แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1757


    ครั้งที่ ๑๗๕๗


    สาระสำคัญ

    รูปนั่งไม่ใช่ปรมัตถธรรม

    อิริยาบถยังปิดบังทุกขลักษณะ

    การเจริญปัญญามี ๓ ขั้น

    สํ. ม. ปฏิปทาสูตร

    ม. อุ. สามคามสูตร - มูลเหตุแห่งความวิวาท ๖ อย่าง

    สังขารธรรม กับสังขารขันธ์


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๓๑


    . อย่างนั้นรูปนั่งก็ถูก

    สุ. ถูกได้อย่างไร รูปนั่งไม่ใช่ปรมัตถธรรมที่มีลักษณะอาการอย่างหนึ่ง อย่างใด รูปแต่ละรูปที่ประชุมรวมกันมีลักษณะเฉพาะของรูปนั้นๆ ซึ่งเป็นแต่ละรูป แต่ละลักษณะ แข็ง มีไหม

    . มี

    สุ. เย็นมีไหม

    . มี

    สุ. ที่กาย กระทบสัมผัสมีอะไรปรากฏ

    . มีแข็ง

    สุ. นั่นคือลักษณะของรูป ถ้าไม่มีแข็ง ไม่มีเย็น ไม่มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม จะมีนั่งไหม

    . ไม่มี

    สุ. ไม่มีเลย เอารูปที่เข้าใจว่ากำลังนั่งอยู่แตกย่อยกระจัดกระจายออก ให้ละเอียด จะมีท่านั่งไหม

    ถ. ไม่มี

    สุ. แต่มีลักษณะที่อ่อน ที่แข็ง ที่ตึง ที่ไหว ที่เย็น ที่ร้อนไหม

    . มี

    สุ. เพราะฉะนั้น สิ่งใดเป็นความจริง เป็นสัจจธรรม เมื่อแตกย่อย กระจัดกระจายไปแล้ว นั่งไม่มี แต่อ่อน แข็ง เย็น ร้อน ตึง ไหวมี

    ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า สิ่งใดเป็นสิ่งที่มีจริง ที่เป็นปรมัตถธรรม ที่ปัญญาจะต้องประจักษ์แจ้ง จึงจะละการยึดถือว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นตัวตนได้

    ตราบใดที่ยังไม่รู้ลักษณะอ่อน แข็ง เย็น ร้อน ตึง ไหวที่กาย จนประจักษ์ การเกิดดับ อิริยาบถก็ยังปิดบังทุกขลักษณะอยู่ เพราะว่ารูปแต่ละลักษณะยังไม่ได้แยกขาดจากกันจึงประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของรูปที่กำลังปรากฏไม่ได้ ต่อเมื่อใดคลายอัตตสัญญา อิริยาบถก็ไม่ได้ปิดบังทุกขลักษณะอีกต่อไป เพราะว่าสติปัฏฐานระลึกตรงลักษณะของรูปทีละรูป ซึ่งพิสูจน์ได้ในขณะนี้ เวลานี้ที่กาย ทุกท่านต้องมีอ่อนหรือแข็งแน่นอน ไม่มีท่านใดที่จะปฏิเสธบอกว่าไม่มี ใช่ไหม

