แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1938


    ครั้งที่ ๑๙๓๘


    สาระสำคัญ

    จะเลือกรู้ธรรมไหนก่อนไม่ได้

    ปัญญาเกิดจากการได้เคยอบรมมาแล้ว


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๓๓


    ถ. สภาพที่พอใจ จะเป็นฉันทะ หรือเป็นโลภะ

    สุ. ขณะนั้นมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไร และจะรู้อันไหน เลือกได้ไหม รู้ได้ไหม หรืออยากจะรู้ หรือรู้ว่าเป็นนามธรรมหรือรูปธรรมก่อน เพราะทั้งหมดเพื่อละ

    ฆานวิญญาณอยู่ในช่องจมูก ขณะใดที่ได้กลิ่น ขณะนั้นต้องมีรูปกระทบกับฆานปสาท และขณะนั้นก็มีกายปสาทด้วย และมีลมหายใจด้วย มีหลายๆ อย่าง และจะรู้อะไร ถ้าขณะนั้นกลิ่นปรากฏเท่านั้น จะรู้ถึงฉันทะ ความพอใจในกลิ่นนั้นไหม หรือจะรู้ลักษณะของโลภะ หรือจะรู้ลักษณะของอะไร

    เพียงแต่การที่จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นรูป ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล และสภาพที่รู้กลิ่นขณะนั้นมีอย่างเดียวคือรู้กลิ่นเท่านั้น ไม่รู้อย่างอื่นเลย ขณะนั้นอยากจะรู้ฆานปสาทรูปไหม เพราะว่าก็มีฆานปสาทรูปที่นั่น

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ว่า แม้ว่ามี แต่สิ่งใดปรากฏเป็นอารมณ์ และปัญญาสามารถระลึกศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมใด ก็เริ่มรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น จนกว่าความรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจะเพิ่มขึ้น แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องที่สงสัยว่า นี่ฉันทะ หรือนี่โลภะ เพราะว่าความสงสัยเป็นความสงสัย จะไม่เป็นปัญญาเลย และที่ปัญญาจะเกิดจนสามารถรู้ว่านี่เป็นฉันทะ หรือว่านี่เป็นโลภะ ก็ต้องภายหลังจากที่สามารถรู้ลักษณะของนามธรรมที่เป็นกุศลว่าต่างกับนามธรรมที่เป็นอกุศล

    ถ. ถ้าอาจารย์พูดแค่นี้ ผมก็สบายใจ ผมสบายมาเรื่อยเลย จนกระทั่ง คุณณรงค์ถาม และท่านอาจารย์ซัก ผมนั่งนิ่งซึมเศร้า แย่เลย ตอนที่คุณณรงค์ถาม ตอนแรกถามฉันทะก่อน และถามความพอใจ อาจารย์ก็ถามว่า อกุศลมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยกี่ดวง คุณณรงค์ก็ตอบได้ แต่ผมตอบไม่ได้ ผมหมดทางเลย

    สุ. ไม่ต้องนับ

    ถ. ผมต้องการจะทราบ อย่างนั้นผมแย่เลย เปิดตำราไม่ทัน

    สุ. คุณณรงค์ก็ตอบว่า มากกว่า ๗ ดวง ๑๐ ดวง แบบนี้ก็บอกได้

    ถ. แต่ผมบอกไม่ได้ ก็หมดหนทางเลยหรือ

    สุ. มากกว่า ๗ ดวง บอกได้ไหม

    ถ. ผมคิดว่าผมบอกไม่ได้

    สุ. มากกว่า ๗ ดวง แน่นอน เพราะว่าจิตที่มีเจตสิกประกอบเพียง ๗ ดวง ได้แก่ ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวงเท่านั้น นอกจากนั้นแล้วมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากกว่า ๗ ดวง เพราะฉะนั้น รู้แค่ไหน ตอบแค่นั้น

    ถ. รู้เพียงว่า เป็นกุศลหรืออกุศลแค่นั้น

    สุ. มีเจตสิกเกิดมากกว่า ๗ ดวง ค่อยๆ รู้ขึ้น

    ถ. เจตสิกเกิดด้วย ๗ ดวง ตลอดเวลาอยู่แล้ว

    สุ. โลภมูลจิตมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากกว่า ๗ ดวง เท่าไรก็ไปนับเอาเอง แต่มากกว่า ๗ ดวง ก็เป็นคำตอบที่ถูกต้อง

