แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1188


    ครั้งที่ ๑๑๘๘


    สาระสำคัญ

    เพราะเหตุไร เป็นผู้ยังฟุ้งซ่าน ไม่สำรวม และทุศีล

    ค่อยๆ คลายการยึดถือสภาพธรรม

    อบรมเจริญอินทรีย์ ๕


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๒๕


    เนื่องจากพระสูตรนี้เป็นพระสูตรยาว ขอกล่าวถึงโดยตลอดอย่างสั้นๆ

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่ละธรรม ๓ ประการแล้ว ก็ไม่อาจละความเป็น ผู้ไม่ใคร่เห็นพระอริยะ ความเป็นผู้ไม่ใคร่ฟังธรรมของพระอริยะ ความเป็นผู้มีจิต คิดแข่งดีได้ ๓ ประการเป็นไฉน คือ ความฟุ้งซ่าน ๑ ความไม่สำรวม ๑ ความทุศีล ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่ละธรรม ๓ ประการแล้ว ก็ไม่อาจละความฟุ้งซ่าน ความไม่สำรวม ความทุศีลได้ ๓ ประการเป็นไฉน คือ ความเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ๑ ความเป็นผู้ไม่รู้ความประสงค์ ๑ ความเกียจคร้าน ๑

    เป็นเรื่องชีวิตของแต่ละคน แต่กระนั้นพระผู้มีพระภาคก็ยังต้องทรงแสดงโดยละเอียด เป็นอนุสาสนีที่ทรงพร่ำสอนจริงๆ ให้ละเอียดขึ้นๆ ว่า เพราะเหตุไรจึงยังเป็นผู้ฟุ้งซ่าน ไม่สำรวม และทุศีล ก็เพราะว่า เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ๑ เป็นผู้ไม่รู้ความประสงค์ ๑ เป็นผู้มีความเกียจคร้าน ๑

    ท่านผู้ฟังถามว่า เป็นผู้ไม่รู้ความประสงค์ คืออย่างไร

    ความประสงค์ของชีวิต แต่ละท่านมีความประสงค์ของชีวิตแล้วหรือยัง หรือ ยังไม่รู้

    มีความประสงค์ที่จะรู้แจ้งธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงหรือเปล่า นั่นเป็นจุดประสงค์ในชีวิตหรือเปล่า หรือว่าจุดประสงค์คืออย่างอื่น

    ถ้าไม่มีจุดประสงค์ที่จะรู้แจ้งพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง อาจจะไม่ทราบเลยว่า จุดประสงค์ในชีวิตนี้คืออะไร มีทุกอย่างพร้อม มีความสนุก มีความ รื่นเริง แต่นั่นหรือคือจุดประสงค์ในชีวิต ต้องการเท่านั้นหรือ ที่ทุกอย่างมีแล้วหมดไป ทุกๆ ขณะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เป็นสภาพธรรมที่ไม่มีใครสามารถแก้ไขหรือยับยั้งชาติ ชรา มรณะได้ เพราะฉะนั้น ถ้าตราบใดยังไม่เป็นผู้ที่รู้ความประสงค์ของชีวิต จริงๆ ย่อมจะเป็นผู้ที่ไม่มีศรัทธา

    . เรื่องการแข่งดี จิตของเราจะไปแข่งดีกับใคร ขอให้อาจารย์ขยายความ

    สุ. ชีวิตประจำวัน แต่ละท่านมีความเป็นตัวตน ถ้ายังไม่เป็นพระอริยบุคคล และเมื่อมีความเป็นตัวตน มีความสำคัญตนมาก ในขณะนั้นย่อมคิดว่า เป็นบุคคลที่อาจจะเก่งกว่าบุคคลอื่น ดีกว่าบุคคลอื่น เลิศกว่าบุคคลอื่น หรือพยายามที่จะเป็นอย่างนั้น โดยไม่รู้ว่าแท้ที่จริงแล้วต้องพยายามที่จะละ ไม่ใช่พยามยามที่จะรู้กว่า บุคคลอื่นด้วยความเป็นตัวตน แม้แต่การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็ไม่ใช่เป็นการแข่งดีว่า เพื่อที่จะรู้ก่อนบุคคลนั้น หรือจะรู้มากกว่าบุคคลนี้ แต่รู้ว่าเป็นเรื่องของการดับกิเลสทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะของความแข่งดีก็เป็นกิเลส

