แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1936


    ครั้งที่ ๑๙๓๖


    สาระสำคัญ

    เรื่องเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่เรื่องทำ เป็นเรื่องเข้าใจ

    คุณของอริยมรรคมีองค์ ๘

    การละสังโยชน์ของพระโสดาบัน


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๓๓


    ถ. ผมเข้าใจว่า รู้สภาพธรรมแม้นิดเดียว ซึ่งไม่ใช่รู้แต่ชื่อ รู้สภาพ และ รู้เรื่อง ต่อไปค่อยก้าวไปถึงไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ใช่ไหม

    สุ. รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมซึ่งต่างกับลักษณะที่เป็นรูปธรรม มิฉะนั้นแล้วเราอาจจะบอกว่า ไม่ใช่ตัวตน ก็เป็นการพูดอีกว่า เห็นไม่ใช่ตัวตน หรืออาจจะบอกว่า เห็นเป็นสภาพรู้ เห็นเป็นธาตุรู้ เห็นเป็นอาการรู้ ก็พูดไป แต่ขณะนั้นให้ค่อยๆ รู้ จริงๆ ในสภาพที่กำลังเห็นว่า อาการรู้คืออย่างนี้ สภาพรู้หรือธาตุรู้ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา ต่างกันจริงๆ ค่อยๆ รู้ไปทีละเล็กทีละน้อย

    เป็นเรื่องสัจจธรรมที่จะต้องอดทน มีความเพียรที่จะฟังไปเรื่อยๆ ความเข้าใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และไม่ต้องห่วง อย่าได้คิดห่วงว่าอายุมากแล้ว หรือไม่รู้ว่าจะมีอายุ อยู่อีกกี่ปี สติปัฏฐานเกิดน้อยเหลือเกิน หรือสติปัฏฐานไม่เกิด ทำอย่างไรสติปัฏฐานจึงจะเกิด ถ้าใช้คำว่า ทำอย่างไรสติปัฏฐานจึงจะเกิด โลภะมีแล้ว และมีความเห็นผิดในข้อปฏิบัติด้วย คือ ทำอย่างไร

    เพราะว่าไม่ใช่เรื่องทำ แต่เป็นเรื่องเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏส่วนใหญ่ท่านผู้ฟังถามว่า ทำอย่างไรจะไม่โกรธ รู้สึกว่าเป็นปัญหาใหญ่เหลือเกิน แสวงหาหนทางที่จะไม่โกรธ พยายามสอบถามจากที่ต่างๆ บุคคลต่างๆ หนังสือ ต่างๆ นักปราชญ์ นักจิตวิทยาต่างๆ ว่า ทำอย่างไรจะไม่โกรธ รู้สึกพอใจถ้ามีคน บอกวิธีทำให้ แต่ถ้ามีใครสักคนบอกว่าให้ศึกษาพระธรรม ให้ฟังพระธรรม ให้เข้าใจจริงๆ และกุศลทั้งหลายจะค่อยๆ เจริญขึ้น ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะค่อยๆ คลายอกุศล และเมื่ออบรมเจริญปัญญาความรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏถูกต้องตรงตามความเป็นจริงขึ้น ความโกรธหรือความขุ่นเคืองใจก็จะค่อยๆ ลดน้อยลง แต่ว่ายังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท จนกว่าจะบรรลุเป็นพระอนาคามีบุคคล ถ้าได้ฟังอย่างนี้ ไม่ทราบว่าคนนั้นจะพอใจหรือเปล่า

    วิธี คือ ศึกษาให้เกิดปัญญาของตนเอง ไม่ใช่ให้คนอื่นบอกให้เราทำ ซึ่งไม่ใช่หนทางที่จะทำให้ไม่โกรธ แต่กิเลสทั้งหลายที่จะละคลายหรือหมดไปได้ ต้องด้วยปัญญาอย่างเดียวเท่านั้น

    ถ้าปัญญาซึ่งเป็นสัมมาทิฏฐิในมรรคมีองค์ ๘ ในการเจริญสติปัฏฐานไม่เกิด อาจจะระงับอกุศลทั้งหลายได้ชั่วคราว สามารถอบรมสมถภาวนาจิตสงบจนถึงขั้น ฌานจิต และถ้ารูปฌานจิตเกิดก่อนจุติจิต คนนั้นก็สามารถระงับโทสะได้ชั่วคราวระหว่างที่เป็นพรหมบุคคลเกิดในพรหมโลก แต่อนุสัยกิเลสยังไม่ได้ดับ ยังไม่มีปัญญา ที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะฉะนั้น ก็ต้องกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก คือ มีความติดความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ และโทสะก็ต้องเกิดอีก

