แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1817


    ครั้งที่ ๑๘๑๗


    สาระสำคัญ

    กิจของจิต จิตที่ทำชวนกิจ มี ๕๕ ประเภท

    ขุ. ชาดก อถ. กุรุธรรม - ชาดก

    ศีลห้า ชื่อว่ากุรุธรรม


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๓๑


    วันหนึ่งๆ ที่จะโทมนัส จะโสมนัส จะเป็นห่วงกังวล จะเดือดร้อน จะสงบ จะพอใจ จะไม่พอใจ จะกังวล หรือจะสนุกสนานรื่นเริง ให้ทราบว่า ขณะนั้นเป็นจิต ที่ทำชวนกิจ หลังที่เห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ได้กลิ่นแล้ว ลิ้มรสแล้ว รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกายแล้ว หรือคิดนึก เพราะว่าจิตที่คิด คือ มโนทวาราวัชชนจิต เป็นจิตที่คิด เรื่องหนึ่งเรื่องใดทางใจและดับไป แต่หลังจากนั้นเป็นสุขหรือเป็นทุกข์กับเรื่องที่คิด คิดแล้วในขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต หรือโมหมูลจิต หรือเป็นกุศลจิต

    เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงโลภมูลจิต จะใช้คำว่าชวนจิตก็ได้ เพราะว่าทำกิจชวนะ

    ชวนะ คือ กิจ เพราะฉะนั้น เรียกจิตที่ทำชวนะนั้นว่าชวนจิตก็ได้ โดยกิจ แต่ตามความเป็นจริง ได้แก่ อกุศลจิต ๑๒ ดวง และอเหตุกจิต ๑ ดวงที่ทำชวนกิจได้ คือ หสิตุปปาทจิต เป็นจิตของพระอรหันต์ที่ทำการแย้มหรือยิ้มเพียงเล็กน้อย ในขณะนั้นหสิตุปปาทจิตทำชวนกิจ รวมเป็น ๑๓ ดวงแล้ว

    การที่จะจำจิต ไม่ต้องจำทีเดียวมากมาย แต่จำด้วยเหตุผล ถ้ารู้ว่าขณะที่เป็นโลภมูลจิตไม่ใช่ขณะเดียวกับที่เป็นจักขุวิญญาณ หรือโสตวิญญาณ ไม่ใช่ ขณะเดียวกับสัมปฏิจฉันนจิต หรือสันตีรณจิต เพราะฉะนั้น ในขณะที่เป็นโลภมูลจิต ขณะนั้นทำชวนกิจ ก็เริ่มเข้าใจได้ว่า จิตที่ทำชวนกิจมีกี่ประเภทและอะไรบ้าง

    เมื่อทราบว่าอกุศลจิต ๑๒ ดวงทำชวนกิจ และสำหรับอเหตุกจิต ๑๘ ดวง อเหตุกจิตที่ทำชวนกิจมีดวงเดียวเท่านั้น คือ หสิตุปปาทจิต รวมแล้วเป็นอโสภณชวนะ ๑๓ ดวง

    ใช้คำว่า อโสภณชวนะ เพราะหมายความถึงทั้ง ๑๓ ดวง ไม่ได้จำแนก ถ้าใช้คำว่า อกุศลชวนะ ต้อง ๑๒ ดวงเท่านั้น แต่ถ้าใช้คำว่า อโสภณชวนะ ต้องเป็น ๑๓ ดวง

    นี่เป็นความละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่จะทำให้เห็นสภาพธรรมชัดเจน และ จะทำให้เป็นผู้ที่ละเอียด คือ ไม่หลงลืม เพราะว่าเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมได้ถูกต้อง

    อโสภณ คือ จิตฝ่ายที่ไม่ใช่โสภณ ที่ทำชวนกิจได้ มีทั้งหมด ๑๓ ดวงเพราะฉะนั้น จิตฝ่ายดีที่ทำชวนกิจได้มี ๔๒ ดวง เพราะว่าจิตที่ทำชวนกิจได้ทั้งหมด มี ๕๕ ดวง

