แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1807


    ครั้งที่ ๑๘๐๗


    สาระสำคัญ

    ความเห็นผิดมีรากฐานจากสักกายทิฏฐิ

    กิจของจิต ปฏิสนธิกิจ และภวังคกิจ

    กุศลวิบากเป็นผลของกุศลกรรม


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๓๑


    ปฏิสนธิจิตจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ถ้ายังมีความยินดีในพระธรรม ก็เป็นการสะสม แม้จากผู้ที่ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย ก็จะทำให้ในชาติต่อไปมีปัญญาเกิด ร่วมด้วยได้ และสำหรับผู้ที่ปฏิสนธิจิตมีปัญญาเกิดร่วมด้วย เมื่อได้อบรมจิตด้วยการฟังพระธรรม ตรึกตรอง และอบรมเจริญปัญญายิ่งขึ้นทุกๆ ชาติไป ย่อมจะทำให้ ชาติหนึ่งจะเหมือนกับรัชชุมาลาได้ หรือเหมือนกับพระอริยะทั้งหลายซึ่งเมื่อได้ฟัง พระธรรมแล้วก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม โดยที่ในชาตินั้นใครจะรู้ว่า บุคคลเช่น รัชชุมาลาก็จะเป็นพระโสดาบันท่านหนึ่ง จากอดีตกรรมที่ทำให้ต้องเกิดเป็นทาสีของนางพราหมณี และถูกประทุษร้ายจนกระทั่งคิดที่จะฆ่าตัวตาย

    . ปกติสัตว์จะเกิดเป็นอะไร ปฏิสนธิจิตด้วยจิตดวงไหน ขึ้นอยู่กับ ชวนวิถีจิตสุดท้าย แต่อสัญญสัตตาพรหมมีแต่รูปขันธ์ จะมีกรรมอะไรนำไปปฏิสนธิ

    สุ. เมื่ออสัญญสัตตาพรหมจุติ มีแต่รูปจุติ แต่อสัญญสัตตาพรหมไม่ใช่ พระอรหันต์แน่นอน เพราะฉะนั้น ก็มีอดีตกรรมที่ได้กระทำแล้วกรรมหนึ่งเป็นปัจจัย ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด แต่ในภูมิที่เป็นอสัญญสัตตาพรหม ไม่มีจิตเจตสิกเกิดเลย จึงมีแต่เพียงรูปจุติ

    . ใครเป็นคนตั้งชื่อให้นางรัชชุมาลา ไพเราะจริงๆ

    สุ. แต่โดยมีเชือกพันรอบศีรษะสำหรับดึง สำหรับเฆี่ยน สำหรับตี ไพเราะไหม

    . ก็ยังไพเราะ และก็ยอม ถ้าเผื่อได้เกิดเป็นนางรัชชุมาลา โดนศอก โดนเข่า โดนหมัด และได้บรรลุ ก็น่าแลก เราเกิดมาในชาตินี้โดนยิ่งกว่านั้นอีก ก็ยังไม่ได้ แม้กระทั่งโดนศัสตรา แต่ไม่ถึงชีวิต ก็ยังไม่ได้อะไร ถ้าให้แลกกับ นางรัชชุมาลาก็ยังเอา

    สุ. หรือว่าไม่โดนก็ยังไม่ได้ ใช่ไหม ไม่ถึงนางรัชชุมาลา ก็ยังไม่ได้

    . ผมยังไม่เข้าใจที่ว่า ความเพียร ความเห็นผิด ความเข้าใจผิด การสะสมหรือการสั่งสม จะพยายามหนีความเห็นที่ถูกต้อง

    สุ. มีไหม เพียรขยันศึกษา แต่ว่าเห็นผิด ยิ่งเพียรก็ยิ่งผิด ไม่อยากจะกล่าวเจาะจงว่าเป็นคำสอนใด แต่คำสอนก็มีมากมาย คำสอนใดก็ตามที่ผิดจากลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ คำสอนนั้นก็ไม่ถูกต้อง

