แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1793


    ครั้งที่ ๑๗๙๓


    สาระสำคัญ

    อบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะค่อยๆ รู้ขึ้น รู้ความจริงของนามธรรมและรูปธรรม

    การแยกโลกทั้ง ๖

    ลักษณะของสภาพจำ สัญญาขันธ์หรือสัญญาเจตสิก

    องฺ.ติก - เกสปุตตสูตร เป็นผู้พิจารณาในเหตุผล


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๓๑


    . ข้อนี้มีเหตุผลมาก สมมติจะไปรู้วิตกในสัมปฏิจฉันนะ ในปัญจทวารวิถี วิถีแรก จะต้องมีปัญญาสะสมอย่างท่านพระสารีบุตร คือ ๑ อสงไขยกัปแสนกัป คิดว่า ปัญญาจะเจริญได้ต้องอบรมจริงๆ จะรู้ลักษณะของธรรมแต่ละอย่างก็ต้องเข้าใจก่อน อย่างตอนนี้จะไประลึกรู้ลักษณะของสัมปฏิจฉันนะ น่ากลัวแย่เหมือนกัน ไม่เจอแน่ๆ

    สุ. ไม่ได้ เพราะว่าปกติธรรมดาต้องรู้ตอนชวนจิต เพราะในขณะนั้นเป็นการแล่นไปในอารมณ์สืบต่อกันถึง ๗ ขณะ แต่จิตทั้งหมดในจักขุทวารวิถี ตลอดวาระหนึ่งมีรูปที่ยังไม่ดับรูปเดียวเป็นอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นปัญจทวาราวัชชนจิต จักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต หรือชวนจิต ๗ ขณะ ซึ่งเป็นโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ ก็ต้องมีรูปที่ยังไม่ดับไปเป็นอารมณ์ จึงเป็น จักขุทวารวิถีจิต ยังไม่ใช่มโนทวารวิถีจิต

    . เพราะว่ารูปที่เกิดขึ้นแล้ว จิตต้องดับไปถึง ๑๗ ขณะ จึงจะนับได้ว่า รูปนั้นดับ

    สุ. ใช่ ไม่มีอะไรที่จะวัดอายุของรูปได้นอกจากสิ่งที่ละเอียดและอายุ สั้นกว่ารูปจึงจะวัดได้ว่า รูปนั้นมีอายุเท่ากับสิ่งที่สั้นกว่า คือ จิต เจตสิกเกิดดับ ๑๗ ขณะ รูปนั้นจึงจะดับ

    . ในปัญจทวารวิถี ในชวนะมีมหากุศลญาณสัมปยุตต์เกิดได้ และสามารถรู้สภาพธรรมคือสิ่งที่ปรากฏทางตาได้ เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานก็สามารถเกิดในปัญจทวารวิถีได้

    สุ. เวลาที่มีการระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แยกไม่ออกว่า มโนทวารวิถีหรือจักขุทวารวิถี หรือมโนทวารวิถีหรือโสตทวารวิถี หรือมโนทวารวิถี หรือฆานทวารวิถี แต่ขณะใดเป็นผู้ที่มีสติ ขณะนั้นไม่หลงลืมสติ จะมีการศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่สืบต่อกันทั้งปัญจทวารและมโนทวาร ด้วยเหตุนี้ทาง ปัญจทวารจึงมีมหากุศลญาณสัมปยุตต์ที่กำลังรู้รูปนั้นเป็นอารมณ์ได้

    . และสามารถเข้าใจถึงลักษณะ

    สุ. กำลังประจักษ์รูป

    . กำลังประจักษ์รูป เพราะฉะนั้น ก็เป็นปัญญาขั้นสติปัฏฐาน

    สุ. ขั้นสติปัฏฐาน แต่ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ

    . เพราะว่ายังไม่แทงตลอดสภาพธรรมอีกมากมาย

    สุ. ถ้าเป็นวิปัสสนาญาณ เป็นมโนทวารวิถีโดยตลอดทุกวาระ แต่มี ปัญจทวารวิถีสลับคั่น มิฉะนั้นแล้วรูปก็จะไม่ปรากฏ

