แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1197


    ครั้งที่ ๑๑๙๗


    สาระสำคัญ

    พระพุทธวจนะมีคุณค่าสุดที่จะเปรียบ

    บารมี ๑๐ (กุศลทั้งหลายที่บำเพ็ญเพื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรม)

    ปัญญาขั้นการฟัง เป็นขั้นเริ่มต้น

    สงบ หมายความว่าขณะที่เป็นกุศล (ขณะนั้นไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ)

    สมถะและวิปัสสนาต่างกันอย่างไร


    ที่โรงแรมเวียงแก้ว จ. เชียงใหม่

    วันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๒๕


    . เวลาของเราที่เข้ามาฟังมีน้อย ซึ่งทุกคนก็สนใจและศึกษากันมาบ้างแล้ว ขออาจารย์ให้ข้อคิดอะไรเล็กๆ น้อยๆ ให้แต่ละคนเอาไปปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น โดยใช้เวลาเพียงเล็กน้อยสั้นๆ ถ้าจะพูดกันยาว ก็คงไม่จบ

    สุ. ความเป็นปุถุชนของเรา กี่แสนโกฏิกัปป์มาแล้ว สภาพของความเป็นปุถุชนนี้ แม้สภาพธรรมกำลังปรากฏทางตาชัดๆ อย่างนี้ ทางหูอย่างนี้ ก็ไม่ได้รู้เลยว่าไม่ใช่ตัวตน กี่ภพ กี่ชาติ กี่แสนโกฏิกัปป์มาแล้ว เพราะฉะนั้น การที่เราจะให้มีสิ่ง นิดเดียวมาทำให้เรารู้ชัด แม้แต่พระผู้มีพระภาคเอง ก็ไม่ทรงสามารถช่วยให้คนที่ไม่ใช่อุคฆฏิตัญญูบุคคลสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมทันทีที่จบเทศนา นี่เป็นเหตุที่ทรงแสดงธรรมโดยละเอียดถึง ๔๕ พรรษา ละเอียดอย่างมากที่จะช่วยเกื้อกูลผู้ที่ไม่สามารถจะรู้แจ้งสภาพธรรมโดยเร็วให้พิจารณาแล้วให้พิจารณาอีก ให้ฟังแล้วให้ฟังอีก ให้อ่านแล้วให้อ่านอีก ไม่มีวันจบตลอดชีวิต แม้ว่าดิฉันจะได้ศึกษามาหลายสิบปี ดิฉันขอเรียนให้ทราบว่า ไม่จบ จนตาย

    เพราะฉะนั้น ถ้าใครต้องการสั้นๆ เดี๋ยวนี้ก็สั้นพอแล้ว พอหรือยัง

    . มีคำหนึ่งผมสนใจ คือ อาจารย์พูดว่า ธรรมของพระผู้มีพระภาคเปรียบเหมือนทหารที่ยิงไวและยิงไกลให้ถูกเป้าหมาย ขอให้อธิบายคำนี้

    สุ. ไม่ต้องมีลูกศร แต่มีสติและปัญญา ที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทางตากำลังเห็นนี้ ใกล้หรือไกล ไม่ต้องเดินออกไปก่อนจึงจะเห็น ใช่ไหม กำลังเห็นอยู่นี่ ยิงให้ถูก ถ้ายิงถูกก็รู้ว่า ขณะนี้สภาพธรรมกำลังเกิดดับ จึงต้องยิงไว ไม่อย่างนั้นก็ไม่สามารถจะประจักษ์สักที

    ยิงไว คือ สติสามารถระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทุกอย่างที่กำลังเกิดดับตามความเป็นจริง ต้องตามความเป็นจริงด้วย ซึ่งถ้าตามความเป็นจริงแล้ว อายุของสังขารสั้นที่สุด ไม่ได้ยาวพอที่จะต่อเป็นคนกำลังนั่ง เพราะว่าโลกของทางตาเพียง แต่เห็น ดับไปก่อนที่โลกได้ยินเสียงจะเกิดขึ้น แต่เวลานี้ไม่เร็ว ไม่ได้ยิงด้วย ยังไม่ขาดออกเป็นตอนๆ เป็นโลกๆ เป็นส่วนๆ ที่จะประจักษ์ว่า อายุของสังขารนี้สั้นมาก ทันทีที่เกิด ก็ดับ ดับไปแล้ว

    . ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีใกล้จะตาย มีความเสียใจที่ไม่ได้ฟังพระธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่กลับได้ยินท่านพระอานนท์กับท่านพระสารีบุตรมาเทศนาให้ฟัง ในที่สุดก็ร้องไห้น้อยใจ และตายไป ยังได้ไปเกิดในชั้นดุสิต ไม่ฟัง พระธรรมจากพระโอษฐ์ เพียงแต่ได้ฟังจากท่านพระสารีบุตรและท่านพระอานนท์เท่านั้น คนเราสมัยนี้สามารถที่จะฟังและเข้าใจให้ถึงแก่นอย่างนี้ได้ไหม จะเป็นอย่างท่านอนาถบิณฑิกะได้ไหม

    สุ. ชาตินี้ยังไม่ได้ อีกแสนกัปคงจะได้

    . ถ้าอย่างนั้น ก็ทำบุญทำทานไปเรื่อยๆ เถอะ

    สุ. ความจริงท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค และเมื่อได้ฟังพระธรรมจบ ก็บรรลุเป็นพระโสดาบันบุคคล

    คำว่า บารมี ไม่ควรเป็นเพียงคำที่ชินหู แต่ควรจะเป็นการเข้าใจจริงๆ ว่า หมายความว่าอย่างไร

    เวลานี้ใครอยากจะดับกิเลสบ้าง เพราะบางคนที่ไม่อยากหมดกิเลสก็มี ถูกไหม ต้องเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ ว่า ใครอยากจะหมดกิเลส และใครยังไม่อยากหมดกิเลส

    . โลภะยังมี

    สุ. โลภะยังมี ก็ยังไม่อยากให้หมดกิเลสวันนี้ แต่ถ้ากิเลสหมดได้ จะเป็นการสิ้นความทุกข์ความโศกทั้งปวง เพราะว่าตราบใดที่ยังมีกิเลส จะต้องมีทุกข์มีโศกแน่นอน และการที่จะดับกิเลสได้ ก็ไม่ใช่โดยรวดเร็ว ไม่ใช่ว่าอยากจะหมดกิเลสพรุ่งนี้เลย หรือขณะนี้เลย อาจจะเสียดายถ้าจะหมดกิเลสเดี๋ยวนี้ หรือว่าพรุ่งนี้ใช่ไหม

    เพราะฉะนั้น ที่จะเข้าใจว่าอะไรเป็นบารมี ต้องเป็นผู้ที่ตรงว่า บารมีคืออะไร เพื่ออะไร คือ ต้องมีจุดประสงค์ด้วย สมมติว่า ทำทานเพราะถ้าไม่ทำทานเกิดชาติหน้าจะยากจน อย่างนี้จะเป็นบารมีไหม

    . ไม่เป็น

    สุ. บารมีทั้ง ๑๐ ขาดไม่ได้สักบารมีเดียว แต่ต้องทราบจุดประสงค์ว่า ใครก็ตามที่ทำความดีทุกอย่าง แต่ไม่ใช่เพื่อปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็ยังไม่เป็นบารมี

    ถ้าทำบุญและปรารถนาสิ่งอื่น ไม่ใช่บารมี แต่เมื่อรู้ว่า การอบรมเจริญปัญญาต้องค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป และเจริญกุศลทุกประการเพื่อจุดนั้นจุดเดียว คือ เพื่อรู้แจ้งอริยสัจธรรม กุศลทั้งหลายที่บำเพ็ญจึงจะเป็นบารมี เพราะต้องการที่จะถึงฝั่ง คือ พระนิพพาน เพราะฉะนั้น เวลานี้ทุกคนกำลังอยู่ฝั่งซึ่งตรงกันข้ามกับนิพพาน ยังอยู่ฝั่งกิเลส และการที่จะไปถึงอีกฝั่งหนึ่ง ถ้าไม่มีบารมี ก็ถึงไม่ได้

