แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1195


    ครั้งที่ ๑๑๙๕


    สาระสำคัญ

    ข้อปฏิบัติ (ความเห็นที่ถูกต้องตั้งแต่เบื้องแรก)

    ความเป็นอนัตตาของจิตแต่ละขณะ

    ไม่ยึดถือว่าเป็นเราที่จะเป็นสติ หรือจะทำสติ


    ที่วัดป่าแดง จังหวัดเชียงใหม่

    วันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๒๕


    . เรื่องสำนักปฏิบัติ ซึ่งข้อปฏิบัติของผู้เป็นอาจารย์สอนแต่ละแห่งก็มีแนวทางแตกต่างกันไปมากบ้างน้อยบ้าง ในความเห็นหรือความเข้าใจของหลวงพ่อ ในส่วนที่จะมีการเผยแพร่พระพุทธศาสนา ถ้าพูดถึงข้อปฏิบัติที่จะเป็นประโยชน์และเป็นแนวทางที่ถูก หลวงพ่อคิดว่า ควรจะเป็นแนวทางลักษณะเดียวกันตั้งแต่ต้น หรือว่าแยกกันไปก่อนและมารวมกันเป็นจุดเดียวกันในภายหลัง คือ สงสัยว่า แม้กระทั่งพระคุณเจ้าบางรูปก็พูดว่า ปฏิบัติอย่างไรๆ ก็ถึงพระนิพพานเหมือนกัน ทำให้ผมเกิดความข้องใจว่า นี่เป็นความคิดส่วนตัวของท่านหรือเปล่า และถูกต้องหรือเปล่า แต่ถ้าไม่ถูก ก็น่าเป็นห่วง น่าสงสารบุคคลที่อาจจะยึดถือบุคคลที่พูดอย่างนั้น

    พระ เมื่อครู่นี้ ดูเหมือนได้ฟังจากคุณโยมอาจารย์แล้ว หลวงพ่อก็ได้กล่าวเสริมไปแล้วว่า ความเห็นที่ถูก ต้องตั้งแต่เบื้องแรก และนำมาปฏิบัติให้ถูกต้องไปทีละน้อย เป็นทางที่ถูกต้อง เป็นทางตรง ไม่ต้องไปวกวน แบบอื่นที่เขาว่าคงจะต้องไปวกวนอยู่อีกนานมาก

    . และถ้านาน คิดว่าจะกลับถูกได้หรือเปล่า

    พระ ไม่มีใครรับรองได้ ก็คงจะวกวนเป็นเหยื่อของปลาและเต่าไปเรื่อย ๆ

    สุ. มีใครบ้างที่จะแยกชีวิตออกไปจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น แม้เวลาอ่านพระไตรปิฎก ก็เหมือนกับในขณะนี้ พิสูจน์ธรรมอยู่ในตัว จิตประเภทไหน โลภะขณะนี้ ทางตาหรือทางหู โทสะ ทางตาหรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย และทรงขยายไปจนกระทั่งถึงความเป็นอนัตตาของจิตแต่ละขณะ ที่ประกอบด้วยปัจจัยอย่างละเอียดที่จะช่วยให้เห็นความเป็นอนัตตา เพื่อละการยึดถือว่าเป็นตัวตน จึงจะไปสู่ความเข้าใจในอรรถของพยัญชนะที่ว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ไม่มีอะไรเลยที่จะไม่ใช่อนัตตา แต่อนัตตาส่วนมากจะคิดว่า เป็นคำๆ หนึ่ง ซึ่งพูดตามได้ง่ายๆ เมื่อเป็นชาวพุทธแล้วก็พูดตามได้ว่า ทุกอย่างเป็นอนัตตา แต่ไม่ทราบเลยว่า ทุกอย่างที่ว่านั้น ขณะนี้หรือเปล่า กำลังเห็นขณะนี้ที่เป็นอนัตตาคืออย่างไร ทางหูที่เป็นอนัตตาคืออย่างไร

