แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1160


    ครั้งที่ ๑๑๖๐


    สาระสำคัญ

    ลำดับแห่งเทศนาในอินทรีย์ ๒๒

    ภาวรูปเป็นรูปซึ่งเกิดเพราะกรรม

    การอบรมเจริญปัญญาซึ่งเป็นอินทรีย์ ๕


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๒๕


    ถ. เรื่องนี้ผมอ่านแล้ว ไม่อยากเชื่อเลย ในธรรมบท มีบุตรเศรษฐีคนหนึ่งเห็นท่านพระมหากัจจายนะมีรูปสวยงาม จึงนึกว่าพระรูปนี้ถ้ามาเป็นเมียเราก็จะดี นึกเท่านี้เพศชายของบุตรเศรษฐีนั้นหายไป กลายเป็นผู้หญิง กรรมอะไรจึงส่งผลเร็วถึงขนาดนั้น

    สุ. วันนี้ท่านผู้ฟังแข็งแรงดี พรุ่งนี้มีเนื้องอกก้อนใหญ่ได้ไหม

    ถ. นั่นอาจจะเป็นกรรมในอดีต

    สุ. กรรมไหนก็ตามแต่ ความเปลี่ยนแปลงของรูปร่างกายเกิดได้ไหม เพราะว่ารูปเกิดดับเร็วมาก เพราะฉะนั้น ที่ภาวรูปเป็นหญิงเกิดก็เพราะกรรมเป็นปัจจัยทำให้อิตถีภาวรูปเกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ สืบต่ออยู่ ตราบใดที่กรรมนั้นยังไม่เป็นปัจจัยทำให้ปุริสภาวรูปเกิด ท่านผู้ฟังคิดถึงชาติหน้า หญิงเกิดเป็นชายได้ไหม

    ถ. ได้

    สุ. ชายเกิดเป็นหญิงได้ไหม

    ถ. ได้

    สุ. เพราะอะไรเป็นปัจจัย เพราะกรรมเป็นปัจจัย แต่ถ้าเอาฉากกันชาติออก ให้ต่อกันไปเลย วันนี้ เมื่อวานนี้ พรุ่งนี้ หรือว่าชาติหน้า ไม่มีฉากกั้น จะเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ไหม โดยไม่เอาคำว่าชาติมากั้น จะเป็นไปได้ไหม

    ถ. รูปร่างกายไม่เหมือนกันนี่ ถ้าเป็นชาติหน้าก็ต้องปฏิสนธิ ต้องเกิดเป็นเด็กใหม่ และค่อยๆ เติบโตขึ้น แต่นี่ขณะที่เป็นชายหนุ่ม กลายเป็นหญิงสาว ในขณะนั้นเลย จากรูปร่างกายอันนั้นเอง

    สุ. ดับไปแล้ว รูปใหม่ก็เกิดตามกรรม

    ถ. ถ้าดับไปแล้ว ถ้าเป็นเด็กค่อยๆ โตขึ้นมา ก็ไม่ทำให้เราสงสัย แต่นี่ ทั้งแท่ง ทั้งตัว เป็นหนุ่มแท้ๆ เมื่อครู่นี้ เดี๋ยวนี้เป็นสาวไปเลย เกิดความละอาย ไม่กล้าไปเห็นหน้าพ่อแม่ ลูก ภรรยา หนีจากนครนั้นไปอยู่อีกนครหนึ่ง ไปได้สามีอีกนครหนึ่ง มีลูกอีก ๒ คน อยู่นครนี้เป็นพ่อ มีลูก ๒ ไปอยู่อีกนครหนึ่งเป็นแม่ มีลูก ๒ อ่านแล้วสงสัยมาก

    สุ. ท่านผู้ใหญ่บางท่าน ท่านมีสติ ท่านระลึกว่า อีกไม่นานท่านก็จะกลับเป็นเด็กอีกแล้ว ไม่นานเลย อาจจะเป็นวันนี้ พรุ่งนี้ ท่านก็ต้องไปเป็นเด็กอีกแล้ว เป็นได้ไหม เป็นได้ เพราะฉะนั้น จากหญิงเป็นชาย ไม่เอาฉากกั้นที่เป็นชาติ ก็เปลี่ยนธรรมดา แล้วแต่กรรม เพราะว่าภาวรูปเป็นรูปที่เกิดเพราะกรรม

