แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1766


    ครั้งที่ ๑๗๖๖


    สาระสำคัญ

    อริยมรรคมีองค์ ๘ (เป็นเลิศของสังขตธรรม)

    ลักษณะสภาพรู้ต่างกับลักษณะรูปธรรม

    สมถะ คือ ความสงบของจิต (สงบจากโลภะ โทสะ โมหะและอกุศล)

    สติสัมปชัญญะที่จะระลึกรู้ลักษณะของจิต


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑


    . สังเกตดู ขณะหลับตาก็ยังมีรูปร่างสัณฐาน คิดนึกถึงเหมือนกับเห็น ทางตา แต่ถ้าทางตาปรากฏจริงๆ จะมีลักษณะของสิ่งที่ปรากฏซึ่งต่างกับคิด

    คิดว่า ขณะที่สติปัฏฐานยังไม่มีกำลัง หรือยังไม่เข้าใจละเอียด ไม่สามารถแยกความคิดกับเห็นทางตาเดี๋ยวนี้ออกจากกันได้

    สุ. ถ้าแยกไม่ออก นามรูปปริจเฉทญาณซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณที่ ๑ ก็เกิดไม่ได้ และจะไปทำอย่างอื่นเพื่อให้นามรูปปริจเฉทญาณเกิดได้อย่างไร ถ้าจะอาศัยวิธีอื่น

    . ขึ้นอยู่กับการศึกษาและความเข้าใจมากกว่า

    สุ. แน่นอนที่สุด เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็น เรื่องละเอียด และเป็นสังขารธรรม เพราะว่ามรรคมีองค์ ๘ ได้แก่เจตสิก ๘ ดวง ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ

    ในบรรดาสังขารธรรมทั้งหลายอริยมรรคเป็นเลิศ คือ ในชาติหนึ่งๆ ที่สัมมาสติจะเกิดพร้อมกับสัมมาสังกัปปะคือวิตกเจตสิก พร้อมด้วยสัมมาวายามะ สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสมาธิ คือ มรรคมีองค์ ๕ ซึ่งเกิดพร้อมกันในขณะที่ระลึกถึงลักษณะของสภาพธรรม เพียงชั่วเล็กน้อยก็เป็นเลิศของสังขตธรรม เพราะกว่าจะอบรมเจริญไป ทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าไม่มีหนทาง มี แต่ต้องใจเย็นๆ และ รู้ว่า สภาพธรรมเกิดดับเร็วอย่างนี้ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ปัญญาไม่เจริญ ก็ไม่สามารถประจักษ์การแยกขาดจากกันของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละทวารได้

    เมื่อสภาพธรรมตามความเป็นจริงเป็นอย่างนี้ คือ สังขารธรรมทั้งหลายเกิดและดับไปอย่างรวดเร็ว ปัญญาต้องอบรมจนประจักษ์แจ้งได้ เพราะฉะนั้น อย่าไปคิดทำวิธีอื่นที่ไม่ใช่อริยมรรคมีองค์ ๘ เลย

    . ขณะใดที่ได้กลิ่น กลิ่นก็คือกลิ่น คือ สภาพที่ไม่รู้อารมณ์ และจะมีลักษณะของรู้หรือจำได้ว่ากลิ่นอะไร ลักษณะนั้นเป็นลักษณะของสัญญาหรือเปล่า

    สุ. ตามความเป็นจริงแล้วสัญญาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง แต่การที่สติ จะระลึกลักษณะของสัญญาซึ่งเป็นสัญญาขันธ์เกิดกับจิต เกิดกับนามขันธ์อื่น พร้อมๆ กัน โดยมีสัญญาที่จำผิดมาโดยตลอด คือ อัตตสัญญา นิจจสัญญา เห็นว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยไม่ดับ ขณะนั้นก็รู้ได้ว่า ที่จะให้เกิดสัญญาที่ถูกต้องที่เกิดร่วมกับปัญญา จะต้องอาศัยสติระลึกว่า ในขณะที่รู้และไม่ลืมว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร ขณะนั้น พอจะรู้ลักษณะของสัญญาได้ แต่ไม่ใช่ต้องไปรู้สัญญาที่เกิดกับภวังคจิตบ้าง หรือจิตอื่นๆ บ้าง

