แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1156


    ครั้งที่ ๑๑๕๖


    สาระสำคัญ

    นามอาหาร ๓ และรูปอาหาร ๑

    รู้โลภะในขณะที่โลภะกำลังปรากฏ

    รอบรู้อาหาร ๔ (เป็นอันรอบรู้นามธรรมและรูปธรรม) 

    การละไม่ใช่การไม่บริโภคอาหาร (เป็นเรื่องละความยินดีในอาหาร)

    ทบทวน อาหารปัจจัย


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๒๕


    เวลาที่เห็นอาหาร สติระลึกได้ไหม กพฬิงการาหาร ที่จะรอบรู้อาหาร ที่จะรอบรู้โลภะ โลภะมี อย่าลืม เวลาที่เห็นอาหารโลภะมีแน่ ๆ แต่ที่ไม่รู้เพราะสติไม่ได้ระลึก แต่เวลาระลึก ลักษณะของสภาพธรรมใดปรากฏในขณะที่เห็นอาหาร ถ้าอาหารกำลังปรากฏและมีโลภะ มีความพอใจในอาหาร สติไม่ระลึกในขณะนั้นจะเห็นโลภะไหม ก็ไม่เห็น กำลังซื้อของ เห็นของที่ถูกใจอยากจะซื้อ ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะสภาพของโลภะในขณะที่กำลังเห็นสิ่งที่น่าพอใจ จะไปรู้โลภะในขณะไหน

    เพราะฉะนั้น การที่จะรู้โลภะได้ ก็ในขณะเห็น ในขณะได้ยิน ในขณะได้กลิ่น ในขณะลิ้มรส ในขณะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือในขณะคิดนึกด้วยโลภะ เช่น ชีวิตประจำวัน ตื่นขึ้นมาคิดถึงอะไร จะรู้ลักษณะของโลภะได้ไหมในขณะนั้น เป็นโลภะหรือเปล่าสิ่งที่คิดเมื่อตื่น เป็นไหม ส่วนใหญ่ตื่นขึ้นมาเป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิต

    ถ้าใครคิดถึงธรรมที่ได้ยินได้ฟังทันทีที่ตื่น และต่อไปอีกระหว่างที่ยังไม่หลับ นั่นแสดงว่า มีปัจจัยปรุงแต่งให้กุศลเกิดมาก เพราะฉะนั้น ถ้าสติปัฏฐานเกิดจะรู้สภาพของจิตที่ผ่องใส ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะในขณะนั้น เพราะว่ากำลังพิจารณาลักษณะของสภาพธรรม แต่แม้ขณะนั้นก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    เพราะฉะนั้น ชีวิตประจำวันเป็นเครื่องตรวจสอบผลของธรรม ถ้าเป็นโลภะเกิดขึ้น สติระลึกรู้ลักษณะของโลภะ นั่นเป็นการถูกต้อง มิฉะนั้นแล้วจะรู้ลักษณะของโลภะในขณะไหนถ้าไม่รู้ในขณะที่โลภะกำลังปรากฏ

    อาหารอร่อย สติปัฏฐานเกิดได้ไหม ได้ รู้ลักษณะของโลภะ เพราะฉะนั้น ก็เป็นการรอบรู้โลภะนั่นเองว่า โลภะนี้เกิดขึ้นโดยอาศัยรสทางชิวหาทวาร โลภะนี้เกิดขึ้นโดยอาศัยการเห็นทางจักขุทวาร หรือโลภะนี้เกิดขึ้นโดยอาศัยโสตทวาร ก็เป็นปกติในชีวิตประจำวันซึ่งต้องรอบรู้ ถ้าไม่รอบรู้สภาพธรรมอย่างนี้จะไม่เห็นว่า ความยินดีในอาหารปัจจัยยังมีอยู่ตราบใด ก็จะต้องมีอาหารปัจจัยอยู่ตราบนั้น

    เพราะฉะนั้น เรื่องของการละไม่ใช่เป็นเรื่องการไม่บริโภค หรือว่าไม่รับประทานอาหาร แต่เป็นเรื่องละความยินดีในอาหาร และไม่ใช่แต่เฉพาะกพฬิงการาหารเท่านั้น ต้องในอาหารทั้ง ๔ คือ ทั้งในผัสสาหาร มโนสัญเจตนาหาร และวิญญาณาหารด้วย

