แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1780


    ครั้งที่ ๑๗๘๐


    สาระสำคัญ

    ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา

    ความคิดเป็นอนัตตา บังคับความคิดไม่ได้

    นามธรรมและรูปธรรมในชีวิตประจำวัน อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม

    ไม่รู้จักจิตคือไม่รู้จักโลก


    สนทนาธรรมที่โรงพยาบาล จังหวัดเลย

    วันอาทิตย์ที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑


    สุ. เห็นเป็นธรรม ใช่ไหม ถ้าอย่างนั้นขอถามว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เมื่อเห็นเป็นธรรม เห็นในขณะนี้เป็นอนัตตาด้วยหรือเปล่า

    ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา คำนี้ไม่เปลี่ยน ข้อความในพระไตรปิฎกจะไม่เปลี่ยนกลับไปกลับมาเลย ถ้ากล่าวว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เมื่อเห็นเป็นธรรม เพราะฉะนั้น เห็นเป็นอนัตตาด้วยหรือเปล่า

    ผู้ฟัง การเห็นก็เป็นอนัตตาด้วย เพราะไม่แน่นอน บางครั้งเรามองเป็นสภาพอย่างหนึ่ง บางครั้งก็เป็นสภาพอีกอย่างหนึ่ง

    สุ. อันนี้ถูกต้อง คือ การศึกษาจะดำเนินไปเป็นขั้นๆ ที่ว่าแม้ในขณะที่ เห็นนี้ก็ต้องเป็นอนัตตาด้วย เพราะว่าเป็นธรรม ได้ยิน คิดนึก แม้ความคิดนึกของ แต่ละคนก็เป็นอนัตตา เพราะว่าเป็นธรรม ค่อยๆ เข้าใจไปเป็นขั้นตอนว่า เห็นก็ เป็นธรรม เป็นอนัตตา ได้ยินก็เป็นธรรม เป็นอนัตตา ขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ เป็นอนัตตาหรือยัง

    ผู้ฟัง เป็นอนัตตาแล้ว

    สุ. เป็นอนัตตา ขั้นฟัง ใช่ไหม พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนตามลำดับขั้น คือ ขั้นฟัง ให้เข้าใจสิ่งที่ยังไม่เคยฟังมาก่อน และพิจารณาพิสูจน์ว่า สิ่งที่ได้ฟังเป็นความจริงแค่ไหน แม้แต่ความคิดที่กล่าวว่าเป็นอนัตตา ฟังเพียงแค่นี้ ท่านที่สนใจก็ไปไตร่ตรองดูว่า ความคิดเป็นอนัตตาอย่างไร

    ที่เป็นอนัตตาเพราะว่าบังคับความคิดไม่ได้เลย แลกความคิดกันไม่ได้เลย แต่ละคนก็คิดในสิ่งที่ตนเห็น ตนได้ยินเรื่องราวที่เคยทราบ และจะมาแลกความคิดกันก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น แม้ความคิดก็เป็นอนัตตา ทุกคนอยากจะคิดดีๆ หรือเปล่า อยากจะมีเมตตามากๆ อยากจะเป็นผู้มีความดี แม้ความคิดก็อยากจะคิดดี แต่บางครั้งเวลาคิดถึงคนอื่น คิดดูถูกบ้างไหม คิดเหยียดหยาม คิดดูหมิ่น คิดรังเกียจ คิดแบ่งชั้นวรรณะ หรือคิดโกรธเคืองเขาบ้างหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ก่อนที่จะศึกษาธรรมก็เป็นความฟุ้งซ่าน เมื่อมาศึกษาธรรมทำให้จิตใจของเราถูกขัดเกลา และรู้อะไรๆ หลายอย่างซึ่งเกี่ยวกับธรรมชาติ ธรรมชาติของมนุษย์เป็นอย่างนี้ ทำให้รู้ว่าอะไรถูก อะไรผิดขึ้นมานิดหน่อย

