แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 333


    ครั้งที่ ๓๓๓


    ขอกล่าวถึง สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค โยธาชีวสูตร มีข้อความว่า

    ครั้งนั้นแล นายบ้านนักรบอาชีพเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับคำของนักรบอาชีพทั้งอาจารย์และปาจารย์ก่อนๆ กล่าวกันอย่างนี้ว่า นักรบอาชีพคนใดอุตสาหะพยายามในสงคราม คนอื่นฆ่าผู้นั้นซึ่งกำลังอุตสาหะพยายามให้ถึงความตาย ผู้นั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาเหล่าสรชิต ในข้อนี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่าอย่างไร

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    อย่าเลยนายบ้าน ขอพักข้อนี้ซะเถิด อย่าถามข้อนี้กับเราเลย

    แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๓ นายบ้านนักรบอาชีพได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับคำของนักรบอาชีพทั้งอาจารย์และปาจารย์ก่อนๆ ว่า นักรบอาชีพคนใดอุตสาหะพยายามในสงคราม คนอื่นฆ่าผู้นั้นซึ่งกำลังอุตสาหะพยายามให้ถึงความตาย ผู้นั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาเหล่าสรชิต ในข้อนี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่าอย่างไร

    ท่านทราบคำตอบแล้วใช่ไหม อกุศลก็ต้องเป็นอกุศล จะเป็นกุศลไม่ได้

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร นายบ้าน เราห้ามท่านไม่ได้แล้วว่า อย่าเลยนายบ้าน ของดข้อนี้เสียเถิดท่านอย่าถามเราถึงข้อนี้เลย แต่เราจักพยากรณ์ให้ท่าน

    ดูกร นายบ้าน นักรบอาชีพคนใดอุตสาหะพยายามในสงคราม ผู้นั้นยึดหน่วงจิตกระทำไว้ไม่ดี ตั้งจิตไว้ไม่ดีก่อนว่า สัตว์เหล่านี้จงถูกฆ่า จงถูกแทง จงขาดสูญ จงพินาศ หรือว่าอย่าได้มี คนอื่นฆ่าผู้นั้นซึ่งกำลังอุตสาหะพยายามให้ถึงความตาย ผู้นั้นเมื่อตายไป ย่อมเกิดในนรกชื่อสรชิต

    ก็ถ้าเขามีความเห็นอย่างนี้ว่า นักรบอาชีพคนใดอุตสาหะพยายามในสงครามคนอื่นฆ่าผู้นั้นซึ่งกำลังอุตสาหะพยายามให้ถึงความตาย ผู้นั้นเมื่อตายไป ย่อมถึงความเป็นสหายของเทวดาเหล่าสรชิต ดังนี้ไซร้ ความเห็นของผู้นั้น เป็นความเห็นผิด

    ดูกร นายบ้าน ก็เราย่อมกล่าวคติ ๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ นรก หรือกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานของบุคคลผู้มีความเห็นผิด

    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว นายบ้านนักรบอาชีพร้องไห้ สะอื้น น้ำตาไหล

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร นายบ้าน เราได้ห้ามท่านแล้วมิใช่หรือว่า อย่าเลยนายบ้าน ของดข้อนี้เสียเถิด อย่าถามเราถึงข้อนี้เลย

    เขาทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่ได้ร้องไห้ถึงข้อที่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอย่างนี้แก่ข้าพระองค์หรอก แต่ว่าข้าพระองค์ถูกนักรบอาชีพทั้งอาจารย์และปาจารย์ก่อนๆ ล่อลวงให้หลงสิ้นกาลนานว่า นักรบอาชีพคนใดอุตสาหะพยายามในสงครามคนอื่นฆ่าผู้นั้นซึ่งกำลังอุตสาหะพยายามให้ถึงความตาย นักรบอาชีพคนนั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาเหล่าสรชิต ดังนี้

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระธรรมเทศนาของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระธรรมเทศนาของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ดุจหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางให้แก่คนหลงทาง หรือส่องไฟในที่มืดด้วยหวังว่า คนมีจักษุจักได้เห็นรูป ฉะนั้น

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาค กับทั้งพระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะจนตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

