แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1815


    ครั้งที่ ๑๘๑๕


    สาระสำคัญ

    กิจของจิตมี ๑๔

    การศึกษาเรื่องจิต สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของจิตที่กำลังทำกิจต่างๆ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๓๑


    สำหรับจักขุวิญญาณคือจิตเห็นขณะนี้เป็นวิบาก แต่ปัญจทวาราวัชชนจิต ที่เกิดก่อนไม่ใช่วิบาก เป็นกิริยาจิต

    เวลาฝัน วิถีจิตแรกคืออะไร

    คือ อาวัชชนจิต

    จิตที่ทำอาวัชชนกิจทำทางทวารไหน

    ทางมโนทวารวิถี เพราะว่าไม่ใช่เห็น เป็นแต่เพียงนึกคิดเป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ เพราะฉะนั้น มโนทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นทำอาวัชชนกิจ นึกถึงเรื่องที่ฝัน บังคับ ไม่ได้เลย มโนทวาราวัชชนจิตจะฝัน จะนึกถึงอะไรคืนนี้ ก็ไม่ทราบ ต้องแล้วแต่ มโนทวาราวัชชนจิต

    ขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน จิตที่ทำอาวัชชนกิจคืออะไร

    คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ทำอาวัชชนกิจ เท่านี้เอง ไม่มีอะไรยากเกินไป ที่จะเข้าใจ

    สำหรับวิบากจิตมีคู่กัน ๒ อย่าง คือ กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ ไม่ว่าจะเป็นทางตาที่เห็น จักขุวิญญาณก็เป็นกุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ ถ้าเป็นวิบากแล้ว ต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดใน ๒ อย่าง คือ เป็นกุศลวิบาก หรือเป็นอกุศลวิบาก แต่ถ้าเป็นกิริยาก็ไม่ใช่วิบาก คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ และมโนทวาราวัชชนจิต ๑

    กิจที่ ๔ คือ ทัสสนกิจ ได้แก่ จิตที่ทำกิจเห็น มี ๒ ดวงเท่านั้น ขณะนี้คิดว่า เห็นมากมาย เห็นตลอดจนกระทั่งเหมือนไม่ดับไปเลย แต่จิตที่ทำกิจเห็นจริงๆ คือ ทัสสนกิจมีเพียง ๒ ดวงเท่านั้น ได้แก่ จักขุวิญญาณซึ่งเป็นวิบากจิต ขณะใดที่เห็น สิ่งที่ดี ที่น่าพอใจ ขณะนั้นเป็นจักขุวิญญาณกุศลวิบากทำทัสสนกิจ และขณะใดเห็น สิ่งที่ไม่น่าพอใจ ขณะนั้นเป็นจักขุวิญญาณอกุศลวิบากทำทัสสนกิจ เป็นวิบากจิต ที่เกิดขึ้นตามกรรม

    กิจที่ ๕ คือ สวนกิจ ได้แก่ กิจได้ยิน จิตที่ทำกิจนี้ก็มี ๒ ดวง ในขณะที่กำลังได้ยินจริงๆ เป็นโสตวิญญาณ ถ้าได้ยินเสียงที่ดีก็เป็นโสตวิญญาณกุศลวิบาก ถ้าได้ยินเสียงที่ไม่ดีก็เป็นโสตวิญญาณอกุศลวิบาก

    กิจที่ ๖ คือ ฆายนกิจ ได้แก่ จิตที่ทำกิจได้กลิ่น มี ๒ ดวงเหมือนกัน คือ กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ ฆานวิญญาณกุศลวิบากเกิดขึ้นได้กลิ่นที่ดี ๑ ดวง ฆานวิญญาณอกุศลวิบากจิตเกิดขึ้นได้กลิ่นที่ไม่ดี ๑ ดวง ซึ่งวันหนึ่งๆ จะมีกลิ่นที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง สลับกันไป

    ทุกบ้านมีขยะ เวลาที่ได้กลิ่นก็ระลึกได้เลยว่า ขณะนี้เป็นสภาพรู้กลิ่น เป็นจิตประเภทหนึ่งซึ่งเกิดขึ้น และขณะนั้นก็สามารถบอกได้ด้วยว่า เป็นกุศลวิบากหรือ เป็นอกุศลวิบาก ขณะที่กำลังได้กลิ่นไม่ดี และบางท่านชอบน้ำหอมมาก เพราะฉะนั้น เวลาที่ได้กลิ่นหอมขณะใด ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นน้ำหอมหรือกลิ่นดอกไม้หอมก็ตามแต่ ขณะนั้นก็ทราบได้ว่า เป็นฆานวิญญาณกุศลวิบากที่เกิดขึ้นได้กลิ่นที่ดี

