แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1800


    ครั้งที่ ๑๘๐๐


    สาระสำคัญ

    มโนทวารวิถีจิตมีชวนวิถีประเภทเดียวกับทางปัญจทวารวิถี มโทวารวิถีจิตเกิดสืบต่อจากทางปัญจทวารวิถี

    ลักษณะของจิต ในชีวิตประจำวัน

    จิตใดเกิดขึ้นทำกิจใดใน ๑๔ กิจ (ไม่ใช่เรา)

    จิตที่ทำกิจปฏิสนธิมี ๑๙ ดวง


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๓๑


    . จากการฟังเรื่องวิถีจิต มีอยู่วันหนึ่งก็ไปพิจารณา ขณะที่นั่งอยู่กับเพื่อน ใต้เก้าอี้ก็มีกระโถนคว่ำอยู่ ปลายเท้าก็ไปถูกกระโถนดัง เพื่อนที่นั่งอยู่ด้วยก็หัน หาว่าเสียงนั้นเป็นเสียงอะไร และก็คิดถึงเสียงนั้นอยู่สักพักหนึ่ง ไม่พอใจที่ไม่รู้ว่า เสียงอะไร ทั้งโลภะ ทั้งโทสะทำให้คิด นิ่งอยู่สักพักหนึ่ง แสดงว่าแม้ลักษณะความหมายของเสียงยังไม่มีก็ติดได้ และก็คิดไปอีก ไม่รู้ว่าเสียงอะไร ก็ลองขยับดู อีกครั้งหนึ่ง เพื่อนก็งงว่า เสียงอะไรกันแน่ จนครั้งที่ ๓ จึงรู้ว่าเสียงกระโถนนี่เอง

    วิถีจิตเกิดมากมาย และสลับกันจริงๆ ปัญจทวารก็มี มโนทวารที่คิดนึก ถึงเรื่องอะไรต่ออะไรมากมายก็มี คิดว่าการฟังเรื่องวิถีจิตได้ประโยชน์ ทำให้เข้าใจได้ว่า โลภะโทสะนั้นจะเกิดหลังจากปัญจทวารวิถีเกิดขึ้นชั่วเล็กน้อย ชั่วขณะ และเรื่องที่คิด ก็ตามมามากมาย

    สุ. เวลาที่จิตเป็นจักขุทวารวิถีจิต ขณะนั้นมีโลภะ โทสะ โมหะแล้ว หลังจากที่โวฏฐัพพนจิตดับไป ชวนจิตเกิดต่อ ขณะนั้นแม้ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไรก็มีความพอใจในสิ่งที่ปรากฏทั้งทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกายแล้ว

    . ขณะที่ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไรก็ติดแล้ว ยังไม่รู้ว่าเสียงอะไร ก็หันไปหาเสียงแล้ว ใช่ไหม

    สุ. โดยการศึกษาทราบว่า หลังจากปัญจทวารวิถีจิตดับไปหมดแล้ว ภวังคจิตเกิด และมโนทวารวิถีจิตจะเกิดสืบต่อจากทางปัญจทวารวิถี ถ้าทาง ปัญจทวารวิถีเป็นโลภมูลจิตยินดีพอใจในเสียงแม้ยังไม่รู้ว่าเสียงอะไร เวลาที่ชวนวิถีจิตทางปัญจทวารทางหนึ่งทางใดดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว มโนทวารวิถีจิตจะนึกถึงด้วยโลภะชวนะเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ชวนวิถีจิตจะเกิดคู่กัน หมายความว่า เมื่อชวนวิถีทางปัญจทวารวิถีประเภทหนึ่งประเภทใดดับแล้ว ภวังคจิตคั่นแล้ว มโนทวารวิถีจิตจะเกิด โดยมีชวนวิถีประเภทเดียวกับทางปัญจทวารนั่นเองเกิดทาง มโนทวารอีกครั้งหนึ่ง เป็น ๒ วาระ

    . ชวนวิถีจิตที่เกิดทางปัญจทวาร และวิถีจิตที่เกิดทางมโนทวารวาระแรกต้องมีอารมณ์อย่างเดียวกัน

