แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1180


    ครั้งที่ ๑๑๘๐


    สาระสำคัญ

    ทรงเตือนให้พระภิกษุสังวรและอบรมเจริญปัญญา

    สงฺ.สฬ.วีณาสูตร -โทษของนามธรรมและรูปธรรม

    อาศัยการฟัง การพิจารณาจนเป็นความเข้าใจจริงๆ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๒๕


    ข้อความต่อไป ขณะที่สังวร

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    … เป็นผู้เข้าไปตั้งกายสติไว้ มีใจหาประมาณมิได้อยู่ และย่อมรู้ชัดซึ่ง เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับไปไม่เหลือแห่งอกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้น อันบังเกิดขึ้นแล้วแก่เธอตามความเป็นจริง ฯ

    สำหรับผู้ที่สังวรและอบรมจิตด้วยสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏบ่อยๆ เนืองๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษจับสัตว์ ๖ ชนิด ซึ่งมีวิสัยต่างกัน มีโคจรต่างกัน คือ พึงจับงู จระเข้ นก สุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอก ลิง แล้วผูกด้วยเชือกอันเหนียวแน่น ครั้นแล้วพึงผูกไว้ที่หลักหรือที่เสาอันมั่นคง

    ตอนแรกไม่ได้ผูกไว้ที่หลักหรือเสาอันมั่นคง แต่เอาเชือกมาขมวดปมไว้ตรงกลาง เพราะฉะนั้น สัตว์ ๖ ชนิดต่างก็ย่อมดึงกันไปมาสู่อารมณ์ของตนๆ แต่สำหรับการอบรมเจริญสติปัฏฐานนั้น ผูกสัตว์เหล่านั้น ด้วยเชือกอันเหนียวแน่น ครั้นแล้วพึงผูกไว้ที่หลักหรือที่เสาอันมั่นคง

    ทีนั้นแลสัตว์ ๖ ชนิดเหล่านั้น ซึ่งมีวิสัยต่างกัน มีโคจรต่างกัน พึงดึงมาสู่โคจรและวิสัยของตนๆ คือ งูพึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักเข้าไปสู่จอมปลวก จระเข้พึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักลงแม่น้ำ นกพึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักบินขึ้นสู่อากาศ สุนัขบ้านพึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักเข้าไปบ้าน สุนัขจิ้งจอกพึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักเข้าสู่ป่าช้า ลิงพึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักเข้าไปสู่ป่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดแล สัตว์ ๖ ชนิดเหล่านั้นต่างก็จะไปตามวิสัยของ ตนๆ พึงลำบาก เมื่อนั้นสัตว์เหล่านั้นพึงยืนแนบ นั่งแนบ นอนแนบหลักหรือเสานั้นเอง แม้ฉันใด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งอบรมกระทำให้มากซึ่ง กายคตาสติ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จักษุย่อมไม่ฉุดภิกษุนั้นไปในรูปอันเป็นที่พอใจ รูปอันไม่เป็นที่พอใจย่อมไม่เป็นของปฏิกูล ฯลฯ ใจย่อมไม่ฉุดไปในธรรมารมณ์อันเป็นที่พอใจ ธรรมารมณ์อันไม่เป็นที่พอใจย่อมไม่เป็นของปฏิกูล ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สังวรย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้แล

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คำว่า หลักหรือเสาอันมั่นคงนั้น เป็นชื่อของกายคตาสติ เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า กายคตาสติ เราทั้งหลายจักอบรมกระทำให้มาก กระทำให้เป็นดังยาน กระทำให้เป็นที่ตั้ง ให้มั่นคง สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ

    จบ สูตรที่ ๑๐

    ไม่ได้ให้กระทำอย่างอื่น นอกจากอบรมเจริญปัญญาพร้อมสติ กายคตาสติ เป็นอีกชื่อหนึ่งหรืออีกความหมายหนึ่งของกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏที่กาย ซึ่งเมื่อระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏที่กายแล้ว จะรวมไปถึงเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานด้วย ไม่ว่าสภาพธรรมใดที่เป็นของจริงซึ่งเกิดขึ้นที่จะไม่รู้ และจะละการยึดถือสภาพธรรมนั้นๆ ว่า เป็นตัวตน สัตว์ บุคคล และจะดับกิเลส ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    สำหรับธัมมารมณ์ หมายความถึงอารมณ์ซึ่งไม่สามารถจะรู้ได้ทางตา หรือ ทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย เพราะฉะนั้น อารมณ์ใดก็ตามซึ่งรู้ได้เฉพาะทางใจ อารมณ์นั้นเป็นธัมมารมณ์

