แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1178


    ครั้งที่ ๑๑๗๘


    สาระสำคัญ

    กระทำไว้ในใจโดยแยบคาย (ไม่ใช่ตัวเราจะทำให้แยบคาย)

    เป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน

    อัฏฐสาลินี รูปกัณฑ์ - ลักษณะของมหาภูตรูปละเอียดมาก

    อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา - อธิบายธาตุ ๔ ชื่อว่า “วาโย”


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๕


    สุ. เพราะฉะนั้น ไม่ใช่มีคนอื่นมาบอกให้มีวิธีทำโดยแยบคาย แต่ต้องเป็นการฟังและพิจารณาให้เข้าใจในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จนเป็นความ แยบคายในขณะที่สติกำลังระลึกลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรม ซึ่งไม่ใช่จะเป็นไปได้โดยง่ายหรือโดยเร็ว ต้องอาศัยการฟังและพิจารณาไปเรื่อยๆ และรู้ว่าในขณะที่กำลังนึกหรือคิด ในขณะนั้นเป็นการรู้คำ คิดถึงคำ เป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ในขณะที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏโดยไม่ได้คิด

    จะต้องเป็นความเข้าใจขึ้นๆ ก่อน ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องสติหรือปัญญา แต่ขอให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมขึ้นเรื่อยๆ

    . กระทำโดยแยบคาย คือ ศึกษาไปก่อน

    สุ. แน่นอน

    . แต่เวลาเจริญสติ ก็เจริญสติไปตามปกติ

    สุ. เมื่อมีความเข้าใจในเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมมากขึ้น อย่าลืม ปัญญา คือ การเริ่มเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมตั้งแต่ขั้นของการฟังก่อน เมื่อเข้าใจขึ้นๆ เป็นปัจจัยให้สติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ จะเห็นความเป็นอนัตตาของสติว่า ไม่ใช่เราจะทำ แต่เป็นสติที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏจริงๆ จึงทำให้ระลึกได้

    เพราะฉะนั้น ไม่ต้องห่วงเรื่องสติและปัญญา แต่ขอให้เข้าใจลักษณะของ สภาพธรรมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะเป็นปัจจัยให้สติระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมตามที่เข้าใจได้ถูกต้อง

    ถ. เวลาสติระลึกได้ว่า ไม่เป็นเรา เป็นการคิดใช่ไหม

    สุ. เพียงแต่ระลึกที่ลักษณะของรูปธรรมหรือนามธรรมทางทวารหนึ่งทวารใด และสติก็ดับไป โดยปัญญายังไม่ได้รู้ชัด เพราะฉะนั้น จึงรู้ตามความเป็นจริงว่า ยังไม่รู้ชัด

    ประโยชน์ที่สุดของการเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน คือ แม้สติเกิดแล้วก็ยังรู้ว่า ยังไม่ได้รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมชัด เพราะฉะนั้น จึงต้องระลึกอีกๆ เนืองๆ บ่อยๆ เท่าที่สติจะระลึกได้จนกว่าปัญญาจะรู้ชัดเท่านั้น แต่ไม่ทราบว่า จะเป็นกัปไหน หรือเมื่อไร อาจจะเป็นชาตินี้ก็ได้ หรืออาจจะนานมากอีกหลายสิบชาติก็ได้ หรืออาจจะอีกหลายกัปก็ได้

    ข้อสำคัญ คือ ไม่ว่าชาติไหน กัปไหน ต้องเป็นปัญญาที่รู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตรงตามความเป็นจริงพร้อมสติเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการทำ อย่างอื่น แต่จะต้องเพิ่มความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏก่อน สติจึงจะระลึกได้ถูกต้อง ถ้ายังไม่เพิ่มความเข้าใจในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม รีบร้อนที่จะทำที่จะให้สติเกิด ไม่มีทางที่จะเพิ่มความเข้าใจลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้ แต่เมื่อเข้าใจลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมมากขึ้น ไม่ต้องเป็นห่วงเลย วันหนึ่งสติจะเริ่มเกิดและรู้ตามความเป็นจริงว่า ถ้ายังรู้ไม่ชัด ก็ต้องระลึกอีก เท่านั้นเอง เป็นหนทางเดียวจริงๆ