    ในขณะที่ลักษณะอ่อนหรือแข็งกำลังปรากฏนั้น มีอะไรปรากฏอีก

    . ขณะที่อ่อนปรากฏ ก็มีแต่อ่อน

    สุ. ท่านั่งมีไหม

    . ไม่มี

    สุ. ท่านอนมีไหม

    . ไม่มี

    สุ. ท่ายืนมีไหม

    . ไม่มี

    สุ. ท่าเดินมีไหม

    . ไม่มี

    สุ. เพราะฉะนั้น ที่ทรงจำไว้ว่านั่ง หรือทรงจำไว้ว่านอน หรือทรงจำไว้ว่ายืน หรือทรงจำไว้ว่าเดิน คือ อัตตสัญญา ซึ่งไม่มีทางที่จะประจักษ์การเกิดดับของท่าทางนั้นได้เลย แต่ในขณะใดที่อ่อนกำลังปรากฏ เมื่อปัญญาอบรมเจริญขึ้น จะประจักษ์การเกิดดับของรูปอ่อนในขณะนั้น เพราะว่ารูปอ่อนเกิดจึงได้ปรากฏ และรูปอ่อนนั้นเองก็ดับไป เป็นการเพิกอิริยาบถ ไตรลักษณะจึงปรากฏได้ ตราบใดที่ยังประชุมควบคุมรวมกันเป็นท่าเป็นทาง ไม่เพิกอิริยาบถ ไม่สามารถประจักษ์ ไตรลักษณะได้

    กว่าที่จะประจักษ์ไตรลักษณะ ชีวิตประจำวันจริงๆ จากการที่ได้ฟังพระธรรม มานานก็พอที่จะได้พิจารณาว่า มีการละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน บ้างไหม และละคลายขั้นไหน

    ถ้าขั้นการฟัง ทุกคนตอบได้หมดเหมือนกันว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล มีแต่ปรมัตถธรรม มีแต่จิต เจตสิก รูป ขั้นฟัง ขั้นศึกษา ทุกคนกล่าวอย่างนี้ แต่ขั้นพิจารณา เป็นขั้นที่สำคัญด้วยที่จะเกื้อกูลต่อการที่สติปัฏฐานจะเจริญขึ้น เพราะ ถ้าศึกษาพระธรรมโดยไม่พิจารณาในอรรถ เพียงแต่อ่าน เช่น อ่านสติปัฏฐาน กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็คิดว่าจะต้องดูท่าทาง เพราะเป็นอิริยาปถบรรพ ถ้าคิดอย่างนี้หรือเข้าใจอย่างนี้ จะไม่เกื้อกูลต่อการที่ปัญญาจะเจริญขึ้น เพราะว่า ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ

    ไม่ทราบมีท่านผู้ฟังที่ไม่เห็นด้วยบ้างหรือเปล่า หรือคิดว่าจะต้องดูรูปนั่ง รูปนอน รูปยืน รูปเดิน

    ผู้ฟัง ผมอยากเพิ่มเติมว่า การเจริญสติปัฏฐานโดยเฉพาะเรื่องอิริยาบถกับสัมปชัญญบรรพ คนจะเข้าใจตามพยัญชนะ พยัญชนะจะพาไปในทางที่ว่า ให้รู้รูปนั่ง ให้รู้เดิน ให้รู้ยืน ให้รู้นอน ความจริงแล้วยืน เดิน นั่ง นอน ไม่เป็นปรมัตถ์ ไม่เป็นธาตุ ไม่มีธาตุเดิน ไม่มีธาตุยืน ไม่เป็นปรมัตถธรรม ไม่เป็นสัจจธรรม ขณะที่ยืนอยู่อย่างนี้มีอะไรจริง อะไรที่เป็นสัจจธรรม ผมอยากจะย้ำว่า เห็นก็มี สิ่งที่ปรากฏทางตาก็มี ได้ยินก็มี แข็งก็มี เย็นก็มี ร้อนก็มี นี่คือสัจธรรม แต่ยืน เดิน นั่ง นอน ไม่ใช่สัจจธรรม

    สุ. ก็เป็นข้อคิดอย่างหนึ่ง เพื่อท่านผู้ฟังจะได้พิจารณาตามที่ท่านผู้ฟังท่านนี้ได้กล่าว คือ เรื่องของธาตุต่างๆ เช่น ในขณะที่กำลังอยู่นี้ มีเห็น เป็นธาตุชนิดหนึ่ง สภาพธรรมใดที่มีจริง สภาพธรรมนั้นเป็นธาตุแต่ละอย่างๆ เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังเห็น เมื่อเป็นปรมัตถธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็ต้องเป็นธาตุ คือ จักขุวิญญาณธาตุ จิตแต่ละชนิดทรงแสดงไว้ว่าเป็นธาตุแต่ละอย่าง แม้แต่โลภะ ก็ใช้คำว่า โลภธาตุ โทสะก็โทสธาตุ โมหะก็โมหธาตุ แข็งก็เป็นปฐวีธาตุ เย็นก็เป็นเตโชธาตุ เพราะฉะนั้น ปรมัตถธรรมทั้งหมดเป็นธาตุแต่ละอย่าง