    กิจที่ ๗ คือ สายนกิจ จิตที่ลิ้มรส ได้แก่ ชิวหาวิญญาณ ขณะใดที่ลิ้มรส ที่กลมกล่อมประณีต ขณะนั้นเป็นชิวหาวิญญาณกุศลวิบากที่เกิดขึ้นทำสายนกิจ ขณะที่ลิ้มรสที่ไม่อร่อย ขณะนั้นก็เป็นชิวหาวิญญาณอกุศลวิบากที่เกิดขึ้นทำสายนกิจ

    ถ้าสติสามารถเกิดขึ้น และระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่กำลังลิ้มรสในขณะนั้นได้ ขณะนั้นจะคลายการยึดถือว่าเป็นเราที่กำลังลิ้มรส

    เพราะฉะนั้น การศึกษาเรื่องกิจต่างๆ อาจจะช่วยทำให้สติปัฏฐานเกิด ระลึกรู้ลักษณะของจิตที่กำลังทำกิจต่างๆ

    กิจที่ ๘ คือ ผุสสนกิจ ได้แก่ กายวิญญาณ ๒ ดวง ถ้าเป็นสภาพที่เย็นจัด ร้อนจัด หรือแข็งที่กระทบสัมผัสแล้วเจ็บ หรือทำให้เกิดทุกข์ทางกาย ขณะนั้น ก็เป็นกายวิญญาณอกุศลวิบากเกิดขึ้นรู้โผฏฐัพพะที่ไม่น่ายินดี ถ้าขณะใดสบาย อ่อนนุ่ม สัมผัสดี ขณะนั้นก็เป็นกายวิญญาณกุศลวิบากเกิดขึ้นรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ที่น่าพอใจ นี่เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ

    มีท่านผู้หนึ่งถามว่า จักขุวิญญาณก็ดี โสตวิญญาณก็ดี ฆานวิญญาณก็ดี ชิวหาวิญญาณก็ดี กายวิญญาณก็ดี ไม่ว่าจะเป็นกุศลวิบากหรืออกุศลวิบาก ก็เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา คือ ขณะที่กำลังเห็นสิ่งที่ดี ขณะนั้นจักขุวิญญาณก็เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา เป็นกุศลวิบาก ขณะที่เห็นสิ่งที่ไม่ดี ขณะนั้นจักขุวิญญาณก็เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา เป็นอกุศลวิบาก เพราะฉะนั้น สำหรับจิตที่เห็น จิตที่ได้ยิน จิตที่ได้กลิ่น จิตที่ลิ้มรส ไม่ว่าจะเป็นกุศลวิบาก หรืออกุศลวิบาก ก็เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ซึ่งไม่น่าเลยที่จะเป็นอกุศลวิบาก เพราะว่าอุเบกขาเวทนาเกิดร่วมกับจักขุวิญญาณอกุศลวิบาก เกิดร่วมกับโสตวิญญาณอกุศลวิบาก เกิดร่วมกับ ฆานวิญญาณอกุศลวิบาก เกิดร่วมกับชิวหาวิญญาณอกุศลวิบาก เมื่อเป็น อุเบกขาเวทนาจะเดือดร้อนไหม ก็ไม่เดือดร้อน จึงไม่น่าที่จะเป็นอกุศลวิบากเลย

    นี่เป็นสิ่งที่บางท่านคิดสงสัยว่า ทำไมจึงเป็นอกุศลวิบาก

    แต่เมื่อกรรมมี ๒ คือ กุศลกรรมและอกุศลกรรม และสภาพธรรมที่ปรากฏ ที่เป็นอารมณ์ก็มีทั้งที่น่าดูน่าเห็น และไม่น่าดูไม่น่าเห็น แม้เสียงก็มีต่างกัน เป็นเสียง ที่น่าฟังและเสียงที่ไม่น่าฟัง แม้กลิ่นก็ต่างกัน เป็นกลิ่นที่น่ารู้น่าได้กลิ่นนั้น และกลิ่นที่ไม่น่าได้กลิ่นนั้นเลย แม้รสก็มีทั้งรสที่ลิ้มแล้วอร่อย และอีกรสหนึ่งลิ้มแล้วไม่อร่อย แต่อุเบกขาเวทนาเกิดร่วมกับอกุศลวิบากนั้นๆ เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณจะเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนาก็ตาม ก็ยังต้องเป็นอกุศลวิบาก เพราะว่าอารมณ์นั้นเป็นอารมณ์ที่ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ เพียงแต่ไม่ทำให้ทุกขเวทนาเกิดขึ้นเท่านั้นเอง แต่ทำให้โทมนัสเวทนาเกิด ไม่ทำให้ ทุกข์กายเกิดในขณะที่เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ แต่ทำให้ทุกข์ใจเกิด เพราะว่าไม่อยากเห็นสิ่งนั้น

