แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 338


    ครั้งที่ ๓๓๘


    ข้อความต่อไป มีว่า

    ข้อว่า บุคคลนั้นย่อมเป็นอันได้แทงตลอดกิจนั้นแม้ด้วยทิฏฐิ ดังนี้

    ความว่า การแทงตลอดปัจจัยโดยที่สุดแม้ด้วยโลกียปัญญา ก็เป็นอันบุคคลนั้นแทงตลอดดีแล้ว

    ข้อความตอนนี้เป็นตอนที่สำคัญ ซึ่งจะช่วยให้ท่านที่เข้าใจการเจริญสติปัฏฐานคลาดเคลื่อนคิดว่า รู้เพียงบรรพเดียวหรือเฉพาะอิริยาบถบรรพเท่านั้นก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ได้เข้าใจเหตุผลต่อไปได้

    คำว่า โลกียปัญญา รวมถึงวิปัสสนาญาณด้วย เพราะว่าขณะใดที่โลกุตตรจิตไม่เกิด ปัญญาที่ไม่ได้เกิดร่วมกับโลกุตตรจิต เป็นโลกียปัญญาทั้งหมด เฉพาะปัญญาเจตสิกที่เกิดร่วมกับโลกุตตรจิตเท่านั้น ที่เป็นโลกุตตรปัญญา เพราะฉะนั้น การที่จะแทงตลอดสภาพธรรม ต้องอาศัยการรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นเป็นขั้นๆ

    ที่ว่า บุคคลนั้นย่อมเป็นอันได้แทงตลอดกิจนั้นแม้ด้วยทิฏฐิ ดังนี้ ความว่า การแทงตลอดปัจจัย คือ ไม่ใช่ว่า ขณะนี้เห็น ก็ไม่รู้ว่าเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้าโดยลักษณะนี้แล้ว จะไม่เป็นการละคลาย จะไม่ทำให้ปัญญาเจริญที่จะรู้แล้วละการยึดถือสภาพที่กำลังเห็นในขณะนี้ โดยรู้ความจริงว่า เป็นแต่เพียงสภาพรู้ที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุปัจจัย หรือในขณะที่ได้ยิน ก็เป็นแต่เพียงสภาพรู้ที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุปัจจัยเท่านั้น เพราะฉะนั้น การแทงตลอดปัจจัยของสภาพธรรมที่ปรากฏ ย่อมช่วยทำให้ปัญญารู้ยิ่งขึ้น และละคลายยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้จะเจริญโดยไม่รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏจริงๆ ไม่ได้

    ที่เป็นปัญญา ก็เพราะสติระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมตามปกติ ที่เป็นนามธรรม และรูปธรรมทั้งนั้น มีลักษณะจริงๆ ปรากฏ ไม่ต้องบิดเบือนลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เลย

    ถ้าปัญญาไม่สามารถจะรู้อย่างนี้ จะเจริญสติปัฏฐานกันทำไม จะมีประโยชน์อะไรที่วันหนึ่งๆ สติจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ถ้าปัญญาไม่สามารถที่จะประจักษ์ ไม่สามารถที่จะรู้ความจริง ก็ไม่ต้องเจริญสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าไม่มีประโยชน์อะไร

    เมื่อสภาพธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ผู้ที่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม เข้าใจลักษณะของสติ และรู้ว่าขณะใดที่สติเกิด สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้ และนามธรรมและรูปธรรมที่มีจริงก็ต่างกัน เพราะสติระลึกรู้ บ่อยๆ เนืองๆ จนชิน จนเป็นอุปนิสัย จนสามารถที่จะระลึกได้ รู้ทั่วในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมนั้น วันหนึ่งย่อมประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมได้ แต่ขอให้ทราบว่า ถ้าไม่มีการระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมให้ถูกต้องแล้ว จะไม่ทำให้ปัญญาเกิดขึ้นรู้ชัดในสภาพของธรรมที่กำลังปรากฏได้

    ข้อความต่อไปมีว่า

    จริงอยู่ ปัญญาของบุคคลนั้นย่อมทำศีลให้บริสุทธิ์ได้ เขาย่อมบรรลุคุณวิเศษได้ด้วยศีลที่ปัญญาทำให้บริสุทธิ์แล้ว

