แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1802


    ครั้งที่ ๑๘๐๒


    สาระสำคัญ

    ขุ.อุ.ยโสชสูตร

    ปฏิสนธิจิต ๑๙ ประเภท

    อถ.ขุ.อุ.อรรถกถาโลกสูตร - โลก


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๓๑


    ในที่สุดแห่งพระเทศนา บุตรชาวประมงจำนวน ๕๐๐ เหล่านั้น ถึงความสังเวช สลดใจ ปรารถนาจะทำที่สุดทุกข์ ได้บรรพชาในสำนักของพระผู้มีพระภาค ต่อกาล ไม่นานเลย ก็กระทำที่สุดทุกข์ได้ ได้เป็นผู้มีการบริโภคเป็นอันเดียวกันกับ พระผู้มีพระภาค ด้วยการบริโภคธรรมคืออเนญชวิหารสมาบัติ

    ไม่ใช่เพียงแต่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอรหันต์เท่านั้น ท่านเหล่านั้น ยังได้บรรลุถึงจตุตถฌานโดยจตุกกนัยด้วย

    แต่ก่อนที่ท่านเหล่านี้จะบรรลุอรหัตตผล ท่านเหล่านี้ก็มีความประพฤติที่ ท่านเองเกิดความสลดใจ ดังข้อความใน ขุททกนิกาย อุทาน ยโสชสูตร ข้อ ๗๑ มีข้อความโดยย่อว่า

    ชาวประมง ๕๐๐ คนนี้ หลังจากที่บวชแล้ว สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ก็สมัยนั้น พระภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป มีพระยโสชะเป็นประมุข เดินทางมาถึงพระนครสาวัตถีโดยลำดับเพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาค ก็ภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้นปราศรัยกับภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเจ้าถิ่น ปูลาดเสนาสนะ เก็บบาตรและจีวรกันอยู่ ได้ส่งเสียงอื้ออึง

    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านพระอานนท์ว่า ใครนั่นมีเสียงอื้ออึงเหมือนชาวประมงแย่งปลากัน ท่านพระอานนท์กราบทูลให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคตรัสให้ท่านพระอานนท์เรียกภิกษุเหล่านั้นมาเฝ้าแล้วตรัสถามว่า เพราะเหตุใด ภิกษุทั้งหลายจึงส่งเสียงอื้ออึงเหมือนชาวประมงแย่งปลากัน ท่านพระยโสชะก็ได้ กราบทูลให้ทรงทราบ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงไป เราประณามเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายไม่ควรอยู่ในสำนักของเรา

    สมควรไหมที่จะตรัสอย่างนั้น

    ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากอาสนะ ถวายบังคม พระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้ว เก็บเสนาสนะ ถือบาตรและจีวรหลีกจาริกไป ทางวัชชีชนบท เที่ยวจาริกไปในวัชชีชนบทโดยลำดับ ถึงแม่น้ำวัคคุมุทานที กระทำกุฎีมุงด้วยใบไม้ เข้าจำพรรษาอยู่ใกล้แม่น้ำวัคคุมุทานที

    มาเฝ้าด้วยความหวังที่จะได้นมัสการ ได้ฟังพระธรรม แต่ต้องผิดหวังกลับไป เพราะการกระทำของตนเอง ที่ส่งเสียงดังอื้ออึงมากในขณะที่จัดเตรียมเสนาสนะกับภิกษุซึ่งเป็นเจ้าถิ่น

    ครั้งนั้น ท่านพระยโสชะเข้าจำพรรษาแล้ว เรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วกล่าวว่า

    ท่านผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคทรงใคร่ประโยชน์ ทรงแสวงหาประโยชน์ ทรงอนุเคราะห์ ทรงอาศัยความอนุเคราะห์ประณามเราทั้งหลาย

    เห็นว่าเป็นความผิดของพวกท่านเอง ไม่ใช่ความผิดของพระผู้มีพระภาคเลย

    ท่านกล่าวต่อไปว่า

    พระผู้มีพระภาคพึงทรงใคร่ประโยชน์แก่เราทั้งหลายผู้อยู่ประการใด ขอเราทั้งหลายจงสำเร็จการอยู่ด้วยประการนั้นเถิด