    สุ. มีอารมณ์อย่างเดียวกับปัญจทวารวิถีจิต และสำหรับมโนทวารวิถีจิต มีแต่มโนทวาราวัชชนจิตและชวนจิตซึ่งเป็นกุศลหรืออกุศล ไม่มีจักขุวิญญาณ ไม่มีสัมปฏิจฉันนะ ไม่มีสันตีรณะ ไม่มีโวฏฐัพพนะ แต่มีอาวัชชนกิจและชวนะเลย เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ทางมโนทวารมีชวนะประเภทเดียวกับชวนะที่เกิดแล้วทางปัญจทวารวิถีซ้ำอีกครั้งหนึ่ง

    . ถ้าทางปัญจทวารเป็นโลภชวนะ มโนทวารก็เป็นโลภชวนะด้วย

    สุ. ถูกต้อง

    . แต่เป็นเฉพาะขณะแรกเท่านั้น ใช่ไหม

    สุ. วาระแรกเท่านั้น

    . วาระต่อไปอาจจะเป็นกุศลได้

    สุ. เปลี่ยนได้ เพราะว่าบางคนเห็นบางสิ่งบางอย่างแล้วไม่พอใจ ขณะที่เห็นนั้นเป็นโทสมูลจิต และมโนทวารวิถีจิตวาระที่เกิดสืบต่อจากปัญจทวารวิถีจิต ก็ยังเป็นโทสมูลจิตนั่นเอง แต่เมื่อเป็นวาระหลังๆ สติอาจจะเกิดและเห็นว่าไม่ควรที่จะเป็นโทสะ ขณะนั้นชวนวิถีจิตเป็นมหากุศลได้

    เพราะฉะนั้น เวลาที่แต่ละท่านคิดนึกตรึกตรองหลังจากที่ได้ยินเสียงที่ไม่พอใจ ครั้งแรกโกรธ และเมื่อคิดไปคิดมาก็เห็นว่า ความโกรธนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควร เป็นอกุศล มโนทวารวิถีจิตซึ่งเกิดหลังจากที่รู้ว่าความโกรธเป็นสิ่งที่ไม่ควร ขณะนั้นก็เป็นมหากุศลได้ คือ ถึงแม้จะเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ มโนทวารวิถีจิตวาระหลังๆ ก็เป็นกุศลได้ หรือ ผู้ที่มีปัญญาสะสมมามาก มหากุศลจิตก็ยังเกิดได้ โดยเฉพาะผู้ที่กำลังเจริญ สติปัฏฐาน สามารถรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ทางปัญจทวารวิถีก็เป็นกุศล ทางมโนทวารวิถี ก็เป็นกุศล

    วันหนึ่งๆ แล้วแต่ว่าปัญญาของใครจะเกิดมาก ถ้าปัญญาน้อย ทันทีที่เห็น สิ่งที่ไม่น่าพอใจ ชวนจิตที่เป็นอกุศลก็ต้องเกิดวาระหนึ่งแน่ๆ ทางปัญจทวาร และเมื่อภวังคจิตคั่นแล้วมโนทวารวิถีจิตซึ่งรับรู้อารมณ์นั้นต่อก็ต้องเป็นอกุศลชวนะแน่ๆ จนกว่าวาระหลังๆ จะได้คิด หรือสติเกิด ก็เปลี่ยนเป็นกุศลจิตได้ในภายหลัง

    . ที่ว่าวิถีทางปัญจทวารเมื่อครบวาระแล้ว ทางมโนทวารวิถีก็รับอารมณ์ต่อไป รู้สึกว่า วิถีทางปัญจทวารน่าจะสมบูรณ์แล้ว คือ เมื่อถึงชวนจิตแล้ว ก็ตทาลัมพนะ มีการเสพอารมณ์ แล่นไป รู้สึกว่าสมบูรณ์แล้ว ทำไมต้องมีทาง มโนทวารสืบต่อด้วย

    สุ. เพราะว่าทางปัญจทวารวิถี เวลาที่อารมณ์ปรากฏและเกิดโลภะโดยที่ ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร อย่างเช่น เสียงกระทบกับโสตปสาท ปัญจทวาราวัชชนจิตนึกถึงเสียงที่กระทบ โสตวิญญาณเกิดต่อได้ยิน สัมปฏิจฉันนจิตรับต่อ เมื่อสัมปฏิจฉันนจิตดับแล้ว สันตีรณจิตเกิดต่อ โดยเป็นจิตตนิยาม ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อสันตีรณจิตดับแล้ว โวฏฐัพพนจิตเกิดต่อ เมื่อดับแล้ว ชวนจิต ชอบไม่ชอบในเสียง โดยยังไม่ได้เข้าใจความหมายอะไรเลย แต่เวลาที่ได้ยินเสียงทุกคนรู้สึกเหมือนกับว่า ได้ยินคำ ยังไม่ได้แยกเสียงกับสภาพที่กำลังรู้ความหมายของเสียงที่สูงต่ำ

