แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1914


    ครั้งที่ ๑๙๑๔


    สาระสำคัญ

    พระสาวก ๓ อัครสาวก มหาสาวก ปกติสาวก

    ขุ.เถร.วังคีสเถรคาถาที่ ๑ พระอริยบุคคล ๕ จำพวก

    อินทรีย์ ๕ (ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา)

    ปฏิสัมภิทา ๔ (อัตถปฏิสัมภิทา ๑ ธัมมปฏิสัมภิทา ๑ นิรุตติปฏิสัมภิทา ๑ ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ๑)

    อภิญญา ๖

    ที.ม. อรรถกถาปายาสิราชันยสูตร


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๓


    สำหรับการสะสมอุปนิสัยเพื่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมนั้น

    ข้อความต่อไปมีว่า

    จริงอย่างนั้น ในพุทธุปบาทกาล ท่านเหล่านี้เมื่อเห็นอานุภาพของ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย เห็นความงามแห่งพระคุณอันเป็นอจินไตยน่าอัศจรรย์ ย่อมได้ความศรัทธาในพระศาสดา เพราะทรงเป็นผู้นำความเลื่อมใสมาแม้โดยประการทั้งปวงแก่ชาวโลกผู้ถือประมาณ ๔ จำพวก คือ บางพวกถือประมาณในรูป บางพวกถือประมาณในเสียง บางพวกถือประมาณในการเป็นอยู่ที่เศร้าหมอง บางพวกถือประมาณในธรรม

    อนึ่ง ย่อมได้เฉพาะศรัทธาในพระสัทธรรม ด้วยการได้ฟังพระสัทธรรม ด้วยการได้เห็นความปฏิบัติชอบของพระสาวกทั้งหลาย ด้วยการได้เห็นอภินิหาร อันวิจิตรแห่งพระสัมมาสัมโพธิญาณของพระมหาโพธิสัตว์ในกาลบางครั้งบางคราว และด้วยได้รับโอวาทและอนุสาสน์ในสำนักของพระมหาโพธิสัตว์เหล่านั้น ท่านเหล่านั้นได้เฉพาะศรัทธาในการฟังพระสัทธรรมเป็นต้น แม้เห็นโทษในสงสาร และอานิสงส์ในพระนิพพาน แต่เพราะยังมีกิเลสธุลีในดวงตามาก จึงยังไม่บรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ ย่อมปลูกพืชคือกุศลอันเป็นนิสัยแก่วัฏฏะลงไว้ในสันดานของตนๆ ในระหว่างๆ เพราะการคบหาสัปบุรุษเป็นสิ่งมีอุปการะมาก

    ท่านผู้ฟังเห็นได้เลยว่า เป็นชีวิตของท่านในชาตินี้เอง คือ ได้ฟังพระสัทธรรม และได้มีศรัทธาในการฟังพระสัทธรรม แต่เพราะยังมีกิเลสธุลีในดวงตามาก จึงยังไม่บรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ คือ ยังไม่สามารถประจักษ์ลักษณะของพระนิพพานได้ แต่ทุกท่าน ย่อมปลูกพืชคือกุศลอันเป็นนิสัยแก่วัฏฏะลงไว้ในสันดานของตนๆ ในระหว่างๆ คือ ทุกชาติไป กว่าจะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะการ คบหาสัปบุรุษเป็นสิ่งมีอุปการะมาก

    ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ผิว่าเราพลาดศาสนาของพระโลกนาถ พระองค์นี้ไซร้ ในอนาคตกาลเราจักได้อยู่พร้อมหน้าพระโพธิสัตว์องค์นี้ มนุษย์ทั้งหลายเมื่อข้ามแม่น้ำ พลาดจากท่าตรงหน้า ก็ยึดท่าข้างใต้ไว้ ย่อมข้ามแม่น้ำใหญ่ได้ฉันใด เราทั้งหมดก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าพ้นพระชินสีห์พระองค์นี้ไป ในอนาคตกาลจักได้อยู่พร้อมหน้าพระโพธิสัตว์นี้

    ใครๆ ไม่อาจกล่าวได้ว่า กุศลจิตที่บุคคลให้เกิดขึ้นเฉพาะเจาะจงพระนิพพานอย่างนี้ ย่อมไม่เป็นอุปนิสัยแก่การบรรลุวิโมกข์ในระหว่างกาล ๔ อสงไขยแสนกัป พระสาวกเหล่านั้นแม้มี ๒ อย่างด้วยประการฉะนี้

