แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1756


    ครั้งที่ ๑๗๕๖


    สาระสำคัญ

    อิริยาบถบรรพเจริญอย่างไร

    ปัญญาเกิดขึ้นเพื่อรู้แล้วละ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๓๑


    ในคราวก่อนมีท่านผู้ฟังได้มาถามหลังจากการบรรยายเรื่องอิริยาปถบรรพ ยังมีความสงสัยว่า ในการเจริญสติปัฏฐาน กายานุปัสสนาสติปัฏฐานในหมวดของอิริยาปถบรรพนั้นเจริญอย่างไร

    ท่านที่สงสัยในเรื่องของอิริยาปถบรรพ ต้องเป็นผู้ที่พิจารณาโดยละเอียดจริงๆ ซึ่งก่อนอื่นต้องพิจารณาให้เข้าใจจริงๆ ก่อนว่า อิริยาบถคืออะไร คือ ไม่ว่าจะพูดถึงเรื่องอะไรทั้งสิ้น จำเป็นต้องเข้าใจเรื่องนั้นๆ โดยถ่องแท้ จึงจะเป็นเหตุทำให้ปัญญาเจริญขึ้นได้จริงๆ และเมื่อจะพูดถึงเรื่องอิริยาบถ ก็ควรเข้าใจตั้งแต่ต้นว่า อิริยาบถ คืออะไร มิฉะนั้นก็ไม่รู้ว่าพูดเรื่องอะไรกัน

    ตามที่เคยเข้าใจกันในเรื่องของอิริยาบถว่าคือกิริยาอาการต่างๆ ของกาย ซึ่งนั่งบ้าง นอนบ้าง ยืนบ้าง เดินบ้าง เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะพิจารณาให้เข้าใจว่า ที่นั่ง ที่นอน ที่ยืน ที่เดิน ที่เรียกว่าเป็นอิริยาบถนั้น คืออะไร

    ก็คืออาการที่รูปหลายๆ รูป หรือรูปหลายๆ กลาป คือ หลายๆ กลุ่มรวมกัน ทรงอยู่ในอาการอย่างหนึ่งอย่างใด ถ้ามีรูปหลายๆ รูป หลายๆ กลุ่ม คือ หลายๆ กลาปประชุมรวมกันแล้ว ที่จะไม่ทรงอยู่ ไม่ตั้งอยู่ในอาการอย่างหนึ่งอย่างใด ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย เพราะถ้ารูปแตกย่อยกระจัดกระจายออกหมดเป็นกลุ่มเล็กๆ ก็ไม่สามารถกล่าวได้ว่ารูปกลาปนั้นกลุ่มนั้นทรงอยู่ในอาการอย่างไร แต่เมื่อใดก็ตาม ที่รูปแต่ละกลุ่มเกิดประชุมรวมกันมีการทรงอยู่ตั้งอยู่เกิดขึ้น ในขณะนั้นจะมีความสำคัญหมายรู้ว่า นั่งห้อยเท้า นั่งขัดสมาธิ นั่งไขว้ห้าง

    เพราะฉะนั้น ที่ใช้คำว่า อิริยาปถบรรพ หรืออิริยาบถ ก็คืออาการของรูป ซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นเรา เพราะว่ามีกลุ่มของรูปรวมกันหลายๆ รูปนั่นเอง เมื่อเป็นความสำคัญผิด ยึดถือรูปที่เกิดดับแต่ละกลุ่มซึ่งเกิดรวมกันว่าเป็นอาการหนึ่งอาการใด สติก็ต้องระลึกรู้ลักษณะของรูปแต่ละรูปที่ปรากฏ และพิจารณาศึกษาจนกระทั่งรู้ชัด ในลักษณะของรูปแต่ละลักษณะซึ่งมีลักษณะจริงๆ ปรากฏ ซึ่งเวลาที่ลักษณะของรูปปรากฏ จะไม่ปรากฏว่ารวมกันเป็นอาการอย่างหนึ่งอย่างใด เพราะว่าลักษณะของรูปที่เย็นก็มีลักษณะที่เย็น ลักษณะของรูปที่แข็งก็มีลักษณะที่แข็ง เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่เป็นอาการของกลุ่มของรูปที่รวมกันให้ยึดถือทรงจำว่าเป็นอาการนั่ง หรือว่า เป็นอาการนอน เป็นอาการยืน เป็นอาการเดิน