    ถ. กพฬิงการาหารนำมาซึ่งรูป ผัสสาหารนำมาซึ่งเวทนา ๓ มโนสัญเจตนาหารนำมาซึ่งภพ ๓ วิญญาณาหาร องค์ธรรม คือ จิตทั้งหมด ในปฏิจจสมุปบาทหมายถึงปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิจิตนำอะไรมาบ้าง

    สุ. นามธรรมและรูปธรรม

    ถ. ที่เกิดพร้อมปฏิสนธิจิต

    สุ. คือ เป็นปัจจัยให้เจตสิกเกิดร่วมด้วย และเป็นปัจจัยให้กัมมชรูปเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต เพราะถ้าไม่มีปฏิสนธิจิต เจตสิกซึ่งเป็นวิบากก็เกิดไม่ได้ กัมมชรูปก็เกิดไม่ได้ ในขณะแรกที่กัมมชรูปเกิดต้องอาศัยปฏิสนธิจิต แต่หลังจากนั้นไม่ต้องอาศัยปฏิสนธิจิต เพราะว่าเป็นรูปซึ่งมีกรรมเป็นสมุฏฐาน แต่แม้ว่าจะมีกรรมเป็นสมุฏฐาน ในขณะแรกที่เกิดก็ต้องเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต โดยสหชาตปัจจัย และปฏิสนธิจิตก็เป็นอาหารปัจจัยแก่เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย และปฏิสนธิกัมมชรูปด้วย

    ถ. วิญญาณาหารที่ไม่ใช่ปฏิสนธิจิต อย่างทางตา เมื่อจักขุวิญญาณเกิดขึ้นนำอะไรมา

    สุ. เจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมกัน

    ซึ่งข้อความใน ปปัญจสูทนี มีว่า

    เมื่อว่าโดยความไม่แปลกกัน สิ่งทั้งปวงนั้นก็ควรทราบว่า เป็นอาหาร

    ถ้าโดยความแปลกกัน คือ โดยนัยของปฏิจจสมุปบาท คือ มโนสัญเจตนาหารนำมาซึ่งปฏิสนธิหรือวิญญาณาหาร แต่ว่า เมื่อว่าโดยความไม่แปลกกัน สิ่งทั้งปวงนั้นก็ควรทราบว่า เป็นอาหาร

    สิ่งทั้งปวงนั้น หมายความถึง ผัสสเจตสิก เจตนาเจตสิก และจิตทุกดวง

    เพราะนำมาซึ่งสิ่งที่ประกอบกัน และซึ่งความตั้งขึ้นแห่งสิ่งนั้นๆ ในอาหาร ๔ เหล่านั้น อาหารที่เป็นคำๆ เมื่อค้ำชูก็ให้สำเร็จอาหารกิจ ผัสสะเมื่อถูกต้องก็ให้สำเร็จอาหารกิจ มโนสัญเจตนาเมื่อประมวลมาก็ให้สำเร็จอาหารกิจ วิญญาณเมื่อรู้ ก็ให้สำเร็จอาหารกิจ

    คือ โดยความไม่แปลกกันแล้ว หมายความถึงผัสสเจตสิกทุกขณะที่เกิดขึ้นกระทำกิจ คือ ให้สำเร็จอาหารกิจ ไม่ว่าจะเป็นผัสสะที่เกิดกับปฏิสนธิจิต หรือที่เกิดกับจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ โลภมูลจิต หรือผัสสเจตสิกที่เกิดกับจิตใดๆ ก็ตาม ย่อมให้สำเร็จอาหารกิจ เพราะนำมาซึ่งผล คือ เวทนาและสัมปยุตตธรรมที่เกิดร่วมด้วย คือ ถ้าผัสสะไม่กระทบเวทนานั้นๆ ก็เกิดไม่ได้ หรือว่าจิตนั้นก็เกิดไม่ได้ เพราะเป็นสหชาตปัจจัย โดยที่ผัสสะเป็นอาหารปัจจัยแก่เจตสิกอื่นและแก่จิตซึ่งเกิดร่วมกันในขณะนั้น

    สำหรับจิต คือ วิญญาณาหาร ก็โดยนัยเดียวกัน ถ้าโดยความแปลกกัน โดยนัยของปฏิจจสมุปบาท ได้แก่ ปฏิสนธิจิตนำมาซึ่งจิตทั้งหลาย เหมือนกับแผลซึ่งถูกแทงนำมาซึ่งทุกข์ อุปมาอีกนัยหนึ่งว่า

