แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1157


    ครั้งที่ ๑๑๕๗


    สาระสำคัญ

    รส ไม่ใช่ โอชา

    อินทริยปัจจัย อินทรีย์ก็ไม่พ้นจากขณะนี้


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๙ สิงหาคม ต่อวันอาทิตย์ที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๒๕


    ถ. ในขณะที่เราบริโภคอาหารเป็นคำๆ พออาหารตกถึงลิ้นก็รู้ว่า รสเค็ม รสเปรี้ยว รสหวาน กพฬิงการาหารนี้จะนำมาซึ่งรูป คือ รส อย่างนี้ได้ไหม

    สุ. เวลาที่บริโภคแล้วอร่อย ที่อร่อย คือ รส ไม่ใช่โอชา โอชาไม่ใช่รส แต่โอชาเป็นรูปซึ่งรวมอยู่ในกลุ่มของรูป ๘ รูปนั้น นำมาซึ่งผล คือ จะทำให้เกิดรูป กลุ่มต่อไป เป็นอาหารชรูป แต่รสไม่ได้ทำกิจเดียวกับโอชา รสเป็นแต่เพียงอารมณ์

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังบริโภคอาหารจะควรพิจารณาว่า อะไรเป็นอาหารในขณะนั้น ชิวหาวิญญาณเกิด ถูกไหม ในขณะที่บริโภคอาหาร คือ จิตที่ลิ้มรส โดยผัสสเจตสิกเป็นผัสสาหารทำให้เกิดผล ปัจจยุปบัน คือ ชิวหาวิญญาณ และถ้าอาหารอร่อย เกิดความพอใจขึ้น โลภมูลจิตเกิดขึ้น โลภมูลจิตนั้นเกิดขึ้นเพราะผัสสะกระทบกับรสทางชิวหาทวาร จึงทำให้โลภมูลจิตเกิดในชิวหาทวารวิถี พอใจในรสที่ปรากฏ แต่ไม่ได้ลิ้มโอชา

    ถ. ในแง่ปฏิบัติ โอชายังเป็นอารมณ์ในมหาสติปัฏฐาน

    สุ. โอชาไม่ใช่รส โอชาเป็นสภาพธรรมที่ทำให้รูปร่างกายนี้ดำรงอยู่ได้ แต่ รสทำให้ชิวหาวิญญาณเกิดขึ้นลิ้มรสต่างๆ

    ถ. ในแง่ปฏิบัติ โอชาก็ไม่ใช่อารมณ์ของอายตนะ ไม่ใช่อารมณ์ทาง ชิวหาทวาร

    สุ. เวลาที่บริโภคอาหารครั้งหนึ่งๆ มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม รวมอยู่ด้วย เพราะถ้าไม่มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม โอชาจะมีได้ไหม

    ถ. มีไม่ได้

    สุ. มีไม่ได้ เพราะฉะนั้น ในอาหารแต่ละคำ แต่ละชนิด มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม และรส และโอชา ถูกไหม เพราะฉะนั้น แล้วแต่ว่าท่านผู้ใดพอใจ ติดใจในรสชนิดใด ก็แสวงหาธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ที่ประกอบด้วยรสชนิดนั้น ซึ่งรวมโอชาอยู่ด้วย

    ในรูปทุกกลุ่มมีโอชาอยู่แล้ว แต่ที่ท่านผู้ฟังแสวงหาในขณะบริโภค ไม่ได้แสวงหาโอชาเท่ากับการแสวงหารส เพราะว่าโอชามีอยู่ในทุกกลุ่มของรูป แต่กลุ่มของรูปบางกลุ่มจะมีรสนั้น บางกลุ่มจะมีรสนี้ ส่วนผสมที่ต่างกันโดยละเอียดที่สุดของ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ทำให้เกิดรสประเภทต่างๆ ซึ่งเป็นที่พอใจแสวงหายินดีของบุคคลต่างๆ โดยที่รู้อยู่ว่าเมื่อบริโภคแล้ว โอชาในอาหารนั้นเองจะทำให้รูปร่างกาย สืบต่อเจริญต่อไปได้เรื่อยๆ เช่น รูปในขณะนี้ วันนี้ เกิดขึ้นเพราะโอชาที่ท่านผู้ฟังบริโภคอาหาร รูปเก่าดับไปนานแล้ว และรูปนั้นก็เกิดขึ้นเพราะอาหารที่บริโภคใน วันก่อนๆ ด้วย เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ไม่เห็นกิจของอาหารรูปใช่ไหมว่า เมื่อบริโภคอาหาร คือ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม และรสเข้าไปแล้ว ในกลุ่มนั้นมีโอชาซึ่งทำให้รูปร่างกายเกิดขึ้น กลุ่มที่เรียกว่าอาหารชรูป เป็นรูปซึ่งเกิดเพราะอาหาร ซึ่งขาดไม่ได้เลย จะมีแต่กัมมชรูป คือ รูปซึ่งเกิดเพราะกรรม เท่านั้นไม่พอ

