แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1755


    ครั้งที่ ๑๗๕๕


    สาระสำคัญ

    จุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรม เพื่อเข้าใจ และเพื่อประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม

    ความประพฤติมักน้อย

    อรรถกถา ขุ. วัจฉสามเณรคาถา - อุปัชฌาย์

    อรรถกถา ขุ.ภัลลิยเถรคาถา - อุบาสก ๒ ท่าน ผู้ถึงพระพุทธและพระธรรมเป็นสรณะ

    คาถาของท่านพระอชิตเถระ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๓๑


    แม้ในการปฏิบัติก็เป็นผู้มีความประพฤติมักน้อย ศึกษาเพื่อที่จะเข้าใจ พระธรรม และเพื่อประพฤติปฏิบัติ คือ ละกิเลส ถ้าขึ้นชื่อว่าเพื่อละกิเลสแล้ว จะเพื่อความมักมากได้ไหม

    เพื่อละกิเลส ต้องละแม้การที่จะติดหรือยินดีพอใจในแม้คำสรรเสริญ หรือสักการะด้วย จึงจะเป็นผู้ที่ประพฤติเพื่อความมักน้อย ไม่ใช่ว่าศึกษาและปฏิบัติ เพื่อต้องการที่จะเก่ง หรือเป็นผู้ที่มีความรู้แตกฉาน เป็นที่เคารพนับถือ

    แสดงให้เห็นว่า แม้การฟัง ก็ต้องฟังให้ละเอียดว่า ในการศึกษาต้องเป็นผู้ที่ มักน้อย ในการปฏิบัติก็เพื่อความประพฤติมักน้อยด้วย จึงจะเป็นความดี

    มีข้อสงสัยไหมในเรื่องนี้ หรือไม่ควรจะเป็นอย่างนี้ ซึ่งที่จริงน่าจะมีข้อค้าน มีไหม เช่น พระอรหันต์เอตทัคคะต่างๆ น่าคิดไหม เป็นความประพฤติมักน้อย เป็นความดีหรือไม่ ในเมื่อท่านปรารถนาเป็นเอตทัคคะในทางต่างๆ

    น่าคิดจริงๆ แต่ถ้ารู้ว่า จุดประสงค์ของการอบรมเจริญปัญญา การเจริญกุศล การบำเพ็ญบารมีของท่านเพื่อละคลายกิเลส เพื่อดับกิเลส นั่นก็แสดงอยู่แล้วว่า เป็นความประพฤติมักน้อย แต่จะเห็นได้ว่า อัธยาศัยที่ต่างๆ กัน ตั้งแต่ก่อนเป็น พระอรหันต์ อย่างบางท่าน ท่านเป็นผู้มีจิตกรุณาต่อผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก ใจของท่านอ่อนโยนน้อมไปที่จะช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยากอยู่เสมอ ท่านถึงกับบอกว่า ถ้าท่านเกิดอีกก็ขอให้ท่านเป็นผู้ที่มีทรัพย์สินเงินทองมากๆ เพื่อจะได้ช่วยคนอื่น

    แสดงให้เห็นว่า เป็นผู้ที่มีอัธยาศัยอย่างนั้น ในการที่จะช่วยคนที่กำลังลำบากตกทุกข์ได้ยากในเรื่องของทาน เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่มีจิตอย่างนี้เรื่อยๆ ทุกภพทุกชาติ แม้ต้องการที่จะดับกิเลส ก็ยังต้องการเป็นผู้ที่สามารถช่วยสงเคราะห์บุคคลอื่น ซึ่งย่อมเป็นเหตุให้เป็นเอตทัคคะในทางนั้นได้ แต่แม้กระนั้นก็ตามก็เป็นด้วยความประพฤติมักน้อยเพื่อถึงการดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ไม่ใช่ให้เพื่อหวังสรรเสริญ หรือสักการะ

