แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 311


    ครั้งที่ ๓๑๑


    ใน ขุททกนิกาย อปาทาน ท่านพระอภัยเถระได้ภาษิตคาถาว่า

    สัตว์ที่เป็นปุถุชน แต่ไม่ตกอยู่ในอำนาจกิเลส มีสัมปชัญญะประกอบด้วยสติกิเลสที่มีกำลังทุรพลอันนอนเนื่องอยู่ในสันดานของเรา ถูกเผาด้วยไฟ คือ ญาณ แล้วไม่สิ้นไป ข้อนั้นไม่เคยมีเลย

    นี่เป็นเครื่องยืนยันสำหรับสัตว์ที่เป็นปุถุชน แต่ไม่ตกอยู่ในอำนาจกิเลส มีสัมปชัญญะประกอบด้วยสติ เมื่อกิเลสถูกเผาด้วยไฟ คือ ญาณ แล้วไม่สิ้นไป ข้อนั้นไม่เคยมีเลย

    ถ้าเจริญอบรมปัญญาทีละเล็ก ทีละน้อย เป็นการเผากิเลสด้วยไฟ คือ ญาณ ซึ่งวันหนึ่งกิเลสนั้นก็ต้องหมดสิ้นไป ที่ว่าเมื่อกิเลสถูกเผาด้วยไฟ คือ ญาณ แล้วไม่สิ้นไป ข้อนั้นไม่เคยมีเลย นี่สำหรับผู้ที่ท่านรู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้ว ท่านก็ประจักษ์ความจริงว่า จะต้องอาศัยการเจริญอบรมปัญญาจริงๆ

    สำหรับใน ขุททกนิกาย อปาทาน ซึ่งเป็นอดีตประวัติของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านจะเห็นอานิสงส์ที่ท่านเหล่านั้นได้ประพฤติปฏิบัติมาในทาน ในศีล ในกุศลประการต่างๆ เช่น อานิสงส์ของการถวายไม้ การถวายกระเทียมห่อหนึ่ง การถวายฉัตร การถวายผ้า การถวายบาตรใน ซึ่งใน ปิลินทวัจฉเถราปทานที่ ๑ นั้น

    มี อานิสงส์ของการถวายฉัตร ๘ ประการ อานิสงส์ของการถวายผ้า ๘ ประการอานิสงส์ของการถวายบาตร ๑๐ ประการ อานิสงส์ของการถวายมีดโกน ๘ ประการอานิสงส์ของการถวายพร้า ๕ ประการ อานิสงส์ของการถวายเข็ม ๕ ประการ อานิสงส์ของการถวายมีดตัดเล็บ ๕ ประการ อานิสงส์ของการถวายพัดใบตาล ๘ประการ

    อานิสงส์ของการถวายผ้ากรองน้ำ ๕ ประการ อานิสงส์ของการถวายภาชนะ ๕ ประการ อานิสงส์ของการถวายกล่องเข็ม ๓ ประการ อานิสงส์ของการถวายผ้าอังสะ ๓ ประการ อานิสงส์ของการถวายประคดเอว ๖ ประการ อานิสงส์ของการถวายเชิงรองบาตร ภาชนะ และเครื่องบริโภค ๓ ประการ อานิสงส์ของการถวายขัน ๓ ประการ อานิสงส์ของการถวายเภสัช ๑๐ ประการ

    อานิสงส์ของการถวายรองเท้า ๓ ประการ อานิสงส์ของการถวายผ้าเช็ดหน้า ๕ประการ อานิสงส์ของการถวายไม้เท้าคนแก่ ๕ ประการ อานิสงส์ของการถวายยาหยอดตา ๘ ประการ อานิสงส์ของการถวายเรือนกุญแจ ๒ ประการ อานิสงส์ของการถวายสายโยก ๕ ประการ อานิสงส์ของการถวายกล้องเป่าควัน ๓ ประการ อานิสงส์ของการถวายคนโทน้ำและผอบ ๑๐ ประการ