    ถ. ใน ๘ รูป คือ ปฐวี เตโช วาโย ๓ รูป เป็นอารมณ์ของกายทวาร วัณโณ สี เป็นอารมณ์ของจักขุทวาร คันโธ กลิ่น เป็นอารมณ์ของฆานทวาร รโส คือ รส เป็นอารมณ์ของชิวหาทวาร ส่วนโอชา ต้องเป็นธัมมารมณ์

    สุ. ถูกต้อง รูปใดๆ ก็ตาม ซึ่งรู้ไม่ได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย รูปนั้นเป็นธัมมารมณ์ รู้ได้ทางมโนทวาร

    ถ. โอชารูปทุกรูปนำมาซึ่งผล ใช่ไหม

    สุ. นำมาซึ่งผล คือ อาหารชรูป

    ถ. โต๊ะ เก้าอี้ ก็มีโอชารูป

    สุ. มีแน่นอน

    ถ. ก็ต้องมีอาหารชรูปด้วย

    สุ. หมายความเฉพาะสัตว์ที่มีชีวิต ต้องมีการบริโภค เก้าอี้ตัวนั้นมีกลุ่มของรูปซึ่งประกอบด้วยโอชารูปเป็นที่ ๘ แต่จะนำมาซึ่งผลต่อเมื่อสัตว์บริโภครูปนั้นเข้าไปจึงจะเป็นกพฬิงการาหาร ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงไม่ใช้คำว่า อาหาร แต่ใช้คำว่า กพฬิงการาหาร สำหรับสัตว์ที่บริโภคอาหารนั้น

    ถ. ผลของโอชารูปจะต้องเกิดพร้อมกับโอชารูปไหม

    สุ. ไม่ ต่อเมื่อโอชารูปนั้นเข้าไปตั้งมั่นคงในร่างกายแล้ว

    ถ. แต่อาหารชรูปไม่เกิดพร้อมกับโอชาที่เป็นปัจจัย โอชาต้องเข้าไปตั้งมั่นในร่างกายก่อน

    สุ. ความจริงที่เข้าไปตั้งมั่นในร่างกายนี้ ก็แล้วแต่กาละว่าจะเร็วหรือจะช้า เพราะถ้าแสดงโดยปัจจัยแล้ว โอชารูปต้องเป็นปัจจัยในขณะที่ยังตั้งอยู่ คือ ยังไม่ดับหมดไป ถ้าดับหมดไปแล้วเป็นปัจจัยไม่ได้

    ถ. ตอนนี้ก็มีอาหารชรูปอยู่ใช่ไหม ที่ร่างกาย

    สุ. แต่ยังไม่พอ เดี๋ยวจะต้องเพิ่มเติมอีกหรือเปล่า ก็แล้วแต่โอกาส

    ถ. สำหรับนามอาหาร ปัจจยุปบันต้องเกิดพร้อมกับปัจจัยใช่ไหม

    สุ. สำหรับรูปทุกรูปที่จะเป็นปัจจัยได้ต้องเป็นในขณะที่กำลังตั้งอยู่ ยังไม่ดับหมดสิ้นไป แต่การเกิดสืบต่อของรูปมีใช่ไหม เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ว่าการตั้งมั่นคง ที่จะให้เป็นอาหารชรูปเกิดในขณะใด ก็เป็นปัจจัยในขณะนั้น