    ต้องพิจารณาโดยละเอียดถึงลักษณะสภาพของจิต แม้ของบุคคลอื่น และ แม้ของตนเอง ถ้าเห็นบุคคลอื่นเป็นอย่างไร ก็รู้ได้ว่าสะสมมาในการให้เพื่อต้องการสรรเสริญหรือเปล่า หรือกระทำทุกอย่างเพื่อความมักมาก หรือเพื่อความมักน้อย เพราะฉะนั้น บุคคลอื่นอย่างไร ท่านก็พิจารณาตัวของท่านเองได้ละเอียดกว่าบุคคลอื่น สามารถที่จะรู้จุดประสงค์แม้ในการศึกษาว่าเพื่ออะไร ในการอบรมเจริญปัญญา เพื่ออะไร ในการปฏิบัติธรรมทุกอย่าง เพื่ออะไร

    เพราะฉะนั้น คาถาที่ท่านกุมาปุตตเถระได้ภาษิตมีข้อความว่า การฟัง เป็นความดี ความประพฤติมักน้อยเป็นความดี ก็เตือนสติได้แล้วใช่ไหมว่า ไม่ใช่ฟังเพื่อที่จะเก่ง หรือเพื่อที่จะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เพื่อสักการะหรือสรรเสริญ แต่ว่า ความประพฤติมักน้อยเป็นความดี การอยู่โดยไม่ห่วงใยเป็นความดีทุกเมื่อ การถามสิ่งที่เป็นประโยชน์เป็นความดี การทำตามโอวาทโดยเคารพเป็นความดี กิจมีการฟังเป็นต้นนี้เป็นเครื่องสงบของผู้ไม่มีกังวล

    ต้องค่อยๆ อบรมเจริญไปเรื่อยๆ ในขั้นของการฟัง และในขั้นของการพิจารณาจนกระทั่งสติปัฏฐานสามารถเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ได้ตามปกติ

    พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ สามารถทำให้ผู้ที่พิจารณาขัดเกลากิเลสอกุศลธรรม ได้อย่างละเอียด เพราะชี้ให้เห็นโทษของตนเองซึ่งยากที่จะเห็นได้ เป็นศาสดา แทนพระองค์ เป็นดุจครูอาจารย์ผู้คอยชี้โทษ เป็นกัลยาณมิตร คือ มิตรแท้ คือ ผู้ที่ชี้ให้เห็นโทษของตนเอง

    มีใครโกรธบุคคลที่ชี้โทษบ้างไหม หรือโทษของเราก็ต้องเราเห็น ไม่ใช่ให้ คนอื่นบอก ความสำคัญตนนี่มีมากมายหลายลักษณะจริงๆ เพราะฉะนั้น ควรที่จะพิจารณาว่า มีจิตใคร่ที่จะเป็นผ้าเช็ดธุลีหรือยัง

    ถ้าระลึกถึงผ้าเช็ดธุลี คือ ไม่หวั่นไหว ไม่ว่าจะได้รับคำชมหรือคำติ หรือ การกระทำทางกายวาจาที่ควรหรือไม่ควรจากบุคคลใดก็ตาม ก็เป็นผู้ที่สามารถ ไม่หวั่นไหวได้ ก็จะถือผู้ที่ชี้โทษให้ว่าเป็นผู้ที่มีคุณ

    อรรถกถา ขุททกนิกาย วนวัจฉสามเณรคาถา มีข้อความว่า

    ชื่อว่าอุปัชฌาย์ เพราะเข้าไปเพ่งโทษน้อยและโทษใหญ่ คือ มุ่งแสวงหาประโยชน์เกื้อกูลแล้วเพ่งดูด้วยญาณจักษุ

    ถ้าเป็นอย่างนี้จะขอบพระคุณผู้ที่ชี้โทษไหม เพราะท่านต้องเสียเวลาของท่าน ที่จะเข้าไปเพ่งโทษน้อยและโทษใหญ่ โดยมุ่งแสวงหาประโยชน์เกื้อกูลแล้วเพ่งดูด้วยญาณจักษุ

