แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1811


    ครั้งที่ ๑๘๑๑


    สาระสำคัญ

    ฟังเพื่อเข้าใจ คือ ปัญญา - เป็นการอบรมสะสมปัญญา อย่าคิดที่จะไปทำอย่างอื่น

    อถ.ขุ. สุภูตเถรคาถา

    จิต ๑๔ กิจ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๓๑


    พระ อาตมาคิดถึงตัวเองว่า เวลานี้พิจารณารูปธรรมและนามธรรม ทำไม สติจึงเกิดขึ้นบ้าง เราได้เข้าใจตอนไหนว่า รูปธรรมนามธรรมมีจริง ตอนไหนกันแน่ ฟังธรรมมาตั้งนาน ตอนใดตอนหนึ่งก็ไม่ใช่ ย้อนกลับไปคิดถึงตอนแรกๆ อาตมาฟังพระพุทธพจน์ว่า ไม่มีตัว ไม่มีตน วันๆ ก็คิดว่า อะไรก็ไม่มีหมดทุกอย่าง นั่น เป็นความเห็นที่ฟังธรรมน้อย ถ้าไม่มีอะไรเลย รู้สึกว่าดี ก็พยายามคิดอยู่อย่างนี้ ไม่ฟังธรรมต่อ ไปคิดเอง คิดว่าง่ายๆ คิดว่าไม่มีอะไรก็หมดเรื่องกัน คิดอยู่เรื่อยๆ จนถึงว่า การมีเมตตาก็ไม่ควร เพราะว่าเสียเปรียบ

    แต่ก่อนโยมแม่เคยพาไปวัด ไปทำบุญ ก็คิดว่าเป็นการดีเท่านั้น แต่ยังไม่รู้ว่า ผลของบุญคืออะไร ขณะที่เคยมีเมตตา แต่ก็ไม่รู้ว่ามีเมตตา ทำตามๆ กัน เห็นว่า เป็นสิ่งที่ดีและสบายใจเท่านั้น

    ต่อมาฟังธรรมพระพุทธพจน์นิดเดียว แต่ไม่เข้าใจเลย ไปคิดเอาเอง ต่อไป ก็เห็นว่ามีเมตตาแล้วโดนเขาแกล้ง เสียเปรียบเขา ไปมองอีกคนว่า เขาข่มคนได้ เขาไม่โดนรังแก คิดว่าการมีเมตตาไม่ดี คือ ไม่เข้าใจว่ากุศลจิตเกิดตอนไหน วิบากเกิดตอนไหน และกุศลจิตแต่ละขั้นไม่ใช่ว่าจะให้ผลเป็นวิบากทันที แต่ เกิดหลังจากนั้นก็มี หรือเกิดเดี๋ยวนั้นก็มี ซึ่งเราไม่เคยฟังมาก่อน จึงไม่มีเมตตากับใคร

    เมื่อไม่มีเมตตากับใคร ฟังธรรมก็เข้าใจผิด เดือดร้อนมาก ไม่รู้ตัวเลยว่า ตัวเองทำอะไร มีแต่เรื่อง เริ่มเที่ยวเตร่เฮฮา ทำตัวไม่ดี การงานทุกสิ่งทุกอย่างก็ไม่ดี จนกลับมาฟังธรรมอีก ใหม่ๆ ก็ฟังด้วยศรัทธาว่า คงต้องมีอะไรดีกว่านี้ เพราะว่า พระพุทธพจน์หลายๆ สูตร รู้สึกว่าดี ทำให้คนไม่เบียดเบียนกัน

    ต่อมาเริ่มฟังรายการของอาจารย์สุจินต์ ฟังแล้วก็มาถึงที่นี่ โยมกุลินให้ยืมพระไตรปิฎกไปเทียบดู รู้สึกว่ามีเหตุมีผล เป็นธรรมที่อาจารย์เอามาจากสิ่งเหล่านี้ ไม่ได้คิดเอาเองแน่ๆ จึงรู้ว่าความคิดของตัวเองใช้ไม่ได้ ตั้งแต่นั้น ก็เริ่มสนใจ เกือบ ๑๐ ปีแล้ว ฟังบ้าง ขาดบ้าง ไม่ใช่จะฟังได้ตลอด และที่ขาดก็เพราะอกุศล พาไปแน่ๆ อยู่แล้ว กุศลมีกำลังน้อย และไม่ค่อยได้สนทนาธรรม คิดเอาเองอีกเหมือนกันว่า เราเองคงจะรู้นามรู้รูปแล้ว อาตมาเคยคิดขนาดที่ว่า นามรูปปริจเฉทญาณเกิดแล้วแน่ๆ

