แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1141


    ครั้งที่ ๑๑๔๑


    สาระสำคัญ

    กัมมปัจจัยมี ๒ อย่าง

    ผลของทานขณะที่จิตผ่องใส

    ถ้าไม่มีปรมัตถ์บัญญัติมีไม่ได้

    นามขันธ์ ๔ เป็นวิปากปัจจัย


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๕


    ถ. ในอรูปพรหมภูมิ โสตาปัตติมรรคจิตเกิดไม่ได้ ใช่ไหม และสกทาคามิมรรคจิตเกิดได้ไหม

    สุ. เกิดได้ สำหรับพระโสดาบันบุคคลที่เกิดในอรูปพรหมภูมิ ซึ่งการเกิดในอรูปพรหมภูมิเป็นผลของอรูปาวจรกุศลกรรม แสดงว่าพระโสดาบันท่านนั้นบรรลุ อรูปาวจรกุศลด้วย เพราะฉะนั้น เวลาที่ท่านใกล้จะจุติ อรูปาวจรกุศลเกิด เป็นปัจจัยให้อรูปาวจรวิบากจิตทำกิจปฏิสนธิเป็นอรูปพรหมบุคคล ท่านเป็นพระโสดาบันแล้ว ไม่ต้องกระทำกิจให้เป็นพระโสดาบันซ้ำอีก นี่เป็นเหตุที่โสตาปัตติมรรคจิตเกิดขึ้นเพียงขณะเดียวเท่านั้นในสังสารวัฏฏ์

    โสตาปัตติมรรคจิตต้องเกิดในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เพราะต้องประจักษ์สภาพของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดดับว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งในภูมิที่ไม่มีรูปจะประจักษ์การเกิดดับของรูปไม่ได้

    เพราะฉะนั้น อาฬารดาบสและอุทกดาบสซึ่งเป็นอาจารย์ที่สอนอรูปฌานแก่พระผู้มีพระภาค จึงไม่ได้บรรลุโสดาบันบุคคล เพราะว่าเกิดในอรูปพรหมภูมิ ทั้งๆ ที่หลังจากทรงตรัสรู้แล้ว ทรงพิจารณาว่าควรจะแสดงธรรมแก่บุคคลใด ก็เห็นว่าทั้ง สองท่านเป็นผู้มีปัญญาสมควรได้รับฟังพระธรรม แต่เพราะว่าทั้ง ๒ ท่านสิ้นชีวิตและเกิดในอรูปพรหมแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะทรงแสดงธรรมแก่ทั้ง ๒ ท่านได้ เพราะฉะนั้น ทั้ง ๒ ท่านก็พลาดโอกาสที่จะได้เป็นพระอริยบุคคล ซึ่งในขณะนี้ ทั้ง ๒ ท่านก็ยังเป็นอรูปพรหมบุคคลอยู่ อีกนานแสนนานทีเดียว

    สำหรับกัมมปัจจัยมี ๒ อย่าง คือ

    สหชาตกัมมปัจจัย เป็นปัจจัยแก่จิตตชรูป และจิต และเจตสิกอื่นๆ ซึ่งเกิดพร้อมกับเจตนาเจตสิกนั้น แต่ถ้าเป็น นานักขณิกกัมมปัจจัย เจตนาเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิตหรืออกุศลจิตซึ่งดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้วิบากจิต และรูป คือ กัมมชรูป เกิดในภายหลัง

    ขณะนี้มีจิตตชรูปเกิดเพราะกุศลจิตและอกุศลจิต แต่ต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสหชาตกัมมปัจจัย อย่าลืม

    ถ. ที่พูดกันว่า ยากจนเพราะเหตุปัจจัย ร่ำรวยก็เพราะเหตุปัจจัย นี่ไม่เป็นปัญหา แต่ที่ว่า เขายากจนเพราะชาติก่อนเขาให้ทานน้อย และที่เขาร่ำรวยเพราะชาติก่อนเขาให้ทานมาก นี่จริงไหม

    สุ. แล้วแต่กำลังของกุศลจิต ถ้ากุศลจิตในขณะนั้นผ่องใส และทานที่ให้เป็นทานที่บริสุทธิ์ก็ให้ผลมาก เคยให้ทานและรู้สึกว่า เจตนาต่างกันบ้างไหม

