แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1181


    ครั้งที่ ๑๑๘๑


    สาระสำคัญ

    สงฺ.สฬ.โกฏฐิกสูตร

    สงฺ.นิ.เจตนาสูตรที่ ๑

    เรื่องของอินทรีย์ ๕ (สัทธา วิริยะสติ สมาธิและปัญญา) 

    ละอินทรีย์ ๕ ด้วยอินทรีย์ ๕


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๒๕


    สุ. ท่านผู้ฟังเห็น แต่ยังไม่ใช่การเห็นของพระอริยบุคคล หรือการเห็นของพระอรหันต์ เพราะถ้าพระอรหันต์เห็น ไม่มีเยื่อใย คือ ความผูกพัน ความพอใจด้วยกิเลสประการใดๆ ทั้งสิ้น แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท อาจจะไม่รู้ตัวว่า เมื่อเห็นแล้วมีกิเลส คือ ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็น โมหมูลจิตบ้าง หรือว่ามีความพอใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ เป็นโลภมูลจิตบ้าง หรือว่ามีความไม่แช่มชื่น ไม่พอใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ เป็นโทสมูลจิตบ้าง ซึ่งไม่พ้นจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค โกฏฐิกสูตร มีข้อความว่า

    สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโกฏฐิกะ อยู่ในป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้พระนครพาราณสี ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเย็น ท่านพระมหาโกฏฐิกะออกจากที่พักผ่อนแล้วเข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่

    ซึ่งได้สนทนาธรรมกันถึงเรื่องจักษุและรูป หูและเสียง จมูกและกลิ่น ลิ้นและรส กายและโผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์และใจ เรื่องเดิมๆ อีกหรือเปล่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจอีกแล้ว ไม่มีวันที่จะพ้นไปได้ ถ้าเป็นเรื่องของธรรมก็เป็นเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    ขอกล่าวถึงข้อความตอนท้าย ข้อ ๒๙๘ ก่อน ซึ่งท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า

    ดูกร ท่านโกฏฐิกะ พระเนตรของพระผู้มีพระภาคมีอยู่แท้ พระองค์ก็ทรงเห็นรูปด้วยพระเนตร แต่พระองค์ไม่มีความพอใจรักใคร่เลย พระองค์ทรงมีจิตหลุดพ้นดีแล้ว พระโสตของพระผู้มีพระภาคมีอยู่แท้ พระองค์ก็ยังทรงฟังเสียงด้วยพระโสต แต่พระองค์ไม่มีความพอใจรักใคร่ พระองค์ทรงมีจิตหลุดพ้นดีแล้ว พระนาสิกของ พระผู้มีพระภาคมีอยู่แท้ พระองค์ก็ทรงสูดกลิ่นด้วยพระนาสิก แต่พระองค์ไม่มีความพอใจรักใคร่ พระองค์ทรงมีจิตหลุดพ้นดีแล้ว พระชิวหาของพระผู้มีพระภาคมีอยู่แท้ พระองค์ก็ทรงลิ้มรสด้วยพระชิวหา แต่พระองค์ไม่มีความพอใจรักใคร่ พระองค์ทรงมีจิตหลุดพ้นดีแล้ว พระกายของพระผู้มีพระภาคมีอยู่แท้ พระองค์ก็ทรงถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยพระกาย แต่พระองค์ไม่มีความพอใจรักใคร่ พระองค์ทรงมีจิตหลุดพ้นดีแล้ว พระมนัสของพระผู้มีพระภาคมีอยู่แท้ พระองค์ก็ทรงรู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วย พระมนัส แต่พระองค์ไม่มีความพอใจรักใคร่ พระองค์ทรงมีจิตหลุดพ้นแล้ว

    ดูกร ท่านโกฏฐิกะ ข้อนี้พึงทราบโดยปริยายนี้ จักษุไม่เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของรูป รูปก็ไม่เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของจักษุ ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้นเพราะอาศัยจักษุและรูปทั้งสองนั้น เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในจักษุและรูปนั้น ฯลฯ ใจไม่เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของธรรมารมณ์ ธรรมารมณ์ก็ไม่เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของใจ ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้นเพราะอาศัยใจและธรรมารมณ์ทั้งสองนั้น เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในใจและธรรมารมณ์นั้น ฯ