    การเริ่มระลึกลักษณะของสัญญาซึ่งเกิดร่วมกับนามขันธ์อื่นๆ ลักษณะของโลภะอาจจะพอปรากฏ ลักษณะของโทสะทุกคนก็รู้จักดี แต่ลักษณะของสัญญาในขณะที่เห็นแล้วรู้ คือ เห็นแล้วไม่ลืมรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร ขณะนั้นก็พอที่จะเริ่มพิจารณาได้ว่า นั่นคือลักษณะของสัญญา

    . สมมติว่าดื่มน้ำส้ม ขณะที่ดื่ม รสของน้ำส้มก็คือรส แต่ที่รู้ว่าเป็นน้ำส้ม ขณะนั้นเป็นจำหรือเปล่า

    สุ. ขณะที่ไม่ลืม ขณะที่รู้ ขณะนั้นก็เป็นสัญญา แต่แท้ที่จริงขณะที่กำลังลิ้มรสน้ำส้ม ขณะนั้นก็ต้องมีสัญญาเจตสิกหรือสัญญาขันธ์ด้วย แต่แม้นามธรรมรูปธรรมก็ยังไม่ได้ระลึก เพราะฉะนั้น จะแยกนามธรรมออกมาเป็นสัญญาขันธ์บ้าง หรือเวทนาขันธ์บ้าง หรือวิญญาณขันธ์บ้าง หรือสังขารขันธ์บ้าง ก็เป็นสิ่งที่ปัญญาจะต้องค่อยๆ เจริญขึ้น จนกว่าจะค่อยๆ รู้ขึ้น ขั้นแรกที่สุด คือ ขณะนี้ลักษณะของนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้แม้ว่ามีอยู่ คือ กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ แต่ถ้าสติไม่ระลึกพิจารณาศึกษา จะไม่รู้เลยว่าเป็นแต่เพียงสภาพรู้

    เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น ไม่ใช่ไปแยกเป็นสัญญาขันธ์ หรือสังขารขันธ์ หรือเวทนาขันธ์ แต่ลักษณะของสภาพรู้ต่างกับลักษณะของรูปธรรมซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ว่าจะเป็นสัญญา หรือเวทนา หรือจิตก็ตามแต่ เป็นลักษณะรู้ เป็นอาการรู้

    . ค่อยๆ สังเกต ระหว่างสภาพที่ไม่รู้อารมณ์กับสภาพที่รู้อารมณ์ไปก่อน และสิ่งที่ปรากฏซึ่งรู้ได้ในขณะนั้น ก็เข้าใจในขณะนั้น

    สุ. อย่างเวลาที่รู้ลักษณะของสภาพรู้ อาจจะมีลักษณะของเจตสิก ซึ่งทรงแสดงไว้ว่าชื่ออะไรปรากฏในขณะนั้นได้ โดยที่ขณะนั้นกำลังพิจารณาเพียงลักษณะสภาพรู้ แต่ลักษณะสภาพรู้ที่กำลังพิจารณานั่นเองต่างกันเป็นหลายอย่าง คือ สภาพรู้อย่างนี้เป็นความพอใจ สภาพรู้อย่างนั้นเป็นความเมตตา สภาพรู้อย่างนั้นเป็นความกรุณา สภาพรู้อย่างนั้นเป็นความสุข สภาพรู้อย่างนั้นเป็นความทุกข์

    อย่างทุกข์กาย ไม่มีใครไม่รู้ ทุกคนรู้จักดี แต่ขณะที่กำลังปรากฏก็รู้ว่า ขณะนั้นเป็นแต่เพียงสภาพรู้สึก ซึ่งเป็นอาการรู้ หรือสภาพรู้อย่างหนึ่ง นี่ก็ต่างกันแล้ว ระหว่างความทุกข์กายกับเห็นที่กำลังเห็นทางตา

    เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังศึกษาลักษณะของนามธรรมแต่ละชนิด ก็คือ การรู้สภาพของนามขันธ์หนึ่งนามขันธ์ใดใน ๔ นามขันธ์ ซึ่งจะค่อยๆ ละเอียดขึ้น

