซึ่งเราจะใช้เวลาสวดมนต์ชั่วโมงหนึ่งที่วัดนั้น ตั้งแต่ทำวัตรไปจนสวดจบ ขั้นแรกที่สวด ก็ตั้งใจนอบน้อมพระคุณพระรัตนตรัย สวดไปผมก็คิดถึงความหมายเรื่อยไป ขณะนั้นจะเป็นวิปัสสนา หรือเป็นสมถะ ผมอยากทราบว่าต่างกันอย่างไร

    สุ. ในขณะที่สวดเป็นการแสดงความนอบน้อมต่อพระผู้มีพระภาค เป็นศีล เป็นการแสดงความเคารพ ความนอบน้อมด้วยกาย ด้วยวาจา จึงเป็นกุศลขั้นศีล และขณะที่จิตสงบ ในขณะที่กำลังนึกถึงพระพุทธคุณ ขณะนั้นต้องมีสติสัมปชัญญะ ที่จะรู้ว่า ขณะนั้นต่างกับขณะอื่นซึ่งเป็นการพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในความสนุกสนาน ในความเพลิดเพลิน ในการคิดนึกเรื่องอื่น เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังระลึกถึงพระคุณและสงบ ขณะนั้นไม่มีอกุศลใดๆ เป็นกุศลขั้นสมถะได้ เพราะว่ามีพระพุทธรัตนะเป็นอารมณ์ เป็นพุทธานุสสติ

    . ขณะที่สวดไป จิตผมก็นึกถึงความหมาย เช่น พระพุทธคุณ และมีความปีติเกิดขึ้นในขณะนั้น จะเป็นสมถะไหม

    สุ. สมถะหมายความว่าอะไร

    . ตามที่ผมศึกษามา หมายความถึงความสงบ

    สุ. สงบจากอกุศล ขณะใดที่จิตเป็นกุศล ขณะนั้นสงบจากอกุศล แต่จิตที่สงบจากอกุศลขั้นทานก็เล็กน้อย ขณะที่วิรัติทุจริตก็เล็กน้อย เพราะฉะนั้น ขณะอื่น ที่ไม่ใช่การให้ทาน ไม่ใช่การวิรัติทุจริต วันหนึ่งๆ ส่วนใหญ่จะเป็นอกุศล ซึ่งผู้มีปัญญาประกอบด้วยสติสัมปชัญญะสามารถรู้ว่า ขณะใดจิตเป็นอกุศล ก็ตรึกระลึกถึงอารมณ์ที่จะทำให้จิตสงบด้วยปัญญาบ่อยๆ เนืองๆ ความสงบก็เพิ่มขึ้นได้ และเมื่อความสงบเพิ่มขึ้นจะสามารถเห็นลักษณะของความสงบว่า ต่างกับขณะที่เป็นอกุศล

    ถ้าเป็นความสงบเล็กๆ น้อยๆ ในขั้นทานบ้าง ศีลบ้าง ไม่พอที่จะปรากฏลักษณะของความสงบจากอกุศลได้ แต่ถ้าไม่ใช่ทาน ไม่ใช่ศีล และระลึกถึงสิ่งที่ทำให้สงบจากอกุศลบ่อยๆ ลักษณะของความสงบก็เพิ่มขึ้น

    . ในขณะนั้นก็รู้ว่า จิตของเราระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า เราก็มีปีติเกิดขึ้น การระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่เป็นอกุศล ใช่ไหม

    สุ. ต้องประกอบด้วยสติสัมปชัญญะที่จะรู้ว่า ขณะนั้นจิตเป็นกุศลหรือ เป็นอกุศล เพราะว่าอกุศลสามารถเกิดสลับอย่างรวดเร็ว

    . แต่ขณะที่เราเลื่อมใสเป็นกุศล ใช่ไหม

    สุ. ขณะที่มีพุทธานุสสติเป็นอารมณ์ ขณะนั้นเป็นกุศล เรื่องวิปัสสนา ไม่สงสัยหรือ เพราะเมื่อกี้สงสัยว่าจะเป็นสมถะหรือเปล่า