    ทำไมจะต้องแข่งดี ในเมื่อทุกคนก็ควรจะดี คือ เป็นพระอริยบุคคลเหมือนๆ กัน ถ้าสามารถจะเป็นไปได้ ต้องมีจิตเมตตาที่จะให้คนอื่นเป็นด้วย เสมอด้วย หรือ ยิ่งกว่าถ้ามีเหตุปัจจัยที่จะดียิ่งกว่า ก็ตามการสะสม จะไม่มีใครที่จะดีกว่าได้หรือ

    . ไม่แข่งดี คือ ให้ถ่อมตัว ใช่ไหม

    สุ. แล้วแต่ สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนกว่าจะเป็นพระโสดาบันบุคคล

    . พระสูตรนี้ละเอียดมาก ให้ทีละ ๓ ทีละ ๓

    สุ. จนกว่าจะรู้ว่า ตัวเองมีอะไรบ้าง ยังขาดอะไรบ้าง ยังจะต้องอบรมอย่างไรบ้าง แต่ดีเท่าไรก็ไม่พอ รู้เท่าไรก็ยังไม่พอ สติจะเกิดเท่าไรก็ยังไม่พออยู่นั่นเอง จนกว่าจะรู้ว่า แม้ความแข่งดีก็เป็นอกุศลธรรมที่ไม่ควรจะมี และจะไม่มีได้เมื่อสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพของความแข่งดีในขณะนั้น แต่ก่อนอื่นไม่ใช่ละความแข่งดีทันที แต่ต้องละการยึดถือสภาพที่แข่งดีว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้น เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ไม่ว่าใครจะเป็นอย่างไร เห็นธรรมเป็นธรรม ไม่ใช่เป็นบุคคลหนึ่งบุคคลใด สภาพแข่งดีเป็นธรรมชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นกับใครเมื่อไรก็ได้ แต่ต้องละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาสก่อน

    ท่านผู้ฟังขยันมากไหมวันนี้ ขยันที่เป็นอกุศล หรือว่าเป็นกุศล เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่ไม่มีศรัทธา ต้องเป็นผู้ที่เกียจคร้านในกุศล แต่ว่าขยันในอกุศล เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่ละธรรม ๓ ประการนี้แล้ว ก็ไม่อาจละความเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ความเป็นผู้ไม่รู้ความประสงค์ ความเกียจคร้านได้ ๓ ประการเป็นไฉน คือ ความไม่เอื้อเฟื้อ ๑ ความเป็นผู้ว่ายาก ๑ ความเป็นผู้มีมิตรชั่ว ๑

    ดีพอหรือยังสำหรับความเป็นผู้เอื้อเฟื้อ ถ้ายังมีความเป็นตัวตนมากๆ จะเห็นได้ว่า เอื้อเฟื้อแคบลงๆ น้อยลงๆ แต่ถ้าขณะใดที่กุศลจิตเกิด ความเอื้อเฟื้อไม่มีประมาณได้ เพราะสภาพธรรมที่ทำให้เกิดการประมาณ คือ อกุศลธรรม เวลาที่โลภะเกิดขึ้นทำประมาณในบุคคลต่างๆ ว่า บุคคลนี้เป็นที่รัก บุคคลนั้นเป็นที่รักมาก หรือบุคคลนั้นเป็นที่รักนิดหน่อย นั่นคือโลภะประมาณในแต่ละบุคคล โทสะก็เช่นเดียวกัน คนนี้ไม่ค่อยเป็นที่รัก คนนี้เป็นที่ชัง อะไรทำให้ประมาณในบุคคลซึ่งเป็นแต่เพียง สภาพธรรม โทสะนั่นเอง ทำกิจประมาณในสภาพธรรมที่ปรากฏให้ต่างออกไป เป็นบุคคลที่ชังมาก ชังน้อย