    คือ ไม่ใช่เป็นคนที่ไปคอยจับผิดแล้วโกรธ แต่เป็นผู้ที่พิจารณาจิตใจของ แต่ละบุคคลซึ่งยังเป็นปุถุชนและรู้ว่า ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชน แม้จะเป็นคนที่คนอื่นกล่าวสรรเสริญเยินยอสักเท่าไรก็ตาม ก็เป็นผู้ที่มีกิเลส ยังไม่ได้ดับกิเลส จะชื่อว่า เป็นผู้ที่สมควรแก่การที่จะยกย่องโดยที่ว่าไม่ชี้โทษเลย เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น สำหรับอุปัชฌาย์ ชื่อว่าอุปัชฌาย์ เพราะเข้าไปเพ่งโทษน้อยและ โทษใหญ่ คือ มุ่งแสวงหาประโยชน์เกื้อกูลแล้วเพ่งดูด้วยญาณจักษุ

    ผู้ที่จะรู้ว่าใครจิตใจเป็นอย่างไรอย่างถูกต้อง ผู้นั้นต้องเป็นผู้มีปัญญา เป็นผู้ที่ตรง เป็นผู้ที่ไม่มีอคติ คือ ไม่มีฉันทาคติ ไม่มีโทสาคติ ไม่มีโมหาคติ ไม่มีภยาคติ และต้องรู้ด้วยว่า บุคคลนั้นเป็นบุคคลที่รับฟังสิ่งที่จะเกื้อกูลไหม หรือ เป็นบุคคลที่ไม่รับฟัง เพราะฉะนั้น ก็เกื้อกูลไม่ได้ แต่ขอให้เห็นหน้าที่ของผู้ที่จะเป็นมิตรแท้ว่า ต้องมีญาณจักษุ และเพ่งโทษน้อยและโทษใหญ่เพื่อแสวงหาประโยชน์เกื้อกูล เพราะถ้าเป็นผู้ที่ไม่มีปัญญาจริงๆ จะรู้ไหมว่า ใครมีกุศลอะไรบ้าง หรือใครมีอกุศลอะไรบ้าง

    อยู่ด้วยกัน เห็นกัน คบหาสมาคมกัน ถ้าไม่มีปัญญาจะรู้ไหมว่า บุคคลนี้ มีอกุศลประเภทไหนมากน้อย มีกุศลประเภทไหนมากน้อย เพราะถ้าเป็นผู้ที่ไม่มีปัญญาก็อาจจะพลอยเห็นดีเห็นงามตามไปกับอกุศลก็เป็นไปได้ ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็ไม่เป็นประโยชน์ที่จะนับถือบุคคลนั้นว่าเป็นครูอาจารย์ เพราะไม่สามารถรู้ตาม ความเป็นจริงว่า บุคคลใดเป็นอกุศลประเภทใด หรือมีกุศลประเภทใดมากน้อยอย่างไร ซึ่งประโยชน์ของการรู้อกุศลหรือโทษของคนอื่นต้องด้วยกุศลจิต ถ้าขณะนั้น เห็นโทษของคนอื่น เห็นอกุศลของคนอื่นด้วยอกุศลจิต จะไม่มีประโยชน์เลย เพราะถ้าเป็นกุศลจิต จะทำให้อกุศลของคนอื่นนั้นเป็นเครื่องเตือนให้พิจารณาอกุศลของตนเอง เนื่องจากคนส่วนใหญ่เห็นอกุศลของคนอื่นแต่ไม่เคยพิจารณาว่า อกุศลของคนอื่นที่กำลังไม่ชอบ ไม่พอใจนั้น ตนเองมีหรือเปล่า มีมากหรือมีน้อย แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปัญญาขณะที่เห็นอกุศลของคนอื่น สติเกิด จะรู้ว่าจิตที่กำลังเห็นอกุศลของคนอื่นนั้นเป็นกุศลหรือเปล่า

