แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 308


    ครั้งที่ ๓๐๘


    ใน ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ วิหารวิมาน

    ท่านพระอนุรุทธเถระได้ถามเทพธิดาองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่มีวรรณะงามยิ่งนัก มีรัศมีส่องสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ

    ทุกอย่างก็เป็นอิฏฐารมณ์ที่ประณีตมาก

    ท่านพระอนุรุทธเถระได้ถามนางเทพธิดาองค์หนึ่งว่า

    ดูกร นางเทพธิดา ท่านมีวรรณะงามยิ่งนัก มีรัศมีส่องสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ สถิตอยู่เหมือนดาวประกายพฤกษ์ เมื่อท่านฟ้อนอยู่ เสียงอันเป็นทิพย์น่าฟัง รื่นรมย์ใจ ย่อมเปล่งออกจากอวัยวะน้อยใหญ่ทุกส่วน ทั้งกลิ่นทิพย์อันหอมหวนยวนใจ ก็ฟุ้งออกจากอวัยวะน้อยใหญ่ทุกส่วน เมื่อท่านไหวกายกลับไปมา เสียงเครื่องประดับช้องผม ก็ดังเสียงไพเราะดุจเสียงดนตรีเครื่องห้า อนึ่ง เสียงมงกุฏที่ถูกลมรำเพยพัดให้หวั่นไหว ก็กังวานไพเราะดุจเสียงดนตรีเครื่องห้า แม้พวงมาลัยบนเศียรเกล้าของท่านมีกลิ่นหอมชวนให้เบิกบานใจ หอมฟุ้งไปทั่วทุกทิศ ดุจต้นอุโลก ฉะนั้น

    ดูกร นางเทพธิดา อาตมาถามท่านแล้ว ขอท่านจงบอก นี้เป็นผลแห่งกรรมอะไร

    ในมนุษย์ไม่เคยมีอย่างเทพธิดาองค์นี้เลยใช่ไหม แต่นี่เป็นการปฏิสนธิเป็นเทพธิดาในสวรรค์

    นางเทพธิดาตอบว่า

    ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ นางวิสาขามหาอุบาสิกาเป็นสหายของดิฉัน อยู่ในเมืองสาวัตถี ได้สร้างมหาวิหารถวายสงฆ์ ดิฉันเห็นมหาวิหารนั้นแล้วมีจิตเลื่อมใสอนุโมทนา ก็วิมานอันเป็นที่รักนี้อันดิฉันได้แล้ว เพราะการอนุโมทนาด้วยจิตบริสุทธิ์อย่างเดียวเท่านั้น

    การอนุโมทนาไม่ยากเลย แล้วแต่ว่ากำลังของจิตที่อนุโมทนามีความผ่องใส มีความโสมนัสมากน้อยเท่าไร

    ซึ่งท่านพระอนุรุทธะ เมื่อจะให้นางเทพธิดาบอกที่เกิดของนางวิสาขามหาอุบาสิกา จึงกล่าวถามด้วยคาถา ความว่า

    วิมานอันอัศจรรย์น่าดูน่าชมนี้ ท่านได้แล้วเพราะการอนุโมทนา ด้วยจิตอันบริสุทธิ์อย่างเดียวเท่านั้น นางนารีอันมีนามว่าวิสาขาได้ถวายทาน และได้สร้างมหาวิหารไปเกิดที่ไหน ขอท่านจงบอกคติของนางวิสาขานั้น แก่อาตมาด้วยเถิด

    ท่านผู้ฟังก็ได้ยินชื่อวิสาขามหาอุบาสิกาอยู่เสมอ ก็ควรจะได้ทราบว่า ณ บัดนี้ท่านอยู่ ณ ที่ใด เพราะว่าท่านเป็นอริยสาวกซึ่งได้ชื่อว่า เป็นผู้เลิศในการถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์

    นางเทพธิดานั้นตอบว่า

    ข้าแต่ท่านผู้เจริญ นางวิสาขามหาอุบาสิกาผู้เป็นสหายของดิฉัน ได้สร้างมหาวิหารถวายแด่สงฆ์ และได้ถวายทานแด่สงฆ์ เป็นผู้รู้ธรรมแจ่มแจ้ง เธอได้บังเกิดในหมู่ทวยเทพชั้นนิมมานรดี