    ถ. บางครั้งอาจารย์กล่าวว่า ให้มีการรู้สึกตัว บางครั้งก็กล่าวว่า ให้มีสติ ลักษณะของการมีสติ กับการรู้สึกตัว มีความหมายต่างกันอย่างไร

    สุ. จะใช้คำไหนก็ได้ ให้ระลึก คือ รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใด บางท่านชอบที่จะให้ใช้คำว่า รู้สึกตัว เพราะว่าท่านไม่ค่อยจะรู้สึกตัว เพราะฉะนั้น เวลาที่ใช้พยัญชนะว่า รู้สึกตัว ท่านก็รู้สึกดีใจว่า ท่านพอจะเข้าใจว่า ขณะที่มีสตินั้นคืออย่างไร

    แต่ถ้าใช้คำว่า รู้สึกตัว ก็ยังกว้าง จะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทางด้วย ต้องเจาะจงลงไปอีก ไม่ใช่ว่ารู้สึกตัวโดยกว้างๆ แต่จะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งมีลักษณะจริงๆ ที่ปรากฏทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง ทีละทาง ทีละอย่าง อาจจะเป็นลักษณะของนามธรรม หรือว่าลักษณะของรูปธรรมก็ได้

    เพราะฉะนั้น แล้วแต่ท่านผู้ฟังจะพอใจในพยัญชนะไหน แต่ให้ทราบว่า มีของจริง เป็นสัจธรรม เป็นธรรมที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใด และระลึก คือ รู้ลักษณะที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

    วันเดียว สองวัน จะรู้ไหม รู้ไม่ได้ แต่ฟังได้ พิจารณาได้ เข้าใจได้ เข้าใจขึ้นเรื่อยๆ ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องกังวลเรื่องสติ เพราะเมื่อเข้าใจแล้ว วันหนึ่งสติจะระลึกถูก แต่ถ้าไม่เข้าใจเลย และอยากจะให้สติเกิด จะเสียเวลา เพราะว่าอย่างไรก็ไม่ถูก เมื่อไม่เข้าใจ สติจะระลึกที่ไหน จะรู้อะไร ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ที่ว่า ปัญญาจะเจริญได้ด้วยความไม่รู้

    ใน อัฏฐสาลินี รูปกัณฑ์ แสดงลักษณะของมหาภูตรูปละเอียดมาก และมี ข้อที่น่าพิจารณาด้วย เช่น ข้อความที่ว่า

    ปฐวีธาตุ เมื่ออาโปธาตุยังมิได้ถูกต้องเลย (คือ ยังไม่ได้กระทบ) ก็เป็นที่ตั้งอาศัยได้ สำหรับเตโชธาตุและวาโยธาตุ ถูกต้องแล้ว จึงเป็นที่ตั้งอาศัย

    ฟังดูยากที่ว่า ปฐวีธาตุ เมื่ออาโปธาตุยังมิได้ถูกต้องเลย ก็เป็นที่ตั้งอาศัยได้

    ทุกอย่างซึ่งเป็นที่รองรับ ไม่พ้นจากปฐวีธาตุ เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะไม่มีการกระทบกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย ปฐวีธาตุนั้นก็ยังเป็นที่รองรับ คือ ยังเป็นที่ตั้ง เป็นที่อาศัย

    แต่สำหรับเตโชธาตุและวาโยธาตุ ถูกต้องแล้ว จึงเป็นที่ตั้งอาศัย เช่น ของร้อน เตโชธาตุถูกต้องแล้ว จึงเป็นที่ตั้งอาศัย

    อะไรร้อน คำตอบนั้นย่อมแสดงว่า มีที่ตั้งที่อาศัยของความร้อน หรือวาโยธาตุก็เช่นเดียวกัน ธาตุลม ถูกต้องแล้วจึงเป็นที่ตั้งอาศัย หมายความว่า จึงจะปรากฏให้ รู้ว่า มีที่ตั้งที่อาศัย เช่น ลม ลมพัดหรือว่าของปลิว จึงจะรู้ลักษณะอาการของลมได้ว่า มีที่ตั้งที่อาศัยของลมนั้น

    เป็นเรื่องที่ละเอียด ที่แสดงให้เห็นลักษณะของธาตุแต่ละธาตุที่ควรจะพิจารณาโดยนัยของอรรถกถา และยังมีข้อความต่อไปที่น่าคิด น่าพิจารณาว่า