    และปัญญาจะต้องศึกษาลักษณะของรูปที่ปรากฏที่กายจนกว่าจะประจักษ์ชัดในลักษณะของรูปที่เกิดดับโดยไม่รวมกัน ที่ปรากฏเป็นอิริยาบถหนึ่งอิริยาบถใดนั้น ไม่ใช่การประจักษ์ชัดในลักษณะของรูป

    ไม่ทราบท่านที่ถามเมื่ออาทิตย์ก่อนโน้น ยังมีข้อสงสัยหรือเปล่าในเรื่องของอิริยาปถบรรพ

    ต้องเข้าใจด้วยว่า ก่อนที่จะดับความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้จริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่พิจารณาและคิดเอาว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา แต่ต้องเป็นปัญญาที่รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมแยกขาดจากลักษณะที่เป็นรูปธรรมไปเรื่อยๆ แม้แต่ในขณะหนึ่งขณะใดที่สติเกิดปัญญาของบุคคลนั้น ย่อมรู้ด้วยตัวเองว่า ขณะที่สติกำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรมนั้น ปัญญารู้ชัด ในลักษณะที่เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรมแล้วหรือยัง นี่เป็นสิ่งที่ปัญญาของแต่ละคน จะรู้ได้ด้วยตัวเอง รู้ได้เฉพาะตน เป็นปัจจัตตัง

    ในขณะนี้ก็กำลังเห็น ถ้ารู้ว่าในขณะที่กำลังเห็นเป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ ไม่สงสัยในลักษณะที่เป็นเพียงอาการรู้ และสิ่งที่ปรากฏทางตานั้นก็เป็นแต่เพียง สภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งปรากฏเฉพาะทางตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ส่วนความคิดนึกที่รู้ว่าเห็นอะไร เห็นใครนั้น ก็ไม่ใช่ในขณะที่กำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา

    ถ้าปัญญารู้ชัดอย่างนี้จริงๆ ผู้นั้นก็เป็นผู้ที่อบรมเจริญหนทางที่จะประจักษ์แจ้งการเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมได้

    ถ้าในขณะที่กำลังเห็น ก็สงสัยในลักษณะของสภาพรู้ บุคคลนั้นก็เป็นผู้ที่ ตรงต่อตัวเอง รู้ว่าปัญญาที่จะเจริญขึ้นไม่ใช่ขณะอื่น แต่เป็นขณะที่เห็น อย่างนี้แหละ และสติก็เกิดระลึก ศึกษา คือ สังเกตพิจารณาน้อมที่จะรู้จริงๆ ว่า ขณะนี้เป็นอาการรู้ เป็นลักษณะรู้อย่างหนึ่งเท่านั้นเอง ซึ่งการเห็นก็มีบ่อยๆ เพราะฉะนั้น จะรู้ได้ว่า ขณะใดหลงลืมสติ ขณะใดสติเกิด และในขณะที่สติเกิดนั้น ปัญญาจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น ค่อยๆ รู้ขึ้น ค่อยๆ ชินขึ้นในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ

    นี่คือการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้สัจจธรรม คือ สภาพธรรมที่เป็นปกติที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยในชีวิตประจำวัน ซึ่งเคยยึดถือว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน

    . ตามที่อาจารย์กล่าวว่า อิริยาบถ คือ การยืน การนั่ง การเดิน การนอนนี้ เป็นแต่เพียงอาการของรูปหลายๆ รูปที่ทรงอยู่ตั้งอยู่ในลักษณะหนึ่งลักษณะใด เพราะฉะนั้น อิริยาบถทั้ง ๔ นี้ เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาไม่ได้เลย

    สุ. ไม่ได้แน่นอน บางคนอาจจะค้านทันทีว่า ถ้าอย่างนั้นทำไมจึงกล่าวไว้ในสติปัฏฐาน ดูเหมือนกับว่าเป็นค้านกับพระพุทธพจน์ ถ้าเป็นการศึกษาพระธรรม โดยตัวอักษร โดยตัวหนังสือ โดยไม่เข้าใจถึงอรรถลักษณะของธรรมก็คิดว่า ต้องผิด ถ้ากล่าวว่า อาการนั่ง อาการนอน อาการยืน อาการเดินเป็นท่าทาง ต่างๆ นั้น ไม่ใช่สติปัฏฐาน ไม่สามารถให้ปัญญารู้ชัดเป็นวิปัสสนาญาณได้ เพราะเหตุว่าในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานมีอิริยาปถบรรพ

    การศึกษาพระธรรมที่จะรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ต้องเป็นผู้ที่ศึกษาโดยตลอดและโดยละเอียด และต้องเข้าใจเหตุที่ทรงแสดงอิริยาปถบรรพไว้ด้วย เพราะว่ากายมีจริงตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ลมหายใจมีจริงเป็นส่วนของกาย เมื่อสิ่งใด ที่เป็นส่วนของกาย และเคยยึดถือว่าเป็นลมหายใจของเรา หรือว่าเราหายใจ ทุกท่านกำลังหายใจในขณะนี้ คิดถึงลมหายใจในขณะนั้น ถ้าหายใจแรงหรือเหนื่อยหอบ เป็นเราหรือเปล่าที่กำลังเป็นอย่างนั้น เมื่อมีการยึดถือส่วนหนึ่งส่วนใดของกายหรือตลอดทั้งกายว่าเป็นเรา สติจึงต้องเกิดเพื่อพิจารณาให้รู้ชัดว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    ที่ทรงแสดงกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็เพราะยึดถือกายานุปัสสนาสติปัฏฐานว่าเป็นเรา ที่ทรงแสดงอานาปานบรรพ เพราะยึดถือลมหายใจว่าเป็นเรา ที่ทรงแสดงอิริยาปถบรรพ เพราะยึดถืออิริยาบถว่าเป็นเรา ที่ทรงแสดงสัมปชัญญบรรพ เพราะยึดถือสัมปชัญญะคือการเคลื่อนไหวกายว่าเป็นเรา ที่ทรงแสดง ปฏิกูลมนสิการบรรพ คือ ไม่ว่าจะเป็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ก็เพราะยึดถือผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ส่วนต่างๆ ของกายว่าเป็นเรา ที่ทรงแสดงซากศพว่า เป็นนวสีวถิกาบรรพ ก็เพราะยึดถือซากศพนั้นว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน

    เพราะฉะนั้น กายานุปัสสนาสติปัฏฐานทุกบรรพ ทรงแสดงเพราะเคยยึดถือ ทุกบรรพนั้นว่าเป็นเรา ด้วยเหตุนี้เมื่อสติปัฏฐานเกิด จึงไม่ใช่ไปนึกเป็นท่าเป็นทาง หรือไปทำ เพราะบางคนบอกว่า ต้องทำเดิน ทั้งๆ ที่ขณะนั้นกำลังนั่ง มีนามธรรม มีรูปธรรมซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นตัวตน เพราะอวิชชาไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง ด้วยเหตุนี้สติปัฏฐานจึงต้องระลึกลักษณะของปรมัตถธรรม มิฉะนั้นแล้วเราจะเรียนศึกษาพระธรรมทำไม

    พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ทรงแสดงว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล คือ จิตต่างๆ เจตสิกต่างๆ รูปต่างๆ ที่ทรงแสดงไว้ ไม่ได้ทรงแสดงไว้ว่าให้ไปนึกถึงท่าทางที่รวมกันแล้วจะได้ประจักษ์ชัดว่า รูปนั่งดับไป หรือว่ารูปยืนดับไป รูปเดินดับไป ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ทรงแสดงสามัญญลักษณะของสังขารธรรม ไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทใดก็ตาม เจตสิกประเภทใดก็ตาม รูปประเภทใดก็ตาม เกิดขึ้นแล้วดับไป

    นี่เป็นสิ่งที่จะต้องประจักษ์สามัญญลักษณะ คือ การเกิดดับของสังขารธรรม และยังทรงแสดงวิเสสลักษณะ คือ ลักษณะเฉพาะของรูปแต่ละรูป ซึ่งจะปรากฏ ให้รู้ได้แต่ละทางเพื่อจะได้ประจักษ์ว่า รูปใดกำลังปรากฏ รูปนั้นเองลักษณะที่กำลังปรากฏนั้นดับ แข็งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ วิปัสสนาญาณจะประจักษ์ว่า เกิดดับ ไม่ใช่ให้ไปรู้สิ่งที่ไม่ใช่ปรมัตถธรรม แต่ต้องมีลักษณะจริงๆ ที่กำลังปรากฏ และวิปัสสนาญาณก็แทงตลอดในลักษณะที่เกิดดับนั้น