    . เราจะตัดกิเลสได้อย่างไร

    สุ. ต้องเป็นปัญญา ไม่ใช่เรา เราทำอะไรไม่ได้เลย เราเป็นความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม เราเป็นการยึดถือการเห็นการได้ยินว่า เป็นเราเห็น เราได้ยิน เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นเรา คือ เป็นตัวตน ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ด้วยความไม่รู้ ด้วยความยึดถือ ด้วยความเป็นตัวตน ไม่ใช่หน้าที่ของมิจฉาทิฏฐิที่จะดับกิเลส แต่มิจฉาทิฏฐิทำให้เกิดกิเลสเพิ่มขึ้น อวิชชาก็ทำให้เกิดทั้งโลภะโทสะได้ ทำให้เกิดมิจฉาทิฏฐิได้

    ปัญญาเท่านั้นจะทำกิจละคลาย จนกระทั่งสามารถดับกิเลสได้จริงๆ จึงต้องอบรมเจริญปัญญา ถ้าไม่มีปัญญา หรือปัญญายังไม่เกิด หรือปัญญายังไม่เจริญ ก็ไม่มีอะไรที่จะดับกิเลสได้ เพราะฉะนั้น ที่ถามว่า ทำอย่างไรเราจะดับกิเลสได้ ทำอย่างไรปัญญาของเราจึงจะเกิดได้ ก็คือ ต้องอาศัยการฟัง ถ้าไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่พระปัจเจกพุทธเจ้า ทุกคนเป็นสาวก คือ ผู้ฟังพระธรรม มิฉะนั้นไม่จำเป็นต้องมีผู้ที่บำเพ็ญบารมีถึงความตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงสามารถแสดงธรรมที่ได้ทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เองให้คนอื่นได้ฟัง ได้พิจารณา ได้น้อมนำมาประพฤติปฏิบัติอบรม จนรู้แจ้งและดับกิเลสได้เช่นเดียวกับพระองค์ด้วย เพราะฉะนั้น จึงต้องฟังพระธรรม

    และกำลังเข้าใจ จะนำไปสู่การระลึกรู้ที่ถูก สามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ แต่ถ้าไม่เคยฟังเรื่องการเห็นเกิดดับ สติจะระลึกได้อย่างไรในขณะที่กำลังเห็นว่า สภาพไหนเป็นนามธรรม สภาพไหนเป็นรูปธรรม จึงไม่มีเรา เพราะว่าสภาพหนึ่งเป็นสภาพรู้ เป็นนาม อีกสภาพหนึ่งเป็นรูป เพราะฉะนั้น เราจึงไม่มี เกิดขึ้นและก็ดับไปแล้วด้วย ถ้าไม่ฟังอย่างนี้ ไม่มีทางที่สติจะระลึกได้ถูก ปัญญาขั้นการฟังอย่างนี้เป็นขั้นเริ่มต้น

    . อยากให้อาจารย์ยกตัวอย่าง ปฐวีกสิณ เพราะว่าผู้ถามนั่งสมาธิ ผมฟังจากอาจารย์ การทำสมาธิ ... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. อยากให้เป็นขณะนี้จะได้ไหม คือ ทุกคนนั่งแล้ว ของจริงสามารถจะพิสูจน์ได้ว่า ขณะนี้ทุกคนนั่ง มีใครอยากสงบบ้างไหม เท่านี้ก่อน อย่าไปหวังถึงกับจะต้องไปทำอย่างอื่นให้ยุ่งยาก แต่ในขณะที่กำลังนั่งเดี๋ยวนี้เอง กุศลเกิดได้ไหม กุศลขั้นไหนจะเกิด และจะสงบไหม และจะสงบถึงขั้นไหน