    เตโชธาตุถูกต้องปฐวีธาตุจึงแผดเผา ส่วนปฐวีธาตุนั้น มิใช่เป็นของร้อน ถูกแผดเผา

    เวลานี้มีเตโชธาตุรวมอยู่ในทุกๆ กลุ่มของรูป ซึ่งมีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม รวมอยู่ด้วย เผาอะไรหรือเปล่า ไม่เผา แต่เวลาที่จะเผา ต้องเผาสิ่งที่มีปฐวีธาตุ เผาไม้ เผาเกลือ เผาพริก เผาอะไรก็ได้ นั่นเป็นลักษณะหนึ่งอาการหนึ่งของเตโชธาตุ ซึ่ง ถูกต้องปฐวีธาตุจึงแผดเผา ส่วนปฐวีธาตุนั้น มิใช่เป็นของร้อนถูกแผดเผา ในขณะที่กำลังเผาพริก เผาเกลือ หรืออะไรก็ตามแต่ มีปฐวีธาตุในพริกไหม มี แต่ปฐวีธาตุนั้น มิใช่เป็นของร้อนถูกแผดเผา

    ไม่ว่าจะถูกเผา หรือไม่ถูกเผา อย่างไรก็ตามปฐวีธาตุก็ยังคงเป็นปฐวีธาตุ จะเปลี่ยนปฐวีธาตุให้เป็นเตโชธาตุไม่ได้ แต่เวลาที่เตโชธาตุจะเผา เตโชธาตุต้องถูกต้องปฐวีธาตุจึงเผา แต่เมื่อถูกต้องแล้ว ปฐวีธาตุนั้น มิใช่เป็นของร้อนถูกแผดเผา เพราะเหตุว่า

    ผิว่าพึงเป็นของร้อนถูกแผดเผาไซร้ ก็จะพึงชื่อว่า มีความร้อน เป็นลักษณะ

    นี่เป็นเรื่องธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะต้องเข้าใจ ลักษณะของธาตุทั้ง ๔ โดยถูกต้องว่า ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะของธาตุ ทั้ง ๔ ได้ ธาตุดินมีลักษณะอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ธาตุไฟมีลักษณะอย่างไรก็เป็น อย่างนั้น ธาตุน้ำมีลักษณะอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ธาตุลมมีลักษณะอย่างไรก็เป็น อย่างนั้น แม้อาโปธาตุ คือ ธาตุน้ำ เมื่อไหม้อยู่ ก็มิใช่จะเป็นของร้อนไม่ กำลังไหม้อยู่ แต่ลักษณะของอาโปธาตุ แม้เมื่อไหม้อยู่ ก็มิใช่จะเป็นของร้อนไม่ เพราะถ้า น้ำร้อน ไม่ใช่อาโปธาตุร้อน แต่เตโชธาตุร้อน

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่ แม้อาโปธาตุนั้นเมื่อไหม้อยู่ ก็มิใช่จะเป็นของร้อนไม่ ผิว่าพึงเป็นของร้อนไหม้ไซร้ ก็จะพึงชื่อว่า มีความร้อน เป็นลักษณะ

    ถ้าอาโปธาตุร้อนเมื่อไรต้องชื่อว่า มีความร้อนเป็นลักษณะแล้ว เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นอาโปธาตุอยู่ในขณะใด กำลังถูกไหม้อยู่ หรือไม่ไหม้ก็ตามแต่ ลักษณะของอาโปธาตุนั้น มิใช่จะเป็นของร้อนไม่

    วาโยธาตุถูกต้องปฐวีธาตุแล้วจึงทำให้เคลื่อนไหว ถูกต้องเตโชธาตุแล้วจึงทำให้เคลื่อนไหวเหมือนกัน แต่มิได้ถูกต้องอาโปธาตุเลย ก็ทำให้เคลื่อนไหว

    นี่เป็นลักษณะพิเศษเพิ่มขึ้นที่อรรถกถาได้แสดงไว้โดยละเอียด ที่ว่า วาโยธาตุถูกต้องปฐวีธาตุแล้วจึงทำให้เคลื่อนไหว ถ้าไม่มีปฐวีธาตุ เคลื่อนไหวได้ไหม มีอะไรที่จะเห็นว่าเคลื่อนไหวไหมในขณะนี้ แต่ที่เห็นว่าเคลื่อนไหวไป แม้วาโยธาตุเป็นธาตุที่เคลื่อนไหว แต่เมื่อ ถูกต้องปฐวีธาตุแล้วจึงทำให้เคลื่อนไหว