    ศีล คือความประพฤติทางกาย ทางวาจา จะบริสุทธิ์จากการยึดถือว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ก็ด้วยปัญญาที่รู้ชัดในสภาพธรรมนั้น ทำให้ศีลของบุคคลนั้น เป็นศีลที่บริสุทธิ์จากการยึดถือว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน และเมื่อปัญญาสมบูรณ์ขึ้น เขาย่อมบรรลุคุณวิเศษได้ด้วยศีลที่ปัญญาทำให้บริสุทธิ์แล้ว เพราะเหตุว่าความหมายของศีลวิสุทธินั้น ถึงขั้นอรหัตตมรรค ซึ่งเป็นการดับกิเลสและอกุศลทั้งปวงเป็นสมุจเฉท

    ข้อความต่อไปมีว่า

    สองบทว่า ธัมมโสโต นิพพหติ

    ได้แก่ วิปัสสนาญาณที่เป็นธรรมชาติแกล้วกล้าเป็นไปอยู่ ย่อมดับ ได้แก่ ย่อมยังบุคคลนั้นให้ถึงอริยภูมิ

    เมื่อระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมแล้วก็ดับ ระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรมแล้วก็ดับ อบรมจนกระทั่งเป็นอุปนิสัย เป็น วิปัสสนาญาณที่เป็นธรรมชาติแกล้วกล้า เป็นไปอยู่ ย่อมดับ ได้แก่ ย่อมยังบุคคลนั้นให้ถึงอริยภูมิ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    บทว่า ตทนันตรัง โก ชาเนยยะ

    ได้แก่ ใครเล่าจะรู้ข้อนั้น คือ เหตุนั้น

    บุคคลใดเป็นผู้ที่อบรมอุปนิสัย เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จนกระทั่งปัญญาคมกล้า และแทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงใครเล่าจะรู้ข้อนั้น คือ เหตุนั้น บุคคลอื่นจะรู้ได้ไหมว่า ขณะนี้ แทนที่จิตจะเป็นโลภะ โทสะ โมหะ ไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ แต่บุคคลที่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานเป็นอุปนิสัยจนปัญญาคมกล้าแกล้วกล้าแล้ว ในขณะที่สติระลึกรู้ ปัญญาก็แทงตลอดในสภาพธรรมนั้น ใครเล่าจะรู้ข้อนั้น คือ เหตุนั้นได้เพราะว่าเป็นปกติ เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ

    ซึ่งข้อนี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า

    ดูกร อานนท์ ก็มิคสาลาอุบาสิกาเป็นคนพาล ไม่ฉลาด เป็นคนบอด มีปัญญาทึบ เป็นอะไร และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอะไร ในญาณเครื่องกำหนด รู้ความยิ่งและความหย่อนแห่งอินทรีย์ของบุคคล

    ข้อความต่อไป เป็นบุคคลที่มีศีล ไม่ใช่บุคคลที่ทุศีล แต่มีประเภทต่างๆ กัน

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อานนท์ ก็บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีศีล แต่ไม่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งศีลของเขาตามความเป็นจริง บุคคลนั้นไม่ทำกิจแม้ด้วยการฟัง ไม่กระทำกิจแม้ด้วยความเป็นพหูสูต ไม่แทงตลอดแม้ด้วยทิฏฐิย่อมไม่ได้วิมุตติแม้อันเกิดในสมัย เมื่อตายไป เขาย่อมไปทางเสื่อม ไม่ไปทางเจริญย่อมถึงความเสื่อมอย่างเดียว ไม่ถึงความเจริญ

    ดูกร อานนท์ ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีศีล และรู้ชัดซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งศีลของเขาตามความเป็นจริง บุคคลนั้นกระทำกิจแม้ด้วยการฟัง กระทำกิจแม้ด้วยความเป็นพหูสูต แทงตลอดด้วยดีแม้ด้วยทิฏฐิ ย่อมได้วิมุตติแม้อันเกิดในสมัย เมื่อตายไป เขาย่อมไปทางเจริญ ไม่ไปทางเสื่อม ย่อมถึงความเจริญอย่างเดียว ไม่ถึงความเสื่อม