    . แสดงว่าปรมัตถธรรมที่ปรากฏทางตา อาจจะเป็นจักขุทวารวิถี หรือ มโนทวารวิถีที่เป็นปรมัตถธรรม กี่วิถีก็แล้วแต่ และศึกษาใส่ใจในขณะที่กำลังปรากฏ ส่วนขณะใดที่รู้ลักษณะที่เป็นสภาพสัตว์ บุคคล ตัวตน ในขณะนั้นก็พิจารณาถึงจิตที่คิดนึกถึงบัญญัติรูปร่างสัณฐานในมโนทวารวิถี ใส่ใจในสภาพที่คิดนึกถึง รูปร่างสัณฐานที่ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งต่างกัน ใช่ไหม ถือว่าเป็นการเริ่มละคลายบัญญัติด้วย ใช่ไหม

    สุ. การอบรมเจริญปัญญาที่เป็นสติปัฏฐาน เพื่อประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จึงจะละคลายการที่เคยยึดถือสภาพธรรมนั้นๆ ว่าเป็นเรา

    ไม่ทราบมีข้อสงสัยอะไรหรือเปล่าในเรื่องของปัญจทวารวิถี

    ต้องมีรูปที่ยังไม่ดับเป็นอารมณ์ตลอดทั้งวาระ เมื่อรูปดับแล้ว วิถีจิตเกิดได้ไหม ทันทีที่รูปดับ วิถีจิตเกิดได้ไหม

    ทันทีที่รูปดับ วิถีจิตเกิดไม่ได้ ต้องเป็นจิตที่ไม่ใช่วิถี คือ ภวังคจิตเกิด

    ภวังคจิตต้องเกิดสลับคั่นระหว่างวิถีจิตแต่ละวาระ และวิถีจิตวาระไหน เป็นอย่างไรก็ไม่สลับกัน ไม่ใช่เอาปัญจทวารวิถีเป็นมโนทวารวิถี ปัญจทวารวิถีก็เป็นปัญจทวารวิถีจิต เพราะว่าอาศัยรูปที่เป็นปสาทเป็นทวารรู้อารมณ์ คือ รูปที่ยังไม่ดับ และเมื่อภวังคจิตเกิดแล้ว มโนทวารวิถีจิตก็จะเกิด โดยมโนทวาราวัชชนจิตเกิด เป็นขณะแรก และเมื่อมโนทวาราวัชชนจิตดับแล้ว ชวนจิตจึงเกิดต่อโดยไม่ต้องมี ปัญจทวาราวัชชนจิต สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนะจิต เพราะว่าไม่ใช่ การรู้รูปที่ยังไม่ดับ เพียงแต่นึกถึงรูปที่ดับไปแล้ว

    การอบรมเจริญปัญญาต้องอีกนานกว่าจะเข้าใจจริงๆ โดยเริ่มจากการแยก โลกทั้ง ๖ ออกเป็นแต่ละทางจริง ๆ

    ขณะใดที่กำลังเห็น ไม่มีเสียงเข้ามาเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นเรื่องของสีสันที่ปรากฏ จะสุข จะทุกข์ จะชอบ จะตรึก ก็เป็นเรื่องของโลกเงียบ เพราะว่าเป็นโลกของสี ไม่ใช่เสียง ขณะใดที่เป็นโลกของเสียง ก็เป็นเรื่องราวคิดนึกตามเสียง ที่ได้ยิน ไม่เห็น เพียงแต่นึกถึงเท่านั้น เพราะฉะนั้น คนที่คิดมากๆ และสติเริ่มที่จะ ระลึกรู้ ก็จะรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นสัญญา ความจำคำที่กำลังคิด

    มีท่านผู้หนึ่ง ท่านคิดถึงเพื่อนของท่านที่เสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุ อย่างไรๆ ท่านก็ไม่คิดว่าเขาสิ้นชีวิตแล้ว ทันทีที่นึกถึงเขาก็ยังจำเป็นเรื่องเป็นราวเหมือนกับเขา ยังไม่สิ้นชีวิต ยากที่จะเชื่อว่าเขาสิ้นชีวิต เพราะว่าเป็นการจากไปอย่างกะทันหัน ถามว่าจะทำอย่างไรดี ซึ่งความจริงท่านผู้นั้นก็สิ้นชีวิตไปแล้วแน่ๆ แต่เรื่องราวทั้งหลายซึ่งเคยเห็น เคยได้ยิน เคยติดต่อ เคยคบหาสมาคม เคยคุ้นเคย ก็ทำให้คิดถึงเหมือนกับครั้งที่ยังไม่สิ้นชีวิต