    เสียงที่ไม่น่าพอใจเกิด โสตวิญญาณอกุศลวิบากได้ยินเสียงนั้น ไม่ทำให้ เป็นทุกข์กายเลย ไม่เดือดร้อน ไม่เจ็บปวด แต่ทำให้ทุกข์ใจเกิด คือ ไม่อยากจะได้ยินเสียงนั้น

    นี่เป็นความต่างกันของจักขุวิญญาณที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนาที่เป็น อกุศลวิบากกับที่เป็นกุศลวิบาก เพราะถ้าเป็นกุศลวิบากก็ทำให้สบายใจ ถ้าเป็น อกุศลวิบากก็ทำให้ไม่สบายใจ

    ถ้าเป็นโลภมูลจิตไม่ทุกข์เลย เพราะไม่ใช่โทสมูลจิต เห็นสิ่งที่พอใจและติด ขณะนั้นเพลิดเพลินยินดี ไม่ว่าจะเป็นอุเบกขาหรือโสมนัส ก็ไม่ทำให้เกิดความทุกข์ใจ

    สำหรับกิจต่างๆ ที่กล่าวถึงแล้วทั้ง ๘ กิจ คือ ปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ อาวัชชนกิจ ทัสสนกิจ สวนกิจ ฆายนกิจ สายนกิจ และผุสสนกิจ เป็นวิบากจิต ๗ กิจ มีเพียงกิจเดียวที่เป็นกิจของกิริยาจิต คือ อาวัชชนกิจ เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมโดยละเอียดจะทำให้เห็นว่า วันหนึ่งๆ เป็นวิบากจิตเป็นส่วนใหญ่ซึ่งบังคับบัญชาไม่ได้

    ขอทบทวนชื่อของกิจ ๑๔ กิจ คือ

    ๑. ปฏิสนธิกิจ ๒. ภวังคกิจ ๓. อาวัชชนกิจ ๔. ทัสสนกิจ ๕. สวนกิจ ๖. ฆายนกิจ ๗. สายนกิจ ๘. ผุสสนกิจ ๙. สัมปฏิจฉันนกิจ ๑๐. สันตีรณกิจ ๑๑. โวฏฐัพพนกิจ ๑๒. ชวนกิจ ๑๓. ตทาลัมพนกิจ ๑๔. จุติกิจ

    สำหรับชื่อต้องเป็นภาษาบาลี เพราะว่าพระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรม เป็นภาษาบาลี แต่ลักษณะของสภาพธรรมแม้ไม่เรียกชื่ออย่างนี้ๆ ลักษณะของ สภาพธรรมต่างๆ ก็มีกิจการงานเฉพาะของตนๆ เมื่อเกิดขึ้น

    สำหรับกิจที่ได้กล่าวถึงแล้ว ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของวิบากจิต คือ ทั้ง ๑๔ กิจ เป็นวิบากล้วนๆ ถึง ๑๑ กิจ แสดงให้เห็นว่าวิบากจิตเกิดขึ้นทำกิจมากทีเดียว เป็นกิริยาจิต ๒ กิจ คือ อาวัชชนกิจและโวฏฐัพพนกิจ เหลืออีกกิจเดียวที่ไม่ใช่ กิจของโลกียวิบาก กิจนี้คือชวนกิจ

    ปฏิสนธิกิจ คือ จิตที่ทำกิจเกิดขึ้นขณะแรก เป็นวิบาก เริ่มต้นวิถีชีวิตด้วยวิบากจิตซึ่งเป็นผลของกรรมที่ทำให้เกิดมา และกิจที่ ๒ คือ ภวังคกิจ เป็นวิบากจิตอีก ถ้าเป็นวิบากก็เป็นผลของกรรมซึ่งไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนแปลงได้