    ท่านผู้ฟังคิดถึงชาติหนึ่ง ยาว นาน แต่ขอให้นึกถึงเหตุการณ์ในชาติหนึ่งว่า อาจจะเป็นหลายๆ ชาติก็ได้ ถ้าท่านอยากจะเรียกอย่างนั้น กรรมทำให้เกิดเป็นเศรษฐี มั่งมีเงินทองชั่วระยะหนึ่ง อาจจะยาวนานมาก และก็บุคคลนั้นแหละ กรรมก็ทำให้ ไร้แม้ราชบัลลังก์ทรัพย์สมบัติทั้งหมดได้ ถ้าเปลี่ยนเป็นชาติ เกิดมารวยเป็นเศรษฐี มั่งมีมหาศาล ตายไปแล้วเกิดเป็นยาจกเข็ญใจ แต่แทนที่จะข้ามชาติ ก็ในชาตินั้นเอง กรรมก็ปรุงแต่งทำให้สภาพของชีวิตเปลี่ยนไปได้ แม้ภาวรูปซึ่งกรรมเป็นสมุฏฐาน เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นเรื่องของกรรมก็ยากที่ใครจะรู้ได้ว่า เมื่อใดกรรมใดจะให้ผล

    กำลังเห็น กรรมเป็นสมุฏฐานทำให้จักขุปสาทเกิดแล้วดับ เวลานี้ดับแล้ว และกรรมก็เป็นปัจจัยให้จักขุปสาทเกิดอีก และก็เห็นอีก แต่เมื่อใดกรรมไม่เป็นปัจจัยให้ จักขุปสาทรูปเกิด เสมือนเป็นอีกชาติหนึ่งได้ไหม กลายเป็นคนตาบอด เหมือนกับคนที่เกิดมาตาบอดนั่นเอง ก็ย่อมได้ ถ้าไม่คิดถึงสมมติมรณะ เพราะการเกิดแล้วตาย และเกิดอีก ยังไม่ใช่สมุจเฉทมรณะ เพราะฉะนั้น จึงเป็นเพียงสมมติมรณะ สมมติว่าตาย เพราะยังไม่ใช่สมุจเฉท ยังมีปฏิสนธิจิตเกิด เพราะฉะนั้น กรรมสามารถที่จะเป็นปัจจัยแม้ทำให้ภาวรูปเปลี่ยนแปลงไปก็ได้ และเรื่องของภาวรูป ก็มีทั้งผู้ที่เป็นกระเทยซึ่งไม่มีภาวรูปเลย หรือว่าเป็นผู้ที่มีนิมิตตะทั้งหญิงและชาย ชื่อว่าอุภโตพยัญชนก แต่มีอินทรีย์เดียว คือ มีอิตถินทรีย์เท่านั้น หรือปุริสินทรีย์เท่านั้น

    ผู้ที่มีนิมิตตะของทั้ง ๒ รูป และภาวรูปเป็นอิตถีภาวะ เป็นอิตถีอุภโตพยัญชนก ย่อมตั้งครรภ์แม้ด้วยตนเอง ย่อมยังแม้คนอื่นให้ตั้งครรภ์ได้ แต่สำหรับปุริสอุภโตพยัญชนก ย่อมยังคนอื่นให้ตั้งครรภ์ได้ ส่วนตนเองตั้งครรภ์ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่กรรมที่จะทำให้มีภาวรูปอย่างไร

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงสภาพธรรมทั้งหมดโดยละเอียด ซึ่งถ้าไม่พิจารณาจริงๆ จะไม่ทราบว่า รูปซึ่งแต่ละท่านมีอยู่คนละ ๒๗ รูป รูปใดบ้างที่เป็นอินทรีย์ และรูปใดเป็นอินทรีย์ด้วย เป็นอินทริยปัจจัยด้วย

    สำหรับรูปที่เป็นอินทริยปัจจัย เป็นรูปที่ควรแก่การพิจารณา เพราะจะทำให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงจนกระทั่งสามารถเข้าสู่ความสิ้นทุกข์ได้ และการที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ถ้าไม่มีจักขุนทรีย์ การเห็นไม่มี ก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นแต่เพียงสภาพธรรม ชนิดหนึ่ง โสตินทรีย์เป็นปัจจัยให้เกิดการได้ยินเสียง ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ควรที่จะพิจารณาลักษณะของโสตินทรีย์ซึ่งเป็นรูปธรรม และสภาพรู้ซึ่งเป็นโสตวิญญาณ และเสียงซึ่งเป็นรูปธรรม