    เพราะฉะนั้น หนทางเดียว คือ ต้องรู้ความจริงว่า ขณะที่ระลึกถึงแม้เพียง ชื่อของผู้ที่สิ้นชีวิตแล้ว ขณะนั้นต้องรู้ว่าเป็นเพียงสัญญา ลักษณะที่จำชื่อ ไม่ใช่เรา มิฉะนั้นแล้วไม่มีทางเลยที่จะรู้ว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลตัวตน ทั้งผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่และ ผู้ที่สิ้นชีวิตแล้ว

    ผู้ที่สิ้นชีวิตแล้วท่านหนึ่งท่านก็ใช้คำดีมาก ท่านบอกว่า ก็เขาเกิดแล้วไม่ใช่หรือ คือ แทนที่จะบอกว่า เขาสิ้นชีวิตแล้ว ก็เป็นเขาเกิดแล้ว ซึ่งก็เป็นความจริง เพราะว่าทันทีที่จุติจิตดับ ปฏิสนธิจิตก็เกิด เพราะฉะนั้น ใครจะโศกเศร้าเสียใจ เขาก็เกิดแล้ว เขาก็ยังเห็น ยังได้ยิน ยังได้กลิ่น ยังลิ้มรส ยังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพราะถ้ายังไม่ใช่พรหมบุคคลจะพ้นไปจากโลกของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะไม่ได้เลย

    แต่สำหรับผู้ที่ยังมีความเป็นตัวตน การระลึกถึงผู้หนึ่งผู้ใด ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ ยังมีชีวิตหรือสิ้นชีวิตแล้ว การที่จะเกิดปัญญารู้ชัดว่าไม่ใช่เรา ไม่มีใคร เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละขณะที่เกิดขึ้นและดับไป จะต้องระลึกถึงลักษณะของสภาพจำ ขณะที่จะนึกถึงชื่อใครก็ตามก็รู้ว่าขณะนั้นเป็นแต่เพียงลักษณะที่จำชื่อเท่านั้น และต่อไปก็จะจำเรื่องของคนนั้น เมื่อรู้แล้วว่าเป็นสภาพที่จำชื่อ เวลาที่คิดถึงเรื่องก็จะรู้ว่า ขณะนั้นคือสภาพธรรมที่จำเรื่อง

    เพราะฉะนั้น ลักษณะของปรมัตถธรรมจริงๆ คือ ลักษณะที่จำ แต่ลักษณะ ที่จำนั้นไม่ใช่เรา เกิดขึ้นจำสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็คิดเป็นคำเป็นชื่อนั้นๆ ในขณะนั้นเท่านั้น

    นี่เป็นการที่จะต้องอบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะละคลายการยึดถือแม้ สัญญาขันธ์ หรือสัญญาเจตสิก ซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นเราที่จำว่าเขายังมีชีวิตอยู่ หรือว่าเป็นเราที่จำว่าเขาสิ้นชีวิตแล้ว

    . ที่เราเห็นมีแต่จักขุวิญญาณ จิตอื่นๆ ไม่เห็น ใช่ไหม

    สุ. จิตอื่นไม่ได้ทำทัสสนกิจ แต่มีรูปนั้นแหละที่ยังไม่ดับเป็นอารมณ์ ถ้าเป็นจักขุทวารวิถี เพราะว่าต้องอาศัยตาจึงสามารถรู้รูปารมณ์ที่ยังไม่ดับ แม้ว่าไม่เห็นแต่ก็รู้ เพราะว่าหลังเห็นก็รู้ ถ้าไม่เคยเห็นจะรู้ไหม ไม่รู้ แต่เมื่อเห็นแล้ว รู้ไหม รู้ เพราะฉะนั้น จิตก็ทำกิจต่างกัน แม้ว่าจะเกิดต่อกันแต่ก็ทำกิจต่างกัน

    . ถ้าเรากำลังเพ่งดูสิ่งหนึ่งสิ่งใดตลอดเวลา ที่เราเห็นนั้น เราเห็นอยู่ตลอดเวลาเลย แต่ที่จริงตลอดเวลาที่เห็น มีขณะที่ไม่เห็นมากมาย ใช่ไหม

    สุ. มีแน่นอน ถูกต้อง เหมือนขณะนี้ มีภวังคจิตเกิดคั่น ภวังคจิตไม่เห็น แต่ก็เหมือนเห็นตลอดเวลา ทุกท่านกระพริบตาวันละกี่ครั้ง กำลังกระพริบตาอยู่ก็มี ขณะที่กำลังกระพริบตา ขณะนั้นต้องไม่เห็น ใช่ไหม สีต้องไม่ปรากฏ แต่มีใครบ้าง ที่จะรู้ว่า ขณะที่กระพริบตานั้นไม่มีสีปรากฏ

