แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1896


    ครั้งที่ ๑๘๙๖


    สาระสำคัญ

    การอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องการอบรมเจริญปัญญาไม่ใช่เรื่องทำ

    อานาปานสติปัฏฐาน กัมมัฏฐานอันสงบ และสุขุม

    ขุ. มหา. อรรถกถา สุวัตตกสุตตนิทเทส - ความลวง


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๓๒


    สุ. ส่วนมากท่านผู้ฟังจะสนใจผล และคิดว่าจะทำอย่างไร ตามคำถามที่ถามว่า ทำอย่างไร แต่การอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่เรื่องทำ และไม่ใช่แต่เฉพาะเรื่อง อานาปานสติ เพราะถ้าอ่านพระไตรปิฎกโดยตลอด จะเห็นได้ว่า ในบางแห่งก็กล่าวว่า การเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานบ้าง หรือการเจริญมรณานุสติบ้าง จะทำให้ สติปัฏฐานบริบูรณ์ โพชฌงค์บริบูรณ์ จนกระทั่งถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    แสดงให้เห็นว่า การอบรมเจริญปัญญาจนถึงขั้นรู้แจ้งอริยสัจจธรรม จะต้องพิจารณาโดยละเอียดจริงๆ คือ เจริญปัญญา ทิ้งคำนี้ไม่ได้เลยสำหรับสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องจะทำอย่างไร เมื่อได้ทราบว่า อานาปานสติเมื่อเจริญแล้ว จะทำให้สติปัฏฐานบริบูรณ์ ตลอดไปจนกระทั่งถึงโพชฌงค์ ตลอดไปจนกระทั่งถึง การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็คิดเพียงแต่ว่า จะทำอย่างไร แบบนี้ไม่ถูก

    ถ้าใครคิดว่าจะทำอย่างไร ไม่ถูก แต่ควรคิดพิจารณาว่า จะเข้าใจลักษณะ ของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้อย่างไรจนกระทั่งสติปัฏฐานบริบูรณ์ เพราะเป็นเรื่องของปัญญา แทนที่จะคิดแต่เฉพาะสูตรนี้ตามที่กล่าว เพราะว่าข้อความในสูตรอื่น ตอนอื่น ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องของอานาปานสติ แต่เป็นเรื่องของสติปัฏฐานอื่น แม้เรื่อง มรณสติ ก็ทำให้บริบูรณ์จนกระทั่งถึงรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

    โดยเฉพาะสำหรับอานาปานสติ ข้อความใน สัทธัมมปกาสินี อรรถกถา สโตการิญาณนิทเทส ปฏิสัมภิทามรรค มีว่า

    อนึ่ง อานาปานสติกรรมฐานนี้ เป็นภูมิแห่งมนสิการของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระพุทธสาวกผู้เป็นมหาบุรุษนั่นเอง มิได้นอกไปจากนี้ ทั้งสัตว์นอกนี้มิได้เสพ เพราะเหตุว่าเป็นกรรมฐานอันสงบและสุขุม เพราะฉะนั้น ทั้งสติและปัญญาจึงต้องมีกำลัง

    เพียงเท่านี้ก็สามารถเห็นความสอดคล้องในเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาว่า เป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อละความไม่รู้ เพื่อละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน แต่ไม่ใช่เพื่อที่จะเลือก เมื่อตรัสว่า เมื่อเจริญอานาปานสติแล้ว ทำให้บริบูรณ์แล้ว จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพียงเห็น สูตรนั้นเท่านั้นไม่พอ แต่จะต้องตรวจสอบดูกับพระธรรมในส่วนอื่นด้วย เช่น ใน สัทธัมมปกาสินี อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ซึ่งท่านผู้ฟัง จะพิสูจน์ได้ด้วยตัวของท่านเอง