    หรือแม้ไปเป็นอรูปพรหมบุคคลในอรูปพรหมภูมิ เพราะได้บรรลุฌานจิตถึงขั้นอรูปฌาน ไม่มีรูปใดๆ เลย ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่มีการกระทบสัมผัส เพราะไม่มีรูป ร่างกายไม่มีเลย มีแต่นามธรรมเท่านั้นที่เกิดดับ แต่อนุสัยกิเลสยังไม่ได้ดับ เมื่อหมดอายุ หมดกรรมที่ทำให้เป็นอรูปพรหมบุคคล ก็ต้องกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก

    เพราะฉะนั้น เรื่องที่ถามว่า ทำอย่างไรจะไม่โกรธ ก็คงต้องอาศัยการพิจารณาของท่านผู้นั้นว่า ท่านจะอบรมเจริญปัญญาด้วยการฟังพระธรรม และรู้สัจจธรรมตามความเป็นจริงว่า เมื่อมีเหตุที่จะให้สภาพธรรมใดเกิดขึ้น สภาพธรรมนั้นก็เกิด แต่ ไม่ใช่เรา ไม่ว่าจะเป็นโลภะก็ไม่ใช่เรา ไม่ว่าจะเป็นโทสะก็ไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียง สภาพธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและดับไป

    ข้อความต่อไปตอนหนึ่งใน อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ พรรณนารัตนสูตร มีว่า

    พระผู้มีพระภาค ครั้นตรัสความที่พระพุทธรัตนะอันรัตนะอื่นๆ เทียบไม่ได้อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อระงับอุปัทวะที่เกิดแก่บริษัทเหล่านั้น ไม่ทรงอาศัยชาติ ไม่ทรงอาศัยโคตร ไม่ทรงอาศัยความเป็นกุลบุตร ไม่ทรงอาศัยความเป็นผู้มีวัณณะงาม เป็นต้น หากแต่ทรงอาศัยความที่พระพุทธรัตนะไม่มีอะไรเทียบเคียงได้ด้วย คุณทั้งหลายมีศีลขันธ์และสมาธิขันธ์เป็นต้น ในโลกที่มีอเวจีเป็นต้น มีภวัคคพรหม เป็นที่สุด จึงทรงประกอบสัจจวจนะว่า

    อิทมฺปิ พุทฺเธ รตนํ ปณีตํ เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ

    แปลโดยความว่า โดยประการแม้นี้ พระพุทธเจ้าเป็นรัตนะอันประณีต คือ ประเสริฐสุด ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมี ดังนี้ ขอความที่สิ่งดีงามทั้งหลาย มีอยู่ ความไม่มีโรค ความปราศจากอุปัทวะ จงมีแก่สัตว์เหล่านี้

    อีกนัยหนึ่ง บทว่า อิทมฺปิ พุทฺเธ รตนํ ปณีตํ พึงทราบความหมายอย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าเป็นรัตนะ โดยประการแม้นี้

    พอพระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถา ความสวัสดีก็เกิดแก่ราชสกุล ภัยก็ระงับไป

    ถ. ที่ท่านอาจารย์กล่าวตอนหลังว่า ให้ความประเสริฐเกิดขึ้น ไม่มีโรค มีภัย อันนี้เป็นพร หรือไม่ใช่พร เพราะเหตุใด

    สุ. เป็นสัจจวัจนะ เป็นความจริง จิตที่ตรงต่อสภาพธรรมที่มีจริง เป็นจิตที่เป็นกุศล เป็นจิตที่ประกอบด้วยปัญญา เพราะผู้ไม่มีปัญญาไม่สามารถเห็นความเป็นรัตนะของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ เพราะฉะนั้น เมื่อพระคุณนั้น มีจริงๆ เป็นสัจจวาจาจริงๆ ก็อาศัยกุศลที่ระลึกถึงสัจจะความจริงนี้ ทำให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นเป็นไปตามความต้องการได้