    เมื่อได้มาสนทนาธรรม ได้ฟังเทปของผู้ที่เจริญสติปัฏฐานมาก่อนก็คิดว่า ตัวเองรู้จริงหรือ ไม่มั่นใจ จนกระทั่งผู้มีกุศลจิตอนุเคราะห์ค่อยๆ ตักเตือน และได้มาสนทนากับโยมอาจารย์สุจินต์จริงๆ จึงเห็นว่าตัวเองเข้าใจผิด เพราะยังไม่รู้เลยว่า สติปัฏฐานที่เกิดจนมีปัญญาถึงขั้นนี้มาจากไหน และอย่างนี้จะเรียกว่าปัญญาหรือ ถ้ามีใครมาบอกว่าเป็นโสดาบัน เราก็ไม่เอา หรือตอนนี้มีใครบอกว่าเราได้ธรรมขั้นโน้นขั้นนี้ ไม่เอาดีกว่า

    ที่เรามาศึกษาธรรมก็เพราะความไม่รู้ ไม่รู้ว่าอกุศลเกิดได้อย่างไร กุศล เกิดได้อย่างไร และทำไมเดี๋ยวมีกุศล เดี๋ยวมีอกุศล อาตมาเคยคิดว่า ต้องทำกุศล ให้ได้ ตั้งสัจจะไว้ แต่ก็ล้มเหลว ไม่รู้ว่าเพราะอะไร ไม่เคยรู้เหตุมาก่อน จนกระทั่ง ฟังๆ ไปจึงรู้ว่า เป็นธรรมดาของกิเลสอกุศลที่ยังมีกำลังอยู่ เพราะฉะนั้น ค่อยๆ ฟังและอบรมดีกว่า

    มีการสนทนากันว่า ที่มีได้นั้นมาจากไหน ก็มีได้จากการอบรม อาตมาก็ คิดว่าจริง จะไปเอามากๆ ก็ไม่มีอยู่ดี และยิ่งผิดด้วย เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้ไม่มี ก็ไม่ว่าแล้ว แต่ขอให้เดินทางถูก มีทีละนิดดีกว่า เป็นผู้ฟังที่ดีดีกว่า

    นี่เป็นความเห็นเล็กๆ น้อยๆ เจริญพร

    ขอถามเรื่องของสมถะวิปัสสนา อาตมาฟังเทปชุดหนึ่งของโยมอาจารย์ สมถะ ที่ไม่ใช่สมถภาวนา ในขั้นทานขั้นศีลที่เกิดความสงบ ความสงบในกุศล ขณะนั้นเป็นสมถะได้ไหม

    สุ. ถ้าไม่ใช่เป็นเรื่องของทาน ศีล เพราะฉะนั้น สำหรับบุญกิริยาวัตถุ ๓ ประการโดยสรุป คือ ทาน ศีล ภาวนา สำหรับภาวนานั้น รวมทั้งการฟังธรรม การแสดงธรรม ความสงบของจิต และการเจริญสติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง ผู้ที่เข้าใจการเจริญสติปัฏฐาน ต้องมีสมถะสลับกับการเจริญสติแน่นอน เพราะว่าต้องฟังธรรมมากจนเข้าใจการเจริญสติปัฏฐาน และไตร่ตรองธรรมสลับกันไป ก็เป็นความสงบที่สลับกันไปได้

    สุ. แม้แต่ในขณะที่สติปัฏฐานเกิด ในขณะนั้นก็มีความสงบ ไม่ใช่มีแต่ปัญญาขั้นสติปัฏฐานโดยไม่มีความสงบ ขณะใดที่ปัญญาเกิด ขณะนั้นก็สงบ

