แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1191


    ครั้งที่ ๑๑๙๑


    สาระสำคัญ

    ม.ม.กีฎาคีรีสูตร - การตั้งอยู่ในอรหัตตผล

    สงฺ.มหา.สัทธาสูตร - ศรัทธาของพระอริยสาวก

    สติเป็นเครื่องรักษาตนอย่างยิ่ง

    ตามระลึกถึงกิจที่ทำและคำพูดแม้นานได้


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๒๖


    มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ กีฏาคิริสูตร ข้อ ๒๓๘ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวการตั้งอยู่ในอรหัตตผล ด้วยการไปครั้งแรกเท่านั้นหามิได้ แต่การตั้งอยู่ในอรหัตตผลนั้น ย่อมมีได้ด้วยการศึกษาโดยลำดับ ด้วยการทำโดยลำดับ ด้วยความปฏิบัติโดยลำดับ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็การตั้งอยู่ในอรหัตตผล ย่อมมีได้ด้วยการศึกษาโดยลำดับ ด้วยการทำโดยลำดับ ด้วยความปฏิบัติโดยลำดับอย่างไร

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรในธรรมวินัยนี้เกิดศรัทธา แล้วย่อมเข้าไปใกล้ เมื่อเข้าไปใกล้ย่อมนั่งใกล้ เมื่อนั่งใกล้ย่อมเงี่ยโสตลง เมื่อเงี่ยโสตลงแล้วย่อมฟังธรรม ครั้นฟังธรรมย่อมทรงธรรมไว้ ย่อมพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงไว้แล้ว เมื่อพิจารณาเนื้อความอยู่ ธรรมทั้งหลายย่อมทนได้ซึ่งความพินิจ เมื่อธรรมทนความพินิจได้อยู่ ฉันทะย่อมเกิด เมื่อเกิดฉันทะแล้วย่อมอุตสาหะ ครั้นอุตสาหะแล้วย่อมไตร่ตรอง ครั้นไตร่ตรองแล้วย่อมตั้งความเพียร เมื่อมีตนส่งไปแล้ว ย่อมทำให้แจ้งชัดซึ่งบรมสัจจะด้วยกาย และย่อมแทงตลอดเห็นแจ้งบรมสัจจะนั้นด้วยปัญญา

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ศรัทธาก็ดี การเข้าไปใกล้ก็ดี การนั่งใกล้ก็ดี การเงี่ยโสตลงก็ดี การฟังธรรมก็ดี ความพิจารณาเนื้อความก็ดี ธรรมอันทนได้ซึ่งความพินิจก็ดี ฉันทะก็ดี อุตสาหะก็ดี การไตร่ตรองก็ดี การตั้งความเพียรก็ดีนั้นๆ ไม่ได้มีแล้ว เธอทั้งหลายย่อมเป็นผู้ปฏิบัติพลาด ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติผิด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โมฆบุรุษเหล่านี้ ได้หลีกไปจากธรรมวินัยนี้ไกลเพียงไร

    มีท่านผู้ฟังบางท่านอยากจะหาวิธีว่า ทำอย่างไรท่านถึงจะได้เข้าใจธรรมเร็วๆ หรือว่าสามารถปฏิบัติธรรมได้เร็วๆ ซึ่งทางที่เร็วที่สุดก็ยังคงเป็นทางเดียวอยู่นั่นเอง คือ การฟังธรรมต่อไป ไม่มีทางอื่นเลย

    พระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแสดงข้อปฏิบัติอื่น เช่น ให้ไปนั่ง หรือให้ไปยืน หรือให้ไปทำอะไรเป็นชั่วโมง นาที แต่ข้อความทั้งหมดจะแสดงว่า การตั้งอยู่ในอรหัตตผลย่อมมีได้ ด้วยการศึกษาโดยลำดับ และการศึกษาโดยลำดับไม่ใช่ให้ทำอย่างอื่นนอกจาก เกิดศรัทธา แล้วย่อมเข้าไปใกล้ เมื่อเข้าไปใกล้ย่อมนั่งใกล้ เมื่อนั่งใกล้ย่อมเงี่ยโสตลง เป็นเรื่องของการฟังและการพิจารณา และธรรมที่ได้ฟังก็ทนต่อการพิสูจน์

