แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1187


    ครั้งที่ ๑๑๘๗


    สาระสำคัญ

    องฺ.ทสก.อภัพพสูตร - ธรรม ๓ ประการนี้ ไม่พึงมีในโลก

    ไม่ละธรรม ๓ ประการ ไม่อาจละชาติ ชรา มรณะได้

    ผู้ที่ไม่ต้องการเห็นพระอริยะ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๒๕


    ถ้าได้ฟังพระธรรมบ่อยๆ เนืองๆ จะเห็นได้ว่า เรื่องของกิเลสนี้มากมาย และเป็นเรื่องชีวิตประจำวันจริงๆ และการที่จะละกิเลสได้ต้องเป็นเพราะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่สะสมมาจริงๆ ข้อสำคัญ คือ ต้องเป็นความรู้ อย่าเพียงคิดว่า ชัดหรือยัง หรืออยากจะรู้ลักษณะของนามธรรมชัดๆ รูปธรรมชัดๆ เมื่อไร ทางตาจึงจะเป็นอนัตตาเสียที แต่ถ้ายังไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพรู้จริงๆ ไม่มีทางที่ สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลในขณะนี้ จะปรากฏว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนได้ แต่เพราะความรู้เกิดพร้อมกับระลึกได้ว่า ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น จะค่อยๆ คลายการเข้าใจว่า เห็นสัตว์ เห็นบุคคล เห็นสิ่งวัตถุต่างๆ จนกว่าสภาพธรรมจะปรากฏจริงๆ และต้องไม่ลืมธรรมข้อหนึ่งข้อใดใน ๑๐ ประการ ตั้งแต่ มีศรัทธา เข้าไปหา เข้านั่งใกล้ สอบถาม เงี่ยโสตลงฟังธรรม ฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ รู้อรรถ รู้ธรรม แล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม มีวาจางาม ไม่น่าที่พระผู้มีพระภาคจะต้องทรงแสดงไว้เลย ใช่ไหม แต่ให้เห็นชีวิตตามความเป็นจริงว่า ขณะใดที่วาจาไม่งาม ขณะนั้นหลงลืมสติ หรือว่ามีสติ

    . แทนที่จะพูดว่า ธรรมไม่แจ่มแจ้งแก่ภิกษุ ทำไมจึงกล่าวว่า ธรรม ไม่แจ่มแจ้งกับพระตถาคต เพราะตามธรรมดาธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏแจ่มแจ้งกับพระองค์อยู่ตลอดเวลา

    สุ. เป็นสำนวนของพระสูตร แต่อรรถจะต้องเข้าใจด้วยว่า เข้าใจธรรมของใคร เข้าใจธรรมกะใคร กับบุคคลไหน

    พยายามเข้าถึงอรรถของพยัญชนะนี้ ที่เข้าใจนั้นถูก ไม่ผิด ผู้ที่ไม่แจ่มแจ้ง คือ ผู้ฟัง หรือผู้ที่เริ่มจะมีศรัทธา ซึ่งบางท่านก็เข้าไปหา บางท่านก็ยังไม่เข้าไปหา บางท่านเข้าไปหาแต่ยังไม่นั่งใกล้ เพราะฉะนั้น ความไม่แจ่มแจ้งควรจะเป็นของบุคคลเหล่านั้น ไม่ใช่ของพระผู้มีพระภาค แต่ธรรมที่แจ่มแจ้งนั้น แจ่มแจ้งกะใคร ก็กะ พระผู้มีพระภาค เพราะเป็นพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง พยายามเข้าใจในความหมายอย่างนี้ได้ไหม คือ ไม่ใช่เข้าใจกะคนอื่น ไม่ใช่ธรรมของบุคคลอื่น ที่จะต้องเข้าใจกับบุคคลอื่น