    ขณะนี้ทุกคนกำลังมีลมหายใจแน่ๆ ถ้าไม่มีลมหายใจคงไม่อยู่ที่นี่ แต่ว่า ในขณะนี้เองอะไรกำลังปรากฏ ตามธรรมดาปกติในขณะนี้ ทางตามีสิ่งที่กำลัง ปรากฏ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ปัญญาควรอบรมจนกระทั่งรู้ชัดในลักษณะของ สภาพธรรมว่า เป็นแต่เพียงรูปธาตุหรือรูปธรรมชนิดหนึ่งซึ่งสามารถปรากฏได้ เมื่อกระทบกับจักขุปสาทเท่านั้น เพียงจักขุปสาทรูปไม่มี สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ในขณะนี้ก็มีไม่ได้ รู้ความจริงอย่างนี้ ก็เพื่อที่จะไถ่ถอนความที่เคยยึดถือในขณะที่กำลังเห็นว่า เป็นเราเห็น เป็นตัวตน เป็นสัตว์บุคคลที่กำลังปรากฏ

    การอบรมเจริญปัญญา เป็นเรื่องของปัญญา ไม่ใช่เรื่องของการทำ นี่เป็นสิ่งที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องตั้งแต่ตอนต้น เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นสติปัฏฐานหนึ่ง สติปัฏฐานใด ก็คือสิ่งที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง โดยไม่เลือก จึงจะเห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมนั้นจริงๆ

    ถ้าขณะนี้ทุกคนระลึกได้ว่า ทางตายังไม่ได้รู้ชัดจริงๆ ยังไม่หมดความสงสัยในลักษณะของนามธรรมที่เห็น ในลักษณะของรูปธรรมที่ปรากฏ ก็จะต้องฟังให้เข้าใจเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมทางตามากๆ จนกระทั่งสติสามารถระลึกรู้ได้ว่า ทางตาจริงๆ ในขณะนี้ เพียงชั่วขณะที่เห็น ไม่ใช่ขณะที่ได้ยิน ในขณะที่คิดนึก ซ้ำไปซ้ำมาในสังสารวัฏฏ์ เพราะว่าปรมัตถธรรมที่เกิดและดับก็มีเพียง ๓ อย่างเท่านั้น คือ จิต เจตสิก รูป ทั้งๆ ที่มีจิต เจตสิก รูปเท่านั้นในวันหนึ่งๆ ที่เกิดขึ้นเป็นไป แต่ถ้าไม่ศึกษาพระธรรม ไม่ฟังโดยละเอียด ก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าเป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป และถ้าไม่ฟังให้เข้าใจจริงๆ สติก็ไม่สามารถระลึกได้ว่า กำลังเห็นก็เป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังคิดนึก ก็เป็นจิต เจตสิก รูป

    เพราะฉะนั้น เรื่องจิต เจตสิก รูป ธรรมดาๆ ที่เคยได้ยินได้ฟัง ก็ได้ยินอีก บ่อยๆ จนกระทั่งสามารถเป็นปัจจัยให้สติเกิดระลึก โดยไม่ต้องห่วงเรื่องอานาปานสติเลย ผู้ที่เข้าใจเรื่องการอบรมเจริญสติปัฏฐานจริงๆ จะไม่เลือก และโดยเฉพาะที่ว่า

    อนึ่ง อานาปานสติกรรมฐานนี้ เป็นภูมิแห่งมนสิการของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระพุทธสาวกผู้เป็นมหาบุรุษนั่นเอง มิได้นอกไปจากนี้ ทั้งสัตว์นอกนี้มิได้เสพ เพราะเหตุว่าเป็นกรรมฐานอันสงบและสุขุม เพราะฉะนั้น สติและปัญญาจึงต้องมีกำลัง