    . บางครั้งเกิดโทสะขึ้น มีทุกขเวทนาเกิดร่วมด้วย และสติก็ใส่ใจเพียงลักษณะ แต่ใส่ชื่อไม่ถูกว่าขณะนั้นเป็นทุกขเวทนา หรือเป็นลักษณะของประทุษร้ายอารมณ์ บางครั้งแยกชื่อไม่ถูก แต่ก็ค่อยๆ ศึกษาไปเรื่อยๆ คงจะเป็นความไม่ละเอียดของสติที่ค่อยๆ ระลึกไปเรื่อย

    สุ. นี่คือการสลับกันของขณะที่สติปัฏฐานเกิด กับขณะที่หลงลืมสติ คือ ขณะที่สติปัฏฐานเกิดจะระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม ขณะนั้นปัญญาจะค่อยๆ ศึกษา คือ ระลึกรู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ขณะนั้นไม่ได้เอ่ยเป็นคำ และขณะนั้นก็เป็นสติปัฏฐาน แต่ขณะที่พยายามนึกว่า นี่เป็นความรู้สึกอะไร กำลังพยายามแยก ขณะนั้นไม่ใช่สติปัฏฐาน เพราะว่ากำลังจะใส่ชื่อ เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า สติปัฏฐานสลับกับจิตที่ไม่ใช่สติปัฏฐาน

    . พระอรหันต์ท่านละกิเลสได้หมดแล้ว และมีมหากิริยาจิต สตินั้นต้องเกิดกับมหากิริยาจิต พูดถึงในชวนะ สตินั้นจะเรียกว่าเป็นสติปัฏฐานได้ไหม มหากิริยาจิตของพระอรหันต์มีทั้งหมด ๘ ดวง ประกอบด้วยปัญญา ๔ ดวง ไม่ประกอบด้วยปัญญา ๔ ดวง ขณะใดที่เป็นญาณสัมปยุตต์เป็นสติปัฏฐาน ใช่ไหม

    สุ. แล้วแต่ระดับขั้น เพราะว่าญาณสัมปยุตต์ คือ ขณะที่ปัญญาเกิด แล้วแต่ว่าจะเป็นปัญญาระดับใด

    . ต้องแล้วแต่ปัญญาที่รู้

    สุ. พระอรหันต์ยังมีมหากิริยาญาณวิปปยุตต์ด้วย ไม่ใช่จะต้องเป็น มหากิริยาญาณสัมปยุตต์ทุกครั้ง

    . ในพระสูตรหนึ่ง ท่านพระอนุรุทธะท่านมีสติปัฏฐาน ๔ เป็นวิหารธรรม แสดงว่าท่านก็ไม่ได้มีสติปัฏฐานตลอดเวลา

    สุ. เรื่องของการเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นเรื่องที่ต้องมี ความมั่นคงในการเห็นประโยชน์จริงๆ ถ้าจะทำอย่างอื่นโดยไม่รู้ ก็ไม่ควรจะทำ เพราะว่าผลก็ต้องเป็นความไม่รู้อยู่นั่นเอง

    ท่านที่อยากจะทำสมาธิ จะรู้สึกได้ตั้งแต่ต้นถ้าเป็นผู้ที่ประกอบด้วยปัญญาว่า เป็นความอยาก ไม่ใช่เป็นความรู้ ถ้าเป็นเรื่องของการทำสมาธิ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ เกิดอกุศลจิตขึ้นและสติระลึกรู้ว่าขณะนี้เป็นอกุศล และเจริญกุศล ขณะนั้นเป็นการเจริญสมถภาวนาในชีวิตประจำวัน เพราะขณะใดที่จิตเป็นกุศล ขณะนั้นสงบ

    ผู้ฟัง เนื่องจากยังเป็นปุถุชนอยู่ ทำให้คิดหาวิธีกันอยู่เรื่อยเวลา เจริญสติปัฏฐาน ผมเองในระยะที่ผ่านมาก็คิดเหมือนกันว่า สติไม่ค่อยได้ระลึกเท่าไร คือ ระลึกน้อย ก็คิดว่า ถ้าสติไม่ระลึก เราก็ท่องพระพุทธคุณ อิติปิโส ภควา อรหันตสัมมาสัมพุทโธไปเรื่อย เพราะว่าการท่องอิติปิโส ภควา เป็นสมถภาวนา อย่างหนึ่ง คิดว่าเป็นกุศล ก็น่าจะเจริญ เราสามารถเปล่งวาจาออกมาได้ น่าจะง่ายกว่าสติปัฏฐานที่จะต้องระลึกรู้ซึ่งเป็นอนัตตา เหตุปัจจัยยังไม่ได้ ก็ยังไม่ระลึก