    ในพระไตรปิฎกจะไม่มีธาตุยืน ธาตุเดิน ธาตุนั่ง ธาตุนอน แต่ทรงแสดงว่า ในขณะที่กำลังยืนเป็นอาการของธาตุใด ซึ่งไม่พ้นจากมหาภูตรูป

    แสดงให้เห็นว่า การที่จะรู้ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม การที่จะรู้ว่าเป็นแต่เพียงธาตุแต่ละอย่างนั้น ก็เพราะว่าลักษณะของธาตุนั้นๆ มีจริงๆ ปรากฏ ให้ระลึกได้ ให้ประจักษ์แจ้งได้

    ถ. ผมคิดว่าเป็นเรื่องของภาษา บอกว่าดูรูปนั่ง ถ้าถามว่ารูปนั่งนั้น คืออะไร รูปนั่งในพระไตรปิฎกไม่มีแต่อิริยาบถมี เรามาแปลเป็นภาษาไทยว่า รูปนั่ง ซึ่งก็คือท่านั่งนั่นเอง ไม่ใช่รูปปรมัตถ์ ก็ต้องบอกว่าไม่มี เพราะฉะนั้น ดูแล้วไม่มี หรือห้ามว่าไม่ให้ดู เพราะมันไม่มี

    สุ. ขอประทานโทษ ดูอย่างไรจึงจะว่าไม่มี

    . ก็ดูว่ามีแต่รูปกับนาม เมื่อเห็นว่าเป็นรูปเป็นนามแล้ว อิริยาบถบรรพนั้นไม่มี

    สุ. นั่นไม่ใช่ขั้นที่จะเจริญปัญญา เพราะว่าขั้นเจริญปัญญามี ๓ ขั้น คือ สุตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการฟังและเข้าใจเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริง ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นลักษณะของจิตแต่ละประเภท เจตสิกแต่ละประเภท รูปแต่ละประเภท นี่ขั้นฟัง และขั้นพิจารณา คือ บางท่านเวลาที่เกิดโกรธขึ้น ก็บอกว่าโทสะ ขณะนั้นก็เป็นการคิดเรื่องลักษณะของสภาพโทสะ แต่ไม่ใช่สติปัฏฐานที่ระลึกตรงลักษณะอาการของโทสะ

    เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า มีปัญญาอีกขั้นหนึ่ง คือ ขั้นคิดเรื่องชื่อ อย่างถูกต้อง ไม่ใช่ว่าคิดผิด และเวลาที่ฟังจนกระทั่งเข้าใจเรื่องลักษณะของ ปรมัตถธรรม เรื่องนามธรรมและรูปธรรมที่จะเป็นอารมณ์ปรากฏจริงๆ ได้ ทางตา มีรูปหนึ่ง คือ สีต่างๆ ที่ปรากฏ จนกว่าจะรู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา เสียงเป็นอีกรูปหนึ่งที่ปรากฏทางหู กลิ่นเป็นอีกรูปหนึ่งที่ปรากฏทางจมูก รสเป็น อีกรูปหนึ่งที่ปรากฏทางลิ้น และทางกายจะมีรูปปรากฏได้ ๓ รูป คือ เย็นหรือร้อน ๑ รูป อ่อนหรือแข็ง ๑ รูป ตึงหรือไหว ๑ รูป นี่คือการฟังและการพิจารณาจนกระทั่งเข้าใจลักษณะของรูป เมื่อเข้าใจลักษณะของรูปอย่างนี้ ก็มีปัจจัยที่เป็นสังขารขันธ์ ความเข้าใจขั้นการฟังและขั้นพิจารณา ทำให้เกิดระลึกรู้ลักษณะของปรมัตถธรรม

