แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1941


    ครั้งที่ ๑๙๔๑


    สาระสำคัญ

    การมีพระรัตนตรัยเป็นสรณะจริงๆ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๓๓


    สุ. ตามความเป็นจริงแล้วผู้ที่เข้าใจในพระรัตนตรัย มีสัจจวาจา คือ ความจริงใจของตนเองที่ได้เข้าถึงคุณของพระรัตนตรัย ถ้าเป็นผู้กล่าว นั่นเป็น สัจจวาจา แต่ผู้ที่สวด มีความเข้าใจจริงหรือเปล่าที่จะอาศัยคุณนั้น หรือเพียงแต่ มีความปรารถนา มีความต้องการ มีศรัทธา แต่ไม่เข้าใจในเรื่องเหตุผลว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นแม้แต่ในขณะนี้แต่ละขณะ ต้องมีเหตุปัจจัยที่จะเกิดขึ้น จึงจะเกิดขึ้นได้

    เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังต้องการลาภ ยศ สรรเสริญ สุขต่างๆ มีพระธรรม ที่จะเกื้อกูล หรือคำสวดที่จะให้ระลึกได้ไหมว่า ขณะนี้เป็นโลภะ ถ้าสวดแล้วระลึกได้ ก็ยังดี แต่ถ้าไม่ระลึกเลย ก็ยังคงมีความปรารถนา เป็นไปด้วยความต้องการโดยตลอด และเมื่อไรจะระลึกได้ว่า ยังมีโลภะมาก ยังมีความต้องการ ทำอย่างไรจะค่อยๆ คลายจากโลภะนั้นได้

    ถ. ผมอยากจะฟังจากอาจารย์สมพรอีกคน

    สุ. ขอประทานโทษ นี่ไม่ใช่เป็นการลบหลู่ แต่เพื่อให้เข้าใจในเหตุในผลของธรรมตรงไปตรงมา จะได้มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะจริงๆ เชิญ อาจารย์สมพร

    สมพร เรื่องคาถาชินบัญชร ตามความคิดเห็นของผมก็คล้ายๆ ดอกเตอร์ชินวุฒิที่ว่า เป็นวรรณกรรมชิ้นหนึ่งที่แต่งขึ้นมา แต่คนรุ่นหลังอาจจะไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงเลยยึดถือผิดไป เพราะในสมัยนั้นมีพวกพราหมณ์ปลอมบวช ในพระพุทธศาสนามาก พวกพราหมณ์มักจะมีเวทมนต์ของเขาต่างหาก เมื่อยังไม่บรรลุมรรคผลอะไร ก็เลยแต่งเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เพื่อเป็นการ คุ้มครอง ต่อมาคนรุ่นหลังมีความคิดเห็นผิดจากนั้นไปว่า ถ้าสวดแล้วจะเป็นการคุ้มครองและจะได้ลาภ เพราะฉะนั้น การสวดภายหลังจึงเป็นการสวดเพื่อคุ้มครองและปรารถนาลาภเป็นส่วนมาก ด้วยอำนาจของโลภะ โลภะครอบคลุมหมดไม่ว่าอะไร นอกจากมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ เป็นอารมณ์ของโลภะทั้งสิ้น ผมมีความคิดเห็น แค่นี้

    สุ. ที่จริงรัตนะสูตรก็มีอยู่แล้ว และพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ตรัส ยังจะต้องมีอย่างอื่นอีกไหม เพราะว่ารัตนะสูตรตรงทีเดียว เป็นการแสดงคุณของพระรัตนตรัยครบถ้วนทุกประการ ทั้งพระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะ และเป็นสัจจวาจาที่เตือนให้ผู้ที่เข้าใจในพระธรรมได้อบรมเจริญปัญญา ได้รู้สภาพธรรม ได้ขัดเกลากิเลส เพราะฉะนั้น เมื่อรัตนะสูตรมีอยู่แล้ว ไม่ทราบว่าต้องมีวรรณกรรมอื่นอีกหรือเปล่าสำหรับผู้ที่มีอัธยาศัยอย่างอื่น