    . จะรู้ได้ไหมว่า ตอนนี้เรากำลังเห็นผิด หรือกำลังเห็นถูก มีอะไรมาช่วยชี้แนะว่า อันนี้ผิด อันนี้ถูก หรือเป็นเพราะอะไรเราจึงเริ่มศึกษาผิด

    สุ. ตราบใดที่ยังไม่ได้ฟังพระธรรม ทุกคนก็จะต้องมีความคิดเห็นต่างๆ บางคนก็คิดเอาเองต่างๆ ว่า ตายแล้วสูญบ้าง หรือตายแล้วเที่ยงบ้าง เป็นต้น แต่เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้วจึงได้ทราบว่า ขณะใดเป็นความเห็นผิดอย่างไร และความเห็นผิดทั้งหมดจะมีรากฐาน มีมูลจากสักกายทิฏฐิ คือ การยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เพราะฉะนั้น ถ้าดับสักกายทิฏฐิได้ จะดับความ เห็นผิดทั้งหมดได้ แต่ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับสักกายทิฏฐิ ก็ยังมีโอกาสที่จะมีปัจจัยทำให้เห็นผิดได้ต่างๆ

    ที่สำคัญควรจะทราบหนทางที่จะอบรมเจริญความเห็นถูก จนกระทั่งสามารถดับความเห็นผิดได้จริงๆ เพราะถ้าเป็นความเห็นผิด จะดับความเห็นผิดไม่ได้ ต้องเป็นความเห็นถูก ความเข้าใจถูกที่เจริญขึ้นๆ จึงจะค่อยๆ ละคลายความเห็นผิด จนกระทั่งในที่สุดก็ดับความเห็นผิดได้เป็นสมุจเฉท ไม่เกิดอีกเลย

    . ผมเพิ่งมาครั้งแรก สักกายทิฏฐิ มีความหมายอย่างไร

    สุ. ขอเชิญท่านผู้รู้บาลีช่วยกรุณาอธิบายด้วย

    สมพร คำว่า สักกายทิฏฐิ มาจาก ส + กาย + ทิฏฐิ หมายความว่า มีความเห็นผิดในกายว่าเป็นของตน หรือมีความเห็นผิดว่าตนมีกาย คล้ายๆ กับว่า กายของเราบังคับบัญชาได้ ท่านจึงเรียกว่า สักกายทิฏฐิ มีความเห็นว่า มีกายของเรา มีกายบังคับบัญชาได้

    สุ. มีไหม สักกายทิฏฐิ คือ ฟังพระธรรมแล้วต้องเข้าใจถึงตัวเองจะเป็นประโยชน์มาก ถ้าได้เข้าใจว่าสักกายทิฏฐิคืออะไรแล้ว มีสักกายทิฏฐิไหม ยังมีอยู่ ยังไม่ได้ดับ

    ถ. ขอบคุณ

    สุ. ขอเรียนให้ทราบว่า เมื่อวานนี้มีผู้โทรศัพท์มาบอกว่า ชอบฟังคำถามที่มีท่านที่ถามในการบรรยายนี้มาก เพราะว่าเป็นประโยชน์ ฉะนั้น ถ้าท่านผู้ฟังมีคำถาม ก็ขอเชิญ เพื่อประโยชน์กับท่านผู้ฟังท่านอื่นด้วย

    . ในสมัยพระพุทธเจ้ากัสสปะ ทาสีคนนั้นถูกทำร้ายมาก ก็ทำกุศลและ ตั้งเจตนาว่า ในชาติต่อไปขอให้ได้เป็นนาย จะได้ลงโทษทัณฑ์บ้าง ผมเข้าใจว่า ในขณะที่ทำกุศลและตั้งเจตนาเป็นนายต่อไปเพื่อจะทำร้าย อาจารย์ช่วยกรุณาขยายความให้ละเอียดสักหน่อย เพราะถ้าทุกคนเข้าใจว่าชาตินี้ถูกนายเล่นงาน ก็จะทำบุญและตั้งเจตนาว่า ชาติต่อไปขอเป็นนายเพื่อจะได้ลงโทษลงทัณฑ์เขาบ้าง