    สุ. เวลาที่กำลังขัดเกลา เป็นเรา หรือเป็นอนัตตา

    ผู้ฟัง เป็นอนัตตา

    สุ. นี่ต้องยืนพื้นตลอด แม้แต่ความคิดที่เกิดจากการฟังและพิจารณาเห็นโทษของอกุศล ขณะนั้นก็เป็นปัญญาที่ขัดเกลา ไม่ใช่เรา เพราะถ้าไม่ฟังพระธรรม จะพยายามขัดเกลาสักเท่าไรก็ไม่ได้ หรือถึงแม้ว่าฟังแล้ว แต่ยังไม่เห็นโทษของอกุศล ก็ไม่เกิดความคิดที่จะขัดเกลา

    แสดงให้เห็นว่า ปัญญามีหลายระดับขั้นจริงๆ บางคนเรียนและเกิดความสำคัญตนว่าเก่งกว่าคนอื่น ขณะนั้นก็เป็นอกุศลที่สลับกับกุศล แสดงให้เห็นความเป็นอนัตตาของทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย

    คงจะไม่มีข้อสงสัยในเรื่องของธรรม และธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แต่เวลาเห็นทีไร ยังเป็นเราเห็นหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่เราเห็น

    สุ. ขณะนี้ใครเห็น

    ผู้ฟัง จิตเห็น

    สุ. จิตมีสภาพอย่างไร

    ผู้ฟัง จิตเป็นสภาพที่เรารู้ว่าเป็นความรู้สึกอย่างหนึ่ง ความรู้สึกตัว หรือสติ

    สุ. ความจริงในขณะนี้ จิตเกิดดับเร็วที่สุด เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่ประจักษ์ลักษณะของจิต ก็ไม่ประจักษ์การเกิดดับของจิต ยังละคลายการยึดถือจิตหรือการเห็นว่าเป็นเราไม่ได้เลย แต่เริ่มมีความรู้ขั้นการฟัง คือ ความรู้ต้องอาศัยกันตามลำดับขั้น เมื่อฟังแล้วยังต้องรู้อีกว่า ยังไม่ประจักษ์แจ้งว่านามธรรมหรือจิตมีลักษณะอย่างไร แยกจากสิ่งที่ปรากฏทางตาอย่างไร ก็ต้องฟังต่อไปอีก จนกว่าสติอีกขั้นหนึ่งจะเกิดระลึกรู้ว่า ฟังอย่างนี้ว่าจิตเป็นอนัตตา ฉะนั้น กำลังเห็นที่ว่าเป็นอนัตตาก็เพราะว่า จิตเห็นเป็นเพียงลักษณะรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเท่านั้นเอง

    เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ถ้าสติเกิดระลึกได้ในขณะที่กำลังเห็น ยังจะต้องศึกษา พิจารณา จนกว่าความรู้นั้นจะชัดและประจักษ์ลักษณะของจิตจริงๆ ซึ่งเป็นอีกขั้นหนึ่ง

    . ขอความกรุณาเพิ่มเติมว่า ลักษณะของจิตที่เป็นอนัตตานั้นเป็นอย่างไร

    สุ. สำหรับในวันนี้คงจะพูดกันถึงเรื่องของจิต ซึ่งแท้ที่จริงแล้วขณะที่ทุกคนกำลังนั่งในที่นี้ มีจิตจริงๆ กำลังเกิดดับอย่างรวดเร็ว แต่ขั้นต้นต้องอาศัยการฟัง เรื่องของจิตให้เข้าใจก่อนจึงจะค่อยๆ รู้ มิฉะนั้นแล้วจะไม่สามารถรู้ได้ว่า ที่ว่าเป็นจิตเกิดดับนั้นคืออย่างไร

    ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าที่ยึดถือว่าเป็นเราตั้งแต่เกิดจนตาย มีสภาพธรรมที่เป็นของจริง ๒ อย่าง คือ สภาพรู้อย่างหนึ่ง และสิ่งที่ไม่รู้อะไรเลย ไม่ใช่สภาพรู้ อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งในภาษาบาลีจะมี ๒ คำ คือ คำว่า นามธรรม กับ รูปธรรม