    ที่พระคุณเจ้ากรุณาเล่าให้ฟัง ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ถ้าใครจะทำหรือจะปฏิบัติ คนนั้นจะตอบว่า ปฏิบัติไม่ถูก ปฏิบัติไม่ได้ ทำไม่ได้แน่นอน เช่น ขณะที่เดิน บิณฑบาต ท่านที่เข้าใจว่าจะทำก็บอกว่า จะทำได้อย่างไรในขณะที่เดินบิณฑบาต

    แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจผิด คือ ใครก็ตามที่คิดว่าจะทำ ขณะนั้นไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา เพราะว่าปัญญาไม่ใช่ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้ปัญญาเกิด ต้องอบรมไปทีละเล็กทีละน้อย จนถึงตอนสุดท้ายที่ท่านกล่าวว่า ท่านไม่เอามากๆ ต่อไปนี้ก็ ทีละนิด คือ ชั่วขณะที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นก็เป็นหนทางที่จะ ทำให้ปัญญาเริ่มพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และเมื่อกำลังใส่ใจพิจารณาโดยการที่เคยได้ยินได้ฟังว่า สภาพรู้มีจริง ขณะที่มีสิ่งที่กำลังปรากฏ จะต้องมีสภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้สิ่งนั้นด้วย ในขณะที่กำลังใส่ใจพิจารณาลักษณะที่ เป็นสภาพรู้ ขณะนั้นปัญญาเริ่มจะเจริญขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ทีละนิด ไม่ใช่ทีละมาก เพราะว่าทีละมาก เป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า ไม่ใช่เรื่องจะทำ แต่เป็นเรื่องการอบรมเจริญ และขอให้พิจารณาดูชีวิตของทุกท่านในอดีตแสนโกฏิกัปป์ ไม่ใช่ท่านไม่เคยเกิดมาเลย เคยเกิดแล้วก็ตาย และก็เกิด และก็ตาย นับชาติไม่ถ้วนในแสนโกฏิกัปป์ แต่ผลคือ ปัญญาในชาตินี้มีแค่ไหน นี่เป็นสิ่งที่จะพิสูจน์การค่อยๆ เจริญเติบโตของปัญญา เพราะถ้าไม่เคยฟังพระธรรมในอดีตมาเลย ไม่มีทางที่จะสนใจฟังอีก เพราะเห็นว่า เป็นสิ่งที่ยากเกินไป และไม่สามารถจะรู้ได้เพียงในชาติเดียว บางคนอาจจะท้อถอยด้วยการหวังในผล และถ้าเป็นผู้ที่ท้อถอยมาก ก็จะหันไปสู่การปฏิบัติอย่างอื่น เพราะไม่ได้เป็นผู้ที่ตรงต่อเหตุผลจริงๆ ว่า ถ้าจะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม ในขณะนี้ ต้องเริ่มระลึก ศึกษา รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้นั่นเอง

    เมื่อเป็นอย่างนี้ ชาตินี้สติระลึกเท่าไร และปัญญาพิจารณาเริ่มรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมบ้างเท่าไร นี่เป็นผลของการสะสมอบรมในแสนโกฏิกัปป์ ซึ่งปัจจุบันชาตินี้เป็นการพิสูจน์การสะสมที่ได้ผ่านมาแล้ว แสดงให้เห็นว่าน้อยแค่ไหน เพราะฉะนั้น จะต้องไปอีกกี่กัป

    ถ้าไม่เทียบกับชาตินี้ไม่มีทางที่จะรู้ได้ว่า ก่อนๆ นั้น ไม่ใช่ไม่เคยอบรม ไม่ใช่ ไม่เคยฟัง ไม่ใช่สติปัฏฐานไม่เคยเกิด เคยได้ยินได้ฟังมาแล้วแสนกัป ย่อลงมาอีกก็ได้ แต่ปัจจุบันที่ได้อบรมมาแล้ว ทั้งๆ ที่อบรมมาแล้วแสนกัป หรืออาจจะไม่ถึงก็ตาม แต่หลายชาติ ขณะนี้มีความเข้าใจแค่ไหน นี่คือผู้ที่ตรงจริงๆ