    แสดงให้เห็นว่า แม้เพียงการกระพริบตาซึ่งไม่น่าจะมีรูปารมณ์ปรากฏเลย ความรวดเร็วของจิตก็ทำให้เหมือนกับว่า เห็นอยู่ตลอดเวลา

    . การสรงน้ำพระมีจุดประสงค์อะไร

    สุ. ที่จริงแล้วในพระไตรปิฎกไม่มีธรรมเนียมนี้ แต่พระผู้มีพระภาคทรงให้ท่านพระอานนท์สรงน้ำภิกษุอาพาธ เพราะว่าท่านป่วยไข้ ท่านไม่สามารถสรงน้ำด้วยตนเองได้ เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบ ท่านก็เสด็จไปพร้อมกับท่านพระอานนท์ และสรงน้ำ และพยาบาลภิกษุที่ป่วยไข้นั้น

    เพราะฉะนั้น ผู้ใดก็ตามที่ช่วยเหลือเกื้อกูลหรือพยาบาลภิกษุไข้ ก็เหมือนกับพยาบาลคณะสงฆ์ซึ่งมีพระผู้มีพระภาคเป็นประมุข นี่เป็นเรื่องของพระภิกษุที่สรงน้ำ เมื่อมีความป่วยไข้ แต่สำหรับธรรมเนียมการสรงน้ำ ดิฉันคิดว่า ถ้าจะสรงน้ำพระภิกษุในวันสงกรานต์ ไปที่โรงพยาบาลสงฆ์ก็ดี เพราะว่าท่านกำลังต้องการความช่วยเหลือจริงๆ สำหรับพระที่ท่านสุขภาพดี ก็เป็นแต่เพียงการแสดงความเคารพเท่านั้น ตามธรรมเนียมที่ผสมปะปนกัน เพราะว่าไม่มีทางที่จะแสดงความรู้สึกในใจ

    ใครก็ตามที่มีความเคารพในบุคคลหนึ่งบุคคลใด ก็พยายามหาทางที่จะแสดง ในวาระต่างๆ กัน ถ้าจะมีผู้คิดธรรมเนียมการรดน้ำก็ดี หรือการสรงน้ำก็ดี ก็คงจะหมายความถึงการแสดงความเคารพนอบน้อมที่สามารถจะกระทำให้ปรากฏได้

    ไม่ทราบว่าจะเป็นการถูกต้องหรือเปล่า แต่ท่านที่ต้องการอานิสงส์ในการ สรงน้ำพระ คิดว่าควรจะไปที่โรงพยาบาลสงฆ์ และไม่ควรแต่เฉพาะสรงน้ำ จะทำ กิจป้อนอาหาร หรืออะไรก็ได้หลายอย่างที่จะเป็นการเกื้อกูลให้ท่านได้รับ ความสะดวกสบาย

    . เรื่องของประเพณี เคยได้ยินมาว่า พระภิกษุนำโยมลอยกระทง เพราะคิดว่าลอยกระทงในแม่น้ำคงคาไปหาพระพุทธเจ้าหรืออย่างไร มีตัวอย่างไหมที่ลอยไปเพื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้า เหมือนกับในอดีต

    สุ. ก็เป็นเรื่องธรรมเนียมต่างๆ พิธีต่างๆ ทำขึ้นเพื่อให้มีจุดเกี่ยวเนื่อง อย่างหนึ่งอย่างใดกับเรื่องหนึ่งเรื่องใด ซึ่งสำหรับท่านผู้ฟังที่เป็นชาวพุทธก็คงจะได้ฟังข้อความใน อังคุตตรนิกาย

    ติกนิบาต เกสปุตตสูตร ข้อ ๕๐๕ ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับชาวกาลามะว่า

    ท่านทั้งหลายอย่าได้ถือโดยได้ฟังตามกันมา

    เช่น พระพรหมมีลูกสาว และก็ตัดศีรษะ ศีรษะจะตกไปที่ดินไม่ได้ แสดง ให้เห็นว่า เป็นสิ่งที่เคยฟังตามๆ กันมา ใครเชื่อ

    เพราะฉะนั้น ต้องพิจารณา จะเชื่อเพราะถือโดยฟังตามกันมาเท่านั้นหรือ เพราะถ้าเป็นพระพรหมจริงๆ ไม่มีบุตร ถ้าเป็นพรหมบุคคลแล้วไม่มีภรรยา ไม่มีสามี ไม่มีบุตร

