แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1776


    ครั้งที่ ๑๗๗๖


    สาระสำคัญ

    การอบรมเจริญปัญญา (วิปัสสนาปัญญา และสมถะปัญญา)

    ความต่างกันของสมถะและวิปัสสนา

    จิตเป็นอย่างไร จิตอยู่ที่ไหน

    สภาพที่ไม่เที่ยงนั้นเป็นทุกข์

    กรรมมี ผลของกรรมมี


    สนทนาธรรมที่โรงพยาบาลจังหวัดอุดรธานี

    วันอาทิตย์ที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑


    คำถามต่อไป คือ

    การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานเพื่อความพ้นทุกข์ เช่น พิจารณาอสุภกัมมัฏฐานแล้วปลงปัญญาสู่พระไตรลักษณ์ ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ประเภทเจโตวิมุตติ แสดงว่าทางสู่ความพ้นทุกข์ไม่จำเป็นต้องเจริญวิปัสสนาล้วนๆ อย่างเดียว ใช่หรือไม่

    แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อจะทรงตรัสรู้ พระองค์ก็ทรงได้ฌานจิตก่อน ไม่มีใครที่จะได้ฌานจิตคล่องแคล่วชำนาญเท่าพระองค์ ถ้าศึกษาต่อไปจะทราบว่า ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากยิ่ง ต้องเป็นผู้ที่ชำนาญมากจึงจะกระทำได้ แต่อย่าลืมที่กล่าวว่า แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อจะทรงตรัสรู้ พระองค์ก็ทรงได้ ฌานจิตก่อน พระองค์ทรงได้ฌานจิต แต่ไม่ใช่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย ฌานจิตเท่านั้น ต้องเป็นการอบรมเจริญปัญญาบารมีครบที่จะเป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยรู้แจ้งอริยสัจจธรรมในปัจฉิมยาม คือ ยามที่ ๓

    ในยามที่ ๑ ทรงระลึกชาติมากมายนับไม่ถ้วน แต่ก็ไม่ได้ทรงเป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเพราะทรงสามารถระลึกชาติได้

    ในมัชฌิมยาม ทรงพิจารณาจุติและปฏิสนธิของสัตว์มากมายสักเท่าไร ก็ไม่ได้ทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยการรู้จุติและปฏิสนธิของสัตว์

    เพราะฉะนั้น แม้ว่าฌานทั้งหลายสามารถทำให้ระลึกชาติได้ก็ดี สามารถรู้จุติและปฏิสนธิของสัตว์ได้ก็ดี สามารถเป็นพื้นฐานสำหรับการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ได้มากมายสักเท่าไรก็ดี ก็ไม่ใช่การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    เมื่อพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นบุคคลผู้เลิศ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงทรงถึงพร้อมทั้งวิชชาและจรณะ จรณะ คือ ฌานทั้งหลาย ในขณะที่ ผู้ที่เป็นพระอริยสาวกบางท่านไม่ได้ฌาน แต่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

    แม้ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ทรงปรินิพพาน บรรดาสาวกที่เป็น พระอริยบุคคลที่ได้ฌานด้วยก็มีจำนวนน้อยกว่าผู้ที่ได้รู้แจ้งเพียงอริยสัจจธรรม แสดงให้เห็นว่า การที่จะได้ฌานไม่ใช่ของง่ายเลย นอกจากไม่ง่ายแล้ว การที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมก็ยังยากด้วย เมื่อยากทั้ง ๒ อย่าง ใครจะเป็นผู้ที่สามารถบรรลุได้ ทั้ง ๒ อย่าง หรือจะสามารถบรรลุได้เพียงเป็นพระอริยสาวกที่ไม่ได้ฌานจิต

    เพราะฉะนั้น บุคคลในสมัยนี้ก็พิจารณาตัวเองได้ว่า สามารถจะรู้แจ้ง อริยสัจจธรรมพร้อมกับได้ฌานด้วย หรือว่าฌานนั้นก็แสนยาก การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมก็แสนยาก ถ้าสามารถจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ก็ดีแล้ว ไม่ต้องถึงกับทั้ง รู้แจ้งอริยสัจจธรรมและได้ฌานด้วย เพราะแม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ทรงปรินิพพาน ผู้ที่ได้ฌานด้วยและรู้แจ้งอริยสัจจธรรมด้วยก็น้อยกว่าผู้ที่ได้รู้แจ้ง เพียงอริยสัจจธรรม นี่เป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณา

    ที่ถามว่า การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานเพื่อความพ้นทุกข์ เช่น พิจารณา อสุภกัมมัฏฐานแล้วปลงปัญญาสู่พระไตรลักษณ์

    ฟังแล้วไม่ยากเลย เพียงแต่พิจารณาอสุภกัมมัฏฐานแล้วปลงปัญญาสู่ พระไตรลักษณ์ ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ฟังดู แค่นี้เอง แต่พิจารณาอย่างไรที่จะเป็นพระไตรลักษณ์ได้ นี่เป็นเรื่องใหญ่กว่าการที่จะเพียงกล่าวว่า พิจารณาอสุภกัมมัฏฐาน แล้วปลงปัญญาสู่พระไตรลักษณ์

    เหมือนอย่างบางคนบอกว่า เห็นก็อย่าไปยึดถือ ก็ละๆ เสีย ได้ยินก็ อย่าไปยึดถือ ก็ละๆ เสีย ไม่ใช่ตัวตน พูดได้ ทำได้ไหม ละอย่างไรถ้าปัญญาไม่เกิด นี่ก็เหมือนกัน พิจารณาอสุภอย่างไร ปลงปัญญาอย่างไรจึงจะสู่พระไตรลักษณ์ได้ เพราะเรื่องของสมถภาวนาไม่ใช่เรื่องการรู้ลักษณะของสัจจธรรม คือ นามธรรมและรูปธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ แต่เป็นเรื่องทำให้จิตสงบโดยที่ไม่รู้ว่าไม่ใช่ตัวตน นั่นคือสมถภาวนา

    เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังทำอย่างนั้น ไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ ไตรลักษณ์ จะเพียงปลงปัญญาสู่พระไตรลักษณ์เฉยๆ ง่ายๆ เป็นไปไม่ได้เลย แม้แต่การที่จะพิจารณาอสุภ ที่จะเป็นกุศล พิจารณาอย่างไรที่จะให้จิตสงบจริงๆ ถ้าเป็นเรื่องของปัญญาก็รู้ว่า ต้องเป็นเรื่องของการอบรมเจริญ เพราะว่าปัญญาจะ โตทันทีโดยไม่มีความรู้ความเข้าใจอะไรเลยไม่ได้

    สมพร พิจารณาอสุภ ความจริงซากศพก็เพียงข่มจิตไม่ให้ฟุ้งซ่านเกินไป แต่ความจริงถ้าเราไม่เข้าใจเรื่องวิปัสสนา พิจารณาแค่นั้น ทำอย่างไรๆ ก็ไม่สามารถบรรลุมรรคผลได้ ไม่สามารถสำเร็จแม้โสดาบันได้ จำเป็นที่เราจะต้องศึกษาให้เข้าใจเรื่องของปัญญาก่อน คือ เรื่องวิปัสสนาปัญญา เมื่อเราเข้าใจเรื่องวิปัสสนาแล้ว เราจะอบรมสมถะอย่างอื่น เช่น พิจารณาซากศพก็ไม่เป็นไร เมื่อจิตเราสงบ มีความสังเวชเกิดขึ้น เข้าใจเรื่องวิปัสสนาแล้ว ก็ดำเนินตามต่อไป พิจารณาเรื่องนามเรื่องรูป ถ้าไม่พิจารณาเรื่องนามเรื่องรูป ทำอย่างไรก็ไม่สามารถสำเร็จมรรคผลได้

    สุ. ปัญหาก็คงจะมีอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เข้าใจแล้วจะทำให้ไม่เสียเวลา คือ รู้ว่าพระอริยบุคคลที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมนั้นดับกิเลสอะไร เพราะว่ากิเลสมีมาก เพราะฉะนั้น การที่ปัญญาจะดับกิเลส จะดับกิเลสทันทีทั้งหมดเป็นพระอรหันต์ไม่ได้ เมื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน ปัญญาขั้นแรกที่เป็น โลกุตตระ จะดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนก่อน

    นี่คือสิ่งที่จะต้องเข้าใจว่า เมื่อปัญญาต้องรู้อย่างนี้ เราก็ต้องฟังเรื่องความ ไม่ใช่เรา ความไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรม จนกระทั่งปัญญาค่อยๆ พิจารณา และเข้าใจขึ้น และสติปัฏฐานจะเกิดระลึกได้ในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน เป็นต้น จนรู้ว่าไม่ใช่ตัวตนอย่างไร