    . หมายความว่า ธรรมที่จะปรากฏให้เกิดความแจ่มแจ้งแก่ผู้ที่เข้าไปหา จะต้องเป็นผู้ที่มีศรัทธา เข้าไปหา เข้าไปนั่งใกล้ เงี่ยโสตฟัง ฟังแล้วต้องจำได้ และไตร่ตรองเนื้อความ และประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมที่ไตร่ตรอง แต่ถ้าภิกษุไม่เข้าไปหา เข้าไปนั่งใกล้ เข้าไปถามแล้ว ธรรมนั้นก็ปรากฏอยู่ แต่ไม่แจ่มแจ้งแก่ผู้เข้าไปหา

    สุ. ถูกต้อง และก็เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ไม่ใช่แจ่มแจ้งกะบุคคลอื่น คือ ไม่ใช่ธรรมของบุคคลอื่น ซึ่งจะต้องแจ่มแจ้งกับบุคคลอื่น

    ขอกล่าวถึงพระสูตรตอนอื่นๆ ที่จะแสดงให้เห็นถึงการเป็นผู้ที่อบรมเจริญอินทรีย์ ๕ ว่า ไม่ใช่เพียงแต่ต้องการให้สติเกิด และรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม และก็อยากจะให้ชัดเจนแจ่มแจ้งโดยรวดเร็วหรือทันที ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ต้องอาศัยความอดทนและความเข้าใจสภาพธรรมโดยถูกต้อง สติจึงจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้จริงๆ

    อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต อภัพพสูตร ข้อ ๗๖

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้ ไม่พึงมีในโลก พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่พึงบังเกิดในโลก ธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศไว้แล้ว ไม่พึงรุ่งเรืองในโลก ๓ ประการเป็นไฉน คือ ชาติ ๑ ชรา ๑ มรณะ ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้ง ๓ ประการนี้แล ไม่พึงมีในโลก พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่พึงบังเกิดในโลก ธรรมวินัยอันพระตถาคตทรงประกาศไว้แล้ว ไม่พึงรุ่งเรืองในโลก

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะธรรม ๓ ประการนี้ มีอยู่ในโลก ฉะนั้น พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงบังเกิดในโลก ธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศไว้ จึงรุ่งเรืองในโลก

    ไม่มีใครที่จะไม่ประสบชาติ ชรา มรณะ ทั้งตนเองและบุคคลอื่น แต่ละท่านเกิดมาแล้ว และยังมีบุคคลอื่น คือ ญาติ มิตรสหาย เพื่อนฝูง ซึ่งยังคงมีการเกิดขึ้นเรื่อยๆ และชราลงไปเรื่อยๆ และในที่สุดคือมรณะ ความตาย ซึ่งเป็นของแน่นอนที่สุด วันหนึ่งวันใดก็ได้ ขณะไหนก็ได้ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีชาติ ชรา มรณะ พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคประกาศไว้แล้ว ไม่พึงรุ่งเรืองในโลก

    ท่านผู้ฟังก็เห็นสภาพความเป็นจริง การเกิด การแก่ และการตายเป็นชีวิตประจำวันของวงศาคณาญาติ เพื่อนฝูงอยู่เสมอ และแม้แต่ตัวท่านเอง จาก ภพหนึ่งสู่อีกภพหนึ่ง จากชาติหนึ่งสู่อีกชาติหนึ่ง จากบุคคลหนึ่งสู่อีกบุคคลหนึ่ง จากเหตุการณ์ในชีวิตของชาติหนึ่ง สู่เหตุการณ์ในชีวิตของอีกชาติหนึ่ง เนิ่นนานมาแล้วในสังสารวัฏฏ์ จนไม่มีใครสามารถจดจำได้ ไม่มีใครสามารถรู้ได้จริงๆ และถ้าไม่ได้ฟัง พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง คงไม่คิดที่จะหยุดเกิด ใช่ไหม แต่อย่าลืมว่า ทันทีที่จุติจิตดับ ปฏิสนธิจิตเกิดต่อทันที ไม่มีใครยับยั้งได้เลย เป็นการตั้งต้นของชาติ ชรา และมรณะต่อไปอีก

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่ละธรรม ๓ ประการแล้ว ก็ไม่อาจละชาติ ชรา มรณะได้ ๓ ประการเป็นไฉน คือ ราคะ ๑ โทสะ ๑ โมหะ ๑