    คือ ทราบว่าพระมหากรุณาที่ทรงอนุเคราะห์ อนุเคราะห์เพื่อให้ประพฤติปฏิบัติธรรม เมื่อทราบว่าเป็นความมุ่งหมายของพระองค์ ท่านก็กล่าวเตือนพวกภิกษุของท่านว่า ขอเราทั้งหลายจงสำเร็จการอยู่ด้วยประการนั้นเถิด

    ภิกษุเหล่านั้นรับคำของท่านพระยโสชะแล้ว หลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่ ทุกๆ รูปได้ทำให้แจ้งซึ่งวิชชา ๓ ภายในพรรษานั้นเอง

    นอกจากจะเป็นพระอรหันต์แล้ว ยังสามารถได้ฌานสมาบัติด้วย

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    ก็บรรดาภิกษุเหล่านี้ที่พระผู้มีพระภาคทรงประณามอย่างนี้ แม้รูปเดียวก็มิได้ ให้คำตอบว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงประณามข้าพระองค์ด้วยเหตุ เพียงเสียงดัง หรือมิได้ให้คำอะไรๆ อื่น ด้วยพุทธคารวะ

    คือ ไม่โต้ตอบเลยทั้งสิ้น เพราะว่าเป็นความจริงอย่างนั้น เป็นความผิดของท่านเอง

    ภิกษุทั้งหมด เมื่อรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคจึงกราบทูลว่า เป็นอย่างนั้นพระเจ้าข้า แล้วพากันออกไป

    ซึ่งข้อความในอรรถกถาแสดงว่า พระภิกษุทั้งหลายท่านก็เสียใจ เพราะการที่ท่านมาเฝ้าพระผู้มีพระภาค

    ก็ด้วยความคิดว่า พวกเราจักเฝ้าพระศาสดา จักฟังธรรม จักอยู่ในสำนัก พระศาสดา แต่พวกเรามายังสำนักพระศาสดาผู้เป็นครูเห็นปานนี้ กระทำเสียงดัง นี้เป็นโทษของพวกเราเท่านั้น พวกเราถูกประณามเพราะโทษ เราไม่ได้อยู่ใน สำนักพระศาสดา ไม่ได้ชมพระโฉมมีวรรณะดังทองคำอันนำมาซึ่งความเลื่อมใส รอบด้าน ไม่ได้ฟังพระธรรมที่ทรงแสดงด้วยพระสุรเสียงอันไพเราะ

    และพวกท่านก็พิจารณารู้ว่า

    เราถูกประณามเพราะอาศัยความอนุเคราะห์ ไม่ใช่ถูกประณามเพราะหวังความขวนขวายเป็นต้นของตน

    คือ พระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงประณามเพราะว่าทรงพอพระทัยที่จะประณาม แต่ทรงประณามเพื่อจะอนุเคราะห์

    เพราะเหตุที่พระผู้มีพระภาค ผู้หนักในธรรม ผู้ทรงประณามเพราะเหตุเพียง ทำเสียงดัง จึงควรบูชาพระองค์ด้วยสัมมาปฏิบัติเท่านั้น คือ เราจะบำเพ็ญ อปัณณกปฏิปทา ด้วยการประกอบสติสัมปชัญญะในที่ทุกสถาน

    เมื่อเราอยู่โดยประการใด พระผู้มีพระภาคพึงเป็นผู้มีพระทัยยินดี คือ อันพวกเราพึงให้พอพระทัยด้วยสัมมาปฏิบัติบูชา

    แสดงให้เห็นว่า ทุกท่านที่เกิดระลึกได้ในความผิดของตนเอง ก็มีโอกาสรู้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุเคราะห์เรื่องอะไร คือ ทรงอนุเคราะห์เพื่อให้ทุกท่าน มีสัมมาปฏิบัติ เมื่อเกิดการระลึกได้ ก็เริ่มสัมมาปฏิบัติได้

    ข้อความต่อไปในพระไตรปิฎกมีว่า

    ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครสาวัตถีตามพระอัธยาศัยแล้ว เสด็จจาริกไปทางพระนครเวสาลี เสด็จถึงพระนครเวสาลีแล้วประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้พระนครเวสาลี