    ถ้าความสงบยังไม่เกิด หรือว่าสติสัมปชัญญะยังไม่ระลึกลักษณะที่สงบ และจะพูดถึงเรื่องความสงบที่มั่นคงจนกระทั่งสูงกว่านี้มาก ก็เป็นสิ่งซึ่งยากจะเข้าใจได้ เหมือนกับขณะนี้ ถ้าจะพูดถึงเรื่องโลกุตตรปัญญา คือ ปัญญาที่ประจักษ์ลักษณะของนิพพาน โดยที่ไม่รู้ลักษณะของเห็นที่กำลังเห็น หรือได้ยินที่กำลังได้ยิน ก็ไม่มีประโยชน์อีกเหมือนกัน ฉันใด การพูดถึงความสงบที่ตั้งมั่นคง ก็ต้องเริ่มตั้งแต่ในขณะที่กำลังนั่ง ถ้าจะใช้คำว่า นั่ง ในขณะนี้สงบหรือเปล่า และเมื่อสงบเพราะเป็นกุศลแล้ว จะสงบขึ้นได้อย่างไร เพราะเหตุว่าสมถภาวนามีถึง ๔๐ และสามารถที่จะสงบได้จริงๆ ถ้าเข้าใจ

    เพราะฉะนั้น อยู่ที่ความเข้าใจเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นกุศลที่เป็นการภาวนา ขั้นสมถะหรือวิปัสสนา ต้องเกิดเพราะความเข้าใจ ถ้าปราศจากความเข้าใจ ไม่มีทางที่จะเป็นความสงบที่มั่นคง ที่ใช้คำว่า สมาธิ ได้

    . ... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. มีท่านผู้ใดคัดค้าน หรือไม่เห็นด้วยบ้างไหมว่า สงบ หมายความถึงขณะที่เป็นกุศล เพราะขณะนั้นไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ ไม่มีอกุศล จึงสงบ ความหมายของสงบ คือ ไม่มีอกุศลเกิดในขณะนั้น

    . มีวิธีใดที่จะทำให้จิตสงบ มีโลภะ โทสะ โมหะน้อยลง

    สุ. อดทนไหม หรือว่าต้องการเดี๋ยวนี้ อยากจะได้เดี๋ยวนี้ หรืออดทนที่จะรู้ว่า ไม่สงบมานานแสนนาน เพราะฉะนั้น กว่าจะเป็นผู้สงบขึ้นๆ ก็ต้องอาศัยกาลเวลา ถ้ามีความอดทน สามารถที่จะสงบขึ้นทีละเล็กทีละน้อยได้ เพราะไม่มีใครที่จะทำให้บุคคลอื่นหรือแม้ตัวเองสงบได้ทันทีอย่างที่ต้องการ แต่ต้องอาศัยปัญญาที่ค่อยๆ เจริญขึ้น เมื่ออกุศลค่อยๆ ระงับลง ความสงบก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้น เพราะว่าที่จะสงบ ต้องเพราะอกุศลลดน้อยลง

    . ถ้าจิตฟุ้งซ่าน ขณะที่เรานั่งสมาธิและจิตฟุ้งไปทางอื่น จะมีวิธีแก้ไขอย่างไร

    สุ. ทราบไหมว่า ทำไมฟุ้ง อยากจะให้เข้าใจชัดๆ ว่า ฟุ้งคืออะไร และทำไมจึงเกิดอาการฟุ้งขึ้น ต้องมีเหตุ ทุกอย่างต้องมีเหตุ เพราะฉะนั้น ที่กล่าวว่า ฟุ้ง ฟุ้งคืออะไร