    จบ สูตรที่ ๕

    แสดงให้เห็นว่า ไม่มีใครที่จะพ้นไปจากการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การ ลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และการคิดนึกทางใจ แต่เวลาคิดนึก คิดนึกด้วยจิตที่ผูกพันยึดมั่นแค่ไหน ท่านพระสารีบุตรก็คิด พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงคิด แต่ว่าเป็นผู้ที่จิตหลุดพ้นดีแล้ว เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะเป็นผู้มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว ต้องเป็นผู้พิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรม คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    ข้อ ๒๙๗ ท่านพระสารีบุตรกล่าวกับท่านพระโกฏฐิกะว่า

    ดูกร ท่านโกฏฐิกะ จักษุจักเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของรูป หรือรูปจักเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของจักษุ การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ ย่อมไม่ปรากฏ แต่เพราะจักษุไม่เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของรูป รูปก็ไม่เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของจักษุ ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้นเพราะอาศัยจักษุและรูปทั้งสองนั้น เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในจักษุและรูปนั้น เพราะฉะนั้น การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ จึงปรากฏ ฯลฯ

    แสดงให้เห็นว่า ถ้าจักษุเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของรูป หรือว่ารูปเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของจักษุ ปัญญาไม่สามารถดับกิเลสได้เลย เพราะเมื่อมีตาและรูป ก็ต้องมีเครื่องเกาะเกี่ยวอยู่นั้นตลอดไป แต่เพราะจักษุไม่ใช่เครื่องเกาะเกี่ยวของรูป และรูปไม่ใช่เครื่องเกาะเกี่ยวของจักษุ จึงสามารถอบรมเจริญปัญญาและดับความพอใจที่เกิดขึ้นเกาะเกี่ยวในรูปและในจักษุได้

    ข้อ ๒๙๖ ท่านพระสารีบุตรได้อุปมาว่า

    ดูกร ท่านโกฏฐิกะ โคดำกับโคขาวเขาผูกติดกันด้วยสายทามหรือด้วยเชือกเส้นเดียวกัน หากจะมีบุคคลใดกล่าวว่า โคดำเกี่ยวเนื่องกับโคขาว โคขาวเกี่ยวเนื่องกับ โคดำ ดังนี้ บุคคลนั้นกล่าวชอบหรือ ฯ

    ท่านพระโกฏฐิกะตอบว่า

    ดูกร ท่านพระสารีบุตร ไม่ใช่อย่างนั้น โคดำไม่เกี่ยวเนื่องกับโคขาว ทั้งโคขาวก็ไม่เกี่ยวเนื่องกับโคดำ โคดำกับโคขาวนั้นเขาผูกติดกันด้วยสายทามหรือด้วยเชือกเส้นเดียวกัน สายทามหรือเชือกนั้นเป็นเครื่องเกี่ยวเนื่องในโคทั้งสองนั้น ฉันใด ฯ ความยินดีพอใจก็เป็นเครื่องเกี่ยวเนื่องในจักษุและรูป ฉันนั้น

    ข้อความในพระสูตรทำให้เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง และจะเห็น พระมหากรุณาจริงๆ ว่า ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมตลอด ๔๕ พรรษา ทั้งพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก เพื่อเกื้อกูลกับผู้ที่ไม่สามารถ รู้แจ้งอริยสัจธรรมโดยรวดเร็ว เพราะถ้าเป็นผู้ที่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมโดยรวดเร็วแล้ว ทรงแสดงเพียงสั้นๆ บุคคลเหล่านั้นก็สามารถบรรลุถึงความเป็นแม้พระอรหันต์ได้ เพราะฉะนั้น ข้อความที่ทรงแสดง มีทั้งเรื่องปรมัตถธรรมอย่างละเอียด และเรื่องของชีวิตประจำวัน ซึ่งสามารถเป็นเครื่องเตือนสติให้ระลึกถึงสภาพของธรรมที่เป็นสัจธรรม คือ ปรมัตถธรรมได้

    ขอกล่าวถึงอีกสูตรหนึ่งใน สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ข้อ ๑๔๕ ซึ่งเป็นชีวิตประจำวันของทุกๆ ท่านในขณะนี้