    คือ ที่มีอปทานและไม่มีอปทาน

    ท่านผู้ฟังคงจะเห็นจริงที่ว่า ผิว่าเราพลาดศาสนาของพระโลกนาถพระองค์นี้ไซร้ ในอนาคตกาลเราจักได้อยู่พร้อมหน้าพระโพธิสัตว์องค์นี้ มนุษย์ทั้งหลายเมื่อข้ามแม่น้ำพลาดจากท่าตรงหน้า ก็ยึดท่าข้างใต้ไว้ ย่อมข้ามแม่น้ำใหญ่ได้ฉันใด เราทั้งหมด ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าพ้นพระชินสีห์พระองค์นี้ไป ในอนาคตกาลจักได้อยู่พร้อมหน้าพระโพธิสัตว์นี้

    จริงไหม ถ้าไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมในสมัยของพระผู้มีพระภาค พระองค์นี้ กุศลใดๆ ที่ได้สะสม ศรัทธาที่ได้ฟังพระสัทธรรม และการปลูกพืชคือกุศลในสันดานของตนเอง คือ ในการสืบต่อของจิตในสังสารวัฏฏ์ และการคบหาสัปบุรุษ ใครๆ ไม่อาจกล่าวได้ว่า กุศลจิตที่บุคคลให้เกิดขึ้นเฉพาะเจาะจงพระนิพพานอย่างนี้ ย่อมไม่เป็นอุปนิสัยแก่การบรรลุวิโมกข์ในระหว่างกาล ๔ อสงไขยแสนกัป คือ ต้องเป็นอุปนิสัยแก่การบรรลุวิโมกข์

    ข้อความต่อไปมีว่า

    พระสาวกมี ๓ อย่าง คือ อัครสาวก มหาสาวก ปกติสาวก

    แล้วแต่ฉันทะและความสามารถในการที่จะเป็นพระสาวกจำพวกไหน

    บรรดาพระสาวก ๓ พวกนั้น พระสาวกเหล่านี้ คือ ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ ท่านพระวัปปะ ท่านพระภัททิยะ ท่านพระมหานามะ ท่านพระอัสสชิ ท่านพระนาลกะ ท่านพระยสะ ท่านพระวิมละ ท่านพระสุพาหุ ท่านพระปุณณชิ ท่านพระควัมปติ ท่านพระอุรุเวลกัสสปะ ท่านพระนทีกัสสปะ ท่านพระคยากัสสปะ ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระมหากัสสปะ ท่านพระมหากัจจายนะ ท่านพระมหาโกฏฐิตะ ท่านพระมหากัปปินะ ท่านพระมหาจุนทะ ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระกังขาเรวตะ ท่านพระอานันทะ ท่านพระนันทกะ ท่านพระภคุ ท่านพระนันทะ ท่านพระกิมพิละ ท่านพระภัททิยะ ท่านพระราหุล ท่านพระสีวลี ท่านพระอุบาลี ท่านพระทัพพะ ท่านพระอุปเสนะ ท่านพระขทิรวนิยเรวตะ ท่านพระปุณณมันตานีบุตร ท่านพระปุณณสุนาปรันตะ ท่านพระโสณกุฏิกัณณะ ท่านพระโสณโกฬิวิสะ ท่านพระราธะ ท่านพระสุภูติ ท่านพระองคุลิมาล ท่านพระวักกลิ ท่านพระกาฬุทายี ท่านพระมหาอุทายี ท่านพระปิลินทวัจฉะ ท่านพระโสภิตะ ท่านพระกุมารกัสสปะ ท่านพระรัฏฐปาละ ท่านพระวังคีสะ ท่านพระสภิยะ ท่านพระเสละ ท่านพระอุปวานะ ท่านพระเมฆิยะ ท่านพระสาคตะ ท่านพระนาคิตะ ท่านพระลกุณฏกภัททิยะ ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะ ท่านพระมหาปันถกะ ท่านพระจูฬปันถกะ ท่านพระพากุละ ท่านพระกุณฑธานะ ท่านพระทารุจีริยะ ท่านพระยโสชะ ท่านพระอชิตะ ท่านพระติสสเมตเตยยะ ท่านพระปุณณกะ ท่านพระเมตตคู ท่านพระโธตกะ ท่านพระอุปสิวะ ท่านพระนันทะ ท่านพระเหมกะ ท่านพระโตเทยยะ ท่านพระกัปปะ ท่านพระชตุกัณณิ ท่านพระภัทราวุธะ ท่านพระอุทยะ ท่านพระโปสาละ ท่านพระโมฆราชะ ท่านพระปิงคิยะ ชื่อว่าเป็นพระอสีติมหาสาวก