    สุ. ขอประทานโทษ ข้อความในอรรถกถามีว่า นางได้กระทำบุญให้ทาน เป็นต้นตามกำลัง และได้ตั้งความปรารถนาว่า ในอนาคตขอเราพึงเป็นนาย มีความเป็นใหญ่เหนือหญิงนั้น

    ไม่ได้ตั้งใจจะไปประทุษร้ายอะไร แต่ขอให้ได้เป็นนายบ้าง แต่กิเลสที่ยังมี ก็อาจจะทำให้มีความโกรธ ไม่ชอบหน้า และประทุษร้ายด้วยอาการต่างๆ เพราะยังไม่ได้ดับกิเลส

    ต้องแยกผลของกุศลว่า เวลาที่กระทำกุศลแล้ว หญิงนั้นปรารถนาที่จะเป็นนาย แต่ไม่ทราบว่าหญิงนั้นคิดว่าจะไปทำร้ายหรือเปล่า แต่ก็คนละขณะจิต ใช่ไหม

    ขณะนี้ท่านผู้ฟังที่ฟังพระธรรมก็กำลังเป็นกุศลจิต แต่เคยโกรธใครที่คิดอยากจะประทุษร้ายด้วยวาจา หรือด้วยกายบ้างไหม ในขณะที่กำลังฟังพระธรรมก็คงจะไม่มี แต่หลังจากที่ฟังแล้ว มีไหม โกรธ และบางคนก็เคยชินกับการที่จะประทุษร้าย ด้วยวาจา หรือด้วยกาย เป็นปโยควิบัติ เป็นความเพียรทางกายที่ไม่ถูกต้อง เป็นอกุศล

    . ผมยังสงสัยว่า ในขณะที่ทำบุญและตั้งเจตนาว่าจะเป็นนาย ในขณะนั้นจะเป็นกุศลจิตได้ไหม หรือคนละขณะ

    สุ. นี่เป็นความละเอียดมาก ในขณะที่กระทำกุศล ขณะนั้นไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ แต่ขณะที่ปรารถนาผลของกุศล ขอให้ดูว่าความปรารถนานั้นเป็นด้วยกุศลจิตหรืออกุศลจิต ถ้าปรารถนาที่จะได้หมดกิเลส ปรารถนาที่จะไม่ผูกโกรธ ปรารถนาที่จะมีความเมตตากรุณาต่อทุกคนที่กระทำไม่ดีต่อ ขณะนั้นก็เป็นกุศล ไม่ใช่อกุศล ปรารถนาที่จะหมดความวุ่นวายในโลกที่จะต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลทั้งหลายและก็มีแต่ความเดือดเนื้อร้อนใจ ถ้าคิดอย่างนั้นก็เป็นกุศล แต่ถ้าคิดที่จะประทุษร้ายคนอื่น ขณะนั้นต้องเป็นอกุศล

    ขณะที่เป็นกุศล ก็เป็นกุศล ขณะที่ปรารถนา ก็แล้วแต่ว่าความปรารถนานั้นเป็นกุศล หรือความปรารถนานั้นเป็นอกุศล

    ถ้าทำบุญและอยากสวย อยากเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ขณะที่อยากสวย หรืออยากเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เป็นกุศล หรืออกุศล

    . เป็นอกุศล

    สุ. เป็นอกุศล เพราะว่ายังมีกิเลส เพราะฉะนั้น กำลังของกิเลสจะสังเกตได้ว่า แม้กุศลจิตเพิ่งได้กระทำและดับไปใหม่ๆ ยังไม่นานเลย โลภะตามติดทันที คือ หวังผลของกุศลนั้น

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เห็นกุศลเป็นกุศล และเห็นอกุศลเป็นอกุศลตามความเป็นจริง จะเป็นผู้ที่ตรง ขณะใดเป็นกุศลก็รู้ว่าขณะนั้นเป็นกุศล ขณะใดที่เป็นอกุศลก็รู้ว่า ขณะนั้นยังเป็นอกุศลอยู่ ยังไม่ใช่กุศล

