แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 315


    ครั้งที่ ๓๑๕


    ถ. ผมจะสมมติว่า ตัวผมเองขณะนี้ ที่ท่านมองเห็นอยู่นี้ ท่านก็บอกว่าเห็นคนกำลังยืนอยู่ กำลังพูดด้วย ผมขอให้ท่านลองย่อตัวของผมลงไปให้เล็กๆ กลับเข้าไปในท้องมารดาใหม่ เข้าไปๆ จนถึงเริ่มปฏิสนธิ เมื่อเริ่มปฏิสนธินั้น ก็เป็นจุดน้ำเล็กนิดเดียว ใสแจ๋ว เล็กน้อยเหลือเกิน ไม่มีนั่ง ไม่มีนอน ไม่มียืน ไม่มีเดิน ต่อมาสัก ๗ วัน จุดน้ำนั้นก็ค่อยๆ ขุ่นขึ้นอีกหน่อย ต่อมาอีก ๗ วัน ก็ค่อยๆ ข้นขึ้นมาอีกนิดหนึ่งและต่อมาอีกสัก ๗ วัน ก็เป็นก้อนเนื้อขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง เป็นก้อนขึ้นมา แม้เป็นก้อนขึ้นมาอย่างนั้น หรือแม้กระทั่งต่อมาอีก จนเกิดปุ่มขึ้นมา ๕ ปุ่ม ซึ่งเรียกกันว่า ปัญจสาขา ก็ยังไม่ปรากฏว่ามีนั่ง นอน ยืน เดินอยู่ที่นั่นเลย

    แต่ว่าต่อจากขณะปฏิสนธินั้น รูปซึ่งเกิดจากจิตที่เรียกว่ามีจิตเป็นปัจจัยนี้มีแล้วไม่ใช่ว่าไม่มี ทีนี้รูปต่างๆ นี้ที่อยู่ในท้องมารดาก็ค่อยๆ เจริญขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ก็แลเห็นเป็นสีธรรมดา ให้ใครๆ ดู ก็เป็นสีอย่างหนึ่ง หรือเป็นวัตถุอย่างหนึ่ง หรืออะไรอย่างหนึ่งก็สุดแล้วแต่ จนกระทั่งคลอดออกมาจากครรภ์มารดา

    เมื่อคลอดออกมาแล้ว ผู้เห็นบอกได้ทันทีว่า นี่คน ทำไมจึงเอาคนมาพูด เขาเห็นคน ความจริงเขาเห็นหรือเปล่า เขาเห็นแต่สิ่งที่เป็นสี แต่ว่าความจำของเขา จำได้ว่า อย่างนี้ที่เว้าๆ แหว่งๆ อย่างนี้ ชื่อว่าคน เมื่อคนมีขึ้นมาอย่างนั้น ท่าทางกิริยาอะไรต่างๆ ยกแขน แกว่งแขน ร้องไห้ ดีดดิ้น อะไรต่างๆ ปรากฏขึ้น ปรากฏเนื่องจากความเป็นคน ไม่ได้เนื่องจากความเป็นสี ถ้าเราจับตาดูจริงๆ ก็จะเป็นเช่นนั้น

    ก็เป็นที่รับรองทั่วกันแล้วว่า ที่จะเจริญสติปัฏฐานนั้น ต้องรู้แค่ปรมัตถ์เท่านั้น ไม่ใช่รู้ชื่ออะไรต่างๆ ซึ่งปรมัตถ์ก็มีรูป มีจิต มีเจตสิกมาประชุมรวมกันเข้า แล้วก็ทรงอยู่ ตั้งอยู่ ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง แล้วเราก็ตั้งชื่อให้ อย่างนี้เรียกว่า คน อย่างที่ผมได้เรียนแล้ว อย่างนี้เรียกว่าสัตว์ อย่างนี้เรียกว่าม้า เมื่อมีคน มีสัตว์ มีอัตตาขึ้นมาเช่นนั้น อิริยาบถต่างๆ ของสิ่งเหล่านี้ก็ตามมา