    ท่านผู้ฟังนับไปด้วยหรือเปล่า ทั้งหมด ๘๐ รูป ถ้าท่านเป็นผู้ที่ชินต่อพระไตรปิฎก จะมีเพียงสัก ๒ – ๓ ชื่อที่ท่านอาจจะไม่คุ้นหู แต่ส่วนใหญ่แล้วจะได้ยินบ่อยๆ เพราะมีเรื่องราวของท่านในพระไตรปิฎก

    ถามว่า ก็เพราะเหตุไรพระเถระเหล่านั้นเท่านั้น จึงเรียกว่ามหาสาวก

    ตอบว่า เพราะเป็นผู้มีอภินิหารมาก จริงอย่างนั้น แม้พระอัครสาวกทั้งสอง ก็จัดเข้าในพระมหาสาวกทั้งหลาย ด้วยว่าพระอัครสาวกทั้งสองแม้ดำรงอยู่ในตำแหน่งอันเลิศเพราะบรรลุธรรมอันเลิศในพระสาวกทั้งหลาย โดยถึงที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณ ก็เรียกว่ามหาสาวกดังนี้บ้าง เพราะความเสมอกันโดยความเป็นผู้มีอภินิหารมาก ส่วนพระมหาสาวกอื่นๆ เป็นผู้มีอภินิหารมากยิ่งกว่าปกติสาวกทั้งหลาย

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ก็พระอริยสาวกเหล่าใด เปรียบไม่ได้กับพระอัครสาวกและพระมหาสาวก พระอริยสาวกเหล่านั้นเป็นปกติสาวก แต่พระอริยสาวกที่ยกขึ้นสู่บาลีในที่นี้ พอนับจำนวนได้ เพราะกำหนดนับเอาด้วยคาถา แม้อย่างนั้นบรรดาพระมหาสาวกทั้งหลาย บางพวกก็ไม่ได้ยกขึ้นสู่บาลีในที่นี้

    เพราะถ้ากล่าวจำเพาะเฉพาะ ๘๐ คือ พระอสีติมหาสาวกที่ได้กล่าวถึงแล้ว แต่ที่เป็นพระมหาสาวกที่ไม่ได้ยกขึ้นสู่บาลีก็ยังมีอีก

    มีท่านผู้ฟังที่อยากจะตอบสักคนหนึ่งไหมว่า ท่านอยากจะเป็นสาวกแบบไหน จะเป็นพระอัครสาวก พระมหาสาวก หรือว่าปกติสาวก

    . สำหรับผม ไม่เกี่ยงว่าจะเป็นประเภทไหน ขอให้สำเร็จมรรคผลก็พอ อยากจะได้ชาตินี้ด้วยซ้ำไป

    สุ. ก็เป็นความจริง เพราะมิฉะนั้นในศาสนาของพระผู้มีพระภาคคงจะ ไม่มีทั้งพระอัครสาวก พระมหาสาวก และปกติสาวก

    . พระอสีติมหาสาวก ๘๐ องค์ อย่างท่านพระพาหิยะ ท่านก็ไม่ได้บวช เป็นพระอรหันต์แต่ไม่ได้บวช

    สุ. เป็นมหาสาวก แต่ไม่ใช่เอหิภิกขุ หรือไม่ได้อุปสมบทเลย ไม่ว่าจะด้วยประการใดๆ ในอุปสมบท ๕

    . แต่ยังนับว่าเป็นพระอสีติมหาสาวก

    สุ. เป็นพระอรหันต์และเป็นเอตทัคคะด้วย เพราะฉะนั้น ต้องเป็น พระมหาสาวกแน่นอน

    . ในธรรมบท อย่างท่านพระจักขุบาล ท่านทำความเพียรอย่างสาหัส ไม่นอน ๓ เดือนจนบรรลุพระอรหันต์ พร้อมกับนัยน์ตาแตกทั้ง ๒ ข้าง ท่านก็ยังไม่นับเข้าเป็นมหาสาวก เป็นสาวกธรรมดา