    ซึ่งข้อความในอรรถกถาได้กล่าวถึงข้อความอีกตอนหนึ่งที่ว่า

    ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้ประทับอยู่ในที่แห่งหนึ่ง พระองค์ย่อมไม่ทรง ไม่ยินดีเพราะอาศัยความวิบัติแห่งร่มเงาและน้ำ หรือเสนาสนะอันไม่เป็นที่สบาย หรือความที่พวกมนุษย์ไม่มีศรัทธาเป็นต้น หรือแม้การประทับอยู่นานด้วยทรงพระดำริว่า อยู่เป็นผาสุกเพราะความสมบูรณ์ ก็ไม่มีแก่พระผู้มีพระภาคทั้งหลาย

    ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ที่ใด มนุษย์ทั้งหลายในที่นั้นตั้งอยู่ในสรณะ สมาทานศีล บรรพชา หรือบรรลุโสตาปัตติมรรคเป็นต้น พระองค์จึงประทับอยู่ เพื่อให้มนุษย์เหล่านั้นตั้งอยู่ในสมบัติเหล่านั้น

    นี่เป็นเหตุผลที่ประทับในที่ต่างๆ เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จไปจากสาวัตถี ก็เพราะว่าในกาลนั้นพระองค์ไม่มีพุทธกิจที่จะพึงกระทำในพระนครสาวัตถี จึงได้ เสด็จไปทางกรุงเวสาลี

    ข้อความต่อไปในพระไตรปิฎกมีว่า

    เมื่อพระผู้มีพระภาคประทับที่พระนครเวสาลีแล้ว ก็ทรงทราบด้วยพระทัยว่า ท่านพระยโสชะและภิกษุเหล่านั้นบรรลุพระอรหันต์แล้ว พระองค์ตรัสให้ ท่านพระอานนท์ให้ภิกษุรูปหนึ่งไปหาท่านพระยโสชะและภิกษุเหล่านั้น และให้บอกว่า พระผู้มีพระภาครับสั่งให้หาท่านทั้งหลาย ซึ่งท่านพระยโสชะและภิกษุเหล่านั้นก็ได้ เข้ามาเฝ้าพระผู้มีพระภาคในขณะที่พระองค์ประทับนั่งอยู่ด้วยอเนญชสมาธิ (คือ จตุตถฌานโดยจตุกกนัย) ท่านพระยโสชะและภิกษุทั้งหลายก็นั่งอยู่ด้วย อเนญชสมาธิเช่นเดียวกับพระองค์ตลอดปฐมยาม มัชฌิมยาม และปัจฉิมยาม

    เมื่อราตรีล่วงไปแล้ว อรุณขึ้นแล้ว ท่านพระอานนท์ก็ลุกจากอาสนะ กระทำ ผ้าอุตตราสงฆ์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประณมอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีล่วงไปแล้ว ปัจฉิมยามผ่านไปแล้ว อรุณขึ้นแล้ว ราตรีรุ่งอรุณ ภิกษุอาคันตุกะทั้งหลายนั่งอยู่นานแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคทรงปราศรัยกับภิกษุอาคันตุกะทั้งหลายเถิด พระเจ้าข้า

    คือ ไม่ทราบเลยว่า ท่านพระยโสชะและภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นบรรลุอรหันต์ และได้ฌานสมาบัติ และไม่ว่าพระผู้มีพระภาคจะประทับนั่งด้วยสมาบัติใด ภิกษุเหล่านั้นก็อยู่ด้วยสมาบัตินั้นตลอด ตั้งแต่ปฐมยาม มัชฌิมยาม และปัจฉิมยาม

    ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากสมาธินั้น แล้วตรัสกับท่าน พระอานนท์ว่า

    ดูกร อานนท์ ถ้าว่าเธอพึงรู้ไซร้ ความแจ่มแจ้งแม้มีประมาณเท่านี้ก็ไม่พึงปรากฏแก่เธอ ดูกร อานนท์ เราและภิกษุ ๕๐๐ เหล่านี้ทั้งหมด นั่งแล้วด้วย อเนญชสมาบัติ

    ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ทรงเปล่งอุทานนี้ ในเวลานั้นว่า

    ภิกษุใดชนะหนาม คือ กาม ชนะการด่า การฆ่า และการจองจำได้แล้ว ภิกษุนั้นมั่นคงไม่หวั่นไหวดุจภูเขา ภิกษุนั้นย่อมไม่หวั่นไหวในเพราะสุขและทุกข์ ฯ