    สำหรับอินทรีย์ ๒๒ ที่แสดงไว้โดยลำดับ คือ

    ๑. จักขุนทรีย์ ๒. โสตินทรีย์ ๓. ฆานินทรีย์ ๔. ชิวหินทรีย์ ๕. กายินทรีย์ ๖. อิตถินทรีย์ ๗. ปุริสินทรีย์ ๘. ชีวิตินทรีย์ ซึ่งสำหรับชีวิตินทรีย์นั้น รวมทั้งชีวิตรูปและชีวิตนาม

    ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า การแสดงเรื่องอินทรีย์ แสดงโดยลำดับจริงๆ คือ ตั้งแต่ทางตาซึ่งปรากฏอยู่เป็นประจำ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ปรากฏอยู่เป็นประจำ สำหรับอินทรีย์ต่อไปเป็นนามธรรม ซึ่งจะเห็นได้ว่า เป็นการรู้ตามลำดับเพิ่มขึ้น

    คือ ๙. มนินทรีย์ ได้แก่ จิตทั้งหมดทุกดวง ๑๐. สุขินทรีย์ ความรู้สึกเป็นสุขทางกาย

    แสดงให้เห็นเป็นลำดับ โดยการที่เมื่อมีชีวิตนามเกิดขึ้น ก็ย่อมมีจิตเกิดขึ้น และเมื่อมีจิตเกิดขึ้นที่จะไม่มีความรู้สึกเกิด ไม่มี เพราะฉะนั้น การที่ทุกท่านมีจิตเกิดขึ้น ท่านปรารถนา แสวงหา และติดอย่างยิ่งในสุขเวทนา ด้วยเหตุนี้สุขเวทนาจึงเป็นอินทรีย์ที่ ๑๐

    ๑๑. ทุกขินทรีย์ ความรู้สึกเป็นทุกข์ทางกาย

    ๑๒. โสมนัสสินทรีย์ ความรู้สึกเป็นสุขทางใจ

    ๑๓. โทมนัสสินทรีย์ ความรู้สึกเป็นทุกข์ทางใจ

    ๑๔. อุเปกขินทรีย์ ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์

    ชีวิตประจำวัน ซึ่งมีทั้งรูปธรรม นามธรรม และสภาพของเวทนาทั้ง ๕ ซึ่งเป็นอินทรีย์แล้ว ต่อไปก็เป็น

    ๑๕. สัทธินทรีย์ สภาพธรรมที่เป็นใหญ่ในการที่จะให้สัมปยุตตธรรมทั้งหลายมีสภาพที่ผ่องใสปราศจากอกุศล นั่นเป็นลักษณะของศรัทธา ซึ่งเป็นสัทธินทรีย์

    วันหนึ่งๆ ไม่ค่อยจะรู้สึกว่าจิตนี้เศร้าหมอง ไม่ใช่ความรู้สึกเศร้าเป็นทุกข์ แต่เศร้าหมองในที่นี้คือไม่เป็นกุศล สิ่งที่สกปรกเรียกว่าเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส ไม่สะอาด มีใครเคยรู้สึกอย่างนี้บ้างไหม นั่นคือลักษณะของอกุศลจิต

    เพราะฉะนั้น การแสดงอินทรีย์โดยลำดับ หลังจากที่ได้แสดงเรื่องของรูปธรรมที่เป็นอินทรีย์ และนามธรรมซึ่งเป็นอินทรีย์ในชีวิตประจำวันแล้ว ก็ได้แสดงเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ซึ่งเป็นอินทรีย์ ๕ ได้แก่

    ๑๕. สัทธินทรีย์

    ๑๖. วิริยินทรีย์

    ๑๗. สตินทรีย์

    ๑๘. สมาธินทรีย์

    ๑๙. ปัญญินทรีย์

    และที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม อีก ๓ อินทรีย์ คือ

    ๒๐. อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์ ได้แก่ ปัญญาที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมที่เกิดกับโสตาปัตติมรรคจิต ซึ่งอินทรีย์นี้จะไม่เกิดถ้าไม่มีอบรมอินทรีย์ ๕ เพราะฉะนั้น ผลของการอบรมเจริญอินทรีย์ ๕ จะทำให้น้อมไปสู่การละสังโยชน์ เป็นการที่จะให้ สัมปยุตตธรรม คือ ธรรมที่เกิดร่วมด้วย บ่ายหน้าต่อการที่จะละสังโยชน์ ๓ บรรลุถึงการดับกิเลสขั้นโสตาปัตติมรรคจิต