    สุ. แม้อย่างนั้นบรรดาพระมหาสาวกทั้งหลาย บางพวกก็ไม่ได้ยกขึ้นสู่บาลีในทีนี้ คือ ไม่อยู่ในจำพวกอสีติมหาสาวก

    . เป็นมหาสาวก แต่ไม่ได้อยู่ใน ๘๐ รูปนี้

    . เรื่องของการอุปสมบท เคยศึกษามาว่า มีแค่เอหิภิกขุอุปสัมปทา ติสรณคมนูปสัมปทา และญัตติจตุตถกรรม ที่อาจารย์กล่าว ขอคำอธิบายอีกครั้ง ยังจำไม่ได้

    ­สุ. ๑. เอหิภิกขุ ๒. สรณคมน์ ๓. รับโอวาท ๔. ด้วยพยากรณ์ปัญหา ๕. ด้วยญัตติจตุตถกรรม

    ขาด ๒ คือ รับโอวาท ได้แก่ ท่านพระมหากัสสปะ เมื่อพระผู้มีพระภาคประทานโอวาทให้ท่าน ท่านก็เป็นปัจฉาสมณะ ติดตามพระผู้มีพระภาคหลังจากที่ ท่านบรรลุอริยสัจจธรรมแล้ว

    ด้วยพยากรณ์ปัญหา ได้แก่ ท่านโสปากสามเณร ท่านอายุ ๗ ขวบ และได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคที่บุพพาราม เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสปัญหา ท่านเป็นผู้ที่พยากรณ์ปัญหา เพราะฉะนั้น ท่านก็ได้อุปสมบทโดยพยากรณ์ปัญหา ด้วยความที่ท่านสะสมมาที่จะเป็นผู้ที่เฉลียวฉลาดในการพยากรณ์ปัญหาเพียงอายุ ๗ ขวบ เพราะฉะนั้น การพยากรณ์ปัญหาของท่านเป็นการอุปสมบท โดยไม่ต้องอุปสมบทอีก เพราะท่านสามารถพยากรณ์ปัญหาได้ โดยที่พระเถระอื่นไม่ได้พยากรณ์

    อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา วังคีสเถรคาถาที่ ๑ ได้จำแนก พระอริยบุคคลเป็น ๕ จำพวก โดยการจำแนกผู้ยิ่งด้วยอินทรีย์

    อินทรีย์มี ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เพราะฉะนั้น เวลาที่จะ รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็แล้วแต่ว่าท่านจัดอยู่ในบุคคลประเภทไหน คือ เป็นสาวกที่ยิ่งด้วยอินทรีย์ไหน

    พระอริยบุคคลเหล่านั้น แม้มีความเสมอกันโดยการตรัสรู้สัจจะ แต่พระเถระบางพวกเป็นผู้ยิ่งด้วยศรัทธาดุจท่านพระวักกลิเถระ บางพวกเป็นผู้ยิ่งด้วยความเพียร ดุจท่านพระมหาโสณโกฬิวิสเถระ บางพวกเป็นผู้ยิ่งด้วยสติดุจท่านพระโสภิตเถระ บางพวกเป็นผู้ยิ่งด้วยสมาธิดุจท่านพระจูฬปัณถกเถระ บางพวกเป็นผู้ยิ่งด้วยปัญญาดุจท่านพระอานันทเถระ

    เพราะฉะนั้น เมื่อท่านเป็นสาวกแล้วก็มีการจำแนกตามอุปนิสัยที่ได้สะสมมา

    อนึ่ง มี ๕ จำพวก คือ ท่านผู้บรรลุบารมีคือคุณอันยอดเยี่ยม ท่านผู้บรรลุปฏิสัมภิทา ท่านผู้มีอภิญญา ๖ ท่านผู้มีวิชชา ๓ และท่านผู้เป็นสุกขวิปัสสก

    ไม่เลือกอีกเหมือนกัน ใช่ไหม เลือกไม่ได้ แล้วแต่การสะสม

    จริงอยู่ บรรดาพระสาวกทั้งหลาย พระสาวกบางพวกบรรลุถึงที่สุด สาวกบารมีญาณ เหมือนท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะ

    นี่คือพวกที่ ๑

    พวกที่ ๒ คือ

    บางพวกบรรลุปฏิสัมภิทา ด้วยอำนาจปฏิสัมภิทา ๔ นี้ คือ อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ ๑ ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม ๑ นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในภาษา ๑ ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในไหวพริบ ๑

