แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 348


    ครั้งที่ ๓๔๘


    ข้อความต่อไปมีว่า

    ชนเหล่าใด เกิดในมนุษย์โลกแล้ว เมื่อพระตถาคตทรงประกาศสัทธรรม ไม่เข้าถึงขณะ ชนเหล่านั้น ชื่อว่าล่วงขณะ

    ชนเป็นอันมากกล่าวเวลาที่เสียไปว่า กระทำอันตรายแก่ตน พระตถาคตเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ในกาลบางครั้ง บางคราว การที่พระตถาคตเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ๑ การได้กำเนิดเป็นมนุษย์ ๑ การแสดงสัทธรรม ๑ ที่จะพร้อมกันเข้าได้ หายากในโลก

    ชนผู้ใคร่ต่อประโยชน์ จึงควรพยายามในกาลดังกล่าวมานั้น ที่ตนพอจะรู้ จะเข้าใจสัทธรรมได้ ขณะอย่าล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย เพราะบุคคลที่ปล่อยเวลาให้ล่วงไป พากันยัดเยียดในนรก ย่อมเศร้าโศกอยู่ หากเขาจะไม่สำเร็จอริยมรรค อันเป็นธรรมตรงต่อสัทธรรมในโลกนี้ได้ เขาผู้มีประโยชน์อันล่วงเสียแล้ว จักเดือดร้อนสิ้นกาลนาน เหมือนพ่อค้าผู้ปล่อยให้ประโยชน์ล่วงไป เดือดร้อนอยู่ ฉะนั้น

    คนผู้ถูกอวิชชาหุ้มห่อไว้ พรากจากสัทธรรม จักเสวยแต่สังสาร คือ ชาติ และมรณะสิ้นกาลนาน

    ส่วนชนเหล่าใด ได้อัตภาพเป็นมนุษย์แล้ว เมื่อพระตถาคตประกาศสัทธรรม ได้กระทำแล้ว จักกระทำ หรือกระทำอยู่ ตามพระดำรัสของพระศาสดา ชนเหล่านั้นชื่อว่าได้ประสพขณะ คือ การประพฤติพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยมในโลก

    ชนเหล่าใด ดำเนินไปตามมรรคาที่พระตถาคตเจ้าทรงประกาศแล้ว สำรวมในศีลสังวรที่พระตถาคตเจ้าผู้มีจักษุเป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ ทรงแสดงแล้ว คุ้มครองอินทรีย์ มีสติทุกเมื่อ ไม่ชุ่มด้วยกิเลส ตัดอนุสัยทั้งปวงอันแล่นไปตามกระแสบ่วงแห่งมาร ชนเหล่านั้นแล บรรลุความสิ้นอาสวะ ถึงฝั่ง คือ นิพพานในโลกแล้ว

    จบสูตรที่ ๙

    ทุกท่านกำลังอยู่ในขณะที่สามารถจะอบรมเจริญสติปัฏฐานได้ แต่ชาติต่อไป ไม่ทราบใช่ไหมว่าจะอยู่ในขณะ ในสมัยที่จะอบรมเจริญสติปัฏฐานได้หรือไม่ แต่ถ้าท่านเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ทั้งขั้นของทาน ศีล และการเจริญสติปัฏฐานด้วย ก็ย่อมเป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิดในสุคติภูมิ และ สามารถที่จะอยู่ในขณะ และสมัยที่จะอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ ต่อไปได้

    ปัญญาจะต้องเจริญอบรม จนกระทั่งเป็นความรู้ชัด และผลของการอบรมเจริญปัญญานั้น คือ ละคลายความไม่รู้ในสภาพธรรมที่ปรากฏเป็นปกติในชีวิตประจำวัน และเพิ่มความรู้ชัดขึ้นในลักษณะของสภาพธรรมที่สติกำลังระลึกรู้

    ถ. คำว่า สติ ถ้าจะแปลกันอย่างที่ท่านเจ้าคุณเทพ หรือที่ใครๆ เขาแปลกัน ที่ศึกษาเล่าเรียนกันมาก็ว่า ระลึกได้ทั้งนั้น แต่ท่านอาจารย์สุจินต์กล่าวว่า รู้สึกตัว ผมรู้สึกว่า ท่านอาจารย์จะขยายคำว่าสติ เพื่อต้องการให้ท่านผู้ฟังเข้าใจชัดเจนขึ้น จึงใช้คำว่า รู้สึกตัวแทน