    วิบากแห่งกรรมของนางวิสาขามหาอุบาสิกานั้น อันใครไม่ควรคิด ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉันได้พยากรณ์ที่เกิดของนางวิสาขา ที่พระคุณเจ้าถามว่านางวิสาขานั้น บังเกิด ณ ที่ไหนโดยถูกต้องแล้ว ถ้าอย่างนั้นขอพระคุณเจ้าได้ชักชวนแม้ชนเหล่าอื่นว่า ท่านทั้งหลายจงปลื้มใจถวายทานแด่สงฆ์เถิด แล้วจงมีใจเลื่อมใสฟังธรรม การได้อัตภาพมาเป็นมนุษย์เป็นการได้ด้วยแสนยาก อันพวกท่านได้แล้ว พระพุทธเจ้ามี พระสุรเสียงดุจเสียงพรหม มีพระฉวีวรรณดุจทองคำ เป็นอธิบดีแห่งมรรคา ได้ทรงแสดงธรรมใดไว้ว่าเป็นทางสวรรค์ ทางนั้นเป็นทางอันประเสริฐ ท่านทั้งหลายจงปลื้มใจ ถวายทานแด่สงฆ์ ที่บุคคลถวายทักษิณาแล้วมีผลมาก

    ข้อความต่อไปเป็นเรื่องของสังฆทาน ให้ทราบว่า สังฆทานนั้นคืออย่างไร

    บุคคลเหล่าใด อันพระพุทธเจ้า เป็นต้น สรรเสริญแล้วว่า คู่แห่งบุรุษ ๔ บุรุษ บุคคล ๘ เหล่านี้ บุคคลเหล่านั้นเป็นพระทักขิไณยบุคคล สาวกแห่งพระสุคต ทานอันบุคคลถวายแล้วในพระทักขิไณยบุคคลเหล่านั้น มีผลมาก ท่านผู้ปฏิบัติเพื่ออริยมรรค ๔ จำพวก และท่านผู้ตั้งอยู่ในอริยผล ๔ จำพวก พระอริยบุคคล ๘ จำพวกนี้ ชื่อว่า สงฆ์ เป็นผู้ปฏิบัติซื่อตรง ดำรงมั่นอยู่ในปัญญาและศีล

    เมื่อมนุษย์ทั้งหลายผู้มุ่งบุญ ถวายทานในท่านเหล่านี้ หรือทำบุญปรารภการเวียนเกิดเวียนตาย ทานที่ถวายในสงฆ์ย่อมมีผลมาก พระสงฆ์นี้เป็นผู้มีคุณความดีอันยิ่งใหญ่ ยังผลให้เกิดแก่ผู้ถวายทานในท่านอย่างไพบูลย์ ยากที่จะประมาณได้ว่า เท่านี้ๆ เหมือนทะเลยากที่จะคาดคะเนได้ว่ามีน้ำเท่านี้ๆ ฉะนั้น พระสงฆ์เหล่านี้แลเป็นผู้ประเสริฐ เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ผู้มีความเพียรเป็นเยี่ยมในหมู่นรชน เป็นแหล่งสร้างแสงสว่าง คือ ญาณของชาวโลก ได้แก่ นำเอาแสงสว่าง คือ พระสัทธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศไว้แล้วมาชี้แจง ปวงชนผู้ใคร่ต่อบุญเหล่าใดถวายทานมุ่งตรงต่อสงฆ์ ทักษิณาของเขาเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นทักษิณาที่ถวายดีแล้ว เป็นยัญวิธีที่เซ่นสรวงถูกต้อง จัดเป็นบูชากรรมที่บูชาแล้วชอบ เพราะทักษิณาที่ถวายดีแล้ว เป็นสังฆทาน มีผลมาก อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายผู้รู้แจ้งโลกทรงสรรเสริญ

    ชนเหล่าใดยังท่องเที่ยวอยู่ในโลก มาหวนระลึกถึงบุญเช่นนี้ได้ เกิดปีติโสมนัส ก็จะกำจัดมลทิน คือ ความตระหนี่พร้อมทั้งความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความลังเลใจ และความตีตนเสมอท่านอันเป็นมูลฐานเสียได้ ทั้งจะไม่เป็นผู้อันผู้รู้ติเตียน แต่นั้นก็จะเข้าถึงสถานที่อันเป็นแดนสวรรค์