    ถ. หรือเพียงแต่ให้มีสติระลึกรู้ว่า เป็นกุศลหรืออกุศล

    สุ. มิได้ เพื่อที่จะให้คุณณรงค์ได้ทราบว่า ไม่ใช่คุณณรงค์จะไปสามารถรู้ความต่างกันของฉันทะและโลภะ เพราะถ้าคุณณรงค์สามารถรู้ความต่างกันของฉันทะและโลภะ คุณณรงค์ก็สามารถรู้ความต่างกันของผัสสเจตสิก หรือวิตกเจตสิก หรือวิจารเจตสิก เพราะฉะนั้น แล้วแต่อะไรปรากฏ มีสภาพธรรมจริงๆ และสภาพธรรม มีแน่ๆ แต่สภาพธรรมใดจะปรากฏกับใคร นี่สำคัญที่สุด ถ้ากับคนอื่นและเราก็อยากจะเป็นอย่างท่านผู้นั้น ขณะนั้นไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา เพราะปัญญาของใครก็ของคนนั้น ปัญญาของท่านพระสารีบุตร ปัญญาของท่านพระมหาโมคคัลลานะ ปัญญาของท่านพระมหากัสสปะ ปัญญาของท่านพระอานนท์ ก็แต่ละอย่าง

    ถ. เหมือนปัญญาของคุณณรงค์ก็ต่างกับปัญญาของชินวุฒิ สมมติว่า ผมตอบไม่ได้ แต่ผมเอาอย่างนี้ได้ไหม ถ้าเรามีสติเสียอย่าง มีสติระลึกรู้ ก็จะรู้ว่า เป็นกุศลหรืออกุศล แค่นี้พอจะช่วยสักขั้นที่ ๑ อย่างต่ำที่สุด ได้ไหม ไม่ถึงขนาดที่ว่า มองแล้วไม่มีทางไปเลย ต้องอีกแสนกัป อะไรอย่างนี้

    สุ. มีท่านผู้ฟังที่ท่านคงไม่ใช่ขี้เกียจ แต่ท่านอาจจะคิดว่า ท่านปัญญาน้อย ท่านก็บอกว่า ปริยัติยาก เรื่องเจตสิกต่างๆ เหล่านี้ เพราะฉะนั้น ถ้าเพียงรู้ว่า เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรมเท่านั้น พอไหม เมื่อจะเอาแค่พอที่จะรู้ว่าเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ก็ได้ความรู้เพียงที่จะรู้ว่า เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรมเท่านั้น ใช่ไหม

    ถ. ผมนึกว่าไม่เท่านั้น ถ้ารู้จริง ก็เป็นวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๑ ไปแล้ว

    สุ. วิปัสสนาญาณมาจากไหน

    ถ. มาจากมีสติ

    สุ. นี่แข็ง สภาพรู้เป็นนามธรรม แข็งเป็นรูปธรรม แล้วอย่างไร

    ถ. แล้วก็จะได้ละ

    สุ. บอกให้ละ ละอย่างไร จับทั้งวัน

    ถ. เพียงแข็ง ก็ไม่เกิดโลภะต่อของแข็งนั้น

    สุ. แต่ถ้าปัญญาฟังมาก เป็นพหูสูต สามารถรู้ว่า สภาพธรรมนี้เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและมีลักษณะอย่างไรๆ ที่ฟังพระธรรมเทศนาทั้งหมด ชาติก่อนๆ ด้วย ไม่ใช่แต่เฉพาะชาตินี้ เมื่ออบรมมาพอแล้ว เพียงได้ฟังและสติระลึกตรงลักษณะ ของสภาพนามธรรมและรูปธรรม ก็มีบารมีหรือมีอุปกรณ์ที่จะทำให้ละคลายการยึดถือสภาพธรรมในขณะนั้นได้ ซึ่งทุกคนฟังเข้าใจเรื่องนามธรรมและรูปธรรม แต่ทำไม ละไม่ได้

    อีกท่านหนึ่ง สามารถที่จะค่อยๆ รู้ ค่อยๆ ละ หรือบางท่านเพียงฟังคาถา ๔ บท สามารถเป็นถึงพระอรหันต์ได้ หรือบางท่านเป็นพระโสดาบัน ปัญญาเหล่านี้ มาจากไหน กว่าจะทำให้มีการแจ่มแจ้งและละคลายได้ ก็ต้องอาศัยการเป็นผู้ฟัง