    เพราะฉะนั้น พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดงไม่ใช่สิ่งที่ไม่มี พร้อมที่จะให้พิสูจน์ แต่ไม่ใช่ง่าย และต้องเป็นการอบรมความเข้าใจที่ถูกต้องจริงๆ ไม่ใช่เป็นเรื่องทำไม่ได้ ปฏิบัติไม่ได้ เพราะไม่ใช่ให้ทำ ไม่ใช่ให้ปฏิบัติ แต่อบรมความเข้าใจให้เพิ่มขึ้น จนกระทั่งเป็นปัญญาแต่ละขั้น

    ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย ปัญจกนิบาต สุภูตเถรคาถาที่ ๒ ท่านพระสุภูตเถระกล่าวคาถามีข้อความตอนหนึ่งว่า

    … เราถูกหลอกลวงด้วยมติของพวกเดียรถีย์ จึงประกอบในสิ่งไม่ควรประกอบ นั่นไม่ใช่ลักษณะบุญคือไม่ใช่สภาวะแห่งบุญของเรา ท่านแสดงว่า เราหลงเพราะ กรรมเก่า จึงประกอบในสิ่งไม่ควรประกอบ

    การที่ใครมีโอกาสได้ยินได้ฟังพระธรรม ต้องอาศัยกุศลกรรมในอดีตที่ได้สะสม ผันมาให้พบ ได้รับฟังพระธรรมอีก เพราะว่าหลายท่านที่ได้สนทนาด้วยท่านกล่าวว่า ท่านหมุนเจอสถานีวิทยุรายการนี้ โดยที่ไม่มีใครแนะนำเลย

    แสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่อดีตกรรมที่สะสมมาแล้ว คงจะไม่ฟังธรรมทางสถานีวิทยุ หรือถ้าฟังแล้วก็อาจจะไม่สนใจ แต่สำหรับท่านที่มีการสะสมมาแล้ว เมื่อได้ฟังท่านก็สนใจทันที รู้ว่าเป็นสิ่งที่มีจริง สามารถที่จะฟัง พิจารณาศึกษาให้เข้าใจขึ้นได้

    เรื่องของจิต ๑๔ กิจ ยังสนใจอยากจะรู้ปฏิสนธิจิตว่าเป็นมหาวิบากดวงไหน หรือเปล่า หรือปฏิสนธิจิตของแต่ละท่านจะมีอารมณ์อะไร ซึ่งเป็นอารมณ์ของชวนจิตสุดท้ายก่อนจุติจิตของชาติก่อน

    แต่ทุกคนก็ไม่ได้ไปคิดมากเรื่องปฏิสนธิจิต เพราะว่าเกิดขึ้นเพียงขณะเดียว สิ่งที่สำคัญกว่า คือ การรู้ว่าชีวิตแต่ละชาตินั้นสั้นมาก และเป็นไปตามกรรมทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ควรที่จะสะสมปัญญาต่อไป เพื่อให้มหาวิบากญาณสัมปยุตต์เกิด แทนที่จะเป็นจิตดวงอื่น ซึ่งก็เลือกไม่ได้ ใครจะรู้ว่า จุติจิตจะเกิดขณะไหน แต่ที่ ทุกท่านจะทำได้ คือ เป็นผู้ไม่ประมาทในการฟังพระธรรมเพื่อเข้าใจ ข้อสำคัญที่สุด คือ ฟังเพื่อเข้าใจ นี่คือปัญญา ที่จะเป็นการอบรมสะสมจนกว่าปัญญาจะเพิ่มขึ้น ได้จริงๆ แต่อย่าคิดไปทำอย่างอื่นโดยหวังว่า ทำอย่างนั้นแล้วปัญญาจะเกิด

    สำหรับกิจของจิตทั้งหมดมี ๑๔ กิจ และจิตทั้งหมดมี ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวง และจิตทุกดวงที่เกิดขึ้นต้องทำกิจหนึ่งกิจใดใน ๑๔ กิจ

    กิจที่ ๑ คือ ปฏิสนธิกิจ ซึ่งในชาตินี้ที่เกิดมาแล้ว จิตจะเกิดขึ้นทำกิจนี้อีกไม่ได้

