แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1158


    ครั้งที่ ๑๑๕๘


    สาระสำคัญ

    อิตถินทรีย์และปุริสินทรีย์ (เป็นอินทรีย์ แต่ไม่เป็นอินทริยปัจจัย)

    อถ.ธัมมสังคณี รูปกัณฑ์ - ความหมายของ “ภาวรูป”

    อถ.วิ.อินทริยวิภังค์ - กำหนดธรรมที่เป็นภายใน จะได้บรรลุอริยภูมิ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๒๕


    ข้อความในปัฏฐานแสดงว่า ภาวรูป คือ อิตถินทรีย์และปุริสินทรีย์ เป็นปัจจัยไม่ได้ เพราะว่าธรรมที่จะเป็นปัจจัยได้นั้นต้องเป็นปัจจัยโดยทำให้ปัจจยุปบันธรรมเกิดขึ้นโดยชนกสัตติ คือ มีความสามารถที่จะทำให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้น หรือเป็นปัจจัยโดยอุปถัมภ์ให้ปัจจยุปบันตั้งอยู่โดยอุปถัมภกสัตติ หรือเป็นปัจจัยโดยอนุบาลรักษาปัจจยุปบันธรรมไว้โดยอนุปาลนสัตติ ซึ่งบางแห่งใช้คำว่า อนุปาลกสัตติ แต่สำหรับภาวรูปเป็นใหญ่โดยเพียงทำให้ปรากฏสภาพความเป็นหญิงหรือเป็นชาย ซึ่งเกิดจากการสะสมของกรรมและกิเลสอย่างละเอียดเท่านั้น และการปรากฏสภาพความเป็นหญิงหรือชายนั้น ปรากฏได้ ๔ ทาง คือ โดยทางลิงคะ ๑ นิมิตตะ ๑ กุตตะ ๑ และอากัปปะ ๑

    สำหรับลิงคะ ได้แก่ รูปร่างสัณฐาน เช่น หน้าตา มือ เท้า เป็นต้น สำหรับ นิมิตตะ ได้แก่ เครื่องหมาย เช่น หนวดเครา สำหรับกุตตะ ได้แก่ การเล่นหัวต่างๆ สำหรับอากัปปะ ได้แก่ กิริยาท่าทาง เช่น การเดิน การนั่ง การนอน เป็นต้น

    ท่านผู้ฟังเห็นอิตถีภาวรูปหรือเปล่า เห็นปุริสภาวรูปไหม ไม่เห็น แต่เห็นรูปซึ่งทำให้ปรากฏสภาพของความเป็นหญิงหรือชายโดยลิงคะ รูปร่างสัณฐาน ๑ โดยนิมิตตะ เครื่องหมาย ๑ โดยกุตตะ การเล่นหัวต่างๆ ๑ โดยอากัปปะ กิริยาท่าทาง เช่น การเดิน การนั่ง การนอน เป็นต้น ๑ แต่ไม่สามารถเห็นปุริสภาวะ หรืออิตถีภาวะได้ เช่นเดียวกับไม่สามารถที่จะเห็นเสียง กลิ่น รส ไม่สามารถที่จะเห็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม และรูปอื่นๆ ได้ เพราะว่าในรูปทั้งหมด ๒๘ รูป มีเพียงรูปเดียวเท่านั้นที่สามารถปรากฏให้เห็นได้ทางตา คือ รูปารมณ์ สีสันวัณณะ ต่างๆ ที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ นอกจากนั้นรูปอื่นทั้งหมดไม่สามารถเห็นได้

    ข้อความใน อัฏฐสาลินี อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์ รูปกัณฑ์ อธิบายความหมายของภาวรูปว่า

    พระบาลี อิตถินทริยนิทเทส

    รูปที่เรียกว่า อิตถินทรีย์นั้น เป็นไฉน คือ ทรวดทรงหญิง เครื่องหมายรู้ว่า หญิง กิริยาหญิง อาการหญิง สภาพหญิง ภาวะหญิง ของหญิง ปรากฏได้ด้วย เหตุใด รูปทั้งนี้เรียกว่า อิตถินทรีย์

    ท่านผู้ฟังซึ่งศึกษาปรมัตถธรรมก็ทราบว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน ไม่มีหญิงชายที่เที่ยง มีแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเกิดเพราะปัจจัยต่างๆ เพราะฉะนั้น รูปที่จะปรากฏทรวดทรงสัณฐานไม่ว่าหญิงหรือชายตามสภาพของปรมัตถธรรมแล้ว ได้แก่ ภาวรูปซึ่งเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต

    ในภูมิที่เป็นภูมิมนุษย์ที่เกิดในครรภ์ ขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดจะมีกัมมชรูป คือ รูปที่เกิดเพราะกรรม เกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต ๓ กลุ่ม หรือที่ภาษาบาลีใช้คำว่า กลาป ได้แก่ ภาวทสกกลาป รูปซึ่งเป็นกลุ่มของการปรากฏทรวดทรงสัณฐานต่อไปว่าจะ เป็นหญิงหรือเป็นชาย ๑ กลุ่ม กายทสกกลาป รูปซึ่งเป็นกลุ่มที่จะทำให้เกิดร่างกาย ๑ กลุ่ม และทหยทสกกลาป กลุ่มของรูปซึ่งมีรูปที่เป็นที่เกิดของจิต เพราะว่าในภูมิที่มีขันธ์ ๕ นามธรรมจะเกิดขึ้นโดยไม่อาศัยรูปนั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น แม้ปฏิสนธิจิตก็ ต้องอาศัยกัมมชรูปกลุ่มที่เป็นหทยทสกกลาป คือ กลุ่มของรูปซึ่งมีรูปรวมกัน ๑๐ รูปเป็นที่เกิด

    แต่ในขณะปฏิสนธิ แม้ว่ามีภาวรูป แต่ก็ไม่มีทรวดทรงอะไรที่แสดงให้เห็นสัณฐานว่าเป็นหญิงหรือชาย ถูกไหม

    สำหรับภาวรูปเป็นรูปซึ่งทำให้เกิดนิมิตตะเครื่องหมาย ทำให้เกิดลิงคะ ทำให้เกิดอากัปปะ คือ กิริยาท่าทางต่างๆ และทำให้เกิดกุตตะ ซึ่งเป็นการเล่น ตามลักษณะของภาวรูปนั้น เพราะฉะนั้น ก็น่าจะเป็นความวิจิตรของจิต ซึ่งกระทำกรรมต่างๆ อย่างละเอียดที่ปรุงแต่งทำให้เกิดภาวรูป รูปที่จะเป็นอิตถีภาวรูป หรือ ปุริสภาวรูป

    และในบุคคลหนึ่งๆ จะมีภาวรูปเพียง ๑ คือ สำหรับผู้ที่เป็นหญิงก็มี อิตถีภาวรูปเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต สำหรับผู้ที่เป็นชายก็มีปุริสภาวรูปเป็นกัมมชรูปที่เกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต และเกิดดับสืบต่อตลอดมาจนกระทั่งทำให้ปรากฏเป็นลักษณะของเพศหญิงหรือเพศชาย แต่ไม่มีใครสามารถเห็นภาวรูปได้ แต่เห็นอะไรได้ เห็นสิ่งที่จะลืมไม่ได้เลย คือ เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา คือ รูปารมณ์ เท่านั้นเอง

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะศึกษาอย่างไรก็ตาม ต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง

    เห็นสิ่งที่มีสัณฐานเป็นดอกไม้ต่างๆ ใช่ไหม เห็นสิ่งที่มีรูปร่างสัณฐานเป็นต้นไม้ ดอกไม้ต่างๆ ด้วยความวิจิตรของพืชที่ปรุงแต่งให้เกิดสัณฐานที่เป็นใบ เป็นดอก เป็นผลต่างๆ ฉันใด การที่จะรู้ว่าเป็นหญิงหรือว่าเป็นชายโดยลิงคะ โดยนิมิตตะ โดยกุตตะ หรือโดยอากัปปะ ก็เพราะเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ฉันนั้น

    เพราะฉะนั้น สภาพของกรรมและกิเลสซึ่งปรุงแต่งอย่างละเอียดเป็นปัจจัยทำให้ภาวรูปหนึ่งภาวรูปใดเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิตนั้นๆ ทำให้สามารถปรากฏสัณฐาน ทรวดทรงในภายหลัง โดยลิงคะ รูปร่างสัณฐาน โดยนิมิตตะ โดยกุตตะ และ โดยอากัปปะ แต่อย่าลืมว่า ต้องเห็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ไม่สามารถเห็นภาวรูปจริงๆ ได้