    ขณะนี้สติและปัญญามีกำลังหรือเปล่า มีกำลังหรือยัง ถ้าสติและปัญญา มีกำลัง ไม่ต้องห่วง สติและปัญญานั้นเองสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของลมหายใจ โดยไม่ได้ตั้งใจ ไม่ได้จงใจ ไม่ได้หวัง ไม่ได้ต้องการ แต่สติจะระลึกลักษณะของ ลมหายใจโดยสภาพความเป็นอนัตตา ซึ่งในขณะนั้นผู้นั้นก็จะรู้ว่า ลมหายใจ ที่กระทบปรากฏก็เป็นแต่เพียงรูปธรรมชนิดหนึ่ง และละคลายความยึดถือความต้องการในลมหายใจ แต่ถ้าจะทำอานาปานสติ ต้องมีความจงใจ มีความต้องการ ที่จะให้มีสมาธิตั้งมั่นอยู่ที่ลมหายใจ โดยไม่รู้ว่า การที่จะรู้ลักษณะของนามและรูปจนกระทั่งมีการละคลายการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมนั้น ต้องรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามปกติตามความเป็นจริงจนทั่ว โดยที่ไม่หวังนามหนึ่งนามใด รูปหนึ่งรูปใด ไม่รอนามหนึ่งนามใด รูปหนึ่งรูปใด

    ขณะที่กำลังเห็นขณะนี้ เป็นปกติ ไม่ต้องไปรอให้ลมหายใจปรากฏ แต่สติสามารถเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางใจได้ และถ้ารู้ว่าลมหายใจก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรม คือ ธาตุลม ซึ่งในที่นั้นก็ต้องมีมหาภูตรูปอื่นเกิดรวมอยู่ด้วย และก็เป็นเพียงโผฏฐัพพะ คือเหมือนรูปอื่นที่กระทบกายปสาทเท่านั้นเอง ทำไมต้องจงใจที่รูปที่ไม่ได้ปรากฏ ในขณะนี้ ในเมื่อรูปอื่นกำลังปรากฏ

    จะเห็นได้ว่า การเจริญสติปัฏฐานจริงๆ นั้น ต้องเป็นปัญญาที่เข้าใจว่า สติเป็นอนัตตา สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดโดยไม่ใช่ ด้วยความจงใจ หรือด้วยความต้องการ มิฉะนั้นแล้วไม่สามารถละความต้องการ หรือโลภะได้

    ด้วยเหตุนี้ถ้าจะถามใครว่า อานาปานสติปัฏฐานเจริญอย่างไรจึงจะสมบูรณ์ ก็ให้ทราบว่า ถ้ามีผู้ใดแสดงว่าต้องทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้ หมายความว่า ผู้นั้นไม่ได้อบรมเจริญปัญญา เพราะถ้าเป็นการอบรมเจริญปัญญาต้องรู้ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา และในขณะใดที่ลมหายใจไม่ปรากฏ สิ่งอื่นปรากฏ สติก็ควรที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นเท่านั้น ไม่ใช่ หวังรอในขณะอื่น

    . ต้องขอประทานโทษท่านอาจารย์ อย่าคิดว่าผมหัวดื้อหัวรั้น ตอบแล้ว ก็ยังมาซักถามต่ออีก คือ มีประเด็นอยู่นิดหนึ่งที่ว่า อานาปานสตินั้นเราต้องรู้ว่า เป็นภูมิแห่งมนสิการของมหาบุรุษ ผมก็เพิ่งทราบว่า ทำไมท่านจึงตรัสว่า ดูกร อานนท์ ก็เพราะต่อไปท่านพระอานนท์จะเป็นมหาบุรุษ ท่านไม่ได้บอกว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คงเป็นอย่างนั้นใช่หรือเปล่า นี่เป็นประเด็นที่ ๑

    ประเด็นที่ ๒ ในพุทธภาษิตท่านบอกว่า ดูกร อานนท์ ธรรมอย่างหนึ่ง คือ อานาปานสติ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว มีคำว่า ทำ ท่านอาจารย์ก็ บอกว่า ไม่ใช่ทำ แต่คิดพิจารณาให้มีปัญญา

