แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1810


    ครั้งที่ ๑๘๑๐


    สาระสำคัญ

    อถ.ขุ. มหากัจจายนเถระอรรถกถา - ผู้ที่มีชีวิตด้วยปัญญา

    อถ.ขุ. มหากัปปินเถระ - ปัญญาเป็นเครื่องตัดสินสิ่งที่ตนฟังมาแล้ว

    อเหตุกปฏิสนธิจิตและเหตุกปฏิสนธิจิต


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๓๑


    สำหรับคนที่เป็นมนุษย์ ต่างกับอบายภูมิ ๔ เพราะฉะนั้น จิตที่ปฏิสนธิก็ต้องต่างกัน เพราะสำหรับการปฏิสนธิในอบายภูมิ ๔ มีสัตว์เดรัจฉานเป็นต้น ต้องเป็นอเหตุกะที่เป็นอกุศลวิบาก คือ เป็นอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก ไม่มีอโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุเกิดร่วมด้วย ต่างกับผู้ที่ปฏิสนธิโดยมีอโลภเหตุ และอโทสเหตุ หรือมีอโมหเหตุเกิดร่วมด้วย

    ถ้ากล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ทวิเหตุกปฏิสนธิมีกี่ดวง ก็ไม่พ้นจากที่ได้กล่าวถึง นัยก่อน คือ ทวิเหตุกปฏิสนธิมี ๔ ดวง ถ้าใช้คำว่า ทวิเหตุกปฏิสนธิ ก็ทราบได้ว่า มีเหตุ ๒

    คำว่า ทวิ แปลว่า ๒ ได้แก่ อโลภเหตุ อโทสเหตุ เพราะถ้าเหตุเป็นอกุศล คือ เป็นโลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุแล้ว เป็นวิบากไม่ได้เลย

    โลภะเกิดขณะใด เป็นอกุศลขณะนั้น เป็นเหตุขณะนั้น ไม่ใช่ผล โทสะเกิดขณะใด เป็นอกุศลขณะนั้น เป็นเหตุขณะนั้น ไม่ใช่ผล โมหะเกิดขณะใด เป็นอกุศลขณะนั้น เป็นเหตุขณะนั้น ไม่ใช่ผล

    สำหรับโลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ เป็นผลคือเป็นวิบากไม่ได้ แต่สำหรับ อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ เป็นวิบากได้ เพราะฉะนั้น กรรมจำแนกบุคคลให้ต่างกันโดยปฏิสนธิจิตว่า ปฏิสนธิจิตนั้นเป็นทวิเหตุกปฏิสนธิ หรือเป็นติเหตุกปฏิสนธิ ถ้าเป็นทวิเหตุกปฏิสนธิ เป็นมหาวิบากญาณวิปปยุตต์ ก็มีทั้งหมด ๔ ดวง คือ เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา เป็นโสมนัสสสหคตัง ญาณวิปปยุตตัง อสังขาริกัง ๑ ดวง และเป็นโสมนัสเวทนา เป็นโสมนัสสสหคตัง ญาณวิปปยุตตัง สสังขาริกัง ๑ ดวง และอีก ๒ ดวง เกิดร่วมกับอุเบกขา ยังไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะว่า เป็นทวิเหตุกปฏิสนธิ ขณะที่ปฏิสนธิจะมีแต่เฉพาะอโลภเจตสิกและอโทสเจตสิก เกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้น บางท่านที่เป็นทวิเหตุกปฏิสนธิ จิตที่ปฏิสนธิไม่ได้เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา แต่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ก็เป็นอุเบกขาสหคตัง ญาณวิปปยุตตัง อสังขาริกัง ๑ ดวง และเป็นอุเบกขาสหคตัง ญาณวิปปยุตตัง สสังขาริกัง ๑ ดวง