    และผู้ฟังชาติก่อนๆ ที่ท่านเคยเป็นบัณฑิต เคยรอบรู้ในพระไตรปิฎก ๗ คัมภีร์มามากมาย เมื่อถึงชาตินี้ก็หายไปหมด แต่มีขณะที่สติระลึก สิ่งที่ว่าหายไป ไม่เกิด ยังมีอยู่ที่จะทำให้สามารถปรุงแต่งเป็นความเข้าใจอย่างเร็วเมื่อได้ฟัง เพราะฉะนั้น แม้แต่การฟังก็จะเห็นได้ว่า บางคนฟังแล้วก็ยังไม่เข้าใจ บางคนฟังแล้ว ก็เข้าใจช้า แต่บางคนฟังแล้วเข้าใจเร็ว และเข้าใจมาก เข้าใจกว้าง เข้าใจได้ทันที มาจากไหน ก็ต้องอาศัยจากการเคยอบรมมาแล้ว

    คุณชินวุฒิก็เป็นผู้ที่มีความรู้มากมายหลายอย่างทางโลก เป็นบัณฑิต เป็นดอกเตอร์ชินวุฒิ ก็ต้องสะสมมาใช่ไหม คนอื่นจะเป็นอย่างคุณชินวุฒิคงไม่ได้ในทางนั้นๆ ถ้าไม่ได้สะสมมาอย่างนั้นๆ ดิฉันก็เป็นไม่ได้ ต้องสะสมมาทั้งนั้น ไม่ว่าใครจะเก่งทางไหน ก็ต้องสะสมมาทางนั้น ใครถ่ายรูปเก่ง ใครเล่นดนตรีเก่ง ใครวาดรูปเก่ง ใครร้องเพลงเก่ง ก็ต้องเป็นการสะสมทั้งหมด ใครมีปัญญามาก จะให้เกิดเองไม่เหมือนอย่างอื่น เป็นไปได้ไหม ในเมื่ออย่างอื่นก็ต้องอบรมทั้งนั้น สะสมทั้งนั้น และจะให้รู้เพียงนามธรรมกับรูปธรรม ๒ คำเท่านั้น เป็นไปไม่ได้ ที่จะละกิเลส

    ถ. เรื่องการสะสม ผมเชื่อว่า ทุกท่านที่นั่งในห้องนี้คงไม่รู้ว่า ท่านได้สะสมมากี่แสนกัป แต่ต้องมีแน่ๆ ไม่อย่างนั้นไม่มานั่งอยู่ที่นี่ และที่ผมออกมา ผมจะมาขอกำลังใจจากท่านอาจารย์เท่านั้นเอง คือ ผมจำไม่ได้ จะไหวไหม ท่านอาจารย์ก็บอกว่า ไม่เป็นไร ค่อยเป็นค่อยไป

    สุ. ตราบใดที่ฟังพระธรรม ความเข้าใจมี และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และ เป็นปัจจัยให้เกิดโยนิโสมนสิการ แทนที่เราจะคิดปรุงแต่งเรื่องอื่น ก็จะมีปัจจัย ทำให้คิดพิจารณาสภาพธรรม เพราะว่าวันหนึ่งๆ ทุกคนอดคิดไม่ได้ ก่อนฟังธรรม คิดเรื่องอื่น คิดเรื่องกีฬา คิดเรื่องสารพัด แต่ฟังธรรมแล้ว วันนี้อาจจะเกิดนึกถึง ธรรมที่ได้ฟัง และคิดพิจารณาจนกระทั่งเป็นความเข้าใจขึ้น เป็นความแตกฉาน ยิ่งๆ ขึ้น เป็นอุปกรณ์ เป็นบารมีที่จะทำให้เห็นจริงๆ ว่า เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งเป็นการละคลายสักกายทิฏฐิ

    ถ. คนที่ตั้งแต่เช้าจนเย็นยุ่งมาก จะมีอุบายอะไรที่ทำให้มีสติปัญญาดีขึ้นๆ จะทำอย่างไรดี เพราะว่าเวลาทุกวินาทีไปทางการงานหมด