    สุ. ที่จริงแล้วตอนที่ระลึกได้ว่า ขณะนั้นสติไม่เกิด สติก็ควรจะระลึกทันทีแทนที่จะไปทำอย่างอื่น ในเมื่อรู้ว่าเมื่อกี้หลงลืมสติ ก็มีสิ่งที่สติจะระลึก ทำไมไม่ระลึกทันที กลับไปทำอย่างอื่น

    ผู้ฟัง เหตุปัจจัยยังไม่มี ก็เพียรระลึกไม่ได้ อาจารย์บอกให้เพียรระลึกเลย ใช่ไหม

    สุ. มิได้ เวลาที่รู้ว่าหลงลืมสติ ขณะนั้นคือสติที่รู้ว่าหลงลืมสติแล้ว ทำไม มีลักษณะของปรมัตถธรรมที่ปรากฏแล้วไม่ระลึก ในเมื่อรู้แล้วว่าเมื่อกี้หลงลืมสติ สติปัฏฐานก็ระลึกทันที

    ผู้ฟัง อินทรีย์ยังไม่แก่กล้าก็ไม่ระลึก ไม่ระลึกก็ไปหาวิธีอื่น ผมคิดว่า เป็นธรรมดาของปุถุชนที่จะไขว่คว้าหาสติปัฏฐานมาให้ได้

    สุ. เพราะฉะนั้น จุดที่ควรพิจารณาก่อนที่จะทำอย่างอื่น เริ่มใหม่ ก่อนที่จะไปทำอย่างอื่นรู้ว่าสติไม่เกิด ก็สติเกิดระลึกทันที คือ เมื่อรู้ว่าสติไม่เกิด ก็ระลึกลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทันที ก่อนที่จะไปทำอย่างอื่น

    ผู้ฟัง เอาเทปมาฟังอย่างนั้นหรือ

    สุ. ไม่ใช่ ก็วันนี้เวลาที่รู้ตัวว่าสติไม่เกิด ก่อนที่จะไปทำอย่างอื่น ก็ระลึกลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง นั่นซิ พอระลึกได้ เดี๋ยวก็ไม่ได้อีก เป็นอนัตตา

    สุ. แต่ก็ยังดีกว่าที่จะไปหวังรอ โดยไม่ได้กลับมาสู่การระลึกเลย

    ผู้ฟัง แต่ก็มีความคิดอีกอย่างหนึ่งว่า ช่างมัน ไม่เกิดก็ไม่เกิด แล้วแต่ เหตุปัจจัย สบายๆ ดีกว่า

    สุ. สบายๆ แต่ต้องเป็นมัชฌิมาปฏิปทา

    ผู้ฟัง ไม่ใช่อย่างนั้นซิ มันสบายๆ ไปหาโลภะ

    สุ. แสดงว่าไม่ใช่สบายๆ ด้วยปัญญา นี่เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะต้องเข้าใจมัชฌิมาปฏิปทา ใช้กันบ่อยมากทีเดียว คือ ทางสายกลาง ไม่ใช่ไปทำอย่างเคร่งครัด เคร่งเครียด พยายามหลายวัน ตั้งอกตั้งใจและเหน็ดเหนื่อย เพราะว่าหลายคนทีเดียวที่อยากจะปฏิบัติ เข้าใจว่าจะต้องปฏิบัติ ก็ไปทำปฏิบัติด้วยความเหนื่อย และวันนั้นทั้งวันก็เหนื่อยเปล่า เพราะปัญญาไม่ได้รู้อะไร

    ผู้ฟัง ไม่เคยทำถึงขนาดนั้น แต่แม้จะท่องอิติปิโส ก็เป็นอนัตตาเหมือนกัน ไม่ได้ท่องได้ตลอด

