แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1152


    ครั้งที่ ๑๑๕๒


    สาระสำคัญ

    อถ.ทสกนิบาต.กัมมสูตรที่ ๑ - มโนสัญเจตนาหาร (กุศลเจตนา และอกุศลเจตนา)

    ปปัญจสูทนี - เห็นโทษเห็นภัยของอาหารปัจจัย


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๒๕


    สำหรับมโนสัญเจตนาหาร ใน มโนรถปูรณี อรรถกถา ทสกนิบาต กรรมสูตรที่ ๑ มีข้อความว่า

    บทว่า สญฺเจตนิกานํ ความว่า แห่งกรรมอันสัตว์ตั้งใจ แล้วกระทำจนสำเร็จ

    ซึ่งหมายความถึงเจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิต ถ้าแสดงโดยนัยของปฏิจจสมุปบาท ได้แก่ กุศลเจตนาและอกุศลเจตนาซึ่งเป็นปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร และอเนญชาภิสังขาร แต่ถ้าโดยนัยของอาหารปัจจัย หมายความถึงเจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง

    สำหรับมโนสัญเจตนาหาร คือ กรรม นำมาซึ่งภพ อันเข้าถึงซึ่งกามภพ ซึ่งท่านผู้ฟังจะพิจารณาได้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นกรรมที่เป็นกุศลประเภทใด หรืออกุศลประเภทใดก็ตาม ยังเป็นไปเนื่องกับกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น เจตนานั้นๆ ซึ่งเป็นไปในกาม ย่อมนำมาซึ่งการเกิดในภพ คือ กามภพ ไม่พ้นไปจากภพซึ่งเป็นภพของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    ถ้าเป็นมโนสัญเจตนาหารที่จักให้เกิดในรูปภพและอรูปภพ ก็ย่อมนำมาซึ่ง ภพนั้นๆ คือ ถ้าเป็นเจตนาที่เกิดกับรูปาวจรกุศล ย่อมทำให้เกิดในรูปพรหมภูมิ ถ้าเป็นเจตนาที่เกิดกับอรูปาวจรกุศล ย่อมเป็นปัจจัยทำให้เกิดในอรูปพรหมภูมิ ด้วยเหตุนี้มโนสัญเจตนาหารย่อมนำมาซึ่งภพ ๓ โดยประการทั้งปวงอย่างนี้

    สำหรับวิญญาณาหารโดยนัยของปฏิจจสมุปบาท หมายความถึงปฏิสนธิจิตย่อมนำมาซึ่งนามธรรม ได้แก่ เจตสิกซึ่งเกิดกับปฏิสนธิจิตและกัมมชรูปซึ่งเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต เพราะถ้าปฏิสนธิจิตไม่เกิด เจตสิกที่จะเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิตก็เกิดไม่ได้ หรือแม้กัมมชรูปก็ย่อมเกิดไม่ได้ แต่เมื่อปฏิสนธิจิตเกิด เจตสิกซึ่งเป็นวิบากเกิดร่วมกับปฏิสนธิจิตนั้นจึงเกิด และกัมมชรูปซึ่งเกิดขึ้นเพราะกรรมจึงเกิดได้

    ถ. พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า พรหมอยู่ได้ด้วยปีติ เพราะฉะนั้น ปีติน่าจะเป็นอาหารหนึ่งในอาหารทั้งหลาย ทำไมพระองค์ทรงแสดงว่า อาหารได้แก่เจตนา วิญญาณ กับผัสสะเท่านั้น ส่วนปีติไม่ทรงแสดงว่าเป็นอาหาร

    สุ. ภูมิที่ไม่ประกอบด้วยปีติมีไหม สำหรับพรหม

    ถ. มี

    สุ. แต่พรหมภูมิซึ่งไม่ประกอบด้วยผัสสะ หรือไม่ประกอบด้วยปฏิสนธิจิต มีไหม

    ถ. มี

    สุ. คือ อสัญญสัตตาพรหม แต่ก็ต้องเกิดขึ้นเพราะมโนสัญเจตนาหารนั่นเอง ถ้าไม่มีมโนสัญเจตนาหารซึ่งเกิดกับรูปปัญจมฌานกุศล อสัญญสัตตาพรหมก็เกิดไม่ได้ รูปปฏิสนธิก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า แม้ในรูปพรหมภูมิซึ่งไม่มีปีติ ก็ยังมีอาหารปัจจัย คือ มีผัสสาหาร วิญญาณาหาร และมโนสัญเจตนาหาร