    สุ. อย่าห่วง เพราะว่าห่วงก็คือห่วง และยิ่งห่วงต่อไปอีก จะไม่หมดห่วงเพราะความห่วง

    ถ. ถ้าหากเราไม่โยนิโส ทุกๆ นาทีก็อยู่กับการงานไปหมด

    สุ. เราอาจจะคิดว่า เราโยนิโส แต่ความจริงสภาพธรรมแต่ละขณะที่จะเกิดเป็นไปตามเหตุปัจจัย ขณะที่ยุ่งๆ อกุศลทั้งหลายก็มีปัจจัยเกิดขึ้น ถ้าเป็นผู้ที่มีสติอบรมเจริญมาแล้วทีละเล็กทีละน้อย สติสามารถเกิดระลึกได้บ้าง อย่างแข็งขณะนี้ ระลึกได้ เป็นสติสัมปชัญญะปกติ …

    ถ. ไม่เคยเลยทั้งวัน

    สุ. ไม่เคย คือ เรื่องยังไม่เคย แต่ต่อไปจะเกิดได้ อย่าห่วง ยิ่งห่วงก็ยิ่ง เป็นทุกข์ ไม่เคยคิดว่าห่วงจะทำให้หายห่วง แต่ต้องเป็นปัญญาที่รู้ว่า สภาพธรรมทั้งหลายต้องเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย เมื่อมีการฟังธรรม มีศรัทธา มีฉันทะ ไม่ทอดทิ้ง ไม่ละเลย ปัญญาก็จะค่อยๆ สะสมไป และสภาพธรรมทั้งหลายก็ ทราบแล้วว่า มีรูปขันธ์ มีเวทนาขันธ์ มีสัญญาขันธ์ มีสังขารขันธ์ มีวิญญาณขันธ์สังขารขันธ์ก็เป็นสังขารขันธ์ สติเป็นสังขารขันธ์ ปัญญาเป็นสังขารขันธ์ โลภะเป็นสังขารขันธ์ โทสะเป็นสังขารขันธ์ ล้วนแต่เป็นสังขารขันธ์ เราจะไปทำอะไรได้ นอกจากรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ใช่ทำ แต่รู้ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้น ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป

    ถ. คราวที่แล้วท่านอาจารย์ได้บรรยายถึงสักกายทิฏฐิ จะละได้ด้วยการ ถึงพร้อมด้วยการเห็นทุกข์ ทุกข์ในที่นี้หมายถึงทุกขอริยสัจจ์ คือ สภาพธรรมที่เกิดดับ ยกเว้นพระนิพพาน ใช่ไหม

    สุ. ใช่

    ถ. สมุทัยอริยสัจจ์นั้น สภาพธรรมคือโลภเจตสิก อาจารย์ยกตัวอย่างว่า จะอ่านหนังสือ ยื่นมือไปจะหยิบหนังสือก็เป็นสมุทัยแล้ว สงสัยว่า เพียงยื่นมือไป หยิบหนังสือ สมุทัยนั้นเป็นเหตุของทุกข์คือการเกิดดับอย่างไร เพราะทราบมาว่า สมุทัยก็คือเหตุแห่งทุกข์ ไม่เข้าใจตรงนี้

    สุ. ขณะนี้มีสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไปแต่ไม่มีใครรู้ คือ ไม่ได้ประจักษ์ลักษณะของทุกขอริยสัจจะ และในขณะเดียวกันสภาพธรรมที่เกิดก็มีเหตุปัจจัย ปรุงแต่งจึงเกิด และเหตุปัจจัยก็มีมากมายหลายเหตุปัจจัย แต่ปัจจัยที่เป็นสมุทัย ได้แก่ โลภะ อันนี้ยังไม่เห็นแน่ๆ เพราะแม้ในขณะนี้สภาพธรรมเกิดและดับก็ยังไม่เห็นเพราะฉะนั้น ที่จะให้เห็นสมุทัยก็เห็นไม่ได้ ต่อเมื่อใดเห็นลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล และรู้ปัจจัยอื่นๆ แล้ว จึงจะเห็นได้ว่า โลภะนั่นเองเป็นสมุทัย แต่ก่อนที่จะเห็นว่าโลภะเป็นสมุทัย ต้องเห็นโลภะก่อน และไม่ใช่เห็นโดยชื่อ เพราะโดยชื่อสามารถที่จะบอกได้ว่า มีโลภมูลจิตกี่ดวงและ มีโลภเจตสิกเกิดกับโลภมูลจิต