    ถ. คนที่ร่ำรวย เพราะชาติก่อนเขาให้ทานมาก เป็นความเชื่ออย่างนั้น หรือว่ามีเหตุผล

    สุ. และต้องจิตผ่องใสด้วย พิสูจน์ได้จากชาตินี้ คือ กรรมในชาตินี้มีไหม ขอยกเรื่องเดียว คือ เรื่องของการให้ มีไหม ไม่ใช่ครั้งเดียว ใช่ไหม แต่ละครั้งนี้ต่างกันหรือว่าเหมือนกัน

    ถ. ต่างกัน

    สุ. บางครั้งให้จนเกือบจะไม่รู้สึกว่าให้ เคยมีไหม

    ถ. มี

    สุ. หมายความว่า มีอกุศลแทรกแซงปิดบังจนเกือบจะไม่รู้ลักษณะของกุศลจิตในขณะนั้น เช่น บางท่านขณะที่ให้ก็ยังรู้สึกว่าโกรธ คือ อาจจะมีคนมาขอความช่วยเหลือ ก็สงเคราะห์ให้ไป ไม่ใช่ว่าไม่ให้ แต่ในขณะนั้นมีความไม่พอใจปรากฏให้รู้ได้ ซึ่งแสดงว่ากุศลจิตและอกุศลจิตเกิดสลับกันเร็วมาก เหมือนกับทางตาในขณะนี้ ทางตาในขณะนี้ต้องไม่ได้ยินอะไร อย่าลืม ทางตาเห็น แต่ไม่ได้ยิน ทางหูในขณะนี้ได้ยินเสียง แต่ขณะที่ได้ยินเสียง จิตที่ได้ยินไม่เห็นอะไร ถูกไหม เพราะฉะนั้น เป็นจิต แต่ละประเภทซึ่งเกิดดับสลับกันเร็วมากจนทำให้รู้สึกเหมือนกับว่า ขณะนี้เห็นและ ได้ยิน ฉันใด เวลาที่ให้และเกิดโกรธหรือว่าไม่พอใจ ก็สลับกันจนกระทั่งเหมือนกับกุศลจิตไม่ได้ปรากฏเลย มีแต่ลักษณะอาการที่โกรธในขณะที่ให้ แต่อย่าลืมว่า การให้มีในขณะนั้น ซึ่งย่อมไม่เหมือนกับในขณะที่จิตผ่องใส ไม่มีอกุศลใดๆ แทรกแซงเลย เพราะฉะนั้น ขณะไหนจะให้ผลมากกว่ากัน ในเมื่อเหตุต่างกัน ผลจะต่างกันไหม

    ถ. เรื่องเจริญสติปัฏฐาน ผมเคยได้ยินว่า เวลาจะเจริญสติปัฏฐานต้องมีปรมัตถ์เป็นอารมณ์ ถ้ามีสมมติบัญญัติเป็นอารมณ์เจริญสติปัฏฐานไม่ได้ ใช่หรือไม่ใช่ เพราะเหตุอะไร

    สุ. ถูกต้อง แต่อย่าลืม ปรมัตถ์คืออะไร อย่าพอใจเพียงแต่คำว่า ปรมัตถ์

    ถ. เวลาที่เราคุยกันมีบัญญัติเป็นอารมณ์ ก็เจริญสติปัฏฐานไม่ได้

    สุ. กำลังคุยกันไม่มีปรมัตถ์เป็นอารมณ์เลยหรือ มีแต่บัญญัติล้วนๆ หรือ ปรมัตถ์ไม่ปรากฏหรือ