    ถ. วิญญาณาหารนี้เป็นอะไร

    สุ. คือ จิต

    ถ. อาหารนี้ รูปก็มี เจตสิกก็มี จิตก็มี ใช่ไหม

    สุ. อาหารปัจจัยมี ๔ เป็นรูปอาหาร ๑ คือ กพฬิงการาหาร เป็นนามอาหาร ๓ คือ ผัสสาหาร ได้แก่ ผัสสเจตสิก ๑ มโนสัญเจตนาหาร ได้แก่ เจตนาเจตสิก ๑ และวิญญาณาหาร ได้แก่ จิต ๑

    ซึ่งถ้ากล่าวโดยประเภท ผัสสาหาร ได้แก่ ผัสสะที่เกิดกับจิตทุกดวง เพราะฉะนั้น ได้แก่ ผัสสเจตสิก ๘๙

    มโนสัญเจตนาหาร ได้แก่ เจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง เพราะฉะนั้น ได้แก่ เจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิต ๘๙

    วิญญาณาหาร ก็ได้แก่ จิต ๘๙

    นี่แสดงโดยความไม่แปลกกัน ถ้าแสดงโดยความต่างกันก็โดยนัยของปฏิจจสมุปบาท

    ถ. คำว่า อาหาร หมายถึงธรรมชาติที่ทำให้ธรรมชาติอื่นเจริญขึ้น ใช่ไหม

    สุ. นำมาซึ่งผล ถ้าผัสสะเกิดที่จะไม่มีผลติดตามมา คือ ไม่มีเวทนา เป็นไปไม่ได้

    ถ. การเจริญสติปัฏฐาน ก่อนที่จะมาถึงขั้นนี้ คือ พิจารณาปัจจัยต่างๆ จะต้องรู้ชัดในขั้นแรก คือ นามรูปปริจเฉทญาณก่อนหรือเปล่า

    สุ. ถูกต้อง

    ถ. ถ้าหากไม่รู้ชัด จะผ่านถึงขึ้นนี้ได้ไหม

    สุ. ถ้าไม่รู้ชัด จะรู้ในลักษณะที่เป็นปัจจัยได้อย่างไร แต่เมื่อรู้ลักษณะของนามธรรมว่าเป็นนามธรรม รูปธรรมว่าเป็นรูปธรรมแต่ละชนิดแล้ว เวลาที่สติระลึก ความรู้ก็เพิ่มขึ้นเพื่อที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

    ถ. ขั้นแรกต้องศึกษาพิจารณาเรื่องปัจจัยใช่ไหม การเจริญในขั้นนี้

    สุ. เรื่องปัจจัย ขณะนี้สภาพธรรมใดปรากฏ นี่คือเรื่องของสติ ถ้าเรื่องของหลงลืมสติก็ไม่ต้องมาสอบถามหรือพิจารณากันว่า ขณะนี้มีสภาพธรรมใดกำลังปรากฏ แต่เมื่อเป็นเรื่องของสติ เป็นเรื่องที่จะระลึกรู้ว่า ขณะนี้มีสภาพธรรมใดเกิดขึ้นปรากฏ

    ถ้าสติระลึกจะไม่มีการหยุดเลย ขอให้ท่านผู้ฟังลองพิจารณาในขณะนี้ ไม่ขาดการเกิดขึ้นเป็นไปของนามธรรมและรูปธรรม เห็น จะว่าหมดสิ้นไปแล้ว ได้ยินเกิดขึ้น จะว่าหมดสิ้นไปแล้ว คิดนึกเรื่องราวต่างๆ เกิดขึ้น หมดไปแล้ว อ่อนแข็งปรากฏ

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ตราบใดที่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้า สภาพธรรมไม่มีอาหารปัจจัยทำให้เกิดขึ้นปรากฏ ย่อมไม่สามารถรู้ลักษณะของปัจจัยใดๆ ทั้งสิ้นได้ ถ้าเสียงไม่เกิดขึ้นปรากฏ จะรู้ลักษณะของวิญญาณาหาร หรือผัสสาหารได้ไหมในเมื่อไม่มีสภาพธรรมใดปรากฏเลย จะรู้ลักษณะของเวทนาได้ไหม ในเมื่อไม่มีสภาพธรรมใดปรากฏเลย แต่เพราะผัสสาหารนำมาซึ่งเวทนา ๓ เพราะฉะนั้น ขณะนี้เวทนากำลังเกิดดับสืบต่อแต่ละชนิดแต่ละลักษณะ บางครั้ง เวทนาก็เป็นสุข บางครั้งเวทนาก็เป็นทุกข์ บางครั้งเวทนาก็ไม่สุขไม่ทุกข์ คือ อทุกขมสุข ผู้ที่ไม่หลงลืมสติมีโอกาสศึกษารู้ลักษณะของปัจจัยได้ เพราะเห็นการเกิดขึ้นโดยไม่หยุด แสดงว่าเป็นผลของอาหารปัจจัย ถ้าผัสสะไม่กระทบเสียง เสียงไม่ปรากฏ ถ้าผัสสะไม่กระทบแข็ง แข็งไม่ปรากฏ ถ้าผัสสะไม่กระทบกับสิ่งที่น่าพอใจ โสมนัสเวทนาไม่ปรากฏ ถ้าผัสสะไม่กระทบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจ โทมนัสเวทนาหรือทุกขเวทนาไม่ปรากฏ