    แต่ที่พูดกันว่า รูปนั่งนี้ ถ้าพูดว่า นั่งอยู่นี้มีรูปอะไร ถ้าอย่างนี้ก็จะไม่มีใครสงสัยเลย ที่ท่านทั้งหลายนั่งอยู่นี้มีรูปอะไรบ้างปรากฏ ถ้าอย่างนี้ไม่มีใครสงสัย แต่ถ้าเอารูปนั่งเข้ามา ทุกคนก็จะต้องสงสัย ผมเองผมก็สงสัยมานานเต็มที แล้วก็ได้ซักไซ้ไล่เลียงกับท่านผู้ที่ใช้คำนี้กันมานาน ก็ไม่ได้ความแจ่มชัดอย่างไร ท่านก็บอกว่าท่าทางอย่างไรเล่า ท่านก็ว่าอย่างนี้ทุกที ผมก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร แต่ความเข้าใจของผมก็เข้าใจอย่างที่ท่านอาจารย์สุจินต์ท่านได้แยกแยะชี้แจงออกมา ชัดเจนทุกแง่ทุกมุมหมดแล้ว แม้กระนี้รูปนั่งก็ยังไม่หมดไปอีก

    ผมคิดว่าสักวันหนึ่ง หรือว่าในอนาคตอันใกล้นี้ คำว่ารูปนั่ง รูปนอน คงจะ ค่อยๆ จางหายไป กลายเป็นว่า ขณะที่นั่งอยู่นี้มีอะไรปรากฏให้รู้ มีลักษณะอะไรปรากฏให้รู้ได้ อาจจะรู้เห็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายก็สุดแล้วแต่ อะไรก็ได้ ก็นั่งอยู่อย่างนี้ ไม่ใช่ไปรู้รูปนั่ง รูปนั่งเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ เมื่อไม่รู้ก็เอาอาการที่ไม่รู้นี้ พยายามที่จะให้รู้ให้ได้ รู้ไม่ได้ เพราะไม่มี

    สุ. ท่านผู้ฟังก็ได้ฟังความคิดเห็นของท่านผู้ฟังที่พยายามจะให้เห็นความต่างกันของสิ่งที่ปรากฏทางตา กับการรู้ในความหมายของสิ่งที่ปรากฏ

    ดิฉันเข้าใจว่า เวลานี้ปัญหาอยู่ที่ว่า รูปนั่งคืออะไร เพราะท่านจะได้ยินบ่อย รูปนั่ง รูปนอน รูปยืน รูปเดิน ไม่มีใครปฏิเสธเลยว่า ที่กำลังนั่ง กำลังนอน กำลังยืนกำลังเดิน หรือว่าจะเป็นคลาน จะเป็นอะไรก็แล้วแต่ เป็นรูป ไม่ใช่นามธรรม เพราะว่านามธรรมเป็นสภาพรู้ แต่ว่ารูปอะไรที่กำลังนั่ง ความเข้าใจนี้จะต้องชัดเจนต่อไปอีก ไม่มีใครปฏิเสธเลยว่า ที่กำลังนั่งอยู่ จะเป็นสัตว์ จะเป็นคนที่กำลังนั่ง ทุกท่านก็ยอมรับ รู้ว่าที่เข้าใจว่าคนกำลังนั่งนั้นคือรูปธรรม เพราะฉะนั้น ที่กำลังนั่งอยู่นี้เป็นรูปจริง เป็นรูปหลายๆ รูป มีลักษณะต่างกันเป็นรูปต่างๆ ชนิดที่ประชุมรวมกันเมื่อประชุมรวมกันแล้ว ก็ต้องทรงอยู่ ตั้งอยู่ในอาการหนึ่งอาการใด ที่จะใช้คำสมมติเรียกรู้ให้เข้าใจกันว่า กำลังอยู่ในอาการนอน หรืออาการยืน หรืออาการนั่งก็ตามแต่และกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้น คือ การรู้กายตามความเป็นจริงว่า เป็นกายไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    รูปธรรมก็มีมากหลายอย่าง ทั้งหมดที่ทรงแสดงไว้ก็เป็น ๒๘ รูป เป็นรูปปรมัตถ์ แต่รูปที่มีสภาวะจริงๆ เฉพาะของตนมีเพียง ๑๘ รูป ส่วนอีก ๑๐ รูปเป็นอาการ หรือวิการของรูป ๑๘ รูปนั้น เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมโดยละเอียด ตรวจสอบกับความเป็นจริง จะทำให้ปัญญาที่รู้จริงเกิดขึ้นรู้สภาพธรรมนั้น ข้อสำคัญ สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ทั้งหมด ทางตาที่กำลังเห็น หรือว่ากำลังปรากฏให้เห็นทางตา ทางหูที่กำลังได้ยิน และเสียงที่ปรากฏให้รู้ได้ทางหูเหล่านี้ เป็นต้น เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นของจริงที่กำลังปรากฏ มีลักษณะจริงๆ ปรากฏให้รู้ ปัญญาสามารถที่จะรู้ความจริงของสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ ในเมื่อสิ่งต่างๆ เหล่านี้มีลักษณะจริงๆ กำลังปรากฏให้รู้ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วท่านจะไปรู้อื่นได้ไหม