    ถ. อาจจะไม่ปรากฏ ฟังแต่คำพูด เป็นความหมาย เข้าใจเรื่อง

    สุ. กำลังเห็นเป็นปรมัตถ์หรือเปล่า

    ถ. กำลังเห็น เห็นอะไร

    สุ. กำลังพูด เห็นด้วยหรือเปล่า

    ถ. เวลาพูดก็ต้องคิดถึงความหมายของคำที่พูด

    สุ. มิได้ คำถาม คือ ขณะที่พูดมองเห็นอะไรหรือเปล่า

    ถ. มองเห็นคนที่พูดกัน

    สุ. หมายความว่า ขณะที่พูดมีเห็นปรากฏด้วย เห็นเป็นปรมัตถ์หรือเปล่า

    ถ. แต่เห็นเป็นคน

    สุ. มิได้ จะเห็นเป็นอะไรก็แล้วแต่ เมื่อครู่นี้บอกว่า การเจริญสติปัฏฐานต้องมีปรมัตถ์เป็นอารมณ์ ถูกต้องใช่ไหม ในขณะที่กำลังพูด สติเกิดเป็นสติปัฏฐาน ได้ไหม

    ถ. เป็นบัญญัติอารมณ์

    สุ. ทำไมกล่าวว่ามีแต่บัญญัติ กำลังพูดนี่เห็นไหม

    ถ. กำลังพูดนี่ เห็นด้วย ได้ยินด้วย

    สุ. เมื่อกำลังพูดก็เห็นด้วย เห็นเป็นปรมัตถ์หรือเป็นบัญญัติ

    ถ. เห็นเป็นสิ่งของ ก็เป็นบัญญัติ

    สุ. ก่อนที่สติปัฏฐานจะเจริญ ต้องมีการเห็นสิ่งที่ปรากฏว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน แต่การเจริญสติปัฏฐาน คือ การที่สติเริ่มเกิดจึงระลึก คือ รู้ว่า มีสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถ์ ในขณะนี้ ไม่ใช่มีแต่บัญญัติ ถ้าไม่มีปรมัตถ์บัญญัติจะมีไม่ได้ จะมีบัญญัติมาแต่ไหนถ้าปรมัตถ์ไม่มี จะมีการเห็นรูปร่างสัณฐานว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้อย่างไรถ้าไม่มีการเห็น เพราะฉะนั้น การเห็นเป็นปรมัตถธรรมแน่นอน ที่ว่าโดยการศึกษาทราบว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่เมื่อไม่รู้ว่าการเห็นเป็นอนัตตา ไม่ใช่อัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เราเห็น สติจึงต้องระลึกในขณะที่เห็น และในขณะนี้เห็นก็มี เป็นปรมัตถ์ ในขณะที่กำลังพูด กำลังมีเรื่องราว กำลังมีบัญญัติ ไม่ใช่มีแต่เฉพาะเรื่องราวและบัญญัติ ปรมัตถ์มีทุกทาง ทางตาก็เห็น ทางหูก็ได้ยิน ทางจมูกก็ได้กลิ่น ทางลิ้นก็ลิ้มรส ทางกายก็กระทบสัมผัส ทางใจก็กำลังคิดนึกถึงคำ เพราะฉะนั้น ต้องมีปรมัตถธรรม แต่เพราะไม่รู้จึงคิดว่าเป็นเรา เป็นตัวตน แต่ถ้ารู้ สติปัฏฐานเกิด รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงเมื่อไร เมื่อนั้นจึงจะเอาเราออกจากที่กำลังพูด เป็นคนที่พูด

    ถ. หมายความว่า เจริญสติปัฏฐานสลับกันไป บางทีก็มีสติ บางทีก็ไม่มีสติ

    สุ. สติดับไหม

    ถ. ดับ

    สุ. เห็นดับไหม ที่ศึกษามาเพื่อจะได้ปฏิบัติให้ถูก ให้รู้สภาพธรรมตรงตามความเป็นจริงตามที่ได้ศึกษา การเห็นดับไหม

    ถ. ดับ

    สุ. การได้ยินดับไหม

    ถ. ดับ

    สุ. สติดับไหม

    ถ. ดับ

    สุ. คิดนึกดับไหม

    ถ. ดับ

    เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่สติจะระลึกได้ขณะใด ก็รู้ลักษณะของปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งปรมัตถธรรมต้องมีปรากฏตลอดเวลา เพราะฉะนั้น กำลังพูดเจริญ สติปัฏฐานได้ไหม ขอเรียนถาม