    ไม่ว่าจะกี่ภพกี่ชาติ บนสวรรค์ ในนรก ที่ไหนก็ตาม ลักษณะของสภาพธรรมแยกออกเป็นลักษณะใหญ่ๆ ๒ ประการ คือ นามธรรมเป็นสภาพรู้ เป็นลักษณะรู้ เป็นอาการรู้ เป็นธาตุรู้ จะใช้คำว่าอะไรก็ได้ เริ่มจะคิดถึงลักษณะรู้โดยความเข้าใจ ยังไม่ประจักษ์ แต่ก็มีจริงๆ ลักษณะรู้นี่มี

    ส่วนสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง ไม่ใช่สภาพรู้ ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าถ้ากระทบสัมผัสส่วนที่เคยเป็นผม เป็นหู เป็นแขน เป็นขา เป็นฟัน เป็นเนื้อ เป็นหนัง เป็นอะไรก็ตามแต่ จะมีลักษณะที่แข็งหรืออ่อน เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว แต่ไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้น ลักษณะนั้นเป็นรูปธรรม

    ก่อนอื่นจะขาดความเข้าใจและการพิจารณาลักษณะของสภาพธรรม ๒ อย่างนี้ไม่ได้เลย คือ นามธรรมเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง รูปธรรมเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม ขอถามว่า เสียงเป็นรูปธรรมหรือ เป็นนามธรรม

    ผู้ฟัง เสียงเป็นนามธรรม

    สุ. ก่อนจะฟังพระธรรม เราคิดว่ารูปหมายความถึงสิ่งที่เรามองเห็นด้วยตา แต่ถ้าฟังพระธรรมแล้ว ความหมายเปลี่ยนไม่ได้ คือ สิ่งใดก็ตามที่ไม่ใช่อาการรู้ ไม่ใช่ลักษณะรู้ ต้องเป็นรูป แม้ว่ามองไม่เห็น

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังได้ยินเสียง ต้องมีสภาพธรรม ๒ อย่าง คือ เสียงกำลังปรากฏเป็นเสียงสูง เสียงต่ำ เสียงเบา เสียงทุ้ม เสียงแหลม นั่นเป็นลักษณะต่างๆ ของเสียง เหมือนสีก็ไม่ได้มีสีเดียว มีสีเขียว มีสีขาว มีสีฟ้า ฉันใด เสียงก็มีลักษณะต่างกันไป แล้วแต่ว่าจะเป็นเสียงสูง เสียงต่ำ เสียงทุ้ม เสียงห้าว เพราะฉะนั้น ขณะที่เสียงปรากฏ ต้องมีสภาพที่กำลังรู้เสียง

    นี่เพียงแต่พูดถึงชีวิตประจำวันของเราแท้ๆ ตั้งแต่เกิดจนตาย เราก็ต้องเข้าใจว่าเป็นอนัตตา แต่ต้องเริ่มจากความเข้าใจลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมก่อนว่า เสียงจะปรากฏต่อสภาพที่รู้เสียง ที่เราใช้คำว่า ได้ยิน ขณะนี้ถ้ามีคนถามว่า ได้ยินไหม จะตอบว่าได้ยินไหม

    ผู้ฟัง ได้ยิน

    สุ. ก็ต้องตอบว่าได้ยิน เพราะฉะนั้น อาการได้ยินเป็นลักษณะรู้เสียง ไม่ใช่ รู้อย่างอื่น ไม่ใช่คิดเป็นคำๆ ไม่ใช่เห็นเขียว เห็นแดง เห็นฟ้า เห็นม่วง แต่เวลาที่เสียงปรากฏ มีสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งได้ยินเสียง เป็นอาการรู้เสียงนั่นเอง

    นั่นคือจิตชนิดหนึ่งซึ่งเป็นอนัตตา เพราะต้องอาศัยโสตปสาทกับเสียงจิตชนิดนี้จึงเกิดขึ้นรู้เฉพาะเสียง โดยไม่เห็น ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่คิดนึก ไม่ว่าจะภพนี้ชาตินี้ ชาติก่อน ชาติหน้าแสนโกฏิกัปป์ หรืออีกกี่พันปีก็ตาม เมื่อธาตุชนิดนี้เกิดขึ้น จะเป็นสภาพที่รู้เสียงอย่างเดียว เช่นในขณะนี้เป็นต้น ลักษณะสภาพธรรมนี้ก็มี