    เสียงเป็นธัมมารมณ์ไหม ไม่เป็น เพราะสามารถรู้ได้ทางหู

    สิ่งที่ปรากฏทางตา สีสันวัณณะต่างๆ เป็นธัมมารมณ์ไหม ไม่เป็น เพราะสามารถรู้ได้ทางตา

    ธัมมารมณ์หมายเฉพาะอารมณ์ทุกอย่างซึ่งไม่สามารถจะรู้ได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะฉะนั้น อารมณ์จึงมี ๖ คือ รูปารมณ์ สิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้ ๑ สัททารมณ์ เสียงที่กำลังปรากฏทางหูในขณะนี้ ๑ คันธารมณ์ กลิ่น ๑ รสารมณ์ รส ๑ โผฏฐัพพารมณ์ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ที่ปรากฏที่กายในขณะนี้ ๑ และธัมมารมณ์ อารมณ์ที่ไม่สามารถรู้ได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ๑

    ฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ ถ้าเจริญสติปัฏฐานจะทราบได้ว่า อะไรเป็นธัมมารมณ์

    ความรู้สึก ทุกคนมีปวด มีเจ็บ มีสุข มีทุกข์ทางกาย ขณะนั้นที่กำลังระลึกรู้ลักษณะที่ปวด ที่เจ็บ ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น ลักษณะของความรู้สึกไม่ใช่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ซึ่งเป็นโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น เวทนาหรือความรู้สึกนั้น เป็นธัมมารมณ์

    เวลาที่โกรธ ลักษณะที่โกรธเป็นจิตที่กระด้าง หยาบ ไม่อ่อนโยน ขณะนั้นที่จะรู้ลักษณะที่หยาบกระด้าง ไม่อ่อนโยน ประทุษร้าย ลักษณะนั้นก็เป็นธัมมารมณ์ เพราะว่าเป็นสิ่งที่รู้ได้ทางใจ

    ชีวิตในวันหนึ่งๆ ไม่มีอะไรเลย นอกจากสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง ซ้ำแล้วซ้ำอีกเรื่อยๆ ไป ไม่เปลี่ยน ทางตาก็จะต้องเห็น ทางหูก็จะต้องได้ยิน ทางจมูกก็จะต้องได้กลิ่น ทางลิ้นก็จะต้องลิ้มรส ทางกายก็จะต้องกระทบสัมผัส ทางใจก็จะต้องนึกคิดเรื่องราวต่างๆ เพราะฉะนั้น เรื่องราวต่างๆ ก็เป็นธัมมารมณ์

    ถ. กายคตาสติเป็นอารมณ์ของสมถกัมมัฏฐาน ๑ ใน ๔๐ และยังเป็น กายานุปัสสนาสติปัฏฐานด้วย พิจารณาอย่างไรจึงเป็นสมถะ พิจารณาอย่างไรจึงเป็นวิปัสสนา

    สุ. มิได้ ในบางสูตรกล่าวไว้เลยว่า กายคตาสติ ได้แก่ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่ได้หมายความอย่างที่เคยทราบว่า กายคตาสติ ได้แก่ การพิจารณาส่วนต่างๆ ของกาย แต่ในที่นั้นหมายความถึงกายานุปัสสนาสติปัฏฐานทั้งหมด

    ถ. กายคตาสติ ถ้าสาธยายถึงผม ขน เล็บ ฟัน หนัง อาการ ๓๒ ก็เป็นอารมณ์ของสมถะ ทำให้ถึงปฐมฌานได้

    สุ. นั่นเป็นเรื่องของสมถภาวนา

    ถ. เพราะฉะนั้น พิจารณาอย่างไรจึงจะเป็นสมถะ พิจารณาอย่างไรจึงจะเป็นวิปัสสนา

    สุ. สมถะ คือ จิตสงบเพราะเป็นกุศล โดยที่ไม่ได้รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม เมื่อไม่รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ก็เป็นกุศลประเภทหนึ่งประเภทใด คือ เป็นไปในทาน หรือในศีล หรือเป็นไปในความสงบ เพราะฉะนั้น สมถะหมายความถึงความสงบ ขณะใดที่กุศลจิตเกิดขณะนั้นสงบ ถ้าเห็นผมแล้ว อกุศลจิตเกิด ไม่สงบ แม้ว่าผมจะเป็นกายคตาสติส่วนหนึ่งใน ๕ หมวดแรก คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง

    เพราะฉะนั้น ความสงบอยู่ที่จิต จะต้องรู้ว่า พิจารณาอย่างไรเมื่อเห็นผมแล้ว จึงจะเป็นกุศล ซึ่งก็ได้กล่าวถึงแล้วในเรื่องของสมถภาวนา

    ในขณะที่กระทบผม และระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่เป็นรูปที่แข็ง เป็นโผฏฐัพพะในขณะที่กระทบ ขณะนั้นรู้ว่า ไม่มีอย่างอื่นปรากฏรวมอยู่ในที่นั้นเลย ที่เคยยึดถือว่าเป็นเราทั้งหมดตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าประกอบด้วยกระดูกกี่ชิ้น ตับ ปอด ม้าม หัวใจ ต่างๆ แท้ที่จริงแล้วในขณะที่เพียงแข็งเล็กน้อยส่วนหนึ่งส่วนใดปรากฏ ซึ่งเคยเข้าใจว่าเป็นผม ในขณะนั้นถ้ารู้ลักษณะว่า มีเพียงรูปแข็งเล็กนิดเดียวที่กำลังปรากฏในขณะนั้น นั่นหรือคือเรา ก็จะรู้ได้ว่า ไม่ใช่เราเลย จนกว่าจะประจักษ์ว่า แม้แข็งซึ่งกำลังเป็นโผฏฐัพพะในขณะนั้น ก็กำลังเกิดดับด้วย เช่นเดียวกับรูปอื่นๆ นี่โดยนัยของสติปัฏฐาน

    ไม่ต้องตั้งอกตั้งใจที่จะให้สงบถึงขั้นปฐมฌาน เพราะว่าเป็นสิ่งที่แสนยาก ซึ่งในวันหนึ่งๆ ทุกคนก็มีผม แต่ว่าสงบบ้างไหม โดยนัยของสมถะ หรือว่าระลึกรู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงลักษณะที่กระทบสัมผัสกายและมีลักษณะที่แข็งเท่านั้น แค่นี้ระลึกบ้างไหม ยังไม่ต้องถึงปฐมฌาน ทุติยฌาน แต่สิ่งที่มีอยู่พร้อมที่จะให้ศึกษาให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลขั้น สมถภาวนา หรือขั้นสติปัฏฐาน แต่ให้เห็นถึงความหลงลืมสติในวันหนึ่งๆ ว่า แม้ว่าผมเป็นสิ่งที่จะทำให้เกิดปัญญาได้ ทำให้กุศลจิตเกิดได้ แต่แม้กระนั้นทุกขณะที่สัมผัสกระทบผมประจำวัน ก็ยังเป็นปัจจัยให้อกุศลจิตเกิด

    เพราะฉะนั้น จึงต้องรู้หนทางที่จะทำให้ปัญญาเกิดขึ้น เพื่อดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ซึ่งจะต้องมีความอดทนพากเพียรระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็น สติปัฏฐานไปเรื่อยๆ เพราะเป็นหนทางเดียว

    เพียงเท่านี้พอไหม คือ เพียงให้กระทบผมและเป็นกุศลจิต ยังไม่ต้องถึงปฐมฌาน ถ้าเป็นไปได้ ก็เป็นกุศลในวันหนึ่งๆ มากพอสมควร

    ข้อความใน สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค วีณาสูตร จะเห็นพระมหากรุณาที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุเคราะห์โดยการทรงแสดงธรรมอุปมาให้เห็นโทษของนามธรรมและรูปธรรม โดยการเปรียบเทียบกับเครื่องดนตรีชนิดหนึ่ง ท่านผู้ฟังที่ชอบเสียงดนตรี ในชีวิตประจำวันไม่ทราบว่าสติเคยระลึกรู้ความจริง และอบรมเจริญปัญญาที่จะละคลายความยินดีพอใจในนามธรรมและรูปธรรมเนื่องด้วยเสียงดนตรีบ้างไหม

    ข้อความใน วีณาสูตร มีว่า

    ข้อ ๓๔๕

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พระราชาหรือมหาอำมาตย์แห่งพระราชา ยังไม่เคยได้ฟังเสียงพิณ พระราชาหรือมหาอำมาตย์แห่งพระราชาฟังเสียงพิณแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า แน่ะท่านผู้เจริญ นั่นเสียงอะไรหนอ น่าชอบใจ น่าใคร่ น่าบันเทิง น่าหมกมุ่น น่าพัวพันอย่างนี้ บุรุษนั้นกราบทูลว่า ขอเดชะ เสียงนั้นเป็นเสียงพิณ