    สำหรับผู้ที่ป่วยไข้ได้เจ็บก็มีเวทนาที่จะระลึกรู้ได้ว่า เพราะผัสสะกระทบกับอารมณ์ที่ทำให้ทุกขเวทนาเกิด ทุกขเวทนาจึงเกิด ซึ่งไม่ใช่เรา และไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาด้วย และเวลาที่สภาพธรรมอื่นเกิดต่อ เช่น ได้ยิน คนที่กำลังปวดๆ เจ็บๆ มีการได้ยินไหม หรือว่าไม่ได้ยินอะไรเลย ต้องมีใช่ไหม ในขณะนี้ก็มีเสียงปรากฏ เพราะฉะนั้น สามารถที่จะรู้ลักษณะของอาหารปัจจัยได้ว่า เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้นมีขึ้นแสดงว่ามีอาหารปัจจัย จึงทำให้สภาพธรรมนี้เกิดขึ้นปรากฏได้

    ซึ่งอาหารปัจจัยนี้ ในขณะจิตเดียวมีนามอาหารถึง ๓ ประเภท จิตเกิดดับ เร็วมากและมีอายุสั้นเล็กน้อยเหลือเกิน ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะไม่เห็นความเล็กน้อยของจิต แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติจริงๆ ระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมจะเห็นได้ว่า สภาพธรรมเปลี่ยนไปแต่ละอย่างๆ อย่างหนึ่งหมดไปแล้ว ก็จริง ในขณะนี้พิสูจน์ธรรมไปด้วย หมดไปแล้วก็จริง ขณะอื่นต่อไปก็เกิดขึ้นๆ อย่างรวดเร็ว โดยที่ไม่มีใครยับยั้งได้

    เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า ผัสสะซึ่งเป็นผัสสาหารเกิดกับวิญญาณาหาร และมโนสัญเจตนาหาร จิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ขณะหนึ่งๆ แม้ว่าจิตจะอายุสั้น เล็กน้อยเกิดดับอย่างรวดเร็ว แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ในจิตดวงหนึ่งมีนามอาหารถึง ๓ อย่าง คือ มีผัสสาหาร มีมโนสัญเจตนาหาร และมีวิญญาณาหาร ซึ่งขึ้นอยู่กับสติปัญญาของผู้ที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จึงจะรู้ลักษณะของปัจจัยได้

    ถ. เรื่องนี้รู้สึกว่ายาก ขณะนี้เพียงศึกษาปริยัติให้รู้จักชื่อของผัสสะต่างๆ เท่านั้น ผมสงสัยเรื่องการเจริญสมถะ รู้สึกว่าเป็นธรรมที่มีประโยชน์ แต่ไม่ค่อยได้พูดถึงกัน พูดถึงแต่นั่งสมาธิและพิจารณาลมหายใจเข้าออกเท่านั้น ซึ่งสำหรับบุคคลทั่วไปคงจะเป็นไปไม่ได้ เรื่องการเจริญสมถะต้องรู้ความมุ่งหมายก่อนว่า มีความมุ่งหมายเพื่อขจัดขัดเกลากิเลส หรือเพื่อให้จิตเป็นอัปปนาสมาธิ โดยปกติแล้วพระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องนี้มีความมุ่งหมายอย่างไร

    สุ. แสดงให้เห็นว่า กิเลสมีมาก ในขณะใดที่กุศลจิตไม่เกิดเป็นไปในทาน ไม่เกิดเป็นไปในศีล เช่น ในขณะที่กำลังนั่งๆ อยู่อย่างนี้ ง่วงเป็นกุศลหรืออกุศล