    ๘. เจตนาสูตรที่ ๑

    พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ... พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมจงใจ ย่อมดำริ และครุ่นคิดถึงสิ่งใด สิ่งนั้นเป็นอารัมมณปัจจัยเพื่อความตั้งอยู่แห่งวิญญาณ เมื่อมีอารัมมณปัจจัย ความตั้งมั่นแห่งวิญญาณจึงมี เมื่อวิญญาณนั้นตั้งมั่นแล้ว เจริญขึ้นแล้ว ความบังเกิดคือภพใหม่ต่อไปจึงมี เมื่อมีความบังเกิดคือภพใหม่ต่อไป ชาติชราและมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาสจึงมีต่อไป ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่จงใจ ไม่ดำริ แต่ยังครุ่นคิดถึงสิ่งใด สิ่งนั้นเป็นอารัมมณปัจจัยเพื่อความตั้งอยู่แห่งวิญญาณ เมื่อมีอารัมมณปัจจัย ความตั้งมั่นแห่งวิญญาณจึงมี เมื่อวิญญาณนั้นตั้งมั่นแล้ว เจริญขึ้นแล้ว ความบังเกิดคือภพใหม่ต่อไปจึงมี เมื่อมีความบังเกิดคือภพใหม่ต่อไป ชาติชราและมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาสจึงมีต่อไป ความเกิดแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ

    สำหรับผู้ที่บรรลุความเป็นพระอรหันต์แล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ข้อ ๑๔๖

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไม่จงใจ ไม่ดำริ และไม่ครุ่นคิดถึงสิ่งใด สิ่งนั้นย่อมไม่เป็นอารัมมณปัจจัยเพื่อความตั้งอยู่แห่งวิญญาณ เมื่อไม่มีอารัมมณปัจจัย ความตั้งมั่นแห่งวิญญาณจึงไม่มี เมื่อวิญญาณนั้นไม่ตั้งมั่นแล้ว ไม่เจริญขึ้นแล้ว ความบังเกิดคือภพใหม่ต่อไปจึงไม่มี เมื่อความบังเกิดคือภพใหม่ต่อไปไม่มี ชาติชราและมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาสต่อไปจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ

    ท่านผู้ฟังในขณะนี้มีทั้งจงใจ มีทั้งดำริ มีทั้งครุ่นคิดถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ตลอดเวลา ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ก็ยังต้องมีวิญญาณ เพราะเมื่อมีความจงใจ ดำริและครุ่นคิดถึงสิ่งใด สิ่งนั้นเป็นอารัมมณปัจจัยเพื่อความตั้งอยู่แห่งวิญญาณ

    แต่สำหรับพระอรหันต์ ไม่ใช่ว่าท่านจะไม่คิด แต่ท่านไม่จงใจ ไม่ดำริ และไม่ครุ่นคิดถึงสิ่งใด นี่คือความต่างกันเล็กน้อยๆ ในชีวิตประจำวัน จากสภาพของความเป็นปุถุชนซึ่งยังมีตัวตน เป็นเรา มีความจงใจ มีความตั้งใจ ทุกอย่างยังไม่ได้ ละคลาย ยังไม่ได้เห็นสภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริงว่า แต่ละขณะมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดขึ้นเป็นไป โดยไม่มีใครสามารถรู้ขณะต่อไปได้ว่า จะเป็นเห็น หรือว่าจะเป็นได้ยิน หรือว่าจะเป็นสุขทุกข์ทางกาย

    เพราะฉะนั้น เมื่อมีตัวตนเต็มที่ ย่อมมีทั้งความจงใจ มีทั้งความดำริ มีทั้งความครุ่นคิดหมกมุ่นในความคิดเรื่องราวต่างๆ จนกว่าจะค่อยๆ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม อบรมเจริญปัญญาขึ้น จึงจะค่อยๆ คลายความจงใจ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นไม่สามารถที่จะหยุดคิดได้จริง อาจจะคิดเรื่องที่จะทำอย่างนั้น จะทำอย่างนี้ แต่ในขณะนั้นย่อมรู้ว่า ถึงจะคิดอย่างไร สิ่งที่จะเกิดขึ้นย่อมเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยทั้งสิ้น