    สำหรับท่านที่เริ่มรู้สึกว่าไม่ควรจะเกิดอีกต่อไป ควรจะได้ทราบว่า ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ ตราบใดที่ยังมีโลภะ โทสะ โมหะ เพราะฉะนั้น ถ้าใครต้องการที่จะไม่เกิดจริงๆ อาจจะไม่ใช่ชาตินี้ทันที แต่ไม่ว่าจะเป็นอีกกี่สิบชาติ อีกกี่ร้อยชาติก็ตาม ที่จะไม่เกิดได้ ควรจะรู้เหตุว่า ถ้ายังไม่ดับโลภะ โทสะ โมหะ ก็ต้องเกิด เพราะฉะนั้น โลภะ โทสะ โมหะนั้น จะดับได้อย่างไร

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่ละธรรม ๓ ประการแล้ว ก็ไม่อาจละราคะ โทสะ โมหะได้ ๓ ประการเป็นไฉน คือ สักกายทิฏฐิ ๑ วิจิกิจฉา ๑ สีลัพพตปรามาส ๑

    ที่ท่านฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานบ่อยๆ เนืองๆ ก็เพื่อละ สักกายทิฏฐิ ๑ วิจิกิจฉา ๑ สีลัพพตปรามาส ๑ ยังไม่ใช่ถึงความเป็นพระอรหันต์เพียงด้วยการฟัง แต่ฟังเพื่อให้ความเห็นถูกเกิดขึ้น เพื่อที่ให้สติระลึกได้ถูกต้อง เพื่อที่จะเป็นสัมมามรรค เพื่อที่จะละสักกายทิฏฐิ การยึดถือสภาพธรรมเป็นตัวตน ละวิจิกิจฉา ความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม และละสีลัพพตปรามาส ข้อปฏิบัติอย่างอื่นซึ่งไม่ใช่การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจในขณะนี้

    และถึงแม้จะทราบแล้วว่า ต้องละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส แต่เมื่อยังละไม่ได้ ก็ยังต้องมีเหตุอีกว่า ต้องละธรรมอะไรก่อน จึงจะละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาสได้ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่ละธรรม ๓ ประการแล้ว ก็ไม่อาจละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสได้ ๓ ประการเป็นไฉน คือ การกระทำไว้ในใจโดยอุบายไม่แยบคาย ๑ การเสพทางผิด ๑ ความหดหู่แห่งจิต ๑

    ต้องพิจารณาว่า เป็นชีวิตประจำวันหรือเปล่า การกระทำไว้ในใจโดยอุบาย ไม่แยบคาย คือ การไม่พิจารณาข้อปฏิบัติให้ถูกต้อง ถ้าทำอย่างอื่นด้วยความเข้าใจผิด ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็ไม่มีทางที่จะละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส เพราะจะเป็นการเสพทางผิด แม้เพียงเล็กน้อย นิดเดียว ที่ผิด ก็จะทำให้ผลที่ปรากฏเป็นผลที่ผิดอย่างใหญ่ ซึ่งท่านที่เคยเข้าใจว่าปฏิบัติธรรมแล้วคงจะทราบได้ว่า ถ้าไม่ใช่สติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติจริงๆ ย่อมจะทำให้เกิดสิ่งที่ผิดปกติ ซึ่งไม่ใช่ปัญญาที่ค่อยๆ รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติอย่างนี้ได้

    เพราะฉะนั้น เรื่องของการปฏิบัติ อย่าคิดที่จะปฏิบัติทันที แต่ควรจะเข้าใจเรื่องของสภาพธรรมเพิ่มขึ้นๆ เป็นปัจจัยปรุงแต่งให้สติระลึกถูกต้องตามความเข้าใจที่เพิ่มขึ้น ดีกว่าที่จะไม่รู้อะไรเลย และต้องการที่จะปฏิบัติโดยความไม่รู้ เพราะฉะนั้น ผลที่ปรากฏย่อมเป็นสภาพที่ผิดปกติ ด้วยความไม่รู้