    นี่คือบุคคลที่ปฏิสนธิเป็นทวิเหตุกปฏิสนธิ ประกอบด้วยอโลภเจตสิกและ อโทสเจตสิกในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิด เพราะฉะนั้น ตลอดชาตินั้นจะไม่รู้แจ้ง อริยสัจจธรรม และไม่บรรลุฌานจิต เพราะปฏิสนธิจิตไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    นี่คือความต่างกันของบุคคล ผลของกุศลอาจจะทำให้ผู้ที่เป็นทวิเหตุกปฏิสนธิ มีลาภสักการะ มั่งมี มีทรัพย์สมบัติมากมาย แต่ไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    สำหรับบางบุคคลที่กล่าวว่าเป็นติเหตุกปฏิสนธิ คือ ปฏิสนธิจิตมีเหตุ ๓ ติ คือ ๓ เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิกเกิดร่วมกับปฏิสนธิจิต จึงเป็นติเหตุกปฏิสนธิ หรือเป็นติเหตุกบุคคล มี ๔ ดวง คือ เกิดร่วมด้วยโสมนัสเวทนา เป็นญาณสัมปยุตต์ อสังขาริก ๑ สสังขาริก ๑ และเกิดร่วมกับ อุเบกขาเวทนา เป็นญาณสัมปยุตต์ อสังขาริก ๑ สสังขาริก ๑

    ไม่มีใครสามารถรู้ปฏิสนธิจิตของตนเองได้ จนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเมื่อไร หรือได้บรรลุฌานจิตเมื่อไร เมื่อนั้นจึงจะรู้ว่า ปฏิสนธิจิตเป็นติเหตุกะ มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ไม่ใช่สิ่งที่เราจะต้องกังวลถึงเลย เพราะว่าปฏิสนธิจิตเกิดแล้ว ไม่ว่า จะร่ำรวยหรือว่ายากจน จะสวยงามหรือไม่สวยงาม จะมีญาติมิตรผู้อุปการะหรือ ไร้ญาติขาดมิตรอย่างไรๆ ก็ตามแต่ ก็เป็นผลของกรรมที่ทำให้ปฏิสนธินั้นเกิดขึ้น ซึ่งจะต้องเป็นไปตามกรรมนั้นและกรรมอื่นๆ ที่มีโอกาสจะให้ผลหลังจากปฏิสนธิแล้ว เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย ไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงการให้ผลของกรรมได้ ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งถึงขณะนี้ที่กำลังเห็น เป็นผลของกรรมทั้งนั้น กำลังเห็นขณะนี้เป็นวิบาก เป็นผลของกรรม กำลังได้ยินขณะนี้เป็นวิบาก เป็นผลของกรรม

    ตั้งแต่ตื่นตลอดวันมานี่ มีใครทราบบ้างว่าเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม ทุกขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่กิเลสที่สะสมมา หลังจากวิบากจิตเกิดแล้ว จะมีความยินดียินร้ายเป็นอกุศลประเภทใดขั้นใด หรือ จะเป็นกุศลในขณะที่เห็นที่ได้ยินนั้น ก็จะทำให้วิบากข้างหน้าเกิดร่วมกับอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิกในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น หรือว่ากรรมหนึ่งจะทำให้เพียงแต่มีอโลภเจตสิกและอโทสเจตสิกเกิดร่วมกับปฏิสนธิ หรือจะยิ่งกว่านั้น คือ เป็นอเหตุกปฏิสนธิ ก็ไม่มีใครสามารถทราบได้ แต่ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระอริยบุคคล ก็ยังไม่พ้นจากอบายภูมิ

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้จริงๆ ว่า ทุกอย่างไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา

    ถ้าเข้าใจเรื่องของกรรม ต้องเข้าใจละเอียดถึงทุกขณะที่เห็น ทุกขณะที่ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสว่าเป็นวิบากจิตทั้งหมด แต่สิ่งที่ควรสะสมต่อไป ควรจะเป็นปัญญา เพราะการที่จะมีลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หรือมีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่น่าพอใจ เป็นที่ยินดีแสวงหา ไม่มีวันที่จะจบสิ้น ไม่เหมือนกับขณะที่ปัญญาเกิดและเห็นโทษของความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และมี ความยินดีในพระธรรม ในการที่จะอบรมเจริญปัญญา เพราะถ้าปัญญาไม่เกิดขณะใด ขณะนั้นก็ยังไม่สามารถดับความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้

    ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย อัฏฐกนิบาต มหากัจจายนเถระ อรรถกถาที่ ๑ มีข้อความว่า

    ชื่อว่าผู้มีปัญญา ถึงจะสิ้นทรัพย์ก็ยังเป็นอยู่ได้ คือ ถึงทรัพย์จะหมดสิ้นไป แต่ก็ยังมีปัญญา สันโดษยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้ เลี้ยงชีวิตด้วยการงาน ที่ปราศจากโทษอย่างเดียวนี้ ชื่อว่าชีวิตของบุคคลผู้มีปัญญา

    ถ้าไม่มีปัญญา มีทรัพย์สมบัติมากสักเท่าไรก็ไม่พอ เพราะฉะนั้น จะเป็นทุกข์หรือจะเป็นสุข แต่สำหรับผู้ที่มีปัญญา ถึงจะสิ้นทรัพย์ก็ยังเป็นอยู่ได้ คือ เป็นผู้ที่สันโดษยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้ และ เลี้ยงชีวิตด้วยการงานที่ปราศจากโทษ อย่างเดียว

    ถ้าเปรียบเทียบกับชีวิตของบรรพชิต ท่านที่คิดว่ากำลังสิ้นทรัพย์ หรือหมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง ก็จะเห็นได้ว่า ท่านไม่ใช่ผู้ที่ขัดสน ถ้าเทียบกับบรรพชิตผู้ไม่มีอะไรเลย สละหมดทุกสิ่งทุกอย่าง แต่อยู่ได้อย่างสบายๆ ด้วยปัญญา

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ปัญญาอย่างเดียวที่จะทำให้เป็นผู้ที่มีความสงบ หรือมีความสุขอย่างแท้จริง และสำหรับคนที่จะไตร่ตรองธรรมให้เข้าใจจริงๆ ก็ควรจะ คิดว่า ทำไมท่านพระมหากัจจายนะเป็นถึงพระอรหันต์ยังกล่าวคาถานี้ เพื่อประโยชน์อะไร หรือเพื่อประโยชน์แก่ใคร ก็เพื่อให้ทุกคนที่มีสติระลึกและพิจารณา ในขณะที่ท่านอาจจะมีความเดือดร้อน มีความทุกข์ยาก หรือหมดสิ้นทรัพย์สมบัติไป จะได้เข้าใจให้ถูกต้องว่า ผู้ที่มีชีวิตด้วยปัญญา เป็นผู้ที่สันโดษ และไม่ทำอกุศลกรรม และควรที่จะได้คิดว่า พระคาถาทั้งหมดของพระอรหันต์ทุกท่านมีประโยชน์ มิฉะนั้นท่านจะไม่กล่าวเลย แต่มีประโยชน์สำหรับคนที่ระลึกได้ที่จะพิจารณาตาม

    ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย ทสกนิบาต มหากัปปินเถรคาถา ที่ ๓ ท่านพระมหากัปปินะกล่าวคาถา มีข้อความตอนหนึ่งว่า

    ปัญญาเป็นเครื่องตัดสินสิ่งที่ตนฟังมาแล้ว เป็นเครื่องเจริญชื่อเสียงและ ความสรรเสริญ

    จริงไหม ท่านที่ฟังพระธรรมแล้วจะพิจารณาไหมว่า ธรรมไหนถูก ธรรมไหนผิด หนทางปฏิบัติไหนจะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม หรือจะต้องกระทำ อย่างนั้นอย่างนี้ ไม่มีทางที่จะตัดสินได้ ถ้าปัญญาไม่เกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น ปัญญาเท่านั้นที่เป็นเครื่องตัดสินสิ่งที่ตนฟังมาแล้ว และปัญญาเป็นเครื่องเจริญชื่อเสียงและความสรรเสริญ เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นคนมีทรัพย์ แต่ ไม่มีปัญญา ก็ย่อมถูกติเตียนเมื่อเป็นผู้ที่มีความเห็นผิด และมีข้อประพฤติปฏิบัติที่ผิดข้อสำคัญที่สุด คือ เมื่อเกิดชาติหน้า ปฏิสนธิจิตจะไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ถ้าไม่ได้อบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ

    และเหตุที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตมีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย คือ ในขณะที่ กำลังฟังทุกอย่าง ก็พิจารณาให้เข้าใจถูกต้องในเหตุในผลยิ่งขึ้น

    พระ การที่จะมีปัญญาได้ ต้องเป็นผู้ฟังที่ดีและใคร่ครวญที่ดี พระภิกษุได้มีการสนทนาธรรมกันหลังจากได้ฟังท่านอาจารย์สุจินต์ในเทป บางท่านพอจะฟังเข้าใจ แต่ยังฟังน้อย จึงมีความเห็นแตกต่างออกไป คือ ภิกษุรูปหนึ่งถามภิกษุอีกรูปหนึ่งว่า ท่านมีความเข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐานในชีวิตประจำวันไหม ในชีวิตประจำวัน ทำอะไรบ้าง ท่านก็ตอบว่า ตื่นเช้าและสวดมนต์ทำวัตร หลังจากนั้นก็นั่งสมาธิ แล้วจึงบิณฑบาต หลังจากนั้นก็ทำกิจวัตร เช่น กวาดลานวัด และก็แยกกันเข้ากุฏิ นั่งสมาธิต่อ และเจริญวิปัสสนา ตกเย็นทำวัตร จนกระทั่งนอน ทำอย่างนี้ทุกวัน

    ภิกษุอีกรูปหนึ่งถามว่า การเจริญสติปัฏฐาน ถ้าชีวิตประจำวันเป็นอย่างนี้ การเจริญกุศลขั้นวิปัสสนาจะเกิดได้ทุกเมื่อหรือเปล่า การบิณฑบาตก็ดี สติปัฏฐาน จะเกิดได้ไหม ท่านก็บอกว่า เท่าที่ฟังอาจารย์สุจินต์มาแล้วรู้สึกว่า ไม่ปฏิบัติไม่ได้ เพราะท่านคิดว่าการเจริญวิปัสสนาต้องนั่งสมาธิก่อน โดยพิจารณาในขณะที่สงบ แต่ก็ห้ามสงบมากเกินไป เพราะถ้าสงบมากเกินไปจะพิจารณาไม่ได้ อาตมาก็สงสัยว่า ถ้าสงบเกินไปแล้วพิจารณาไม่ได้ จะต้องไปนั่งเพื่อสงบก่อนทำไม ในเมื่อสงบแล้วปัญญาเกิด ก็ควรจะสงบมากๆ แต่ท่านบอกว่า สงบมากปัญญาก็เกิดไม่ได้ ท่านบอกว่า ขณะที่คุยกันอย่างนี้ ห้ามปฏิบัติ เพราะถ้านั่งคุยกันแล้ว ไม่ชื่อว่า เจริญวิปัสสนา ซึ่งเรื่องที่คุยกันนั้นก็เป็นเรื่องธรรมทั้งนั้น

    ได้ถามภิกษุอีกรูปหนึ่งว่า ขณะที่ท่านเดินท่องนั้น ท่องอะไร ท่านบอกว่า ไม่ได้เจริญวิปัสสนา ท่านทบทวนพระธรรมเท่านั้นเอง ซึ่งขณะนั้นถ้าสติปัฏฐานเกิดได้ สติปัฏฐานก็เกิด และจะเดินทำไมเฉยๆ ก็เลยทบทวนมนต์หรือพระธรรมไปด้วย เดินเมื่อยแล้วก็นั่ง ภิกษุรูปอื่นก็ถามว่า เมื่อเมื่อยแล้วสติปัฏฐานจะเกิดไม่ได้หรือ ในเมื่อธรรมทุกอย่างก็มีอยู่ พระอีกรูปบอกว่า ถ้าเจริญอย่างท่านอาจารย์สุจินต์จริงๆ ก็ไม่ใช่เจริญได้ง่ายๆ ผมยังเจริญไม่ถึงอย่างที่ท่านอาจารย์สุจินต์บรรยาย เพราะว่าอาจารย์สุจินต์ให้เจริญโดยอ่านพระไตรปิฎก โดยเอาธรรมของพระพุทธเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าให้เจริญกุศลทุกขั้น และมีความเพียร และเข้าใจเสียก่อนว่า สติปัฏฐานคืออะไร แต่พระอีกรูปท่านบอกว่า คุยกันไม่ได้