    แสดงให้เห็นถึงความต่างกันของสมถะและวิปัสสนาว่า ถ้าเป็นอสุภกัมมัฏฐานไม่มีการที่จะพิจารณาว่า ขณะที่เห็นอสุภนั้นไม่ใช่เราเห็น และสิ่งที่ปรากฏที่เราเคยยึดถือว่าเป็นซากศพของคนนั้นคนนี้ แท้ที่จริงแล้วทางตาอะไรกำลังปรากฏ ที่เป็นอนัตตา

    แสดงให้เห็นว่า การที่จะดับการยึดถือสภาพธรรม ต้องปัญญารู้ความจริงว่า นามธรรมไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา รูปธรรมไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ถ้าเข้าใจอย่างนี้จริงๆ จะไม่ขวนขวายทำอย่างอื่น นอกจากพยายามศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่เห็น จริงๆ เดี๋ยวนี้ ได้ยินจริงๆ เดี๋ยวนี้ว่า ไม่ใช่เราอย่างไร

    . ... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. ต้องคิดก่อนว่า ถ้าเขาไม่ได้ทำเอง เขาจะได้รับไหม ถ้าได้รับก็สบาย โดยที่ว่าเราก็ทำแทนไปให้หมดเลย คนอื่นไม่ต้องทำ เพราะว่าบุญหมายความถึงขณะที่จิตไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ขณะนั้นจึงเป็นกุศล หรือว่าเป็นบุญ

    เวลาที่เราทราบว่าใครทำความดี และเราเกิดปีติอนุโมทนาด้วย จิตของเราที่ผ่องใสอนุโมทนาด้วย นั่นเป็นบุญของเราซึ่งเกิดจากการกระทำบุญของคนอื่น เพราะฉะนั้น ถ้าเราเห็นคนอื่นทำบุญและเราก็อนุโมทนา นั่นคือกุศลของเราเอง ขณะที่เราอนุโมทนาเป็นกุศลจิตของเรา ที่จะได้คือกุศลจิตเกิด ไม่ใช่เขาเอาบุญของเขาแบ่งมาให้และเราก็รับเอามาเฉยๆ

    . ... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. ไม่ได้ บุญของใครก็ของคนนั้น เพราะว่าบุญคือกุศลจิต สมมติว่า เราแบ่งบุญให้เขา แต่เขาโกรธเรา เขาไม่อยากได้ เขาไม่ชอบเรา เขาไม่ยินดีด้วย ถ้าเป็นอย่างนั้น ไม่มีทางที่จะให้กุศลจิตของเขาเกิดเลย

    . เราไปวัดที่ไม่มีอะไรเลย เราชักชวนคนอื่นไปสร้าง เราก็มีอาหารหวานคาวไปเพื่อถวายพระเพื่อเป็นสังฆทาน เพื่ออุทิศให้วิญญาณในที่นั้นที่มีแต่กระดูก ที่เราเห็นอยู่ และเราแผ่เมตตา เขาจะได้รับไหม

    สุ. เหมือนกัน ไม่ว่าเราจะทำบุญแบบไหนก็ตาม กุศลจิตของใครเกิด ก็เป็นบุญของคนนั้น อกุศลจิตของใครเกิดก็ไม่ใช่บุญในขณะนั้น มิฉะนั้นแล้วคนอื่นต้องทำให้ใครๆ ได้ โดยที่คนนั้นไม่ต้องทำเลย เป็นไปไม่ได้

    . ไม่เห็นวิญญาณ …. (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. ไม่ว่าจะเป็นใครทั้งนั้น ไม่ได้ ถ้าเขาไม่อนุโมทนา เพราะว่าเมื่อเขาเกิดกุศลจิต เขาจึงอนุโมทนา ถ้าเขาไม่เกิดกุศลจิต เขาก็ไม่อนุโมทนา

    . … (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. ต้องมี เพราะเขาไม่ใช่พระอรหันต์ เมื่อตายแล้วก็ต้องเกิด ทุกคนที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ ยังมีกิเลสอยู่ ตายแล้วไม่ใช่สูญสิ้นไป มีปัจจัยมีเหตุที่จะทำให้เกิด เว้นพระอรหันต์เท่านั้นที่ไม่เกิด

    เรื่องบุญนี่เรื่องใหญ่ เพราะโดยมากไม่ทราบจริงๆ ว่า ขณะไหนเป็นบุญ คือ จิตมีหลายชนิด จิตที่โลภไม่ใช่บุญ จิตที่โกรธไม่ใช่บุญ จิตที่หลงไม่ใช่บุญ ขณะใดที่จิตไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ขณะนั้นจึงเป็นบุญ ของใครก็ของคนนั้น ยกบุญของเรา ให้คนอื่นไม่ได้ แต่บอกให้เขารู้เพื่อให้เขาอนุโมทนาได้