    บางท่านไม่ทราบจะจำจำนวนอย่างไร เดี๋ยวก็ลืม และไม่รู้ว่าจิตอะไรทำ ชวนกิจบ้าง

    วิธีที่จะจำก็เกี่ยวโยงกันไปได้ เช่น อกุศลจิตทั้งหมดมี ๑๒ กุศลจิตทั้งหมด มี ๒๑ คือ เลขกลับกัน จำอกุศลจิตก่อนว่า ๑๒ ดวง ก็จะจำได้ว่า กุศลจิตทั้งหมดมี ๒๑ ดวง และสำหรับชวนจิตทั้งหมดมี ๕๕ ดวง ใน ๕๕ ดวง เป็นอกุศล ๑๒ ดวง เป็นอเหตุกจิต ๑ ดวง รวมเป็น ๑๓ ดวงแล้ว เพราะฉะนั้น ก็พิจารณาฝ่ายโสภณ ต่อไปที่ทำชวนกิจ ได้แก่ กามาวจรกุศลจิต หรือที่เรียกว่ามหากุศลจิต ๘ ดวง ไม่ได้ทำกิจเห็น ไม่ได้ทำอาวัชชนกิจ ไม่ได้ทำสัมปฏิจฉันนกิจ ไม่ได้ทำสันตีรณกิจ ไม่ได้ทำโวฏฐัพพนกิจ แต่ทำชวนกิจ

    เพราะฉะนั้น ทางฝ่ายโสภณก็มีมหากุศลจิต ๘ ดวง มหากิริยาจิต ๘ ดวง ของพระอรหันต์ที่ทำชวนกิจ นี่เป็นขั้นกามภูมิ นอกจากนั้นเป็นพวกฌานจิตที่ทำ ชวนกิจ คือ รูปาวจรกุศลจิต ๕ ดวง รูปาวจรกิริยาจิต ๕ ดวง อรูปาวจรกุศลจิต ๔ ดวง อรูปาวจรกิริยาจิต ๔ ดวง และโลกุตตรจิตทั้ง ๘ ดวง ทำชวนกิจ รวมเป็น จิตทั้งหมด ๕๕ ดวง ที่ทำชวนกิจ

    และอาจจะรวมชวนกิจได้หลายนัย เช่น แยกโดยภูมิก็ได้ หมายความว่า กามาวจรจิตที่ทำชวนกิจมี ๒๙ ดวง คือ อกุศลจิต ๑๒ ดวง อเหตุกจิต ๑ ดวง รวมเป็นฝ่ายอโสภณ ๑๓ ดวง และกามาวจรกุศลจิต ๘ ดวง กามาวจรกิริยาจิต ๘ ดวง รวมเป็นฝ่ายโสภณ ๑๖ ดวง เมื่อรวมกับอโสภณอีก ๑๓ ดวง จึงเป็น ๒๙ ดวง

    สำหรับอรรถกถาบางแห่ง ท่านเข้าใจว่า ผู้ที่อ่านตำรานั้นต้องเป็นผู้ที่รู้แล้ว เพราะฉะนั้น ท่านก็รวมเลยว่า กามชวนะ ๒๙ ดวง

    ส่วนมหัคคตชวนะ ได้แก่ รูปฌานและอรูปฌาน ๑๘ ดวง และโลกุตตรชวนะอีก ๘ ดวง

    อีกนัยหนึ่งก็ได้ เช่น ถ้าแสดงโดยโลกียชวนะกับโลกุตตรชวนะ จะออกมาเป็นอีกจำนวนหนึ่ง คือ ชวนจิตทั้งหมดมี ๕๕ ดวง เป็นโลกุตตรชวนะ ๘ ดวง เพราะฉะนั้น ที่เหลือต้องเป็นโลกียชวนะ ๔๗ ดวง ใน ๔๗ ดวง จำแนกออกไปเป็นอกุศลชวนะ ๑๒ ดวง เป็นอเหตุกจิต ๑ ดวง ต่อไปก็เป็นกุศลที่เป็นโลกียะ และกิริยาจิต

    ท่านผู้ฟังมีหลายอัธยาศัย เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องบังคับ แต่เป็นเรื่องที่ อยากจะให้เป็นผู้ที่ละเอียดและเป็นผู้ที่คิดบ้าง ไม่ใช่เพียงแต่ฟัง เพราะถ้าฟังแล้ว ก็ผ่านไป แต่ถ้าเห็นข้อความใด อาจจะสอบความเข้าใจของท่านเองว่า ท่านลืม หรือยังจำได้ หรือเข้าใจมากน้อยแค่ไหนในเรื่องของพระธรรมที่ได้ฟังแล้ว