    ผู้มีอัธยาศัยอย่างอื่น หมายความว่าเป็นผู้ที่มีความโน้มเอียงที่จะเข้าใจอย่างอื่นด้วย เพราะว่าทุกคนยังเป็นผู้ที่มีโลภะ และทำอย่างไรจะละโลภะนั้นได้ ถ้าเป็นเรื่องที่สวดเพื่อต้องการลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ไม่ใช่เรื่องละโลภะ

    แต่ถ้าปัญญาอยู่ที่ใด ที่นั่นไม่มีอกุศล ไม่มีโลภะ ถ้าปัญญายังไม่เกิดในที่ใด ที่นั้นที่จะไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ หรืออกุศลต่างๆ เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น จะต้องพิจารณาจริงๆ ว่า พระธรรมนั้นไม่ใช่เพื่อโลภะ เพื่อลาภ เพื่อยศ เพื่อสรรเสริญ เพื่อสุข เพื่อสักการะ แต่ต้องเป็นไปเพื่อปัญญา

    พระธรรมจริงๆ เพื่อให้พุทธบริษัทเกิดปัญญา เป็นเรื่องละ แต่ถ้ามีวรรณกรรม หรือมีข้อปฏิบัติต่างๆ ที่ไม่ใช่เป็นเรื่องของปัญญา ไม่ใช่เรื่องของการละ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่พระธรรมโดยตรง ประการสำคัญ คือ รัตนะสูตรมีแล้ว และพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ตรัสโดยพระองค์เองด้วย และผู้ที่สวดรัตนะสูตรก็ไม่ต้องเอาอะไรมาวางให้ตะขิดตะขวงใจ ใช่ไหม

    ตะขิดตะขวงใจ แต่ยังไม่เลิก แสดงให้เห็นถึงความคุ้นเคยกับความเคยชิน ก่อนสวดก็ไม่ได้มีเรื่องเดือดร้อนอะไร ใช่ไหม ชีวิตก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย มีสุข มีทุกข์ตามบุญตามกรรม นี่ก่อนสวด หลังจากสวด ชีวิตก็ยังเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ตามบุญตามกรรม แล้วแต่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่ความคุ้นเคยทีละเล็กทีละน้อย นี่คือพระธรรมที่เป็นมงคลที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงประการแรกสุด มงคลประการที่ ๑ คือ ไม่คบคนพาล เพราะว่าใครจะประมาทอย่างไรก็ตามว่าเก่ง ว่าเลิศ ว่าดี แต่อาศัยการสมาคม การคุ้นเคยทีละเล็กทีละน้อย ในที่สุดแม้ความเห็นก็เปลี่ยนไปได้ การกระทำต่างๆ ก็เปลี่ยนไปได้เหมือนกัน มิฉะนั้นจะไม่ทรงแสดงมงคลข้อที่ ๑ คือ ไม่คบคนพาล ท่านที่เคยวิสาสะคุ้นเคยกับอกุศลใดๆ ก็ตาม ความเห็นผิดใดๆ ก็ตาม จะเห็นได้ว่า ละยาก แม้เพียงเรื่องสวดยังละยาก เรื่องอื่นจะละยากไหม ไม่รู้ตัวเลย

    นิภัทร เป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องความเคยชินที่สั่งสมมา ละได้ยาก แต่ผมพยายามปรับเข้าหาพระสูตร พยายามนึกให้เป็นพระสูตร พยายามน้อมนึกอย่างที่ดอกเตอร์ชินวุฒิว่า ความเข้าใจเป็นเรื่องสำคัญ แต่ส่วนใหญ่จะเขวออกนอกทาง ผมพยายามจะเลิกหลายหนแล้ว ไม่สวด แต่นึกๆ ก็สวดบ้างก็ดี