    มีนักศึกษาชาวอังกฤษคนหนึ่งกำลังทำดอกเตอร์ทางพระวินัย รู้สึกว่า เขาตั้งหน้าตั้งตาค้นคว้าเรื่องของพระวินัย แต่ถ้าเขาไม่รู้ประโยชน์ว่า ทำไมเขาจึงค้นคว้าเรื่องพระวินัย ประโยชน์สูงสุดของการที่จะรักษาศีลมากๆ เพื่อที่จะระวังกายวาจาไม่ให้ล่วงไปด้วยกำลังของกิเลส ก็เพื่อการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ที่ว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น ถ้าเขาไม่เข้าใจจุดประสงค์ การค้นคว้าเรื่องพระวินัยก็ไม่มีความหมาย ไม่มีเหตุผลประกอบเลยว่าทำไมจึงต้องเป็นอย่างนั้น จึงได้คุยกันว่า แม้แต่เพียงคำๆ เดียว เช่น คำว่า อนัตตา ถ้าไม่พิสูจน์ธรรมด้วยสติที่ระลึกตามที่ได้ฟังพระธรรม จะไม่เข้าใจว่า ที่กำลังเห็นเป็นอนัตตาได้อย่างไร ที่ปากว่าทุกอย่างเป็นอนัตตา ต้องรวมการเห็นในขณะนี้ด้วย และการเห็นอย่างไรจึงจะเป็นอนัตตา การเห็นอย่างไรจึงเป็นอัตตา ซึ่งถ้าไม่เป็นอัตตาก่อน ก็ไม่ต้องอบรมเจริญปัญญาที่จะละความเป็นอัตตา

    พระ ตรงนี้สำคัญ

    สุ. แต่รู้สึกว่า คนข้ามแม้แต่จุดเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งมีประโยชน์มากถ้าไม่ละเลยคำนั้น พยายามที่จะเข้าใจ อนัตตาทางตา อนัตตาทางหู อนัตตาทางจมูก อนัตตาทางลิ้น อนัตตาทางกาย อนัตตาทางใจ

    พระ ติดอยู่อย่างหนึ่ง เข้าใจว่าเป็นสมถะ และยังหาทางไม่เจอว่าจะทำอย่างไรจึงจะเป็นวิปัสสนา เห็นรูป ตามธรรมดาจิตเคยชำนาญสั่งสมมาก็ดู อนุพยัญชนะ และถ้าไม่รู้สึกตัวก็เพลินไป แต่เมื่อรู้สึกตัวก็ไม่มีทางอื่น มีอยู่ทางเดียวที่จะระงับได้ คือ เพ่งเข้าไปเห็นอย่างนี้

    สุ. ทั้งหมดนี้ ยังเป็นเรื่องของความพยายามที่จะให้จิตสงบ แต่ไม่ใช่การค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพธรรม และค่อยๆ คลายจนดับได้ด้วยการเพิ่มความรู้ขึ้นว่า ลักษณะของนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้แยกขาดจากลักษณะของรูปธรรม เพราะจะรู้เพียงลักษณะของรูปเท่านั้นไม่ได้ เวลาที่กำลังเพลินไปทางอนุพยัญชนะ หมายความว่าขณะนั้นพยายามที่จะน้อมไปหารูปอื่นเพื่อที่จะไม่ไปติดในอนุพยัญชนะ เพราะฉะนั้น เป็นการหลีกไปหลีกมา แต่การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ต้องอาจหาญร่าเริงที่จะระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ โดยการรู้ว่าลักษณะที่เป็นรูปธรรมแยกขาดจากลักษณะของนามธรรมก่อน ต้องตั้งต้นอย่างนี้ เพราะจะมุ่งรู้รูป ละรูป ไม่รู้อนุพยัญชนะของรูป เป็นไปไม่ได้ ตราบใดที่ยังไม่รู้ว่า ลักษณะของรูปธรรมต่างกับลักษณะของนามธรรมซึ่งเป็นธาตุรู้ สภาพรู้ โดยต้องประจักษ์ความแยกขาดจริงๆ จึงจะเห็นว่าเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเรา ลักษณะของรูปเป็นอย่างหนึ่ง ลักษณะของนามที่กำลังเห็นก็ไม่ใช่เราด้วย ทั้ง ๒ อย่าง มิฉะนั้น ยังมีเราที่รู้อย่างนั้น มีเราที่รู้อย่างนี้ ตัวเราที่เป็นนามธรรมนี่ไม่มี ถ้าไม่เจริญสติปัฏฐานจะไม่ทราบเลยว่า เป็นเพียงธาตุรู้ อาการรู้ แยกขาดออกไปจากรูป ซึ่งรูปเพียงปรากฏ แต่ว่าไม่รู้