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ดู แต่หมายความว่าสติปัฏฐานเกิดเพราะสังขารขันธ์ มีความเข้าใจ มีปัญญาขั้นฟัง ขั้นพิจารณา เป็นปัจจัยให้เกิดระลึกได้ที่จะรู้ว่า ขณะนี้ที่กาย มีสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมใดกำลังปรากฏ

    ไม่ใช่ให้ไปดูรูปนั่ง แต่สติปัฏฐานจะระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่ฟังแล้วเข้าใจ เพราะฉะนั้น ต้องฟังก่อนและเข้าใจจริงๆ จึงจะเกื้อกูลให้สติปัฏฐานเจริญได้ ถ้าฟังแล้วยังไม่เข้าใจ หรือว่าฟังแล้วเข้าใจผิดจะปฏิบัติต่างๆ โดยไม่ใช่การฟังเรื่องของปรมัตถธรรม สติปัฏฐานจะไม่เกิด

    เพราะฉะนั้น ถ้าจะดู ก็หมายความว่าสติปัฏฐานไม่เกิด เพราะเป็นตัวตนที่จะดู และยังเข้าใจว่า จะดูเพื่อให้รู้ว่าไม่มี เป็นไปไม่ได้

    ที่จะรู้ว่า ไม่มีท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดินซึ่งจะเป็นการเพิกอิริยาบถนั้น ต้องเพราะสติระลึกที่ลักษณะของปรมัตถธรรม จนกระทั่งสามารถรู้การแยกขาดจากกันของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละทวาร จนกระทั่งละคลายการที่เคยยึดถือว่า เรายืน หรือเรานั่ง เรานอน เราเดิน ตั้งแต่เกิด และตลอดมาในอดีตแสนโกฏิกัปป์ที่ สติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

    เพราะฉะนั้น ต้องเป็นการที่สติปัฏฐานเกิดและศึกษาพิจารณาลักษณะของรูปและนามที่ปรากฏทีละเล็กทีละน้อยไปเรื่อยๆ และการละคลายก็คือขณะใดที่เห็น สติปัฏฐานก็ระลึกรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง และรู้ว่า การคิดถึงอาการรูปร่างสัณฐานต่างๆ ทำให้มีความสำคัญหมายว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจึงสามารถรู้สภาพปรมัตถธรรม แต่ละทวารได้ถูกต้อง รู้ว่าแท้ที่จริงแล้วมโนทวารวิถีจิตเกิดจึงทำให้เข้าใจลักษณะของ สิ่งที่ปรากฏโดยอาการสัณฐานต่างๆ ถ้ามโนทวารวิถีจิตไม่เกิด ไม่มีการตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานใดๆ เลย จะไม่มีการสำคัญหมายว่าสิ่งที่กำลังปรากฏทางตานี้ เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    เพราะฉะนั้น ด้วยการที่สามารถรู้ปรมัตถสัจจะและสมมติสัจจะว่า สมมติสัจจะเกิดมีได้เมื่อมโนทวารวิถีจิตตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานของปรมัตถสัจจะ ที่เพียงปรากฏและดับไป นี่เป็นปัญญาที่จะต้องอบรมเจริญโดยถูกต้อง แต่ไม่ใช่โดยการเข้าใจผิดคิดว่า ไปดูจนกระทั่งไม่มี

    . เข้าใจ หมายความว่าสิ่งที่มันไม่มี จะไปดูอย่างไรก็คงไม่มี แต่ผมหมายถึงว่าเวลาที่ผมยืนอยู่ ผมก็กำหนดอย่างที่อาจารย์พูดทุกอย่าง มีสติระลึกถึง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้เป็นสติปัฏฐานก่อน เมื่อเป็นแล้ว ผมจึงมาปฏิเสธว่า จริงๆ แล้ว รูปนั่งไม่มี มีแต่รูปกับนาม