    แม้ในขณะนี้เอง มีโลภมูลจิตไหม บอกได้ตามตำรา แต่ความจริงแล้ว ถ้ามีสติสัมปชัญญะขณะใด สามารถรู้ได้ในวันหนึ่งๆ ว่า ขณะใดที่ไม่เป็นกุศลจิต และไม่ใช่โทสมูลจิต ไม่ใช่โมหมูลจิต ถ้าเป็นผู้ที่ศึกษาละเอียดกว่านั้นก็รู้อีกว่า ขณะใดที่ ไม่ใช่วิบากจิต ไม่ใช่กิริยาจิต ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต และการที่จะรู้จักโลภมูลจิต ที่ไม่ใช่รู้เพียงชื่อ ก็โดยการเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน

    ที่ว่าเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน คือ ไม่ใช่มีความตั้งใจ ไม่ใช่มีความจงใจ ไม่มีความตั้งใจที่จะให้ไม่มีโลภะ ให้เป็นสมาธิจะได้เห็นอะไรๆ ถ้าโดยลักษณะนั้น จะไม่เห็นสมุทัยคือโลภะ เพราะฉะนั้น การเป็นผู้มีปกติเจริญสติ หมายความว่า ขณะหนึ่งขณะใดในชีวิตประจำวัน อาจจะอยู่บ้าน หรือไปธุระ ทำกิจการงาน กำลังสนทนา กำลังอ่านหนังสือพิมพ์ กำลังดูโทรทัศน์ หรือกำลังทำอะไรก็แล้วแต่ ซึ่งเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ และสติเกิด เกิดตามธรรมดา ตามปกติ ขณะนั้นจะรู้ได้เลยว่า เป็นโลภมูลจิตแน่ๆ ในขณะที่กำลังต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังกระทำอยู่ ในขณะนั้น

    เริ่มรู้ลักษณะของโลภะ แต่ยังไม่เห็นว่าเป็นสมุทัย จนกว่าจะรู้ปัจจัยต่างๆ ที่เกิดร่วมกัน จึงรู้ว่า ตราบใดที่ยังมีโลภะอยู่ ตราบนั้นยังมีเหตุที่จะให้เกิดทุกข์อยู่

    ถ. ทุกขอริยสัจจ์ ได้แก่ สภาพธรรมที่เกิดดับ สมุทัยอริยสัจจ์ ได้แก่ โลภเจตสิก ซึ่งโลภเจตสิกก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับด้วย จะไม่จัดว่า สมุทัยอริยสัจจ์ ก็เป็นทุกขอริยสัจจ์ด้วยหรือ จะเป็นการซ้ำซ้อนของอริยสัจจ์หรือเปล่า

    สุ. เป็นการทรงแสดงสภาพของปรมัตถธรรม แม้โลภเจตสิกหรือโลภมูลจิตก็เป็นสังขารธรรม เป็นสังขตธรรม มีปัจจัยเกิดขึ้นและดับไป แต่ถ้าจะแยกสังขตธรรมทั้งหมดออกว่า ในบรรดาสังขตธรรมทั้งหลายนั้นสังขตธรรมใดเป็นสมุทัย ก็มีโลภะ และอวิชชา แต่ทรงแสดงโลภะอย่างเดียว ซึ่งก็รวมถึงอวิชชาด้วย เพราะว่าโลภะ จะเกิดโดยไม่มีอวิชชาไม่ได้ ถ้ามีแต่เพียงอวิชชาเฉยๆ ก็ไม่ได้ต้องการอะไร เพียงแต่ไม่รู้เท่านั้นเอง ไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ไม่มีพืชเชื้อที่เป็นความต้องการ ที่เป็นความขวนขวาย เพราะฉะนั้น โลภะจึงเป็นสมุทัย

    ถ. และพระอรรถกถาจารย์ท่านก็จำแนกทุกขอริยสัจจ์ไว้ว่า ได้แก่ โลกียจิต ๘๑ เจตสิก ๕๑ ยกเว้นโลภะ และรูป ๒๘ เป็นทุกขอริยสัจจ์ ไม่เข้าใจว่า ทำไมท่านไม่รวมโลกุตตรจิต ๘ ซึ่งก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ เป็นทุกขอริยสัจจ์ด้วย