    สำหรับประเภทที่ ๓ คือ

    บางพวกมีอภิญญา ๖ ด้วยอำนาจอภิญญาทั้งหลาย มีอิทธิวิธญาณ ความรู้ในการแสดงฤทธิ์ได้ เป็นต้น

    อภิญญา ๖ นั้น ได้แก่ ความรู้ยิ่งยวด คือ

    ๑. อิทธิวิธี หรืออิทธิวิธา ได้แก่ การเป็นผู้สามารถแสดงอิทธิฤทธิ์ได้

    ๒. ทิพพโสต คือ มีหูทิพย์

    ๓. เจโตปริยญาณ คือ รู้ใจบุคคลอื่นได้

    ๔. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือ ระลึกชาติได้

    ๕. ทิพพจักขุ คือ มีตาทิพย์

    ๖. อาสวักขยญาณ คือ มีญาณที่ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท

    นี่คืออภิญญา ๖

    เพราะฉะนั้น ถ้าจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมโดยไม่ประกอบด้วยอภิญญา ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ควรอนุโมทนาในยุคนี้สมัยนี้ เพราะการที่จะให้ถึงพร้อมด้วยอภิญญา ๖ ทั้งหลาย ก็เป็นไปไม่ได้ในยุคนี้สมัยนี้

    สำหรับบุคคลประเภทที่ ๔ คือ

    บางพวกมีวิชชา ๓ ด้วยอำนาจวิชชา ๓ มีบุพเพนิวาสญาณ ความรู้ในการระลึกชาติได้ เป็นต้น.

    ท่านผู้มีวิชชา ๓ ก็น้อยกว่าอภิญญา ๖ คือ

    วิชชาที่ ๑ บุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติได้

    วิชชาที่ ๒ จุตูปปาตญาณ รู้จุติและปฏิสนธิของสัตว์ด้วยทิพยจักขุ

    วิชชาที่ ๓ อาสวักขยญาณ ปัญญาที่ทำลายกิเลส ดับกิเลสหมดเป็นสมุจเฉท

    บุคคลที่ ๕ คือ สุกขวิปัสสกะ

    ส่วนพระเถระผู้ตั้งอยู่ในสมาธิ เพียงสักว่าขณิกสมาธิ (คือ สมาธิชั่วขณะๆ ซึ่งเกิดกับจิตทุกๆ ขณะ) แล้วเจริญวิปัสสนาบรรลุอรหัตตมรรคนั้น ชื่อว่าสุกขวิปัสสกะ

    ผู้เจริญวิปัสสนาล้วนๆ เพราะมีแต่วิปัสสนาล้วน ไม่มีการสืบต่อใน ภายในวิปัสสนาด้วยองค์ฌานอันเกิดแต่สมาธิในเบื้องต้น และในระหว่างๆ

    ได้แก่ พระสาวกทั่วๆ ไป

    ส่วนพระมหาสาวกในพระบาลีทั้งหมด ไม่มีเลยที่จะเป็นสุกขวิปัสสกะ

    ท่านผู้ฟังคงจะทราบว่า แม้ท่านปุกกุสาติ และพระสาวกอื่นๆ ก็ต้องอบรมเจริญปัญญานานมากกว่าจะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ในชาติที่ท่านเป็นพระสหายของพระเจ้าพิมพิสาร ในชาติก่อนๆ ก็ไม่ทราบว่าท่านเป็นสหายกับใคร

    สำหรับทุกท่านในที่นี้ก็เหมือนกัน ในชาตินี้ท่านผู้ฟังมีมิตรสหายเป็นที่รัก เป็นที่คุ้นเคย แต่ในชาติก่อนท่านมีใครเป็นสหายก็ไม่ทราบได้ และสำหรับชาติหน้า ก็เช่นเดียวกัน เมื่อไม่ทราบว่าชาติก่อนเป็นเพื่อนสนิทกับใครมาแล้ว ชาติหน้า ก็ไม่ทราบอีกเหมือนกันว่าจะมีใครเป็นมิตรสหายที่สนิทสนมคุ้นเคย ทราบแต่เฉพาะปัจจุบันชาตินี้เท่านั้น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙๒ ตอนที่ ๑๙๑๑ – ๑๙๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 133
    28 ธ.ค. 2564