    สุ. ต้องเป็นปัญญาที่รู้ว่า สติเกิด หรือหลงลืมสติ และรู้ด้วยว่าในขณะที่สติเกิดเท่านั้นที่เป็นการอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ ขณะอื่นไม่ใช่

    . ผมหมายถึงว่าขณะที่เราสามารถรู้ตามความเป็นจริงแล้ว เราก็สามารถตอบได้ รูปยืนที่เรากำลังยืนอยู่นี้เราต้องรู้ได้ ถ้าเรารู้ไม่ได้ มีหรือไม่มีเราจะรู้ ได้อย่างไร จะปฏิเสธได้อย่างไรว่ามันไม่มี ...

    สุ. รู้ทางทวารไหน

    . ก็มโนทวาร

    สุ. เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะรู้ว่า ทางตาไม่ใช่มโนทวารวิถี จะต้องเจริญอย่างไร เพราะจริงๆ แล้วต้องแยกมโนทวารออกจากทางปัญจทวารจึงจะปรากฏว่าไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงการคิดที่คิดว่า เห็นคน เห็นสัตว์ เห็นบุคคลต่างๆ หรือคิดว่ากำลังนั่งอยู่ นั่นคือการคิด เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะรู้ตามความเป็นจริง ก็คือสามารถรู้ความต่างกันของทางตากับทางใจ หรือทางหูกับทางใจ ทางจมูกกับทางใจ ทางลิ้นกับทางใจ ทางกายกับทางใจ

    ถ้ากล่าวว่า ถูกต้อง ต้องแสดงหนทางที่ทำให้ปัญญารู้อย่างนี้ได้ คือ ต้อง มีเหตุที่ปัญญาขั้นนี้จะเกิดได้ เพราะยอมรับแล้วใช่ไหมว่า ทางตา จักขุทวารวิถี มีสีที่กำลังปรากฏที่ยังไม่ดับ ซึ่งความจริงแล้วรูปแต่ละรูปเกิดดับเร็วมาก เพราะฉะนั้น ขณะนี้เอง ทางตา สีที่กำลังปรากฏต้องกำลังเกิดดับ แต่เมื่อยังไม่ประจักษ์ เพราะยังไม่รู้ว่ามโนทวารวิถีเกิดต่อ เพราะฉะนั้น การที่ในวันหนึ่งๆ เคยเห็นคน เห็นสัตว์ เคยคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ เคยได้ยินเรื่องนั้นเรื่องนี้ สติปัฏฐานจะต้องเกิดและ ระลึกลักษณะของแต่ละทวารแยกขาดจากกัน เมื่อนั้นจึงจะรู้ว่า โลกของสมมติสัจจะ คือ ทางมโนทวารที่กำลังคิด ซึ่งไม่ใช่ทางปัญจทวาร

    เพราะฉะนั้น ต้องมีเหตุที่จะทำให้ปัญญาขั้นนี้เกิดด้วย ไม่ใช่ปัญญาขั้นนี้ ซึ่งเป็นผลเกิดโดยไม่มีเหตุ

    . ถูกต้อง แต่ที่รูปยืนไม่มี รูปนั่งไม่มี เป็นการคิดหรือเปล่า ที่เราตอบอย่างนี้ เราคิดเอาหรือเปล่า

    สุ. กว่าจะแน่ใจจริงๆ ก็ต่อเมื่อปัญญาประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละทวารแยกขาดจากกัน ซึ่งเป็นการเพิกอิริยาบถ ในขั้นนี้ก็เป็นขั้นฟังและพิจารณา และสติระลึกให้ตรงลักษณะสภาพของปรมัตถธรรม จึงจะประจักษ์ได้ว่า อิริยาบถไม่มี