    พระ ที่กล่าวเมื่อครู่นี้ ตอนที่เห็นรูปปัจจุบัน และก็ไหลไปตามสิ่งที่เห็น เป็นนิมิตอนุพยัญชนะอะไรอย่างนั้น เมื่อรู้สึกตัวแล้ว ก็เปลี่ยนไปเป็นอสุภะ เห็นโครงกระดูก ถ้าหากจะเปลี่ยนมาเป็นวิปัสสนา จะเปลี่ยนตอนที่ได้เห็นโน่น เห็นนี่ ...

    สุ. เพราะเหตุว่าสัมมาสติเป็นสภาพที่ระลึกถูก คือ ระลึกลักษณะของรูป และศึกษาสังเกตจนรู้ชัดว่า ลักษณะนั้นเป็นรูป และรู้ลักษณะของนามธรรม จนสติ เริ่มระลึกที่ลักษณะของนามธรรม และน้อมพิจารณาจนกระทั่งรู้ชัด ซึ่งต้องอาศัย ความเข้าใจโดยการฟังเป็นสังขารขันธ์ ไม่ใช่เป็นตัวตนซึ่งจะทำวันนี้หรือพรุ่งนี้เพราะ คิดว่าจะต้องปฏิบัติ แต่เมื่อมีความรู้จากการฟังเรื่องนามธรรมและรูปธรรมชัดเจน คล่องแคล่วมั่นคงจริงๆ จะเป็นปัจจัยให้สัมมาสติเกิดระลึกโดยสภาพที่เป็นอนัตตา จึงไม่ยึดถือว่า เป็นเราที่เป็นสติ หรือที่จะทำสติ

    ถ้าเป็นเราที่จะทำสติ จะยุ่งมากว่า จะระลึกตรงไหน จะทำตรงไหน จะจดจ้องตรงไหน แต่ถ้าเป็นสัมมาสติ จะระลึกถูกตามที่ได้ฟังและเข้าใจแล้ว ไม่มีผิดเลย สัมมาสติจะค่อยๆ ระลึกที่ลักษณะของรูปบ้าง ที่ลักษณะของนามธรรมบ้าง แต่ถ้าขาดพื้นฐานที่มั่นคงในเรื่องลักษณะของนามธรรมทางตา ลักษณะของนามธรรมทางหู รูปธรรมทางตา รูปธรรมทางหู เหล่านี้ ไม่มีทางที่สัมมาสติจะเกิดได้ จะมีแต่ลักษณะของสมาธิกับความต้องการซึ่งแอบแฝงที่จะให้มีการกำหนดจดจ้อง หรือจะทำอย่างหนึ่งอย่างใดด้วยความเป็นตัวตน

    ถ้าพิจารณาถึงอดีตชาติของพระสาวกทั้งหลาย ก่อนที่ท่านจะตรัสรู้ ท่านบำเพ็ญบารมีกันมา แสนกัปบ้าง เป็นต้น ชีวิตของท่านก็เคยเกิดเป็นพี่น้องของ พระผู้มีพระภาคบ้าง เป็นญาติกับท่านผู้โน้นผู้นี้บ้าง มีการประกอบอาชีพอย่างนั้นอย่างนี้บ้าง ดูเหมือนไม่ได้กล่าวถึงการเจริญสติของท่านเลยที่จะเป็นปัญญาบารมี ที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่ถ้าเข้าใจว่า ท่านเคยฟังพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ และท่านก็เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน เหมือนอย่างในสติปัฏฐานสูตรซึ่งจะไม่ขาดคำว่า เป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน เพราะว่าแต่ละชีวิตก็มีนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ถ้าเข้าใจอย่างนี้ก็ไม่สงสัยว่า ในชาติที่ได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าพระองค์โน้น ในฐานะที่เป็นพ่อค้า ในฐานะที่เป็นอะไรก็ตาม ท่านก็เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน และอีกหลายๆ ชาติ ท่านไปเกิดเป็นอะไร ท่านก็เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน จนกระทั่งถึงชาติที่ท่านบรรลุ แต่ท่านไม่เคยคิดว่า ท่านจะต้องทำ สักครึ่งชั่วโมง หรือว่าสักวันหนึ่ง พอฟังมาแล้ว ก็รีบมาทำ หรืออะไรอย่างนั้น เพราะท่านคงจะเป็นผู้ที่เข้าใจว่า การอบรมเจริญปัญญาต้องค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป จากความไม่เข้าใจเป็นเข้าใจขึ้น จนกระทั่งสติสามารถระลึกได้บ่อยๆ เนืองๆ จากชาติหนึ่งไปอีกชาติหนึ่ง จนกระทั่งความรู้มั่นคงขึ้น