    เพราะฉะนั้น สำหรับทางโสตทวารวิถี เป็นความพอใจ เป็นโลภมูลจิต หรือเป็นความไม่พอใจ เป็นโทสมูลจิตในเสียงที่ยังไม่ดับ โดยที่ยังไม่รู้ความหมาย และเมื่อโสตทวารวิถีจิตดับแล้ว จิตตนิยามอีกเช่นกันที่ทำให้ภวังค์เกิดคั่น และโดยจิตตนิยามนั่นเองทำให้มโนทวาราวัชชนจิตนึกถึงเสียงซึ่งทางโสตทวารวิถีรับรู้และดับไป

    ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงได้เลย เป็นกระแสการเกิดดับของจิตในวันหนึ่งๆ หรือว่าในสังสารวัฏฏ์ที่จะต้องเป็นไปอย่างนี้

    มีใครจะยับยั้งไม่ให้จักขุวิญญาณเกิดได้ไหม

    ถ้าศึกษาปรมัตถธรรมจะรู้ได้ว่า ไม่มีใครจะยับยั้งจิตสักดวงเดียว แม้แต่ภวังคจิตซึ่งเกิด ถ้าง่วงและอยากจะหลับ ก็หลับ บังคับไม่ได้ ทั้งๆ ที่บางครั้งง่วง ไม่อยากหลับ แต่ก็หลับแล้ว เป็นภวังค์แล้ว แสดงให้เห็นว่า ไม่มีการที่จะไปเปลี่ยนแปลงเหตุปัจจัยที่จะทำให้จิตแต่ละขณะเกิดขึ้นเลย

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า เมื่อปัญจทวารวิถีจิตซึ่งรู้รูปที่กระทบทวารหนึ่งทวารใดดับไปหมดแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว มโนทวารวิถีจิตจะเกิดขึ้นรับรู้รูปนั้น ต่อจากปัญจทวารวิถีทางหนึ่งทางใดทุกครั้ง นอกจากขณะจะจุติเท่านั้นเอง ซึ่งเราจะไม่พูดถึงขณะนั้น แต่จะพูดถึงชีวิตประจำวันจริงๆ ให้รู้ว่า เสียงที่ปรากฏเล็กน้อย สั้นมาก หลังจากนั้นมโนทวารวิถีจิตเกิดหลายวาระ คิดแล้วคิดอีกเรื่องคำพูดที่ได้ยิน ด้วยสัญญาความจำในเสียง ในความหมายของคำนั้น แสดงให้เห็นว่า มโนทวารวิถีจิตในวันหนึ่งๆ เกิดมาก

    เพราะฉะนั้น จะเห็นความสำคัญของมโนทวารวิถีจิตว่า ทางปัญจทวารวิถีจิตเพียงรู้รูปที่ยังไม่ดับ เมื่อรูปดับไปแล้ว ปัญจทวารวิถีจิตจะเกิดไม่ได้เลย แต่ มโนทวารวิถีจิตเกิดได้ นึกถึงอารมณ์ได้ทุกอย่าง เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้างกับอารมณ์ที่ได้ประสบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

    โลภมูลจิตเกิดได้ทางจักขุทวารวิถี และทางมโนทวารวิถีด้วย โทสมูลจิตเกิดได้ทางจักขุทวารวิถี และทางมโนทวารวิถีด้วย เช่นเดียวกับทางหู โลภมูลจิตเกิด ทางโสตทวารวิถีได้ และโลภมูลจิตก็เกิดทางมโนทวารวิถีด้วย แต่ต้องแยกกัน จิตแต่ละทางจะไม่ปนกันเลย จิตใดรู้อารมณ์ทางไหนก็รู้อารมณ์ทางนั้นและดับ ไม่ใช่ว่ามโนทวารวิถีจิตจะไปรู้อารมณ์ทางปัญจทวารวิถี หรือไม่ใช่ว่าปัญจทวารวิถี จะมารู้อารมณ์ทางมโนทวารวิถี