    แต่บุคคลใดก็ตาม ศรัทธาก็ดี การเข้าไปใกล้ก็ดี การนั่งใกล้ก็ดี การเงี่ยโสตลงก็ดี ฟังธรรมก็ดี การพิจารณาเนื้อความก็ดี ธรรมอันทนได้ซึ่งความพินิจก็ดี ฉันทะก็ดี อุตสาหะก็ดี การไตร่ตรองก็ดี การตั้งความเพียรก็ดีนั้นๆ ไม่ได้มีแล้ว เพราะว่าบางท่านขอปฏิบัติ ไม่ขอฟังพระธรรม เพราะฉะนั้น เธอทั้งหลายย่อมเป็นผู้ปฏิบัติพลาด ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติผิด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โมฆบุรุษเหล่านี้ได้หลีกไปจาก ธรรมวินัยนี้ไกลเพียงไร

    เพราะฉะนั้น มีหนทางเดียวจริงๆ คือ ฟังไปเรื่อยๆ พร้อมกับสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง ไม่มีหนทางอื่น เพราะว่าการฟังเหมือนกับเครื่องมือ หรือว่าเครื่องประกอบ ซึ่งในการที่จะทำสิ่งหนึ่ง สิ่งใดก็ตามต้องมีอุปกรณ์ เครื่องใช้ เครื่องมือต่างๆ แม้แต่ในการปรุงอาหาร ก็ต้องมีอาหารต่างๆ พร้อมจึงจะทำได้ ฉันใด การที่สติระลึก และปัญญาสามารถรู้แจ้งประจักษ์ในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ ก็จะต้องอาศัยการฟังเรื่องของสภาพธรรมจนเข้าใจขึ้นๆ พร้อมที่เมื่อสติระลึกเมื่อไร ปัญญาซึ่งสะสมอบรมมามากแล้ว ย่อมจะประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรม นั้นๆ ได้

    แต่ถ้าบอกว่า มีแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรม ก็ไประลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น ซึ่งนั้นไม่พอ เพราะถ้าไม่ฟังเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมจนเข้าใจชัดขึ้น แม้แต่ในเรื่องของอินทรีย์ทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่จะขาดจากกันแต่ละอินทรีย์จริงๆ ก็ต้องอาศัยการฟังและการระลึกตามว่า แม้แต่อารมณ์ที่กำลังปรากฏต่างกัน ก็เป็นปัจจัยให้จิตแต่ละขณะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ต่างๆ กัน เพราะฉะนั้น สติจึงระลึกเพียงเฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งปัจจัยปรุงแต่งให้เกิด ส่วนที่ผ่านไปแล้ว ก็ผ่านไปแล้ว ส่วนที่ยังไม่เกิดขึ้น ถ้าใครอยากจะรอเวลา และจะไปปฏิบัติธรรม ผู้นั้นย่อมเป็นผู้ประมาท เพราะว่าขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏ ถ้าไม่ศึกษาในขณะนี้ รอเวลาอื่น ก็ไม่สามารถรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้

    สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค สัทธาสูตร ข้อ ๑๐๑๐ - ข้อ ๑๐๑๗ มีข้อความที่แสดงถึงความต่างกันของผู้ที่เจริญอินทรีย์ ๕ กับผู้ที่เพียงมีศรัทธา

    ข้อความมีว่า

    ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวอังคะ ชื่ออาปณะ ในแคว้นอังคะ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระสารีบุตรมาแล้วตรัสว่า

    ดูกร สารีบุตร อริยสาวกผู้ใดมีศรัทธามั่น เลื่อมใสยิ่งในพระตถาคต อริยสาวกนั้น ไม่พึงเคลือบแคลงหรือสงสัยในตถาคต หรือในศาสนาของตถาคต

    พระสารีบุตรกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อริยสาวกใดมีศรัทธามั่น เลื่อมใสยิ่งในพระตถาคต อริยสาวกนั้น ไม่พึงเคลือบแคลงหรือสงสัยในพระตถาคต หรือในศาสนาของ พระตถาคต ด้วยว่าอริยสาวกผู้มีศรัทธาพึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเป็นผู้ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม มีกำลัง มีความบากบั่น มั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย

    ท่านผู้ฟังเป็นอย่างนี้หรือเปล่า

    เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ท่านผู้ฟังมีศรัทธารู้ว่า การที่จะละอกุศลได้ ก็ด้วยขณะที่กุศลจิตเกิด ขณะใดก็ตามที่ไม่เป็นกุศลจิต ขณะนั้นต้องเป็นอกุศลจิต และ ในวันหนึ่งๆ ย่อมมีอกุศลจิตมากมายตราบใดที่กุศลจิตไม่เกิด เมื่อรู้อย่างนี้ จะเป็น ผู้ขวนขวายไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลายไหม เพราะเห็นว่า ขณะใดที่ทอดธุระ ขณะนั้นเป็นอกุศล

    เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานจึงละเอียดที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ขณะใดเป็นกุศลเกิดขึ้น สภาพธรรมนั้นก็เป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล สติก็จะต้องรู้ลักษณะสภาพของอกุศลที่กำลังปรากฏในขณะนั้น จึงจะละอกุศลได้ ถ้าไม่รู้ตามความเป็นจริง ก็ไม่สามารถจะละอกุศลได้ แต่เพราะรู้ จึงรู้ว่าขณะใดเป็นอกุศลควรละ และขณะใดเป็นกุศลควรเจริญ

    ข้อความต่อไป

    ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็วิริยะของอริยสาวกนั้นเป็นวิริยินทรีย์ ด้วยว่าอริยสาวกผู้มีศรัทธา ปรารภความเพียรแล้ว พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเป็นผู้มีสติ ประกอบด้วยสติเป็นเครื่องรักษาตนอย่างยิ่ง จักระลึกถึง ตามระลึกถึง กิจที่ทำและคำที่พูดแม้นานได้

    นี่คือวิริยะของพระอริยสาวก เป็นวิริยินทรีย์ เพราะว่าพระอริยสาวกทั้งหลาย เป็นผู้ มีศรัทธา ปรารภความเพียรแล้ว พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเป็นผู้มีสติ ไม่ได้หวังอย่างอื่นนอกจากหวังที่จะ เป็นผู้มีสติ ประกอบด้วยสติเป็นเครื่องรักษาตนอย่างยิ่ง จักระลึกถึง ตามระลึกถึง กิจที่ทำและคำที่พูดแม้นานได้

    . ขณะที่พูดนี้เจริญสติได้ไหม คงเจริญได้ แต่จะจับสภาวปรมัตถ์ได้หรือ

    สุ. ได้แน่นอน

    . ผู้ที่สำเร็จ รู้สึกท่านจะเป็นผู้ฟัง ฟังแล้วก็สำเร็จ แต่ในขณะที่พูด สำเร็จยาก

    สุ. ท่านพระเขมกะท่านบรรลุในขณะที่แสดงธรรม แม้พระภิกษุที่ฟังก็เป็นบรรลุเป็นพระอรหันต์ด้วย ทั้งผู้ฟังและผู้พูด ถ้าเวลาพูดเจริญสติปัฏฐานไม่ได้ พระผู้มีพระภาคคงห้ามพูด ใช่ไหม

    . ขณะที่สงสัยพูดได้ ขณะที่เจริญที่จะเห็นสภาวะของปรมัตถ์จริงๆ คงจะยกเว้นกระมัง

    สุ. ภิกษุสาวกเป็นผู้เจริญสติ เป็นผู้ที่พูดหรือเปล่า หรือว่าไม่ได้พูดเลย

    . พูดมากด้วย

    สุ. สติเกิดได้ไหมในขณะพูด

    . สติเกิดได้ แต่จะเห็นสภาวปรมัตถ์หรือเปล่า

    สุ. ถ้าสติปัฏฐานเกิด สติก็ระลึกลักษณะของปรมัตถธรรม

    . ขณะที่พูดมีการนึกถึงบัญญัติด้วย เวลาฟังก็ต้องฟังบัญญัติด้วย สภาวปรมัตถ์จะจับตรงจุดไหน

    สุ. จิตที่คิดเป็นปรมัตถธรรมหรือเปล่า

    . เป็น

    สุ. สามารถระลึกรู้สภาพของจิตที่กำลังรู้คำได้ไหม

    . ปัญญาต้องไวมาก

    สุ. ขอประทานโทษ เวลาไม่พูด คิดหรือเปล่า ตามความเป็นจริง

    . คิด

    สุ. สติระลึกรู้ลักษณะของจิตที่คิดได้ไหม

    . ได้

    สุ. ถ้าสติสามารถระลึกรู้ลักษณะของจิตที่คิดได้ ในขณะที่พูดก็คือคิดนั่นเอง แต่มีเสียงออกมาด้วย เพราะฉะนั้น แล้วแต่ว่าสติจะระลึกลักษณะของเสียง หรือลักษณะของได้ยิน หรือลักษณะของจิตที่กำลังคิดคำ