    ถ้ามุ่งที่ความรู้ คงไม่มุ่งที่จะจดจ้องที่ไหน คงไม่มีวิธีที่ว่า จะเปลี่ยนจากโน่น ไปนี่ แต่เมื่อฟังแล้วระลึกได้ว่า ทางตาลักษณะของนามธรรมเป็นอย่างไร ก็จะระลึก ในสิ่งที่กำลังปรากฏทันที เพราะว่าขณะนี้กำลังเกิดดับเร็วมาก ก่อนที่จะทันย้ายหรือเปลี่ยนอารมณ์ แต่ถ้าย้ายหรือเปลี่ยนอารมณ์ไปก็ไม่รู้ความจริงในขณะนี้ว่า เกิดแล้วดับแล้วอย่างรวดเร็วทั้งรูปทั้งนาม ก็ข้ามขณะที่กำลังปรากฏอยู่เรื่อยๆ เพราะว่าพากเพียรที่จะให้สิ่งใหม่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นอนาคต ไม่ใช่ที่กำลังเป็นอยู่ ถ้าโกรธเกิดแล้วไม่ชอบความโกรธ ก็ไม่มีวันที่จะรู้ว่า ลักษณะที่โกรธเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เพราะกำลังมีความต้องการที่จะไม่ให้โกรธ ก็ต่อข้างหน้าไปเลย อนาคตเข้ามาเลย

    พระ ความโกรธเกิดขึ้น ใช้สติรู้ว่าตัวโกรธ โดยมากอยากจะระงับและหาวิธีระงับ

    สุ. เพราะตัว ไม่ชอบเลยที่ตัวนี้โกรธ อย่างกับความโกรธนั้นยังเป็นตัว แต่ถ้ารู้แน่ๆ ไม่หวั่นไหว เพราะว่าโลภะไม่ใช่ตัว โทสะไม่ใช่ตัว อิสสาไม่ใช่ตัว มัจฉริยะไม่ใช่ตัว เห็นไม่ใช่ตัว ถ้ารู้อย่างนี้จริงๆ ก็มีความกล้าที่จะรู้ว่า โกรธขั้นนี้ ถ้าไม่เคยโกรธมาแล้วในอดีตและสะสมมาจนมีกำลัง โกรธขั้นนี้ก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น โกรธขั้นนี้เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง พอกล้าที่จะรู้ลักษณะของความโกรธในขณะนี้ว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ภายหลังก็สบาย ไม่ว่าความโกรธ ขั้นไหนก็สามารถรู้ได้ว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แต่ถ้าความโกรธขั้นนี้ กลัว หวั่นไหว ไม่อยากที่จะให้เป็นเราที่โกรธถึงขั้นนี้ ก็ไม่รู้ว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ต่อไปโกรธขั้นนี้ หรือสูงกว่านี้ หรือต่ำกว่านี้เกิดขึ้น ก็เป็นที่ตั้งของความหวั่นไหวได้

    ความพอใจก็เช่นเดียวกัน โลภะไม่ว่าขั้นไหน ต้องระลึกได้ว่า ถ้าไม่เคยมีโลภะมาก่อน และไม่เคยสะสมจนมีกำลัง โลภะขั้นนี้ก็เกิดไม่ได้ แต่เมื่อรู้ว่าสามารถระลึกรู้โลภะขั้นนี้ได้ ภายหลังโลภะขั้นไหนเกิดขึ้น สติก็สามารถระลึกได้ว่า แต่ละขั้นก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย

    เพราะฉะนั้น ดิฉันคิดว่า ส่วนใหญ่คนมักจะติดที่ความคิด ไม่ยอมที่จะพิจารณารู้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพที่รู้คำ พยายามที่จะปัดไม่ให้คิด จึงไม่รู้ความจริงว่า การรู้คำไม่ใช่การเห็น เป็นจิตคนละขณะ และมีสมมติสัจจะกับปรมัตถสัจจะ ปรมัตถสัจจะไม่ต้องมีชื่อ การได้ยินในขณะนี้ไม่ต้องมีชื่อ ก็เป็นสภาพที่มีจริง แต่ คิดเมื่อไร สมมติสัจตามมาทันที เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานก็รู้ชัด ทั้ง ๒ โลกว่า โลกทางใจเป็นโลกของสมมติสัจจะเวลาที่คิดนึกเกิดขึ้น ซึ่งก็เป็นปรมัตถ์ด้วย เพราะไม่ใช่เรา จนกว่าปัญญาจะรู้ว่า ไม่ว่าจะคิดเรื่องอะไร ก็เพราะปัจจัย ปรุงแต่ง

    อย่างกำลังเห็นกระเป๋า ไม่มีใครสักคนเดียวที่ไม่คิดเรื่องกระเป๋า พอเห็นหนังสือ ก็ไม่มีใครสักคนเดียวที่จะไม่คิดเรื่องหนังสือ พอเห็นเสื่อก็ไม่มีใครสักคนเดียวจะไม่คิดเรื่องเสื่อหรือรูปร่างสัณฐาน ซึ่งแปลว่าความคิดมีหลายระดับขั้น ขั้นระลึกถึงรูปร่างสัณฐาน ยังไม่เป็นคำ แต่ต้องคิดถึงแล้ว มิฉะนั้นจะหยิบจะจับมุมนั้นมุมนี้ไม่ได้ แสดงว่าสติปัฏฐานต้องละเอียดไปจนกระทั่งรู้ว่า ความคิดมีขั้นไหนที่ต่างจากเพียงการเห็นซึ่งเป็นอนัตตา และความหมายของอนุพยัญชนะนั้นแค่ไหน เพราะว่าเพียงเห็น ยังไม่นึกถึงรูปร่างสัณฐาน จึงจะเป็นอนัตตาจริงๆ เนื่องจากเป็นเพียงสภาพธรรมที่คนตาบอดไม่เห็น

    มีเรื่องลงหนังสือพิมพ์ว่า มีคนหนึ่งที่ตาบอดมานาน ดิฉันจำไม่ได้ว่าตั้งแต่กำเนิดหรือเปล่า และภายหลังมีการรักษาจนกระทั่งเขามองเห็นได้ แต่เมื่อเห็นเท่านั้น เขากลัวมาก ตกใจ โลกสว่างนี้ไม่เคยปรากฏกับเขาเลย ครั้งแรกที่ปรากฏน่าตกใจมากสำหรับเขา แต่สำหรับเราซึ่งเห็นตั้งแต่เล็กๆ เห็นมาทุกวันตั้งแต่เกิด และค่อยๆ เห็นเรื่อยๆ ถ้าไม่เห็นคงจะตกใจ เพราะว่าเคยเห็น และก็ติดในการเห็นด้วย รู้ว่าเห็นอะไร แต่สำหรับเขาจากโลกมืดมาสู่โลกที่สว่างจ้าทันที ยังไม่ได้เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย สภาพนั้นเป็นของจริงอย่างหนึ่งซึ่งปรากฏทางตา เป็นอนัตตา ซึ่งคนที่มีตาเห็นแล้ว และ เคยรู้ เคยนึกถึงสิ่งที่เห็น จะต้องระลึกจนกระทั่งแยกออกได้ถึงความต่างกันของ สภาพจิตของแต่ละทวาร ต้องขาดจากกันเป็นแต่ละทวาร ไม่อย่างนั้นตัวตนก็ยังมี จะสงบชั่วคราว จะไม่มีโลภะชั่วคราว จะไม่นึกถึงอนุพยัญชนะ กี่ภพกี่ชาติก็ชั่วคราวอยู่นั่นเอง จนกว่าสติปัฏฐานจะเจริญขึ้นและประจักษ์แจ้งได้จริงๆ ในความเกิดดับ ซึ่งกำลังเกิดดับเป็นปกติ