    ไม่ว่าจะเห็นอะไรเคลื่อนไหวก็ตาม ทั้งหมดให้ทราบว่า อาการไหว สภาพไหว เป็นลักษณะของวาโย แต่เมื่อ ถูกต้องปฐวีธาตุแล้วจึงทำให้เคลื่อนไหว

    ใน อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา มีข้อความว่า

    อธิบายธาตุ ๔ ชื่อว่าวาโย ด้วยอรรถว่า เคลื่อนไหว คือ ให้ประชุมแห่งภูตรูปเคลื่อนที่ โดยเป็นเหตุเกิดปรากฏแห่งรูปในที่อื่น

    ท่านผู้ฟังนั่งอยู่ที่นี่ ประเดี๋ยวก็ออกไปข้างนอก เพราะฉะนั้น ธาตุที่ทำให้ปฐวีเคลื่อนออกไป คือ วาโยธาตุ เพราะว่า ชื่อว่าวาโย ด้วยอรรถว่า เคลื่อนไหว คือ ให้ประชุมแห่งภูตรูปเคลื่อนที่ โดยเป็นเหตุเกิดปรากฏในที่อื่น

    ขณะนี้กำลังเกิดดับปรากฏในที่นี้ แต่ต่อไปจะเกิดดับปรากฏในที่อื่น เนื่องด้วยวาโยธาตุเป็นธาตุที่ทำให้เคลื่อนไหว

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ถามว่า เมื่อเคี่ยวน้ำอ้อย ทำให้เป็นงบน้ำอ้อย อาโปธาตุจะเป็นของแข็งหรือไม่เป็น

    ตอบว่า ไม่เป็น เพราะอาโปธาตุนั้นมีความหลั่งไหลเป็นลักษณะ ปฐวีธาตุมีความแข้นแข็งเป็นลักษณะ ก็อาโปขนาดอย่างต่ำ มีคติเท่ากับปฐวีขนาดยิ่ง

    หมายความว่า ไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหน หรือว่าจะใหญ่สักแค่ไหน แต่ละกลุ่มจะต้องมีทั้งอาโป ปฐวี เตโช วาโย เพราะฉะนั้น อาโปธาตุนั้น ย่อมละภาวะที่ตั้งอยู่โดยอาการเป็นรสะได้ แต่ย่อมไม่ละลักษณะ

    อย่าลืมว่า แม้แต่น้ำอ้อยก็ย่อมละภาวะที่ตั้งโดยอาการเป็นน้ำอ้อยได้ แต่ว่า ไม่ละลักษณะจากน้ำอ้อยเป็นงบอ้อย อาการภายนอกเปลี่ยน ย่อมละอาการของน้ำอ้อยเปลี่ยนเป็นอาการของงบอ้อย แต่อาโปธาตุไม่เปลี่ยนลักษณะไม่ว่าจะอยู่ในน้ำอ้อย หรือว่าจะอยู่ในงบอ้อย อาโปธาตุก็มีลักษณะของอาโปธาตุ

    แม้เมื่อละลายงบน้ำอ้อย ปฐวีธาตุก็ไม่ละลาย เพราะปฐวีธาตุมีความแข้นแข็งเป็นลักษณะ อาโปธาตุมีความหลั่งไหล เป็นลักษณะ

    ปฐวีธาตุนั้น ย่อมมีภาวะแปรเป็นอื่นอย่างเดียว ที่จะชื่อว่าลักษณะแปรเป็นอื่นไป มิได้มี

    แสดงให้เห็นว่า แม้ธาตุดินก็สามารถที่จะแปรอาการหรือภาวลักษณะที่ปรากฏได้ แต่ว่าลักษณะของธาตุดินไม่แปรเป็นอย่างอื่น คือ ไม่ว่าจะทำงบอ้อยให้ละลาย แต่ปฐวีธาตุก็ยังคงเป็นปฐวีธาตุ ซึ่งมีลักษณะที่แข้นแข็ง

    ความไม่มีแห่งลักษณะแปรเป็นอื่นไปนั้น ทรงแสดงไว้แล้วโดยอัฏฐานปริกัปปสูตร ข้อนี้สมด้วยพระบาลีที่ตรัสไว้ดังนี้ว่า