    ทุกท่านที่กระทำบุญแล้ว พิจารณาดูว่า ทันทีที่ได้กระทำบุญเสร็จลงไป โลภะสามารถติดตามมาทันที แต่ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด ขณะใดเป็นกุศลก็รู้ว่าขณะนั้น เป็นกุศล และขณะใดที่เป็นอกุศลก็รู้ว่าขณะนั้นเป็นอกุศล ถ้าเป็นผลของกุศล จะไม่ให้ผลเป็นสิ่งที่ไม่ดี เพราะฉะนั้น ถึงแม้ไม่หวังที่จะสวยงาม หรือเกิดในสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์ ไม่ต้องคิดหวัง เหตุได้กระทำแล้ว ผลก็ย่อมเป็นไปตามเหตุ

    ต่อไปนี้จะหวังไหม หรือจะปรารถนา จะขออีกไหม ทันทีที่ได้ทำกุศลไป จะให้โลภะติดตามมาทันทีหรือไม่

    . จิตที่ทำให้ทาสีปรารถนาจะเป็นนาย และได้ไปเกิดเป็นนายจริงๆ ขณะนั้น คงไม่ใช่จิตขณะที่ปรารถนาอยากจะเป็นนายที่ให้ผลเป็นปฏิสนธิจิต คงจะเป็นผลของมหากุศลที่ทำกุศลแล้ว ถูกไหม

    สุ. กุศลวิบากจิตเกิดขึ้นเพราะกุศลกรรม คือ กุศลจิตที่เกิดแล้ว ดับไปแล้วเป็นเหตุ เป็นกรรมปัจจัย

    . แปลว่า มหาวิบากที่ทำให้ปฏิสนธิ ก็เนื่องจากมหากุศลที่นางได้ทำไว้

    สุ. ถูกต้อง

    . แต่ไม่ใช่ตรงที่ปรารถนาเป็นใหญ่ จะได้ทรมานคนอื่นบ้าง

    สุ. ต้องแยกอย่างละเอียดว่า กุศลวิบากเป็นผลของกุศลกรรม อกุศลวิบากเป็นผลของอกุศลกรรม ขณะที่เป็นโลภะ จะให้ผลเป็นกุศลวิบากไม่ได้

    ผู้ฟัง ที่คุณอดิศักดิ์บอกว่า ชื่อรัชชุมาลา ไพเราะ ที่จริงตามศัพท์ รัชชุ แปลว่า เชือก มาลา แปลว่า ระเบียบ หรือทำไว้ เหมือนอย่างพวงมาลาที่ร้อยที่ เอาเชือกมาวนรอบ คงจะหลายรอบ คงจะดูสวยบ้างเหมือนกัน

    สุ. สมัยนี้ก็ยังคงเป็นสมัยนิยมอยู่ ไม่ล้าสมัย ความสวย ไม่ว่าสมัยก่อน สมัยนี้ สมัยหน้า ก็คงจะพอใจเช่นเดียวกัน

    ผู้ฟัง แต่ปฏิสนธิจิตของนางรัชชุมาลา ต้องเป็นมหาวิบากญาณสัมปยุตต์ เพราะว่าตอนหลังได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน ส่วนหญิงที่เมื่อก่อนเป็นทาสีและมาเป็นนายในชาติปัจจุบัน ได้แค่เลื่อมใสในพระรัตนตรัยเท่านั้นเอง

    สุ. ถ้าพิจารณาชีวิตเปรียบเทียบกับชีวิตของรัชชุมาลา ซึ่งปฏิสนธิจิต เป็นมหาวิบากญาณสัมปยุตต์ จึงสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ พิจารณาดู ขณะปฏิสนธิจิตเกิด มหาวิบากญาณสัมปยุตต์ทำกิจปฏิสนธิแล้วดับ และกรรมที่จะทำให้ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้นสืบต่อไป ทำให้จิตที่เกิดสืบต่อเป็นมหาวิบากจิตประเภทเดียวกับปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นทำภวังคกิจ