    ดูกร อานนท์ เราหรือผู้ที่เหมือนเรา พึงถือประมาณในบุคคลได้

    สำหรับท่านที่เห็นบุคคลใดเป็นผู้มีศีล ท่านก็อย่าเพิ่งตัดสินใจเชื่อง่ายๆ ว่าบุคคลนั้นจะเป็นพระอริยเจ้า เพราะเหตุว่าสำหรับบุคคลผู้มีศีล แต่ไม่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งศีลของเขาตามความเป็นจริง บุคคลนั้นไม่ทำกิจแม้ด้วยการฟัง จะรู้ว่าฟังหรือเปล่า ก็ด้วยการสนทนาธรรม ถ้าสนทนาธรรมเข้าใจกันถูกต้องในเรื่องของสภาพธรรม บุคคลนั้นก็เป็นผู้ที่ทำกิจด้วยการฟัง แต่ถ้าไม่สามารถที่จะสนทนากันในเรื่องของสภาพธรรมได้ บุคคลนั้นก็ ไม่กระทำกิจแม้ด้วยการฟัง ไม่กระทำกิจแม้ด้วยความเป็นพหูสูต ไม่แทงตลอดแม้ด้วยทิฏฐิ ย่อมไม่ได้วิมุตติแม้อันเกิดในสมัย นอกจากนั้น เมื่อตายไป เขาย่อมไปทางเสื่อม ไม่ไปทางเจริญ ย่อมถึงความเสื่อมอย่างเดียว ไม่ถึงความเจริญ

    สำหรับบุคคลต่อไป ก็เป็นชีวิตจริงๆ เป็นชีวิตของบางท่านที่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน และของบางท่านที่ไม่เจริญสติปัฏฐาน

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อานนท์ ก็บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีราคะกล้า ทั้งไม่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งราคะของเขาตามความเป็นจริงบุคคลนั้นไม่กระทำกิจแม้ด้วยการฟัง ไม่กระทำกิจแม้ด้วยความเป็นพหูสูต ฯลฯ

    ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีราคะกล้า แต่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งราคะของเขาตามความเป็นจริง บุคคลนั้นกระทำกิจแม้ด้วยการฟัง กระทำกิจแม้ด้วยความเป็นพหูสูต แทงตลอดด้วยดีแม้ด้วยทิฏฐิ ย่อมได้วิมุตติแม้อันเกิดในสมัย คือ ในกาลที่สมควรที่จะได้บรรลุธรรม เมื่อตายไป เขาย่อมไปทางเจริญ ไม่ไปทางเสื่อม ย่อมถึงความเจริญอย่างเดียว ไม่ถึงความเสื่อม

    ดูกร อานนท์ เราหรือผู้ที่เหมือนเรา พึงถือประมาณในบุคคลได้

    จะเห็นได้ว่า เป็นชีวิตจริงของท่าน หลายท่านที่เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ แล้ว รู้ตนเองว่าเป็นผู้ที่มีโลภะมาก จะหมดโลภะไปได้อย่างไร นอกจากจะเป็น พระอรหันต์ หรือว่าเป็นพระอนาคามี จึงจะไม่มีโลภะในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งวันหนึ่งๆ โลภะไม่น้อยเลย ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ตรงต่อตัวเองตามความเป็นจริง แม้ว่าบุคคลนั้น เป็นผู้ที่มีราคะกล้า แต่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งราคะของเขาตามความเป็นจริง บุคคลนั้นกระทำกิจแม้ด้วยการฟัง ไม่ใช่ให้ทำอย่างอื่นเลย นอกจากฟัง กระทำกิจแม้ด้วยความเป็นพหูสูต มีความพากเพียร ศึกษาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง แทงตลอดด้วยดีแม้ด้วยทิฏฐิ รู้ชัดในปัจจัย ในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ย่อมได้วิมุตติแม้อันเกิดในสมัย เมื่อเหตุสมควรแก่ผลเมื่อไร ผล คือ การรู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็เกิดขึ้น เมื่อตายไป เขาย่อมไปทางเจริญ ไม่ไปทางเสื่อม ย่อมถึงความเจริญอย่างเดียว ไม่ถึงความเสื่อม

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร อานนท์ เราหรือผู้ที่เหมือนเรา พึงถือประมาณในบุคคลได้ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าท่านเห็นบุคคลไหน ที่มีโลภะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และจะกล่าวว่า บุคคลนี้ไม่มีทางที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เป็นไปได้ไหม ถ้าบุคคลนั้นเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน เพราะความเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน บุคคลอื่นจึงไม่สามารถที่จะถือประมาณในบุคคลได้ว่า บุคคลนั้นจะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้า หรือไม่บรรลุ