    เมื่อโสตาปัตติมรรคจิตเกิดแล้ว ต่อไปคือ

    ๒๑. อัญญินทรีย์ ได้แก่ ปัญญาเจตสิกซึ่งเกิดกับโสตาปัตติผลจิตตลอดไปจนกระทั่งถึงอรหัตตมรรคจิต เป็นการรู้สภาพของนิพพาน รู้แจ้งอริยสัจธรรมตามที่ โสตาปัตติมรรคจิตรู้แล้วนั่นเอง ซึ่งสภาพของมรรคจิตแต่ละมรรคก็ดับกิเลสเพิ่มขึ้น ตามลำดับขั้นของมรรคนั้นๆ จนถึงอินทรีย์สุดท้าย คือ

    อินทรีย์ที่ ๒๒ ได้แก่ อัญญาตาวินทรีย์ ได้แก่ ปัญญาเจตสิกซึ่งเกิดกับอรหัตตผลจิต เพราะเมื่อบรรลุอัญญาตาวินทรีย์นี้แล้ว ก็ถึงความเบาใจอย่างยอดเยี่ยม คือ ไม่มีกิจอื่นที่จะต้องกระทำอีกแล้ว

    การแสดงอินทรีย์ แสดงถึงสภาพที่เป็นใหญ่ในชีวิตประจำวันโดยทั่วไปของรูปธรรมและนามธรรม ตลอดไปจนถึงสภาพธรรมที่เป็นกุศลในการเจริญปัญญาที่จะให้บรรลุถึงอินทรีย์ขั้นสูงยิ่งขึ้น

    สำหรับสัทธินทรีย์ เป็นใหญ่ในการให้สัมปยุตตธรรมมีสภาพที่ผ่องใสเป็นกุศล วิริยินทรีย์ เป็นกุศลก็ได้ เป็นอกุศลก็ได้ นี่คือความต่างกันของอินทรีย์ ๕ สำหรับ สตินทรีย์ เป็นใหญ่ในการระลึกที่จะเป็นกุศล เพราะว่าสติเป็นโสภณเจตสิก ไม่ใช่อกุศลเจตสิก สมาธินทรีย์ เป็นกุศลก็ได้ เป็นอกุศลก็ได้ และปัญญินทรีย์ ต้องเป็นใหญ่ในความเห็นถูก ในความเข้าใจถูก ที่ทำให้สามารถพ้นจากความเข้าใจผิดได้

    นี่เป็นการแสดงอินทรีย์โดยสังเขป เพื่อให้ท่านผู้ฟังได้ทราบความหมายของ คำว่า อินทรีย์ หรือสภาพธรรมที่เป็นอินทรีย์ว่า เป็นชีวิตประจำวัน เป็นสิ่งที่มีปรากฏ เป็นนามธรรมและรูปธรรมแต่ละประเภทซึ่งจะต้องแตกย่อยออกไป ไม่รวมกันเป็น กลุ่มก้อน จึงสามารถประจักษ์ลักษณะสภาพธรรมที่เป็นอินทรีย์ตามความเป็นจริงได้

    ถ. อินทรีย์ ๒๒ ที่เป็นวิปัสสนาภูมิ ถ้าจะพิจารณาให้เข้าถึงนิพพาน จะต้องพิจารณาทั้ง ๒๒ อินทรีย์เลยหรือ

    สุ. ขอให้ท่านผู้ฟังลองพิจารณาดูอินทรีย์ ๒๒ ว่าได้แก่อะไร ทีละอินทรีย์

    ถ. อิตถินทรีย์กับปุริสินทรีย์ ไม่พิจารณา

    สุ. ไม่เป็นอินทริยปัจจัย

    ถ. ไม่เป็นอินทริยปัจจัย แต่เป็นวิปัสสนาภูมิ

    สุ. สภาพธรรมทั้งหลาย ที่จะกล่าวว่าไม่เป็นกัมมัฏฐาน หรือสติปัฏฐานนั้นไม่มี เพราะจะต้องรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ อย่าลืม กำลังปรากฏในขณะนั้น และต้องรู้ลักษณะของแต่ละอินทรีย์ตามความเป็นจริง เช่น แม้แต่จักขุนทรีย์ จักขุปสาทเป็นรูปที่เห็นไม่ได้แต่กระทบได้ เพราะในรูป ๒๘ รูป มีเพียงรูปเดียวที่เห็นได้ เพราะฉะนั้น เวลาที่มีการเห็นขณะใด ที่จะอบรมเจริญปัญญา คือระลึกได้ รู้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น จึงจะเป็นการรู้ลักษณะของเฉพาะรูปที่เป็น รูปารมณ์จริงๆ