    ถ. เป็นอกุศล

    สุ. เพราะฉะนั้น ถ้าจะไม่ให้เป็นอกุศล ก็ควรที่จะให้เป็นกุศล นั่นคือ ขั้นสมถะ ขั้นความสงบ ถ้ารู้วิธีว่าจะสงบได้อย่างไร ซึ่งความสงบมี ๒ อย่าง คือ ในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นสติปัฏฐาน ในขณะนั้นก็สงบ ประกอบด้วยปัญญาที่น้อมไปที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งสามารถจะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทได้ในวันหนึ่ง แต่ถ้าเพียงที่จะให้สงบจากโลภะ โทสะ โมหะ โดยไม่รู้ลักษณะของสภาพที่เป็นอนัตตา ถ้าเป็นในลักษณะนั้นจะไม่ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท แต่ก็เป็นกุศล

    ถ. สมถะน่าจะนำมาประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้เหมือนกัน

    สุ. ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องสมถภาวนา เพราะการอบรมเจริญกุศลที่เป็นภาวนา ไม่ว่าจะเป็นสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนาก็ตาม ย่อมกระทำไม่ได้ถ้าปราศจากปัญญา ไม่เหมือนกุศลขั้นทานหรือขั้นศีล ซึ่งย่อมกระทำได้โดยไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย

    ถ. สมถะเป็นเรื่องที่ไม่ยาก และสามารถนำมาประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ อย่างเช่น บางคนอาจจะนึกถึงเรื่องความตาย เวลาเห็นใบไม้ แมลง ก็อาจจะทำให้ระลึกถึงความตายได้ว่า ชีวิตตัวเองนี้ไม่ยั่งยืนจะต้องตายแน่นอนไม่วันใดก็วันหนึ่ง ก็จะทำให้จิตสงบ และมีความขยันที่จะศึกษาพระธรรมวินัยให้มากยิ่งขึ้น จะเป็นประโยชน์มาก อย่างนี้

    สุ. ก็ถูก ถ้าคิดดี คิดถูกตามความเป็นจริงได้

    ถ. เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ที่เรียกว่าพรหมวิหาร ๔ กรุณา มุทิตา อุเบกขานั้นมีสภาวะรองรับ คือ มีองค์ธรรมรองรับ เป็นเจตสิก แต่ว่าเมตตานี้ไม่ใช่ปรมัตถธรรม ไม่มีสภาวะรองรับ

    สุ. ถ้าไม่ใช่ปรมัตถธรรมก็ไม่ใช่ของจริง แต่เมตตาเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ได้แก่ อโทสเจตสิก

    เพราะฉะนั้น ถ้าสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละขณะ และเห็น อาหารปัจจัยซึ่งทำให้สภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไปไม่ขาดสาย จะสงบหรือยัง ที่ว่าไม่ยาก

    ถ้าสงบ ก็โดยการที่เห็นโทษหรือเห็นภัย แต่ในขณะที่บริโภคอาหารรู้ว่า อาหารเป็นปัจจัยแก่รูปร่างกาย คือ ทำให้อาหารชรูปเกิดขึ้น และอุปถัมภ์ร่างกายให้ดำรงอยู่ เพียงรู้แค่นี้จะทำให้กุศลเจริญได้ไหม ถ้าไม่เห็นภัยของอาหารปัจจัยว่า เพราะอาหารปัจจัยสภาพธรรมทั้งหลายนี้จึงเกิดๆ โดยไม่หยุดยั้งเลย ถ้าจะดับการเกิดก็ต้องเห็นโทษเห็นภัยของอาหารปัจจัย จึงจะไม่มีนามธรรมและรูปธรรมเกิดต่อไปอีกได้

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรม จึงต้องศึกษาและพิจารณาให้ละเอียดขึ้นๆ เพียงแต่รู้ปัจจัยเท่านั้นยังไม่พอ ยังต้องเห็นโทษของอาหารปัจจัยด้วย เพื่อที่จะให้ละคลายความยินดีพอใจในอาหารปัจจัย

    ซึ่งสำหรับกพฬิงการาหารนี้ปกติแล้วเป็นที่ยินดี ใช่ไหม ยังไม่เป็นที่เห็นภัย ยังไม่เป็นที่เห็นว่าเพราะนำมาซึ่งผลทำให้มีการเกิดขึ้นโดยไม่หยุดเลย