    . การบวชกับการเป็นฆราวาส อย่างไหนจะมีโอกาสเจริญสติได้มากกว่า

    สุ. ชีวิตจริงๆ ในขณะนี้เป็นใคร เริ่มระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏไปเรื่อยๆ ก็จะมากได้

    . แต่โอกาสหลงมีมาก

    สุ. เพราะฉะนั้น อบรมเจริญสติเพื่อที่จะได้หลงน้อย แต่ถ้าไม่อบรม เจริญสติ ก็ต้องหลงมากขึ้นเรื่อยๆ

    . พยายามอบรม แต่ส่วนมากเวลาทำงาน ...

    สุ. ไม่ใช่ตัวตนที่พยายาม อย่าลืม ถ้าท่านผู้ฟังท่านใดพยายามจะเพียร ให้ทราบว่า พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงเรื่องของการศึกษาโดยลำดับไว้แล้ว

    . เวลาทำงาน ...

    สุ. ท่านผู้ฟังจะฟังพระธรรม หรือท่านผู้ฟังจะทำสติ

    . ขณะที่ทำงาน โอกาสจะหลงไปในอกุศลจะมีมากกว่า

    สุ. ก็เพราะยังไม่ใช่ผู้ที่เจริญอินทรีย์ ๕ ถ้าเป็นผู้ที่เจริญอินทรีย์ ๕ ไป เรื่อยๆ วันหนึ่งสติจะมั่นคงมีกำลังเป็นพละได้

    ต้องการสติแค่ไหนในวันหนึ่งๆ

    . มีมากยิ่งดี

    สุ. สักเท่าไร

    . ตามเหตุตามปัจจัย

    สุ. วันนี้อยากจะได้สติสักกี่ชั่วโมง

    . อยากได้ ก็ไม่ได้

    สุ. เพราะฉะนั้น ก็อย่าอยาก รู้อยู่แล้วว่า ถึงอยากได้ก็ไม่ได้ ต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย จากความเป็นปุถุชนผู้หลงลืมสติ จะให้เหมือนพระอรหันต์ได้อย่างไร อยากจะมีสติเท่าพระอรหันต์ อยากจะมีสติเท่าพระอนาคามี อยากจะมีสติเท่าพระสกทาคามี อยากจะมีสติเท่าพระโสดาบัน แต่ขณะนี้ระลึกทางตาที่กำลังเห็นหรือยัง ระลึกทางหูที่กำลังได้ยินหรือยัง ระลึกทางกายที่กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสหรือยัง ถ้ายังไม่ระลึก ก็ไม่มีหนทางที่จะไปทำอย่างอื่นได้ และถ้าไม่ระลึกต้องทราบว่า เพราะอะไรจึงไม่ระลึก แต่ถ้าฟังไปเรื่อยๆ เป็นปัจจัยให้สติเกิดได้ แต่ถ้าไม่ฟัง จะให้สติเกิดระลึกได้อย่างไร

    . เพราะว่าหลง จึงไม่ได้ระลึก

    สุ. ไม่ใช่เพราะขาดการฟังหรือ

    . ผมฟังมาก

    สุ. มากพอหรือยัง หรือต้องฟังอีก

    . ต้องฟังไปเรื่อยๆ

    สุ. ต้องฟังไปเรื่อยๆ เท่าไรก็ไม่พอ ต้องฟังไปจนแม้ขณะที่กำลังฟัง สติก็ยังเกิดระลึกได้บ้าง ทางกายขณะนี้กำลังกระทบสัมผัส ทางตากำลังเห็น ทางหูกำลังได้ยิน สติเกิดระลึกในขณะที่ได้ยินได้ฟังอย่างนี้หรือยัง ถ้ายัง ก็ฟัง เพื่อเป็นปัจจัยให้สติระลึกได้ เพราะพระธรรมที่ทรงแสดงไว้เป็นเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ย่อมเป็นปัจจัยให้สติเกิดระลึกได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง

    . พระโสดาที่ท่านสำเร็จแล้ว ท่านก็รู้ว่าเจริญสติในเพศฆราวาสได้ ทำไมท่านออกบวช

    สุ. ใคร

    . ผมจำชื่อไม่ได้ กำลังโกนหัว ท่านก็สำเร็จ ผมจำไม่ค่อยได้

    สุ. ท่านอบรมเจริญอย่างไรที่ว่าสำเร็จ ข้อปฏิบัติสำคัญที่สุด ต้องรู้ ข้อปฏิบัติว่าบุคคลนั้นอบรมเจริญอย่างไร

    . ไม่ใช่ท่านเห็นว่า การบวชมีโอกาสมากกว่าท่านจึงออกบวชหรือ ทั้งๆ ที่ท่านสำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้ว

    สุ. ใคร ดิฉันก็ยังเรียนถามอยู่นั่นเองว่า ใครสำเร็จเป็นพระโสดาบัน และปฏิบัติอย่างไรจึงสำเร็จ ถ้าท่านปฏิบัติอย่างไรสำเร็จ ท่านก็ต้องชี้แจงข้อปฏิบัติให้บุคคลอื่นได้ทราบ ซึ่งข้อปฏิบัติสำหรับผู้ที่จะบรรลุความเป็นพระโสดาบันจะไม่เป็นอย่างอื่นเลย นอกจากเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติในชีวิตประจำวัน

    . อาจารย์มีความเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นฆราวาสหรือเป็นนักบวชก็แล้วแต่ ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติ ก็มีโอกาสที่จะบรรลุได้ อย่างนั้นใช่ไหม

    สุ. ใช่ เพราะแต่ละท่านสะสมปัจจัยที่จะเป็นแต่ละบุคคล แต่ละขณะ วิจิตรต่างๆ กัน ตามความเป็นจริง

    . มีโอกาสเท่ากัน เหมือนกันหรือ

    สุ. แล้วแต่บุคคล ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ผู้ที่เป็นคฤหัสถ์รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบันก็มี ผู้ที่เป็นพระภิกษุไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรมก็มี แม้ในครั้งนั้น เพราะฉะนั้น ย่อมแล้วแต่แต่ละบุคคล

    ข้อความต่อไป

    ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็สติของอริยสาวกนั้นเป็นสตินทรีย์ ด้วยว่าอริยสาวก ผู้มีศรัทธา ปรารภความเพียร เข้าไปตั้งสติไว้แล้ว พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักยึดหน่วงนิพพานให้เป็นอารมณ์ ได้สมาธิ ได้เอกัคคตาจิต

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็สมาธิของอริยสาวกนั้นเป็นสมาธินทรีย์ ด้วยว่า อริยสาวกผู้มีศรัทธา ปรารภความเพียร เข้าไปตั้งสติไว้ มีจิตตั้งมั่นโดยชอบ พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักรู้ชัดอย่างนี้ว่า สงสารมีที่สุดและเบื้องต้นอันบุคคลรู้ไม่ได้แล้ว เบื้องต้นที่สุดไม่ปรากฏแก่เหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกไว้ ผู้แล่นไปแล้ว ท่องเที่ยวไปแล้ว ก็ความดับด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือแห่งกองมืดคืออวิชชา นั่นเป็นบทอันสงบ นั่นเป็นบทอันประณีต คือ ความระงับสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความสิ้นกำหนัด ความดับ นิพพาน.

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ปัญญาของอริยสาวกนั้นเป็นปัญญินทรีย์ อริยสาวกนั้นแล พยายามอย่างนี้ ครั้นพยายามแล้วระลึกอย่างนี้ ครั้นระลึกแล้วตั้งมั่นอย่างนี้ ครั้นตั้งมั่นแล้วรู้ชัดอย่างนี้ ครั้นรู้ชัดแล้วย่อมเชื่อมั่นอย่างนี้ว่า ธรรมเหล่านี้ ก็คือ ธรรมที่เราเคยได้ฟังมาแล้วนั่นเอง เหตุนั้น บัดนี้เราถูกต้องด้วยนามกายอยู่ และเห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ศรัทธาของอริยสาวกเป็นสัทธินทรีย์ ดังนี้แล

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดีละๆ สารีบุตร …



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒๐ ตอนที่ ๑๑๙๑ – ๑๒๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 86
    28 ธ.ค. 2564