    เพราะฉะนั้น เมื่อมียังมีโลภะ ยังมีโทสะ ธรรมที่เมื่อบุคคลไม่ละ ก็ไม่อาจละความเป็นผู้ไม่มีศรัทธา คือ ความไม่เอื้อเฟื้อ ๑ ความเป็นผู้ว่ายาก๑ ความเป็นผู้มีมิตรชั่ว ๑

    ท่านผู้ฟังคิดว่าสำคัญไหม ๓ อย่างนี้ ทีละ ๓ ดูเหมือนเล็กๆ น้อยๆ แต่ว่าพระผู้มีพระภาคผู้ทรงตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ได้ทรงแสดงเหตุไว้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่ละธรรม ๓ ประการแล้ว ก็ไม่อาจละความ ไม่เอื้อเฟื้อ ความเป็นผู้ว่ายาก ความเป็นผู้มีมิตรชั่วได้ ๓ ประการเป็นไฉน คือ ความไม่มีหิริ ๑ ความไม่มีโอตตัปปะ ๑ ความประมาท ๑

    ต่อจากนั้นก็ย้อนกลับ คือ บุคคลผู้ที่ไม่มีความละอาย ไม่มีความเกรงกลัว เป็นผู้ประมาท ไม่อาจละ ความเป็นผู้ไม่เอื้อเฟื้อ ความเป็นผู้ว่ายาก ความเป็นผู้มี มิตรชั่ว ... ขึ้นไปจนกระทั่งถึงการละราคะ โทสะ โมหะ ต้องรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงตามปกติอย่างนี้ และเจริญสติปัฏฐานตามปกติอย่างนี้ด้วย อย่าคิดที่จะทำอย่างอื่น เพราะไม่ใช่หนทางที่จะรู้จักตัวเองได้ตามความเป็นจริงอย่างนี้

    . พระสูตรถ้าไปอ่านเอง โดยอรรถจะไม่ได้อย่างที่อาจารย์อธิบาย หรือ ไม่เข้าใจ เช่น จะไม่ทราบความหมายที่ว่า จะเห็นพระอริยะได้อย่างไร

    ผมมีปัญหาที่จะเรียนถาม คือ ระหว่างที่เจริญสติ บางครั้งให้ทาน หรือเอื้อเฟื้อผู้อื่นไปแล้ว ต้องเลยไปอีกนิดหนึ่งจึงจะนึกได้ จะเป็นการหลงลืมสติไหม

    สุ. ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ ต้องมีการหลงลืมสติ และถอยลงมาจากพระอรหันต์ ยังไม่ใช่พระอนาคามี ยังไม่ใช่พระสกทาคามี ยังไม่ใช่พระโสดาบัน ก็เป็นเรื่องธรรมดาจริงๆ ไม่ใช่ว่าต้องรีบร้อน แต่ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด

    . ผมไม่ได้รีบร้อนอะไร แต่รู้สึกว่า บางครั้งพอเกิดปั๊บ ได้ปั๊บ แต่บางครั้งบ่อยเหมือนกันที่ทำไปแล้ว ให้ไปแล้ว ก้าวเดินไปแล้ว จึงจะนึกได้ คือ มีสติเกิดตามมา ทำไมสติไม่เกิดทันที แต่ก็บังคับไม่ได้ แต่นึกได้ภายหลัง

    สุ. ขออนุโมทนาที่ว่า แม้ภายหลังสติยังระลึกได้ มิฉะนั้นแล้ว แม้ภายหลังสติก็ยังไม่ระลึกอยู่นั่นเอง นี่คือความต่างกันของการเจริญอินทรีย์ ซึ่งจะค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไปทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งเป็นผู้ที่พร้อมเมื่อไร อินทรีย์แก่กล้าเมื่อไร ก็จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่จะต้องเป็นการค่อยๆ ระลึกได้ แม้ภายหลัง ก็ยังเป็น การเจริญอินทรีย์ด้วย