    นี่ก็เป็นข้อความที่ท่านผู้ฟังได้เคยทราบแล้วว่า สังฆทานนั้นก็คือการถวายทานมุ่งตรงต่อสงฆ์

    ใน ขุททกนิกาย เปตวัตถุ อังกุรเปตวัตถุ เป็นตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งแสดงถึงผลของการอนุโมทนาและผลของการไม่อนุโมทนา

    ข้อความใน อังกุรเปตวัตถุ มีว่า

    พราหมณ์พ่อค้าคนหนึ่งเห็นของทิพย์ออกจากมือรุกขเทวดา จึงเกิดความโลภขึ้น ได้บอกแก่อังกุรพาณิชว่า

    เราทั้งหลายเที่ยวหาทรัพย์ ไปสู่แคว้นกัมโพชเพื่อประโยชน์ใด เทพบุตรนี้เป็นผู้ให้สิ่งที่เราอยากได้นั้น พวกเราจักนำเทพบุตรนี้ไป หรือจักจับเทพบุตรนี้ ข่มขี่เอาด้วยการวิงวอน หรืออุ้มใส่ยาน รีบนำไปสู่ทวารกนครโดยเร็ว

    ความโลภนี้ไม่มีที่สิ้นสุด แม้จะได้สิ่งใดก็ได้จากมือของรุกขเทวดา แต่ก็ไม่หยุด ยังไม่พอใจเท่านั้น ยังต้องการที่จะนำเทพบุตรรุกขเทวดาไปด้วย เพื่อว่าเมื่อปรารถนาสิ่งใด ก็จะได้จากมือของรุกขเทวดานั้น

    อังกุรพาณิช เมื่อจะห้ามพราหมณ์พ่อค้านั้น จึงได้กล่าวคาถาความว่า

    บุคคลอาศัยนั่งนอนที่ร่มเงาของต้นไม้ใด ไม่ควรหักรากกิ่งของต้นไม้นั้น เพราะการประทุษร้ายมิตร เป็นความเลวทราม

    นี่เป็นความเห็นถูก แต่ผู้ที่มีความเห็นผิดก็ไม่เห็นด้วย

    พราหมณ์พ่อค้ากล่าวว่า

    บุคคลอาศัยนั่งนอนที่ร่มเงาของต้นไม้ใด พึงตัดแม้ลำต้นของต้นไม้นั้นได้ ถ้ามีความต้องการเช่นนั้น

    อังกุรพาณิชกล่าวว่า

    บุคคลอาศัยนั่งนอนที่ร่มเงาของต้นไม้ใด ไม่พึงทำลายแม้ใบของต้นไม้นั้น เพราะการประทุษร้ายมิตร เป็นความเลวทราม

    พราหมณ์พ่อค้ากล่าวว่า

    บุคคลอาศัยนั่งนอนที่ร่มเงาของต้นไม้เหล่าใด พึงถอนต้นไม้นั้น พร้อมทั้งรากได้ ถ้าพึงประสงค์เช่นนั้น

    ความเห็นต่างกัน ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นว่า แม้ในสมัยนี้ ถึงท่านจะมีมิตรสหาย แต่ความเห็นอาจจะไม่ตรงกัน

    อังกุรพาณิชกล่าวว่า

    ก็บุรุษพึงพักอยู่ในเรือนของบุคคลใดตลอดราตรีหนึ่ง หรือพึงได้ข้าวน้ำในที่ใด ไม่ควรคิดชั่วต่อบุคคลนั้นแม้ด้วยใจ ความเป็นผู้กตัญญู สัปบุรุษสรรเสริญ

    บุคคลพึงพักอาศัยในเรือนของบุคคลใดแม้เพียงคืนหนึ่ง พึงได้รับการบำรุงด้วยข้าวและน้ำ ก็ไม่พึงคิดชั่วต่อบุคคลนั้นแม้ด้วยใจ

    บุคคลผู้มีมืออันไม่เบียดเบียน ย่อมแผดเผาบุคคลผู้ประทุษร้ายมิตร ผู้ใดทำความดีไว้ในก่อน ภายหลังเบียดเบียนด้วยความชั่ว ผู้นั้นชื่อว่าเป็นคนอกตัญญู ย่อมไม่พบเห็นความเจริญทั้งหลาย