    แม้ว่าเป็นโลภมูลจิต แต่โลภมูลจิตนั้นอาศัยตาเกิดขึ้นและรู้รูปที่ยังไม่ดับ ก็ต้องเป็นจักขุทวารวิถี ส่วนโลภมูลจิตขณะใดที่ไม่อาศัยตาเกิดขึ้นรู้สีที่ยังไม่ดับ โลภมูลจิตขณะนั้นก็ต้องเป็นมโนทวารวิถีจิต

    โลภมูลจิตขณะใดเกิดขึ้นชอบเสียงที่กำลังปรากฏ เป็นโสตทวารวิถีจิต ดับแล้ว และโลภมูลจิตที่นึกชอบในเสียงที่ทางโสตทวารวิถีจิตรู้และดับแล้ว โลภมูลจิตที่นึกชอบต่อจากโสตทวารวิถีจิต ขณะนั้นโลภมูลจิตนั้นเป็นมโนทวารวิถีจิต

    สำหรับการทบทวนที่จะให้เข้าใจลักษณะของจิตซึ่งเป็นไปในวันหนึ่งๆ ก็ควร ที่จะได้ทราบว่า เมื่อจิตทั้งหมดมีถึง ๘๙ หรือ ๑๒๑ ประเภท แต่กิจทั้งหมดของจิต มีเพียง ๑๔ กิจเท่านั้น และในแต่ละกิจ จิตใดทำกิจนั้นๆ บ้าง หรือจิตใดเกิดขึ้น ทำกิจใดใน ๑๔ กิจ มิฉะนั้นจะไม่รู้จักตัวเองเลยว่า ขณะนี้เป็นจิตอะไร ทางทวารไหน ไม่ใช่เราอย่างไร และจะไม่รู้ว่าเกิดมาทำอะไรกัน แต่จริงๆ แล้วเกิดมาทำกิจการงานตามทวารต่างๆ นั่นเอง บังคับไม่ให้ทำก็ไม่ได้ เพราะไม่ใช่เรา แต่เป็นจิตที่เกิดขึ้น ทำกิจการงานนั้นๆ

    สำหรับกิจที่ ๑ ปฏิสนธิกิจ จิตที่ทำกิจนี้เป็นวิบากจิต คือ เป็นจิตที่เป็นผลของกรรมหนึ่งทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม จิตที่ทำกิจปฏิสนธิ ต้องเป็นอกุศลวิบากจิต และถ้าเป็นผลของกุศลกรรม จิตที่ทำกิจปฏิสนธิต้องเป็น กุศลวิบากจิต แต่จิตที่ทำปฏิสนธิกิจทั้งหมดมี ๑๙ ดวง ไม่ใช่มีเพียง ๒ ดวง ซึ่งจิตที่ทำกิจปฏิสนธิ ๑๙ ดวง เป็นอกุศลวิบากเพียง ๑ ดวงเท่านั้น อีก ๑๘ ดวง เป็นกุศลวิบาก

    คิดถึงการเกิดขึ้นในโลก ในจักรวาล ไม่ว่าจะเป็นภพภูมิไหนที่เป็นภูมิต่ำ ภูมิใหญ่ ภูมิเล็ก ภูมิน้อย ในอบายภูมิ เป็นสัตว์ดิรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นพรหม เป็นอรูปพรหม ทั้งหมดนี่จิตที่ทำกิจปฏิสนธิ จะมี ๑๙ ดวง แต่เป็นอกุศลวิบาก เป็นผลของอกุศลกรรมเพียง ๑ ดวงเท่านั้น

    สำหรับอกุศลวิบากที่ทำกิจปฏิสนธิ จะทำให้เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ๑ หรือ เป็นเปรต ๑ เป็นอสุรกาย ๑ และเกิดในนรก ๑

    ถ้าพูดเรื่องปฏิสนธิกิจ ทุกท่านก็รู้สึกว่าผ่านมาแล้ว ไม่น่าจะสนใจ เพราะว่าเสร็จแล้ว หมดแล้ว หลายปีแล้ว แต่อย่าลืมว่ากำลังจะเกิดอีกข้างหน้า น่าสนใจไหม