    เรื่องของปัญญาที่จะอบรมจนกว่าจะถึงวิปัสสนาญาณถึงสังขารุเปกขาญาณ ที่กล่าวถึง จะเห็นได้ว่า เป็นชีวิตประจำวัน และผู้ที่จะบรรลุถึงสัจจธรรม ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด ต้องเป็นพหูสูต และต้องเป็นผู้ที่พิจารณาตนเอง

    ขอกล่าวถึงความละเอียดของพระผู้มีพระภาคและพระสาวกทั้งหลาย ในครั้งที่ ยังบำเพ็ญบารมีก่อนที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    ขุททกนิกาย ชาดก อรรถกถากุรุธรรมชาดกที่ ๖ มีข้อความว่า

    พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุผู้ฆ่าหงส์ รูปหนึ่ง จึงตรัสเรื่องนี้

    แสดงให้เห็นว่า แม้เป็นภิกษุก็ยังทำสิ่งที่ไม่ควร

    ครั้งนั้น มีสหาย ๒ คน เป็นชาวเมืองสาวัตถี บรรพชาแล้วอุปสมบทใน สำนักภิกษุทั้งหลาย สหายทั้งสองนั้นมักเที่ยวไปด้วยกัน

    ในสมัยนี้ก็มี ใช่ไหม เพื่อนสนิท ๒ สหายไปไหนไปด้วยกัน เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะบรรพชาอุปสมบทแล้ว ภิกษุ ๒ สหายนี้ก็มักเที่ยวไปด้วยกัน

    วันหนึ่ง ภิกษุ ๒ สหายนั้นไปอาบน้ำยังแม่น้ำอจิรวดี เมื่อนั่งผิงแดดและสนทนากันอยู่ที่เนินทราย ขณะนั้นหงส์ ๒ ตัวบินมาทางนั้น ภิกษุรูปหนึ่ง จับก้อนกรวดแล้วกล่าวว่า จะดีดลูกตาของหงส์ตัวหนึ่ง ภิกษุอีกรูปหนึ่งก็บอกว่า ไม่เชื่อที่จะทำอย่างนั้นได้ ภิกษุรูปนั้นกล่าวว่า จะดีดนัยน์ตาทั้ง ๒ ข้าง

    ถ้าไม่เชื่อว่าทำได้ข้างหนึ่งครั้งหนึ่ง ก็จะทำให้เห็นเลยว่า สามารถดีดลูกตาได้ทั้ง ๒ ข้าง

    ภิกษุรูปนั้นก็ให้ภิกษุอีกรูปหนึ่งคอยดู แล้วหยิบก้อนกรวด ๓ เหลี่ยมขึ้นมา ดีดไปทางเบื้องหลังของหงส์ตัวนั้น เมื่อหงส์ได้ยินเสียงกรวดจึงเหลียวมองดู ลำดับนั้นภิกษุนั้นก็เอาก้อนกรวดอีกก้อนหนึ่ง ดีดหงส์นั้นที่นัยน์ตาด้านนอก ทะลุออกทางนัยน์ตาด้านใน

    คือ ก้อนที่ ๑ ดีดไปข้างหลัง เมื่อหงส์หันกลับมา ก็เอาอีกก้อนหนึ่งดีดไปที่นัยน์ตาด้านหนึ่งทะลุออกอีกด้านหนึ่ง

    หงส์ร้องแล้วตกลงมาแทบเท้าของภิกษุทั้งสองนั้น ภิกษุทั้งหลายที่ยืนอยู่ ในที่นั้นเห็นเข้า ก็พากันมาแล้วกล่าวว่า ท่านบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ทำปาณาติบาต ชื่อว่ากระทำกรรมอันไม่สมควร แล้วพาภิกษุผู้ดีดหงส์นั้นไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถาม ภิกษุนั้นทูลรับว่าจริง