    ผู้ฟัง … (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. ต้องสลับ จะไม่สลับได้อย่างไรในเมื่อสติก็ดับ จะไม่ให้สติดับได้อย่างไร ให้สติตั้งอยู่ที่หนึ่งที่ใดนานๆ เป็นไปไม่ได้ ไม่ถูก เพราะว่าตามความเป็นจริงแล้ว สติจะต้องดับ และเกิดอีก ระลึกรู้ลักษณะของปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏ

    อย่าเข้าใจว่า ขณะหนึ่งขณะใดจะเจริญสติปัฏฐานไม่ได้ นี่เป็นความเข้าใจผิด กำลังพูดมีปรมัตถธรรมแน่นอน มีจิตที่ได้ยิน มีการรู้ขณะที่ริมฝีปากกระทบกันที่ทำให้เกิดเสียงขึ้น มีเวทนา ความรู้สึกต่างๆ กำลังปรากฏ ทางตาก็ยังมองเห็น เพราะฉะนั้น สติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพของปรมัตถธรรมทางหนึ่งทางใดได้ อบรมเจริญสติปัฏฐานอย่างนี้หรือเปล่า ถ้าเข้าใจถูกสติย่อมเกิดได้

    อย่าคิดว่า ในขณะที่กำลังพูดเป็นบัญญัติ ไม่มีปรมัตถธรรมอะไรเลย ไม่ใช่ขณะอื่น อย่าลืม ขณะนี้เอง

    และให้ทราบว่า ในขณะนี้กำลังเป็นกัมมปัจจัย ทุกขณะที่จิตเกิดเป็น สหชาตกัมมปัจจัย ถ้ากุศลจิตหรืออกุศลจิตเกิด เป็นนานักขณิกกัมมปัจจัยที่จะทำให้วิบากจิต เจตสิก และกัมมชรูปเกิดในภายหลัง

    ถ้าอกุศลกรรมได้กระทำสำเร็จลงไปแล้ว เป็นนานักขณิกกัมมปัจจัยทำให้ อกุศลวิบากทำกิจปฏิสนธิในอบายภูมิพร้อมทั้งกัมมชรูป ไม่ใช่บุคคลนี้อีกต่อไป แล้วแต่ว่ากัมมชรูปนั้นจะเกิดในนรก หรือว่าเป็นเปรต หรือว่าเป็นอสุรกาย หรือว่าเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ก็เพราะกรรมซึ่งเป็นเหตุที่เกิดในขณะนี้ เป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย

    เพราะฉะนั้น ก็มีทั้งสหชาตกัมมปัจจัยและนานักขณิกกัมมปัจจัย สำหรับ ปัจจัยที่คู่กับกัมมปัจจัย คือ วิปากปัจจัย

    ภาษาไทยใช้คำว่า วิบาก แต่ภาษาบาลี คือ วิปาก หมายความถึงนามขันธ์ ได้แก่ จิตและเจตสิกซึ่งเกิดขึ้นเป็นผลของกุศลกรรมและอกุศลกรรม

    เพราะฉะนั้น ต้องแยกเหตุและผล กุศลและอกุศล หรือเจตนาในกุศลและอกุศลเป็นเหตุ ทำให้เกิดนามธรรม คือ จิตและเจตสิกที่เป็นวิบากในภายหลัง หลังจากที่กุศลกรรมและอกุศลกรรมนั้นดับไปแล้ว

    ขณะนี้มีวิบากจิตไหม ถ้าสติระลึก ตลอดเวลาไม่พ้นเลย ทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่กำลังได้ยิน ทางจมูกที่กำลังได้กลิ่น ทางลิ้นที่กำลังลิ้มรส ทางกายที่กระทบสัมผัส วันหนึ่งๆ ไม่พ้นไปจากตา หู จมูก ลิ้น กาย เพราะฉะนั้น ไม่พ้นไปจากวิบาก เพียงแต่ไม่ทราบว่า ขณะที่เห็นในขณะนี้เป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม ขณะที่ได้ยินเป็นผลของกรรม ขณะที่ได้กลิ่นเป็นผลของกรรม ขณะที่ลิ้มรสเป็นผลของกรรม ขณะที่กระทบสัมผัสทางกายเป็นผลของกรรม