    สุ. ได้นานสักเท่าไร

    ผู้ฟัง รู้สึกว่าจะสัก ๒ เที่ยว

    สุ. หลังจาก ๒ เที่ยวแล้ว เกิดอะไรขึ้น

    ผู้ฟัง ก็เรื่อยๆ ตามเรื่องตามราว

    สุ. ก็เหมือนเดิม คือ จะอิติปิโส หรือไม่อิติปิโส ก็เหมือนเดิม คือ สติไม่ได้ระลึกลักษณะของปรมัตถธรรม ที่หวังไว้ว่า อิติปิโสเสียก่อนแล้วสติจะได้ระลึกลักษณะของปรมัตถธรรม ก็หวังเปล่าอีก เข้าใจว่าต้องไปทำอย่างอื่นสติปัฏฐานจะได้เกิด แต่เมื่อท่องอิติปิโส ๒ เที่ยว สติปัฏฐานก็ไม่ได้เกิด เพราะฉะนั้น ถ้าท่องอีกมากกว่านั้น สติปัฏฐานจะเกิดหรือ แต่ถ้าระลึกทันทีแม้นิดเดียวก็ยังจะเป็นปัจจัยเตือนตัวเอง ได้อีกต่อไปข้างหน้าว่า เมื่อกี้หลงลืม แต่ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ และสติก็ระลึกได้

    ผู้ฟัง อย่างที่อาจารย์พูดก็ได้ เวลานี้ผมไม่ทุกข์ไม่ร้อนเท่าไร เนื่องจาก สติระลึกได้เกือบทุกวัน วันละเล็กละน้อย แต่ความที่เป็นปุถุชน การอยากจะได้สติมากๆ ก็ยังมีอยู่

    สุ. พิจารณาถึงปัญญาดีไหม แทนที่จะไปคิดเฉพาะอยากจะให้สติเกิด เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้นดีกว่าต้องการให้สติเกิด แต่ไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง สบายๆ แบบมัชฌิมาปฏิปทา

    สุ. มัชฌิมาปฏิปทา ต้องประกอบด้วยปัญญา หมายความว่า ไม่ขาดความเพียร และรู้ว่าความเพียรนั้นต้องเกิดกับปัญญาพร้อมสติปัฏฐาน จึงจะเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ถ้าเพียรท่อง ...

    ผู้ฟัง ไม่ใช่อย่างนั้น คือ เป็นเพียงความคิดที่เพิ่งเข้ามาประมาณอาทิตย์หนึ่ง บอกตัวเองว่า นี่ก็เป็นสมถภาวนาอย่างหนึ่ง

    สุ. อิติปิโส ภควา รู้สึกว่าในชีวิตหนึ่งหลายท่านก็คงจะได้หลายพันจบ หรือว่าหลายหมื่นจบ แต่อิติปิโส ภควา ก่อนที่จะได้ศึกษาธรรม ไม่ได้เข้าใจเลยว่า อิติปิโส ภควา นั้น คืออย่างไร

    ผู้ฟัง แต่เดี๋ยวนี้ผมคิดตาม

    สุ. แต่เมื่อได้เข้าใจพระธรรมแล้ว ถึงแม้จะไม่กล่าวคำว่า อิติปิโส ภควา ขณะที่เข้าใจในพระธรรมที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด และเป็นสิ่งที่สามารถพิสูจน์ได้ ขณะใดที่เห็นพระคุณว่า ถ้าไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วไม่สามารถแสดงปรมัตถธรรมโดยละเอียดอย่างนี้ได้ ในขณะนั้นถึงแม้จะไม่กล่าวว่า อิติปิโส ภควา ขณะนั้นก็คือ อิติปิโส ภควา นั่นเอง

    เพราะฉะนั้น พิจารณาดูว่า ขณะที่กำลังเข้าใจพระธรรม กับเพียงท่อง ขณะไหนควรจะเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์

    . ขณะที่หลงลืมสติ และรู้ตัวว่าเราหลงลืมสติ ตอนนั้นมีสติหรือเปล่า

    สุ. ถ้ารู้ว่าหลงลืมสติ ขณะนั้นก็ยังเป็นสตินิดหนึ่งที่รู้ว่า หลงลืมสติ

    . และขณะนั้นก็ควรจะเจริญ

    สุ. ขณะนั้นก็สติระลึกเสียเลย แทนที่จะไปทำอย่างอื่น คือ แทนที่จะ ทำอย่างอื่น ถ้ารู้ว่าหลงลืมสติ ก็ต้องเข้าใจว่ามีสติคือขณะไหน ใช่ไหม เมื่อเข้าใจว่า มีสติขณะไหน เมื่อกี้หลงลืมสติ เดี๋ยวนี้ก็มีสติเสีย