    เกิดมาทั้งชาติ ทุกชาติๆ หวั่นไหวมากเหลือเกินในเรื่องสุขและทุกข์ จนกว่าจะถึงวาระที่ไม่หวั่นไหวในสุขในทุกข์ คิดดู เมื่อไรจะถึงอย่างนั้น ถ้าไม่ได้อบรม เจริญปัญญาจริงๆ

    แต่จะเห็นได้ว่า ถ้ายังเป็นผู้ที่ประมาทในเรื่องของกรรมแม้เล็กๆ น้อยๆ ถ้ากรรมนั้นให้ผล ไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่า แม้เป็นภิกษุพหูสูต มีบริวาร มีลาภสักการะ ก็ยังเกิดในนรก และเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน

    สำหรับเรื่องของกิจที่ ๑ คือ ปฏิสนธิกิจ ถ้าจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้ฟัง คือ เตือนให้ระลึกถึงปฏิสนธิจิตข้างหน้าที่จะเกิด

    สำหรับปฏิสนธิจิตทั้งหมดในทั่วจักรวาล ทุกจักรวาลไม่ว่าที่ไหนทั้งสิ้น จะมีเพียง ๑๙ ประเภทเท่านั้น คือ เป็นกามาวจรปฏิสนธิ ๑๐ ประเภท หรือ ๑๐ ดวง เป็นรูปาวจรปฏิสนธิ ๕ ดวง และเป็นอรูปาวจรปฏิสนธิ ๔ ดวง

    สำหรับกามาวจรปฏิสนธิ คือ การเกิดในกามภูมิ ซึ่งทั้งหมดมี ๑๑ ภูมิ ได้แก่ อบายภูมิ ภูมิที่ไม่เจริญ ไม่สามารถอบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ๔ ภูมิ และกามสุคติ ๗ ภูมิ คือ เป็นมนุษย์ ๑ ภูมิ และสวรรค์ ๖ ภูมิ

    สำหรับรูปาวจรภูมิ จิตที่จะเกิดในที่นั้นได้ต้องเป็นผู้ที่ได้รูปฌาน ต้องทำสมาธิด้วยจิตที่เป็นกุศลจนกระทั่งลักษณะของความสงบปรากฏเป็นขั้นๆ ตั้งแต่ขั้นปฐมฌาน ฌานที่ ๑ ทุติยฌาน ฌานที่ ๒ ตติยฌาน ฌานที่ ๓ จตุตถฌาน ฌานที่ ๔ และปัญจมฌาน ฌานที่ ๕ โดยปัญจกนัย ซึ่งเข้าใจว่าในสมัยนี้ทุกท่านคงจะ หมดโอกาสที่จะเกิดเป็นรูปพรหมบุคคลในรูปพรหมภูมิ เพราะว่าโดยทั่วไปแล้ว กุศลที่ทำกันอยู่ก็เป็นไปในขั้นของทาน ขั้นของศีล ขั้นของการเจริญความสงบ ในชีวิตประจำวัน และในการอบรมเจริญสติปัฏฐาน

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เข้าใจหนทางปฏิบัติที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ย่อมไม่เป็นผู้ที่พากเพียรให้จิตสงบโดยสมถภาวนาจนกระทั่งถึงขั้นฌานจิต เพราะว่าขณะนั้น ไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏโดยสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    และสำหรับอรูปาวจรปฏิสนธิจิต ๔ ดวง เป็นจิตที่ทำกิจปฏิสนธิเป็น อรูปพรหมบุคคล เป็นพรหมชั้นสูงยิ่งกว่าพรหมที่มีรูป เพราะเป็นผู้ที่เห็นโทษของรูป รู้ว่าการกระทำอกุศลกรรมทั้งหลายจะสำเร็จลงไปได้ก็ด้วยทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง เมื่อเห็นโทษอย่างนั้นก็เห็นว่า รูปาวจรจิตหรือรูปฌานจิตนั้น ก็ยังใกล้กับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จึงพยายามให้จิตสงบระงับโดยไม่มีรูปเป็นอารมณ์ จนกระทั่งบรรลุถึงอรูปฌานกุศล ซึ่งถ้าฌานนั้นไม่เสื่อม จะทำให้ปฏิสนธิเป็นอรูปพรหมบุคคล