    สุ. คุณนิภัทรสวดรัตนะสูตรได้ไหม

    นิภัทร ได้

    สุ. แล้วเคยสวดบ้างไหม

    นิภัทร สวดทุกคืน

    สุ. สวดรัตนะสูตรด้วย

    นิภัทร ตอนสุดท้ายก็สวด .... เป็นคาถาชินบัญชร คือ พระพุทธเจ้าทรงชนะมารพร้อมด้วยเสนาขณะที่ประทับที่โพธิบัลลังก์ เนื้อความเป็นอย่างนั้น เล่ามาตั้งแต่ต้น

    สุ. ท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านเล่าให้ฟังเรื่องพระภิกษุรูปหนึ่งที่สามารถบันดาลแก้วแหวนเงินทองให้ได้ และท่านก็สนใจถามว่า จริงไหม คือ แทนที่จะสนใจว่า เพราะเหตุใดพระรูปนั้นจึงได้กล่าวอย่างนี้ แทนที่จะสนใจในวัตถุประสงค์ ในเจตนาของการกล่าว การแสดง แต่ท่านกลับสนใจว่า เป็นไปได้ไหม ซึ่งความจริงเรื่อง เป็นไปได้ เป็นไปไม่ได้ ไม่น่าสนใจ เพราะไม่ใช่เรื่องละกิเลส

    ถ้าใครจะเอาอะไรมาให้ ก็ขอให้พิจารณาว่าให้อะไร ให้ศรัทธา หรือให้สติ ให้สัมปชัญญะ ให้ศีล ให้อริยทรัพย์อันประเสริฐ หรือให้โลภะ ให้ติดในวัตถุนั้น ถ้าทุกท่านไม่สนใจในการที่ใครจะหยิบฉวยอะไรจากไหนมาให้ ไม่เห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ แต่ส่องไปถึงเจตนาของการกระทำนั้นๆ ว่า เพื่ออะไร เพราะอะไร ซึ่งถ้ารู้อย่างนี้แล้วและไม่สนใจเลย ไม่ตื่นเต้นเลย บุคคลนั้นๆ ก็จะไม่แสดง ไม่กล่าว ไม่กระทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เพราะว่าไม่มีใครสนใจ แต่ตราบใดยังเป็นที่สนใจอยู่ ยังเป็นที่ต้องการอยู่ ก็จะต้องเป็นผู้ที่กล่าวว่า บุคคลนั้นทำอย่างนั้นได้ บุคคลนี้ ทำอย่างนี้ได้ และมีแต่ความสนใจว่าจริงไหม แต่ความจริงแล้วไม่น่าสนใจเลยแม้แต่ จะคิดว่าจริงไหม เพราะไม่ใช่เป็นเรื่องของปัญญา ไม่ใช่เรื่องของศีล ไม่ใช่เรื่องของศรัทธา ไม่ใช่เรื่องของสติ

    ถ. สีลัพพตปรามาสจะต้องมีโลภะยืนพื้นเลยหรือ

    สุ. ขอให้พิจารณา

    ถ. ถ้าเขาเกิดมาโง่ และถูกจูงไป หลอกไป

    สุ. ไม่พ้นโลภะ มีความยินดี มีความชอบใจในเหตุนั้นๆ ที่จะกระทำ ถ้าไม่พอใจในการกระทำอย่างนั้นจะไม่กระทำ เพราะฉะนั้น เมื่อมีความยินดีพอใจ ที่จะกระทำอย่างไร ขอให้พิจารณาว่า ขณะนั้นเป็นเพราะความชอบใจในการกระทำ อย่างนั้น และคิดว่าจะได้ผลอย่างนั้นๆ ด้วย ซึ่งผลไม่ใช่ปัญญาที่รู้ในเหตุในผล ของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    ถ. มีหลายๆ เรื่อง อย่างเช่น ใส่บาตร เอาเงินใส่ไป เป็นต้น