    ส่วนบุคคลต่อไป เป็นผู้ที่มักโกรธ ข้อความโดยนัยเดียวกัน

    บุคคลต่อไป เป็นผู้ฟุ้งซ่าน ข้อความโดยนัยเดียวกัน

    ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อานนท์ ก็มิคสาลาอุบาสิกาเป็นคนพาล ไม่ฉลาด เป็นคนบอด มีปัญญาทึบ

    ถ้ามิคสาลาอุบาสิกาเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จะถือประมาณในบุคคลไหมว่า คนที่มีชีวิตปกติประจำวันนี้ ไม่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ผู้ที่ไม่ได้เป็น ผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานก็คิดว่า บุคคลผู้มีชีวิตปกติประจำวันและเจริญสติปัฏฐานนั้น ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่ถ้าผู้ใดรู้แจ้งอริยสัจธรรม จะไม่มีข้อสงสัยเลยว่า ผู้ที่มีชีวิตปกติประจำวันนี้แหละ สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ในเมื่อเหตุสมควรแก่ผล ในเมื่อเป็นผู้ที่มีการฟัง มีวิริยะ ศึกษา เป็นพหุสูต โดยการศึกษา รู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง จนสามารถที่จะแทงตลอดในสภาพธรรมนั้นด้วยทิฏฐิ คือ ด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

    ก็มิคสาลาอุบาสิกาเป็นพาล ไม่ฉลาด เป็นคนบอด มีปัญญาทึบ เป็นอะไร และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอะไร ในญาณเครื่องกำหนดรู้ ความยิ่งและหย่อนแห่งอินทรีย์ของบุคคล

    ดูกร อานนท์ บุคคล ๑๐ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก

    ดูกร อานนท์ บุรุษชื่อปุราณะเป็นผู้ประกอบด้วยศีลเช่นใด บุรุษชื่ออิสิทัตตะก็เป็นผู้ที่ประกอบด้วยศีลเช่นนั้น บุรุษชื่อปุราณะจะได้รู้แม้คติของบุรุษชื่ออิสิทัตตะก็หามิได้ บุรุษชื่ออิสิทัตตะเป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาเช่นใด บุรุษชื่อปุราณะก็เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาเช่นนั้น บุรุษชื่ออิสิทัตตะจะได้รู้แม้คติของบุรุษชื่อปุราณะก็หามิได้

    ดูกร อานนท์ คนทั้ง ๒ นี้ เลวกว่ากันด้วยองค์คุณคนละอย่าง ด้วยประการฉะนี้

    สภาพธรรมตามความเป็นจริงเป็นอย่างไร ก็ต้องเป็นจริงอย่างนั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นพระสกทาคามีบุคคลด้วยกันก็จริง แต่ผู้หนึ่งเป็นผู้ที่ครองเรือน อีกผู้หนึ่งเป็นผู้ที่ไม่ครองเรือน เพราะฉะนั้น ก็เลวกว่ากัน ต่ำกว่ากัน ด้วยคุณธรรมนั้น

    สำหรับเรื่องของศีล เป็นพื้นของกุศลทุกประการ เพราะว่ากุศลจิตเป็นจิตที่เว้นจากอกุศลกรรมบถ ๑๐ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นทาน ไม่ว่าจะเป็นศีล ไม่ว่าจะเป็นสมาธิ ไม่ว่าจะเป็นการเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งล้วนเป็นกุศล ก็ต้องเป็นสภาพของจิตที่เว้นจากอกุศลกรรมบถ ๑๐ ซึ่งก็เป็นศีลนั่นเอง

    ข้อความใน สัทธัมมปกาสินี อรรถกถา ปฏิสัมภิทามรรค สีลมยญาณ นิทเทส วรรณนา มีว่า

    ในคำว่า ผู้ยังไม่อุปสมบท คือ ผู้ที่ถึงความงามขึ้นด้วยศีลสัมปทา ด้วยสามารถสมาทานไม่เหลือ ชื่อว่าอุปสัมปันนะ ผู้มิใช่อุปสัมบัน ชื่อว่าอนุปสัมบัน. สำหรับอนุปสัมบันเหล่านั้น

    จะเห็นได้ว่า ผู้ที่เป็นอนุปสัมบัน คือ ผู้ที่ไม่ใช่ภิกษุนั้น ก็สามารถจะมีกาย วาจางามขึ้นได้ด้วยการสมาทาน รักษาศีล