    สำหรับ ความหดหู่แห่งจิต ซึ่งถ้าไม่ละ ก็ไม่อาจละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาสได้

    ท่านผู้ฟังเคยได้ยินคำพูดที่แสดงความหดหู่ไหม ถ้าบอกว่า ชีวิตนี้เกิดมาลำบากเสียจริงๆ เป็นทุกข์ไปหมด ตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำ และถ้าขณะนั้นสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏอย่างอาจหาญร่าเริงตามปกติ ก็ไม่มีทางที่จะละสักกายทิฏฐิได้ ก็ยังคงเป็นความเศร้าหมองหดหู่

    บางคนก็บอกว่า ชีวิตของฆราวาสคับแคบมาก ไม่เหมือนกับชีวิตของบรรพชิต ก็มุ่งแต่จะคิดว่า ถ้าได้ออกบรรพชาอุปสมบท คงจะเจริญสติปัฏฐานได้มาก ปัญญาคงจะเกิดมาก แต่เมื่อไม่สามารถที่จะทำได้ ทุกท่านก็มีเหตุปัจจัยที่จะทำให้สภาพธรรมเกิดปรากฏกับแต่ละท่าน แต่ละขณะ ตามความเป็นจริง แทนที่จะหดหู่และเป็นทุกข์เดือดร้อนใจ สติระลึกทันทีที่ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยรู้ว่า เป็นหนทางเดียวจริงๆ

    จะหดหู่ทั้งวัน จะเป็นทุกข์ทั้งวัน จะเศร้าหมองไปทั้งวัน ก็ไม่มีประโยชน์อะไร นอกจากขณะที่มีประโยชน์ คือ สติระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้ว่าจะน้อย ก็ยังดีกว่าหดหู่มากๆ หรือท่านผู้ฟังจะคิดว่า หดหู่เสียดีกว่า เป็นทุกข์มากๆ โดยที่สติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งถ้าเป็นโดยลักษณะนั้น เป็นการกระทำไว้ในใจโดยอุบายอันไม่แยบคาย

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่ละธรรม ๓ ประการนี้แล้ว ก็ไม่อาจละการกระทำไว้ในใจโดยอุบายไม่แยบคาย การเสพทางผิด ความหดหู่แห่งจิตได้ ๓ ประการเป็นไฉน คือ ความเป็นผู้มีสติหลงลืม ๑ ความไม่มีสัมปชัญญะ ๑ ความฟุ้งซ่านแห่งจิต ๑

    ทุกอย่างต้องมีเหตุ ซึ่งท่านผู้ฟังไม่ควรจะไม่ผ่านพยัญชนะใดๆ ที่พระผู้มีพระภาคทรงพระมหากรุณาแสดงไว้ เพราะเป็นชีวิตจริงๆ เป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งท่านผู้ฟังก็ทราบแล้วว่า ถ้าขณะใดที่สติไม่เกิด หลงลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ ขณะนั้นก็มี ความฟุ้งซ่านต่างๆ

    ท่านผู้ฟังเคยทราบลักษณะของความฟุ้งซ่านบ้างไหม ตามความเป็นจริง ชีวิตจริงๆ ของแต่ละคน แต่ละขณะ แต่ละวัน ฟุ้งซ่านบ้างไหม เคยนึกถึงเรื่องอะไรๆ บ้างไหม ซึ่งเวลาที่อกุศลธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นในอารมณ์ทั้งหลายจนท่วมท้น ก็แสดงให้เห็นลักษณะของความฟุ้งซ่าน

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่ละธรรม ๓ ประการแล้ว ก็ไม่อาจละความเป็น ผู้มีสติหลงลืม ความไม่มีสัมปชัญญะ ความฟุ้งซ่านแห่งจิตได้ ๓ ประการเป็นไฉน คือ ความเป็นผู้ไม่ใคร่เห็นพระอริยะ ๑ ความเป็นผู้ไม่ใคร่ฟังธรรมของพระอริยะ ๑ ความเป็นผู้มีจิตคิดแข่งดี ๑