    ดูกร อานนท์ ก็มหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อาโปธาตุ จะพึงมีการแปรเป็นอื่นไปได้ (โดยลักษณะอาการที่ปรากฏ แปรจากน้ำอ้อยเป็นงบอ้อย หรือจากงบอ้อยเอาไปละลาย) แต่พระอริยสาวกผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสไม่คลอนแคลนในพระพุทธเจ้าจะแปรเป็นอื่นไป ไม่พึงมีได้เลย ดังนี้

    อาการของธาตุยังแปรได้ แต่ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลแล้วที่จะให้แปรกลับไปสู่ความเป็นปุถุชน เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะได้อบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมถูกต้องตามความเป็นจริงจนกระทั่งดับกิเลสได้

    ถ. ขณะที่เอาน้ำไปทำน้ำแข็ง น้ำนั้นเป็นน้ำแข็ง ปฐวีเปลี่ยนไหม

    สุ. อาการภายนอกจากเหลวเป็นแข็ง แต่ว่าลักษณะของปฐวีธาตุไม่เปลี่ยน ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพที่เหลวหรือแข็ง ปฐวีธาตุก็มีลักษณะแข้นแข็ง

    ถ. น้ำแข็งละลายเป็นน้ำแล้วน่าจะเปลี่ยน ทำไมบอกว่าไม่เปลี่ยน

    สุ. เหมือนอย่างที่ท่านผู้ฟังเข้าใจว่า ท่านจับสัมผัสกระทบน้ำ แต่ถ้าหลับตาแล้วจับกระทบสัมผัสอะไร นั่นคือโผฏฐัพพะ ที่คิดว่าน้ำ ถ้ากระทบสัมผัสจับได้ ต้องมีความอ่อนหรือความแข็งพอสมควรที่จะให้กระทบได้ ใช่ไหม

    ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. ไม่ได้ อย่างไรๆ ก็ไม่ได้ ลักษณะของธาตุดินเป็นลักษณะที่แข้นแข็ง เพียงแต่ว่าจะมีลักษณะของความเบาหรือความอ่อน ซึ่งเป็นอาการวิการของความแข็งเท่านั้นเอง แต่ไม่ได้หมายความว่า จะเปลี่ยนจากลักษณะของความแข้นแข็งให้เป็นลักษณะอื่น

    เช่น ธาตุดินที่กำลังถูกเผาไหม้ ก็ไม่ใช่เตโชธาตุ ถ้าธาตุดินสามารถที่จะร้อนได้ มีลักษณะที่ร้อนได้ ธาตุดินนั้นจะต้องเป็นเตโช แต่ธาตุดินแม้จะกำลังถูกเผาอยู่ก็ต้องมีลักษณะที่แข้นแข็งอยู่เสมอ

    ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. ลักษณะที่ร้อนเป็นลักษณะของเตโช แต่ต้องมีธาตุดินรวมอยู่ ถ้าไม่มีธาตุดินเป็นที่ตั้งหรือเป็นที่รองรับ ธาตุไฟอยู่ไม่ได้ ปรากฏไม่ได้ เพราะจะต้องมีคำว่า อะไรร้อนอยู่เสมอ ต้องมีที่ตั้งที่อาศัยของสิ่งที่ร้อน ซึ่งที่ตั้งที่อาศัยของสิ่งที่ร้อนนั้น คือ ธาตุดิน

    ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. ในสิ่งที่ร้อนจะต้องมีปฐวี เป็นที่ตั้งของสิ่งที่ร้อนนั้นด้วย และในที่นั้นต้องมีทั้งวาโยและอาโปด้วย เพียงแต่ว่าลักษณะของอาโปไม่สามารถปรากฏโดยการกระทบ ไม่มีใครในโลกนี้หรือโลกไหนกระทบกับอาโปธาตุได้ เพราะเมื่อมีการกระทบสัมผัสคราใด ครานั้นต้องเป็นการกระทบสัมผัสกับโผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นปฐวีบ้าง หรือเตโชบ้าง หรือวาโยบ้าง แต่จะไม่มีการกระทบสัมผัสกับอาโปธาตุเลย



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๑๘ ตอนที่ ๑๑๗๑ – ๑๑๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 86
    28 ธ.ค. 2564