    เพราะฉะนั้น เสียง แม้ว่ามองไม่เห็น แต่ไม่ใช่สภาพรู้ เสียงจึงเป็นรูปธรรม และได้ยินเป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ เป็นจิตชนิดหนึ่ง เป็นนามธรรม ต้องแยกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในชีวิตประจำวัน

    ผู้ฟัง ... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. เสียงปรากฏมีลักษณะสูงต่ำ จึงไม่ใช่นามธรรม เพราะว่านามธรรม ไม่ใช่รูป กระทบสัมผัสไม่ได้ มองเห็นไม่ได้ ไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส ลักษณะของนามธรรมเป็นแต่เพียงอาการรู้หรือธาตุรู้ ซึ่งไม่มีรูปร่างลักษณะใดๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นสิ่งที่มีจริง เพราะกำลังเห็น อาการเห็นมี เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ตัวเราตั้งแต่เกิดจนตาย เราไม่เคยรู้ความจริงเลยว่าเป็นธรรมแต่ละอย่างอย่างไร เป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม แม้แต่การที่จะเริ่มฟัง เราก็ต้องยึดในเหตุผล และสิ่งนั้นจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่น นามธรรมเป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ ไม่ใช่รูปใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนรูปไม่ใช่สภาพที่จะรู้อะไรได้ แต่มีลักษณะอาการต่างๆ คือ รูปชนิดหนึ่งปรากฏทางตาเป็นสีสันต่างๆ รูปชนิดหนึ่งปรากฏทางหูเป็นเสียงต่างๆ รูปชนิดหนึ่งปรากฏทางจมูกเป็นกลิ่นต่างๆ รูปชนิดหนึ่งปรากฏทางลิ้นเป็นรสต่างๆ รูปชนิดหนึ่งปรากฏทางกายเป็นเย็นร้อน หรืออ่อนแข็ง หรือตึงไหว นี่คือชีวิตประจำวันตั้งแต่เกิดจนตาย จะพ้นจาก ๖ ทางนี้ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น เสียง เป็นอะไร เสียงเป็นรูป และที่กำลังได้ยินเสียง มีไหม

    ผู้ฟัง มี

    สุ. เมื่อไร

    ผู้ฟัง เมื่อเสียงกระทบกับโสตปสาท ใช่ไหม

    สุ. เวลาที่เรากำลังพูดถึงสภาพธรรม เราไม่ต้องพูดถึงเรื่องยาวๆ อย่างนั้น เราอาจจะบอกว่า ขณะที่เสียงปรากฏ เสียงปรากฏกับจิตที่ได้ยิน ถ้าจิตได้ยิน ไม่มี เสียงปรากฏได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    สุ. เพราะฉะนั้น นามธรรมกับรูปธรรมเกิดแล้วปรากฏแต่ละทาง เป็นคู่ๆ ก็ได้ อย่างทางตา เห็นเป็นนามธรรม สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นรูปธรรม ทางหู ได้ยินเป็นนามธรรมคือเป็นจิต เสียงเป็นรูปธรรม ทางจมูกที่กำลังได้กลิ่น ลักษณะอาการ ที่กำลังรู้กลิ่นนั้นเป็นนามธรรม กลิ่นเป็นรูปธรรม ทางลิ้นในขณะที่กำลังลิ้มรส รสปรากฏ รสเป็นรูปธรรม กำลังรู้รสนั้นเป็นนามธรรม

    . อย่างเกลือนี่เป็นนามธรรม

    สุ. เกลือเป็นอะไร

    . เกลือเป็นรูปธรรม แต่รสของเกลือ

    สุ. รสเกลือเป็นอย่างไร

    . รสเกลือ เค็ม

    สุ. เค็มเป็นอะไร

    . เค็มเป็นนามธรรม

    สุ. เค็มเป็นนามธรรมไม่ได้ เค็มเป็นรูป นามกำลังลิ้มลักษณะที่เค็ม กำลังรู้ว่าเค็ม จะรู้ได้อย่างไรว่าเค็ม ก็ต้องอาศัยลิ้น หมายความว่าชิวหาปสาท ต้องกระทบ ถ้ากระทบที่ปากไม่เค็ม ต้องกระทบลิ้นหรือกลางลิ้นจึงจะเค็ม