    สุ. ขอเรียนถามท่านอาจารย์สมพร

    สมพร ปัญหานี้ คนทั่วไปเข้าใจว่า เป็นการทำบุญที่สะดวกดี แต่ไม่รู้ว่า การทำเช่นนี้สะดวกกับเราจริง แต่ไม่สะดวกกับพระภิกษุ การรับเงินรับทองนั้น ท่านต้องอาบัติ พิจารณาดูว่า ถ้าทำให้คนอื่นเกิดความเศร้าหมอง ก็ไม่ดี ใช่ไหม แม้เราจะมีเจตนาดี แต่เรากระทำในสิ่งที่ไม่ถูก ถ้าพิจารณาดูให้ดีว่า สิ่งที่ท่านรับนั้นเป็นอนามาส ถ้าเราเข้าใจ เราก็ไม่ควรถวาย ควรถวายสิ่งที่สมควรแก่ภิกษุ ซึ่งโดยสภาวะก็มี ๔ อย่างเท่านั้นเรียกว่า ปัจจัย ๔ นอกจากนี้เรียกว่า อดิเรกลาภ คือ มีก็ได้ ไม่มีก็ได้ ถ้าเราถวายปัจจัย ๔ อย่างใดอย่างหนึ่งไม่เกี่ยวกับเงินทอง ก็ทำให้บริสุทธิ์ทั้ง ๒ ฝ่าย เราก็เป็นผู้บริสุทธิ์ พระผู้รับก็เป็นผู้บริสุทธิ์ ถ้าเราถวาย เงินและทอง เราบริสุทธิ์จริง แต่ท่านรับไปแล้วท่านเป็นผู้ที่ต้องอาบัติ ก็เป็นผู้ที่ ไม่บริสุทธิ์ในขณะนั้น และถ้ายินดีเงินและทองนั้นก็แสดงอาบัติไม่หลุด ต้องสละเงินและทองนั้นก่อน จึงแสดงอาบัติได้

    สุ. เงินทองที่นี่ หมายความถึงที่จะเอาไปจับจ่ายใช้สอย หรือพวกเครื่องเงินเครื่องทอง

    สมพร ใช้สอยต่างเงินทองเรียกว่า ปัจจัย ปัจจัยที่ควรแก่ภิกษุจริงๆ มี ๔ อย่าง คือ จีวร อาหารบิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัย คิลานเภสัช นอกจากนั้นเป็นอดิเรกลาภ เช่น จีวรที่ได้มามากมาย แต่ถ้าเป็นรถยนต์ เป็นสิ่งที่ ไม่ควร เป็นอนามาส ไม่ควรแก่ภิกษุ

    ภิกษุจริงๆ มีของ ๔ อย่างนี้เท่านั้น และที่ชื่อว่าอดิเรกลาภ เพราะว่าได้มามาก อย่างจีวรก็ได้มาก อาหารก็ได้มาก ยาก็ได้มากเกินจากความจำเป็น อย่างผ้า ท่านใช้ ๓ ผืน เกินกว่านั้นเรียกว่า อดิเรกลาภ ลาภพิเศษ สิ่งอื่นไม่ควรแก่ภิกษุทั้งสิ้น เพราะว่าภิกษุเป็นผู้ละแล้ว ขณะนี้ยังละไม่ได้ แต่เป็นผู้ที่ปฏิบัติเพื่อจะละ

    ถ้าเป็นปุถุชน ยังยินดีอยู่ในกาม ก็ยาก คำว่า นิสสัคคีย์กับปาจิตตีย์นี้ เป็น ๒ ศัพท์ ปาจิตตีย์เป็นชื่ออาบัติ นิสสัคคีย์ แปลว่า ต้องสละวัตถุที่รับมาเสียก่อน จึงแสดงอาบัติได้ เช่น รับเงินและทองมา ตราบใดที่ยังยินดีในเงินและทอง แสดงอาบัติแสดงอย่างไรก็ไม่ตก อาบัติก็ไม่ออก จะต้องสละโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง เช่น ให้ลูกศิษย์ หรือทิ้งไปเลยก็ได้ และแสดงอาบัติ อาบัตินั้นจึงตก เพราะว่าภิกษุจริงๆ ไม่ต้องการสิ่งเหล่านี้ ในสมัยก่อนเป็นเช่นนี้