    สำหรับสภาพธรรมที่เป็นกุศลธรรม ได้แก่ จิตและเจตสิกที่เป็นกุศลเกิดร่วมกัน สภาพธรรมที่เป็นอกุศลก็ได้แก่ จิตและเจตสิกที่เป็นอกุศลกรรมเกิดร่วมกัน ฉันใด จิตและเจตสิกที่เป็นวิบากก็เกิดร่วมกันโดยอาศัยกันเกิดขึ้น เป็นวิปากปัจจัยซึ่งกัน และกัน

    เพราะฉะนั้น วิปากปัจจัย ได้แก่ วิบากจิตและเจตสิก

    ทำไมจึงเป็นเป็นวิปากปัจจัย

    เพราะว่าจิตจะเกิดโดยไม่อาศัยเจตสิกไม่ได้ และเจตสิกจะเกิดโดยไม่อาศัยจิตไม่ได้ เพราะฉะนั้น จิตและเจตสิกต่างเป็นวิบาก คือ เป็นผลของกรรมด้วยกัน เมื่อจิตและเจตสิกซึ่งเป็นวิบากอาศัยกันเกิดขึ้น จิตที่เป็นวิบากก็เป็นวิปากปัจจัยแก่เจตสิกซึ่งเป็นวิบาก และเจตสิกซึ่งเป็นวิบากก็เป็นวิปากปัจจัยแก่จิตซึ่งเป็นวิบาก คือ อาศัยกันเกิดขึ้นโดยต่างเป็นวิบากด้วยกัน จึงเกิดร่วมกัน ซึ่งได้แก่ เวทนาขันธ์ ๑ สัญญาขันธ์ ๑ สังขารขันธ์ ๑ วิญญาณขันธ์ ๑

    ถ้ากล่าวโดยนัยของขันธ์ ๕ นามขันธ์ ๔ เป็นวิปากปัจจัย คือ

    ถ้ายกเวทนาขันธ์ เป็นวิปากปัจจัยแก่สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ที่เป็นวิบากซึ่งเกิดร่วมกัน

    ถ้ายกสัญญาขันธ์ เป็นวิปากปัจจัยแก่เวทนาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ที่เป็นวิบากซึ่งเกิดร่วมกัน

    ถ้ายกสังขารขันธ์ เป็นวิปากปัจจัยแก่เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ วิญญาณขันธ์ที่เป็นวิบากซึ่งเกิดร่วมกัน

    ถ้ายกวิญญาณ คือ จิต เป็นวิปากปัจจัยแก่เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์ที่เป็นวิบากซึ่งเกิดร่วมกัน

    เรื่องของวิปากปัจจัยเป็นเรื่องที่ไม่ยากถ้าทราบว่า จิตใดเป็นวิบาก ขณะนั้นก็ต้องมีนามขันธ์ ๔ เกิดร่วมกัน และต่างก็เป็นวิปากปัจจัยแก่กันและกัน ที่สำคัญที่สุดคือ ธรรมทั้งหลายที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ในชีวิตประจำวัน มิฉะนั้นแล้วจะไม่มีประโยชน์เลย ไม่ว่าจะศึกษาพระไตรปิฎก หรืออรรถกถามากมายสักเพียงไรก็ตาม แต่ถ้าความรู้ที่เกิดจากการศึกษานั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะพิสูจน์ หรือประพฤติปฏิบัติตามได้แล้ว การศึกษาพระไตรปิฎกย่อมไม่มีประโยชน์

    เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้ทราบว่า วิบาก วิปากปัจจัย ในชีวิตประจำวันสามารถที่จะรู้ได้ไหม ตามความเป็นจริง

    ทราบแล้วว่า วิบากจิต คือ ในขณะเห็น กำลังเห็นนี้เป็นสภาพนามธรรม เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ เป็นวิบาก จักขุปสาทเป็นกัมมชรูป เป็นรูปซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน แต่ไม่ใช่วิบาก เพราะว่าจักขุปสาทไม่เห็น จึงไม่สามารถเป็นวิบาก