    พระราชาหรือมหาอำมาตย์แห่งพระราชาพึงกล่าวว่า แน่ะท่านผู้เจริญ ท่านทั้งหลายจงนำพิณนั้นมาให้แก่เรา ราชบุรุษทั้งหลายพึงนำพิณมาถวาย พึงกราบทูลว่า นี่คือพิณนั้น

    พระราชาหรือมหาอำมาตย์แห่งพระราชานั้นพึงกล่าวว่า แน่ะท่านผู้เจริญ ฉันไม่ต้องการพิณนั้น ท่านทั้งหลายจงนำเสียงพิณนั้นมาให้แก่เราเถิด ราชบุรุษกราบทูลว่า ขอเดชะ ขึ้นชื่อว่าพิณนี้มีเครื่องประกอบหลายอย่าง มีเครื่องประกอบมาก นายช่างประกอบดีแล้วด้วยเครื่องประกอบหลายอย่าง คือ ธรรมดาว่าพิณนี้อาศัยกระพอง อาศัยแท่น อาศัยลูกบิด อาศัยนม อาศัยสาย อาศัยคัน และอาศัยความพยายามของบุรุษซึ่งสมควรแก่พิณนั้น มีเครื่องประกอบหลายอย่าง มีเครื่องประกอบมาก นายช่างประกอบดีแล้วด้วยเครื่องประกอบหลายอย่างจึงจะเปล่งเสียงได้

    พระราชาหรือมหาอำมาตย์ของพระราชาทรงผ่าพิณนั้น ๑๐ เสี่ยง หรือ ๑๐๐ เสี่ยง แล้วกระทำให้เป็นส่วนน้อยๆ แล้วพึงเผาด้วยไฟ แล้วพึงกระทำให้เป็นเขม่า โปรยไปด้วยลมแรง หรือพึงลอยไปเสียในแม่น้ำมีกระแสอันเชี่ยว ท้าวเธอตรัสอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ได้ยินว่า ชื่อว่าพิณนี้เลวทราม สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่จะเลวทรามกว่าพิณนี้ไม่มี เพราะพิณนี้ คนต้องมัวเมา ประมาท หลงใหล จนเกินขอบเขต ฉันใด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุก็ฉันนั้นนั่นแล ย่อมแสวงหารูปเท่าที่มีคติ เวทนา สัญญา สังขารทั้งหลาย วิญญาณเท่าที่มีคติอยู่ใด เมื่อเธอแสวงหารูปอยู่ รูปใด เวทนาใด สัญญาใด สังขาร วิญญาณเท่าที่มีคติอยู่ใด ความยึดถือโดยคติของภิกษุนั้นว่า เรา หรือว่าของเรา หรือว่าเป็นเรา แม้ความยึดถือนั้น ก็ไม่มีแก่เธอ ฯ

    เรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวัน แต่พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาเพื่อให้เห็นโทษของความพอใจ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ ทุกคนชอบเสียงที่เพราะ แม้แต่พระราชาก็ยังโปรดเสียงพิณว่า เป็นเสียงที่น่าชอบใจ น่าใคร่ น่าบันเทิง น่าหมกมุ่น และให้นำเอาพิณมาให้ แต่เมื่อเห็นพิณแล้วจึงรู้ว่า กว่าเสียงที่เพราะที่พอใจจะเกิดขึ้น จะต้องประกอบด้วยเครื่องประกอบมากมาย

    เพราะฉะนั้น ชีวิตในวันหนึ่งๆ ทุกครั้งที่เห็นสิ่งที่น่าพอใจ ให้ทราบว่า กว่าอารมณ์นั้นจะเป็นที่พอใจ ต้องใช้เครื่องประกอบมากกว่าจะสำเร็จลงเป็นอารมณ์ที่น่าพอใจทางตา ไม่ว่าจิตรกรรมต่างๆ