    บางท่านอาจจะคิดไปที่ไหนสักแห่งหนึ่ง เตรียมการล่วงหน้า ตั้งใจ จงใจ แต่ก็ไม่ได้ไป เพราะว่ามีอุปสรรคเกิดขึ้น เนื่องด้วยญาติบ้าง หรือว่าเนื่องด้วยธุรกิจบ้าง เพราะฉะนั้น การคิด คิดได้ แต่ว่าสภาพธรรมแต่ละอย่างที่จะเกิดขึ้น ย่อมเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ถ้าระลึกอย่างนี้เนืองๆ บ่อยๆ คิดก็ยังคงคิด แต่ว่ารู้ความจริง ก็ ย่อมคลายความจงใจ ความตั้งใจที่จะทำให้รู้สึกผิดหวังหรือว่าเป็นทุกข์ ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ตามปัญญาที่เกิดขึ้น แต่ถ้ายังมีความเป็นตัวตนมาก ย่อมจะรู้สึกเป็นทุกข์ หรือโทมนัสเวลาที่สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นไม่เป็นไปตามที่จงใจ หรือตามที่คิดหวัง

    . ที่อาจารย์กล่าวว่า พระอรหันต์กับปุถุชนก็มีความตรึก มีความนึกคิด แต่ต่างกันที่ว่า มีความจงใจ กับไม่มีความจงใจ ความดำริ ผมคิดว่า พระอรหันต์ก็มีความจงใจ มีความดำริ มีความครุ่นคิด เช่น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตอน เช้ามืด ท่านจะตรวจดูสัตว์โลกทั้งหลายว่า ท่านใดมีอินทรีย์แก่กล้าแล้วท่านจะไปโปรด ในขณะที่ท่านไปโปรด ท่านก็มีความจงใจ มีความครุ่นคิด มีความดำริในขณะนั้น

    สุ. พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ามีเจตนาเจตสิกไหม มี มีแน่ๆ แต่ เจตนาเจตสิกของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายไม่ใช่กุศล และอกุศล เป็นอัพยากตะ คือ เป็นชาติกิริยา เจตนาคือสภาพที่จงใจ ไม่เปลี่ยนลักษณะ เจตนาเจตสิกมีลักษณะที่ตั้งใจขวนขวายอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น

    ให้เห็นความต่างกันของชาติ ของเจตนาของปุถุชนหรือผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ว่า ย่อมเป็นกุศลหรืออกุศลได้ ซึ่งเป็นลักษณะที่ยังคงเป็นความขวนขวาย หรือความจงใจนั่นเอง แต่สำหรับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายเป็นอัพยากตะ คือ ไม่ใช่กุศลและอกุศล เพราะฉะนั้น ก็ต่างกัน แม้ว่าลักษณะของความจงใจยังเป็นเจตนาเจตสิก นี่คือสิ่งที่ทุกท่านจะค่อยๆ พิสูจน์ด้วยตัวเองไปเรื่อยๆ พร้อมสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ทุกท่านสวดมนต์ ถ้าสติไม่ระลึกก็เป็นลักษณะที่จงใจ ขณะนั้นเป็นสภาพที่กำลังระลึกถึงคำที่เป็นภาษาบาลี พร้อมทั้งจิตที่น้อมระลึกถึงพระคุณ แต่ถ้าสติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของการที่กำลังคิดถึงพระคุณและคำในภาษาบาลี จะรู้ว่าเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพียงเท่านี้ก็คลายความจงใจหรือความเป็นตัวตนว่า เรากำลังน้อมระลึกถึงพระคุณ และกำลังระลึกถึงคำภาษาบาลีที่เป็นพระพุทธคุณ ด้วยการที่รู้ว่า แม้ขณะนั้นเองก็เป็นสภาพนามธรรมที่กำลังคิดคำเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ค่อยๆ คลายความจงใจด้วยความครุ่นคิดด้วยโลภะบ้าง หรือด้วยโทสะบ้าง เพราะว่าสติระลึกและรู้ว่า ในขณะนั้นก็เป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่เป็นพระโสดาบันบุคคล เป็นการแน่นอนว่า เมื่ออวิชชายังคงมีอยู่ โลภะก็ย่อมเกิดขึ้น โทสะก็ย่อมเกิดขึ้น ในขณะนั้นลักษณะของโลภมูลจิตไม่ใช่กุศล เป็นลักษณะของความเพลิดเพลินยินดี สนุกสนาน แล้วแต่ว่าจะพอใจ ในรูปทางตา ในเสียงทางหู ในกลิ่นทางจมูก ในรสที่ปรากฏทางลิ้น หรือว่าในโผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นชั่วขณะหรือช่วงที่หลงลืมสติ แต่ทันทีที่สติเกิดจะระลึกรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่มีลักษณะอย่างนั้นเกิดขึ้น