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังเห็นเป็นวิบาก สามารถที่จะรู้หรือพิสูจน์ได้ไหม ในวิปากปัจจัย หรือวิบากที่กำลังปรากฏ เมื่อไร เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ โดยการฟัง พอไหม ทราบว่า กำลังเห็นเป็นวิบากเป็นผลของกรรม ไม่พอ นี่เป็นการฟัง และเป็นการพิจารณา เป็นการรู้ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงประจักษ์แจ้ง

    เพราะฉะนั้น เพียงรู้ว่ากำลังเห็นเป็นวิบาก ไม่พอ ไม่สามารถดับกิเลสได้ แต่ที่จะรู้ว่าเป็นวิบากจริงๆ คือ ขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงจึงจะเห็นสภาพที่เป็นวิบาก เป็นผลของกรรมในขณะที่กำลังเห็น ในขณะที่กำลังได้ยิน ในขณะที่กำลังได้กลิ่น ในขณะที่กำลังลิ้มรส ในขณะที่กำลังรู้ สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย

    วันนี้วิบากจิตไม่น้อยเลย ใช่ไหม ทั้งวัน ทราบบ้างไหมว่า เป็นวิบาก เพราะฉะนั้น เหตุการณ์ในชีวิตประจำวันดูเป็นเรื่องที่ยาว ถ้าจะมีการกระทำสิ่งหนึ่ง สิ่งใด การทำบุญเลี้ยงพระ การตระเตรียมอาหาร การศึกษา การไปเที่ยว การพักผ่อนหย่อนใจ ทุกอย่างดูเหมือนเป็นเหตุการณ์ที่เป็นช่วงเวลาที่ยาวมาก แต่การที่จะรู้ว่าเป็นวิบาก จะรู้ในขณะไหน

    ทำกุศล เป็นกุศลกรรม ในขณะที่กำลังทำกุศล อย่าลืม ในขณะที่กำลังทำกุศลมีวิบากไหม ต้องมี รู้ได้อย่างไร กำลังทำกุศลก็เห็น ก็ได้ยิน ก็ได้กลิ่น ก็ลิ้มรส ก็รู้สิ่งที่กำลังกระทบสัมผัสในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้น ขณะเห็น ขณะได้ยิน ขณะได้กลิ่น ขณะลิ้มรส ขณะที่กำลังกระทบสัมผัส เป็นวิบาก

    ในขณะที่กำลังทำกุศลมีวิบาก แต่คนละขณะกับกุศล เพราะว่าจิตประเภทใดเป็นกุศล จิตนั้นไม่ใช่วิบาก ไม่ใช่กิริยา ไม่ใช่อกุศล จิตใดเป็นอกุศล จิตนั้นไม่ใช่กุศล จิตนั้นไม่ใช่วิบาก จิตนั้นไม่ใช่กิริยา จิตเกิดขึ้นขณะหนึ่งเป็นชาติหนึ่ง คือ เกิดเป็นกุศลก็เป็นกุศล จะเป็นกุศลและอกุศลรวมกันไม่ได้ จิตขณะหนึ่งเป็นกุศลจะเป็นวิบากร่วมด้วยในขณะนั้นไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังทำกุศลวิบากก็มี แต่ในขณะที่เป็นวิบาก คือ กำลังเห็น ขณะที่กำลังทำกุศล วิบากที่เห็นในขณะนั้นเป็นผลของกุศลที่กำลังทำหรือเปล่า ก็ไม่ใช่

    แสดงให้เห็นว่า นานักขณิกกัมมปัจจัย กรรมที่กระทำสำเร็จแล้วให้ผลต่างขณะ คือ ไม่ใช่ให้ผลในขณะที่กำลังทำทันที เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวันที่จะทราบว่าเป็นวิบาก ต้องในขณะไหน ถ้ากล่าวว่า ในขณะเห็น ในขณะได้ยิน นี่เหมือนในตำรา คือ ศึกษาอย่างนี้ก็บอกว่าอย่างนี้ กำลังเห็นเดี๋ยวนี้เป็นวิบาก แต่ที่จะรู้ว่าเป็นวิบากจริงๆ ต้องสติปัฏฐานเกิด ระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๑๕ ตอนที่ ๑๑๔๑ – ๑๑๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 86
    28 ธ.ค. 2564