    อานิสงส์ของการถวายมีดบางคีม ๘ ประการ อานิสงส์ของการถวายยานัตถุ์ ๘ ประการ อานิสงส์ของการถวายตั่ง ๕ ประการ อานิสงส์ของการถวายที่นอน ๖ ประการ อานิสงส์ของการถวายหมอน ๖ ประการ อานิสงส์ของการถวายน้ำมันทาเท้า ๕ ประการ อานิสงส์ของการถวายเนยใสและน้ำมัน ๕ ประการ อานิสงส์ของการถวายน้ำบ้วนปาก ๕ ประการ

    อานิสงส์ของการถวายนมส้ม น้ำผึ้ง ข้าว น้ำ ธูป

    มีประการต่างๆ มากมายในพระไตรปิฎกที่ได้แสดงไว้ เป็นเรื่องของแต่ละท่านซึ่งได้บำเพ็ญเจริญกุศลมา ไม่ว่าในชาติก่อนๆ นั้น ท่านจะได้เป็นบุคคลใดก็ตาม แต่ผลอานิสงส์นี้ ท่านจะเห็นได้ว่าเป็นส่วนประกอบ ในการที่จะให้ท่านบรรลุคุณธรรมพร้อมด้วยผลต่างๆ ในชาติสุดท้ายได้

    ถ. คำอธิบายของท่านอาจารย์ทางวิทยุก็ดี ที่กำลังพูดอยู่ขณะนี้ก็ดี ฟังๆ ดูแล้วก็มีแต่สภาวะ สภาวะนี้พูดเป็นภาษาบัญญัติ ความจริงสภาวะนั้นมีลักษณะที่จะพูดให้เข้าใจได้ เพื่อบุคคลที่ยังไม่เข้าใจจะได้เข้าถึงเสียที พระไตรปิฎกมี ๓ ปิฎก คือปรมัตถปิฎก สุตตันตปิฎก พระวินัยปิฎก เป็นเรื่องสมมติบัญญัติทั้งสิ้น แต่ปรมัตถ์นั้นที่เราจะเข้าถึง ทำอย่างไร โปรดอธิบายให้เข้าใจ ปรมัตถ์นี้เป็นเรื่องของการปฏิบัติ ใช่ไหมครับ

    สุ. ปรมัตถธรรม มีปรากฏอยู่ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายทางใจ ขณะใดที่สติไม่ระลึก ไม่รู้ในสภาพที่เป็นปรมัตถ์แต่ละลักษณะ ขณะที่สติไม่ระลึก ก็ไม่รู้ว่าเป็นแต่เพียงปรมัตถธรรม ด้วยเหตุนี้จึงต้องเจริญสติปัฏฐาน เพื่อที่จะได้รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามความเป็นจริง

    อย่างขณะที่กำลังได้ยิน ต้องเป็นปรมัตถธรรม เป็นของจริง เพราะเหตุว่าเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏให้รู้ได้ทางหู สิ่งที่ปรากฏทางหู ใช้บัญญัติเรียกว่าเสียง เกิดปรากฏเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป แต่เพราะสติไม่ระลึก จึงไม่รู้ในลักษณะของปรมัตถธรรม

    สภาพที่รู้ความหมาย เป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม ที่คิดนึก ตรึกไปต่างๆ สติก็จะต้องระลึกรู้ในขณะที่กำลังนึกว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เคยเห็น เคยได้ยิน เคยรู้ในถ้อยคำในเรื่องนั้น จึงได้ตรึกนึกต่อไปอีก ในเรื่องนั้น สภาพที่กำลังคิดนึกแต่ละขณะนั้น เป็นของจริงที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลไม่ใช่ตัวตน ปรมัตถธรรมมีปรากฏอยู่แล้วทุกขณะ เป็นลักษณะปรมัตถ์จริงๆ มีลักษณะอย่างนั้นจริงๆ และก็ใช้คำเพื่อให้เข้าใจว่า หมายความถึงสภาพปรมัตถ์ชนิดใด แต่สติจะต้องระลึกรู้ตรงลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม และก็รู้ในลักษณะปรมัตถธรรมต่างๆ ชนิดที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยต่างๆ กัน จึงจะรู้ว่าปรมัตถธรรมมีจริง ไม่ใช่มีแต่ชื่อ