    ถ. เรื่องของรูปนั่ง คงจะเข้าใจพอแล้ว แต่ท่านผู้เขียนจดหมายนั้น ท่านได้กล่าวถึงเรื่องจิตสั่ง ท่านเข้าใจว่า จิตนี้สั่งไม่ได้ แต่มีบรรยายกันอยู่มากเหมือนกันเรื่องจิตสั่งนี้ว่า ถ้าไม่สั่งแล้วรูปนี้จะเป็นอะไรไปได้ เพราะรูปนี้อยู่ในอำนาจของจิต อยู่ในปกครองของจิต ท่านก็อธิบายของท่านไป ทีนี้ก็มีเรื่องที่น่าใคร่ครวญอยู่ สมมติว่าจิตสั่ง กำลังเดินๆ แล้วไปสะดุดก้อนหินหกล้มไป นี่ไม่ใช่เจตนาของผมที่จะหกล้มแน่ๆ หรือใครๆ ก็ตาม เหมือนกันหมด ไม่ต้องการหกล้มเลย แต่ผมก็หกล้มลงไป คงจะเป็นจิตสั่งให้หกคะเมนลงไปเอาหน้ากระแทกหิน หรืออย่างไรก็ไม่ทราบ นี่ก็น่าสงสัยอยู่ ถ้าจิตสั่งอย่างนั้น จิตก็แย่เต็มที สั่งอะไรไม่เข้าท่าเสียเลย รู้สึกว่าจิตสั่งนี้คงจะมีอะไรแปลกๆ อยู่บ้างเหมือนกัน

    สุ. เรื่องของสภาพธรรมที่เป็นจริง เป็นเรื่องที่ละเอียด และเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าธรรมใดยังติดๆ ขัดๆ รู้สึกว่ายังไม่สมบูรณ์ด้วยเหตุผล ก็แสดงว่าธรรมนั้นไม่จริงเสียแล้ว

    รูปมีสมุฏฐาน ๔ คือ บางรูปมีกรรมเป็นสมุฏฐาน บางรูปมีจิตเป็นสมุฏฐาน บางรูปมีอุตุเป็นสมุฏฐาน บางรูปมีอาหารเป็นสมุฏฐาน จักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท เหล่านี้มีกรรมเป็นสมุฏฐาน และในขณะปฏิสนธิ กรรมเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดพร้อมกับกัมมชรูป ไม่มีผู้ใดที่จะสามารถสร้างรูปที่เกิดเพราะกรรมได้เลย แล้วแต่เป็นผลของกรรมอะไรที่จะให้รูปเกิดขึ้นในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จะเป็นรูปของสัตว์ดิรัจฉาน หรือรูปของมนุษย์ หรือรูปของเทพใดๆ ก็ตาม กรรมนั้นก็ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดพร้อมกับกัมมชรูปในปฏิสนธิขณะ พร้อมกันทันทีในอุปาทขณะ เพราะว่าจิตดวงหนึ่งๆ ขณะหนึ่งๆ นั้น มี ๓ ขณะย่อย หรือขณะเล็ก คือ อนุขณะ ในจิตขณะหนึ่งจะแบ่งเป็น ๓ ขณะเล็ก คือ อุปาทขณะ ขณะที่เกิดขึ้น ฐิติขณะ ขณะที่ยังไม่ดับ ภังคขณะ ขณะที่ดับ