    เพราะฉะนั้น บางคนบอกว่า คนนั้น คนนี้ไม่ฉลาด ไม่รู้จักคนอื่น ก็ควรที่จะย้อนถามผู้ที่คิดว่าตนเองฉลาดที่รู้อกุศลของคนอื่นว่า ฉลาดพอที่จะรู้ทันอกุศลของตนเองหรือเปล่า ถ้าคิดว่าคนอื่นไม่ฉลาดพอที่จะรู้ทันอกุศลของคนอื่น

    และสำหรับผู้ที่มีความสามารถที่จะเกื้อกูลบุคคลอื่นที่กำลังมีอกุศล ก็ย่อมสามารถจะกระทำได้ด้วยจิตเมตตา

    . ที่เจ้าของจดหมายถามว่า เห็นหมูเห็ดเป็ดไก่ก็กำหนดเอาว่าเป็นนามรูป สัตว์บุคคลไม่มี ก็เลยเชื่อว่า เมื่อไม่มีแล้ว ฆ่าแล้วจะบาปไหม

    สุ. ถ้าไม่มีแล้ว ทำไมจะฆ่า ก็ไม่ต้องฆ่า ก็เกิดดับอยู่แล้ว

    . จะฆ่าหรือไม่ฆ่า เมื่อไม่มี ก็คงจะไม่บาป ใช่ไหม อย่างอชิตเกสกัมพลท่านก็มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า สัตว์ไม่มี ผู้ผุดเกิดคือโอปปาติกะไม่มี บิดามารดาไม่มี สัตว์บุคคลไม่มี มีแต่ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ เมื่อฆ่าแล้วก็สักแต่ว่าฆ่า ซึ่งเป็นมิจฉาทิฏฐิ หรือมีครูคนหนึ่งที่บอกว่า เพียงแต่เป็นปรมาณูเท่านั้น เมื่อเราเอาอาวุธแทรกเข้าไประหว่างปรมาณูก็ไม่ได้ไปฆ่าอะไร ซึ่งเราก็ทราบว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ

    สุ. นี่เป็นความคิด ใช่ไหม ไม่ใช่การประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ เพียงคิดเท่านั้นเอง

    . ถ้าไม่ใช่คิด จริงๆ เป็นอย่างนั้น สัตว์บุคคลไม่มี ไม่ใช่หรือ

    สุ. ไม่มี แต่มีสภาพธรรมที่เป็นกุศลธรรมและอกุศลธรรมซึ่งเป็นเหตุ

    . ก็มีแต่สภาวธรรมเท่านั้นเอง

    สุ. เพราะฉะนั้น วิบากมาจากไหน

    . วิบากมี ผลของกรรมมี

    สุ. แน่นอน

    . เพราะฉะนั้น ใครจะคิดว่ามีหรือไม่มี ก็ต้องได้รับผลคือวิบากนั้นแน่นอน ผมคิดว่าเจ้าของจดหมายคงจะทราบแล้ว

    สุ. การฟังพระธรรม จะเกื้อกูลต่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมในวันหนึ่งแน่นอน เพียงแต่จะต้องค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ตามการสะสมทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะสมบูรณ์ในชาติไหน ก็จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมในชาตินั้น

    ตัวอย่างของพระอริยบุคคลในครั้งอดีต เช่น ใน อรรถกถา ขุททกนิกาย ภัลลิยเถรคาถา มีข้อความว่า

    อุบาสก ๒ ท่าน คือ ท่านตปุสสะและท่านภัลลิยะผู้ถวายสัตตุผงและสัตตุก้อนแก่พระผู้มีพระภาค ณ โคนต้นเกตในสัปดาห์ที่ ๘ หลังการตรัสรู้ ท่านทั้งสองเป็นผู้ถึงพระพุทธและพระธรรมเป็นสรณะ คือ เทววาจิกสรณคมน์ และเมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จไปประกาศพระธรรมจักรที่กรุงพาราณสี และเสด็จต่อไปยังพระนครราชคฤห์นั้น ท่านตปุสสะและท่านภัลลิยะก็ได้ไปยังพระนครราชคฤห์แล้วได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม ท่านตปุสสะบรรลุโสตาปัตติผลแล้วได้เป็นอุบาสก อย่างเดิม ส่วนท่านภัลลิยะบวชแล้วได้เป็นผู้มีอภิญญา ๖