    ถ. นักรบผู้นั้นถูกล่อลวงให้หลงไป ไม่ได้เป็นเจตนาที่แท้จริงของนักรบผู้นั้นแต่ถูกล่อลวงให้หลงไป จึงทำการฆ่า การถูกล่อลวงให้หลงไปและไปทำการฆ่านี้ เจตนาที่ฆ่านี้ต่างกัน หรือว่าหย่อนยิ่งกว่ากันประการใด

    สุ. สภาพของจิตเกิดดับ สืบต่อกันอย่างรวดเร็ว แต่ละขณะก็ต่างกันไปตามเหตุปัจจัย สำหรับความยิ่งหย่อน แรงกล้าของการฆ่านั้น ก็ต้องแล้วแต่เจตนาแล้วแต่ความเพียร แล้วแต่วัตถุที่ถูกฆ่าว่า เป็นวัตถุที่มีคุณมากหรือมีคุณน้อย กิเลสแรงกล้าหรือไม่แรงกล้า มีเจตนา มีความเพียรมากน้อยยิ่งหย่อนอย่างไร นั่นเป็นเครื่องประกอบของกรรม ที่ทำให้เกิดความวิจิตรของบุคคลที่ฆ่าต่างๆ กันไป

    ท่านผู้ฟังกล่าวว่า เรื่องนี้คล้ายๆ กับเรื่องขององคุลีมาลมาก เพราะเหตุว่าองคุลีมาลก็ถูกล่อลวงให้หลงผิดเหมือนกัน และก็มีการฆ่าเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ยังมีความเห็นผิดแล้วฆ่า ก็เป็นอกุศลกรรมทั้งสิ้น

    บุคคลใดที่ไม่เคยฆ่าเลย มีไหมในวัฏฏะสงสารนี้ ไม่มี เพราะฉะนั้น ปัจจุบันชาตินี้ ย่อมได้รับทั้งกุศลวิบาก ซึ่งเป็นผลของกุศลกรรม และอกุศลวิบาก ซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรม

    แต่แม้ว่าท่านจะเคยทำอกุศลกรรม หรือว่ามีความเห็นผิดประการใดมาก่อนก็ตาม เมื่อมีความเห็นถูกเกิดขึ้น เห็นว่าอกุศลเป็นอกุศล และละอกุศล อบรมเจริญกุศลให้ยิ่งขึ้น ก็ย่อมสามารถดับอกุศลได้เป็นสมุจเฉท

    เรื่องของอาชีพก็ดี เรื่องของวัฏฏะสงสาร ซึ่งทุกคนเกิดมาเป็นบุคคลต่างๆ กัน สะสมมาต่างๆ กันก็ดี ก็เป็นเรื่องของภพชาติที่ยังมีอยู่ ซึ่งจะต้องเป็นไปตามการสะสมของจิต แต่เมื่อเข้าใจถูกว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล และเจริญฝ่ายกุศลธรรมให้ยิ่งขึ้น ก็ย่อมสามารถที่จะดับอกุศลธรรมให้หมดสิ้นไปได้ ซึ่งจะต้องศึกษาธรรม และมีความเห็นถูกเป็นปัจจัยให้เจริญในกุศลธรรมยิ่งๆ ขึ้น

    แต่ถ้าไม่อาศัยความเห็นถูก ไม่อาศัยการฟังเหตุผลโดยละเอียดของธรรม ท่านมีความเห็นผิดว่า อกุศลเป็นกุศล ท่านย่อมไม่สามารถละ หรือดับอกุศลได้เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับความเห็นถูก สิ่งใดที่เป็นอกุศลก็รู้ว่าเป็นอกุศล สภาพธรรมที่เป็นกุศลก็รู้ว่าเป็นกุศล และอบรมเจริญธรรมที่เป็นกุศลให้ยิ่งขึ้น

    ขอกล่าวถึงอดีตกรรม หรือบุพกรรมของพระผู้มีพระภาคเอง ใน ขุททกนิกาย อปทาน พุทธาปทาน ชื่อปุพพกัมมปิโลติที่ ๑๐ ข้อ ๓๒๙ ความว่า