    ผู้ฟัง ขออนุญาตท่านอาจารย์เรียนถามท่านผู้ถามถึงรูปนั่งว่า ที่ท่านบอกว่าจะดูรูปนั่งว่ามีหรือไม่มี ท่านรู้จักรูปนั่งหรือยังว่าคืออะไร ขอให้ชี้แจงโดยละเอียด

    . ผมถามครั้งแรกคล้ายมี แต่ในที่สุดผมก็ตอบว่า ไม่มี ผมยืนยัน

    สุ. ในที่สุดตอบแล้วว่า ไม่มี

    เรื่องของการเข้าใจข้อปฏิบัติเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะชาติหนึ่งๆ ที่เกิดมา ที่จะมีโอกาสได้ฟังพระธรรมเป็นขณะที่แสนยากในสังสารวัฏฏ์ เพราะว่าบางคน เกิดมามีโอกาสแต่ไม่ฟัง หรือว่าบางคนฟังแล้วไม่มีการสะสมที่จะเห็นประโยชน์ ก็ผ่านเลยไปในแต่ละวัน เพราะฉะนั้น เมื่อมีโอกาสได้ฟังเรื่องของการอบรมเจริญ มรรคมีองค์ ๘ ก็ต้องพิจารณาให้รอบคอบเพื่อปัญญาจะได้เจริญขึ้นอีกในแต่ละชาติ ที่มีโอกาสได้ฟังเรื่องของมรรคมีองค์ ๘

    สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ปฏิปทาสูตรที่ ๒ ข้อ ๖๘ มีข้อความว่า

    สาวัตถีนิทาน

    คือ เรื่องนี้เกิดขึ้นที่พระนครสาวัตถี

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราไม่สรรเสริญมิจฉาปฏิปทาของคฤหัสถ์หรือบรรพชิต คฤหัสถ์หรือบรรพชิตปฏิบัติผิดแล้ว ย่อมไม่ยังญายธรรมอันเป็นกุศลให้สำเร็จ เพราะความปฏิบัติผิดเป็นตัวเหตุ ก็มิจฉาปฏิปทาเป็นไฉน ความเห็นผิด ความดำริผิด วาจาผิด ทำการงานผิด เลี้ยงชีพผิด ความเพียรผิด การระลึกผิด การตั้งมั่นผิด นี้เรียกว่า มิจฉาปฏิปทา

    ถ้าไม่มีความเห็นผิด การปฏิบัติผิด จะไม่ทรงแสดงไว้ เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดงมีประโยชน์เกื้อกูลให้ระลึกพิจารณาให้ถ่องแท้ เพื่อประโยชน์ของตนเองและบุคคลอื่นด้วย มิฉะนั้นแล้วถ้าบุคคลหนึ่งบุคคลใดเข้าใจผิดและชักชวนบุคคลอื่นให้เข้าใจผิดปฏิบัติผิดตามๆ กันไป ผู้นั้นย่อมหมดโอกาสที่จะได้เข้าใจพระธรรม โดยถูกต้อง และย่อมจะไม่เป็นเหตุให้ได้เจริญมรรคมีองค์ ๘

    มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สามคามสูตร ข้อ ๕๔ พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระอานนท์

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อานนท์ ความวิวาทที่เกิดเพราะเหตุอาชีวะอันยิ่งหรือปาติโมกข์ อันยิ่งนั้นเล็กน้อย ส่วนความวิวาทอันเกิดในสงฆ์ที่เกิดเพราะเหตุมรรคหรือปฏิปทา ความวิวาทนั้นมีแต่เพื่อไม่เกื้อกูลแก่ชนมาก ไม่ใช่สุขของชนมาก ไม่ใช่ประโยชน์ของชนมาก เพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ ฯ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๗๖ ตอนที่ ๑๗๕๑ – ๑๗๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 96
    28 ธ.ค. 2564