    กิเลสเป็นกิเลส อกุศลธรรมเป็นอกุศลธรรม ไม่มีใครชอบ ใช่ไหม แม้แต่ความเป็นผู้แข่งดี แต่บางครั้งบางขณะเกิดบ้างหรือเปล่า สำหรับแต่ละบุคคล ที่จะต้องรู้จักตนเองตามความเป็นจริง ถ้าสภาพธรรมใดเกิดขึ้น ขอให้เพียงสติเกิดระลึกว่า ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง ซึ่งไม่ใช่เรา แต่เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะการสะสม เพราะเหตุปัจจัยในอดีต เพราะฉะนั้น กิเลสที่มีมากก็แสดงออกมา ในลักษณะอาการต่างๆ กันของแต่ละบุคคล ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง

    ท่านผู้ฟังซึ่งเป็นปุถุชน ถ้าสติเกิดย่อมรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า มีอะไรบ้างที่ยังไม่ดี ดีกว่าที่จะคิดว่า ดีทุกอย่าง ดีหมดแล้ว ไม่มีอะไรอีกแล้วที่จะต้องดีขึ้น เพราะฉะนั้น แม้แต่ในเรื่องของการที่จะเป็นผู้ที่ไม่มีสติสัมปชัญญะ และมีความฟุ้งซ่าน ก็เพราะเหตุว่า เป็นผู้ไม่ใคร่เห็นพระอริยะ ๑ เป็นผู้ไม่ใคร่ฟังธรรมของ พระอริยะ ๑ เป็นผู้มีจิตคิดแข่งดี ๑

    ท่านผู้ฟังแน่ใจหรือเปล่าว่า เป็นผู้ที่ต้องการเห็นพระอริยะ

    . ผมยังมองไม่เห็นว่า จะมีผู้ใดไม่ต้องการเห็นพระอริยะ

    สุ. ผู้ที่ไม่ต้องการฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียด เป็นผู้ที่ไม่ต้องการเห็นพระอริยะ เพราะเมื่อพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระธรรมเป็นศาสดาแทนพระองค์ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ต้องการที่จะศึกษาธรรม ไม่ต้องการที่จะฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียด เพราะคิดว่า ทำไมจะต้องศึกษาพระธรรม ปฏิบัติเลยไม่ได้หรือ หรือว่าพระธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เสียเวลาจริงๆ ที่จะต้องศึกษา ถ้าเป็นโดยลักษณะนี้ย่อมหมายความว่า บุคคลนั้นไม่ใคร่ที่จะเห็นพระอริยะ แต่ต้องการเพียงคำแนะนำจากบางท่านบางประการ ที่จะให้ประพฤติปฏิบัติ ถ้าเป็นโดยลักษณะนั้น ไม่ใช่ผู้ที่ต้องการเห็นพระอริยะ

    . ในลักษณะนี้ ควรจะเป็นการไม่ต้องการเห็นพระธรรมมากกว่า

    สุ. ถ้าไม่เห็นพระธรรม จะเห็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ไหม

    . ไม่ได้

    สุ. พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอริยะหรือเปล่า

    . เป็น

    สุ. เพราะฉะนั้น เมื่อไม่เห็นพระธรรม ก็ไม่อาจที่จะเห็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงไม่อาจที่จะเห็นพระอริยะ

    เพราะฉะนั้น ควรที่จะพิจารณาว่า อยากเห็นอะไร ถ้าอยากเห็นพระอริยะ จริงๆ มีทางเดียว คือ ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียด และจะเห็นพระอริยะได้ แต่ถ้าไม่ฟัง ไม่มีหนทางเลย เพราะไม่รู้ว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมอะไร เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณา แม้การเป็นผู้ที่มีสติหลงลืม ไม่มีสัมปชัญญะ และมีความฟุ้งซ่านแห่งจิต ก็เพราะว่า เป็นผู้ไม่ใคร่เห็นพระอริยะ ๑ เป็นผู้ไม่ใคร่ฟังธรรมของพระอริยะ ๑ และความเป็นผู้มีจิตคิดแข่งดี ๑



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๑๙ ตอนที่ ๑๑๘๑ – ๑๑๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 86
    28 ธ.ค. 2564