    ถ. ที่ว่าให้ยานพาหนะ ชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง

    สมพร ยานพาหนะในพระวินัยจำกัดไว้เลยว่า ยานพาหนะของภิกษุมี อย่างเดียว คือ รองเท้า ช้างแก้ว ม้าแก้ว หรืออะไรทั้งสิ้นไม่ใช่ยานของภิกษุ ไม่ควรแก่ภิกษุ

    ถ. เคยฟังมาว่า อย่างของที่ใส่บาตร ควรใส่ของที่ท่านฉันได้ทันที สมัยนี้เป็นเครื่องกระป๋อง หรือบะหมี่สำเร็จรูปที่ท่านต้องนำไปปรุง ไปเปิด จะเป็นอาบัติไหม

    สมพร ถ้าเราถวายเครื่องกระป๋อง ภิกษุนำไปเปิดก็ไม่เสียหายอะไร แต่ถ้าท่านสะสมไว้ อาหารที่สะสมไว้ไม่ควรแก่ภิกษุ ฉันไปแล้วมื้อหนึ่ง หมดไปแล้ว ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องห่วงใย เพราะว่าในสมัยนี้เป็นสมัยที่อุดมสมบูรณ์ด้วยข้าวปลาอาหาร แต่ถ้าเป็นสมัยที่ข้าวยากหมากแพง พระองค์ทรงอนุญาตไว้ ต่อมาเป็นสมัยที่สมบูรณ์แล้วก็เป็นอันว่ายกเลิกข้อนี้ ถ้ามีการสะสมก็เป็นอาบัติ เรื่องการสะสมนี่ ไม่ควรแก่ภิกษุอย่างยิ่ง การสะสมอาหารทุกอย่าง เช่น สะสมไว้ฉันพรุ่งนี้ เป็นต้น เรียกว่า การสะสม

    ถ. ตามหมู่บ้านอย่างแถวชานเมือง มีพระบิณฑบาตข้าวสารอาหารแห้ง พระ ๒๐ – ๓๐ รูป ก็เอาบาตรมารับข้าวสารอาหารแห้ง ของที่ยังฉันไม่ได้ อีกอย่างตามวัดเวลามีงาน เขาเรียกว่า ใส่บาตรสะเดาะเคราะห์ วางบาตรไว้เป็นแถว ชาวบ้านไปแลกเศษสตางค์ใส่บาตร เป็นการสมควรหรือไม่

    สมพร การสะเดาะเคราะห์ไม่เกี่ยวกับภิกษุ ภิกษุเป็นผู้เชื่อเรื่องกรรม เป็นใหญ่ ใครจะดีหรือชั่วก็เพราะการกระทำ ไม่ใช่ทำบาปแล้วสะเดาะเคราะห์ ให้บาปหมดไป เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าบาปนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย การสะเดาะเคราะห์เป็นพิธีของพราหมณ์ เป็นพิธีที่เกี่ยวกับการหาเงิน พราหมณ์ ผู้สะเดาะเคราะห์ได้เงิน

    มีเพื่อนหลายคนที่มีความรู้สูงๆ หมอบอกว่า เขาจะตาย ต้องสะเดาะเคราะห์ ก็ไปเสียเงินตั้งหลายพันเพื่อสะเดาะเคราะห์

    ความจริงเราศึกษามาแล้วว่า กรรมเป็นใหญ่ ไม่มีใครที่จะรู้ได้นอกจากพระพุทธเจ้าองค์เดียว เรียกว่าเป็นอจินไตย ทำไมไม่เชื่อเรื่องกรรม ไม่เชื่อพระพุทธเจ้า กลับไปเชื่อพราหมณ์ ไปเชื่อคนอื่น อย่างนี้ไม่ถูก



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙๕ ตอนที่ ๑๙๔๑ – ๑๙๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 133
    11 ก.พ. 2566