    พระผู้มีพระภาค ผู้เป็นนายกของโลก แวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์เป็นอันมาก ประทับนั่งอยู่ที่พื้นหินอันเป็นรัมณียสถาน โชติช่วงด้วยแก้วต่างๆ ในละแวกป่าอันมีกลิ่นหอมต่างๆ ใกล้สระอโนดาต ตรัสชี้แจงบุรพกรรมทั้งหลายของพระองค์ ณ ที่นั้น

    ซึ่งข้อความเป็นเรื่องของการกล่าวตู่ การกล่าวตู่ ก็เป็นทุจริตกรรม เป็นอกุศลกรรม ซึ่งในครั้งหนึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงกระทำ และได้รับผลในชาติที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ในชาติอื่น ในกาลก่อนเราเป็นนักเลงชื่อปุนาลิ ได้กล่าวตู่พระปัจเจกพุทธเจ้า ชื่อว่าสุรภี ผู้ไม่ประทุษร้ายตอบ ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น เราท่องเที่ยวอยู่ในนรกเป็นเวลานาน ได้เสวยทุกขเวทนาแสนสาหัสหลายพันปีเป็นอันมาก ด้วยผลกรรมอันเหลือนั้น ในภพหลังสุดนี้ เราจึงได้คำกล่าวตู่เพราะเหตุแห่งนางสุนทริกา

    เพราะการกล่าวตู่พระเถระนามว่านันทะ สาวกของพระพุทธเจ้าผู้ครอบงำอันตรายทั้งปวง เราจึงท่องเที่ยวอยู่ในนรกสิ้นกาลนาน เราท่องเที่ยวอยู่ในนรกเป็นเวลานานถึงหมื่นปี ได้ความเป็นมนุษย์แล้ว ได้รับการกล่าวตู่เป็นอันมาก ด้วยผลกรรมที่เหลือนั้น นางจิญจมาณวิกามากับหมู่ชน ได้กล่าวตู่เราด้วยคำอันไม่จริง

    เพราะฉะนั้น ถ้าท่านได้กระทำมุสาวาท การกล่าวตู่ หรือว่าวจีทุจริตอื่นๆ และยังมีภพชาติต่อไป ท่านก็จะได้รับผลในชาติหนึ่งชาติใด หรือแม้ในปัจจุบันนี้ก็ได้ ซึ่งขณะใดที่ได้รับ ก็ควรที่จะได้ทราบว่า เป็นผลกรรมในอดีตที่ท่านได้กระทำทุจริตกรรมเช่นนั้นมา

    ข้อความตอนหนึ่ง พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ในกาลก่อน เราเป็นนายทหารราบ (เป็นแม่ทัพ) ฆ่าบุรุษเป็นอันมากด้วยหอก ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น เราถูกไฟไหม้อย่างเผ็ดร้อนอยู่ในนรก ด้วยผลอันเหลือแห่งกรรมนั้น บัดนี้ไฟนั้นยังมาไหม้ผิวหนังที่เท้าของเราทั้งสิ้น (อีก) เพราะว่ากรรมยังไม่พินาศไป

    ในกาลก่อน เราเป็นเด็ก ลูกของชาวประมง อยู่ในบ้านเกวัฏฏคาม เห็นคนทั้งหลายฆ่าปลาแล้ว เกิดความโสมนัส ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น ความทุกข์ที่ศีรษะ (ปวดศีรษะ) ได้มีแล้วแก่เรา ในเมื่อเจ้าศากยะทั้งหลายถูกเบียดเบียน พระเจ้าวิฏฏุภะฆ่าแล้ว

    ข้อความตอนหนึ่ง พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    เมื่อก่อนเราเป็นหมอรักษาโรค ได้ถ่ายยาให้เศรษฐีบุตร (ตาย) ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น โรคปักขันทิกาพาธจึงมีแก่เรา

    ข้อความตอนท้าย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    (บัดนี้) เราเป็นผู้สิ้นบาปและบุญ เว้นจากความเร่าร้อนทั้งปวง ไม่มีความเศร้าโศก ไม่คับแค้น เป็นผู้ไม่มีอาสวะ จักนิพพาน