    ที่จริงคำว่า รู้สึกตัว มีอีกคำหนึ่ง เช่น สัมปชัญญะ ใช้ว่ารู้สึกตัวก็ได้ หรือใช้ว่ารู้ตัวก็ได้ สัมปชัญญะเป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่งซึ่งเป็นปัญญา แต่ถ้าไปใช้คำนั้น ก็จะเข้าใจคลาดเคลื่อนเป็นปัญญาไปอีก ท่านก็เลยขยายคำว่าสติ ว่ารู้สึกตัว รู้สึกตัว ก็คือสตินั่นเอง แต่มีวิธีอธิบายให้ท่านผู้ฟังเข้าใจชัดเจนขึ้น แต่ไม่ใช่แปลว่า รู้สึกตัว

    คำว่ารู้สึกตัวนี้ ใครๆ ก็รู้สึกได้ คนที่ไปจับน้ำร้อนก็รู้สึกไม่ใช่ไม่รู้สึก แต่รู้สึกอย่างนี้เป็นสติหรือเปล่า ก็เป็นปัญหาที่จะต้องใคร่ครวญ ถ้าเป็นสติ ก็ต้องรู้จักว่าเป็นอย่างไร รู้จักในฐานะเป็นรูป เป็นนาม อย่างนั้นจึงจะเรียกว่าเจริญสติ แต่ถ้ารู้เพียงว่าร้อนก็ร้อน เย็นก็เย็น ถ้าอย่างนี้ ใครๆ ก็รู้ ที่ผมนำมาเรียนท่าน ก็ไม่ใช่จะมีเรื่องอะไรเพียงแต่ว่า การนำพยัญชนะต่างๆ ของพระพุทธพจน์มาอธิบายกัน เพื่อที่จะให้ผู้ฟังได้เข้าใจ ได้ซาบซึ้ง ได้เจริญสติ ให้มีความหลุดพ้นเกิดขึ้น

    อย่างไรก็ตาม ถ้าท่านผู้ฟังเข้าใจเรื่องของสติ ใช้คำว่าสติ และไม่เข้าใจไปในทางโลก ก็ใช้คำว่า สติ ดีที่สุด

    ใช้คำว่ารู้สึกตัว หรืออะไรต่ออะไรต่างๆ นี้ หรือว่าจะระลึกได้ ความจริงแปลออกมาแล้ว ถ้าท่านเข้าใจ ก็เป็นประโยชน์มหาศาล แต่ท่านก็ถามอีกว่า สติเป็นอย่างไร ก็ต้องอธิบายกันอยู่อย่างนี้ สติเป็นอย่างไร ท่านก็อธิบายมากมาย คือ การอธิบายรูปศัพท์มากๆ เข้า

    ได้ยินมาอีกต่อหนึ่งว่า อาจารย์สุจินต์ พยายามยัดเยียดปริยัติให้เป็น สติปัฏฐานให้ได้ ว่ามาอย่างนี้ เป็นเรื่องที่สับสนอลหม่านกันพิลึก ถ้าไม่มีปริยัติแล้วแล้ว ใครล่ะจะเป็นผู้เจริญสติ หรือเจริญวิปัสสนาให้รู้ว่าอะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม ก็อาศัยปริยัตินี่เอง ถ้าอาจารย์ไม่เอาปริยัติมาใช้แล้วจะเจริญสติกันอย่างไร ก็ไม่รู้อีกแม้พระพุทธองค์เอง ท่านก็ต้องใช้ปริยัติมาอธิบายความหมายต่างๆ

    สุ. เรื่องของพยัญชนะเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก ในการที่จะให้ท่านได้รู้ถึงอรรถ หรือสภาพธรรมด้วยคำเพียงคำเดียว อย่างคำว่า สติ ภาษาไทยก็มี สติ ทุ กคนก็พูดแต่ถ้าถามท่านว่า สติเป็นอย่างไร บางท่านอาจจะตอบไม่ได้ คล้ายๆ กับว่า ก็เข้าใจกันอยู่แล้วว่าสติเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น ก็ดูเหมือนว่าไม่สงสัย

    แต่เวลาที่เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาซึ่งเป็นสติปัฏฐาน ที่จะให้ท่านผู้ฟังได้เข้าใจความหมายของสติปัฏฐาน คือ สภาพธรรมที่ไม่หลงลืม เพราะรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่า ลักษณะของสภาพธรรมมี สองอย่าง คือ สภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้ เป็นนามธรรมอย่างหนึ่ง และสภาพธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้ เป็นรูปธรรมอีกอย่างหนึ่ง เวลานี้มีทั้งนามธรรมและรูปธรรมเกิดขึ้นสืบต่อปรากฏให้รู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่เวลาที่พูดถึงเรื่องสติระลึกรู้ที่กาย ที่เวทนา ที่จิต ที่ธรรม เพียงพูดสั้นๆ อย่างนี้ บางท่านไม่ทราบว่า สติระลึกรู้ลักษณะของกาย ของเวทนา ของจิต ของธรรมนั้น คืออย่างไร ขณะไหน