    ในเรื่องของอาหารปัจจัย คงจะไม่ยาก เพราะว่ามีเพียง ๔ เท่านั้น

    สำหรับรูปอาหาร ก็ได้แก่ อาหารที่บริโภคเป็นคำๆ มีให้พิสูจน์ได้ทุกวันว่า รูปนี้มี เป็นสิ่งซึ่งจำเป็น เป็นปัจจัยสำหรับร่างกาย

    และสำหรับนามอาหาร แม้ว่าจะมีเจตสิกและจิตเกิดพร้อมกันในขณะเดียวกัน สั้นที่สุดและก็ดับไป แต่แม้กระนั้นพระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงว่า ในขณะจิตหนึ่งๆ สภาพธรรมใดบ้างที่เป็นนามอาหารปัจจัย ซึ่งโดยเหตุผลที่ทรงแสดงไว้ก็ทำให้เห็นได้ว่า ผัสสเจตสิกเป็นผัสสาหาร เจตนาเจตสิกเป็นมโนสัญเจตนาหาร และจิตเป็น วิญญาณาหาร

    ถ. รูปอาหาร คือ อาหารที่บริโภคเป็นคำๆ ใช่ไหม สำหรับอาหารที่เป็นน้ำ เช่น นม เป็นรูปอาหารหรือเปล่า

    สุ. อาหารที่เป็นน้ำ บริโภคเป็นคำๆ ด้วยหรือเปล่า

    ถ. ไม่ต้องเป็นคำ ปล่อยให้ไหลลงไปก็ได้

    สุ. เป็นคำก็ได้ ตักเข้าปากทีละคำก็ได้

    ถ. เป็นรูปอาหารหรือเปล่า

    สุ. เป็น อะไรก็ตามที่บริโภคเข้าไปในปากเป็นกพฬิงการาหารทั้งนั้น เดี๋ยวท่านผู้ฟังจะสงสัยว่า จะกินลมได้ไหม ทำให้เกิดรูปอะไร นำมาซึ่งอะไร เป็นอาหารปัจจัยไหม ซึ่งความจริงแล้ว แม้ว่าจะแตกย่อยรูปลงไปละเอียดสักเท่าไรโดยที่ไม่สามารถที่จะมองเห็นได้ ก็ยังเป็นกลุ่มซึ่งประกอบด้วยรูป ๘ รูป คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม สี กลิ่น รส โอชา เพราะฉะนั้น ก็ยังมีโอชาอยู่ เพียงแต่ว่าจะมีปริมาณเพียงพอที่จะให้ร่างกายนี้ดำรงสืบต่อไปได้หรือเปล่า ถ้าเป็นอาหารซึ่งมีโอชามาก แม้ว่าเพียงเล็กน้อย ก็สามารถที่จะให้ร่างกายดำรงสืบต่อไปได้มากกว่าอาหารปริมาณมากแต่มีโอชาน้อย หรือว่าโอชาไม่ประณีต

    ปัจจัยต่อไป ปัจจัยที่ ๑๖ อินทริยปัจจัย ซึ่งภาษาไทยใช้คำว่า อินทรีย์ หมายความถึงสภาพธรรมที่เป็นใหญ่ เพราะฉะนั้น อินทริยปัจจัย ก็คือสภาพธรรมที่เป็นปัจจัยโดยเป็นใหญ่เฉพาะในกิจหน้าที่ของตนเท่านั้น ไม่ใช่เป็นใหญ่เหมือนอย่างอธิปติปัจจัย

    การศึกษาเรื่องของปัจจัยทุกปัจจัย และธรรมทั้งหลายที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ก็เพื่อที่จะให้รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง ซึ่งสามารถจะพิสูจน์ได้ว่า พระธรรมที่ทรงแสดงเป็นความจริงอย่างนั้นหรือไม่ แม้อินทริยปัจจัยก็ไม่พ้นจากชีวิตประจำวัน หรือสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ในขณะนี้เอง อาหารปัจจัยก็โดยนัยเดียวกัน คือ เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ฉันใด อินทริยปัจจัยก็ต้องเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏ ซึ่งเป็นนามธรรมและรูปธรรมนั่นเอง

    สภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏ ที่จะพ้นจากลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมนั้น ไม่มี การที่จะรู้ว่าเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมถูกต้องไหมว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็ต่อเมื่อมีสภาพธรรมในขณะนี้ปรากฏ และสติไม่ลืมที่จะระลึกเพื่อจะรู้ว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เป็นลักษณะของนามธรรม หรือว่าเป็นลักษณะของรูปธรรม จึงไม่ใช่เรา และไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้น การพิสูจน์ธรรม สามารถกระทำได้ ศึกษาได้ทุกขณะ เพราะไม่มีสักขณะหนึ่งขณะใดที่สภาพธรรมจะหยุดเกิด เพราะว่ามีปัจจัยที่จะให้สภาพธรรมเกิดขึ้นปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และพระผู้มีพระภาค ผู้ทรงรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมทั้งปวง ได้ทรงแสดงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างว่า สภาพธรรมใดเป็นอินทริยะ คือ เป็นอินทรีย์ เป็นใหญ่ เป็นปัจจัยแก่ สภาพธรรมอื่น ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงโดยละเอียด ท่านผู้ฟังก็คิดว่ามีเราอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นรูปแต่ละรูปที่ประชุมรวมกันเป็นกลุ่มก้อน เพราะฉะนั้น ตราบใดที่รูปยังประชุมรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนก็เห็นว่าเป็นเรา และกลุ่มก้อนนี้ก็ยังเป็นปัจจัยให้เกิดนามธรรม เช่น การเห็น ไม่ได้อยู่นอกตัว ไม่ได้อยู่นอกกาย การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึก อยู่ที่ตัวทั้งหมด เพราะฉะนั้น เมื่อไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างตามความเป็นจริงจึงยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน

    ซึ่งการที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ก็โดยการศึกษา โดยละเอียดถึงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งแตกย่อยออกได้โดยละเอียด เป็นนามธรรมแต่ละชนิด และเป็นรูปธรรมแต่ละชนิด

    สภาพธรรมซึ่งเป็นอินทรีย์ ท่านผู้ฟังคงเคยได้ยินว่า มีหมวดธรรมที่แสดงลักษณะของอินทรีย์ ๒๒ แต่ว่าสำหรับอินทริยปัจจัย ได้แก่ อินทรีย์ ๒๐

    ก่อนอื่นขอกล่าวถึงอินทรีย์ ๒๒ เพื่อจะได้ทราบว่า ได้แก่สภาพธรรมใด อินทรีย์ ๒๒ คือ

    ๑. จักขุนทรีย์ ได้แก่ จักขุปสาท เป็นรูปธรรม เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่ โดยเป็นปัจจัยให้เกิดจักขุวิญญาณซึ่งกำลังเห็น และเจตสิกที่เกิดพร้อมกับ จักขุวิญญาณ ในขณะนี้เองหรือเปล่า อินทรีย์ก็ไม่พ้นจากขณะนี้เลย

    ถ้าปราศจากจักขุนทรีย์จะไม่มีการเห็นเกิดขึ้นได้เลย เพียงเท่านี้ก็เห็นความเป็นใหญ่ของจักขุปสาทแล้ว โดยที่อาจจะลืมคิด ทุกวันๆ ที่เห็นนี้ไม่ได้คิดเลยว่า สภาพธรรมใดเป็นปัจจัยโดยเป็นใหญ่ให้เกิดการเห็นขึ้น แต่เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงก็ทำให้ระลึกได้ว่า การเห็นทุกขณะซึ่งมีอยู่เป็นประจำนั้น ต้องอาศัยจักขุปสาท เป็นรูปธรรม เป็นจักขุนทรีย์ เป็นใหญ่จริงๆ เพราะถ้าขาดรูปนี้จะไม่มีการเห็นใดๆ ได้เลย

    ๒. โสตินทรีย์ ได้แก่ โสตปสาท ซึ่งเป็นใหญ่โดยเป็นปัจจัยแก่โสตวิญญาณ ๒ ดวง พร้อมกับเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยในขณะนี้ที่ได้ยินเสียง