    สุ. โดยนัยเดียวกัน คือ ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานที่จะรู้ทุกข์ ไม่มี โลกุตตรจิตเกิดในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่ามีโลกุตตรจิตเกิดบ่อยๆ เรื่อยๆ ที่จะให้พิจารณาจนกระทั่งเห็นการดับไปของโลกุตตรจิต ไม่มีมรรคจิตผลจิตเกิดสำหรับ จะให้พิจารณา เพราะฉะนั้น จึงไม่รวมอยู่ในทุกขสัจจ์

    ในคราวก่อนมีผู้สงสัยเรื่องจะเชื่อดีหรือไม่เชื่อดี ในเรื่องตายแล้วจะเกิดอีกไหม และก็มีความเห็นต่างๆ กัน แสดงให้เห็นว่า ถ้าขณะนี้ยังไม่รู้ว่าอะไรเกิด กำลังเห็นนี่ ยังไม่รู้จริงๆ ว่าอะไรเกิด กำลังได้ยินก็ไม่รู้ว่าอะไรเกิด กำลังคิดนึกก็ไม่รู้ว่าอะไรเกิด และจะไปนึกคิดเรื่องเกิด เรื่องตายของอะไร ในเมื่อแม้ในขณะนี้จริงๆ ก็ยังไม่รู้ว่า อะไรกำลังเกิด

    แต่ถ้าได้ศึกษาจนกระทั่งเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ พร้อมทั้งเหตุปัจจัย ก็จะสามารถรู้ได้ว่า ขณะนี้ที่เกิด เกิดเพราะปัจจัยอะไร เพราะฉะนั้น เวลาที่จุติจิตเกิดและดับไปทำให้ได้ชื่อว่าตาย สิ้นชีวิต สิ้นสุดสภาพ ความเป็นบุคคลนี้ แต่ก็มีปัจจัยที่จะทำให้ขณะจิตต่อไปเกิดขึ้น และถ้ารู้ปัจจัยที่จะ ทำให้แต่ละขณะจิตเกิดก็ย่อมรู้ว่า แม้ขณะนี้ ก็มีปัจจัยที่จะให้จิตขณะนี้เกิด ฉันใด เวลาที่จุติจิตดับซึ่งก็เป็นจิตประเภทหนึ่งอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นและดับไปเหมือนจิต ดวงอื่นๆ นั่นเอง เพราะฉะนั้น เมื่อจุติจิตเกิดขึ้นและดับไป ก็ยังมีปัจจัยที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อ เป็นของธรรมดา

    มีท่านผู้ฟังโทรศัพท์มาถามว่า กรรมจะติดตามมาได้อย่างไร เพราะท่านเข้าใจว่า เมื่อเกิดเป็นบุคคลใดในชาติก่อนกระทำกรรมใดไว้ จุติจิตก็ทำให้สิ้นสภาพ ความเป็นบุคคลนั้น และมีกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดเป็นบุคคลใหม่ เมื่อเป็นบุคคลใหม่แล้ว กรรมก่อนๆ ที่ได้กระทำไว้จะติดตามมาให้ผลได้อย่างไร

    นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเข้าใจเรื่องสภาพธรรมในขณะนี้ที่กำลังเกิดดับ และแต่ละขณะก็มีปัจจัยจึงเกิด เมื่อดับไปแล้วก็มีปัจจัยที่จะให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น ก็จะไม่มีปัญหาอะไรเลยในเรื่องของกรรมที่จะติดตามมา หรือจะติดตามในชาติต่อๆ ไป เพราะถ้าเอาชื่อออกว่า คนนั้นตาย คนนี้ตาย เอาชื่อออกให้หมด ไม่มีชื่อเลย ก็มีแต่จิต เจตสิก รูป ซึ่งเกิดดับเพราะเหตุปัจจัยเท่านั้นจริงๆ เมื่อวานนี้มีจิต เจตสิก รูปซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัยและดับไป เมื่อกี้ก็มี จิต เจตสิก รูปซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและดับไป ใครสามารถยับยั้งจิตเมื่อวานนี้ไม่ให้มีจิตต่อๆ ไปเกิดขึ้นได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙๔ ตอนที่ ๑๙๓๑ – ๑๙๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 133
    28 ธ.ค. 2564