    สุ. บุคคลในครั้งโน้นกับครั้งนี้ ต้องสังเกตความละเอียด ถ้าบุคคลใน ครั้งนั้นฟังข้อความนี้จะรู้ว่า เป็นสติที่ทำกิจของสติ ไม่ใช่เป็นตัวตนที่จะทำเมื่อได้ยิน ได้ฟัง เมื่อมีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูก สติที่เป็นสัมมาสติก็ เกิดระลึกพร้อมกับสัมมาทิฏฐิ และมรรคองค์อื่นๆ เพราะฉะนั้น เจตสิกนั่นเองที่กำลังกระทำกิจการงานของเจตสิกนั้นๆ แม้ที่กล่าวว่า เจริญมรรค ความจริงก็คือ มรรคนั่นเองเจริญ ไม่ใช่มีผู้หนึ่งผู้ใดเจริญมรรค

    . อานาปานสติในที่นี้คงหมายถึงที่เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คงไม่ได้หมายถึงอานาปานสติที่เป็นอารมณ์ของสมถภาวนา ใช่ไหม

    สุ. แน่นอน

    . ถ้าเราพิจารณาเป็นสติ ก็เป็นวิปัสสนา ไม่ใช่สมถภาวนา ใช่ไหม

    สุ. สมถภาวนา หมายถึงจิตสงบเป็นสมาธิจนกระทั่งถึงอัปปนาสมาธิได้ แต่ไม่ใช่ด้วยความจงใจ ตั้งใจ โดยปัญญาไม่รู้อะไรเลย ไม่ใช่ใครก็ตามที่ไม่มีปัญญา ก็จะมาจดจ้องที่ลมหายใจ ไม่ใช่อย่างนั้น สมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาต้องเป็น ผู้ที่ละเอียด เป็นผู้ที่ตรง เป็นผู้ที่ประกอบด้วยสัมปชัญญะที่จะรู้สภาพของจิต ไวพอที่จะรู้ว่า ขณะใดเป็นไปในนิวรณ์ ๕ หรือขณะใดเป็นกุศล มิฉะนั้นแล้ว ไม่สามารถละความยินดีพอใจแม้ในลมหายใจนั้นได้ ต้องเป็นเรื่องของปัญญาจริงๆ จึงจะสงบได้

    . ความหมายว่า สมถภาวนา ถึงแม้ต้องการเพียงความสงบ ก็ต้องสงบโดยมีปัญญา ใช่ไหม

    สุ. ต้องประกอบด้วยปัญญา และปัญญานั้นไม่ใช่ปัญญารู้เรื่องปริยัติ ไม่ใช่ปัญญาที่อ่านเรื่องอานาปานสมาธิ แต่ต้องเป็นปัญญาพร้อมสติสัมปชัญญะ ที่รู้ลักษณะสภาพของจิต อย่างที่เราศึกษาเรื่องกุศลจิตและอกุศลจิต ก็เป็นการศึกษาเรื่องชื่อ เช่น อกุศลจิตมี ๑๒ ประเภท เป็นโลภมูลจิต ๘ ดวง เป็นโทสมูลจิต ๒ ดวง เป็นโมหมูลจิต ๒ ดวง และกุศลจิตก็มี ๘ ดวง เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ประกอบด้วยญาณ เป็นญาณสัมปยุตต์ เป็นอสังขาริก หรือเป็นสสังขาริก นั่นเรียนเรื่องชื่อ ตราบใดที่สติสัมปชัญญะไม่เกิดที่จะรู้ลักษณะสภาพของอกุศลจิตหรือกุศลจิตที่กำลังเป็นไปในขณะนั้น ก็ต้องเป็นการรู้โดยชื่อเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะอบรมเจริญสมถภาวนาไม่ใช่รู้ชื่อ แต่ต้องเป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะที่จะรู้ลักษณะของจิตทางตาที่กำลังเห็น และรู้ว่าในขณะนั้น เป็นอกุศลหรือเป็นกุศล จึงจะอบรมเจริญสมถภาวนาได้