    ถ. ที่เมืองเวสาลีมีโรคภัยมากมาย เมื่อพระพุทธองค์ตรัสแบบนั้นแล้ว โรคทั้งหลายอันตรธานไปหมดหรือ

    สุ. สงบระงับ

    ถ. สงบระงับ เป็นพุทธานุภาพหรือ

    สุ. เป็นสัจจวจนะของพระผู้มีพระภาค

    ถ. เหมือนกับสัจจวาจาที่คนธรรมดาทำ

    สุ. แต่ใครเป็นผู้กล่าว คุณของใคร พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัส และพระคุณของใคร ผู้ตรัสมีคุณอย่างไร เพราะฉะนั้น สัจจวาจานั้นก็เป็นสิ่งซึ่ง...

    ถ. คงจะแรงกว่าธรรมดามาก

    สุ. มากกว่า นี่เป็นผลของกุศลที่ระลึกถึงสัจจะความจริง และประจักษ์แจ้งในความจริง ตระหนักในความจริง ระลึกถึงความจริง บูชาความจริง และกล่าว คำจริง

    ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงคุณของพระธรรมรัตนะ คือ พระนิพพานว่า

    ธรรมทั้งหลายไม่ว่าเป็นสังขตะหรืออสังขตะ วิราคธรรม ท่านกล่าวว่า เป็นเลิศกว่าธรรมเหล่านั้น

    ธรรมที่ดับความยินดี ธรรมอันเป็นที่สิ้นกิเลส จะเป็นเลิศกว่าธรรมทั้งหลายไหมกิเลสเป็นเรื่องที่ทุกคนไม่อยากมีและอยากหมด เวลาที่มีกิเลสซึ่งทำให้มีความสุข ความเพลิดเพลินก็พอใจ แต่ที่ว่ามีกิเลสเป็นความทุกข์ เพราะเหตุว่าความทุกข์ ก็เป็นกิเลส ความโศกเศร้าก็เป็นกิเลส ความขุ่นเคือง ไม่พอใจ ความโทมนัสทั้งหลายก็เป็นกิเลส ถ้าเป็นกิเลสประเภทนั้นก็กล่าวว่า แสนทุกข์ อยากจะหมดเสียเร็วๆ แต่ถ้าเป็นผู้ที่พิจารณาถึงเหตุที่จะให้กิเลสทั้งหลายเกิดขึ้นก็รู้ว่า อวิชชา ความไม่รู้ โลภะ ความยินดีติดข้องในสิ่งทั้งหลาย เป็นเหตุของความทุกข์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ควรอบรมเจริญธรรมที่ทำให้ถึงธรรมอันเป็นที่สิ้นกิเลส

    ถ้าได้รู้ความจริงอย่างนี้ ถึงแม้กิเลสจะยังเกิดอยู่ แต่ปัญญาก็ไม่ได้หนีไปไหน หรือไม่ได้หายไปไหน แม้ว่ามีกิเลสเกิด ปัญญาก็สามารถรู้ตามความเป็นจริงได้ว่า กิเลสยังมีอยู่เพราะปัญญายังไม่ถึงขั้นที่จะดับกิเลส เพราะฉะนั้น ที่จะดับกิเลสได้ จะต้องอบรมเจริญปัญญายิ่งขึ้นกว่านั้นอีก และเมื่อได้อบรมเจริญปัญญาถึงกาล ที่สมควรจริงๆ กิเลสจึงจะดับสิ้นได้ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดง คุณของพระธรรมรัตนะคือพระนิพพานว่า ธรรมทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นสังขตะหรือ อสังขตะ วิราคธรรม ท่านกล่าวว่าเป็นเลิศกว่าธรรมเหล่านั้น

    ต่อจากนั้น ทรงแสดงคุณของอริยมรรคมีองค์ ๘ ว่า

    ธรรมทั้งหลาย ที่เป็นสังขตะ (อันปัจจัยปรุงแต่ง) มีประมาณเท่าใด อริยมรรค มีองค์ ๘ กล่าวกันว่า เลิศกว่าสังขตธรรมเหล่านั้น