    ผู้ที่ทรงตรัสรู้สภาพธรรมโดยตลอด ได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียดว่า รูปใดเกิดจากสมุฏฐานใด และเกิดขึ้นในขณะใด เช่น กัมมชรูปเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิตใน อุปาทขณะของปฏิสนธิจิต ซึ่งกรรมเป็นสมุฏฐาน เป็นปัจจัยให้รูปนั้นเกิดขึ้น เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว ปฐมภวังค์ที่สืบต่อจากปฏิสนธิจิต เป็นภวังคจิตดวงแรก มีรูปที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน เกิดพร้อมกับปฐมภวังค์ ในอุปาทขณะของปฐมภวังค์ คือทันทีที่จิตเกิด ก็เป็นปัจจัยให้รูปที่เกิดเพราะจิตเกิดพร้อมกันในอุปาทขณะ จิตจะทันสั่งอะไรไหม หรือว่าจิตดวงไหนจะไปสั่งให้รูปนั้นเกิด แต่ถ้ารู้ความจริง จะเห็นความเป็นอนัตตา แม้ว่าไม่อยากจะร้องไห้ แต่ว่าจิตประเภทนั้นเกิดขึ้นแล้ว เป็นสมุฏฐานให้รูปนั้นเกิดเพราะโทมนัสเวทนาขั้นนั้น นี่เป็นสมุฏฐาน แต่ไม่ใช่สั่ง ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ ถ้าท่านเข้าใจธรรมคลาดเคลื่อนไป ธรรมก็จะไม่สอดคล้องกัน และจะทำให้เกิดความสงสัยเคลือบแคลง เพราะเหตุว่าไม่สมบูรณ์ในเหตุในผล

    การเจริญกุศลมีทุกขั้นในพระพุทธศาสนา ทั้งขั้นของทาน ขั้นของศีล ขั้นของสมถภาวนา และขั้นของวิปัสสนา ซึ่งเป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน และถ้าท่านจะตรวจสอบในพระไตรปิฎก ไม่ว่าจะเป็นสูตรใด ข้อความใด ที่เกี่ยวกับสถานที่ที่สงบสงัดหลีกเร้นแล้ว ก็จะไม่พ้นจากเรื่องของฌาน

    ขอกล่าวถึง อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต อุปาลีสูตร ซึ่งมีข้อความว่า

    ครั้งนั้นแล ท่านพระอุบาลีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ปรารถนาเพื่อส้องเสพเสนาสนะ คือ ป่า และราวป่าอันสงัด

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อุบาลี เสนาสนะ คือ ป่าและราวป่าอันสงัด อยู่ลำบาก ทำความวิเวกได้ยาก ยากที่จะอภิรมย์ในการอยู่ผู้เดียว ป่าทั้งหลายเห็นจะนำใจของภิกษุผู้ไม่ได้สมาธิไปเสีย

    ดูกร อุบาลี ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราเมื่อไม่ได้สมาธิ จะส้องเสพเสนาสนะ คือ ป่าและราวป่าอันสงัด ผู้นั้นจำต้องหวังข้อนี้ คือ จักจมลง หรือจักฟุ้งซ่าน