    อย่างขณะนี้ กุศลจิตเกิดก็เป็นบุญ เพราะว่ามีการสนทนาธรรม มีการอนุโมทนาในท่านที่สนใจและจัดให้มีการสนทนาธรรมขึ้น

    . ... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. ได้กุศล ไม่ได้หมายความว่าไปได้มาจากอื่น คือ จิตเป็นกุศลขณะใด เป็นบุญขณะนั้น

    . ที่เราเข้าใจว่า วิญญาณนั้นยังไม่ไปเกิด เราก็แผ่เมตตาให้เขา จนกระทั่งเขาไปเกิด เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า

    สุ. ไม่เป็นอย่างนั้นเลย เพราะว่าทุกคนกำลังมีจิต แต่ไม่เคยรู้ความจริงว่า จิตของเราเป็นอย่างไร จิตอยู่ที่ไหน แต่ที่แน่ๆ คือ ทุกคนกำลังมีจิต พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ว่า สภาพธรรมทั้งหมดที่เกิดต้องดับ นี่คือความหมายของไม่เที่ยง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สภาพที่ไม่เที่ยงนั้นเป็นทุกข์ เพราะว่าทุกคนอยากจะให้ทุกอย่างเที่ยง ไม่อยากให้โลกนี้เสื่อมสลาย ไม่อยากให้ตัวเองต้องจากโลกนี้ไป แต่ตามความเป็นจริงทุกอย่างกำลังเกิดและก็ดับไป เกิดและดับไป ไม่เที่ยงทุกขณะ

    แม้แต่ความตายที่เราเรียกว่า สมมติมรณะ คือ สิ้นสุดสภาพความเป็นบุคคลนี้ จะไม่กลับคืนมาสู่ความเป็นบุคคลนี้อีกเลย ทันทีที่จุติจิตซึ่งเป็นจิตดวงสุดท้าย ขณะสุดท้ายของชาตินี้ดับไป มีปัจจัยทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อทันที ไม่มีระหว่างคั่น เหมือนอย่างขณะเมื่อกี้กับขณะเดี๋ยวนี้เป็นคนละขณะ และก็มีจิตเกิดดับสลับมากมาย ทั้งทางตาเห็น ทางหูได้ยิน ทางใจคิดนึก แสดงให้เห็นถึงความรวดเร็วของการเกิดดับของจิต เพราะฉะนั้น เวลาที่จุติจิต ที่เราเรียกว่า ตาย คือ จิตขณะสุดท้ายนั้นดับไป ก็มีปฏิสนธิจิต คือ จิตขณะแรกของชาติต่อไป เกิดขึ้นทันที ไม่มีใครไปยับยั้งการ เกิดดับสืบต่อกันของจิตได้

    . … (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. ไม่มีตัวตนถาวร แม้แต่ในขณะนี้จิตก็กำลังเกิดดับ แต่เร็วจนกระทั่งเราไม่รู้สึก จากขณะหนึ่งไปสู่อีกขณะหนึ่งอย่างแนบสนิทมาก นี่เป็นเหตุที่เราไม่เข้าใจความหมายจริงๆ ของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราคิดว่า เมื่อใดเราแก่ เราเจ็บ จึงจะเป็นอนิจจัง แต่ความจริงอนิจจังรวดเร็วกว่านั้นมาก ขณะที่เห็นเป็นอนิจจัง ดับไป ขณะที่ได้ยินเกิดขึ้นเป็นอนิจจัง ดับไป ขณะที่คิดนึกเป็นอนิจจัง เกิดขึ้นดับไป เร็วมาก และสืบต่อกัน นี่คือสังสารวัฏฏ์ การท่องเที่ยวสืบต่อทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทุกภพทุกชาติเหมือนกันหมด ชาติก่อนก็เคยเห็นเหมือน อย่างนี้ ชาติหน้าก็จะต้องเห็นเหมือนอย่างนี้ ชาติก่อนเคยได้ยินเหมือนอย่างนี้ ชาติหน้าก็จะต้องได้ยินเหมือนอย่างนี้อีก ไม่สิ้นสุด