    พระ คนทางเหนือที่จะถาม ก็มีเรื่องเข้าสำนัก ถ้าเขาอยู่ข้างนอกอย่างนี้ เขาก็เข้าใจว่า ไม่ได้ปฏิบัติกัมมัฏฐาน ถ้าได้ไปสำนักใดสำนักหนึ่งก็เข้าใจว่า บุคคลนี้ได้ไปปฏิบัติและรู้จักการปฏิบัติกัมมัฏฐาน และส่วนมากก็ปฏิบัติกันตอนที่ไปนั่นแหละ

    สุ. แต่ถ้าถามขณะนี้ว่า ของจริงคืออะไร อยู่ที่ไหน เขาจะตอบไม่ได้ เพราะของจริงของเขาไปอยู่ในห้อง นอกห้องอย่างในขณะนี้เขาตอบไม่ได้เลยว่า เป็นของจริง เป็นสัจธรรม ซึ่งอริยสัจธรรมก็มาจากคำว่า สัจธรรม ถ้าเป็นภาษาไทยธรรมดาก็คือของจริงซึ่งมีเป็นปกติ แต่เมื่อเป็นภาษาบาลีก็ต้องไปใส่ในห้องว่า สัจธรรมจะต้องอยู่ที่นั่น ลืมไปว่า กำลังเห็นจริงหรือเปล่า กำลังได้ยินเป็นธรรมหรือเปล่า เป็นสัจธรรมคือธรรมที่มีจริงหรือเปล่า สามารถที่จะเป็นอริยสัจธรรม คือ ทำให้ผู้ที่ประจักษ์แจ้งดับความยึดถือว่าเป็นตัวตนและดับกิเลสได้หรือเปล่า

    เรื่องของผู้ที่เข้าห้องไม่ใช่เรื่องของปัญญา เพราะไม่สามารถรู้ว่า สิ่งที่กำลังมีจริงในขณะนี้เป็นของจริงไหม ถ้าถามเพียงว่า ของจริงอยู่ที่ไหน เขาก็ตอบไม่ได้ เพราะถ้าขณะนี้เป็นของจริง และเขาตอบว่าจริง ปัญญาสามารถรู้สิ่งที่มีจริงได้ไหม ถ้าไม่รู้ ชื่อว่าปัญญาหรือเปล่า ถ้าไม่รู้ต้องเป็นอวิชชา แต่ปัญญาต้องรู้ได้ทุกอย่างหมด และต้องรู้จนทั่ว จนกว่าจะดับความเป็นตัวตนได้จริงๆ

    และเขาก็ไม่คิดถึงคำว่า เป็นผู้มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นจึงเป็นอนัตตา แต่ละคนมีตาเห็น มีปัจจัยปรุงแต่ง เป็นอนัตตา คนนี้มีโลภะ คนนั้นมีโทสะ แล้วแต่การปรุงแต่ง จะให้ทุกคนเหมือนกันได้อย่างไร ไม่มีทางที่ใครจะไปรู้จิตของบุคคลอื่น และต้องทำให้เหมือนกันเป็นแบบเดียวกัน เพราะฉะนั้น ถ้าเพียงเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจะรู้ได้เลยว่า ขณะนี้เป็นปกติ เพราะว่าการนั่งของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน การพูดของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน เป็นปกติ การเดิน ยืน นั่ง นอนของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน เป็นปกติ ตามเหตุตามปัจจัย ถ้าไม่รู้ความเป็นปกติ ไปรู้ความไม่เป็นปกติ จะละการยึดถือสภาพที่เป็นปกติในชีวิตประจำวันได้อย่างไร

    พระ ทั้ง ๒ – ๓ สำนัก เวลาบรรยายเป็นอนัตตาหมด ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นอนัตตา รูปนี่บังคับไม่ได้ แต่ปฏิบัติกลับเป็นอัตตา ให้สติตั้งอยู่ที่โน่นที่นี่ ต้องบังคับสติ เป็นอย่างนั้นทุกแห่ง

    สุ. จึงไม่สอดคล้องกับธรรมที่ศึกษาว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา และ ทางตาที่กำลังเห็น ก็จะต้องระลึกตามปกติจนกว่าจะรู้ เพราะฉะนั้น พวกสำนักจะขาดการเห็นความสำคัญของปัญญาที่จะต้องรู้ทั่ว ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามปกติในชีวิตประจำวันจริงๆ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒๐ ตอนที่ ๑๑๙๑ – ๑๒๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 86
    10 ก.พ. 2566