    ขณะที่กำลังเห็นนี้ จริง เพราะจริงจึงเป็นปรมัตถธรรม ไม่ต้องใช้ชื่ออะไรเลยกำลังเห็นเห็นจริงๆ สิ่งที่ปรากฏทางตาให้เห็นกำลังปรากฏจริงๆ ไม่ต้องใช้ชื่ออะไรเลย เป็นปรมัตถธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ลักษณะรู้ ก็มีต่างๆ ประเภทกันไป ถ้าเป็นลักษณะ หรือสภาพรู้ทางตา ก็เห็นสิ่งต่างๆ ทางตาเท่านั้น ส่วนที่จะนึกคิดถึงสิ่งที่เห็น พอใจ หรือไม่พอใจนั้น เป็นปรมัตถธรรมประเภทอื่นๆ เพราะฉะนั้น สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของปรมัตถธรรมตามปกติ ตามความเป็นจริงและก็รู้ว่าเป็นของจริง มีจริง ไม่ใช่เป็นแต่เพียงคำ

    ถ. ผู้ฟังโดยมากชอบฟัง แต่ไม่รู้ว่าจะถึงเมื่อไร ไม่ทราบอันไหนเป็นสภาวะ

    สุ. ท่านผู้ฟังบอกว่า ชอบฟัง แต่ไม่ทราบว่าจะถึงเมื่อไร ถ้าสติไม่เกิดขึ้นระลึกรู้ในลักษณะของปรมัตถธรรมบ่อยๆ เนืองๆ จนกระทั่งเป็นความรู้จริงแล้วละคลาย ถ้าไม่เป็นอย่างนี้ก็ไม่ถึง ที่จะถึงได้ ก็เพราะสติระลึกและไม่ต้องคำนึงถึงผลเพราะว่าเหตุมีแล้ว

    ถ. ความเบื่อหน่ายละทิ้งเสีย ปล่อยวางเสียไม่ได้หรือ

    สุ. ยังไม่รู้ จะเบื่อหน่ายอะไร

    ถ. อาจารย์ยกตัวอย่างแต่ละตัวอย่าง ก็บรรลุกันทั้งนั้น รู้สึกว่า ผู้ที่บรรลุคงจะเป็นผู้ที่ปกติเจริญสติและปฏิบัติถูกต้องจึงบรรลุ แต่สมัยนี้ เท่าที่ผมสังเกตและฟังดู ผู้ที่มีปกติเจริญสติก็มี ผู้ที่ไม่ปกติก็มี ต้องเจาะจงหาสถานที่ก็มี และกาลข้างหน้าเมื่อมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ใหม่ บุคคลเหล่านี้ได้พบพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าเทศนาธรรม ผู้ที่มีปกติคงจะบรรลุ แต่ผู้ที่ไม่ปกติ เขาจะบรรลุหรือเปล่า

    สุ. การรู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นเรื่องปัญญา ปัญญารู้จริง ไม่ใช่ว่ารู้ไม่จริง เพราะฉะนั้น ต้องทราบว่า อบรมเจริญอย่างไร ปัญญาที่รู้จริงในสภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังปรากฏจึงจะเกิดได้ แต่ถ้ายังไม่รู้ของจริงที่กำลังปรากฏตามปกติ ก็ย่อมไม่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมตามความเป็นจริงได้