    สำหรับฌานจิต หลายท่านบอกว่า คนนั้น คนนี้ บรรลุถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ เคลิ้มๆ ไป อะไรก็รู้สึกไม่แน่นอน กำลังอยู่ในระหว่างเคลิ้ม ก็เป็น เนวสัญญานาสัญญายตนะ แต่เรื่องของฌานจิตเป็นเรื่องที่ระงับอกุศลวิตก เพราะธรรมดาของผู้ที่ไม่ได้เจริญความสงบของจิต ในขณะที่เห็น ตรึกไปด้วยกามฉันทะความพอใจในสิ่งที่เห็น นี่เป็นเรื่องของผู้ที่รู้ตัวเอง รู้กิเลสของตนตามความเป็นจริง

    สำหรับฌานจิตที่จะเกิดได้นี้ เป็นเรื่องที่ยาก ไม่ใช่เรื่องที่ง่าย และคนในครั้งโน้น ก็เป็นผู้ที่สามารถที่จะอบรมเจริญทั้งสมถภาวนา ได้คุณวิเศษทางฝ่ายสมถภาวนาด้วย วิปัสสนาภาวนาด้วย ตรงตามความเป็นจริง

    ท่านผู้ฟังควรที่จะได้ทราบถึงความยากของการที่จะเจริญฌานจิต ใน มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ สมณทุณฑิกสูตร ซึ่งข้อความนี้ก็ได้เคยกล่าวถึงมาแล้ว แต่เพื่อที่จะชี้ให้ท่านผู้ฟังเห็นความยากของการอบรมเจริญสมถภาวนาที่จะบรรลุฌานจิต ก็ขอกล่าวถึงอีกครั้งหนึ่ง

    ใน สมณมุณฑิกสูตร มีข้อความว่า

    พระผู้มีพระภาคตรัสกับนายช่างไม้ชื่อปัญจกังคะว่า

    ดูกร นายช่างไม้ ก็ความดำริอันเป็นอกุศลเป็นไฉน

    ความดำรินี่เป็นนามธรรม คือ วิตก หรือวิตกเจตสิก

    ดูกร นายช่างไม้ ความดำริในกาม ความดำริในพยาบาท ความดำริในการเบียดเบียนเหล่านี้ เรากล่าวว่า ความดำริเป็นอกุศล

    ท่านผู้ฟังต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเอง วันนี้ดำริเป็นอกุศลเท่าไรแล้ว ถ้าไม่รู้ ก็ไม่ทราบความดำริ คือ วิตกเจตสิกที่เป็นอกุศล เกิดมากมายนับไม่ถ้วนแล้ว

    ข้อความต่อไป

    ก็ความดำริเป็นอกุศลนี้ มีอะไรเป็นสมุฏฐาน แม้สมุฏฐานแห่งความดำริเป็นอกุศลเหล่านั้น เรากล่าวแล้ว ก็ต้องกล่าวว่า มีสัญญาเป็นสมุฏฐาน

    สัญญาเป็นไฉน แม้สัญญาเล่าก็มีมาก หลายอย่าง มีประการต่างๆ

    สัญญาใดเป็นสัญญาในกาม เป็นสัญญาในพยาบาท เป็นสัญญาในการเบียดเบียน ความดำริเป็นอกุศล มีสัญญานี้เป็นสมุฏฐาน ก็ความดำริเป็นอกุศลเหล่านี้ดับลงหมดสิ้นในที่ไหน แม้ความดับแห่งความดำริเป็นอกุศลนั้น เราก็กล่าวแล้ว

    ดูกร นายช่างไม้ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติ และสุข เกิดแต่วิเวกอยู่ ซึ่งเป็นที่ดับหมดสิ้นแห่งความดำริเป็นอกุศล

    เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังที่เห็นว่า วิตกเจตสิกที่เกิดเป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รสโผฏฐัพพะ จะดับจริงๆ ไม่ให้เป็นอกุศลได้ ก็ต่อเมื่อบรรลุปฐมฌาน นั่นนัยหนึ่ง คือ นัยของการเจริญสมถภาวนา แต่ที่จะดับสนิทเป็นสมุจเฉท พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    ก็ผู้ปฏิบัติอย่างไร จึงจะชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความดับแห่งความดำริเป็นอกุศล

    ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ยังฉันทะให้เกิด พยายามปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งมั่น เพื่อมิให้อกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น เพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อยังกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เพื่อความตั้งมั่น เพื่อความไม่เลือนหายเพื่อความเจริญยิ่ง เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความเต็มเปี่ยมแห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว

    ดูกร นายช่างไม้ ผู้ปฏิบัติอย่างนี้แล ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความดับแห่งความดำริเป็นอกุศล

    ดับเป็นสมุจเฉท ไม่เกิดอีกเลย แต่อย่างฌานจิต พอสิ้นสุดวิถีของฌานจิต ไม่มีอะไรไปยับยั้งสภาพธรรมได้เลย เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะต้องเกิด ยังมีอกุศลอยู่ วิตกก็ตรึกไป จรดไปในอารมณ์ เป็นความดำริที่เป็นอกุศล แต่ถ้าจะดับจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าถ้าเกิดความพอใจขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางใจ หรือเกิดความไม่แช่มชื่นขึ้นเนื่องจากอารมณ์ที่ปรากฏและสติไม่เกิดขึ้นทันทีที่จะระลึกรู้ว่า ลักษณะนั้นก็เป็นแต่เพียงนามธรรมเท่านั้น จะละการยึดถือสภาพธรรมทั้งหมดว่าเป็นสัตว์ เป็นตัวตนได้ไหม ก็ไม่ได้ แต่ที่จะละได้ ก็เพราะสติเกิดขึ้นทันที เพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อยังกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เพื่อความตั้งมั่น เพื่อความไม่เลือนหาย เพื่อความเจริญยิ่ง เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความเต็มเปี่ยมแห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว

    ดูกร นายช่างไม้ ผู้ปฏิบัติอย่างนี้แล ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความดับแห่งความดำริเป็นอกุศล

    แต่เรื่องของการติด ติดละเอียดมากในนามธรรมและรูปธรรมทั้งปวงที่ยังไม่รู้แจ้งว่า เป็นแต่เพียงสภาพของนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น เพราะฉะนั้น แม้แต่ผู้ที่บรรลุปฐมฌาน รู้สภาพของจิตที่ประกอบด้วยเจตสิกในขณะนั้นว่า การจรดในอารมณ์ของสมถภาวนาเป็นสภาพของเจตสิกที่เป็นกุศลธรรม ที่เกิดกับจิตที่สงบขั้นสมาธิขั้นฌานจิต แต่ผู้ที่ยังเห็นโทษของวิตกเจตสิก ก็ต้องการที่จะละแม้วิตกเจตสิกที่เป็นกุศล เพราะฉะนั้น วิธีระงับแม้วิตกเจตสิกที่เป็นกุศลนั้น สำหรับผู้ที่รู้โดยการเจริญสมถภาวนา ก็เจริญสมาธิให้มั่นคงยิ่งขึ้น โดยฝึกหัดประคองจิตที่จะให้ระลึกรู้ในอารมณ์ซึ่งเป็นที่ตั้งของความสงบโดยไม่ต้องอาศัยการจรด คือ ไม่อาศัยวิตกเจตสิก ก็พยายามที่จะประคองจิต ฝึกหัดอบรมที่จะให้เป็นสภาพของจิตที่ประคองอยู่ในอารมณ์ ซึ่งทำให้จิตสงบ เป็นอัปปนาสมาธิ

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสมถภาวนานี้ ก็อบรมเจริญเพื่อที่จะให้บรรลุทุติยฌานซึ่งเป็นการดับวิตกเจตสิก เพราะแม้ในปฐมฌานจะเป็นกุศลก็จริง แต่ก็เป็นสิ่งที่ยังหยาบ เป็นสิ่งที่ควรละ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๓๒ ตอนที่ ๓๑๑ – ๓๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 38
    28 ธ.ค. 2564