    ทั้งๆ ที่ท่านก็ทราบคำว่าสติ เคยได้ยินได้ฟังบ่อยๆ แต่เวลาที่เป็นสติ ที่เป็นไปในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม หลายท่านไม่เข้าใจในอรรถว่า ขณะไหนมีสติ ขณะไหนหลงลืมสติ ด้วยเหตุนี้ จึงได้ใช้คำพูด หรือพยัญชนะหลายๆ คำ เพื่อเกื้อกูลให้ท่านได้พิจารณา ได้เข้าใจถึงอรรถของความหมายของสติ โดยเฉพาะที่เป็นสติปัฏฐาน คือ ขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ถ้าพูดอย่างนี้ ท่านยังไม่เข้าใจอีก ท่านอาจจะระลึกยาวมากเหลือเกิน เช่น ระลึกเป็นถ้อยคำ หรือเป็นคำพูดว่า ขณะที่กำลังเห็นเป็นสภาพรู้ทางตา บางท่านระลึกอย่างนี้ ระลึกไปเรื่อย เวลาโกรธก็ระลึกขึ้นมาได้ว่า ขณะที่โกรธ สภาพโกรธนั้นก็เป็นสภาพที่รู้ เป็นสภาพที่หยาบกระด้าง คือ ท่านเอาปริยัติที่ท่านได้ศึกษา ระลึกขึ้นในถ้อยคำนั้น ในขณะที่สภาพนั้นกำลังปรากฏ แต่นั่นยังไม่ใช่สติปัฏฐาน

    ถ้าเป็นสติปัฏฐาน หมายความว่า ขณะนั้นไม่หลงลืม และกำลังรู้ในลักษณะที่เป็นนามธรรมที่เป็นสภาพรู้ และรู้ด้วยว่าขณะนั้นเป็นสภาพรู้ เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นเป็นสติปัฏฐาน ซึ่งบางครั้งใช้คำว่ารู้สึกตัว สำหรับบางท่านที่เข้าใจความหมายของคำว่ารู้สึกตัว ว่าคือ ขณะที่นั่ง นอน ยืน เดิน พูด นิ่ง คิด ระลึกได้ ซึ่งไม่ใช่ระลึกเป็นคำพูด แต่หมายความว่า รู้สึกตัว รู้ พิจารณาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    และบางทีถ้าใช้คำว่าพิจารณา บางท่านก็เคยชินกับการพิจารณาเป็นถ้อยคำเป็นเรื่องยาว ๆ ท่านก็พิจารณาอีกว่า สภาพรู้เป็นนามธรรม สภาพที่ไม่รู้เป็นรูปธรรมนี่เป็นเรื่องของชื่อ เป็นเรื่องของคำ แต่ไม่ใช่สติปัฏฐานที่กำลังรู้ตรงลักษณะที่เป็นสภาพรู้ หรือว่ารู้ตรงลักษณะของสิ่งที่ปรากฏที่ไม่ใช่สภาพรู้

    เพราะฉะนั้น จึงต้องใช้พยัญชนะ และพยายามใช้คำหลายๆ คำ ที่จะช่วยให้ท่านผู้ฟังได้เข้าใจลักษณะของสติ และก็รู้ด้วยตัวของท่านเองว่า ขณะใดสติเกิด ไม่หลงลืม และกำลังรู้ลักษณะของสภาพนามธรรม หรือรูปธรรมที่กำลังปรากฏ

    และถ้าท่านสามารถเข้าใจลักษณะของสติ ขณะที่มีสติ และขณะที่หลงลืมสติได้ถูกต้อง ท่านจะใช้คำอะไร หรือไม่ใช้คำอะไรก็ได้ เพียงแต่ว่า ให้รู้อรรถของสติ รู้ลักษณะของสติ และก็รู้ว่า ขณะไหนมีสติ ขณะไหนหลงลืมสติ ขณะไหนเป็นสติปัฏฐาน ก็ต้องทราบด้วย เพราะเหตุว่าถ้าเป็นสติปัฏฐานแล้ว จะต้องรู้ในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม

    สำหรับเรื่องของปริยัติกับปฏิบัติ มีท่านที่ได้ยินมาว่า ดิฉันพยายามที่จะรีดปริยัติให้ออกมาเป็นปฏิบัติ ท่านใช้คำนี้

    เรื่องของสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดง เป็นของจริงที่กำลังปรากฏ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นสภาพธรรมที่ละเอียดและลึกซึ้ง ที่เกิดดับสืบต่อปรากฏ แล้วก็หมดไป และสภาพธรรมแต่ละขณะที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เป็นสภาพธรรมที่วิจิตรตามเหตุตามปัจจัย

    ถ้าสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมเหล่านั้น จะประจักษ์ว่า สภาพธรรมแต่ละขณะที่เกิดขึ้นนั้น ต่างกันตามปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้น แต่ตราบใดที่สติไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึกรู้ว่า ขณะนั้น สภาพนั้นเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม จะไม่ประจักษ์ถึงความละเอียด ความลึกซึ้งของสภาพธรรมที่เป็นของจริง และเกิดดับอยู่ แม้ในขณะนี้ได้เลย

    การประพฤติปฏิบัติธรรม ก็เพื่อที่จะได้รู้ชัดในสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงว่า เป็นสภาพธรรมอย่างนั้นจริงๆ ซึ่งแม้ว่าเป็นของที่ละเอียดและลึกซึ้ง แต่เมื่อเป็นความจริง ผู้ที่จะรู้แจ้ง รู้ชัดในสภาพธรรมนั้น ก็จะต้องรู้ตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ด้วย

    เพราะฉะนั้น ถ้าการปฏิบัติของท่านผู้ใดไม่ตรงกับปริยัติ หรือว่าความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติไม่ตรงกับปริยัติ นั่นไม่ใช่ปัญญาที่แท้จริง ไม่สามารถที่จะทำให้ท่าน ละคลายความไม่รู้ และการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้

    แต่ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน มีอะไรไหมที่จะต่าง หรือผิดจาก พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของนามธรรม หรือรูปธรรมก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพียงแต่ว่า ปัญญาของท่านได้อบรมเจริญสมบูรณ์ ถึงกับจะแทงตลอดประจักษ์ในความเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาคและพระอริยสาวกได้ประจักษ์แล้วหรือยังเท่านั้น

    แต่ไม่ว่าสติจะระลึกรู้นามธรรมใด รูปธรรมใด ไม่ผิดจากปริยัติธรรมที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้เลย

    เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมต้องตรงกับปริยัติที่ได้ศึกษาแล้วด้วย ถ้าผิด หรือคลาดเคลื่อน จะถูกได้อย่างไร ถ้าท่านผู้ใดปฏิบัติแล้ว ความรู้ของท่านไม่ตรงกับปริยัติที่ได้ศึกษามา ท่านจะถือว่าถูกไหม อย่าลืม มิจฉาญาณ ความรู้ผิดมี มิจฉาวิมุตติมี

    พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดง เป็นขณะ และเป็นสมัย ที่ยากที่จะมีได้ ถ้าบังเอิญบุคคลหนึ่งบุคคลใดเกิดในนรก เป็นเปรต เป็นสัตว์ดิรัจฉานในอบายภูมิ ซึ่งไม่สามารถที่จะฟังเข้าใจในอรรถ ในธรรม ไม่สามารถที่จะอบรมเจริญปัญญาให้รู้ชัดในสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ ขณะนั้นก็เป็นที่น่าเสียดาย ที่ไม่ใช่ขณะ ไม่ใช่สมัยในการที่จะได้อบรมธรรม ซึ่งการที่จะรู้ธรรมก็เป็นเรื่องที่ยาก และละเอียดจริงๆ เพราะเหตุว่าเป็นการรู้สภาพของจริง ความจริง ตามปกติตามธรรมดาในขณะนี้นั่นเอง

    ซึ่งใน อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ปุณณิยสูตร มีข้อความให้ท่านได้พิจารณาว่า การปฏิบัติของท่านนั้นควรจะตรงกับปริยัติอย่างไรบ้าง

    ข้อความมีว่า

    ครั้งนั้นแล ท่านพระปุณณิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัย ที่บางครั้งพระธรรมเทศนากะพระตถาคตแจ่มแจ้ง บางครั้งไม่แจ่มแจ้ง

    ท่านผู้ฟังเองก็คงจะเป็นอย่างนี้ใช่ไหม เวลาที่ฟังธรรม บางครั้งรู้สึกว่าเข้าใจดี ชัดเจนแจ่มแจ้ง แต่ว่าบางครั้ง ก็ไม่เข้าใจชัดเจนแจ่มแจ้ง