    . ตรงไหนที่เป็นนามธรรม

    สุ. กำลังรู้ว่าเค็ม กำลังรู้ลักษณะที่เค็ม ขอประทานโทษ เกลืออยู่ที่นี่ เค็มหรือยัง

    . ไม่เค็ม

    สุ. เพราะว่าไม่มีจิตที่ลิ้มรสเค็ม จึงไม่เค็ม ทั้งๆ ที่เกลืออยู่ที่นี่ แต่ไม่มีจิต ที่ลิ้มความเค็มนั้น เกลืออยู่ในมือเค็มไหม ไม่เค็ม เพราะว่าไม่มีจิตที่ลิ้มรสที่เค็ม เพราะฉะนั้น ลักษณะที่เค็มเป็นรูปมีอยู่ที่เกลือ เราใช้คำว่า เกลือ แต่ความจริงเป็น รสเค็ม เหมือนอย่างที่เราใช้คำว่า เปรี้ยว เราจะเรียกว่าส้ม เราจะเรียกว่าองุ่น หรือเราจะเรียกว่าอะไรก็ตามแต่ แต่รสเปรี้ยว ลักษณะเปรี้ยว สภาพที่เปรี้ยวมีจริงๆ แต่ยังไม่ปรากฏจนกว่าจะกระทบลิ้น มีจิตที่ลิ้ม คือ รู้รสเปรี้ยวนั้น ลักษณะอาการที่รู้ในความเปรี้ยวนั้นเป็นนามธรรม

    . ผมมีความคิดว่า อะไรที่สัมผัสได้ถือว่าเป็นรูปธรรม แต่ถ้าระลึกได้ว่า ต้องเค็มแน่ เป็นสีนั้นแน่ เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏในความรู้สึก ก็เป็นนามธรรม

    สุ. เรื่องนามธรรมและเรื่องรูปธรรมดูเป็นเรื่องที่ลึกลับจริงๆ ถ้าเพียง พูดโดยชื่อให้ตอบ ไม่ยากเลย เรียงเป็นคู่ๆ ตอบได้ แต่ถ้าจะให้เข้าใจถึงลักษณะอาการของสภาพที่มีจริงๆ จะต้องฟังและพิจารณา เช่น ลักษณะอาการรู้ สภาพรู้ เราเคยคิดว่า เรารู้เวลาเราอ่านหนังสือ เราเข้าใจเวลาเราได้ยิน แต่ก่อนที่จะเข้าใจ เรื่องก็ดี หรือก่อนที่จะอ่านหนังสือและคิดตามรู้เรื่องตามก็ดี เพียงแค่เห็น เอาเพียงแค่เห็นเท่านั้นเอง ก็ต้องมีสภาพที่รู้สิ่งซึ่งปรากฏทางตา สิ่งที่ปรากฏทางตาจึงปรากฏได้

    ขณะนี้ตาไม่ได้อยู่ข้างหลัง แต่ถ้าหันหลังไปจะมีสิ่งที่ปรากฏทางตา โดยที่ตา ไม่เห็นอะไร ตาเห็นไม่ได้เลย แต่มีจิตที่อาศัยตาเกิดขึ้นเห็นจึงเป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ ซึ่งไม่มีรูปร่างลักษณะ และมองไม่เห็นจิตเลย เพราะว่าเป็นแต่เพียงธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเป็นธาตุที่ต้องรู้ ทุกครั้งที่เกิดขึ้น ธาตุนี้เป็นลักษณะรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ตลอดเวลา แม้แต่ขณะที่กำลังนอนหลับ ยังไม่สิ้นชีวิต ก็มีจิตซึ่งเกิดขึ้นเป็นสภาพรู้ แต่ไม่ได้รู้โลกนี้เท่านั้นเอง เพราะว่าหลับ ต่อเมื่อใดตื่นขึ้น ก็เริ่มเห็นโลกนี้อีก ได้ยินโลกนี้อีก คิดถึง โลกนี้อีก จนกว่าจะหลับ