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุ เพราะเหตุไร เธอบวชในศาสนาอันเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ เห็นปานนี้ จึงได้กระทำอย่างนี้ แม้โบราณกบัณฑิตทั้งหลายเมื่อพระพุทธเจ้า ยังไม่อุบัติขึ้น อยู่อย่างเศร้าหมองในท่ามกลางเรือน ยังกระทำความรังเกียจในฐานะทั้งหลาย แม้มีประมาณน้อย ส่วนเธอบวชในศาสนาเห็นปานนี้ ไม่ได้กระทำแม้ มาตรว่าความรังเกียจ ธรรมดาภิกษุพึงเป็นผู้สำรวมกาย วาจา และใจ มิใช่หรือ

    และได้ทรงแสดงเรื่องในอดีต เพื่อให้ภิกษุทั้งหลายเห็นความละเอียดของอกุศลแม้ผู้ไม่ใช่พระภิกษุ แต่เป็นบัณฑิต ก็ยังไม่กระทำสิ่งที่ไม่ควรกระทำอย่างนั้น แต่พระภิกษุที่บวชในพระศาสนาแม้ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ก็ยังกระทำสิ่งที่ควรรังเกียจถึงเช่นนั้น

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องในอดีต เพื่อให้ภิกษุทั้งหลายได้เห็นความละเอียดของอกุศลที่จะต้องขัดเกลาจริงๆ อย่างละเอียดมาก มิฉะนั้นไม่สามารถ ที่วันหนึ่งจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

    เรื่องมีว่า

    ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์เป็นโอรสของพระราชาชื่อว่าธนัญชัยโกรัพย์ ผู้ครองราชสมบัติอยู่ในพระนครอินทปัฏฏ์ ในแคว้นกุรุ เมื่อพระบิดาสวรรคตแล้ว พระโพธิสัตว์ก็ทรงครองราชสมบัติ ทรงประพฤติในกุรุธรรมอยู่

    น่าสนใจไหมว่า ธรรมของกุรุหรือกุรุธรรมนั้นคืออะไร

    ศีลห้า ชื่อว่ากุรุธรรม

    พระโพธิสัตว์ทรงรักษาศีลห้านั้นให้บริสุทธิ์ พระมารดาของพระโพธิสัตว์ พระอัครมเหสีของพระโพธิสัตว์ พระอุปราชผู้เป็นพระอนุชา พราหมณ์ผู้เป็นปุโรหิต อำมาตย์ผู้รังวัดนา สารถี (คนขับยาน) เศรษฐี มหาอำมาตย์ผู้ตวงข้าว นายประตู นางวรรณทาสีผู้เป็นนครโสเภณี ก็เหมือนพระโพธิสัตว์ รวมความว่า ชนเหล่านี้รักษาศีลห้าเหมือนดังพระโพธิสัตว์

    ชน ๑๑ คน คือ พระราชา (พระโพธิสัตว์) ๑ พระชนนี ๑ พระอัครมเหสี ๑ พระอุปราช ๑ ปุโรหิต ๑ อำมาตย์ผู้รังวัด ๑ สารถี ๑ เศรษฐี ๑ อำมาตย์ผู้ตวงข้าว ๑ นายประตู ๑ และนางคณิกา ๑ ดำรงอยู่ในกุรุธรรม

    คือ รักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์

    พระราชาคือพระโพธิสัตว์ให้สร้างโรงทาน ๖ แห่ง คือ ที่ประตูพระนครทั้ง ๔ ที่กลางเมือง และที่ประตูพระราชวัง พระองค์ทรงสละพระราชทรัพย์หกแสนทุกๆ วัน

    ครั้งนั้น พระเจ้ากาลิงคราชครองราชสมบัติในทันตปุรนคร ในแคว้นกาลิงคะ ในแคว้นของพระเจ้ากาลิงคราชนั้น ฝนไม่ตก ทำให้ผู้คนอดอยากป่วยเจ็บไปทั่ว ทั้งแคว้น เพราะภัย ๓ ประการ คือ ฉาตกภัย ภัยคือความอดอยาก ๑ โรคภัย ภัยคือโรค ๑ ทุพภิกขภัย ภัยคือข้าวยากหมากแพง ๑