    ในขณะที่นอนหลับ จะหลับนาน หรือจะหลับน้อย เมื่อทราบว่าเป็นวิบากจิต ทันทีที่หลับและทันทีที่ตื่นก็รู้ว่า บังคับไม่ได้เลย เพราะว่าจิตใดก็ตามที่เป็นวิบาก จิตนั้นเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้วในอดีต และเวลาตื่น มีใครบังคับได้ไหมให้ตื่น ก็บังคับไม่ได้อีก เพราะมีวิบากที่จะต้องเกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

    เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า ส่วนใหญ่ของจิตเป็นวิบากจิต โดยเป็นวิบากล้วนๆ ถึง ๑๑ กิจ ได้แก่ ปฏิสนธิกิจ ๑ ภวังคกิจ ๑ ทัสสนกิจ ๑ สวนกิจ ๑ ฆายนกิจ ๑ สายนกิจ ๑ ผุสสนกิจ ๑ สัมปฏิจฉันนกิจ ๑ สันตีรณกิจ ๑ ตทาลัมพนกิจ ๑ และ จุติกิจ ๑

    ถ. ทั้ง ๑๔ กิจ เฉพาะทัสสนกิจ สวนกิจ ฆายนกิจ สายนกิจ ผุสสนกิจ ๕ กิจที่รู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และอีกกิจหนึ่ง คือ ชวนกิจ รวม ๖ กิจ สามารถ รู้ได้ในการเจริญสติปัฏฐาน ใช่ไหม

    สุ. เวลาที่เจริญสติ หมายความว่ามีสภาพธรรมตามปกติที่กำลังเกิดขึ้นเป็นไปและไม่เคยระลึกศึกษาเพื่อที่จะรู้ว่า ลักษณะนั้นไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นสภาพธรรม แต่ละอย่าง เช่น ในขณะที่กำลังเห็น ไม่มีใครสามารถติดตามวิถีจิตได้ว่า รูปารมณ์ สิ่งที่ปรากฏทางตากระทบจักขุปสาท ใช่ไหม เพราะว่าเห็นแล้ว เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีใครสามารถรู้อตีตภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ ปัญจทวาราวัชชนะ และ แม้จักขุวิญญาณคือจิตที่ทำทัสสนกิจเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเพียง ชั่วขณะเดียว แต่รู้สึกเหมือนเห็นตลอดเวลา แสดงให้เห็นว่า ไม่สามารถเจาะจงลงไปได้ว่า ขณะนั้นมีปัญจทวาราวัชชนจิต หรือมีจักขุวิญญาณ หรือมีสัมปฏิจฉันนจิต หรือมีสันตีรณจิต หรือมีโวฏฐัพพนจิต แต่ที่แน่นอนที่สุด คือ ชวนจิตที่เกิดต่อ ๗ ขณะ มีสีที่ยังไม่ดับเป็นอารมณ์นานถึง ๗ ขณะ พอที่จะให้รู้ได้ว่า การที่มีสีเป็นอารมณ์ที่จะ รู้ได้นั้นก็ตรงชวนะ

    นอกจากนั้น เมื่อจิตที่รู้รูปารมณ์ทางปัญจทวารดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่นแล้วมโนทวารวิถีจิตเกิดต่อ ไม่มีปัญจทวาราวัชชนจิต แต่เป็นมโนทวาราวัชชนจิตที่นึกถึงสีหรือสิ่งที่ปรากฏทางตาที่ดับไปแล้วเป็นอารมณ์ และต่อจากนั้นก็เป็นชวนจิต ๗ ขณะ

    แสดงให้เห็นว่า ชวนจิต ๗ ขณะทางมโนทวาร มีรูปารมณ์เป็นอารมณ์ อย่างรวดเร็วทีเดียว โดยที่ไม่มีจักขุวิญญาณ ไม่มีสัมปฏิจฉันนะ ไม่มีสันตีรณะ แต่เมื่อมโนทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นวิถีจิตแรกทางมโนทวารเกิดขึ้น นึกถึงหรือมีรูปารมณ์ที่เพิ่งดับไปเป็นอารมณ์ ชวนะ ๗ ขณะ รู้รูปารมณ์เช่นเดียวกับทางจักขุทวารวิถี ไม่ต่างกันเลย และเวลาที่สติปัฏฐานเกิด ก็ไม่ต้องคำนึงถึง ไม่ต้องเลือกว่าจะรู้ รูปารมณ์หรือว่าจิตนั้นจิตนี้ แต่ขณะที่รูปารมณ์กำลังปรากฏ อาจจะเป็นทาง ปัญจทวารสืบเนื่องกับทางมโนทวารอย่างรวดเร็ว ไม่จำเป็นต้องแยกเลย เพราะว่าลักษณะของรูปารมณ์ที่ปรากฏทางมโนทวารต่อจากทางจักขุทวารนั้นไม่ต่างกันเลย เหมือนกันทีเดียว