    เพราะฉะนั้น จิตจึงมีหลายๆ ประเภท แต่ต้องเป็นสภาพรู้ ลักษณะรู้ อาการรู้ ซึ่งแยกละเอียดมาก และเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ เพราะว่าทุกคนก็หลับและตื่น และสภาพขณะที่หลับไม่ใช่ว่าปราศจากจิต แต่เป็นจิตต่างประเภทกับขณะที่ตื่น

    ให้ทราบว่า ที่ยึดถือว่าเป็นเรา เป็นตัวตนนั้น ทุกภพทุกชาติ ไม่ใช่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว เพราะว่าไม่เข้าใจ และไม่รู้ลักษณะของของนามธรรมและรูปธรรม จนกว่าจะได้ฟังพระธรรมและได้เข้าใจว่า ธรรมคืออะไร อนัตตาคืออย่างไร และธรรมเป็นชีวิตประจำวันอย่างไร

    ที่ทุกคนเกิดมามีสุขบ้าง มีทุกข์บ้าง ทุกคนมีปัญหา เด็กเล็กๆ ก็มีปัญหา ยิ่งเติบโตเจริญขึ้นมีหน้าที่การงานต่างๆ ก็ยิ่งมีปัญหา ถ้าไม่รู้ว่าปัญหาอยู่ที่ไหน จะดับปัญหานั้นไม่ได้เลย ก็เพียรไปหาทางอื่น คิดว่าปัญหาอยู่ที่อื่น แต่ไม่รู้ความจริงว่า แท้ที่จริงแล้วปัญหาอยู่ที่จิตทุกขณะที่ไม่รู้ความจริงของจิตนั้นๆ ไม่รู้จักจิต คือ ไม่รู้จักโลก แต่ในพระพุทธศาสนาพระองค์เป็นผู้ทรงรู้แจ้งโลก และโลกก็มีหลายลักษณะ หลายประเภท

    . คนเราเกิดมาต้องมีปัญหาทั้งนั้น … (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. มีปัญหาที่ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน เพราะฉะนั้น ที่จะแก้ปัญหาก็ต้องรู้ว่า ปัญหาอยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่อวิชชา ความไม่รู้จักโลก ไม่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง

    . ขอให้อาจารย์อธิบายคร่าวๆ ว่า วิธีของอาจารย์นั้นทำอย่างไร

    สุ. ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ คือ มีพระธรรมเป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง ก็ต้องฟังพระธรรมไปเรื่อยๆ เพิ่มความเข้าใจพระธรรมไป

    . … (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. ได้ยินไหม

    . ได้ยิน แต่เสียงก็เป็นเสียง

    สุ. ได้ยินก็เป็นได้ยิน

    . … (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. ได้ยิน ไม่ใช่เสียง ตอบก่อนว่า ได้ยินไหม

    . ได้ยิน

    สุ. ได้ยินไม่ใช่เสียง ถ้าเสียงกับได้ยินยังรวมกัน ก็ต้องไปสืบหาผู้รู้อีก ใช่ไหม แต่นี่ได้ยินไหม คำว่า ได้ยิน ก็ตอบแล้วว่ามีสภาพที่ได้ยินเสียง อาการได้ยิน ลักษณะได้ยินเป็นสภาพรู้เสียง เพราะฉะนั้น ไม่ต้องมีผู้หนึ่งผู้ใดไปรู้เสียงอีก เพราะว่าเสียงปรากฏกับสภาพที่รู้เสียงเท่านั้น ขณะใดที่มีเสียงปรากฏ ขณะนั้นมีสภาพรู้เสียง ที่ปรากฏ เฉพาะเสียงที่ปรากฏด้วย เพราะฉะนั้น เสียงปรากฏแก่จิตที่ได้ยิน

    จิตเป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้เสียงที่ปรากฏ ไม่มีบุคคลอื่นอีกต่างหากที่จะ ไปรู้เสียงนั้น เพราะที่เข้าใจว่าเป็นเรารู้เสียง หรือที่เราได้ยิน แท้ที่จริงได้ยินเกิดขึ้น เมื่อเสียงปรากฏเท่านั้น เวลาที่เสียงไม่ปรากฏ ได้ยินจะมีไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น เสียงปรากฏเมื่อไร ก็มีได้ยินเมื่อนั้น หรือว่ามีได้ยินเมื่อไร เสียงก็ปรากฏเมื่อนั้น