    พวกชาวเมืองพากันเดินทางเร่ร่อนไปยังพระนครทันตปุระ และส่งเสียงร้องที่ประตูพระราชวัง พระราชาทรงสดับเสียงนั้นก็ตรัสถาม พวกอำมาตย์ก็กราบทูล ให้ทรงทราบ พระราชาตรัสถามว่า พระราชาสมัยก่อนๆ เมื่อฝนไม่ตก ทรงกระทำอย่างไร พวกอำมาตย์กราบทูลว่า พระราชาสมัยก่อนๆ นั้น เมื่อฝนไม่ตกก็ได้ทรงบริจาคทาน อธิษฐานอุโบสถ สมาทานศีล แล้วทรงบรรทมเหนือเครื่องลาดซึ่ง ทำด้วยไม้ตลอด ๗ วัน แล้วฝนก็ตก พระเจ้ากาลิงคราชก็ได้ทรงกระทำอย่างนั้น แต่ถึงแม้ว่าทรงกระทำอย่างนั้น ฝนก็มิได้ตก

    พระราชาก็ได้ตรัสถามอำมาตย์ทั้งหลายว่า เราจะกระทำอะไรต่อไป พวกอำมาตย์กราบทูลว่า ให้ไปขอช้างมงคลหัตถี ชื่อว่าอัญชนสันนิภะ จากพระเจ้าธนัญชัยโกรัพยราชในนครอินทปัฏฏ์ พระเจ้ากาลิงคราชก็ทรงส่งพราหมณ์ ๘ คนไปขอช้างนั้น

    พราหมณ์ ๘ คนนั้นก็รีบเดินทางไปนครอินทปัฏฏ์ ในแคว้นกุรุ แล้วไปบริโภคอาหารในโรงทานที่ประตูพระนคร บำรุงร่างกายให้อิ่มหนำ สิ้นเวลา ๒ – ๓ วัน

    ในวันรุ่งขึ้นที่พระราชาจะเสด็จมา พวกพราหมณ์รีบไปแต่เช้าตรู่ ยืนคอยเฝ้าอยู่ที่ประตูด้านทิศตะวันออก เมื่อพระโพธิสัตว์เสด็จไปยังโรงทานทางประตูด้าน ทิศตะวันออกพร้อมด้วยบริษัทบริวารหมู่ใหญ่ แล้วเสด็จลงจากคอช้าง ประทานอาหารด้วยพระหัตถ์ของพระองค์แก่คน ๗ - ๘ คน แล้วรับสั่งให้ผู้อื่นทำต่อไป แล้วพระองค์ได้เสด็จขึ้นช้างไปยังประตูด้านทิศใต้

    เมื่อพวกพราหมณ์ไม่ได้โอกาสที่ประตูด้านทิศตะวันออก เพราะมีการอารักขาอย่างแข็งแรง ก็ได้ไปยังประตูด้านทิศใต้ และเมื่อพระราชาเสด็จมาก็ได้เข้าเฝ้า และได้พรรณนาพระคุณของพระโพธิสัตว์ และกราบทูลขอช้างมงคลหัตถีเชือกนั้น ซึ่งพระราชาก็ได้พระราชทานช้างนั้นพร้อมทั้งเครื่องประดับต่างๆ และได้พระราชทานสารถีผู้ฝึกช้างคือควาญช้าง และพระราชทานคน ๕๐๐ ตระกูล เพื่อดูแลช้างนั้นด้วย

    เมื่อพราหมณ์ทั้งหลายรับช้างพร้อมทั้งบริวารกลับไปยังทันตปุรนครแล้ว ก็ได้ถวายช้างแก่พระราชา แต่ถึงอย่างนั้นฝนก็ยังไม่ตก พระราชาก็ได้ตรัสถามว่า มีเหตุอะไรที่จะทำให้ฝนตกได้ ก็ได้ทรงทราบว่า พระเจ้าธนัญชัยโกรัพยราช คือ พระโพธิสัตว์ ทรงรักษากุรุธรรม ด้วยเหตุนั้นฝนจึงตกในแว่นแคว้นของพระองค์ ทุกกึ่งเดือน ทุก ๑๐ วัน เพราะอานุภาพแห่งคุณความดีของพระราชาฝนจึงตก



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘๒ ตอนที่ ๑๘๑๑ – ๑๘๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 96
    28 ธ.ค. 2564