    เพราะฉะนั้น การเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน คือ สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามปกติ ไม่ใช่หวังที่จะรู้อย่างอื่น แปลกประหลาดมหัศจรรย์ตื่นเต้น ตกใจ แต่ไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    ข้อสำคัญ คือ สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริงหรือเปล่า เพราะเหตุว่าเป็นปัญญาที่รู้ ถ้าไม่ใช่ปัญญาก็ไม่รู้ ถ้าเป็นอวิชชาก็ไม่รู้ เป็นมิจฉาทิฏฐิก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น จะอาศัยอย่างอื่นไม่ได้เลย ไม่มีวิธีอื่น ไม่มีวิธีลัด ไม่มีวิธีย่อ ไม่มีอุบาย ไม่มีนัยอื่นทั้งหมด นอกจากสติเกิดขึ้นระลึกรู้ในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ จึงรู้ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพรู้ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกายหรือทางใจ และสิ่งที่ปรากฏแต่ละทาง ก็เป็นลักษณะของรูปแต่ละลักษณะ เช่น สีสันวัณณะที่กำลังปรากฏ ก็เคยหลงยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ ซึ่งโดยสภาพความเป็นจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ก็เป็นแต่เพียงสีสันวัณณะต่างๆ เท่านั้นเสียงก็เป็นสิ่งที่ปรากฏให้รู้ได้ทางหู กลิ่นก็เป็นสิ่งที่ปรากฏให้รู้ได้ทางจมูก รสก็เป็นสิ่งที่ปรากฏให้รู้ได้ทางลิ้น เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวก็เป็นสิ่งที่ปรากฏให้รู้ได้ทางกาย

    นี่คือสภาพของจริงที่มีอยู่ พร้อมที่จะให้สติเกิดขึ้นเมื่อไรก็ระลึกรู้ได้ในลักษณะสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และปัญญาก็จะได้เพิ่มขึ้น

    ถ. ผมได้ฟังทางวิทยุ มีอาจารย์ท่านหนึ่งอธิบายเรื่องสัมมาวาจาซึ่งมีอยู่ในมรรคมีองค์ ๘ ว่า เรื่องศีลนี้ไม่ใช่ศีล ๕ เพราะว่าศีล ๕ นั้นมีแต่เพียงมุสาวาทเท่านั้น แต่ในสัมมาวาจานี้จะต้องมีถึง ๔ ประเภท คือ ไม่พูดปด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ และเน้นว่าการไม่พูดเพ้อเจ้อนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะว่าโดยมากมักจะเอนเอียงไปในทางที่ไม่ดีเป็นส่วนใหญ่ ในที่สุดท่านก็สรุปว่า ไม่พูดเสียเลยดีกว่า อย่าพูดเลย และท่านยกตัวอย่าง พระที่ท่านไปเจริญสติปัฏฐานตามที่บางแห่งนั้น แม้ท่านจะไปกันเป็นหมู่ แต่ก็แยกกันอยู่ ไม่ได้มีการสนทนาพูดจาอะไรนเป็นอันสรุปได้ว่า ท่านคิดว่าการไม่พูดเลยเป็นสัมมาวาจา กระผมไม่เข้าใจ เพราะว่าสัมมาวาจานี้ก็มีการพูด แต่พูดที่ดี ที่งาม ที่เป็นกุศล จะเป็นอย่างนี้หรือเปล่า หรือว่าการไม่พูดเลยเป็นสัมมาวาจาครับ

    สุ. ถ้าการไม่พูดเลยเป็นสัมมาวาจา โลกนี้เป็นสัมมาวาจาจะเป็นอย่างไรเงียบ ไม่มีอะไรเลยอย่างนั้นหรือ แม้แต่พระผู้มีพระภาคก็ไม่ทรงแสดงธรรม พระภิกษุสาวกทั้งหลายก็ไม่พูด ไม่มีการสวดพระวินัย ไม่มีการศึกษา แล้วจะโปรดสัตว์โดยการแสดงธรรมที่จะเป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่นได้อย่างไร ถ้าเป็นสัมมาวาจาในลักษณะที่ว่าไม่พูดจึงจะเป็นสัมมาวาจา พระพุทธศาสนาคงจะไม่เป็นประโยชน์อะไร