    ไม่ใช่เห็นก็เห็น ไม่รู้อะไรเลย และก็ไปจดจ้องอยู่ที่หนึ่งที่ใดโดยไม่มีปัญญา ที่จะรู้ลักษณะสภาพของจิต เพียงแต่จิตนิ่งไม่กระสับกระส่ายไปรู้อารมณ์อื่นๆ ทั่วๆ ไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเหมือนปกติ ก็เข้าใจว่า ขณะนั้นจิตตั้งมั่นและสงบ ความจริงจิตตั้งมั่นแต่เมื่อปัญญาไม่เกิดในขณะนั้นจะชื่อว่าสงบไม่ได้ เพราะว่าลักษณะของจิตที่เป็นกุศลและจิตที่เป็นอกุศล ถ้าปัญญาไม่เกิดไม่สามารถรู้ได้ รู้ได้โดยชื่อ แต่ไม่รู้ลักษณะจริงๆ

    ในขณะนี้พิสูจน์ได้ เช่น ทางตาที่เห็น ใครสามารถบอกได้ด้วยสติสัมปชัญญะว่า เป็นกุศลหรืออกุศล หรือบอกได้โดยชื่อ ถ้าเห็นสุนัข และเห็นสิ่งอื่น เช่น ดอกไม้หรือเห็นพระพุทธรูปก็ตาม มีใครสามารถรู้ด้วยสติสัมปชัญญะว่า ขณะนั้นจิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

    ด้วยเหตุนี้การอบรมเจริญภาวนา ไม่ว่าจะเป็นสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนา ต้องเป็นผู้ที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะและปัญญา

    เรื่องของสภาพธรรมเป็นเรื่องที่รู้ยาก ไม่ใช่รู้ง่ายๆ ทั้งๆ ที่ได้ศึกษาเรื่องของ จิตประเภทต่างๆ เรื่องของเจตสิกที่เป็นอกุศล เรื่องของเจตสิกที่เป็นกุศลก็ตาม แต่ก็ต้องอาศัยพระธรรมที่จะทำให้สติมีการระลึกได้

    สติเป็นสภาพที่ระลึก สติมีลักษณะระลึกรู้สภาพธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่ฟังมาก เข้าใจมาก ก็มีปัจจัยที่จะให้เกิดการระลึกได้ ซึ่งขณะนั้นเป็นสติ ไม่ใช่เรา

    ผู้ที่ต้องการอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะรู้ลักษณะของสติที่ระลึกในขณะที่กุศลหรืออกุศลกำลังเกิดขึ้นในขณะนั้น และจะเข้าใจลักษณะของสติสัมปชัญญะด้วยว่า สติสัมปชัญญะคืออย่างนี้ คือ ขณะที่สภาพธรรมใดกำลังปรากฏก็ระลึกรู้ใน สภาพธรรมนั้น

    การเห็นกิเลสของตนเองละเอียดขึ้น จะทำให้เป็นผู้ที่พิจารณาเห็นโทษของ กิเลสนั้นๆ มิฉะนั้นแล้วก็ไม่เห็น เห็นแต่กิเลสที่เป็นโลภะแรงๆ หรือโทสะแรงๆ แต่ถ้าเป็นกิเลสที่ละเอียดกว่านั้น และพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงไว้ สติก็ไม่สามารถระลึกรู้ได้ แต่ถ้าเข้าใจขึ้น จะทำให้เกิดวิริยะที่จะละคลายอกุศลที่ละเอียดด้วย

    อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อรรถกถาตุวฏกสุตตนิทเทสที่ ๑๔ มีข้อความว่า