    ทางหู เสียงดนตรีก็ต้องอาศัยเครื่องประกอบมากมาย ทางจมูก กลิ่นหอมที่น่าพอใจ ก็ต้องอาศัยเครื่องประกอบและความพยายามที่จะให้เป็นกลิ่นที่น่าพอใจอย่างมากมาย ทางรส อาหารประจำวัน จะเห็นได้ชัดว่า กว่ารสที่พอใจจะเกิดขึ้น ต้องอาศัยเครื่องประกอบที่มากมาย เพราะฉะนั้น น่าจะเป็นทุกข์มากกว่าจะได้แต่ละอย่างที่น่าพอใจ ต้องเสียเวลาประดิษฐ์ทำสิ่งที่จะทำให้เกิดความน่าพอใจทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะฉะนั้น พระราชานั้นจึงเห็นโทษว่า

    ท่านผู้เจริญ ได้ยินว่า ชื่อว่าพิณนี้เลวทราม สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่จะเลวทรามกว่าพิณนี้ไม่มี เพราะพิณนี้ คนต้องมัวเมา ประมาท หลงใหล จนเกินขอบเขต และต้องอาศัยความพยายามของบุรุษซึ่งสมควรแก่พิณนั้น ต้องมีเครื่องประกอบหลายอย่าง มีเครื่องประกอบมาก นายช่างประกอบดีแล้วด้วยเครื่องประกอบหลายอย่างจึงจะเปล่งเสียงได้

    เพราะฉะนั้น กว่าจะเห็นโทษจริงๆ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงมีพระมหากรุณา ไม่ละโอกาสที่จะทรงอุปมาให้เห็นโทษของความยินดี ความเพลิดเพลิน ความหมกมุ่น ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และผู้ฟังพระธรรมก็จะต้องฟังโดย ไม่เบื่อที่จะรู้ว่า เป็นอนุสาสนีด้วยพระมหากรุณาที่พระผู้มีพระภาคทรงพร่ำเตือน พุทธบริษัท เพื่อให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะเป็นหนทางเดียวที่สามารถดับกิเลสได้จริงๆ

    ถ้ากำลังเห็นและพอใจ จะห้ามไม่ให้พอใจ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ใครก็ทำไม่ได้ แต่สติสามารถเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้ว่าขณะที่ล่วงไปแล้ว จะผ่านไปแล้วโดยสติไม่ได้เกิดขึ้นระลึก แต่ขณะนี้เองก็ยังคงมีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตาพร้อมที่จะให้สติเริ่มระลึกอีกได้ หรือว่าขณะต่อไปสติก็จะเกิดได้อีก ถ้าขณะนี้ยังไม่เกิด แสดงให้เห็นว่า สภาพธรรมมีอยู่พร้อมที่จะให้สติระลึกได้ทั้งสิ้น แต่ต้องอาศัยการฟังจริงๆ การพิจารณาจนกระทั่งเป็นความเข้าใจจริงๆ สติจึงจะสามารถระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรมได้

    มิฉะนั้นแล้ว โดยไม่เข้าใจอะไรเลย แต่จะไปดู จะไปจ้อง จะพยายามให้ประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรม ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะประจักษ์ได้ เพราะว่าก่อนที่จะประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมได้จริงๆ ต้องเป็นผู้ที่สติสามารถจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมใดๆ ก็ได้ ทางหนึ่งทางใดก็ได้ ในขณะไหนก็ได้ เพราะรู้ว่าสภาพธรรมแต่ละอย่างปรากฏเพียง ชั่วขณะที่สติระลึก และก็ดับไป

    อย่าลืม สภาพธรรมปรากฏเพียงชั่วขณะที่สติระลึกและก็ดับ ถ้าไม่ระลึก สภาพธรรมก็ยังคงเกิดดับๆ แต่ไม่รู้ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่สติระลึก สภาพธรรมปรากฏชั่วขณะที่สติระลึกและก็ดับ และสภาพธรรมอื่นก็มีเหตุปัจจัยเกิดปรากฏ และสติของบุคคลนั้นก็สามารถที่จะระลึก โดยไม่เยื่อใย ไม่หวั่นไหว ในการที่จะรู้ว่า ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างนั้นเล็กน้อยจริงๆ สั้นจริงๆ เป็นสภาพธรรม แต่ละชนิด ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้น ด้วยความเข้าใจที่สมบูรณ์ขึ้น จึงจะสามารถประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมได้ แต่ปัญญาต้องเจริญขึ้นโดยอาศัย การฟัง และการเข้าใจเรื่องของอินทรีย์ทั้ง ๖ นี้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๑๘ ตอนที่ ๑๑๗๑ – ๑๑๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 86
    28 ธ.ค. 2564