    สำหรับปฏิสนธิจิต ๑๙ ดวง เป็นกามภูมิ ๑๐ ดวง เป็นรูปาวจรภูมิ ๕ ดวง เป็นอรูปาวจรภูมิ ๔ ดวง เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิของทุกท่านที่ไม่ได้ฌานจิตจะไม่พ้นจากการเกิดในกามภูมิ ๑๑ ภูมิ

    จิตที่จะปฏิสนธิในกามภูมิ ๑๑ ภูมิ มีทั้งหมด ๑๐ ดวง ในจิต ๑๐ ดวง เป็นกามาวจรปฏิสนธิ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก ๑ ดวง เป็นผลของอกุศลกรรม ไม่ว่าจะเป็นกรรมเล็กน้อย กรรมใหญ่ กรรมทางกาย กรรมทางวาจาที่เป็นอกุศล อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม เวลาที่ให้ผลจะทำให้อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก ทำกิจปฏิสนธิในอบายภูมิ

    แต่ทุกท่านก็เกิดในที่นี้แล้ว เพราะฉะนั้น รู้ได้แน่ว่าปฏิสนธิจิตของแต่ละท่าน ที่ทำให้เกิดมาในโลกนี้ ไม่ใช่อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก และแต่ละท่านซึ่งไม่เป็นผู้ที่พิการทางกาย ไม่เป็นผู้ที่พิการทางใจ ก็รู้ได้ว่าไม่ใช่เป็นผลของมหากุศลอย่างอ่อน ที่จะทำให้อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากทำกิจปฏิสนธิ คือ เป็นมนุษย์ก็จริง แต่เป็นผู้ที่พิการทางกายบ้าง หรือทางใจบ้างตั้งแต่กำเนิด เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นผลของกุศล ที่มีกำลังพอสมควร ซึ่งทุกท่านสามารถที่จะฟังพระธรรมและพอที่จะคาดคะเนหรือพิจารณาได้ว่าปฏิสนธิของท่านจะเป็นผลของมหากุศลดวงใด เพราะว่าเหตุที่จะให้ปฏิสนธิ ได้แก่ มหากุศลจิต ๘ ดวง แต่มหากุศลจิต ๘ ดวงนี้ เป็นปัจจัยให้เกิดกามาวจรปฏิสนธิ ๙ ดวง ที่เป็นสุคติภูมิ คือ มนุษย์และสวรรค์

    คนในโลกนี้ก็มีมากมาย แต่จิตที่ทำกิจปฏิสนธิในมนุษย์มี ๙ ดวง

    ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน อรรถกถาโลกสูตร มีข้อความว่า

    ที่ใช้คำว่า โลก มีหลายความหมาย สำหรับความหมายในพระสูตรนี้ กล่าวถึงโลก ๓ ความหมาย คือ โลกคือโอกาสโลก โลกคือจักรวาล ๑ โลกคือ สังขาร ๑ และโลกคือสัตวโลก ๑

    สำหรับโลก คือ จักรวาล ชื่อว่าโอกาสโลก เพราะอรรถว่า เห็น คือ ปรากฏโดยอาการวิจิตร

    แต่ละประเทศไม่เหมือนกันเลย บางประเทศหนาว บางประเทศร้อน มีภูเขาไฟ มีทะเล มีแม่น้ำ มีป่าต่างๆ เพราะฉะนั้น จะเห็นโอกาสโลกโดยอาการวิจิตรต่างๆ

    สำหรับโลกอีกความหมายหนึ่ง คือ สังขารโลก

    เพราะอรรถว่า ย่อยยับ คือ ผุพัง

    ได้แก่ เกิดดับนั่นเอง

    สภาพธรรมใดก็ตามที่เกิดขึ้นเป็นสังขารธรรม เพราะฉะนั้น สังขารธรรมทั้งหลายเกิดเพราะเหตุปัจจัยและดับ ไม่เที่ยง มีทั้งสังขารที่มีใจครอง และสังขารที่ ไม่มีใจครอง แต่ถ้ากล่าวโดยสรุปทั้งหมดแล้ว ไม่ว่านามธรรมหรือรูปธรรมที่เกิดขึ้น ก็ชื่อว่าสังขารทั้งหมด เพราะว่าไม่เที่ยง



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘๑ ตอนที่ ๑๘๐๑ – ๑๘๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 96
    28 ธ.ค. 2564