    ภิกษุทั้งๆ รู้อยู่ล่วงข้อบัญญัติ ทำกรรมหนัก แต่กล่าวทำเป็นเหมือนผู้สงบว่า เราไม่มีการละเมิดเลย และเป็นผู้บากบั่นด้วยกาย คือ ทำความปกปิดทางกายว่า ใครๆ อย่ารู้บาปกรรมที่เราทำนี้เลย

    แสดงให้เห็นว่า เวลาที่เป็นทุจริตกรรม ก็รู้ว่าขณะนั้นได้กระทำกรรม ล่วงเป็นอกุศลกรรมไปแล้ว แต่หลังจากนั้นอกุศลที่ติดตามมา ถ้าไม่อาศัยความละเอียดจริงๆ จะไม่รู้เลย แม้แต่การทำเป็นเสมือนผู้สงบว่า เราไม่มีการละเมิดเลย และนอกจากนั้นเป็นผู้บากบั่นด้วยกาย คือ ทำความปกปิดทางกายว่า ใครๆ อย่ารู้บาปกรรมที่เราทำนี้เลย

    ในขณะนั้น อกุศลกรรมทำไปแล้ว ก็ยังมีอกุศลจิตที่ละเอียดตามมาอีก

    เพราะว่า ความลวง คือ ทำเป็นลวงให้หลงทางตา โดยปกปิดโทษที่มีอยู่

    ชีวิตประจำวันทั้งหมดจะสังเกตได้ว่า ทุกคนต้องมีอกุศลในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นชาติหนึ่งชาติใด วันหนึ่งวันใด เหตุการณ์หนึ่งเหตุการณ์ใดก็ตาม ขณะที่ไม่จริงใจ และเสแสร้งแม้เพียงเล็กน้อย ขณะนั้นก็เป็นอกุศล

    ถ้าไม่มีใครบอก ถ้าไม่มีใครเตือน จะรู้ไหมว่า เล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน ก็เป็นอกุศลในรูปแบบต่างๆ ทั้งนั้น แม้แต่เพียงความไม่จริงใจ แม้เพียงการเสแสร้งเพียงเล็กๆ น้อยๆ ในขณะนั้นก็เป็นอกุศล

    ความเป็นแห่งความเป็นผู้หลอกลวง ชื่อว่ามายาวิตา ความเป็นผู้ลวง

    เล็กน้อยสักเท่าไร ก็ยังชื่อว่าลวง

    ชื่อว่าอัจจสรา เพราะทำความชั่วแล้วปิดบัง

    ชื่อว่าวัญจนา เพราะซ่อนความจริงโดยให้เห็นเป็นอย่างอื่นด้วยวาจา และกิริยา

    ชื่อว่านิกติ เพราะบังความผิด

    ท่านผู้ฟังที่สนใจคำบาลีเพราะๆ อาจจะคิดว่าคำเหล่านี้เพราะดี แต่ความจริงเป็นการกระทำที่เป็นไปเพราะอกุศลทั้งนั้น

    ชื่อว่านิกิรณา เพราะปิดบังความผิดด้วยคิดว่า เราจะไม่ทำอย่างนี้อีก

    พิจารณาดูว่า ในขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ขณะที่ปิดความผิด ขณะนั้นต้องเป็นอกุศล แต่ปิดและคิดว่า เราจะไม่ทำอย่างนี้อีก ถ้าเป็นคฤหัสถ์ก็ไม่เป็นไร แต่สำหรับพระภิกษุ แม้คิดว่าจะไม่ทำอย่างนั้นอีก แต่ปิดความผิดที่ได้กระทำแล้ว ไม่ปลงอาบัติกับภิกษุรูปอื่น ก็ยังคงเป็นความผิด เพราะว่าไม่ได้เปิดเผยความผิด ที่ได้กระทำแล้ว



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙๐ ตอนที่ ๑๘๙๑ – ๑๙๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 133
    28 ธ.ค. 2564