    ประการที่ ๒ อย่าได้ถือโดยลำดับสืบๆ กันมา

    คือ ธรรมเนียมเคยทำมาอย่างไรก็ทำอย่างนั้นต่อๆ กันมาเรื่อยๆ

    แต่ถ้าเป็นผู้ที่เกิดกุศลจิตได้ เพราะว่าสามารถเข้าใจความมุ่งหมายของ ธรรมเนียมนั้น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่โดยที่ไม่เข้าใจแต่ก็ทำตามๆ กันมาโดยที่ ไม่รู้เรื่องเลย ขณะนั้นก็ต้องเป็นอกุศล แม้ว่าจะมีกุศลบ้าง ก็คงจะเล็กน้อยมาก เพราะไม่ประกอบด้วยความเข้าใจในเหตุผล

    ประการที่ ๓ อย่าได้ถือโดยความตื่นว่า ได้ยินว่าอย่างนี้ๆ

    เช่น ข่าวลือต่างๆ เชื่อไหม ยังไม่ทราบเลยว่าความจริงเป็นอย่างไร แต่ก็ตื่นเต้นได้

    ประการที่ ๔ อย่าได้ถือโดยอ้างตำรา

    คือ ไม่เข้าใจในอรรถ

    ประการที่ ๕ อย่าได้ถือโดยนึกเดาเอา

    บางคนชอบคิด เดาไปต่างๆ นานา ทุกคนมีอิสรเสรีที่จะคิด แต่ต้องระวังว่า ไม่ใช่การเดาให้ผิด เพราะฉะนั้น ไม่เดาจะดีกว่า

    ประการที่ ๖ อย่าได้ถือโดยคาดคะเน

    บางคนเห็นอะไรนิดๆ หน่อยๆ ก็คาดการณ์ว่า จะต้องเป็นอย่างนี้ จะต้องเป็นอย่างนั้น เพียงเห็นการกระทำของบางบุคคล นี่ก็เป็นการถือเอาโดยคาดคะเน

    ประการที่ ๗ อย่าได้ถือโดยตรึกตามอาการ

    ไม่ใช่เดา และไม่ใช่คาดคะเน แต่มีอาการที่ชวนให้คิดว่าจะเป็นอย่างนั้นๆ แต่ก็ย่อมจะผิดได้ เพราะฉะนั้น ไม่ควรที่จะตรึกตามอาการ

    ประการที่ ๘ อย่าได้ถือโดยชอบใจว่า ต้องกับลัทธิของตน

    บางท่านบอกว่า ท่านชอบของท่านอย่างนี้ ท่านพอใจที่จะเชื่ออย่างนี้ เช่น บางท่านอาจจะคิดว่า ตายแล้วก็ไม่ต้องเกิดอีก ไม่มีเหตุผลอะไรทั้งสิ้น แต่ท่านบอกว่า ท่านชอบ ท่านคิดว่านั่นถูกแล้ว นี่ก็เป็นการถือเอาโดยชอบใจว่าต้องกับลัทธิของตน เพราะฉะนั้น ก็ได้ถือโดยชอบใจว่า ต้องกับลัทธิของตน

    ประการที่ ๙ อย่าได้ถือโดยเชื่อว่า ผู้พูดสมควรจะเชื่อได้

    บางท่านคิดว่า ท่านผู้นี้มีอายุมากและบวชมานาน หรือเป็นผู้ที่อยู่ในป่า หรือผจญชีวิตปฏิบัติมาอย่างโชกโชน ซึ่งมักจะใช้คำนี้บ่อยๆ แต่พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า อย่าได้ถือโดยเชื่อว่า ผู้พูดสมควรจะเชื่อได้

    ประการที่ ๑๐ อย่าได้ถือโดยเชื่อ โดยความนับถือว่า ผู้นี้เป็นครูของเรา

    ต้องพิจารณาคำพูดและเหตุผลให้ตรงกับสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ใช่เพียงแต่ว่า เมื่อผู้นั้นเป็นครู บอกอะไรก็เชื่อทุกอย่าง

    เพราะฉะนั้น เรื่องธรรมเนียมต่างๆ คงจะเข้ากับเรื่องที่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับชาวกาลามะว่า จะต้องเป็นผู้ที่พิจารณาในเหตุผล



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘๐ ตอนที่ ๑๗๙๑ – ๑๘๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 96
    28 ธ.ค. 2564