    เพราะฉะนั้น ก็รู้ได้ว่า ทางมโนทวารสามารถรู้อารมณ์ได้ทุกอารมณ์ต่อจากทางปัญจทวาร และชวนวิถีจิตเกิดดับสืบต่อกันถึง ๗ ขณะ จึงสามารถรู้ลักษณะของ รูปารมณ์ในขณะนั้นได้

    ถ. ในขณะเห็น จักขุวิญญาณเกิดขึ้นทำทัสสนกิจ ถ้าสติปัฏฐานเกิด สามารถจะรู้ได้ไหม

    สุ. สติปัฏฐานเกิด หมายความว่าเมื่อมโนทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นวิถีจิตแรก ดับไป มหากุศลญาณสัมปยุตต์เกิด ระลึกลักษณะของรูปารมณ์ที่ปรากฏโดย ไม่เลือกว่าขณะนั้นเป็นรูปารมณ์ที่ปรากฏทางจักขุทวารหรือทางมโนทวาร เพราะว่า ในขณะนั้นยังไม่สามารถรู้อะไรเลยทั้งสิ้น เพียงแต่เริ่มจะระลึกว่า ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเท่านั้นเอง ยังไม่ต้องคำนึงถึงจักขุทวารวิถีหรือมโนทวารวิถี เพียงแต่เริ่มระลึกได้ที่จะรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นธรรมอย่างหนึ่ง มีจริง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    ถ. ในขณะที่นามรูปปริจเฉทญาณเกิดแล้ว ก็จะสามารถรู้ได้ในขณะนั้น

    สุ. ขณะนั้นเป็นมโนทวารวิถีจิต อย่างที่ได้เรียนให้ทราบแล้วว่า อารมณ์ทางจักขุทวารวิถีและมโนทวารวิถีไม่ต่างกันเลย อารมณ์ที่ปรากฏทางโสตทวารวิถีและมโนทวารวิถีก็ไม่ต่างกันเลย เพราะฉะนั้น ไม่ต้องแยกอารมณ์ว่า อารมณ์ปรากฏทางปัญจทวารวิถีหรือทางมโนทวารวิถี เพราะว่าในขณะนั้นมโนทวารวิถีจิตกำลังรู้เสียง หรือสัททารมณ์ทางหู ผู้ที่ศึกษาปริยัติจะทราบว่า ถ้าไม่มีโสตปสาท ไม่ได้ยินเสียงแน่นอน เพราะฉะนั้น แม้เสียงปรากฏทางมโนทวาร ก็ปรากฏกับมโนทวารวิถีจิต โดยที่ว่าลักษณะของเสียงไม่เปลี่ยน เพราะเสียงต้องกระทบกับโสตปสาท และ โสตทวารวิถีจิตจึงเกิดขึ้นรู้เสียงนั้น แม้เมื่อผ่านไปถึงมโนทวารวิถีก็ไม่มีความต่างกันเพราะฉะนั้น มโนทวารวิถีในขณะนั้นก็สามารถมีเสียงเป็นอารมณ์อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องแยกว่าเป็นโสตทวารวิถีหรือมโนทวารวิถี

    ถ. ในขณะนั้นเสียงปรากฏเป็นสัททารมณ์ แต่มโนทวารวิถีรู้เสียง เป็นนามธรรม ก็แปลว่า รู้รูป รู้นาม ในตอนนั้น

    สุ. สภาพของธาตุรู้ที่กำลังมีเสียงเป็นอารมณ์ปรากฏ อย่าลืม สภาพของธาตุรู้ไม่ใช่เรา ในขณะนั้นไม่มีเรา แต่เป็นธาตุรู้ที่กำลังมีเสียงเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้น ลักษณะของนามธรรมก็ปรากฏ ลักษณะของรูปธรรมก็ปรากฏ จึงเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘๒ ตอนที่ ๑๘๑๑ – ๑๘๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 96
    28 ธ.ค. 2564