    ปฏิสนธิจิตในสังสารวัฏฏ์จะไม่หยุดเลยตราบใดที่ยังมีกรรม และทุกคนมี ทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม จึงน่าที่จะได้ไตร่ตรอง สังวร พิจารณาดูถึงปฏิสนธิจิต ในภพต่อไปว่า กรรมใดจะทำให้เกิดในภพภูมิใด แม้ไม่สามารถจะรู้ได้ แต่เพราะ ไม่สามารถจะรู้ได้ จึงเป็นผู้ที่ไม่ประมาทในการเจริญกุศล เพราะถ้าประมาท และทำอกุศลกรรมอยู่เรื่อยๆ ก็ย่อมจะเป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิจิตของชาติหน้า หลังจุติจิตของชาตินี้เป็นอกุศลวิบาก คือ เป็นผลของอกุศลกรรมซึ่งจะทำให้เกิดในนรก หรือเกิดเป็นเปรต เกิดเป็นอสุรกาย เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน

    น่าสนใจไหม ปฏิสนธิจิต เมื่อไรก็ไม่ทราบ วันไหนก็ไม่ทราบ อาจจะเป็นขณะนี้ หรือเย็นนี้ หรือพรุ่งนี้ หรือปีต่อไปก็เป็นได้

    เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้ทราบว่า สำหรับอกุศลวิบากที่ทำกิจปฏิสนธิ คือ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก กรรมทั้งหลายที่ได้กระทำไปไม่ว่าจะเป็นกายกรรมก็ตาม วจีกรรมก็ตาม กรรมหนักก็ตาม หรือกรรมเบาเพียงเล็กๆ น้อยก็ตาม กรรมเหล่านั้นทั้งหมดเวลาให้ผล จะทำให้อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากเกิดในภูมิหนึ่งภูมิใด ที่เป็นอบายภูมิ และทุกคนก็ยังระลึกถึงอกุศลกรรมของตนเองได้ว่า มี แม้ในชาตินี้ แต่การที่ปฏิสนธิจิตจะเกิดในชาติหน้านั้น ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นเฉพาะผลของกรรม ในชาตินี้ชาติเดียว แม้กรรมในอดีตอนันตชาติที่ได้กระทำแล้วก็ยังมีโอกาสที่จะเป็น ชนกกรรม ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นหลังจากจุติจิตของชาตินี้ดับลง

    สำหรับอีก ๑๘ ดวง เป็นกุศลวิบากทั้งหมด ซึ่งก็คงจะทราบว่า แบ่งออกเป็นภูมิๆ คือ เป็นกามาวจรวิบาก เป็นผลของกุศลกรรมที่เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งเรากระทำกันอยู่ ฉะนั้น การกระทำบุญกุศลของเราใน ปัจจุบันชาติ ก็ต้องเป็นไปกับรูปบ้าง เสียงบ้าง กลิ่นบ้าง รสบ้าง โผฏฐัพพะบ้าง และเวลาที่ให้ผล ก็ให้ผลทำให้กุศลวิบากจิตเกิดขึ้นในกามภูมิที่เป็นสุคติภูมิ

    สำหรับจิตที่ทำให้ปฏิสนธิในกามสุคติภูมิ มีทั้งหมด ๙ ดวง คือ เป็น กุศลวิบากอย่างอ่อนๆ ให้ผลทำให้อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากเกิดขึ้นในภูมิมนุษย์ หรือในสวรรค์ชั้นต้น แต่เป็นผู้ที่ไม่ประกอบด้วยความสมบูรณ์พร้อมทางกาย เช่น อาจจะพิการ หรือทางใจอาจจะเป็นผู้ที่บ้า หรือสติปัญญาอ่อน นี่ก็เป็นผลของกุศลกรรมอย่างอ่อน

    แต่ถ้าเป็นผลของกุศลกรรมที่มีกำลังขึ้น ก็ยังต้องแยกออกเป็น ๒ ประเภท ว่าเป็นผลของกุศลกรรมที่ประกอบด้วยปัญญา หรือไม่ประกอบด้วยปัญญา ถ้าเป็นกุศลกรรมที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา เช่น การให้ทาน หรือในขณะนั้นไม่ได้ศึกษา พระธรรม ไม่ใช่การเข้าใจพระธรรม ไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา ก็จะทำให้มหาวิบากทำกิจปฏิสนธิ แต่เป็นมหาวิบากประเภทที่ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้น เป็นชีวิตที่แต่ละท่านพอจะเลือกอบรมได้ว่า ต้องการปฏิสนธิ ชนิดไหน ถ้าต้องการปฏิสนธิที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ชาตินั้นทั้งชาติก็จะไม่มี ความสนใจในพระธรรมอย่างที่ถึงขั้นสามารถจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘๐ ตอนที่ ๑๗๙๑ – ๑๘๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 96
    28 ธ.ค. 2564