    ด้วยเหตุนี้ ถ้าไม่ได้ศึกษาโดยละเอียดจริงๆ จะไม่ทราบแม้จุดประสงค์ที่ทรงแสดงแต่ละบรรพของกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น จึงมีการทำ แทนที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังเกิดเพราะเหตุปัจจัย ที่กล่าวว่า ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เพราะว่าไม่มีใครที่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้

    ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าที่กำลังปรากฏลักษณะอ่อนหรือแข็ง ไม่มีใครทำให้ อ่อนนั้นเกิดได้ ไม่มีใครทำให้แข็งนั้นเกิดได้ ไม่มีใครเป็นเจ้าของที่จะบังคับบัญชาว่า ไม่ให้ดับไป แต่เพราะไม่รู้ความจริงของสังขารธรรมทำให้เข้าใจผิดคิดว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นต้องทำ ต้องไปทำอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น ต้องนั่งขัดสมาธิ ต้องทำลมหายใจ ซึ่งความจริงไม่จำเป็นเลย เพราะว่าปัญญาต้องละคลายความต้องการ

    การอบรมเจริญปัญญาในพระพุทธศาสนาเพื่อรู้แล้วละ แม้แต่ในการศึกษา ที่จะศึกษาเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมก็เพื่อประโยชน์อย่างเดียว คือ เพื่อเข้าใจถูก เพื่อรู้ถูก และเพื่อละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ให้ไปทำบรรพหนึ่งบรรพใดในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือ ไม่ใช่ให้ไปทำนั่งท่าต่างๆ ไปทำเดินท่าต่างๆ ไปทำยืน ไปทำนอน ไม่ใช่เลย

    เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจให้ถูกด้วยว่า ปัญญาที่รู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ต้องรู้ตรงลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นวิเสสลักษณะของแต่ละสภาพธรรม เช่น จิตแต่ละประเภท หรือเจตสิก แต่ละประเภท รูปแต่ละชนิด แต่ละลักษณะ

    . การที่จะทำลายหรือกำจัดการยึดถือว่า เรายืน เราเดิน เรานั่ง เรานอน ในขณะนั้นจะกำหนดอะไร

    สุ. ไม่ใช่ว่าจะกำหนดอะไร และไม่ใช่จะบอกว่าอย่ายึดถือ ใครจะ อย่ายึดถือได้ถ้าปัญญาไม่เกิด เพราะอวิชชา ความไม่รู้ ยังมีอยู่ตราบใด ความยินดีพอใจในสิ่งที่เกิดขึ้นปรากฏก็ต้องมีอยู่ตราบนั้น

    ที่ใครจะบอกว่านั่ง หรือว่านอน หรือว่ายืน หรือว่าเดิน ให้ละเสีย อย่ายึดถือ ไม่มีเหตุที่จะเป็นไปได้เลย แต่ต้องพิจารณาว่า เพราะความไม่รู้อะไรจึงยึดถือ ถ้ามีความรู้เกิดขึ้น ความรู้นั้นย่อมละการยึดถือ

    เมื่อไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมว่า ที่ปรากฏเกิดขึ้นมาว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ต้องมีนามธรรมและรูปธรรมเกิดรวมกัน เช่น รูป ก็ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าเป็นรูปแต่ละกลาปแต่ละกลุ่มซึ่งเล็กละเอียดมาก และมีอากาศธาตุแทรก คั่นอยู่กำลังทยอยกันเกิดดับ เมื่อไม่รู้ความจริงอย่างนี้ ก็ยังไม่เห็นว่ามีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ ยังเป็นรูปที่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนและทรงอยู่ในลักษณะหนึ่งลักษณะใด เป็นปกติประจำวัน และจะบอกให้ละเสีย อย่ายึดถือ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    และที่กล่าวว่า จะให้กำหนดอะไร หรือว่าจะให้ปฏิบัติอย่างไร จะให้ทำอย่างไร ไม่มีการที่จะให้ทำ หรือให้กำหนด แต่เข้าใจลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมหรือยัง

    ใครก็ตามที่ไม่เข้าใจเรื่องลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเลย และบอกว่า กำลังนั่งอย่างนี้จะให้กำหนดอย่างไร ไม่มีทางที่สติปัฏฐานจะเกิดได้ เพราะคนนั้นไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

    . ในขณะนั้นนั่ง เมื่อไม่ให้กำหนดรูปนั่งหรือการนั่งที่นิยมพูดกัน เราก็ต้องรู้และเข้าใจลักษณะของสภาวธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นว่า อะไรปรากฏ ใช่ไหม