    ๓. ฆานินทรีย์ ได้แก่ ฆานปสาท เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่โดยเป็นปัจจัยแก่ฆานวิญญาณ ๒ ดวง และเจตสิกซึ่งเกิดร่วมด้วย

    ๔. ชิวหินทรีย์ ได้แก่ ชิวหาปสาท เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่โดยเป็นปัจจัยแก่ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยในขณะที่ลิ้มรส

    ๕. กายินทรีย์ ได้แก่ กายปสาท ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่โดยเป็นปัจจัยแก่กายวิญญาณ ๒ ดวง และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยในขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย

    เพราะฉะนั้น อินทรีย์ ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย

    ถ้ามีแต่จิต ไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้นรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทุกข์ก็เกิดไม่ได้ ใช่ไหม มีรูปร่างกายแต่ไม่มีกายปสาทที่จะกระทบกับเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ทุกขเวทนาก็เกิดไม่ได้ ก็ต้องหมดทุกข์ในเรื่องของกายวิญญาณ แต่ก็เพราะมีรูปซึ่งกรรมเป็นปัจจัยทำให้รูปนั้นเป็นใหญ่ที่จะทำให้ทวิปัญจวิญญาณเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

    ๖. อิตถินทรีย์ ได้แก่ ภาวรูปที่ทำให้ปรากฏสภาพความเป็นหญิง

    ๗. ปุริสินทรีย์ ได้แก่ ภาวรูปที่ทำให้ปรากฏสภาพความเป็นชาย

    ๘. ชีวิตินทรีย์ ได้แก่ สภาพธรรมที่รักษาสหชาตธรรม คือ ธรรมที่เกิดร่วมด้วยให้เป็นไปในขณะนั้น ให้มีอายุ ให้มีชีวิต ให้ดำรงอยู่ ให้ตั้งอยู่ในชั่วขณะนั้น

    สำหรับชีวิตินทรีย์นั้น เป็นรูปชีวิตินทรีย์ ๑ และเป็นนามชีวิตินทรีย์ ๑ คือ เป็นชีวิตินทริยเจตสิก

    เพราะฉะนั้น ในอินทรีย์ ๒๒ เป็นรูป ๗ เป็นนาม ๑๔ และเป็นชีวิตินทรีย์ ๑ ซึ่งได้แก่ ชีวิตรูป ๑ และชีวิตนาม ๑ แต่เมื่อกล่าวโดยรูป ๒๘ แล้ว รูปที่เป็นอินทรีย์ มี ๘ รูป

    รูปที่เป็นอินทรีย์ ๘ รูป คือ ตา ๑ หู ๑ จมูก ๑ ลิ้น ๑ กาย ๑ อิตถินทรีย์ (อิตถีภาวรูป) ๑ ปุริสินทรีย์ (ปุริสภาวรูป) ๑ และชีวิตินทรีย์ ได้แก่ รูปซึ่งเกิดเพราะกรรมซึ่งอุปถัมภ์รูปอื่นๆ ที่เกิดร่วมด้วยในส่วนนั้นให้เป็นรูปที่มีชีวิต มีอายุ ดำรงอยู่ ชั่วขณะหนึ่ง

    สำหรับจักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท เป็นอินทรีย์ด้วย และเป็นอินทริยปัจจัยด้วย เพราะทำให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้น โสตวิญญาณเกิดขึ้น ฆานวิญญาณเกิดขึ้น ชิวหาวิญญาณเกิดขึ้น กายวิญญาณเกิดขึ้น แต่ อิตถินทรีย์และปุริสินทรีย์เป็นอินทรีย์ แต่ว่าไม่เป็นอินทริยปัจจัย

    เพราะฉะนั้น ข้อที่จะต้องสังเกต คือ ในอินทรีย์ ๒๒ นั้น มี ๒ อินทรีย์ที่ไม่เป็นอินทริยปัจจัย ได้แก่ อิตถินทรีย์ และปุริสินทรีย์



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๑๖ ตอนที่ ๑๑๕๑ – ๑๑๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 86
    28 ธ.ค. 2564