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

    ดูกร ปุณณิยะ ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา แต่ไม่เข้าไปหาเพียงใด ธรรมเทศนาของ

    ตถาคตย่อมไม่แจ่มแจ้งเพียงนั้น แต่เมื่อใด ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธาและเข้าไปหา เมื่อนั้นธรรมเทศนาของตถาคตย่อมแจ่มแจ้ง

    การเข้าไปหา ในที่นี้หมายความถึงการฟังธรรม ไม่ใช่เข้าไปหาเฉยๆ แต่เพื่อฟังธรรม เพื่อสนทนาธรรม เพื่อเสพธรรมที่ได้ยินได้ฟังนั้น เพราะถ้าฟังเพียงครั้งเดียว ลืมไปแล้วบ้าง หรือว่ามีเรื่องอื่นที่เป็นที่สนใจ ทำให้ไม่ระลึกถึงธรรมที่ได้ยินได้ฟังบ้าง ซึ่งการที่จะให้มีความเข้าใจละเอียดชัดเจนนั้น ต้องอาศัยการเสพให้คุ้น คือ ฟังบ่อยๆ ด้วยเหตุนี้ ถึงแม้ว่าท่านจะเป็นผู้ที่มีศรัทธาแล้ว ก็ไม่ควรจะขาดการเข้าไปหา ซึ่งหมายความถึงการเสพคุ้น การฟังบ่อยๆ นั่นเอง

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    ดูกร ปุณณิยะ ภิกษุผู้มีศรัทธา และเข้าไปหา แต่ไม่เข้าไปนั่งใกล้เพียงใด ธรรมเทศนาของตถาคตย่อมไม่แจ่มแจ้งเพียงนั้น แต่เมื่อใด ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา เข้าไปหา และเข้าไปนั่งใกล้ เมื่อนั้น ธรรมเทศนาของตถาคตย่อมแจ่มแจ้ง

    ถึงแม้ว่าจะมีศรัทธา เข้าไปหาแล้ว ก็เข้าไปนั่งใกล้ เพื่อที่จะได้ยินได้ฟัง ชัดเจน แจ่มแจ้งในความละเอียดของธรรมนั้นๆ ด้วย

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ปุณณิยะ ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา เข้าไปหา เข้าไปนั่งใกล้ แต่ไม่สอบถาม

    เพียงใด ธรรมเทศนาของตถาคตย่อมไม่แจ่มแจ้งเพียงนั้น แต่เมื่อใด ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา เข้าไปหา เข้าไปนั่งใกล้ และสอบถาม เมื่อนั้น ธรรมเทศนาของตถาคตย่อมแจ่มแจ้ง

    เพียงแต่ฟังก็ไม่พอ ถ้าจะมีอะไรที่ข้องใจหรือสงสัย ก็ควรที่จะได้ถาม เพื่อให้หายความสงสัย ให้หายความข้องใจ เพื่อที่จะได้รู้ชัดในความละเอียดแยบคายของธรรมยิ่งขึ้นด้วย

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ปุณณิยะ ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา เข้าไปหา เข้าไปนั่งใกล้ แล้วสอบถาม แต่ไม่เงี่ยโสตลงสดับธรรมเพียงใด ธรรมเทศนาของตถาคตย่อมไม่แจ่มแจ้งเพียงนั้น แต่เมื่อใด ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา เข้าไปหา เข้าไปนั่งใกล้ สอบถาม และเงี่ยโสตลงสดับธรรม แต่ฟังธรรมแล้วไม่ทรงจำไว้เพียงใด ธรรมเทศนาของตถาคตย่อมไม่แจ่มแจ้งเพียงนั้น แต่เมื่อใดภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา เข้าไปหา เข้าไปนั่งใกล้ สอบถาม เงี่ยโสตลงสดับธรรม และฟังแล้วทรงจำไว้ เมื่อนั้น ธรรมเทศนาของตถาคตย่อมแจ่มแจ้ง

    ถ้าท่านฟัง และทรงจำข้อความที่ท่านได้ฟังไว้ได้มาก ก็จะเป็นเหตุให้ท่านสามารถที่จะเข้าใจในสภาพธรรมนั้นได้ชัดเจน แต่ถ้าฟังและสอบถาม แต่ว่าไม่ทรงจำสิ่งที่ได้สอบถามและเข้าใจไว้ ภายหลังย่อมหลงลืม และไม่เข้าใจชัดในสภาพธรรมนั้น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๓๕ ตอนที่ ๓๔๑ – ๓๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 38
    28 ธ.ค. 2564