    . การที่เรามีสติระลึกรู้สภาพธรรมตามปกติในชีวิตประจำวัน เช่น ขณะที่เราเห็น เรารู้ว่าเป็นอะไร เป็นสภาพของนามธรรม ใช่ไหม

    สุ. สภาพรู้ อาการรู้มี ไม่ใช่มีแต่เฉพาะสิ่งที่ปรากฏ

    . สิ่งที่เรารู้ เป็นนามธรรม

    สุ. อาการรู้ ลักษณะรู้ ไม่ต้องใช้ชื่อว่านามธรรม อาการรู้นั้นก็มี ในขณะใดที่ระลึกที่อาการรู้ ก็เพื่อที่จะถอนความเป็นเราเห็นทางตา

    . เช่นเดียวกับทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นอาการรู้อย่างเดียวกัน

    สุ. เป็นอาการรู้ ซึ่งรู้ต่างกันตามอินทรีย์ คือ ตาอย่างหนึ่ง หูอย่างหนึ่ง

    . เป็นการรู้ในนามธรรม

    สุ. ถูกต้อง

    . และรูปธรรมล่ะ

    สุ. รูปธรรมก็มี ถ้าไม่มี เห็น เห็นอะไร ได้ยินอะไร

    . สติเกิด รู้เฉพาะนามธรรมเท่านั้น ส่วนมากจะเกิดแต่นามธรรมเท่านั้น

    สุ. ก็แล้วแต่ ท่านผู้ฟังได้ยินเสียงอะไร

    . สมมติได้ยินเสียงคน

    สุ. ถ้าได้ยินเสียงคน ยังไม่รู้ว่า เสียงเป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง

    . แต่พอเรารู้ว่า เป็นเสียงคน ก็เป็นนามธรรมแล้ว

    สุ. เพราะฉะนั้น เวลาที่ระลึกที่เสียง คือ เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่มีคน ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดในเสียง จึงจะเป็นการรู้ลักษณะของรูปธรรมซึ่งเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏแต่ละทาง เพราะฉะนั้น ต้องระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรมด้วย ไม่ใช่ระลึกรู้แต่ลักษณะของนามธรรม

    . ระลึกทีไร ก็รับทราบทุกทีว่า เป็นเสียงคน เสียงสัตว์

    สุ. เพราะว่ายังเป็นตัวตน เมื่อเป็นเสียงหนึ่งเสียงใดอยู่ ก็ยังไม่ใช่ สภาพธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้น ต่อเมื่อใดรู้ว่า ขณะนี้ที่เสียงกำลังปรากฏเป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งและสติก็ดับ และสติก็ระลึกรู้ลักษณะของรูปอื่นหรือนามอื่นได้ จึงจะไม่ติดข้องผูกพันหมกมุ่นอยู่ในเสียงว่า ยังคงเป็นเสียงหนึ่งเสียงใดอยู่ มิฉะนั้น ขณะที่กำลังฟังดนตรีชนิดหนึ่งชนิดใด ในความรู้สึกก็ยังรู้สึกว่า เป็นเสียงดนตรีชนิดนั้นอยู่เรื่อยๆ ยังไม่ใช่เป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่ปรากฏและหมดไป ไม่ใช่สิ่งหนึ่ง สิ่งใดทั้งสิ้น

    . อย่างเสียงดนตรี เราฟังไปเรื่อยๆ เราก็รู้ว่า เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง คือ เป็นสภาพรู้

    สุ. สภาพรู้มี ซึ่งไม่ใช่เสียง

    . และเราก็จงใจที่จะฟังให้จบไป

    สุ. ก็เป็นลักษณะอาการที่จงใจ ซึ่งเกิดขึ้นและก็ดับด้วย และจะต้องรู้ว่า สภาพที่จงใจก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง คือ ทั้งหมดต้องละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน

    ถ. แต่ยังละความยินดีไม่ได้

    สุ. เพราะว่ายังไม่คลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน อย่าลืม เมื่อเริ่มรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมบ่อยๆ เนืองๆ จนกระทั่งอินทรีย์ ๕ เจริญแล้ว จะมีความรู้สึกได้ว่า ค่อยๆ คลายการยึดถือสภาพธรรม