    ผู้ใดประทุษร้ายต่อนรชนผู้ไม่ประทุษร้าย ผู้เป็นบุรุษบริสุทธิ์ ไม่กิเลสเครื่อง ยียวน บาปย่อมกลับมาถึงผู้นั้นซึ่งเป็นคนพาลแน่แท้ เหมือนธุลีอันละเอียดที่บุคคลซัดไปทวนลม ฉะนั้น

    เมื่อรุกขเทวดาได้ฟังดังนั้นแล้ว เกิดความโกรธต่อพราหมณ์นั้น จึงกล่าวว่า

    เทวดาก็โกรธ ถ้าใครทำชั่ว คิดชั่ว พูดชั่วก็น่าโกรธ เพราะฉะนั้น เทวดาโกรธ จึงกล่าวว่า

    ไม่เคยมีเทวดา หรือมนุษย์ หรืออิสรชนคนใดจะมาข่มเหงเราได้โดยง่าย เราเป็นเทพเจ้าผู้มีมหิทธิฤทธิ์อย่างยอดเยี่ยม เป็นผู้ไปได้ไกล สมบูรณ์ด้วยรัศมีและกำลัง

    อังกุรพาณิชจึงถามรุกขเทวดานั้นว่า

    ฝ่ามือของท่านมีสีดังทองคำทั่วไป ทรงไว้ซึ่งวัตถุที่บุคคลอื่นปรารถนา ด้วยนิ้วทั้ง ๕ เป็นที่ไหลออกแห่งวัตถุมีรสอร่อย วัตถุมีรสต่างๆ ย่อมไหลออกจากฝ่ามือของท่าน ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ท่านเป็นท้าวสักกะ

    นิ้วมือนี้มีวัตถุที่มีรสอร่อยไหลออกมาได้ ถ้าในภูมิมนุษย์นี้ คงจะมีแต่เหงื่อ แต่ว่าถ้าเป็นผลของกุศลกรรม เป็นกุศลวิบาก เป็นความวิจิตรของจิต เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะคิด เพราะเหตุว่าไม่สามารถจะทราบความวิจิตรของวิบากได้ นิ้วมือของบุคคลที่ได้สั่งสมกุศลมาแล้วนั้น ก็เป็นที่ไหลออกของวัตถุมีรสอร่อย ซึ่งอังกุรพาณิชเข้าใจว่า รุกขเทวดานั้นเป็นท้าวสักกะ คือ เป็นพระอินทร์

    เราไม่ใช่เทพเจ้า ไม่ใช่คนธรรพ์ ไม่ใช่ท้าวสักกปุรินททะ ดูกร อังกุระ ท่านจงทราบว่าเราเป็นเปรต จุติจากโรรุวนคร มาอยู่ที่ต้นไทรนี้

    เรื่องของภูมิเปรตนี้ มีความวิจิตรมาก เปรตบางพวกก็จัดเป็นเทพ เพราะว่ามีความวิจิตรเหมือนเทพ มีความสุขอย่างเทพ แต่โดยกำเนิดเป็นเปรต

    อังกุรพาณิชถามว่า

    เมื่อก่อนท่านอยู่ในโรรุวนคร ท่านมีปกติอย่างไร มีความประพฤติอย่างไร ผลบุญสำเร็จที่ฝ่ามือของท่าน เพราะพรหมจรรย์อะไร

    น่าที่จะถามใช่ไหม เพราะว่าเป็นความแปลกที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน ไม่ทราบว่าเป็นผลของการกระทำบุญอย่างไร

    รุกขเทวดาตอบว่า

    เมื่อก่อนเราเป็นช่างหูกอยู่ในโรรุวนคร เป็นคนกำพร้าเลี้ยงชีวิตโดยความลำบากนัก เราไม่มีอะไรจะให้ทาน เรือนของเราอยู่ใกล้เรือนของอสัยหเศรษฐี ซึ่งเป็นคนมีศรัทธา เป็นทานาธิบดี มีบุญอันทำแล้ว เป็นผู้ละอายต่อบาป พวกยาจกวณิพกมีนามและโคตรต่างๆ กัน ไปที่บ้านของเรานั้น พากันถามถึงเรือนของอสัยหเศษรฐีกับเราว่า ขอความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลาย พวกเราจะไปทางไหน ทานเขาให้ที่ไหน