    เวลาเห็นตุ๊กตาผู้หญิงหรือผู้ชาย มีภาวรูปอยู่ที่ตุ๊กตานั้นหรือเปล่า ไม่มีเลย แต่ทำไมรู้ว่าเป็นตุ๊กตาผู้หญิงหรือผู้ชาย ถ้าไม่มีสัญญาความจำในลิงคะ รูปร่างสัณฐาน ในนิมิตตะ เครื่องหมาย ในกุตตะ กิริยาเล่นหัว เพราะว่าอาจจะมีตุ๊กตากลก็ได้ ในอากัปปะ คือ กิริยาท่าทาง เช่น ยืน เดิน นั่ง นอน

    ถ้าไม่ปรากฏความต่างกันย่อมไม่รู้ว่าเป็นหญิงหรือเป็นชาย ตุ๊กตาไม่มีภาวรูป ฉันใด ผู้ที่มีภาวรูปอยู่ก็จริง สามารถที่จะทำให้ปรากฏเป็นทรวดทรงสัณฐาน เป็นลิงคะ เป็นนิมิตตะ เป็นกุตตะ เป็นอากัปปะก็จริง แต่ไม่สามารถเห็นในภาวรูปได้ เพราะว่าภาวรูปเป็นรูปละเอียด ไม่ใช่รูปหยาบ แต่ว่าสัญญา ความจำ นี่ละเอียดเพียงไร จำแม้แต่ทรวดทรงสัณฐานของตุ๊กตา ก็ยังบอกว่าเป็นหญิงหรือเป็นชาย ทั้งๆ ที่ตุ๊กตานั้นไม่มีภาวรูปอะไรเลย แต่ทันทีที่เห็นก็สามารถบอกได้

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นที่จะทำให้สัญญาความจำเกิดขึ้น และ รู้ว่าเป็นอาการปรากฏของภาวรูปใด ถ้าไม่มีการเห็นก็ไม่สามารถจะรู้ได้

    ข้อความใน อัฏฐสาลินี อรรถกถา พระธรรมสังคณีปกรณ์ พระบาลี อิตถินทรีย์นิทเทส อธิบายว่า

    คำว่า ทรวดทรง ได้แก่ สัณฐาน ด้วยว่าสัณฐานแห่งอวัยวะ มีมือ เท้า คอ และอก เป็นต้น ของหญิง ไม่เหมือนอย่างของชาย เพราะกายท่อนล่างของหญิงทั้งหลายล่ำสัน กายท่อนบนไม่ล่ำสัน มือเท้าก็เล็ก ปากก็เล็ก

    นี่เป็นลักษณะของทรวดทรงสัณฐาน

    คำว่า เครื่องหมายรู้ คือ เป็นเหตุให้รู้ได้ ด้วยว่าเนื้ออกของหญิงทั้งหลาย ไม่ล่ำสัน ปากก็ไม่มีหนวดเครา แม้การผูกผ้ารัดผมก็ไม่เหมือนของชาย

    คำว่า กิริยา คือ ธรรมชาติที่พึงกระทำ ด้วยว่าหญิงทั้งหลายเวลาเป็นเด็กชอบเล่นกระด้งเล็กๆ และสากเล็กๆ ชอบเล่นตุ๊กตางามๆ เอาดินเหนียว และปอมากรอเป็นเส้นด้ายเล็กๆ

    คำว่า อาการ ได้แก่ อาการเดิน เป็นต้น ด้วยว่าหญิงทั้งหลายเมื่อเดินก็เดินไม่อาจหาญ เมื่อยืน นอน นั่ง เคี้ยว กิน ก็ยืน นอน นั่ง เคี้ยว กินไม่อาจหาญ จริงอยู่ คนทั้งหลายเห็นแม้ชายไม่อาจหาญก็ยังพูดว่า เดิน ยืน นอน นั่ง เคี้ยวกินเหมือนมาตุคาม คือ เหมือนหญิง

    คำว่า สภาพหญิง ภาวะหญิง ทั้งสองมีความหมายอย่างเดียวกัน ความว่า ได้แก่ สภาวะหญิง สภาวะของหญิงนี้เกิดแต่กรรม ตั้งขึ้นในปฏิสนธิกาล ส่วนทรวดทรงหญิงเป็นต้น อาศัยอิตถินทรีย์ตั้งขึ้นในปวัตติกาล