    ในบรรดาสังขตธรรมทั้งหมด อริยมรรคมีองค์ ๘ เลิศกว่าสังขตธรรมทั้งหลาย เพราะว่าเห็นเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยปรุงแต่งแล้วก็ดับ โลภะเกิดขึ้น ติดข้องพอใจ ในสิ่งที่เห็น ไม่มีประโยชน์อันแท้จริงเลย แต่สติและปัญญาเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏและเข้าใจขึ้นๆ เพราะฉะนั้น ในบรรดาสังขตธรรมทั้งหลาย อริยมรรค กล่าวกันว่า เลิศกว่าสังขตธรรมเหล่านั้น

    บทว่า สมาธินา เตน สโม น วิชฺชติ ความว่า รูปาวจรสมาธิหรือ อรูปาวจรสมาธิใดๆ ที่เสมอด้วยอนันตริกสมาธิอันบริสุทธิ์ที่พระผู้มีพระภาค ผู้ประเสริฐสุดสรรเสริญแล้วนั้น ไม่มีเลย เพราะเหตุไร เพราะบุคคลแม้เกิดใน พรหมโลกนั้นๆ เพราะอบรมสมาธิเหล่านั้นแล้ว ก็ยังมีการเกิดในอบายมีนรกเป็นต้นอีกได้

    คำว่า อนันตริกะ หมายถึงสมาธิที่เกิดในลำดับ เพราะอำนวยผลแน่นอน ในลำดับการดำเนินการปฏิบัติของตน หมายความถึงสมาธิในมรรคมีองค์ ๘ เมื่อเจริญอบรมไปเรื่อยๆ แล้ว อำนวยผลแน่นอน คือ สามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท ไม่เหมือนรูปาวจรสมาธิ หรืออรูปาวจรสมาธิ เพราะบุคคลแม้เกิดในพรหมโลกนั้นๆ เพราะอบรมสมาธิเหล่านั้นแล้ว ก็ยังมีการเกิดในอบายมีนรกเป็นต้นอีกได้

    พระผู้มีพระภาคครั้นตรัสความที่อนันตริกสมาธิ อันสมาธิอื่นๆ เทียบไม่ได้อย่างนี้แล้ว บัดนี้ทรงอาศัยความที่รัตนะคือมรรคธรรม อันรัตนะอื่นเทียบไม่ได้ จึงทรงประกอบสัจจวจนะว่า

    อิทมฺปิ ธมฺเม รตนํ ปณีตํ เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ

    แปลโดยความว่า แม้โดยประการนี้ พระธรรมเป็นรัตนะอันประณีต ด้วย สัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมี

    ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงคุณของพระอริยสงฆ์ ๘ บุคคลว่า

    ท่านเหล่านั้นทั้งหมด ชื่อว่าสาวก เพราะฟังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค คนอื่นๆ ถึงฟังก็จริง ถึงเช่นนั้นเขาฟังแล้วก็ไม่ทำกิจที่ควรทำ ส่วนท่านที่เป็นสาวกเหล่านี้ ฟังแล้วทำกิจที่ควรทำ คือ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม บรรลุมรรคผล เพราะฉะนั้น ท่านเหล่านั้นจึงตรัสเรียกว่า สาวก

    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสคุณต่างๆ ของพระอริยสาวกแล้ว จึงทรงประกอบ สัจจวจนะว่า

    อิทมฺปิ สงฺเฆ รตนํ ปณีตํ เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ

    แปลโดยความว่า แม้โดยประการนี้ พระสงฆ์ก็เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยสัจจวจนะนี้ ขอความสวัสดีจงมี

    ผู้ฟัง ด้วยสัจจวัจนะนี้ ขอให้สวัสดี ถ้าแค่นี้สามารถได้ประโยชน์มากมาย ก็อยากจะท่องไว้ แต่คงจะไม่ได้ผล

    สุ. ประโยชน์ จะเอาไปเป็นประโยชน์

    ผู้ฟัง เอามาเป็นที่พึ่งเบื้องต้น

    สุ. พึ่งเดี๋ยวนี้ พึ่งตั้งแต่เดี๋ยวนี้เลย อย่าไปหวังพึ่งในโอกาสอื่น

    ผู้ฟัง ยังมีชีวิตอีกหลายๆ วัน หลายๆ เดือน

    สุ. ต้องพึ่งทุกวัน พึ่งทุกขณะ

    ผู้ฟัง การที่จะเอาพระธรรมมาใช้สอย เราก็ยังรู้ไม่พอ จะนำมาใช้สอยก็ ยังไม่ได้ เพราะว่าพระธรรมที่เราเข้าถึงอรรถ เข้าถึงสภาวะยังไม่พอ พูดถึงความลึกซึ้งของพระธรรม ความประณีตของพระธรรมแล้ว คงหนีไม่พ้นเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ต้องค่อยๆ รู้จักสภาวธรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างที่ท่านอาจารย์ได้ พร่ำสอนอยู่ตลอดเวลา คงต้องเป็นอย่างนั้น