    เราถูกพวกยาจกวณิพกถามแล้ว ได้ยกมือเบื้องขวาชี้บอกเรือนของอสัยหเศรษฐีแก่ยาจกวณิพกเหล่านั้นว่า ท่านทั้งหลายจงไปทางนี้ ความเจริญจักมีแก่ท่านทั้งหลาย ทานเขาให้อยู่ที่นั่น เพราะเหตุนั้นฝ่ามือของเราจึงให้สิ่งที่น่าปรารถนา เป็นที่ไหลออกแห่งวัตถุมีรสอร่อย ผลบุญย่อมสำเร็จที่ฝ่ามือของเรา เพราะพรหมจรรย์นั้น

    อังกุรพาณิชถามว่า

    ได้ยินว่าท่านไม่ได้ให้ทานแก่ใครๆ ด้วยมือทั้งสองของตน เป็นแต่เพียงอนุโมทนาทานของคนอื่น ยกมือชี้บอกทางให้ เพราะเหตุนั้นฝ่ามือของท่านจึงให้สิ่งที่น่าใคร่ เป็นที่ไหลออกแห่งวัตถุมีรสอร่อย ผลบุญย่อมสำเร็จที่ฝ่ามือของท่านเพราะพรหมจรรย์นั้น

    ข้าแต่ท่านผู้เจริญ อสัยหเศรษฐีผู้เลื่อมใสได้ให้ทานด้วยมือทั้งสองของตน ละร่างกายมนุษย์แล้ว ไปทางทิศไหนหนอ

    รุกขเทวดาตอบว่า

    เราไม่รู้ทางไปทางมาของอสัยหเศรษฐี ผู้เป็นเจ้าของแห่งทาน ผู้มีรัศมีซ่านออกจากตน แต่เราได้ฟังมาในสำนักของท้าวเวสสุวัณว่า อสัยหเศรษฐีถึงความเป็นสหายแห่งท้าวสักกะ

    อังกุรพาณิชกล่าวว่า

    บุคคลควรทำความดีแท้ ควรให้ทานตามสมควร ใครได้เห็นฝ่ามืออันให้สิ่งที่น่าใคร่แล้วจักไม่ทำบุญเล่า เราไปจากที่นี้ถึงทวารกนครแล้ว จักรีบให้ทาน อันจักนำความสุขมาให้เราแน่แท้ เราจักให้ข้าว น้ำ ผ้า เสนาสนะ บ่อน้ำ และสะพานในที่เดินยากเป็นทาน

    นี่เป็นผลของการอนุโมทนา ส่วนบุคคลที่ไม่อนุโมทนา ก็อยู่ใกล้ๆ ในที่เดียวกันซึ่งอังกุรพาณิชถามว่า

    เพราะเหตุไร นิ้วมือของท่านจึงงอหงิก ปากของท่านจึงเบี้ยว และนัยน์ตาทะเล้นออก ท่านได้ทำบาปกรรมอะไรไว้

    ไม่ใช่แต่ในภูมินั้นเท่านั้นใช่ไหม แม้ในมนุษย์ภูมิ นิ้วงอหงิก ปากเบี้ยว นัยน์ตาทะเล้น มีบ้างไหม ถ้าเห็นผลที่จะเกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุ เป็นไปไม่ได้ เพียงแต่ว่าตนเองจะทราบหรือไม่ว่า การที่ผลเช่นนี้เกิดปรากฏนั้น เป็นเพราะผลของกรรมอะไรที่ได้กระทำแล้ว แต่ให้ทราบว่า ไม่ว่าสิ่งใดจะปรากฏ ก็ย่อมต้องเกิดจากเหตุทั้งสิ้น