    . ถ้าเราสร้างความดี และเราไปเกิดในภพหนึ่ง ฐานะของเราจะดีขึ้นไหม

    สุ. เปลี่ยนสภาพจากความเป็นบุคคลนี้โดยเด็ดขาด ไม่มีการกลับมาสู่ความเป็นบุคคลนี้อีกเลย ถึงเป็นมนุษย์ก็ไม่ใช่คนนี้ เพราะว่ากรรมที่ทำให้เป็นบุคคลนี้สิ้นสุดแล้ว ทุกคนมีกรรมจึงทำให้เกิดขึ้นต่างกัน และกรรมหนึ่งในสังสารวัฏฏ์จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อจากขณะที่จุติจิตดับ ทันทีที่ตาย กรรมที่ได้กระทำไว้แล้ว กรรมหนึ่ง จะทำให้จิตเกิดในภูมิใหม่พร้อมกับรูปใหม่ แล้วแต่ว่าเป็นผลของกรรมอะไร

    กรรมดีก็มี กรรมชั่วก็มี ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม ก็เกิดเป็นสัตว์รูปร่างต่างๆ ที่เรามองเห็น เป็นปลา เป็นนก เป็นเต่า เป็นสัตว์ที่น่ารัก ที่น่าชัง กรรมวิจิตรมาก ที่จะทำให้เป็นไปต่างๆ อาจจะเกิดเป็นมนุษย์ อาจจะเกิดเป็นเทวดาก็ได้ แต่ทันทีที่ตายต้องเกิด เราไม่สามารถจะรู้ได้ เหมือนกับชาตินี้เราก็ระลึกไม่ได้ว่า ชาติก่อน เราเป็นใคร อยู่ที่ไหน ตายด้วยลักษณะอาการอย่างไร เหมือนกับชาตินี้ก็ไม่มีทางที่เราจะรู้ได้เลยว่า เราจะสิ้นชีวิตลงในลักษณะอาการอย่างไร เมื่อไร และก็ต้องมีจิตเกิด สืบต่อเป็นบุคคลใหม่ทันที มาจากไหนก็ไม่ทราบ จะไปที่ไหนก็ไม่ทราบ

    ฟังดูเหมือนกับเป็นกุศโลบายที่จะทำให้คนทำดี เข้าใจว่าอย่างนั้น ใช่ไหม เพราะไม่ทราบว่าขณะนี้จิตกำลังเกิดดับ ถ้ารู้ว่าจิตกำลังเกิดดับ จะรู้ว่าจิตไหนเป็นเหตุ และจิตไหนเป็นผล คือ เราศึกษาพระธรรมหรือฟังพระธรรมอย่างผิวเผินมาก่อน เช่น เรื่องของกรรม ทุกคนรู้ว่ากรรมมีจริง คือ การกระทำดีมี การกระทำบาปมี และก็รู้ว่าผลของกรรมก็ต้องมี ในเมื่อกรรมเป็นเหตุมี ผลของกรรมก็ต้องมีด้วย ใช่ไหม

    ถ้าพูดว่า กรรมมี ผลของกรรมมี วันนี้ขณะไหนบ้างที่เป็นกรรม และ ขณะไหนบ้างที่เป็นผลของกรรม คือ ถ้าเราไม่ละเอียด เราจะไม่รู้เลย เราก็ไม่เชื่อเรื่องผลของกรรมทั้งชาติหน้าและชาตินี้ แต่ถ้าเรารู้ว่า ไม่ใช่เรื่องเลื่อนลอย และไม่ใช่สิ่งที่จะมาขู่กันเพื่อที่จะให้ทำความดี แต่มีทางของผลของกรรมที่จะเกิดขึ้น

    ทางตา มีการเห็นสิ่งที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจ ทุกคนอยากจะเห็นสิ่งที่ดีๆ ทั้งนั้น น่าเพลิดเพลินเจริญใจ อยากเห็นดอกไม้สวยๆ อยากฟังเสียงเพราะๆ อยากได้กลิ่นหอม อยากลิ้มรสอาหารอร่อย อยากกระทบสัมผัสที่สบาย นี่คือผลของกรรม เพราะแม้ว่าจะอยากสักเท่าไร ก็ขึ้นอยู่กับว่ากรรมใดจะทำให้ได้รับสิ่งที่ดีหรือไม่ดีในขณะไหน

    ทุกชีวิตต้องเคยรับประทานอาหารอร่อย ขณะที่รสอาหารกำลังกลมกล่อม เป็นผลของกุศลกรรม แต่ถ้ามีพริกที่เผ็ดจัดและเกิดลิ้มรสพริกนั้น ในขณะนั้นเป็นผลของกุศลกรรมหรือเปล่า