    ในเมื่อสนทนาธรรมเรื่องสติปัฏฐานไม่ได้ จะเอาความรู้ จะเอาปัญญาจากไหน จึงจะเข้าใจได้ว่า สติปัฏฐานเกิดจากไหน และรู้อะไรบ้าง

    หลังจากท่านไปนั่งคิด อีกวันท่านจึงกล้าสนทนา ท่านถามว่า เวลาบิณฑบาต สติปัฏฐานจะเกิดอย่างไร ก็ถามท่านว่า ที่ท่านบิณฑบาต ท่านทำอะไรอยู่ ท่านบอกว่า ทำไม่ได้ขณะยืนบิณฑบาต ต้องกลับมานั่ง ถามท่านว่า เมื่อนั่งแล้วพิจารณาอะไร ท่านก็บอกว่า ดูไปที่ใจ อกุศลกิเลสต่างๆ ก็เกิดที่ใจ พิจารณาความ ไม่เที่ยง เกิดดับต่างๆ ก็ถามท่านว่า เวลาบิณฑบาตไม่มีอกุศลหรือ ท่านบอกว่า เดี๋ยวก็บิณฑบาตไม่ถูก ไม่รู้ใครใส่อะไรที่ไหน ท่านบอกว่า ถ้าปฏิบัติอย่างนี้ไม่ต้องบิณฑบาตกันแล้ว ไปเพ่งแต่ใจ พระอีกรูปก็บอกว่า ไม่ใช่ว่าขณะบิณฑบาตไม่ให้ เห็นอะไร มองไป ถ้าสิ่งที่มีจริงปรากฏ เช่น รูปธรรมนามธรรมมี ก็ขึ้นอยู่กับ ความเข้าใจ มองเห็นได้ว่า สิ่งไหนกำลังมี สิ่งไหนไม่มี

    พระอีกรูปมาจากสำนักเดียวกัน ท่านบอกว่า ผมก็รู้สึกว่า จิตมีที่เดียวไม่มีที่อื่น ก็มีการพิสูจน์ธรรมกัน เอานิ้วมือมาแตะกัน ถามว่า ท่านรู้สึกไหมที่มือ ท่านบอกว่ารู้สึก ถามว่า รู้สึกที่ใจหรือรู้สึกที่ตรงกระทบ ท่านบอกว่า ตรงนี้ก็มี ถามว่า ถ้าตรงนี้มีแล้วไม่มีจิตตรงนี้หรือ มีจิตที่เดียวหรือ จิตเกิดที่ไหนก็ดับที่นั่นไม่ใช่หรือ ท่านก็บอกว่า ใช่

    จากการสนทนาธรรม ดี มีประโยชน์ หลังจากนั้นก็มาฟังโยมอาจารย์สุจินต์ จริงๆ ตอนแรกฟังในเทป หลังจากได้ฟังจริงๆ แล้ว พระรูปแรกก็มีความเห็นเปลี่ยนไปนิดหน่อยเท่านั้นว่า ธรรมต่างๆ ไม่ได้อยู่ในขณะนั่งเท่านั้นที่จะพิจารณา อีกรูปหนึ่งมีความมั่นใจมากว่า ที่ฟังมาผิดหมด และข้อปฏิบัติที่ไม่ให้คุยกัน ใช้ไม่ได้ เพราะถ้าไม่ได้คุยกันก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น

    เพราะฉะนั้น จากการสนทนาธรรมแบบนี้ชี้ให้เห็นว่า ถ้าไม่ฟังพระธรรมมากๆ และไปคิดเอาเอง จะเป็นความเห็นของตัวเองมากกว่าที่จะเป็นตามพระธรรม ใช่ไหม

    สุ. เจ้าค่ะ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘๑ ตอนที่ ๑๘๐๑ – ๑๘๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 96
    28 ธ.ค. 2564