    ดังที่ได้ทราบแล้วว่า ทันทีที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ก็มีกัมมชรูปเกิดร่วมด้วย ๓ กลุ่ม สำหรับผู้ที่เกิดเป็นมนุษย์ในครรภ์ คือ กลุ่มที่เป็นกายทสกะ มี ๑๐ รูป กลุ่มที่เป็นภาวทสกะ มี ๑๐ รูป และกลุ่มที่เป็นหทยทสกะ มี ๑๐ รูป

    ข้อความต่อไปมีว่า

    อุปมาเหมือนอย่างว่า เมื่อพืช (เมล็ดพืช) มีอยู่ ต้นไม้ได้อาศัยพืชเพราะพืชเป็นปัจจัย จึงเติบโตสมบูรณ์ด้วยกิ่งและคาคบตั้งอยู่เต็มอากาศ ฉันใด เมื่ออิตถินทรีย์ กล่าวคือภาวะหญิงมีอยู่ ย่อมปรากฏทรวดทรงหญิงเป็นต้น เหมือนฉันนั้น

    การที่ภาวรูปเป็นหญิงจะเกิดขึ้นก็เพราะกรรมเป็นปัจจัย และทรวดทรง อากัปกิริยาของแต่ละบุคคลซึ่งเป็นหญิงจะต่างกันอย่างไร ก็แล้วแต่การสะสม เหมือนกับพืชต่างชนิดที่จะปรากฏกิ่งก้าน ใบ ดอก ผล ต่างกัน ก็เพราะเมล็ดพืช ฉันใด แม้ภาวรูปก็ทำให้เกิดทรวดทรงและอาการแม้ของหญิงก็ต่างกันไป ฉันนั้น

    ก็อิตถินทรีย์เปรียบเหมือนพืช อาศัยอิตถินทรีย์ ทรวดทรงหญิงเป็นต้นจึงตั้งขึ้นในปวัตติกาล เปรียบเหมือนอาศัยพืชต้นไม้จึงเติบโตตั้งอยู่เต็มอากาศ ในบรรดาธรรมชาติเหล่านั้น อิตถินทรีย์ไม่ใช่เป็นสิ่งอันจักขุจะพึงรู้ได้ อันมโนพึงรู้ได้อย่างเดียว

    แสดงให้เห็นว่า สำหรับอิตถินทรีย์ คือ อิตถีภาวรูปนั้น ไม่สามารถจะรู้ได้ ทางตา แต่ว่าสำหรับทางใจนั้น ไม่มีรูปอะไรเลยที่ทางใจจะรู้ไม่ได้

    ทรวดทรงหญิงเป็นต้น แม้อันจักขุก็พึงรู้ได้ แม้อันมโนก็พึงรู้ได้

    คำว่า รูปทั้งนี้เรียกว่าอิตถินทรีย์ คือ รูปที่ว่ามานี้นั้นไม่ใช่เหมือนอย่างกับ จักขุนทรีย์เป็นต้นซึ่งมีอยู่แม้แก่ชาย ก็ว่าโดยนิยม อินทรีย์เฉพาะของหญิง ชื่อว่าอิตถินทรีย์

    ในรูปร่างกายของแต่ละคน ต้องแตกย่อยออกและพิจารณาแต่ละกลุ่ม แต่ละรูป ซึ่งการที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงจะต้องรู้ลักษณะสภาพของรูปซึ่ง แตกย่อย คือ ทีละรูปที่ปรากฏ ไม่ใช่ว่ารวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน เมื่อแตกย่อยออกละเอียดแล้ว ไม่ว่าหญิงหรือชายก็มีจักขุปสาทรูป แต่ว่าเฉพาะหญิงมีอิตถีภาวรูป และเฉพาะชายมีปุริสภาวรูป ซึ่งซึมซาบอยู่ทั่วทั้งกายสำหรับภาวรูป แต่สำหรับ จักขุปสาทรูปนั้น อยู่เฉพาะที่ตรงกลางตาเท่านั้น ซึ่งจะต้องระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่ปรากฏให้เข้าใจให้ถูกต้องว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นอินทรีย์ ถ้ามีการพิจารณาและรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงของอินทรีย์ทั้งหลายแล้ว ย่อมสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    ซึ่งใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา พระวิภังคปกรณ์ อินทริยวิภังค์ วินิจฉัยโดยลำดับ มีข้อความว่า

    ในข้อนั้น พึงทราบอธิบายดังนี้

    ด้วยการกำหนดธรรมที่เป็นภายใน จึงจะได้บรรลุอริยภูมิได้

    และข้อความตอนท้ายมีว่า

    ภิกษุผู้มากด้วยความสลดใจ ตั้งอยู่ในอินทริยสังวร กำหนดรู้อินทรีย์ทั้งหลาย แล้ว ย่อมเข้าที่สุดทุกข์ได้แล

    เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ลักษณะของอินทรีย์ อินทรีย์ที่ ๑ จักขุนทรีย์ ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่าลักษณะใดเป็นรูปธรรมและลักษณะใดเป็นนามธรรมจึงจะรู้ว่า ขณะที่กำลังพิจารณาเฉพาะทางตาสภาพธรรมอื่นปรากฏไม่ได้ เพราะฉะนั้น จะมีรูปอื่นรวมอยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อนไม่ได้ มิฉะนั้นจะยังคงยึดถือรูปนั้นว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ต่อเมื่อใดที่สามารถแยกย่อยรูปออกโดยละเอียด และสติระลึกรู้ลักษณะของรูปทีละรูป จึงสามารถประจักษ์ได้ว่า ลักษณะของสภาพที่ปรากฏนั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    ภาวรูปเป็นอินทรีย์ แต่ไม่เป็นอินทริยปัจจัยเพราะว่าเป็นเพียงรูปที่ทำให้ปรากฏสภาพความเป็นหญิง ถ้าเป็นอิตถีภาวรูป และถ้าเป็นปุริสภาวรูปก็เป็นเพียงรูปที่ทำให้ปรากฏสภาพความเป็นชาย แต่รูปที่เป็นอินทรีย์ทั้งหมด จะต้องเป็นรูปที่เกิดจากกรรม รูปที่ไม่ได้เกิดจากกรรมไม่เป็นอินทรีย์

    ถ. รูปที่ประกอบด้วยธาตุ ๘ และ ๑๐ ที่เพิ่มอีก ๒ คืออะไร

    สุ. หมายความถึงกลุ่มของรูปที่เล็กที่สุดจะต้องมีรูปอย่างน้อย ๘ รูป และกลุ่มของจักขุปสาทจะมีรูปทั้งหมดรวมทั้งจักขุปสาทด้วย ๑๐ รูป จึงเป็นจักขุทสกะ ทสกะ แปลว่า ๑๐ กลุ่มของรูปรวมกัน ๑๐ รูป ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม สี กลิ่น รส โอชา เป็น ๘ รูป อย่างน้อยที่สุด และสำหรับกลุ่มของจักขุปสาท ต้องมีจักขุปสาทรูป ๑ รูป เป็น ๙ รูป และรูปทุกกลุ่มซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย ต้องมีชีวิตินทริยรูปอีก ๑ รูป ซึ่งเป็นรูปที่เป็นใหญ่อุปถัมภ์รูปทั้งหมดให้เป็นรูปที่ทรงอยู่ มีชีวิตอยู่ ดำรงอยู่ชั่วขณะนั้น

    ถ. กลุ่มของรูป ๑๐ เรียกว่าอย่างไร

    สุ. เรียกว่า ทสกะ ถ้าเป็นกลุ่มของจักขุปสาทก็เรียกว่า จักขุทสกะ ถ้าเป็นกลุ่มของโสตปสาทก็เรียกว่า โสตทสกะ แสดงให้รู้ว่า กลุ่มที่มีโสตปสาทมีรูปรวมทั้งหมด ๑๐ รูป

    ถ. ทวารอื่นๆ ก็โดยนัยนี้ ใช่ไหม

    สุ. แต่ว่ารูปอื่นมีมากกว่า ๑๐ ได้ รูปบางกลุ่มมี ๘ รูป บางกลุ่มมี ๙ รูป บางกลุ่มมี ๑๐ รูป บางกลุ่มมี ๑๑ รูป บางกลุ่มมี ๑๓ รูป

    เพราะฉะนั้น สำหรับอิตถีภาวรูป หรือปุริสภาวรูป ไม่เป็นปัจจัยแก่อะไรเลย ไม่เป็นปัจจัยแก่จักขุวิญญาณ ไม่เป็นปัจจัยแก่กายวิญญาณ ไม่เหมือนกับจักขุนทรีย์ ซึ่งเป็นปัจจัยให้จักขุวิญญาณ จิตเห็น เกิดขึ้น โสตินทรีย์ก็เป็นปัจจัยให้โสตวิญญาณเกิดขึ้น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๑๖ ตอนที่ ๑๑๕๑ – ๑๑๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 86
    28 ธ.ค. 2564