    เปรตนั้นตอบว่า

    เราอันคฤหบดีตั้งไว้ในการให้ทาน ในโรงทานของคฤหบดีผู้มีอังคีรส ผู้มีศรัทธา เป็นฆราวาส ผู้ครอบครองเรือน เห็นยาจกผู้มีความประสงค์ด้วยโภชนะมาที่โรงทานนั้น ได้หลีกไป ทำการบุ้ยปากอยู่ ณ ที่ข้างหนึ่ง เพราะกรรมนั้น นิ้วของเราจึงได้งอหงิก ปากของเราจึงเบี้ยว นัยน์ตาทะเล้นออกมา เราได้ทำบาปกรรมนั้นไว้

    อังกุรพาณิชถามว่า

    แน่ะ บุรุษเลวทราม การที่ท่านมีปากเบี้ยว ตาทั้งสองทะเล้น เป็นการชอบแล้ว เพราะท่านทำการบุ้ยปากต่อทานของคนอื่น

    ก็เป็นสิ่งที่ท่านผู้ฟังจะได้ทราบถึงเหตุในอดีตที่ได้กระทำไว้ ถ้าท่านผู้ฟังต้องการความละเอียด ก็ขอกล่าวถึงให้ทราบว่า อังกุรพาณิชคิดอย่างไร จะเหมือนจิตใจของคฤหบดีผู้มีศรัทธาในสมัยนี้บ้างหรือไม่ ข้อความในพระไตรปิฎกมีว่า

    ก็อังกุรพาณิชกลับจากทะเลทราย ไปถึงทวารกนครแล้ว ได้เริ่มให้ทานอันจะนำความสุขมาให้ตน ได้ให้ข้าว น้ำ ผ้า เสนาสนะ บ่อน้ำ สระน้ำ ด้วยจิตอันเลื่อมใส

    ช่างกัลบก พ่อครัวชาวมคธ พากันป่าวร้องในเรือนของอังกุรพาณิชนั้น ทั้งในเวลาเย็น ทั้งในเวลาเช้า ทุกเมื่อว่า

    ใครหิว จงมากิน ตามใจชอบ

    ใครกระหาย จงมาดื่ม ตามใจชอบ

    ใครจักนุ่งห่มผ้า จงนุ่งห่ม

    ใครต้องการพาหนะสำหรับเทียมรถ จงเทียมพาหนะในคู่แอกนี้

    ใครต้องการร่ม จงเอาร่มไป

    ใครต้องการของหอม จงมาเอาของหอมไป

    ใครต้องการดอกไม้ จงมาเอาดอกไม้ไป

    ใครต้องการรองเท้า จงมาเอารองเท้าไป

    มหาชนย่อมรู้เราว่า อังกุระนอนเป็นสุข ดูกร สินธุกมานพ เรานอนเป็นทุกข์ เพราะไม่ได้เห็นพวกยาจก

    มหาชนรู้เราว่า อังกุระนอนเป็นสุข ดูกร สินธุกมานพ เรานอนเป็นทุกข์ในเมื่อวณิพกมีน้อย

    จิตใจอย่างนี้เป็นได้ไหม ถ้าท่านอยู่ต่างจังหวัด หรือในถิ่นที่ไกลๆ ท่านก็ทราบว่ามีผู้ที่หิว ท่านก็มีอาหารพอที่จะต้อนรับเชื้อเชิญ ใครหิวจงมากิน ใครกระหายจงมาดื่มตามชอบใจ หรือใครมาถึง ขาดแคลนเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ท่านก็อุปการะเกื้อกูล เพราะว่ามีเครื่องนุ่งห่มพอที่จะให้เป็นประโยชน์กับบุคคลนั้น ใครจักนุ่งห่มผ้า จงนุ่งห่ม ใครต้องการยานพาหนะสำหรับเทียมรถ จงเทียมพาหนะในคู่แอกนี้ บางทีท่านก็มีจิตกุศล พาไปส่งในที่ต่างๆ หรือว่าให้พาหนะไปใช้ได้ เมื่อต้องการจะใช้ ใครต้องการร่ม จงเอาร่มไป ใครต้องการของหอม จงมาเอาของหอมไป ใครต้องการดอกไม้ จงมาเอาดอกไม้ไป ใครต้องการรองเท้า จงมาเอารองเท้าไป

    ก็แล้วแต่สภาพฐานะและจิตใจของท่านว่า จะกว้างขวางเป็นไปในทานมากน้อยเท่าไร



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๓๑ ตอนที่ ๓๐๑ – ๓๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 38
    28 ธ.ค. 2564