    . เรื่องสมถภาวนา เมื่อผมได้อ่านปรมัตถธรรมสังเขปแล้ว รู้สึกกลัว ไม่อยากเจริญ เพราะที่เข้าใจมาแต่แรก นึกว่าอะไรๆ ก็สมถะได้ ถ้าไม่ใช่วิปัสสนา ต้องเป็นสมถะทั้งนั้น เช่น ท่องอิติปิโส ภควา ท่องไปกี่จบก็แล้วแต่ บางทีท่อง แต่ปาก แต่ใจไปนึกถึงเรื่องอื่น ไม่ได้นึกถึงพระพุทธคุณ อย่างนี้จะเป็นสมถะได้หรือ

    สุ. ต้องเข้าใจสมถะว่า ต้องแยกจากสมาธิ เพราะว่าสมาธิเป็นคำกลางๆ เพราะฉะนั้น ก็มีทั้งมิจฉาสมาธิและสัมมาสมาธิ เช่นเดียวกับทิฏฐิก็เป็นคำกลางๆ เป็นความเห็น เพราะฉะนั้น ก็มีทั้งมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด และสัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นปัญญา ส่วนสมถะ คือ ความสงบของจิต เพราะฉะนั้น จะต้องศึกษา ให้ชัดเจนว่า ความสงบของจิตไม่ใช่เราคิดเองว่าเราชอบ เรากำลังสบายใจ เราพอใจ ขณะนั้นเป็นความสงบ ซึ่งไม่ใช่เลย

    ความสงบต้องเป็นสงบจากโลภะ โทสะ โมหะ และอกุศล เพราะฉะนั้น ต้องเป็นกุศลจิตจึงจะสงบ ขณะใดที่กุศลจิตไม่เกิด ขณะนั้นสงบไม่ได้เลย แต่ขณะใดที่จิตเป็นกุศล จะเห็นได้ว่า กุศลจิตนั้นเล็กน้อยมากเพราะการสะสม อย่างเวลาที่จะ ให้ทานสักครั้งหนึ่ง มีกุศลเจตนาเกิด แต่เวลาที่ไปตลาดซื้อของเพื่อที่จะเป็นไทยธรรมสำหรับถวาย ก็อาจจะมีทั้งโลภะโทสะเกิดสลับมากมาย

    เพราะฉะนั้น กุศลจิตจริงๆ ที่จะรู้ได้ว่าขณะนั้นสงบ ต้องประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ถ้าไม่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ จะไม่รู้สภาพความสงบของจิต ซึ่งต่างกับขณะที่เป็นอกุศล เพียงแต่รู้จากตำราว่า ขณะใดที่ให้ทานขณะนั้นเป็นกุศล หรือขณะใดที่วิรัติทุจริตขณะนั้นเป็นกุศล นั่นชื่อกุศล แต่ลักษณะของกุศลซึ่งสงบจากอกุศล ถ้าสติสัมปชัญญะไม่ระลึกจะไม่มีการเทียบเคียงว่า ลักษณะนี้สงบ ลักษณะนั้นไม่สงบ

    . เวลาสวดมนต์ไหว้พระก็ดี บางทีว่า นโม ว่าไปแล้วก็สงสัยว่า เป็นจบที่เท่าไร จบที่ ๒ หรือจบที่ ๓ มักจะเป็นอย่างนี้เรื่อย แสดงว่าใจไม่สงบ ใจคิดถึงอย่างอื่น เพราะฉะนั้น ก็ไม่เป็นสมถะ

    สุ. ด้วยเหตุนี้ คำว่า นะ เฉพาะคำว่า นะ ไม่ได้ทำให้จิตสงบ เฉพาะ คำว่า โม ก็ไม่ได้ทำให้จิตสงบ แต่จิตที่น้อมระลึกถึงพระคุณ สงบ เพราะฉะนั้น ความสงบไม่ได้อยู่ที่คำ แต่อยู่ที่สภาพของจิต ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าชาติใดภาษาใดจะมี การทำสมาธิ จะเห็นได้ว่า ไม่พ้นไปจากมิจฉาสมาธิ ถ้าไม่เข้าใจเรื่องของสติสัมปชัญญะที่จะระลึกรู้ลักษณะของจิต



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๗๗ ตอนที่ ๑๗๖๑ – ๑๗๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 96
    28 ธ.ค. 2564