    พระชินเจ้าทรงบรรลุกำลังแห่งอภิญญาทั้งปวงแล้ว ทรงพยากรณ์โดยทรงหวังประโยชน์แก่ภิกษุสงฆ์ ที่สระใหญ่อโนดาต ด้วยประการฉะนี้แล

    ทราบว่า พระผู้มีพระภาคได้ทรงภาษิตธรรมบรรยายพุทธาปทานชื่อ ปุพพกรรมปิโลติ อันเป็นบุพจารีตของพระองค์ ด้วยประการฉะนี้แล

    ท่านผู้ฟังไม่มีอภิญญา ระลึกชาติไม่ได้ เวลาที่ท่านได้รับอกุศลวิบากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็ไม่ทราบว่าเกิดขึ้นเป็นเพราะอกุศลกรรมอะไร แต่ไม่พ้นจากอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว เพราะเหตุว่าเมื่อเหตุปัจจัยมี แม้ว่าจะดับไปแล้วในอดีต แต่ก็สามารถที่จะทำให้วิบากซึ่งเป็นผลเกิดขึ้น เมื่อสมควรแก่กาลเวลา ไม่ว่าท่านจะมีอาชีพอะไร ซึ่งเป็นเรื่องของสังสารวัฏที่เกิดขึ้นเป็นไปตามการสะสมของจิตของแต่ละบุคคลที่ได้กระทำมา

    เพราะฉะนั้น ควรที่จะฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ให้เกิดความเห็นถูกตามสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้สามารถที่จะละอกุศลธรรมได้ ถ้าเข้าใจผิด เห็นผิด ก็ไม่สามารถละอกุศลธรรมได้เลย

    สำหรับอาชีพอื่นต่อไป ใน หัตถาโรหสูตร เป็นข้อความที่นายทหารช้างได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค และเกิดความเห็นถูก ได้เป็นผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ จนตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไป

    ใน อัสสาโรหสูตร ก็เป็นนายทหารม้า เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค และเกิดความเห็นถูก เป็นผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ จนตลอดชีวิตเป็นต้นไปเช่นกัน

    ถ. อาจารย์มักจะกล่าวถึงรูป นาม ขันธ์ ๕ และคำว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยู่เสมอ เมื่อพิจารณาแล้ว ก็จะเห็นว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ชีวิต เป็นแต่สภาวะ อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งสภาวะนี้ ในพระพุทธศาสนาพิจารณาให้เห็นความจริง ความจริงนี้เป็นอะไรแน่ครับ

    สุ. อยากทราบเรื่องสภาวธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ขณะนี้เห็นไหม ยังไม่ต้องพิจารณาอะไรทั้งนั้น ขณะนี้ เดี๋ยวนี้เห็นไหม

    ถ. ก็เป็นบุคคล เป็นสัตว์

    สุ. ไม่ใช่ถามว่า เห็นอะไร เวลาลืมตาขึ้นมาแล้ว เห็นไหม

    ถ. เห็น

    สุ. ขณะนี้เห็นนี้มีจริงๆ หรือเปล่า

    ถ. เห็นมีจริง

    สุ. ของจริงเป็นสภาวะหรือเปล่า การเห็น พูดถึงเห็นเท่านั้น เดี๋ยวนี้กำลังเห็นอยู่ ลักษณะที่เห็นเป็นของจริง มีจริง ไม่ใช่พูดถึงสิ่งที่ไม่มี ไม่ได้พูดถึงสิ่งที่หลอกลวง หรือมายา แต่เป็นของจริงที่กำลังมี คือ กำลังเห็น เป็นของจริง ใช้คำว่า สภาวะก็ได้

    การเห็น จริง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพราะว่ามีตา คือ จักขุปสาทใช่หรือไม่ ฉะนั้น การเห็นอาศัยปัจจัย ถ้าไม่มีปัจจัยการเห็นก็ไม่มี เพราะฉะนั้น การเห็น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    ถ. รู้อย่างนี้ ขณะปฏิบัติ หรือขณะที่กำลังเพ่งอยู่นี้ กำลังดู กำลังรู้อยู่