    ถ้าได้ยินคำว่า ปฏิสนธิ ให้ทราบว่าเป็นกิจของจิต ถ้าได้ยินคำว่า ภวังค์ ให้ทราบว่าเป็นกิจของจิต เมื่อจิตมีถึง ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวง ก็ควรที่จะได้ทราบว่า จิตใดทำกิจปฏิสนธิ และจิตใดทำภวังคกิจ

    สำหรับปฏิสนธิจิตต้องเป็นวิบากจิต ถ้าเป็นการเกิดเป็นมนุษย์ซึ่งไม่พิการ ก็ต้องเป็นมหาวิบากดวงหนึ่งดวงใดใน ๘ ดวง ซึ่งเมื่อดับไปแล้ว กรรมนั้นที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด ก็ทำให้จิตที่เกิดสืบต่อเป็นจิตประเภทเดียวกับปฏิสนธิจิต เพราะฉะนั้น จึงเป็นมหาวิบากจิต

    สำหรับรัชชุมาลา ปฏิสนธิจิตเป็นมหาวิบากญาณสัมปยุตต์ดับไป ภวังคจิต ก็เป็นมหาวิบากญาณสัมปยุตต์ประเภทเดียวกับปฏิสนธิจิตนั่นเอง นี่ถึงกิจที่ ๒ คือ ภวังคกิจ

    . การทำบุญที่ท่านอาจารย์บอกว่า เป็นกิเลส โดยมีโลภะเข้ามาร่วม จะไม่ขัดกับความปรารถนากับอธิษฐานบารมี ๑๐ ทัส อะไรแบบนี้หรือ

    สุ. บารมีไม่มีเรื่องเกี่ยวกับความสวยความงาม หรือสวรรค์ชั้นหนึ่งชั้นใดทั้งสิ้น และไม่ใช่มาร่วมกัน คนละขณะ ขณะที่เป็นกุศล ขณะนั้นไม่มีโลภะ โทสะ โมหะเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นจะมีอโลภะ อโทสะ ซึ่งเป็นโสภณสาธารณเจตสิก เกิดร่วมกับโสภณเจตสิกอื่นๆ แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะมีอโมหะหรือปัญญาเจตสิกเกิด ร่วมด้วยไหม

    เพราะฉะนั้น ขณะนั้นที่เป็นกุศล จะไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลย แต่ทันทีที่กุศลจิตดับ วิถีจิตทางหนึ่งทางใดไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ เมื่อกุศลชวนะดับแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่น หลังจากนั้น วิถีวาระต่อไปจะเป็นอกุศลชวนะที่ปรารถนาสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่ไม่เป็นไปในกุศล เช่น ปรารถนาที่จะเป็นคนสวย หรือปรารถนาที่จะเกิดในสวรรค์ชั้นต่างๆ ขณะนั้นเป็นกุศลได้ไหม ที่อยากจะเกิดที่นั่นที่นี่

    . เป็นโลภะแน่นอน

    สุ. เพราะฉะนั้น ขณะที่ทำกุศลเป็นขณะหนึ่ง ขณะที่เป็นกุศลจิต เป็นวาระหนึ่ง และขณะที่เป็นอกุศลจิตหลังกุศลนั้นเป็นอีกวาระหนึ่ง เกิดพร้อมกันไม่ได้

    . เป็นความไวของจิต

    สุ. ถูกต้อง เพราะฉะนั้น เรื่องของรัชชุมาลาก็ทำให้ระลึกได้ทันทีที่ทำกุศลว่า เมื่อกุศลจิตดับแล้ว วาระต่อไป ใครจะมีอกุศลชวนะเกิดติดตามมาหรือไม่ อยากจะได้อะไรซึ่งเป็นผลของกุศลนั้นหรือเปล่า



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘๑ ตอนที่ ๑๘๐๑ – ๑๘๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 96
    28 ธ.ค. 2564