    . ฟุ้งคือความโกรธ

    สุ. เพราะฉะนั้น ขณะนี้ถ้าโกรธชื่อว่า ฟุ้ง ใช่ไหม เดี๋ยวนี้เองถ้าโกรธชื่อว่า ฟุ้งไหม เพราะฉะนั้น คำถามนี้ก็เหมือนกับว่า ทำอย่างไรจึงจะไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งแสนยาก เพราะมีมาตั้งนานแล้ว จะให้ไม่มีในวันนี้ พรุ่งนี้ เดือนนี้ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และไม่ใช่ตัวเราซึ่งจะไม่มี แต่ต้องเป็นปัญญาว่าเกิดแล้วหรือยัง ปัญญาเจริญแล้วหรือยัง ถ้าปัญญายังไม่เกิด ไม่มีใครหรือมีวิธีอะไรที่จะทำให้อกุศลจิตไม่เกิด แต่เมื่อปัญญาเกิดแล้ว ปัญญาต้องเจริญขึ้นๆ ถึงขั้นที่จะทำให้อกุศลลดลงด้วย

    . แล้วปัญญาอาศัยอะไร

    สุ. อาศัยการฟังเป็นขั้นต้น การพิจารณาเป็นขั้นที่ ๒ การระลึกรู้เป็นขั้น ที่ ๓

    . สติในโพธิปักขิยธรรมหมายถึงอะไร

    สุ. หมายถึงสติปัฏฐาน ระลึกเป็นไปในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    . เราจะทำอย่างไรถึงจะละ ... ได้

    สุ. โดยมากคำถามมักจะเป็นว่า ทำอย่างไรเราจะไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ ทำอย่างไรเราจึงละมิจฉาทิฏฐิ ทำอย่างไรเราจึงจะสงบ แต่ยังไม่มีคำถามว่า ทำอย่างไรเราจึงจะเข้าใจสภาพธรรมขึ้น

    เรา จะสำเร็จไหม ถ้าปัญญาไม่เกิด ความเข้าใจไม่เกิด มุ่งหน้าแต่เพียงว่า ทำอย่างไรจะละโลภะ โทสะ โมหะ โดยที่ไม่มีการพิจารณาว่า ทำอย่างไรความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมจะเกิดขึ้น จะเจริญขึ้น จะเพิ่มขึ้น

    เพราะฉะนั้น ปัญหาทั้งหมด เรื่องจะสงบขึ้น เรื่องจะไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ ทั้งหมด จะมาอยู่ที่คำถามว่า ทำอย่างไรจึงจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมขึ้น ความไม่รู้ก็เป็นความไม่รู้ จะเปลี่ยนสภาพไม่รู้ให้เป็นความรู้ไม่ได้ เมื่อยังไม่ถึงเวลา ที่จะรู้

    . สมถะและวิปัสสนาต่างกันอย่างไร

    สุ. สมถะ คือ กุศลจิตที่สงบจากอกุศลเพิ่มขึ้น มั่นคงขึ้น จนกระทั้งปรากฏลักษณะของความสงบที่ประกอบด้วยสมาธิขั้นต่างๆ จนกระทั่งถึงฌานจิต นั่นคือ สมถภาวนา

    วิปัสสนา คือ การอบรมเจริญปัญญา ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และน้อมพิจารณาจนรู้ชัดในลักษณะที่เป็นนามธรรม ไม่ใช่เรา เป็นรูปธรรม ไม่ใช่เรา จนกระทั่งลักษณะความเป็นอนัตตาของนามธรรมและรูปธรรมปรากฏ

    . มีคนบอกว่า ถ้าปฏิบัติเฉพาะสมถะ ไม่ปฏิบัติวิปัสสนา ปัญญาจะไม่เกิด

    สุ. ปัญญาคนละขั้น การอบรมเจริญความสงบ ต้องประกอบด้วยปัญญา ที่รู้ว่า ลักษณะของจิตที่สงบเป็นอย่างไร จึงจะอบรมความสงบให้เจริญขึ้น ถ้าเป็นปัญญาขั้นวิปัสสนาต้องรู้ว่า วิปัสสนารู้อะไร และก็เพิ่มการระลึกรู้ในสภาพธรรม ที่ปรากฏ ให้ความรู้เพิ่มขึ้น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒๐ ตอนที่ ๑๑๙๑ – ๑๒๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 86
    10 ก.พ. 2566