    สุ. ท่านผู้ฟังถามว่า รู้อย่างนี้ขณะปฏิบัติ หรือกำลังเพ่ง หรือกำลังดู หรือกำลังรู้อยู่ กำลังเพ่ง เพ่งอย่างไร

    ถ. เพ่งรูป

    สุ. เพ่งอย่างไร

    ถ. เห็นทางตา

    สุ. แล้วเพ่งอย่างไร รู้ แล้วก็ละ ขณะเมื่อสักครู่ก็หมดไปแล้ว ระลึกอีก ก็เป็นสติที่กำลังระลึกจึงได้รู้ ถ้าขณะที่สติดับไปแล้ว หลงลืมสติ ก็ไม่รู้ในความเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ก็เกิดเห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนอีก เพราะฉะนั้น จึงต้องระลึกรู้มากๆ เนืองๆ บ่อยๆ

    ถ. รู้แล้วมันก็ดับไป

    สุ. ใช่ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และก็หมดไป

    ถ. กายนี้ชัดดี เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง ชัดดี รู้ได้ทันทีเลย

    สุ. ทางกายชัดดี และรู้ไหมว่า นามธรรมที่รู้กาย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ต้องแยกให้ออกจากกันว่า ขณะที่กำลังรู้ในลักษณะที่อ่อน สภาพที่กำลังรู้ในลักษณะที่อ่อน ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมที่รู้ในลักษณะที่อ่อน และก็หมดไป

    ถ. อย่างนี้แล้วก็หมดปัญหา

    สุ. ยังไม่หมด ต้องรู้ชัดกว่านี้ รู้ทั่วกว่านี้อีก ต้องรู้ชัด รู้ทั่ว ตลอดทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    ถ. เห็นแล้วมันก็ดับไป

    สุ. นี่นึกใช่ไหม

    ถ. พูดไปตามสภาพธรรม

    สุ. ต้องระลึกรู้บ่อยๆ ให้ชัดเจน ไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องดับ เพราะเหตุว่า สภาพธรรมเกิดแล้วดับไปจริง แต่ปัญญาที่ยังไม่สมบูรณ์ ก็ไม่สามารถที่จะประจักษ์ได้

    สำหรับสภาพธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลวิบาก โดยที่ผู้หนึ่งผู้ใดก็ไม่สามารถจะเปลี่ยนเหตุ เปลี่ยนปัจจัย เมื่อเหตุเป็นอกุศล ผลก็จะต้องเป็นอกุศลวิบาก

    ขอกล่าวถึง สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ภูมกสูตร ซึ่งมีข้อความว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปาวาริกอัมพวัน ใกล้เมืองนาฬันทาครั้งนั้นแล นายบ้านนามว่าอสิพันธกบุตร เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถาม พระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกพราหมณ์ชาวปัจฉาภูมิ มีคณโฑน้ำติดตัว ประดับพวงมาลัยสาหร่าย อาบน้ำทุกเช้าเย็น บำเรอไฟ พราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่ายังสัตว์ที่ตายทำกาละแล้วให้เป็นขึ้น ให้รู้ชอบ ชวนให้เข้าถึงสวรรค์

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าสามารถกระทำให้สัตว์โลกทั้งหมดเมื่อตายไป พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ได้หรือ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร นายคามณี ถ้าอย่างนั้นเราจะย้อนถามท่านในข้อนี้ ปัญหาควรแก่ท่าน ด้วยประการใด ท่านพึงพยากรณ์ปัญหาข้อนั้นด้วยประการนั้น

    ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษในโลกนี้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ มากไปด้วยอภิชฌา มีจิตพยาบาท มีความเห็นผิด หมู่มหาชนมาประชุมกันแล้วพึงสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือเดินเวียนรอบบุรุษผู้นั้นว่า ขอบุรุษนี้เมื่อตายไป จงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

    ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นเมื่อตายไป พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะเหตุการสวดวิงวอน เพราะเหตุการสรรเสริญ หรือเพราะเหตุการประนมมือเดินเวียนรอบ ดังนี้หรือ

    นายบ้านนามว่า อสิพันธกบุตรกราบทูลว่า

    ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๓๔ ตอนที่ ๓๓๑ – ๓๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 38
    28 ธ.ค. 2564