    . ถ้าหากเราจะพิจารณาให้เป็นวิปัสสนา อย่างผมนั่งสวดมนต์อยู่ต่อหน้าพระพุทธรูปกับเพื่อนๆ อุบาสกเป็นร้อย เราก็สวดไปด้วยความชำนาญ เราก็รู้สึกว่า ก้นกระทบกับพื้น เรารู้จากการกระทบว่านี่เป็นรูป บางครั้งก็คิดอย่างนี้ บางทีพัดลมเป่ามาถูก เราก็รู้ว่านี่เป็นโผฏฐัพพารมณ์ แต่ผมไม่ทราบว่า เป็นการคิดเอา หรือเป็นการรู้โดยปริยัติ อย่างไรก็ไม่ทราบ

    สุ. ก็ดีที่ใคร่จะทราบความต่างกันของขณะที่เพียงคิดเรื่องธรรม กับขณะที่สติระลึกลักษณะของธรรม ซึ่งก็ต่างกัน

    . อาจารย์ช่วยขยายหน่อย สมมติว่าผมนั่งสวดมนต์ พัดลมเป่ามาถูก คือ โผฏฐัพพารมณ์มาถูก จะเป็นวิปัสสนาอย่างไร

    สุ. วิปัสสนา หมายความถึงปัญญาที่รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ คือรู้ว่าลักษณะของรูปธรรมไม่ใช่ลักษณะของนามธรรม ในขณะนั้นไม่มีเรา มีแต่นามธรรมและรูปธรรม และปัญญาในขณะนั้นสามารถพิจารณารู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมด้วย จึงค่อยๆ ละคลายการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นเรา

    . ผมเดินทางมาไกล มาจากสุพรรณบุรี ผมตั้งใจจะมาฟังอาจารย์ หลายครั้งและหลายปีเต็มที แต่งานของผมวันอาทิตย์ไม่หยุด จึงมาไม่ได้ วันนี้ก็เกือบจะมาไม่ได้ แต่วันนี้ผมชนะ ผมมาฟังอาจารย์ได้

    สุ. ขออนุโมทนาในกุศลจิตและในวิริยะด้วย

    ปฏิสนธิจิตที่ต่างกันก็ทำให้มีความเพียรต่างๆ กัน เช่น วิริยเจตสิกไม่เกิดร่วมกับปฏิสนธิจิตในอบายภูมิ และในกามสุคติภูมิซึ่งเป็นผู้ที่พิการตั้งแต่กำเนิด เพราะว่าจิตที่ทำปฏิสนธิในอบายภูมิ ได้แก่ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก ซึ่งไม่มี วิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย และสำหรับผู้ที่เกิดในสุคติภูมิ เช่น มนุษย์ หรือสวรรค์ชั้นต้นซึ่งพิการตั้งแต่กำเนิด ก็ปฏิสนธิด้วยอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ซึ่งไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย จึงไม่มีปัจจัยทำให้วิริยเจตสิกเกิดขึ้นเป็นไปในทางกุศลได้เท่ากับผู้ที่ ปฏิสนธิจิตมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะว่ากุศลใดๆ จะขาดวิริยะ หรือความเพียรไม่ได้เลย และแม้แต่อกุศลก็ยังขาดวิริยะหรือความเพียรไม่ได้

    สำหรับผู้ที่ปฏิสนธิด้วยจิตที่เป็นมหาวิบากญาณวิปปยุตต์ ไม่มีปัญญาเกิด ร่วมด้วย แต่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย และเมื่อไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็จะเจริญกุศลและปัญญาได้ไม่เท่ากับผู้ที่ปฏิสนธิด้วยมหาวิบากญาณสัมปยุตต์

    และแม้แต่ผู้ที่ปฏิสนธิด้วยมหาวิบากญาณสัมปยุตต์ ก็ยังต้องฟังพระธรรม พิจารณาพระธรรมโดยละเอียดด้วยวิริยะจริงๆ ซึ่งจะเริ่มเป็นบารมีไปตั้งแต่เป็นสัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ วิริยินทรีย์ วิริยพละ โพชฌงค์ มรรค จนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวันของแต่ละท่านจะเห็นได้ว่า ท่านเป็นผู้ที่มีวิริยะในทางกุศลหรือในทางอกุศล และในทางกุศลนั้น เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม หรือยังเป็นกุศลในขั้นอื่น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘๙ ตอนที่ ๑๘๘๑ – ๑๘๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 133
    28 ธ.ค. 2564