    สุ. ต้องอบรม ต้องเจริญ มีหนทางเดียวจริงๆ ถ้าทราบว่า รู้น้อย ก็ต้องค่อยๆ รู้ขึ้นอีก ค่อยๆ รู้ขึ้นอีก ตามความเป็นจริง และจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น ท่านที่รู้มาก หรือรู้แจ้งอริยสัจจธรรมแล้ว ต้องมาจากรู้น้อยก่อน และค่อยๆ เพิ่ม มากขึ้น แต่ให้เห็นความจริงที่พระผู้มีพระภาคตรัสเตือนว่า พระอริยสงฆ์ ท่านเหล่านั้นทั้งหมดชื่อว่าสาวก เพราะว่าฟังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค

    แม้เพียงคำว่า ฟัง ยังต้องแยกเป็นหลายขั้น ผู้ที่ฟังไม่คิด ไม่พิจารณา ฟังเป็นครั้งเป็นคราวและผ่านไปก็มี แต่ผู้ที่ฟังแล้วไตร่ตรองเพื่อให้เกิดปัญญา ความเข้าใจขึ้น และฟังจนกระทั่งรู้ว่าเป็นหนทางเดียวซึ่งขาดไม่ได้ที่จะอบรม เจริญปัญญา ฟังจนกระทั่งมีปัจจัยทำให้สติปัฏฐานเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ ชื่อว่าเป็นผู้ที่ฟังจริงๆ เพราะว่า คนอื่นๆ ถึงฟังก็จริง ถึงเช่นนั้นเขา ฟังแล้วก็ไม่ทำกิจที่ควรทำ ส่วนท่านที่เป็นสาวกเหล่านี้ ฟังแล้วไตร่ตรองเพื่อให้ เกิดปัญญาความเข้าใจขึ้น และฟังจนกระทั่งรู้ว่าเป็นหนทางเดียวซึ่งขาดไม่ได้ที่จะอบรมเจริญปัญญา ฟังจนกระทั่งมีปัจจัยที่จะทำให้สติปัฏฐานเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏสมควรแก่ธรรม บรรลุมรรคผล เพราะฉะนั้น ท่านเหล่านั้น จึงตรัสเรียกว่า สาวก

    ท่านผู้ฟังก็เป็นสาวก แต่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม และจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ก็เพราะฟัง ไม่ใช่เพราะไม่ฟังก็จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่เพราะฟัง เข้าใจ และกำลังประพฤติปฏิบัติตามด้วย และเมื่อไรที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็จะรู้ได้ว่าต้องอาศัยการฟังพระธรรม

    ข้อความต่อไป ทรงแสดงว่า พระอริยบุคคลขั้นต่างๆ ดับกิเลสตามลำดับขั้น คือ ไม่ใช่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมครั้งแรกก็เป็นพระอรหันต์หมดกิเลสเลย แสดงให้เห็นว่ากิเลสเหนียวหนาแน่นแค่ไหน ประมาทไม่ได้เลย และเป็นสิ่งซึ่งสามารถจะเห็นได้จริงๆ ในชีวิตประจำวัน เมื่อสติปัฏฐานเกิด

    ข้อความต่อไปแสดงการละสังโยชน์ ๓ ของพระโสดาบัน ข้อความมีว่า

    สักกายทิฏฐิจะละได้ด้วยการถึงพร้อมด้วยการเห็นทุกข์ วิจิกิจฉาจะละได้ ด้วยการถึงพร้อมด้วยการเห็นสมุทัย สีลัพพตปรามาสจะละได้ด้วยการเห็นมรรค และการเห็นพระนิพพาน

    เป็นความจริงทุกคำ ไม่มีคำไหนเลยที่ผิด เพราะว่าพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้สภาพธรรมทั้งหมดตามความเป็นจริง



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙๔ ตอนที่ ๑๙๓๑ – ๑๙๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 133
    28 ธ.ค. 2564