    นี่คือความต่างกันของการสะสมของท่าน ๒ ท่าน เมื่อครั้งที่ได้ถวายสัตตุผง และสัตตุก้อนนั้นก็ยังไม่ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ไม่ได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคล แต่เมื่อได้ฟังพระธรรมอีกครั้งหนึ่งก็ได้บรรลุ เพราะฉะนั้น แต่ละท่านไม่มีทางที่จะรู้ได้ว่าวันไหน ก็อาจจะเป็นอย่างท่านทั้งสองในวันหนึ่ง แล้วแต่ว่าเหตุจะสมบูรณ์พร้อม ที่จะให้ผลอย่างนั้นเกิดเมื่อไร

    ท่านภัลลิยเถระได้กล่าวกับมารซึ่งแสดงรูปน่ากลัวว่า

    ท่านกำจัดมัจจุ คือ ความตายได้แล้ว

    มัจจุ ความตาย คือ ความแตกแห่งขันธ์ทั้งหลาย

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    ก็มัจจุนั่นแหละชื่อว่าราชา เพราะอรรถว่าเป็นใหญ่ เพราะยังสัตว์ทั้งหลาย ให้เป็นไปในอำนาจของตน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่ามัจจุราชา

    บทว่า เสนํ ได้แก่ เสนา มีความแก่และโรคเป็นต้น ก็ความแก่และโรค เป็นต้น ชื่อว่าเสนา เพราะเป็นองค์ประกอบในการที่มัจจุราชนั้นยังสัตว์ให้เป็นไป ในอำนาจ

    ทุกท่านก็ทราบว่า วันหนึ่งต้องถึงขณะนั้นแน่นอน คือ ขณะที่จากโลกนี้ไป แต่ก็มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านได้กล่าวถึงความจริงว่า แม้จะรู้อย่างนี้ แต่วันนี้ก็ยัง ไม่ตาย เพราะฉะนั้น ก็ยังคงเหมือนทุกวันๆ ยังมีความพอใจ ความติดข้อง แสวงหา เพลิดเพลินในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะยังมีชีวิตอยู่ เมื่อยังไม่ตายก็ต้องเป็นไปตามการสะสม

    ข้อความต่อไปในอรรถกถามีว่า

    อีกอย่างหนึ่ง เทวบุตรมาร ท่านประสงค์เอาว่า มัจจุ ในพระคาถานี้ เพราะอรรถว่า ฆ่าเสียซึ่งคุณงามความดี

    กามเป็นต้น ท่านประสงค์เอาว่าเป็นเสนา เพราะเข้าถึงความเป็นสหายกับมัจจุราชนั้น

    สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า

    กามทั้งหลายเรากล่าวว่า เป็นเสนาที่ ๑ ของท่าน

    มีเสนามารเผชิญหน้าอยู่เรื่อยๆ ก็ไม่เคยรู้เลยว่าเป็นเสนามาร มีทั้งมัจจุมาร ที่จะต้องประสบในวันหนึ่ง และยังมีเสนามารที่ปรากฏอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันแต่ไม่เคยรู้เลยว่าเป็นเสนามาร เพราะว่า สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า

    กามทั้งหลายเรากล่าวว่า เป็นเสนาที่ ๑ ของท่าน ความไม่ยินดีเรากล่าวว่า เป็นเสนาที่ ๒ ของท่าน ความหิวและความกระหายเรากล่าวว่า เป็นเสนาที่ ๓ ของท่าน ตัณหาเรากล่าวว่า เป็นเสนาที่ ๔ ของท่าน ถีนมิทธะเรากล่าวว่า เป็นเสนาที่ ๕ ของท่าน