    นี่สำหรับผู้ที่เป็นพระโสดาบัน และเมื่อปัญญาอบรมเจริญขึ้น ดับกิเลสเพิ่มขึ้นเป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามี เป็นพระอรหันต์ ย่อมสมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะที่จะรู้ว่า สภาพธรรมทุกขณะที่ปรากฏเกิดขึ้นเป็นเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น จึงมีความต่างกัน แม้ว่าเจตนาเจตสิกพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังมี แต่เป็นเพียงชาติกิริยา คือ อัพยากตะ ไม่ใช่กุศลธรรม หรืออกุศลธรรมอีกต่อไป

    เป็นความละเอียดในชีวิต ซึ่งผู้อบรมเจริญสติปัฏฐานจะสังเกตและเห็นได้ว่า ขณะที่สติเพิ่มขึ้น ความรู้เพิ่มขึ้น จะละคลายการยึดถือว่าเป็นตัวตนเพราะรู้ว่า แม้ทางใจที่กำลังคิด ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย

    กำลังสนุกสนานก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย และชั่วขณะเล็กน้อย เพราะสติระลึกลักษณะของนามธรรมอื่นหรือรูปธรรมอื่นซึ่งเกิดสืบต่อทันที เพราะฉะนั้น ความครุ่นคิด หรือความผูกพัน ความเห็นผิดยึดถือว่าเป็นตัวตนย่อมละคลายลงสำหรับผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน และลดลงเป็นลำดับสำหรับผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลเพราะฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า แม้พระผู้มีพระภาคก็ทรงมีพระมนัสและธัมมารมณ์ แต่ว่าไม่มีการเกาะเกี่ยว

    . ถ้าครุ่นคิดในเรื่องธรรมมากๆ ก็น่าจะดี

    สุ. เป็นกุศล แต่ไม่ใช่ทางที่จะรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมอย่างหนึ่งอย่างใด

    เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังเวลากุศลจิตเกิด ดีใจ ชอบ ใช่ไหม ท่านมีกุศลมาก ปลาบปลื้มเพราะว่าเป็นเรา จนกว่าแม้กุศลนั้นก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    ข้อความต่อไป เรื่องของอินทรีย์ ๕ อีกหมวดหนึ่ง คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิและปัญญา ซึ่งจะเห็นได้ว่า มีข้อความที่กล่าวถึงการละอินทรีย์ ๕ ด้วยอินทรีย์ ๕ เพราะว่ารู้แม้สติที่เกิดขึ้น แม้สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญาว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    แต่ถ้ายังอยากจะมีสติมากๆ หรือวันนี้สติเกิดมากเหลือเกิน ปลาบปลื้มใจ ผสมรวมไปกับความเป็นตัวตน ก็ยังคงเป็นเรา จนกว่าจะรู้ว่า แม้สติ หรือวิริยะ หรือสัทธา หรือสมาธิ หรือปัญญา ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปเท่านั้นเอง

    เป็นหนทางที่สามารถจะอบรมเจริญได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด ซึ่งสติจะต้องละเอียดตามโดยรู้ว่า จะรู้ลักษณะของสภาพที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ก็ในขณะที่กำลังเห็น ในขณะที่กำลังได้ยิน ในขณะที่กำลังได้กลิ่น ในขณะที่กำลังลิ้มรส ในขณะที่กำลังกระทบสัมผัส ในขณะที่กำลังคิดนึก ในขณะนี้เอง ตามปกติตามความเป็นจริง ถ้าผิดจากปกติ ไม่สามารถดับกิเลสได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๑๙ ตอนที่ ๑๑๘๑ – ๑๑๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 86
    28 ธ.ค. 2564