    ธาตุดินที่อ่อนหรือแข็ง สีอะไร

    ถ. สีดำ สีดิน

    สุ. ไม่มีสี ธาตุดินแม้ไม่มีสี แต่ก็ยังแสดงอาการของอุปาทายรูป คือ รูปซึ่งเกิดร่วมด้วย ให้เห็นเป็นสีต่างๆ โดยอุปาทายรูปแต่ไม่ใช่ตัวภูตรูป

    เพราะฉะนั้น การรู้สภาพธรรมต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า ขณะนี้ที่เห็นนั้น เห็นอะไร ไม่ใช่เห็นธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม ใช่ไหม ไม่ใช่เห็นภาวรูป แต่ว่าเห็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา แค่นี้เอง เป็นกัปๆ กว่าปัญญาจะน้อมไปรู้จริงๆ จนปรากฏว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ใช่แม้มหาภูตรูป แต่เป็นเพียง นิมิต เครื่องหมายให้รู้ว่า มีมหาภูตรูปอยู่ที่นั่น จึงสามารถที่จะหยิบยกสิ่งซึ่งมี มหาภูตรูปได้ เพราะถ้าไม่มีอุปาทายรูป คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา จะไม่มีการรู้เลยว่ามหาภูตรูปอยู่ที่ไหน ใช่ไหม ถ้าไม่กระทบสัมผัส เพราะฉะนั้น การเห็นสิ่งที่ปรากฏ ทางตาในขณะนี้ ให้ทราบว่า เห็นเพียงนิมิต เครื่องหมายของมหาภูตรูปเท่านั้น

    นอกจากนั้น เพราะว่ารูปนั้นมีภาวรูปซึ่งเป็นรูปที่ทำให้ปรากฏอาการทรวดทรงของสภาพที่เป็นหญิง หรือเป็นชาย แต่ที่จริงแล้วเฉพาะรูปารมณ์เท่านั้นที่สามารถจะปรากฏทางตาได้ ถ้าระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริงอย่างนี้ ก็จะเห็นสภาพธรรมที่เป็นอนัตตาจริงๆ และละการยึดถือว่าเห็นหญิง เพราะว่าต้องเห็นแต่ สิ่งที่ปรากฏทางตา

    อินทรีย์ ๒๒ ขอทวนอีกครั้งหนึ่งว่า

    ๑. จักขุนทรีย์ เป็นรูป

    ๒. โสตินทรีย์ เป็นรูป

    ๓. ฆานินทรีย์ เป็นรูป

    ๔. ชิวหินทรีย์ เป็นรูป

    ๕. กายินทรีย์ เป็นรูป

    ๖. อิตถินทรีย์ เป็นรูป

    ๗. ปุริสินทรีย์ เป็นรูป

    ๘. ชีวิตินทรีย์ เป็นรูปชีวิตินทริยะ ๑ และเป็นนามชีวิตินทริยะ ๑

    เพราะฉะนั้น ถ้ากล่าวโดยอินทรีย์ ๒๒ เป็นรูป ๗ เป็นนาม ๑๔ เป็นนามและรูป ๑ ซึ่งความต่างกันของชีวิตินทรีย์ที่จำแนกเป็นนามและรูป มีข้อความในอรรถกถา ที่แสดงว่า เฉพาะชีวิตินทริยะเท่านั้นที่ต่างกัน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๑๖ ตอนที่ ๑๑๕๑ – ๑๑๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    Tag  กัมมัฏฐาน  กายินทรีย์  ฆานินทรีย์  จักขุนทรีย์  ชิวหินทรีย์  ชีวิตนาม  ชีวิตรูป  ชีวิตินทรีย์  ทุกขินทรีย์  ปฏิสนธิจิต  ปัญญินทรีย์  ปุริสินทรีย์  ภาวรูป  มนินทรีย์  มหาภูตรูป  วิริยินทรีย์  สตินทรีย์  สติปัฏฐาน  สมมติมรณะ  สมาธินทรีย์  สมุจเฉทมรณะ  สมุฏฐาน  สัทธินทรีย์  สัมปยุตตธรรม  สุขินทรีย์  อกุศลเจตสิก  อนัญญาตัญญัตสามีตินทรีย์  อรหัตมัคคจิต  อริยสัจจธรรม  อัญญาตาวินทรีย์  อัญญินทรีย์  อิตถินทรีย์  อินทริยปัจจัย  อุปาทายรูป  อุภโตพยัญชนก  อุเบกขินทรีย์  เวทนา  โทมนัสสินทรีย์  โสตาปัตติผลจิต  โสตาปัตติมัคคจิต  โสตินทรีย์  โสภณเจตสิก  โสมนัสสินทรีย์  
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 86
    28 ธ.ค. 2564