    ถ้าท่านดูในพระวินัยบัญญัติ พระภิกษุท่านพูดกันหรือเปล่า ท่านเป็นผู้ที่ละอาคารบ้านเรือนเพื่อที่จะได้อบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ ในเพศของบรรพชิต และผู้ที่ออกบรรพชาอุปสมบทเป็นบรรพชิตแล้วก็ยังพูด แม้ว่าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานเจริญมรรคมีองค์ ๘ ในเพศของบรรพชิต

    ในพระวินัยปิฎก ท่านพระทัพพมัลลบุตร ผู้เป็นเอตทัคคะในการจัดเสนาสนะก็ยังจัดเสนาสนะไว้ส่วนหนึ่งสำหรับภิกษุที่ชอบดิรัจฉานกถา ใครจะห้ามได้ในเมื่อกิเลสยังมี การกระทำทางกาย ทางวาจาทั้งหมดเป็นเครื่องสะท้อนให้รู้ว่าจิตขณะนั้นเป็นอย่างไร และมีการสะสมของกิเลสอกุศลแต่ละบุคคลมากน้อยเท่าไร เมื่ออกุศลยังมีกำลังแรงอยู่ ก็เป็นเหตุให้กายทุจริตเกิดขึ้น วจีทุจริตเกิดขึ้น แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมแก่พระภิกษุให้เป็นผู้ที่พูดน้อย ไม่ใช่ว่าไม่ให้พูด ซึ่งการพูดน้อย ก็พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ และในเพศของบรรพชิตนั้น ก็ควรที่จะละความติด เยื่อใยในสิ่งที่ชาวโลกสนใจและกล่าวขวัญถึง เพราะเหตุว่าผู้นั้นเป็นบรรพชิตแล้ว

    อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต ทุจริตวรรคที่ ๓ มีข้อความว่า

    คำทุจริต หรือวจีทุจริต ก็คือ คำเท็จ ๑ คำส่อเสียด ๑ คำหยาบ ๑ คำเพ้อเจ้อ ๑

    ส่วนวจีสุจริตไม่ใช่ว่าไม่ให้พูด

    แต่วจีสุจริต ๔ คือ คำจริง ๑ คำไม่ส่อเสียด ๑ คำอ่อนหวาน ๑ คำพอประมาณ ๑

    ท่านลองสังเกตวาจาของท่านเอง คำพอประมาณ หรือว่าเกินประมาณ ล้อเล่นกัน ล้อเลียนกัน หยอกเย้ากันด้วยคำภาษาสำนวนต่างๆ เกินประมาณหรือไม่เกินประมาณ เพราะอกุศล เพราะกิเลสมากหรือน้อยอย่างไร แต่ผู้ที่เป็นบรรพชิตจะขัดเกลากิเลสจนถึงความเป็นพระอรหันต์นั้น ควรละวจีทุจริตที่เป็นคำเพ้อเจ้อด้วยการมีคำพูดพอประมาณ ไม่ใช่ว่าไม่ให้พูด แต่ให้พูดพอประมาณ

    ในพระไตรปิฎก พระสาวกไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบทูลอะไรหรือเปล่า หรือไปนั่งเฉยๆ กราบทูลถามถึงทุกข์สุขของพระองค์บ้าง หรือว่าเมื่อประสบสิ่งใดที่เกิดขึ้นในพระนคร ได้ยินพวกเดียรถีย์ปริพาชกกล่าวว่าอย่างไร ก็ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลเรื่องเหล่านั้นให้ทรงทราบ จะว่าเพ้อเจ้อหรือเปล่า เป็นคำพูดที่พอประมาณได้