    กิจที่ ๒ คือ ภวังคกิจ เป็นจิตที่เกิดขึ้นดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ไว้ ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย เพราะฉะนั้น จิตที่ทำภวังคกิจก็เกิดไปเรื่อยๆ จนกว่าจะตาย ในขณะที่จิตอื่นไม่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ข้อสำคัญที่สุด ต้องทราบเรื่องการเกิดดับอย่างเร็วมากของการรู้อารมณ์ แต่ละวาระ แม้ในขณะนี้เองที่มีการเห็นและการได้ยิน เป็นวาระที่ต่างกัน คือ วิถีจิต ที่เห็นเป็นวาระหนึ่ง วิถีจิตที่ได้ยินเป็นอีกวาระหนึ่ง เพราะฉะนั้น ระหว่างวาระของ วิถีจิตที่เห็นและวาระของวิถีจิตที่ได้ยิน ต้องมีภวังคจิตเกิดคั่น

    สภาพธรรมเป็นอย่างนี้ เป็นจิตตนิยาม ใครจะรู้หรือไม่รู้ว่าขณะนี้มีภวังคจิต เกิดคั่นวิถีจิตแต่ละวาระ ภวังคจิตก็กำลังเกิดคั่นอยู่

    แสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่อาศัยการศึกษาพระธรรม จะไม่มีการเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมว่าเป็นแต่เพียงปรมัตถธรรม เป็นธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นกระทำกิจชั่วขณะ ที่เล็กน้อยสั้นมากและดับไป

    ขณะที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก แต่แม้อย่างนั้นก็มีจิตที่เป็นชาติวิบากประเภทเดียวกับปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้น คือ เป็นภวังคจิต จนกว่าจะมีวิถีจิตวาระหนึ่งวาระใดเกิดขึ้น ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    เมื่อรู้ลักษณะสภาพของภวังคจิตว่า คือ ขณะที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก ชอบภวังคจิตไหม

    หลายคนบอกว่า ชอบนอน ชอบพักผ่อนจริงๆ คือ ไม่เห็นอะไร ไม่ได้ยินอะไร ไม่ต้องคิดนึกอะไรทั้งสิ้น แต่ขณะที่ชอบนั้นก็ไม่ใช่เรา โลภมูลจิตหรือโลภเจตสิกนั่นเองชอบทุกอย่างที่เป็นโลกียะ แม้แต่ภวังคจิต อยากหลับ วันหนึ่งๆ เป็นอย่างนี้หรือเปล่า บางท่านตอนบ่ายรับประทานอาหารเสร็จแล้วก็อยากหลับ แสดงว่าชอบภวังคจิต ชอบสภาพที่พักจริงๆ

    ที่ชื่อว่าพัก เพราะว่าขณะนั้นไม่ต้องเห็นและเดือดร้อนไปคิดนึกกับสิ่งที่ น่าพอใจบ้าง ไม่น่าพอใจบ้างทางตา หรือได้ยินเสียงแล้วก็ต้องคิดนึกไป พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้างกับเสียงที่ได้ยินทางหู เพราะฉะนั้น บางท่านก็เข้าใจว่า ขณะนั้นพักผ่อน ซึ่งจริงๆ แล้วยังคงเป็นจิตที่เกิดขึ้น ทำภวังคจิต แต่เมื่อไม่เห็นจึงสบาย ไม่ต้องได้ยิน ไม่ต้องเดือดร้อนอะไรเลย

    สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา จิตที่ทำภวังคกิจเป็นวิบาก เป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้น จะห้ามได้ไหมที่จะไม่ให้หลับ ถ้าห้ามได้ ก็คือ ห้ามไม่ให้เห็น ห้าม ไม่ให้ได้ยินได้ แต่เพราะวิบากจิตทำภวังคกิจ เพราะฉะนั้น ก็มีกรรมเป็นปัจจัยเป็นเหตุทำให้ภวังคจิตเกิดขึ้นทำกิจดำรงภพชาติในขณะที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน โดยบังคับบัญชาไม่ได้เลย บางคนอยากจะหลับ แต่บังคับได้ไหม



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘๒ ตอนที่ ๑๘๑๑ – ๑๘๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 96
    28 ธ.ค. 2564