    สุ. นี่เป็นเหตุที่ทุกท่านต้องฟังพระธรรมเป็นอันมากในเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งเป็นลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ และเกิดขึ้นเป็นไปในวันหนึ่งๆ ในสังสารวัฏฏ์ซึ่งไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า ที่เคยเป็นเราแท้ที่จริงคือนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้นเอง เมื่อไรรู้อย่างนี้ เมื่อนั้นจะละคลายการยึดถือสภาพของนามธรรมว่าเป็นเราที่กำลังเห็น ที่กำลังได้ยิน ที่กำลังเป็นสุข ที่กำลังเป็นทุกข์ ที่กำลังคิดนึก และจะ ละคลายการยึดถือลักษณะของรูปที่ปรากฏแต่ละทาง เช่น ทางตา สีสันวัณณะต่างๆ กำลังปรากฏ ทางหูเสียงปรากฏ ทางจมูกกลิ่นปรากฏ ทางลิ้นรสปรากฏ ทางกาย โผฏฐัพพะ คือ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวปรากฏ

    . ถ้าเราสามารถระลึกรู้สภาวธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นได้ การยืน การเดิน การนั่ง การนอนก็ไม่มี

    สุ. กายอยู่ที่ไหนก็มีการยึดถือกายว่าเป็นเราที่นั้น ไม่ว่าจะกำลังหายใจอยู่ หรือว่ากำลังนอนอยู่ กำลังทำกิจการงานอยู่ กำลังพูดอยู่ กำลังเคลื่อนไหวอยู่ กายอยู่ที่ไหน ก็ยังคงมีการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตน

    หนทางเดียว คือ ปัญญาเกิดพร้อมสติที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมที่กำลังปรากฏตามที่ฟังแล้วเข้าใจ แต่ต้องมีการฟังเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมจนเข้าใจจริงๆ ก่อน มิฉะนั้นแล้วสติจะระลึกอะไร สติไม่ได้เกิดที่จะรู้อะไรเลยสักอย่างเดียว เพราะฉะนั้น จะไปกำหนดหรือจะไปละ ย่อมเป็นไปไม่ได้

    การที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ขอให้ทราบว่า ชีวิตประจำวันจริงๆ จากเมื่อวานนี้ หรือเมื่อวันก่อน หรือเดือนก่อน หรือปีก่อน หรือหลายๆ ปีก่อนที่ได้ฟังพระธรรม และมีความเข้าใจเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม เรื่องของจิต เจตสิก รูปเพิ่มขึ้นตามการฟังที่เพิ่มขึ้น ก็ควรจะได้พิจารณาว่า การละคลายนั้นละคลายขั้นไหน ขั้นซึ่งฟังทีแรกไม่ค่อยจะเข้าใจเพราะเป็นเรื่องที่ ไม่เคยได้ฟังมาก่อน และดูเป็นเรื่องที่เข้าใจยากมากเพราะไม่คิดเลยว่า จิตซึ่งเราเคยพูดกันว่า จิตใจ ธรรมดาๆ แท้ที่จริงแล้วมีลักษณะที่ยากแก่การที่จะประจักษ์แจ้งได้

    . ที่บอกว่ารูปนั่งไม่มี เขาถามว่า ถ้าอย่างนั้นอะไรนั่ง

    สุ. ถ้าไม่มีรูปเลย มีนั่งไหม

    . ไม่ได้

    สุ. เพราะฉะนั้น ที่เข้าใจว่านั่งนั้น คืออะไร

    . หนูเข้าใจว่า นั่งก็เป็นเราทุกที

    สุ. รูปที่ประชุมรวมกัน มีไหม

    . มี

    สุ. ถ้าไม่มีรูปประชุมรวมกัน มีนั่งไหม

    . ไม่ได้

    สุ. ที่กำลังนั่งอยู่ มีรูปหลายๆ รูป หลายๆ กลาป หลายๆ กลุ่ม เกิดรวมกัน ใช่ไหม

    . ใช่

    สุ. เพราะฉะนั้น คำตอบ ที่เข้าใจว่ากำลังนั่งนั้น คือ รูปหลายๆ กลุ่ม หลายๆ กลาป เกิดรวมกันนั่นเอง



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๗๖ ตอนที่ ๑๗๕๑ – ๑๗๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 96
    28 ธ.ค. 2564