    แม้จะเป็นเรื่องของบุรุษที่ถูกลงโทษล่ามโซ่ตรวนอยู่ในพระนคร ภิกษุเหล่านั้นก็ไปเฝ้า กราบทูลให้ทรงทราบ ไม่ใช่คำพูดเพ้อเจ้อ เป็นธรรมดา เป็นเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ แม้ว่าคำพูดอย่างเดียวกัน ถามถึงทุกข์สุขด้วยกัน แต่จิตของผู้ถามต่างกันได้ เล่าเรื่องหนึ่งเรื่องใดที่เกิดขึ้นให้บุคคลอื่นฟัง ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ท่านก็ระลึกรู้จิตของท่านได้ เป็นคำพูดที่พอประมาณ หรือเกินประมาณ หรือเกิดโลภะ หรือเกิดโทสะมากมายอย่างไร ผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานทราบ รู้ชัด จึงสามารถที่จะละ และขัดเกลากิเลสอกุศลได้ ซึ่งมีในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานหมวดที่ ๒ คือ จิตที่ปราศจากราคะ

    เรื่องของทานก็ได้กล่าวถึงแล้ว ทั้งปัตติทานและปัตตานุโมทนา สำหรับเรื่องศีลและเรื่องชีวิตของท่านเอง แต่ละบุคคลซึ่งเป็นปุถุชนที่หนาแน่นด้วยกิเลส การที่จะเป็นผู้ไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมโดยละเอียดตามความเป็นจริง ข้ามไปเสีย ไม่ระลึกรู้ชีวิตปกติซึ่งเป็นนามธรรมและรูปธรรม ไม่ใช่หนทางขัดเกลา ไม่ใช่หนทางเจริญความรู้ ไม่ใช่หนทางที่จะละและดับกิเลสได้

    สำหรับเรื่องของศีล เป็นเรื่องที่ละเอียดขึ้น ถึงแม้ว่าจะเป็นพุทธบริษัทที่มีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย แต่ถ้าท่านพิจารณา ตรวจสอบตัวของท่านเองจริงๆ ว่า ท่านเป็นผู้ที่มีศีลบริสุทธิ์มากน้อยเพียงไรหรือไม่ ท่านจะเห็นได้ว่า ยังต้องอาศัยการขัดเกลาอีกมากมายเหลือเกิน ทั้งทางกาย ทั้งทางวาจา

    อย่างทางกาย การฆ่ามนุษย์ ท่านอาจจะไม่ได้กระทำ หรือยังไม่ได้กระทำ ซึ่งก็แล้วแต่ว่า กิเลสทำให้มีความจำเป็น หรือว่ามีการกระทำเช่นนั้นเกิดขึ้นในการสงคราม หรืออะไรก็แล้วแต่ ก็เป็นเรื่องที่แล้วแต่เหตุปัจจัย เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล

    พ้นจากการฆ่ามนุษย์มาถึงสัตว์ใหญ่ ท่านก็คงพยายามที่จะละเว้นแล้ว มาถึงสัตว์เล็กสัตว์น้อยเป็นอย่างไร ศีลบริสุทธิ์สมบูรณ์หรือเปล่า เพราะว่าพระอริยเจ้าขั้นพระโสดาบันบุคคล ท่านเป็นผู้ที่ศีล ๕ บริสุทธิ์สมบูรณ์ครบถ้วนทีเดียว เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องจริง เป็นชีวิตจริง ที่เมื่อจะดับกิเลสจริงๆ ก็ต้องมั่นคงในการดับกิเลสด้วยการประพฤติปฏิบัติธรรมให้ยิ่งขึ้น แต่ถ้าขาดการเจริญสติปัฏฐานเสียแล้ว ไม่สามารถจะเป็นไปได้เลย สิ่งที่จะสมบูรณ์ก็สมบูรณ์ไม่ได้ ถ้าขาดการเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น ศีลและการเจริญสติปัฏฐานจึงเกี่ยวข้องกัน

    สำหรับศีล ขอกล่าวถึงข้อความในพระไตรปิฎก ซึ่งบางพระสูตรอาจจะยาว แต่คิดว่าจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้ฟังที่จะพิจารณา เพราะเหตุว่าธรรมนั้นละเอียด ถ้าท่านพิจารณาละเอียด ท่านก็จะเข้าใจสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริงละเอียดยิ่งขึ้น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๓๒ ตอนที่ ๓๑๑ – ๓๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 38
    28 ธ.ค. 2564