    อย่างทางตาที่กำลังเห็น คลายการยึดถือว่า เป็นคน เป็นวัตถุ เป็นสิ่งต่างๆ บ้างหรือยัง ตรงตามความเป็นจริง เมื่อยังไม่คลายก็แสดงว่า จะต้องระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏและสภาพรู้ คือ นามธรรมบ้างรูปธรรมบ้างเรื่อยๆ และเมื่อมีความรู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเพิ่มขึ้น จะรู้ทันทีในขณะที่ระลึกว่า ค่อยๆ คลายการยึดถือว่าสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้ว และการที่จะค่อยๆ คลายได้ก็เพราะสติระลึกบ่อยๆ เนืองๆ แต่ผู้นั้นเป็นผู้ที่รู้ด้วยตนเอง เมื่อเริ่มจะคลายก็รู้ว่ากำลังคลายการที่เคยยึดมั่นจริงๆ ว่า สิ่งที่เห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ

    . อย่างขณะที่เห็นตอนแรก ก่อนที่จะคิดว่าสวย มีสติว่าไม่ใช่ตัวตน แต่ก็ยังเห็นว่าสวยต่อไปอีก

    สุ. เพราะว่าสภาพธรรมแต่ละอย่างเกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็วมาก เพราะฉะนั้น เพียงชั่วขณะที่สติระลึกลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม นี่คือความจริง เพราะว่าสภาพธรรมเกิดดับเร็วอย่างนี้ จึงต้องอบรมเจริญอินทรีย์ ๕ ในชีวิตประจำวันจริงๆ และไม่ใช่แต่เฉพาะสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือว่าเสียงที่ปรากฏทางหู กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก รสที่ปรากฏทางลิ้น โผฏฐัพพะที่ปรากฏทางกายเท่านั้น แม้เรื่องราว ความคิดนึกทุกอย่าง ความชอบ ความชัง ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอดีต หรือปัจจุบัน อารมณ์ใดๆ ก็ตาม สติยังจะต้องระลึกรู้ตามความเป็นจริงในขณะที่สภาพธรรมนั้นปรากฏว่า เกิดขึ้นและหมดไป กว่าเยื่อใยการที่เคยยึดถือสภาพธรรมและเรื่องราวต่างๆ เป็นจริงเป็นจังจะค่อยๆ คลาย ผู้นั้นก็รู้ได้ว่า เพราะปัญญารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเพิ่มขึ้น

    เพราะฉะนั้น จะไม่มีความรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมและหวังว่า อยู่ๆ ลักษณะของนามธรรมก็จะปรากฏชัดแจ้งเป็นนามธรรม รูปธรรมทางตาก็จะปรากฏเป็นรูปธรรม เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าที่จะเป็นอย่างนั้นได้ ต้องมีความรู้ในอาการที่ละคลายการยึดถือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทีละเล็กทีละน้อย

    . อยากจะรู้ว่า ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน กัปหนึ่งจะสามารถบรรลุเป็น พระโสดาบันได้หรือไม่

    สุ. พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติและปรินิพพานไปแล้วกี่พระองค์ แต่ว่าท่านผู้ฟังเป็นพระโสดาบันแล้วหรือยัง เพราะฉะนั้น ถ้าจะคิดถึงกาลข้างหน้าว่า หนึ่งกัป หรือแสนกัป ทำไมไม่ย้อนคิดถึงอดีตที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติและปรินิพพานไปแล้วกี่พระองค์ ยังคงเป็นความหวังด้วยจำนวนว่า กี่วัน กี่เดือน กี่ปี แต่ที่ถูกแล้ว ต้องเป็นการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ทางตาที่กำลังเห็น ยังไม่คลายเลย เมื่อไรจะคลาย ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และบังคับไม่ได้ด้วยที่จะให้สติเกิด แต่ต้องอาศัยสังขารขันธ์เป็นปัจจัยปรุงแต่ง



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๑๙ ตอนที่ ๑๑๘๑ – ๑๑๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 86
    28 ธ.ค. 2564