    บางท่านอาจจะกำลังมีอยู่ เพราะว่าชอบนอน

    ความขลาดกลัวเรากล่าวว่า เป็นเสนาที่ ๖ ของท่าน ความสงสัยเรากล่าวว่า เป็นเสนาที่ ๗ ของท่าน ความลบหลู่และความหัวดื้อเรากล่าวว่า เป็นเสนาที่ ๘ ของท่าน

    มีเสนามารมากมายอยู่ตลอดเวลาแต่ไม่เคยรู้เลย เพราะฉะนั้น ควรตั้งใจมั่น ที่จะเจริญกุศลยิ่งขึ้น

    สำหรับกามทั้งหลายก็เป็นของธรรมดาที่มี ความไม่ยินดีก็เป็นของธรรมดาอีก ความหิวและกระหายก็มีอยู่เป็นประจำ แม้ตัณหา ความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะก็มีอยู่ ถีนมิทธะก็มี เพราะผู้ที่จะละได้ดับได้เป็นสมุจเฉทต้องเป็น พระอรหันต์ แต่ก็ควรที่จะพิจารณาถึงเสนาที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ คือ ความขลาดกลัว ความสงสัย ความลบหลู่และความหัวดื้อ

    ถ้ามีก็ยากที่จะทำให้เข้าใจพระธรรมได้ถูกต้อง เพราะว่าเป็นผู้ที่ขาดการพิจารณาในประโยชน์ที่ว่า พระธรรมทรงแสดงไว้อย่างไร มากมาย ที่แม้จะศึกษาพิจารณาตลอดชีวิตก็ยังไม่จบ เพราะฉะนั้น แทนที่จะคิดถึงธรรมโดยลักษณะอื่น โดยนัยอื่น โดยแนวอื่น หรือโดยความคิดอื่น คือ ความคิดของตนเอง ก็ควรจะศึกษาและพิจารณาพระธรรมตามที่ได้ทรงแสดงไว้เป็นอันมากให้เข้าใจให้ถูกต้อง ก็เพียงพอ โดยไม่จำเป็นต้องคิดเอง ซึ่งจะทำให้คลาดเคลื่อนและผิดพลาดด้วย

    ทุกคนจะต้องตาย เป็นของที่แน่นอน เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้ฟังคาถาของพระเถระอีกรูปหนึ่ง ซึ่งท่านกล่าวถึงการตายของท่านไว้ว่าอย่างไร

    ท่านพระอชิตเถระกล่าวคาถาก่อนปรินิพพาน มีข้อความตอนท้ายว่า

    เราผู้เป็นแล้วอย่างนี้ จักทิ้งคือจักทอดทิ้งร่างกายของตนคือสรีระ หรือร่างของตน กล่าวคือเทหะอันเป็นภาระคือทุกข์ และเมื่อจะทอดทิ้งก็คิดว่า กิจที่จะพึงยังประโยชน์ให้สำเร็จด้วยร่างกายนี้ เราให้สำเร็จแล้ว

    ทุกคนกำลังมีร่างกายซึ่งจะทำประโยชน์ได้ แต่ถ้ายังไม่บรรลุถึงความเป็น พระอรหันต์ กิจที่จะพึงยังประโยชน์ให้สำเร็จด้วยร่างกายนี้ก็ยังไม่สำเร็จ แต่สำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์แล้วท่านเห็นว่า การที่จะจากโลกนี้ไป จะทอดทิ้งร่างกายหรือสรีระ ซึ่งเป็นภาระ ก็โดยการที่ท่านได้กระทำกิจให้สำเร็จด้วยกายนี้แล้ว เพราะฉะนั้น ท่าน ก็ทอดทิ้งไปโดยการสำเร็จกิจที่จะพึงใช้ร่างกายนี้

    เพราะฉะนั้น ทุกท่านยังมีร่างกาย มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจที่จะคิด ที่จะไตร่ตรองธรรม ที่จะพิจารณารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่จะเป็นประโยชน์ ก็ควรที่จะใช้ร่างกายนี้ให้เป็นประโยชน์



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๗๖ ตอนที่ ๑๗๕๑ – ๑๗๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 96
    28 ธ.ค. 2564