    ขอให้ท่านดูความประพฤติทางกาย ทางวาจาของบุคคลที่ไม่ใช่ภิกษุก่อน กาย วาจาที่ไม่งามเป็นไปเพราะอกุศลจิต เป็นไปในอกุศลกรรมบถ ๑๐ ก็มี เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นปุถุชน ผู้ที่ไม่ใช่พระภิกษุ ย่อมสามารถงามขึ้นด้วยศีลทางกาย ทางวาจา จนกระทั่งสามารถที่จะงามยิ่งขึ้นด้วยการเป็นภิกษุ ผู้สมาทานศีลทั้งหมดในพระวินัยบัญญัติ ซึ่งเป็นปาติโมกขสังวรศีล

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ในคำว่า สิกขาบทมีที่สุด อธิบายว่า

    ที่ชื่อว่า สิกขา เพราะต้องศึกษา

    ที่ชื่อว่า ปท เพราะเป็นโกฏฐาส คือ เป็นส่วนๆ ที่จะต้องศึกษา หรือว่าจะต้องศึกษาเป็นส่วนๆ เป็นข้อๆ

    อธิบายว่า ส่วนที่ควรศึกษาทั้งหลาย จึงชื่อว่า สิกขาบท

    เพราะฉะนั้น ศีล หรือสิกขาบท ไม่ใช่เพียงทราบ แต่ว่าต้องศึกษา และคำว่าศึกษานี้ ไม่ใช่ศึกษาด้วยการฟัง แต่เป็นการศึกษาด้วยการประพฤติปฏิบัติตาม

    เพราะฉะนั้น สิกขาบท คือ ส่วนที่ควรศึกษาทั้งหลาย ควรประพฤติปฏิบัติตาม จึงเรียกว่า สิกขาบท

    ข้อความต่อไปมีว่า

    อีกอย่างหนึ่ง กุศลธรรมทั้งปวง ได้แก่สิกขา ได้แก่ศีล

    ซึ่งท่านจะเห็นจริงว่า ในขณะที่เป็นกุศลจิตนั้น ย่อมละเว้นจากทุจริตเพราะฉะนั้น กุศลธรรมทั้งปวงจึงได้แก่สิกขา คือ ได้แก่ศีลนั่นเอง อันผู้ตั้งอยู่ในศีลจะพึงบรรลุสูงๆ ขึ้นไป

    ชื่อว่า ปท เพราะเป็นที่ตั้งแห่งสิกขา คือ การปฏิบัติเหล่านั้น เพราะเหตุนั้นจึงเรียกว่า สิกขาบท เพราะเป็นบทแห่งสิกขาทั้งหลาย

    สำหรับปุถุชน ยังมีการล่วงศีล เพราะกำลังของกิเลส ที่ยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท และมีวัตถุ มีปัจจัยที่จะทำให้กิเลสนั้นมีกำลังแรงกล้าขึ้น ขณะนั้นก็ล่วงศีล เป็นทุจริตกรรมทางกาย ทางวาจา ซึ่งความจริงแล้ว ก็เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรมนั่นเอง แต่เพราะเหตุว่าเป็นนามธรรมฝ่ายอกุศลซึ่งมีกำลังแรงกล้าขึ้น เพราะฉะนั้น ก็เป็นเหตุให้กระทำกายทุจริต วจีทุจริต ซึ่งจะเห็นได้ว่า ปุถุชนที่ยังไม่ใช่พระอริยเจ้า ยังไม่สามารถที่จะมีศีล ๕ บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ครบถ้วน เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะได้ทราบว่า สิกขาบท หรือศีล ซึ่งมีที่สุด ชื่อว่าปริยันตสิกขาบท เป็นอย่างไร

    ข้อความใน สัทธัมมปกาสินี มีว่า

    สิกขาบทมีที่สุด ชื่อว่าปริยันตสิกขาบท แห่งปริยันตสิกขาบทเหล่านั้น

    ในข้อนี้ มีที่สุด ๒ อย่าง คือ มีสิกขาบทเป็นที่สุด และมีกาลเป็นที่สุด

    ก็เป็นเรื่องชีวิตประจำวันของท่านผู้ฟัง ท่านซึ่งมีศีล ศีลของท่านจะวิบัติ หรือ จะเป็นที่สุดไป เพราะสิกขาบท หรือเพราะกาล



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๓๔ ตอนที่ ๓๓๑ – ๓๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 38
    28 ธ.ค. 2564