    ไม่มีทางที่จะรู้ได้เลยว่า กรรมใดจะให้ผล กำลังเป็นผลของกุศล อกุศลก็เกิดให้ผลขึ้นมาได้

    ถ้ารู้ว่าขณะใดเป็นผลของกรรมและขณะใดเป็นกรรม ก็ต้องทราบว่า ในเมื่อกรรมซึ่งเป็นเหตุมี และผลของกรรมในชาตินี้ก็มี เพราะฉะนั้น เมื่อกรรมยัง ไม่ได้ดับหมดสิ้นไป ผลของกรรมก็ต้องมีต่อไปด้วย ตราบใดที่ยังมีเหตุที่จะให้ทำกรรม ก็ต้องมีผลของกรรมเกิดด้วย

    ไม่ใช่เรื่องเลื่อนลอย เพียงแต่เราไม่สามารถมีจักษุทิพย์ที่จะเห็นภูมิไกลๆ หรือโลกอื่น ไม่สามารถที่จะระลึกชาติได้ ไม่เคยคิดด้วยซ้ำว่า ที่เราเกิดมาได้ เราเกิดมา ได้อย่างไร ตาเรามาจากไหน ผมเรามาจากไหน ร่างกายเรามาจากไหน ไม่เคยรู้ ไม่เคยคิด เมื่อเกิดมาแล้วก็ทึกทักว่าเป็นของเรา เป็นเรา แต่ถ้าคิดจริงๆ พิจารณา จริงๆ ศึกษาจริงๆ จะรู้ว่า มีรูปซึ่งเกิดเพราะกรรมประเภทหนึ่ง มีรูปซึ่งเกิดเพราะจิตประเภทหนึ่ง มีรูปซึ่งเกิดเพราะอาหารประเภทหนึ่ง และมีรูปซึ่งเกิดเพราะอุตุ ความเย็นความร้อนประเภทหนึ่ง

    เรื่องของตัวเราเองทั้งจิตใจและร่างกาย เราไม่เคยรู้ ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ก็ทำให้เราคิดเองว่า กรรมไม่มี หรือผลของกรรมไม่มี ถ้าคิดว่าชาติหน้าไม่มี ก็คือ ผู้ที่ไม่เชื่อเรื่องกรรมและผลของกรรม ยังรับผลของกรรมไม่หมดเลย จบแล้วก็สบาย ทั้งๆ ที่กำลังทำกรรม ผลของกรรมก็ไม่มี ถ้าเป็นอย่างนั้นก็หมายความว่า ไม่เชื่อ ในเรื่องเหตุกับผล

    . ... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. ขออนุโมทนาในความสนใจที่จะเข้าใจพระธรรมจริงๆ เพราะว่าพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของปัญญาของผู้ฟัง

    ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ตอนเย็นๆ ณ พระวิหารเชตวัน ณ พระวิหารเวฬุวัน ก็มีพุทธบริษัทไปเฝ้าเพื่อฟังพระธรรม จุดประสงค์ในการทรงแสดงพระธรรมก็เพื่อให้ผู้ฟังพิจารณาและเกิดปัญญาของตนเอง เพราะว่าพระองค์ดับกิเลสหมดแล้ว พระปัญญาสมบูรณ์ที่สุดแล้ว ไม่มีกิจที่จะต้องกระทำส่วนพระองค์ นอกจากสัตตูปการคุณ คือ การทรงแสดงธรรมเพื่ออุปการะแก่สัตว์โลก เพื่อให้ผู้ฟังเกิดปัญญา

    เพราะฉะนั้น แม้ในสมัยนี้ เหตุการณ์ครั้งนั้นผ่านล่วงเลยมาถึง ๒,๕๐๐ กว่าปี ผู้ที่เคยสนใจฟังพระธรรมก็ยังไม่ทิ้งโอกาส เวลาที่มีพระธรรมที่ได้เคยทรงแสดงไว้ ณ ที่ใด ก็ฟังและพิจารณา แต่ข้อสำคัญคือให้รู้ว่า เพื่อปัญญาของตนเองเกิดขึ้น เข้าใจเหตุและผลโดยสมบูรณ์ โดยไม่ผิด เพราะว่าเป็นเรื่องของเหตุและผลทั้งสิ้น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๗๘ ตอนที่ ๑๗๗๑ – ๑๗๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 96
    28 ธ.ค. 2564