    ปฏิสนธิวิญญาณเหมือนกับโจรที่ทำโจรกรรม นามรูปอันเกิดเพราะวิญญาณเป็นปัจจัยเปรียบเหมือนปากแผลอันเกิดด้วยการถูกแทงด้วยหอก ความเกิดแห่งทุกข์ต่างๆ ด้วยอำนาจกรรมกรณ์ ๓๒ (คือ เครื่องลงโทษ ๓๒ ได้แก่ อาการ ๓๒ ในร่างกาย) และโรค ๙๘ ประการ เป็นต้น แห่งวิญญาณอันมีเพราะนามรูปเป็นปัจจัย ควรเห็นเป็นเหมือนความเกิดขึ้นแห่งทุกข์อย่างร้ายแรงของบุรุษนั้น ด้วยมีปากแผล เป็นปัจจัย

    ทุกข์ทั้งหลายที่ท่านผู้ฟังได้รับในชาตินี้ มีขึ้นได้เพราะมีปฏิสนธิจิต ถ้าหมดปฏิสนธิจิตดังเช่นพระอรหันต์ทั้งหลาย ทุกข์ทั้งหลายในชาตินี้ที่ท่านผู้ฟังได้รับ ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้

    เพราะฉะนั้น โดยนัยของปฏิจจสมุปบาท ปฏิสนธิจิตเป็นวิญญาณาหารนำมาซึ่งทุกข์เหมือนกับโจรซึ่งกระทำโจรกรรมและถูกหอกแทง นามรูปซึ่งเกิดพร้อมกันในขณะนั้นก็เป็นแผลซึ่งถูกแทง ย่อมนำมาซึ่งทุกข์ทั้งหลาย ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    แต่ถ้าโดยความไม่แปลก คือ ไม่ใช่นัยของปฏิจจสมุปบาท วิญญาณเมื่อรู้ก็ให้สำเร็จอาหารกิจ นั่นคือนำมาซึ่งนามธรรม ได้แก่ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยและจิตตชรูปซึ่งเกิดพร้อมกับจิตในขณะนั้น

    และสำหรับมโนสัญเจตนาหาร คือ เจตนาเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง ไม่ใช่แต่เฉพาะกุศลจิตหรืออกุศลจิต เมื่อเจตนาเจตสิกเกิดขึ้นก็สำเร็จอาหารกิจ เพราะประมวลมาซึ่งการกระทำในขณะนั้น เพราะว่าเจตนาเป็นผู้ขวนขวาย เป็นสภาพธรรมที่ขวนขวาย เป็นสภาพธรรมที่กระทำ ที่เรียกว่า กรรม กรรม คือ การกระทำ ได้แก่ สภาพที่ขวนขวายที่จะกระทำ คือ เจตนาเจตสิกนั่นเอง

    ถ. ธรรมชาติซึ่งปรากฏขึ้นทั้งหมด ต้องมีอาหารปัจจัยประกอบทุกครั้งหรือ

    สุ. นามธรรมเกิดขึ้นจะต้องมีผัสสเจตสิกเกิดร่วมด้วยเป็นผัสสาหาร มีเจตนาเจตสิกเกิดขึ้นเป็นมโนสัญเจตนาหาร และจิตเป็นวิญญาณาหาร ในจิต ๑ ขณะซึ่งเกิดดับอย่างรวดเร็วประกอบด้วยอาหารปัจจัยทั้ง ๓

    ถ. ที่ว่า วิญญาณาหารเป็นอาหารของจิต

    สุ. มิได้ จิตเกิดขึ้นนำมาซึ่งผล เพราะว่าจิตเป็นวิญญาณาหาร อะไรเป็นผลซึ่งจิตนำมา ก็คือ เจตสิกซึ่งเกิดร่วมด้วยและจิตตชรูป

    เวลาที่จิตเกิดขึ้น มีรูปเกิดขึ้นด้วย เวลาโลภมูลจิตเกิดขึ้นก็มีรูปซึ่งเกิดเพราะโลภมูลจิต เวลาโทสะมูลจิตเกิดขึ้นก็มีรูปซึ่งเกิดเพราะโทสะมูลจิต เพราะฉะนั้น จิตนั่นเองเป็นอาหารปัจจัยนำมาซึ่งเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยและจิตตชรูป ไม่มีใครมีอำนาจบังคับบัญชาหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อสภาพของธรรมซึ่งเป็นอาหารปัจจัยมี ย่อมนำมาซึ่งผล และผลนั้นคืออะไร ถ้าเป็นผัสสาหาร ผัสสเจตสิกก็นำมาซึ่งเวทนาและเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมกัน

    ถ. โทสะมูลจิตที่จะเกิดขึ้น ก็เพราะอาหาร ๓ อย่างที่ว่านี้ทั้งหมดหรือ

    ส. เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จิตเป็นอาหาร ผัสสะซึ่งเกิดกับจิตนั้นเป็นอาหาร เจตนาซึ่งเกิดกับจิตนั้นเป็นอาหาร เป็นอาหารนำมาซึ่งอะไร ต้องมีผล เวลาที่ศึกษาเรื่องปัจจัยต้องรู้ว่า ต้องมีผล หรือว่านำมาซึ่งผลของปัจจัยนั้นๆ เพราะฉะนั้น จึงมีสภาพธรรม ๒ อย่าง คือ ปัจจัย เป็นสภาพธรรมที่ก่อให้เกิดปัจจยุปบันธรรมซึ่งเป็นผลเพราะฉะนั้น ต้องทราบว่า นี่เป็นปัจจัย นั่นเป็นปัจจยุปบัน

    ถ. ปัจจยุปบัน ในที่นี้หมายถึงอะไร

    สุ. ผลของปัจจัย ผลที่เกิดเพราะปัจจัยนั้น

    ถ. ปัจจยุปบัน ทำให้เกิดจิตหรือ

    สุ. อาหารปัจจัย ที่เป็นนามอาหารมี ๓ ใช่ไหม

    ถ. ใช่

    สุ. ผัสสเจตสิกเป็นปัจจัย อะไรเป็นปัจจยุปบัน

    ถ. จิต

    สุ. และเจตสิกอื่นๆ เช่น เวทนาเจตสิก และเวลาที่มโนสัญเจตนาหารเป็นปัจจัย อะไรเป็นปัจจยุปบัน

    ถ. ก็จิตและเจตสิกอื่นๆ

    สุ. และเวลาที่จิตเป็นวิญญาณาหาร อะไรเป็นปัจจยุปบัน

    ถ. จิตและเจตสิกอื่นๆ

    สุ. ไม่ใช่จิต ต้องเจตสิกอื่นๆ และจิตตชรูป

    ถ. เข้าใจแล้ว ผมขอเรียนถามเรื่องอารมณ์ ๖ ที่เป็นธัมมารมณ์ องค์ธรรมคืออะไร

    สุ. ธัมมารมณ์ คือ อารมณ์ที่รู้ได้ทางใจทางเดียว ไม่สามารถจะรู้ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายได้ เพราะฉะนั้น จิตปรมัตถ์เป็นธัมมารมณ์ เพราะไม่มีใครสามารถเห็นจิตทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เจตสิก ก็เป็นธัมมารมณ์ เพราะว่ารู้ได้เฉพาะทางใจ ทวารอื่นไม่สามารถจะรู้ลักษณะของเจตสิกได้ และรูปที่เป็นสุขุมรูป และปสาทรูป ก็ไม่สามารถรู้ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เพราะฉะนั้น สภาพธรรมใดๆ ซึ่งรู้ได้โดยทางใจเท่านั้น เป็นธัมมารมณ์

    ถ. ธัมมารมณ์ก็มีได้ทั้งรูป ทั้งนาม

    สุ. รวมทั้งนิพพานและบัญญัติด้วย เพราะว่าไม่สามารถรู้ได้ทางทวารทั้ง ๕

    ถ. ที่ผมเคยพิจารณา ก็พิจารณาว่า น่าจะเป็นสัญญาเจตสิกเท่านั้น

    สุ. เจตสิกก็เป็นธัมมารมณ์ เพราะว่ารู้ได้ทางใจเท่านั้น

    ถ. ขณะที่คิดนึก คิดนึกถึงคำพูด บุคคล เรื่องราว เป็นธัมมารมณ์หรือเปล่า

    สุ. เป็น เพราะว่าไม่ใช่รู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

    ถ. เมื่อเห็นรูปปรากฏ การระลึกถึงสัณฐานของรูปเป็นธัมมารมณ์หรือเปล่า

    สุ. ถ้าไม่ใช่ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย รู้ได้เฉพาะทางใจ ต้องเป็น ธัมมารมณ์เท่านั้น