    . … (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. ตามองเห็น เวลานี้เห็นไหม

    . เห็น

    สุ. เห็นอะไร

    . เห็น ... ผู้รู้นั้นอยู่ที่ไหน

    สุ. ยังไม่ต้องไปถึงผู้รู้ เห็นก่อน เห็นมี เห็นอะไร

    . เห็นว่าเป็นรูป

    สุ. เห็นว่า นั่นต่างจากเห็นแล้ว นี่คือความละเอียด ถ้าหลับตา ขอความกรุณาหลับตาจริงๆ เห็นอะไรไหม

    ถ. หลับตาแล้วก็ไม่เห็น

    สุ. มองที่แสงสว่างแล้วหลับตา

    ถ. พอเห็น

    สุ. หลับตาแล้วมองเห็นกี่สี่

    ถ. สีขาว

    สุ. สีเดียว ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ เป็นสี ลืมตาขึ้น เปลี่ยนจากสีเดียว เป็นหลายๆ สีเท่านั้นเอง ทำไมเห็นว่าเป็นคน ก็ยังต้องเห็นเป็นสีอยู่จึงจะถูก ใช่ไหม

    ที่ว่าเห็นสี นี่ถูก ใช่ไหม และนึกถึงรูปร่างของสีต่างๆ ก็รู้ว่านี่เป็นคน แต่ต้องมีการนึกถึงรูปร่างของสีต่างๆ เพราะฉะนั้น นี่เป็นการเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว ของจิตซึ่งไม่มีวันจะรู้ได้เลยถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ที่จะประจักษ์ว่า จิตเป็นอนัตตา เกิดขึ้นแล้วดับไปๆ ต้องฟังพระธรรมโดยละเอียดจึงจะรู้ว่า ในขณะที่เห็นนั้น สิ่งที่กำลังปรากฏ ปรากฏกับการเห็นหรือจิตเห็น ที่ถามว่าเห็นไหม ขณะที่บอกว่าเห็น นั่นล่ะคือสภาพที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่มีคนอื่นอีกคนหนึ่งมารู้ แต่ขณะใดที่เห็น ขณะนั้นเป็นสภาพรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่มีตัวตน เมื่อหลับตาลง หรือเสียงปรากฏ ขณะที่รู้เสียง ขณะนั้นก็ไม่ใช่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นจิตอีกประเภทหนึ่งแล้ว

    วันหนึ่งๆ มีจิตเกิดดับมากมายหลายประเภท กว่าจะรู้ว่าไม่ใช่เราก็ต้องฟังจนกระทั่งเข้าใจเป็นลำดับขั้น จนกระทั่งถึงขั้นที่สติระลึกได้และพิจารณาจนรู้จริงๆ ว่า ขณะนี้เพียงแต่เห็นสีต่างๆ ยังไม่แปลสีเป็นคน จึงจะเป็นอนัตตาได้

    นี่เป็นเหตุที่เวลาเห็นคนต้องเป็นอัตตา เพราะเป็นคน แต่ถ้ารู้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น กี่ภพกี่ชาติสีนี้ก็ลวงเราให้เห็นว่าเป็นคนนั้นคนนี้ เมื่อลืมตาขึ้นก็เริ่ม ลวง ถูกลวงว่าเป็นคนนั้นคนนี้ เพราะว่ามีหลายสี ก็เลยคิด และเกิดความยึดมั่นใน สิ่งที่คิดว่า ต้องเป็นคนนั้นแน่นอน แต่ความจริงเป็นความจำสี และยังมีอัตตสัญญาว่า จำคนด้วย แต่จริงๆ แล้วเห็นที่ไหน เมื่อไร ก็เห็นเพียงสีต่างๆ เท่านั้นเอง และก็นึกคิด



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๗๘ ตอนที่ ๑๗๗๑ – ๑๗๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 96
    28 ธ.ค. 2564