    ข้อความใน ปปัญจสูทนี มีว่า

    ก็ในสิ่งเหล่านั้น เมื่อให้สำเร็จอาหารกิจด้วยอำนาจแห่งการค้ำชูเป็นต้นอย่างนี้ ก็ควรเห็นภัย ๔ อย่าง คืออะไร คือความยินดีในกพฬิงการาหาร ๑ การเข้าถึงผัสสะ ๑ การประมวลมาในมโนสัญเจตนา ๑ การตกไปในวิญญาณ ๑

    อย่าติดในคำ เวลาที่อ่านข้อความในอรรถกถาถ้ามีคำว่า ตก ก็จะคิดถึงการตกไปจริงๆ ซึ่งความจริงหมายความถึงการเกิดขึ้นนั่นเอง เช่น การประมวลมาใน มโนสัญเจตนา ๑ การตกไปในวิญญาณ ๑ คือ มีการเกิดขึ้นของปฏิสนธิจิตนั่นเอง

    สำหรับโทษภัยของอาหารที่เป็นกพฬิงการาหาร ข้อความในอรรถกถามีว่า

    เพราะสัตว์ทั้งหลายกระทำซึ่งภัย คือ ความยินดีในอาหารที่เป็นคำๆ แล้ว เวลาถูกความหนาวเป็นต้นเบียดเบียนก็กระทำการงานต่างๆ มีการนับด้วยแง่มือ เป็นต้น เพื่อต้องการอาหาร ก็ได้ประสบทุกข์ไม่น้อย คือ บางพวกถึงบวชใน พระศาสนานี้แล้ว เมื่อแสวงหาอาหารด้วยการแสวงหาอันไม่ควร มีเวชกรรม เป็นต้น ก็ถูกติเตียนในโลกนี้บ้าง เกิดเป็นสมณเปรตในโลกหน้าบ้าง โดยนัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในลักขณสังยุตเป็นต้นว่า ถึงผ้าสังฆาฏิของผู้นั้นก็ถูกไฟไหม้ลุกโพลงอยู่ ดังนี้ ควรทราบว่า ความใคร่ในอาหารที่เป็นคำๆ เป็นภัย (คือ เป็นของน่ากลัว) ด้วยเหตุอันนี้ก่อน

    ไม่เคยมีใครบอกให้เห็นภัย คือ ความยินดีในอาหารที่เป็นคำๆ ใช่ไหม ปรุงแต่งให้อร่อยมากๆ ให้รสดีๆ เท่าที่จะพอใจ มีการปรุงเติมอยู่เรื่อยๆ มีการย้ายสถานที่รับประทานอาหาร

    ถ้าไม่ต้องบริโภคอาหาร คงจะตัดเรื่องวุ่นวายในโลกไปได้อีกมาก หรือว่าเพียงแต่ละความยินดีในอาหารที่บริโภคลงบ้าง ก็จะตัดความยุ่งยากได้มากมายเหมือนกัน ไม่ว่าอะไรก็ตามถ้าพิจารณาเห็นว่า บริโภคเพราะเป็นเพียงอาหารปัจจัย จะตัดความกังวล จะตัดความยุ่งยาก จะตัดการแสวงหา จะตัดการทุจริตเพื่อที่จะได้อาหารที่ต้องการ เพราะทุกท่านจะมีชีวิตอยู่ต่อไปไม่ได้ถ้าปราศจากอาหาร แต่ถ้าปราศจากอย่างอื่นก็ยังมีชีวิตอยู่ต่อไปได้

    เพราะฉะนั้น ที่สำคัญจริงๆ ย่อมเป็นอาหาร ถ้าติดในอาหารมากจนกระทั่งถึงขั้นทุจริต ซึ่งย่อมจะเป็นไปได้ ถ้าอาหารไม่พอ ถ้าอาหารไม่ประณีต และอยากจะได้อาหารที่ประณีตมากๆ ก็ย่อมจะเป็นเหตุให้กระทำทุจริตโดยการแสวงหาปัจจัยที่จะได้อาหารนั้นๆ มา

    แม้เพศบรรพชิต ก็ได้รับทุกข์โทษภัยเพราะความยินดีในอาหาร ถ้าแสวงหาอาหารในทางที่ผิด ย่อมได้รับการติเตียนในโลกนี้ และได้รับภัยในโลกหน้าโดยการเกิดในอบายภูมิ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในลักขณสังยุตถึงสมณเปรต ซึ่งผ้าสังฆาฏิของผู้ที่เป็นเปรตนั้นถูกไฟไหม้ลุกโพลงอยู่ เพราะความยินดีในอาหาร



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๑๖ ตอนที่ ๑๑๕๑ – ๑๑๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 86
    28 ธ.ค. 2564