    นี่เป็นการที่จะรู้ว่า สภาพธรรมแยกกัน ในขณะที่เห็นกับในขณะที่รู้ความหมาย ซึ่งโดยทวารแล้ว ขณะที่เห็นเป็นทางจักขุทวารเท่านั้น ขณะที่รู้ความหมายเป็นทาง มโนทวารเท่านั้น แต่เพราะว่าเกิดดับสืบต่อกันเร็วมากจึงทำให้ดูเหมือนกับว่า รู้ความหมายของสิ่งที่เห็นทันทีที่เห็น แต่ความจริงแล้วแยกห่างจากกันมาก

    อาหารปัจจัยขอทบทวนว่า มี ๔ อย่าง คือ เป็นรูปอาหาร ๑ เป็นนามอาหาร ๓สำหรับนามอาหารปัจจัย ได้แก่ ผัสสเจตสิกที่เกิดกับจิต ๘๙ ดวง เจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิต ๘๙ ดวง และจิตทุกดวง เป็นอาหารปัจจัย

    สำหรับปัจจยุปบัน ถ้าผัสสเจตสิกเป็นผัสสาหาร ปัจจยุปบัน ได้แก่ เวทนาเจตสิกและสัมปยุตตธรรม คือ จิตทุกดวงและเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมด้วย และจิตตชรูป และในขณะปฏิสนธิ ปฏิสนธิกัมมชรูปก็เป็นปัจจยุปบันด้วย เพราะถ้า ผัสสเจตสิกไม่เกิดกับปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิจิตไม่เกิด ปฏิสนธิกัมมชรูปก็เกิดไม่ได้

    สำหรับมโนสัญเจตนาหาร ซึ่งได้แก่ เจตนาเจตสิกในจิตทุกดวงเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้น ปัจจยุปบัน ได้แก่ สัมปยุตตธรรม คือ จิตทุกดวงและเจตสิกอื่นๆ ซึ่งเกิดร่วมด้วย และจิตตชรูป และในขณะปฏิสนธิ เจตนาเจตสิกซึ่งเกิดกับปฏิสนธิจิตก็เป็นปัจจัยนำมาซึ่งปฏิสนธิกัมมชรูปด้วย

    วิญญาณาหาร ก็โดยนัยเดียวกัน คือ เมื่อวิญญาณ คือ จิต ๘๙ ทุกดวงเป็นปัจจัย ปัจจยุปบันก็คือเจตสิกซึ่งเกิดร่วมด้วย และจิตตชรูป และในขณะปฏิสนธิ ปฏิสนธิกัมมชรูปก็เป็นปัจจยุปบันด้วย

    แต่หลังจากปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว จิตดวงต่อไปเป็นวิญญาณาหารนำมาซึ่งเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยและจิตตชรูปเท่านั้น ส่วนกัมมชรูปก็เกิดไปทุกขณะของจิต ทั้งในอุปาทขณะ ฐีติขณะ และภังคขณะ ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน เฉพาะในขณะปฏิสนธิเท่านั้นที่ปฏิสนธิกัมมชรูปต้องอาศัย ปฏิสนธิจิตเป็นปัจจัย

    ถ. กพฬิงการาหารที่เป็นรูป องค์ธรรมหมายถึงโอชารูป

    สุ. หมายถึงโอชารูป ซึ่งรวมอยู่ในกลุ่มของรูปที่มีรูปอย่างน้อยที่สุด ๘ รูป โอชานั้นเป็นปัจจัยให้เกิดกลุ่มของรูปต่อไป ซึ่งเรียกว่า อาหารชรูป

    ถ. สำหรับรสะ อยู่ในกลุ่ม ๘ รูปนี้ด้วยหรือ

    สุ. แต่ไม่ใช่โอชา คนละรูป ในกลาปหรือกลุ่มที่เล็กที่สุดของรูป มีรูปรวมอยู่ ๘ รูป คือ ธาตุดิน ๑ ธาตุน้ำ ๑ ธาตุไฟ ๑ ธาตุลม ๑ เป็นมหาภูตรูป ๔ และมีอุปาทายรูปซึ่งเกิดกับมหาภูตรูปอีก ๔ คือ สี สภาพที่ปรากฏทางตา ๑ กลิ่น ๑ รส ๑ โอชา ๑ เพราะฉะนั้น โอชาไม่ใช่รส



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๑๖ ตอนที่ ๑๑๕๑ – ๑๑๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 86
    28 ธ.ค. 2564